'ปิยบุตร' ย้ำร่าง รธน. 'Re-Solution' มุ่งรื้อระบอบประยุทธ์ - เตรียมเปิดข้อเสนอหมวด 1-2 

'ปิยบุตร' ไลฟ์ถาม-ตอบประเด็น รธน. ย้ำข้อต่างร่าง “Re-Solution” มุ่งรื้อระบอบประยุทธ์อย่างแท้จริง - แย้ม เตรียมเปิดข้อเสนอหมวด 1-2 รับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ ขณะที่ 'ณัชปกร กลุ่ม Re-Solution' เปรียบร่างรัฐธรรมนูญ พปชร. “น้ำตาลเคลือบยาพิษ” ปูทางสืบทอดอำนาจผ่านระบบเจ้าพ่อ

21 มิ.ย.2564 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะหนึ่งในสมาชิกหลักของกลุ่ม Re-Solution ได้จัดรายการพิเศษทางช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์และ Clubhouse ในหัวข้อ “ตอบให้ชัด: ทุกคำถามเรื่องรัฐธรรมนูญกับปิยบุตร” ซึ่งช่วงหนึ่งเป็นการอธิบายความจำเป็นของกลุ่ม Re-Solution ในการล่ารายชื่อประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรื้อระบอบประยุทธ์ต่อรัฐสภา เพื่อให้ทันการพิจารณาในวันที่ 23 มิถุนายนนี้

ชี้ วาระแก้ รธน.ของประชาชนกำลังถูก “ไฮแจ็ค” เหลือแค่ระบบเลือกตั้ง - ขอแรงประชาชนดันร่าง “เรโซลูชั่น” เข้าสู่สภา

ปิยบุตร ระบุว่าในทั้ง 13 ร่างที่ได้มีการเสนอแก้ไขจากทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล มีหลากหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องของระบบเลือกตั้ง, การเปิดทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามายุ่งเกี่ยวการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินได้, การตัดอำนาจของวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี, การกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2) ฯลฯ

แต่เท่าที่ตนได้ทำการสำรวจดูกระแสข่าวจากหลายส่วน คาดได้ว่าเรื่องที่น่าจะผ่านมากที่สุด จะเป็นเรื่องที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ นั่นคือเรื่องของระบบเลือกตั้งและการเปิดทางให้ ส.ส. เข้ามายุ่งเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินได้เท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆเป็นไปได้ว่าอาจจะตกหมดตั้งแต่วันแรกที่มีการประชุมเสียด้วยซ้ำ

ปิยบุตรระบุต่อไป ว่าส่วนการเข้าชื่อร่างรัฐธรรมนูญโดยกลุ่ม Re-Solution ที่เราให้ชื่อเล่นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับรื้อระบอบประยุทธ์ ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่าง iLaw, กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า, คณะก้าวหน้า, และพรรคก้าวไกล เกิดขึ้นเนื่องมาจากบรรยากาศการแก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ที่ต้องการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดูเหมือนว่าจะไปไม่ถึงฝั่งฝันแล้ว เส้นทางของการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับถูกสกัดขัดขวางทุกวิถีทาง

แต่อยู่ดีๆก็มีการเสนอแก้ไขและมาตราเกิดขึ้น พวกเรากลุ่ม Re-Solution มองเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้การแก้รัฐธรรมนูญถูกไฮแจ็คไปโดยพรรคพลังประชารัฐ เพราะพวกเขากำลังต้องการคว่ำการทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแล้วเปลี่ยนไปแก้รายมาตราเฉพาะเรื่องที่ได้ประโยชน์ นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่พวกเราพยายามรณรงค์ ว่าในเมื่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับยังเกิดขึ้นไม่ได้ การแก้ไขรายมาตรา ก็ควรจะต้องแก้ในเรื่องสำคัญ นั่นก็คือเรื่องของ 4 เสาหลักที่ค้ำยันระบอบประยุทธ์นี้เอาไว้ ได้แก่

1) วุฒิสภา 2) ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 3) แผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และ 4) มรดกบาปของการรัฐประหารที่ยังตกทอดอยู่

4 เสาหลักนี้จะต้องถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใช้ช่องทางทางตามรัฐธรรมนูญ ในการเข้าชื่ออย่างน้อย 5 หมื่นคน เพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมใน 4 ประเด็นใหญ่นี้เข้าสู่การพิจารณาของสภา

ประการแรก เราเสนอให้ยกเลิกวุฒิสภา ให้ประเทศไทยใช้สภาเดียว เนื่องจากเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีวุฒิสภาอีกต่อไป เหตุผลความจำเป็นของการมีวุฒิสภาไม่มีอยู่จริงอีกแล้ว ปัจจุบันวุฒิสภาทำหน้าที่เป็นสภาตรายางให้กับรัฐบาล ไม่เคยค้าน ไม่เคยตรวจสอบอะไรรัฐบาล มีวุฒิสภาแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับสภากาฝาก สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน

ประการต่อมา แผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี จริงอยู่ว่าประเทศไหนก็ต้องมีแผนปฏิรูปประเทศ แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ควรถูกฝังเอาไว้ในรัฐธรรมนูญและบังคับให้ทุกรัฐบาลต้องเดินตาม ควรเป็นหน้าที่ของแต่ละพรรคการเมืองเมื่อได้รับความไว้วางใจจากประชาชน

ประการต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 20 กว่าปีที่ผ่านมาเรายังไม่สามารถสร้างศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่เป็นกลางเป็นอิสระ ที่เป็นหมุดหมายหลักการของการพัฒนาระบบประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง มีปัญหามาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2540

และประการสุดท้าย การจัดการมรดกรัฐประหาร ทุกวันนี้เรายังคงมีประกาศคำสั่ง คสช.อีกจำนวนมากที่ยังมีผลในทางกฎหมาย และยังมีมาตรา 279 ที่รับรองให้บรรดาคำสั่งเหล่านี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน

การรัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทย เพราะว่าคนทำรัฐประหารไม่เคยถูกลงโทษดำเนินคดี ดังนั้น พวกเรากลุ่มและ Re-Solution จึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมาและเสนอบทใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และต่อต้านรัฐประหาร”

“4 ประเด็นใหญ่ที่เรานำเสนอในครั้งนี้นั้น ไม่ปรากฏอยู่ใน 13 ร่างที่เขากำลังทำกันอยู่เลย อาจจะมีบางร่างคล้ายคลึงกันอยู่บ้างแต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แล้วจะทำอย่างไรดี? วันที่ 23 นี้เขาจะประชุมรัฐสภากันแล้ว เขาว่ามาว่าจะเร่งกันถึงขนาดว่า 24 นี้จะลงมติในวาระแรกกันเลย ดังนั้น ต้องขอแรงพี่น้องประชาชน ว่าต้องช่วยกันเข้าชื่อกับพวกเราให้ครบ 5 หมื่นชื่อ เพื่ออย่างน้อยๆร่างของเราใน 4 ประเด็นจะได้เข้าไปอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาในรอบนี้ แล้วจะชนะหรือแพ้กันในสภาก็ว่ากันอีกรอบหนึ่ง แต่ต้องขอแรงพี่น้องประชาชนดันเข้าสู่สภา” ปิยบุตรกล่าว

ย้ำจุดยืน หมวด1-2 ไม่ควรล็อก-เป็นความต้องการของยุคสมัย ยิ่งปิดกั้นกลับส่งผลเสีย - แย้ม เตรียมเปิดร่างข้อเสนอหมวด 1-2 รับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ

จากนั้น ในช่วงหนึ่งระหว่างการถาม-ตอบแสดงความคิดเห็น ได้มีผู้ฟังร่วมถามถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1-2 ที่หลายฝ่ายต่างพยายามล็อคเอาไว้ไม่ให้แก้ ว่า ปิยบุตรมีความคิดเห็นอย่างไร

ซึ่ง ปิยบุตร ระบุว่าในเรื่องของหมวด 1 และ หมวด 2 เป็นสิ่งที่แก้ได้แน่นอน ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1) มาตรา 256 (8) เขียนว่าในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในการแก้ไขทั้งหมวด 1 และหมวด 2 ต้องไปจบที่การลงประชามติ นั่นหมายความว่าทั้งสองหมวดสามารถเสนอญัตติแก้ได้อยู่แล้ว

ส่วนในมาตรา 255 ข้อห้ามในการแก้รัฐธรรมนูญมีอยู่เพียงว่า ห้ามแก้และเปลี่ยนรูปของรัฐและเปลี่ยนระบอบการปกครอง 2 เรื่องเท่านั้น ในประวัติศาสตร์เองก็เคยมีการแก้ไขหมวด 1-2 มาแล้วหลายครั้ง รวมถึงระหว่างการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับด้วย นั่นคือในรัฐธรรมนูญฉบับ 2492, 2530, 2540, 2550, 2560 ไปเปลี่ยนแปลงหมวด 1 และหมวด 2 มาแล้วทั้งสิ้น

การกำหนดล็อกเข้าไปกลับจะเป็นผลเสียมากกว่า เพราะหากวันหนึ่งมีความจำเป็นขึ้นมา ในช่วงเวลาที่กำลังทำรัฐธรรมนูญใหม่จะทำอย่างไร เพราะว่าไปล็อกเอาไว้ว่าไม่ให้แตะ ใครจะไปรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้ว่าสังคมไทยมีความจำเป็นแก้หมวด 1 หมวด 2 หรือไม่

ล่าสุดสังคมไทยก็เพิ่งเห็นกัน ว่าตอนรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติใหม่ๆ รัชกาลที่ 10 มีพระราชกระแสให้แก้ไขเกี่ยวกับเรื่องพระราชอำนาจ ความจำเป็นในการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เกิดขึ้นได้เสมอ แล้วจะไปล็อคไว้ทำไม?

2) เกิดการสร้างความเข้าใจผิดๆว่าการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับห้ามแตะหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งไม่จริง การทำรัฐธรรมนูญใหม่สามารถทำได้ทุกมาตราทุกหมวด หากปล่อยความเข้าใจผิดแบบนี้ดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆรัฐสภาไทยจะมีอำนาจค่อยๆหดตัวลงเรื่อยๆ

3) การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนทั่วประเทศ มีข้อเรียกร้องของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นี่คือเสียงของความต้องการของยุคสมัย การไปปิดล็อกหมวด 1 หมวด 2 แบบนี้จะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ได้เลย นี่คือเสียงเรียกร้องของยุคสมัย แต่ปรากฏว่านักการเมืองในสภาไปปิดประตูใส่หน้าเขา ด้วยการบอกว่าเรื่องนี้ทำไม่ได้

“มันคือการเอาความต้องการ เอาหัวจิตหัวใจการต่อสู้ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน ตลอดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาไปมัดรวมกัน แล้วนักการเมืองที่อยู่ในสภาก็ไปกระทืบความต้องการของเขาลงไปอยู่ในดิน เอาแรงกายแรงใจความหวังของเขาที่อยากจะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปมัดรวมกันแล้วกระทืบความหวังความฝันของพวกเขา ให้มันไปอยู่ในดินแล้วประเทศจะเดินต่ออย่างไร? เดี๋ยวเขาต้องกลับมาอีก เขาจะโดนกี่คดีก็ตามเดี๋ยวเขาก็กลับมาชุมนุมกันอีก เดี๋ยวก็จะมีคนหน้าใหม่ๆเกิดขึ้นอีก เพราะมันเป็นความต้องการของยุคสมัย มันเป็นความต้องการของคนรุ่นหนึ่งที่ปฏิเสธมันไม่ได้แล้ว ไม่ว่าท่านจะชอบหรือไม่ ท่านจะอยากให้เกิดหรือไม่ แต่มันมีคนกลุ่มนี้ที่มีขนาดใหญ่มากจากรุ่นสู่รุ่น เรียกร้องเรื่องนี้ คุณอ้างว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่กลับเอาความหวังความฝันเหล่านี้กระทืบลงไปจมติดเรียบร้อยแล้ว ด้วยการล็อกหมวด 1 หมวด 2 เอาไว้” ปิยบุตรกล่าว

ปิยบุตรยังกล่าวต่อไป ว่าที่จริงแล้ว ส่วนตัวของตนมีข้อเสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ ที่ได้ทยอยโพสต์ลงใน Facebook ไปแล้วหลายตอน รวมทั้งได้มีการยกร่างตัวแบบของหมวด 1 และหมวด 2 เอาไว้เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งในอีกไม่กี่สัปดาห์ ตนจะหาจังหวะเปิดให้สาธารณชนได้ลองนำมาพิจารณาแลกเปลี่ยนกัน เป็นบททดลองนำเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ในหมวด 1 และหมวด 2 จะเขียนให้ดูว่าถ้าจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น มันมีตัวแบบมาให้นำเสนอแลกเปลี่ยนอภิปรายกันว่าอย่างไรบ้าง

แต่ที่ Re-Solution ไม่ได้นำเสนอ เพราะเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกัน เพื่อสร้างฉันทามติของสังคม ต้องมีการรณรงค์การอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างน้อยที่สุด กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญในขณะนี้ ควรต้องมีการเปิดพื้นที่เอาไว้ ว่าถ้าเรามีสภาร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมาทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับทุกมาตรา แล้วเกิดมีนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน เขาอยากเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ มีประเด็นเรื่องหมวด 1 หมวด 2 เขาก็ย่อมมีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สสร. เข้าไปแก้และนำเสนอหมวด 1 หมวด 2 ได้

'ณัชปกร กลุ่ม Re-Solution' เปรียบร่างรัฐธรรมนูญ พปชร. “น้ำตาลเคลือบยาพิษ” ปูทางสืบทอดอำนาจผ่านระบบเจ้าพ่อ

วันเดียวกัน (20 มิ.ย.64) ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ในฐานะแกนนำกลุ่ม Re-Solution กล่าวถึงการศึกการแก้รัฐธรรมนูญว่า อยากชวนให้ประชาชนติดตามและจับตาการประชุมรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายนนี้ เนื่องจากที่ประชุมรัฐสภาจะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ซึ่งกฎหมายนี้มีความสำคัญพอๆ กับร่างแก้รัฐธรรมนูญ เพราะถ้าหากไม่มี พ.ร.บ.ประชามติฯ การจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเขียนใหม่ทั้งฉบับจะถูกยืดออกไปไม่รู้จบ และต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะที่ผ่านมามีการเลื่อนพิจารณากันมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยการเลื่อนครั้งแรก เลื่อนเพราะ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. แพ้โหวต ก็เลยขอเลื่อนไปแก้ไขเนื้อหาใหม่ ต่อมาก็พิจารณาไปหนึ่งครั้ง ก็มาบอกว่าพิจารณายังไม่เสร็จ ก็มีการขอเลื่อนไปอีก มารอบนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งมีกระแสข่าวออกมาว่าจะเลื่อนพิจารณา พ.ร.บ. ประชามติ ถอยออกไป แล้วเอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาก่อน

ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ในฐานะแกนนำกลุ่ม Re-Solution

“ผมคิดว่า ร่าง พ.ร.บ. ประชามติ ต้องพิจารณากันให้จบ อย่างน้อยประชาชนจะได้มีหลักประกันว่าเราจะมีช่องทางในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จึงจำเป็นต้องช่วยกันจับตาตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. นี้” ณัชปกร กล่าวย้ำ

เมื่อถูกถามถึงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไขรายมาตราโดยพรรคพลังประชารัฐ และมีการคาดหมายกันว่าจะมีการรวบหัวรวบหางพิจารณากันให้จบและลงมติวาระหนึ่งภายในสิ้นเดือน หากร่างนี้ได้รับมติจากสภา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร นั้น ณัชปกร กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐ เนื้อหาส่วนใหญ่หากตัดเกรดเป็น A B C ก็จะเข้าเกณฑ์เป็นเพียงเกรด B และเกรด C หรือเป็นประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ จัดเป็นเพียงประเด็นลำดับที่ 2 และที่ 3 ที่จะหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาคุยกัน เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพที่ร่างของพรรคพลังประชารัฐเสนอ แม้เป็นเรื่องดี หรือต่อให้เขียนสิทธิเสรีภาพไว้ดี แต่ผู้ใช้อำนาจรัฐไม่ดี จะมีประโยชน์อย่างไร เปรียบเหมือน ‘การเอาน้ำตาลมาเคลือบยาพิษ’ คือการเอาประเด็นสิทธิเสรีภาพมาล่อใจว่าจะมีการแก้ไขเรื่องที่สำคัญอย่างสิทธิเสรีภาพ แต่เอามากลบประเด็นที่ทางพรรคพลังประชารัฐอยากจะแก้จริงๆ คือ ระบบเลือกตั้ง กับ อำนาจหน้าที่ ส.ส.

“หัวใจร่างของพรรคพลังประชารัฐมี 2 เรื่อง แม้ว่าจะเอาเรื่องสิทธิเสรีภาพมาทำเป็นเหมือนเคลือบน้ำตาลเพื่อห่อหุ้มยาพิษไว้ก็ตาม โดยมียาพิษที่อยากจะให้แก้จริงๆ อยู่ 2 เรื่อง คือ 1. แก้ระบบเลือกตั้ง 2. การให้อำนาจ ส.ส. มีส่วนในการใช้งบประมาณและแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำได้ ประเด็นแรกหากพูดถึงระบบเลือกตั้งที่พรรคพลังประชารัฐเสนอและเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเสนอด้วย ส่วนตัวคิดว่า ถ้าหากเป็นระบบเลือกตั้งแบบปี 40 แท้ ผมคิดว่าอาจไม่ได้น่ากังวลมาก แต่พลังประชารัฐก็มีการสอดแทรกอะไรบางอย่างเข้ามา ทำให้น่าเกลียดกว่า” ณัชปกร ระบุ

“การที่เขาเสนอให้กลับไปใช้บัตรแบบ 2 ใบ อาจฟังดูดี เพียงแต่การที่กำหนดสัดส่วนให้ ส.ส. เขต มีจำนวน 400 คน และ ส.ส. แบบสัดส่วนมีจำนวน 100 คนนั้น การเขียนแบบนี้มันสะท้อนว่าการเลือกตั้งแบบใหม่ เป็นระบบที่เน้นตัวบุคคล ซึ่งเอื้อให้ระบบเจ้าพ่อหรือพรรคที่มีความสามารถในการดูดตัว ส.ส. ยิ่งได้เปรียบ การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งรอบนี้จึงยิ่งปูทางให้พวกเขาสามารถสืบทอดอำนาจภาค 2 ได้ และการที่ระบบเลือกตั้งให้น้ำหนักกับ ส.ส. เขต มากก็ไปลดทอนความสำคัญของการเมืองเชิงนโยบายที่มาจากคะแนนเสียงของพรรค หรือ ที่นั่งของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ถูกจำกัดไว้เพียง 100 ที่นั่งเท่านั้น” ณัชปกร กล่าว

“ยิ่งไปกว่านั้น เขายังไปเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไปขยายอำนาจให้ ส.ส. สามารถไปติดต่อราชการ ไปทำงานในพื้นที่ได้ สามารถจัดสรรงบประมาณ โยกงบประมาณได้ อันนี้เป็นการปลดล็อกให้บรรดา ส.ส. เขตทั้งหลายสามารถที่จะสร้างผลงานในพื้นที่ได้ จึงเห็นได้ว่าร่างของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่อะไรอื่น แต่เป็นการมุ่งสืบทอดอำนาจต่อผ่านกลไกการเลือกตั้ง โดยเอาระบบเจ้าพ่อ มาเอาชนะชิงชัยกันในรอบนี้” ณัชปกร กล่าว

ณัชปกร กล่าวทิ้งท้ายว่า พวกเขาก็น่าจะมั่นใจว่าสรรพกำลังต่างๆ ที่พวกเขามี ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุน และกลไกต่างๆ ที่ใช้ตอนเลือกตั้งเมื่อครั้งที่แล้ว ก็ยังจะทำให้พวกเขาได้เปรียบอยู่ แม้ว่าจะเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากปี 60 กลับไปเป็นแบบระบบแบบปี 40 ก็ตาม และการที่ไปกำหนดด้วยว่าพรรคการเมืองที่จะส่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ต้องส่ง ส.ส. แบบเขตไม่น้อยกว่า 100 เขตนั้น ประเด็นนี้ก็ทำให้สมรภูมิ ส.ส.เขต เกิดการตัดคะแนนของพรรคที่อุดมการณ์ใกล้เคียงกันมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท