Skip to main content
sharethis

จากสถานการณ์โควิด-19 ในปลายปี 2019 ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เชื้อโควิดได้มีการกลายพันธุ์มากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เรามาดูกันว่าประเทศไทยของเรามีเชื้อโควิดที่กลายพันธ์ุเป็นสายพันธุ์ใดบ้างอันตรายแค่ไหน วัคซีนยี่ห้อใดรับมือได้บ้าง

สายพันธุ์ B.1.1.7 (GR,G) หรือสายพันธุ์อังกฤษ

พบครั้งแรก: อังกฤษ เมื่อเดือนกันยายน. 2563 แพร่กระจายเป็นวงกว้างในอังกฤษ และอีกกว่า 50 ประเทศ

พบในประเทศไทย: เมื่อเดือน มีนาคม 2564 สถานบันเทิงทองหล่อ จ.กรุงเทพมหานคร

ลักษณะพิเศษ: ผิวไวรัสมีการกลายพันธุ์ จับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น 

การแพร่เชื้อ: แพร่เชื้อไวขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมราว 40-90%

ความรุนแรง: ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า พบอัตราการป่วยและเสียชีวิตมากขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่นราว 1.65 เท่า ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยน้อยลง ผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจมากขึ้น และส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการหนักจะใช้เวลาเพียง 7-10 วันก่อนจะเสียชีวิต และมีการกลายพันธุ์คล้ายสายพันธุ์ B.1.351 ลดประสิทธิภาพวัคซีน

วัคซีนต้านสายพันธุ์อังกฤษ: The New England Journal of Medicine ระบุว่า วัคซีนของ ไฟเซอร์ สามารถป้องกัน COVID-19 สายพันธุ์ อังกฤษหรือB.1.1.7 ได้ที่ 89.5% ขณะที่ผลการทดลองจาก Public Health England ระบุว่า วัคซีนของ ไฟเซอร์ นั้น สามารถป้องกันการติดเชื้อของสายพันธุ์นี้ได้ถึง 93% วัคซีนของ แอสตราเซเนกา แอสตราเซเนกา นั้น ผลการทดลองจาก Public Health England ระบุว่า มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ถึง 66%

โดย who ระบุบว่า จากการเก็บข้อมูลของประเทศชีลีจากกลุ่มคนที่ฉัดซิโนแวค จากคนจำนวน 10.2 ล้านคนพบว่า ซีโนแวคสามารถป้องกันได้ถึง 67%

สายพันธุ์ B.1.617 หรือสายพันธุ์อินเดีย

พบครั้งแรก: เมืองนาคปุระ รัฐมหาราษฎระ ประเทศอินเดีย เดือนธันวาคม 2563

พบในประเทศไทย: เมื่อเดือน พฤษภาคม 2564 ที่แคมป์คนงานหลักสี่ จ.นนทบุรี

ลักษณะพิเศษ: หนามของอนุภาคไวรัสหลายตำแหน่งมีการกลายพันธุ์ เป็นการกลายพันธุ์แบบคู่ double mutant

การแพร่เชื้อ: แพร่เชื้อไวขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมราว 20% 

ความรุนแรง: ไวรัสแพร่กระจายตัวได้เร็ว ผู้ติดเชื้อมีอาการแย่ลง รวมถึงไวรัสสามารถหลบภูมิคุ้มกันที่มีการติดเชื้อก่อนได้ จึงทำให้หลบวัคซีนได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญพบว่าไวรัสสายพันธุ์อินเดียอาจไม่ร้ายกาจหรือสร้างปัญหาเท่ากับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ บราซิล และอังกฤษ เพราะสายพันธุ์อินเดียมาจากตระกูล G (GISAID Clade) ซึ่งเกิดขึ้นและติดต่อระบาดอยู่ในอินเดียตั้งแต่ปีที่แล้ว หากเป็นสายพันธุ์ที่สามารถก่อโรครุนแรง การระบาดรุนแรงจึงน่าจะเกิดตั้งแต่ต้นปี 2564 แต่กลับพบเพียงการระบาดแบบจำกัดวง ไม่รวดเร็วเท่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อื่น และไม่แพร่ระบาดได้ง่ายเหมือนกับสายพันธุ์อังกฤษแต่อย่างใด

วัคซีนต้านสายพันธุ์อินเดีย: BBC ระบุว่า ในอังกฤษพบว่า วัคซีนไฟเซอร์สามารถป้องกันได้มากถึง 88% หลังรับครบสองเข็ม รองลงมาคือแอสตร้าเซนเนก้าที่ป้องกันได้ 60% ส่วนโมเดอร์นาเพิ่งเริ่มฉีดให้คนในอังกฤษได้ไม่มาก จึงยังสรุปตัวเลขไม่ได้ แต่สำหรับข้อมูลจากสำนักข่าว Express รายงานว่า วัคซีนโมเดอร์นาสามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์อินเดียได้มากถึง 94.1% ถือว่าสูงที่สุดในบรรดาวัคซีนทั้งหมดโดยระบุว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้โมเดอร์นาเป็นวัคซีนที่คาดว่าจะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์นี้ได้ดีที่สุด เพราะความเป็นวัคซีนประเภท mRNA ของมันนั่นเอง ที่เหมาะสมกับการจัดการกับสายพันธุ์นี้ได้ดี

สายพันธุ์ B.1.351 (GH,G) หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้

พบครั้งแรก: แอฟริกาใต้ เดือนธันวาคม 2563

พบในประเทศไทย: เมื่อเดือน พฤษภาคม 2564 ที่ตากใบ จ.นราธิวาส

ลักษณะพิเศษ: หนามโปรตีน N501Y, E484K มีการกลายพันธุ์ ไวรัสจับตัวเซลล์ได้ดีขึ้น เชื้อแพร่กระจายง่าย

การแพร่เชื้อ: แพร่เชื้อไวขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมราว 50% 

ความรุนแรง: ลดประสิทธิภาพแอนติบอดี ทำให้คนติดเชื้อได้ง่าย หนีจากภูมิคุ้มกันได้ดี อาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนได้ และ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงสายพันธุ์นี้ที่กำลังระบาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและเข้าสู่ในประเทศไทยทางภาคใต้ได้ เพราะมีพรมแดนติดกัน

วัคซีนต้านสายพันธุ์แอฟริกา: ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (SiCORE-PM-Siriraj Center of Research Excellence in Precision Medicine) ระบุว่า มีเพียงวัคซีนไฟเซอร์ และอาจจะโมเดอร์นาด้วย ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน อย่างได้ผลที่สุด โดยสามารถป้องกันได้ถึง 75% รองลงมาคือ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่ป้องกันได้ 64-66% และโนวาแวค ที่ 60.1% (สำหรับ non-HIV)

ส่วน แอสตราเซเนกา เหลือแค่ 10.4% สำหรับ ซิโนแวค ถ้าเทียบระดับ antibody ที่ขึ้นหลังฉีดแล้วคาดว่าคงแทบไม่ได้ผลเช่นกัน สำหรับซิโนแวค ยังมีข้อมูลที่เป็นตัวเลขยังไม่ชัดเจนนัก แต่ Prof. Dr. Dr. Yuwono, M.Biomed นักวิจัยทางด้านอณูชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยศรีวิจายา (Sriwijaya) ประเทศอินโดนีเซีย ยืนยันว่าซิโนแวคเป็นวัคซีนที่มีเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ได้ในสายพันธุ์อินเดียด้วยเช่นกัน

สายพันธุ์ P.1 (GR) หรือสายพันธุ์บราซิล

พบครั้งแรก: บราซิล เดือนธันวาคม 2563

พบในประเทศไทย: เมื่อเดือน พฤษภาคม 2564 ที่สถานกักกันของรัฐบาล

ลักษณะพิเศษ: โปรตีนหนาม N501Y, K417T, E484K มีการกลายพันธุ์

การแพร่เชื้อ: แพร่เชื้อไวขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 2.5 เท่า หรือราวๆ 25-60%

ความรุนแรง: ยึดเกาะกับเซลล์ร่างกายมนุษย์ได้ดี ลดประสิทธิภาพของแอนติบอดี พลาสมาหรือระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จับกับไวรัสได้น้อยลง เป็นสาเหตุของการระบาดรอบสองในบราซิล ยอดผู้เสียชีวิตสูง และกว่าครึ่งอายุต่ำกว่า 40 ปี เป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ เพราะสามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ได้

วัคซีนต้านสายพันธุ์บลาซิล: ข้อมูลของ who ระบุบว่าการทดลองขนาดใหญ่ระยะที่ 3 ในบราซิลแสดงให้เห็นว่าการให้ยาหรือวัคซีนซีโนแวคสองครั้ง ในช่วงเวลา 14 วัน มีประสิทธิภาพ 51% (ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI): 36–62%) ต่อการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่มีอาการ 100 . % (95% CI: 17–100%)

ข้อมูลจาก healthdata ระบุบว่าข้อมูลจากห้องทดลองของบลาซิลระบุบว่า จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, แอสตราเซเนกา และ ซิโนแวค มีประสิทธิภาพในการป้องกัน  แต่ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดในการทดลองว่าสามาถป้องกันได้กี่เปอร์เซนต์

หมายเหตุ - 13.27 น. 7 มิ.ย.2564 มีการเพิ่มข้อมูลผลการใช้วัคซีนในสายพันธุ์อังกฤษและบราซิล

แหล่งอ้างอิง

สำหรับ จุลวรรณ เกิดแย้ม ผู้จัดทำกราฟิกนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net