ปลดล็อก รพ.เอกชน-อปท.จัดหาวัคซีนเองได้ จากหน่วยงานรัฐที่กำหนด

ปลดล็อก รพ.เอกชน-อปท.จัดหาวัคซีนเองได้ จากหน่วยงานรัฐที่กำหนด เลขาฯสมช.ย้ำเอกชนยังซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตไม่ได้ แต่ไม่กำหนดเวลาจัดซื้อ

9 มิ.ย. 2564 วานนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19โดยได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ดังนี้

1.ให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอแก่ประชาชนโดยอย่างน้อยให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร (ไม่น้อยกว่าจำนวนประชากรห้าสิบล้านคน)

2.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ในการดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

3.ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์ หรือสาธารณสุข แก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด

4.เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ได้มากขึ้น สถานพยาบาลเอกชนและภาคเอกชนอาจจัดหาหรือขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 จากหน่วยงานตามข้อ 3 ภายใต้กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาให้บริการประชาชนหรือบุคลากรในความดูแลได้ตามความเหมาะสม โดยวัคซีนดังกล่าวต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยา และต้องพิจารณากำหนดราคาวัคซีนและการให้บริการที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

5. โดยที่ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ที่ผลิตหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ยังมีจำนวนจำกัด หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 มาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ให้จัดหาจากหน่วยงานตามข้อ 3 และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปตามแนวทางหรืออยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ ที่แตกต่างกัน และเพื่อให้การกระจายวัคซีนในห้วงเวลาวิกฤติมีความเป็นธรรมมากที่สุด ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนและให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวก แก่ประชาชนในพื้นที่ในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนรวมของประเทศ

6.ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูล กับระบบแพลตฟอร์มหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 และเพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ

เลขาฯสมช.ย้ำเอกชนยังซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตไม่ได้ แต่ไม่กำหนดเวลาจัดซื้อ

ขณะที่วันนี้ (9 มิ.ย. 2564) เว็บไซต์มติชนรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงประกาศราชกิจจานุเบกษาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การสั่งซื้อจะต้องซื้อจากหน่วยงานที่นำเข้ามา ไม่สามารถซื้อโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิตได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ในระยะนี้ขอให้เป็นแบบนี้ไปก่อน เนื่องจากวัคซีนมีปริมาณจำกัด และในแต่ละประเทศผู้ผลิตได้กำหนดเงื่อนไขจำหน่ายให้กับเรา คือจำหน่ายให้กับรัฐ

“สมมุติว่าถ้าทั้งรัฐและเอกชนซื้อ ก็จะแบ่งปริมาณกัน โดยจะมีข้อจำกัดมากขึ้น และในประกาศมี 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.กำหนดหน่วยงานที่สามารถนำเข้าวัคซีนมาในราชอาณาจักร ได้แก่ กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่สามารถนำเข้ามาได้ รวมทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป 

“2.ให้เอกชนและโรงพยาบาลเอกชนสามารถสั่งซื้อจากหน่วยงานที่กล่าวข้างต้น แต่ไม่สามารถสั่งซื้อได้โดยตรง 3.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ได้ห้าม แต่ให้ดูกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง แผนงานงบประมาณ แผนกระจายวัคซีนของ ศบค. เนื่องจาก อปท.ต้องใช้เงินแผ่นดิน ดังนั้น ต้องใช้งบประมาณให้คุ้มค่ามากที่สุดและสอดคล้องกับแผนวัคซีนที่กำหนดแนวทางไว้ และส่วนที่เพิ่มเติมคือทุกส่วนงานทั้งเอกชนและโรงพยาบาลเอกชน หรือหน่วยงานใดก็ตามต้องประสานบูรณาการกับหมอพร้อม เนื่องจากแพลตฟอร์มหมอพร้อมจะเป็นแพลตฟอร์มสุดท้ายที่ควบคุมข้อมูลของประชาชนทั้งคนไทยและต่างชาติที่ฉีดวัคซีน ให้เป็นระบบเดียวกัน” พล.อ.ณัฐพลกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วน อปท.ต้องกำหนดวงเงินในการใช้จ่ายหรือไม่ เพราะ อปท.แต่ละท้องที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐไม่เท่ากัน ถ้านำมาใช้กับวัคซีนทั้งหมดอาจไม่พอกับการบริหารงานด้านอื่น พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า นี่คือคำตอบที่ถาม คำถามเป็นคำตอบในตัวอยู่แล้ว เพราะ ศบค.เป็นห่วงแบบนั้นด้วยศักยภาพด้านงบประมาณที่แตกต่างกันอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านนั้น หากเป็นไปได้อยากให้ อปท.ทำหน้าที่แค่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการจัดให้ประชาชนเข้ามาฉีดวัคซีนที่ ศบค.หรือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า อปท.จัดซื้อได้ แต่ควรให้ ศบค.กำหนดพิจารณาว่าจะจัดซื้อได้เท่าไหร่ โดยดูจากรายได้เงินอุดหนุนของรัฐหรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่ต้องดูกฎหมายดูแผนงานที่ ศบค.แจกจ่ายให้เหมาะสมหรือยัง ซื้อเราพิจารณาอย่างเหมาะสมแล้ว โดยดูจากสัดส่วนของประชาชนอย่างจังหวัดใหญ่ประชากรมากก็ได้มาก และพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดจังหวัดใดที่มีการแพร่ระบาดสูงและรุนแรงจะได้รับสัดส่วนที่เติมเข้าไป และกลุ่มจังหวัดเศรษฐกิจที่ต้องเตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดก็จะได้รับการเพิ่มเติมอีกส่วน

พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่า อปท.ทุกแห่งจะซื้อได้ ต้องดูหลักเกณฑ์แนวทางนี้ด้วย ซึ่งการดำเนินการจะพิจารณามาตามลำดับตั้งแต่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าฯเป็นประธาน จากนั้นนำเข้า ศบค.ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ว่าประกาศออกไปแล้ว อปท.สามารถซื้อได้เองทันที

เมื่อถามถึงกรณีที่เอกชนหรือสถานพยาบาลเอกชนที่จะซื้อวัคซีนจากหน่วยงานตามที่รัฐกำหนดจะต้องรายงานจำนวนที่จัดซื้อให้กับ ศบค.ด้วยหรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า เอกชนไม่ต้อง เพราะหน่วยงานที่จะสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ส่วนใหญ่จะหารือกับ ศบค.ว่าจะสั่งวัคซีนชนิดนี้ จำนวนเท่าไหร่ เพื่อแจกจ่ายให้ใครบ้าง

เมื่อถามว่า จำนวนที่จะให้เอกชนหรือหน่วยงานซื้อ ได้กำหนดช่วงเวลาของการจัดซื้อในช่วงเวลาใด พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ไม่ได้กำหนด เพราะยิ่งได้ฉีดมากขึ้นเร็วขึ้นยิ่งดี แต่เราจะดูปริมาณว่ารัฐบาลเตรียมวัคซีนให้ประชาชน 100 ล้านโดส สำหรับ 50 ล้านคน ซึ่งคนไทยมีประมาณ 67 ล้านคน ต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 2.6 ล้านคน รวมทั้งสิ้นประมาณ 70 ล้านคน การเตรียมไว้สำหรับ 50 ล้านคน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ถ้าสามารถฉีดให้ได้มากกว่านี้ก็ดี แต่ปัจจุบันยังไม่ทราบจำนวนทั้งหมดของคนไทยที่ต้องการฉีดวัคซีนเท่าไหร่และยังไม่สามารถประเมินได้ ฉะนั้น ถ้าสั่งวัคซีนเข้ามาในปริมาณที่มากเกินไปอาจเกิดปัญหาภายหลังที่อาจไม่มีคนมาฉีดแล้ววัคซีนเหลือ

พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ขอให้เห็นใจ ศบค.และ สธ.เวลานี้จะคิดถึงอนาคตก็คิดลำบาก และเมื่อถึงเวลานั้นก็อาจจะถูกตำหนิว่าทำไมทำอย่างนั่นอย่างนี้ ดังนั้น ขอให้คิดถึงปัจจุบันและอยากให้คิดว่าเมื่อถึงเดือนกันยายน ตุลาคมแล้วสถานการณ์ดีขึ้นจะมีคนฉีดอีกกี่คน ทางเราจึงเตรียมไว้จำนวนหนึ่งที่คิดว่ามากพอที่เป็นไปได้

เมื่อถามว่า มีรายงานหรือยังว่าวัคซีนที่จะเข้ามาจำหน่ายให้กับองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ จะมาประมาณเท่าไหร่ เดือนใด พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า เบื้องต้นจะมาประมาณ 3-5 ล้านโดส ของโมเดอร์นาและซิโนฟาร์มที่ติดต่อเข้ามา แต่ยังไม่ทราบว่าจะมาในเดือนใด ต้องรอหลังจากประกาศนี้ไปแล้วจะมีการติดต่อจริงจังอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท