ทนายอานนท์เผยข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะยังมีอยู่ในการชุมนุมหลังจากนี้

'อานนท์ นำภา' ให้สัมภาษณ์หลังร่วมกิจกรรมรำลึก 89 ปีปฏิวัติสยาม 2475 ว่าข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะยังมีอยู่ในการชุมนุมหลังจากนี้ไปพร้อมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่ามีศาลที่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องแต่ก็ถูกกดดันทำให้ต้องสั่งขัง หวังกระแสสังคมจะช่วยให้ศาลไม่ต้องกังวลแรงกดดัน

24 มิ.ย. 2564 หลังกิจกรรมรำลึก 89 ปีปฏิวัติสยาม 2475 ประชาไทสัมภาษณ์ 'อานนท์ นำภา' ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนหลังจากที่เขาติดคุกในระหว่างพิจารณาคดี ม.112 โดยที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวอยู่เกือบ 4 เดือน

ผู้สื่อข่าวถามอัพเดตเกี่ยวกับสุขภาพของอานนท์ว่าเป็นอย่างไรบ้างตั้งแต่รักษาโควิด-19 หายแล้ว เขาบอกว่าตอนเพิ่งหายแค่นั่งก็ยังเหนื่อยแต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้ว แต่ถ้าเดินเป็นระยะทางไกลก็เหนื่อยกว่าเมื่อก่อน เพราะตอนติดเชื้อโควิดก็ลงไปที่ปอดด้วย

จากนั้นผู้สื่อข่าวถามอานนท์ถึงการมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ที่ถือว่าเป็นการออกมาร่วมกิจกรรมครั้งแรกหลังออกจากเรือนจำว่า ตอนแรกเขาไม่คิดว่าวันนี้จะมีคนมาเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังมีวัยรุ่นมากันเยอะ เมื่อก่อนก็มากันทุกปีแต่ก็ไม่มีคน ปีหลังๆ มาคนก็มากันเยอะขึ้นแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเข้าใจและให้ความสำคัญกับอุดมการณ์ในการปฏิวัติของคณะราษฎรกันมากขึ้นเขาก็เรียกวันนี้เป็นวันชาติกัน ถ้าชนชั้นนำมาเห็นก็คงตกใจ

ส่วนประเด็นเรื่องข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เริ่มมีการรณรงค์ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการรณรงค์ต่อในปีนี้หรือไม่ อานนท์ตอบว่าขบวนการเคลื่อนไหวเป็นการเรียกร้องความเสมอภาคการพูดเดิมมันมีอยู่แล้วส่วนข้อจำกัดในการพูดมันก็ถูกทำลายไปโดยสมบูรณ์

"ผมคิดว่าการพูดในปีนี้จะเข้มข้นในเนื้อหามากขึ้น แล้วก็ชัดเจนในเรื่องข้อเสนอมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปอธิบายเรื่องข้อเสนอแล้วก็ความเปลี่ยนแปลงก็อาจจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้เพราะในด้านของเนื้อหามันก็สมบูรณ์ ในแง่จำนวนคนก็มีประมาณหนึ่งแล้ว"

"แต่ว่าอย่าไปคิดว่าการเปลี่ยนแปลงมันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากๆ แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ อย่างปีที่แล้วเนี่ยอาจจะคิดว่าทำไมเราถึงไม่ชนะ ทำไมเราถึงยังอยู่ที่เดิม แต่ผมคิดว่าเราชนะนะเพราะคนมันตื่นเยอะ คนพูดถึงเยอะแล้วก็ตาสว่างแม่งทั่วประเทศ มันเป็นชัยชนะที่มันไม่ได้วัดกันที่จำนวน ส.ส. มันวัดกันที่จำนวนคนที่ตื่นขึ้นมาเยอะขึ้น นั่นคือชัยชนะ ส่วนวิธีการที่เป็นรูปธรรมในการเปลี่ยนแปลงสังคม โครงสร้าง มันจะค่อยๆ เห็น"

อานนท์บอกว่าอย่างเรื่องสถาบันกษัตริย์คนก็กล้าพูดกันเยอะขึ้น กฎระเบียบที่รัฐสร้างขึ้นมาปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สุดท้ายแล้วจะใช้ไม่ได้ผลในที่สุดเพราะไม่มีความชอบธรรมไม่มีความศักดิ์สิทธิ์แล้ว แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อถึงกรณีที่ศาลตั้งเงื่อนไขการประกันตัวของคนที่โดนคดี ม.112 ที่ห้ามทำสถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียว่า ในการพูดถึงเรื่องเดียวกันเช่นการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์หรือเรื่อง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ศาลกับคนที่วิจารณ์ก็อาจจะตีความกันคนละแบบ ฝ่ายหนึ่งก็อาจจะมองว่าเป็นเรื่องทำให้สถาบันเสื่อมเสียแต่อีกฝ่ายก็อาจจะมองว่าเป็นการปฏิรูปให้สถาบันยังคงอยู่ได้

"ผมเชื่อว่าด้วยความเป็นมนุษย์ของศาล ศาลก็เข้าใจคือมันอยู่ในสังคมประชาธิปไตยไม่ได้ไง การแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องมี การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ต้องมี แต่ผมคิดว่าการที่ศาลจะยังใช้กฎหมายจับเราไปขังมันเป็นการดิ้นรนทางการเมืองของชนชั้นนำไทยที่กดดันไปที่ศาล เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ามีการกดดันไปที่ศาล คุณจุลเจิม (ยุคล) เองก็เขียนเฟซบุ๊กว่าถ้าศาลให้ประกันก็ต้องจัดการหรือหมอเหรียญทอง (แน่นหนา) ที่มีการโพสต์เฟซบุ๊ก มันมีแรงกดดันไปที่ศาลเยอะจริง ถ้าผมเป็นศาลผมก็กลัวนะเอาจริง"

ทั้งนี้อานนท์ก็ยังคงเชื่อว่าสังคมก็จะออกมาช่วยกันยืนยันว่าสิ่งที่คนรุ่นใหม่ทำมันชอบธรรมแล้วก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าศาลมาเห็นว่ามีคนที่มีความคิดเห็นเหมือนกับตนเองแล้วก็ออกมาสนับสนุนถ้าศาลจะมีคำสั่งปล่อยตัวก็ไม่ต้องกลัวอะไรและเขายังบอกอีกว่าที่ตัวเองได้ออกจากคุกมาในครั้งนี้ก็เป็นเพราะฉันทามติของสังคม

"คนก็เห็นว่าการขังคนรุ่นใหม่ด้วยมาตรา 112 มันไม่มีความยุติธรรม อาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนนิติศาสตร์ก็ออกแถลงการณ์ว่าการขังระหว่างพิจารณาคดีมันทำไม่ได้มันไม่มีความชอบธรรม ต่อให้กฎหมายมันเขียนว่าขังก็ได้ไม่ขังก็ได้ แต่การเลือกการกระทำหนึ่งมันไม่ใช่ศาลไปนั่งหมุนเหรียญแล้วบอกว่าตัวเองมีความชอบธรรม แต่มันเป็นการใช้เหตุผล ถ้าศาลขังโดยไม่มีเหตุผลหรือเหตุผลนั้นไม่มีความชอบธรรมมันก็ต้องปล่อย สังคมมันไม่เห็นด้วย"

 

ผู้สื่อข่าวถามความเห็นเกี่ยวกับกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังมีการพิจารณากันในสภาเวลานี้ว่า ดูเหมือนข้อเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวตอนนี้ที่ต้องการให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเปิดให้มีการพิจารณาแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติและสถาบันกษัตริย์ซึ่งก็ดูจะเกิดขึ้นได้ยากถ้าสภาไม่ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีประเด็นนี้

อานนท์บอกว่าเรื่องนี้ประชาชนได้ช่วยกันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายที่จะแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ทุกคนก็รู้ว่าตอนนี้ปัญหาอยู่ที่ ส.ว. ประชาชนก็รู้ว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือการให้อำนาจต่อชนชั้นนำ การให้อำนาจต่อกองทัพให้อำนาจต่อสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญมันมีปัญหา แต่เหลือเพียงทำให้มันออกมาเป็นตัวบทในรัฐธรรมนูญผ่านตัวแทนในรัฐสภาเพราะการจะแก้รัฐธรรมนูญมันต้องเป็นฉันทามติร่วมกัน แต่เขาก็เห็นว่ารัฐสภาไทยมีปัญหา

"ส.ส.ก็เข้ามาอย่างที่เราเห็นกัน ส.ว.เองก็ไม่มีความชอบธรรมอะไร มันก็ต้องใช้เวลาพอสมควรในการแก้ที่เป็นตัวบท แต่ผมว่ารัฐธรรมนูญในใจคนมันถูกแก้ไปแล้ว คือหลักการมันไม่ต้องไปเถียงกันแล้วว่ามันเป็นยังไง"

อานนท์คิดว่าถ้าสังคมมีแรงกระเพื่อมในเรื่องนี้มากกขึ้นก็จะเป็นการกดดันไปที่รัฐสภา เพราะก่อนที่จะมีการพิจารณาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ในสภาก็ไม่ได้มีการพูดถึงกันมาแต่แรกจนกระทั่งมีคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือแม้แต่เรื่องอำนาจของสถาบันกษัตริย์ก็ตาม ทำให้ทุกองคาพยพต้องมาพูดเรื่องนี้แล้วคนจำนวนมากก็เห็นร่วมกันว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เขาก็คิดว่าปัญหาอีกอย่างคือ ส.ส.ที่เป็นผู้แทนของประชาชนในสภาก็ไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ถึงแม้ตัวเขาเองจะเห็นว่าผู้แทนบางคนก็มีอุดมการณ์มีความคิดที่ก้าวหน้า แต่พอมีเรื่องแกนนำพรรคมากดดันหรือถูกอีกฝ่ายใช้คดีความมากดดันหรือกดดันผ่านระบบราชการก็ทำให้ ส.ส.ทำอะไรไม่ได้เต็มที่

เขากล่าวต่อว่าดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงทำกันแค่ในสภาไม่ได้ไม่อย่างนั้นก็จะมีแค่ ส.ส.ที่มาแก้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบทางการเมืองเท่านั้น

"ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายประชาธิปไตยมันก็แสดงความหน้าด้านออกมาอย่างชัดเจน ผมไม่คิดว่าตอนนี้จะมีใครเล่นอยู่หลังฉาก ทุกคนออกมาหน้าฉากหมดแล้ว จะเห็นได้จาก ส.ว.หลายๆ คนไม่ได้รู้สึกผิดหรืออายกับสิ่งที่ตัวเองพูด"

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าแล้วภายในปีนี้จะเคลื่อนไหวกันอย่างไรต่อในสถานการณ์ที่โควิด-19 ก็ยังระบาดแล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีคนออกมาร่วมชุมนุมแบบปี 2563 หรือไม่ อานนท์บอกว่าปีนี้ก็ยังมีแผนที่วางไว้เบื้องต้นคือเรื่องมาตรา 112 แก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงเรื่องการขยายพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ก็จะยังพูดเหมือนเดิม แต่เขาก็คาดหวังกับวิธีการของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งวิธีนัดชุมนุมหรือการใช้โซเชียลมีเดียใหม่ๆ อย่างคลับเฮาส์ที่ถูกเอามาใช้ในการพูดคุยเรื่องการเมืองแทนการตั้งเวทีปราศรัย

 

อานนท์กล่าวถึงการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ปัจจุบันมีจำนวนหลักร้อยด้วยว่า ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปปรับแนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดี แม้ว่าจะมีคดีก็ต้องสู้กันต่อไปแต่ก็ต้องหามิตรสหาย หรือองค์กรที่จะให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเพิ่ม ซึ่งตอนนี้ก็โชคดีมีนักกฎหมายที่เข้ามาช่วยเหลือทางกฎหมายเพิ่มขึ้นมากจากเดิมที่มีจำนวนทนายความหรือองค์กรไม่มากนัก

"ผมคิดว่าความชัดเจนเรื่องความบริสุทธิ์ใจทุกคนก็เห็น ศาลก็ไม่ซื้อเรื่องที่ว่ามีคนอยู่เบื้องหลังนะ แล้วศาลก็ไม่เชื่อว่าไอ้เด็กพวกนี้ถูกล้างสมองได้ แต่สิ่งที่คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัยในการมาร่วมหรือแสดงความคิดเห็นว่าฉันเห็นด้วยกับเธอ ผมว่าแม้แต่กับศาลเองเนี่ยยังมีความกลัวอยู่ในความรู้สึกว่ามันทำได้มั้ยมันจะเป็นไปได้มั้ย"

"แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อยืนยันให้กับศาลเพื่อให้กับคนทั้งสังคมเห็นว่าข้อเสนอหรือความคิดของคนรุ่นใหม่หรือสังคมใหม่มันเป็นไปได้ พูดง่ายๆ ก็คือจะทำอย่างไรให้นักการเมืองมันซื้ออย่าง 'ทักษิณ ชินวัตร' เนี่ย เชื่อว่าความฝันของคนรุ่นใหม่มันเป็นไปได้แล้วก็มาสนับสนุน แต่เราก็ต้องทำให้เขาเห็นก่อนว่ามันเป็นไปได้แล้วเขาก็ซื้อ"

อานนท์ยกตัวอย่างอีกว่าเจ้าไทยหรือชนชั้นนำบางคนก็ไม่ได้ออกมาด่าคนรุ่นใหม่แต่อาจจะมีการเชียร์อยู่เงียบๆ หรืออย่างทักษิณที่ยังวิจารณ์หรือยังไม่ตอบรับข้อเสนอก็อาจจะเป็นเพียงว่ายังไม่มั่นใจว่าข้อเสนอนั้นปลอดภัยกับตัวเองแค่ไหน ซึ่งเขาเห็นว่าก็เป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ต้องตรวจสอบตัวเองและก็พัฒนาการสื่อสารของตัวเองด้วย

"คือเป็นโจทก์จะไปชี้หน้าด่าเขาอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันเป็นโจทย์ของเราที่ต้องทำให้เขาซื้อ" แต่อานนท์ก็มองว่าการด่ากันเป็นเรื่องปกติของความเป็นประชาธิปไตย แต่ด้วยท่าทีตรงไปตรงมาของคนรุ่นใหม่เวลาไม่พอใจนักการเมืองหรือในเรื่องอะไรก็แสดงออกกันตรงๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนไม่ต้องมีเบื้องหน้าเบื้องหลังกัน แต่ก็ต้องทำให้ชัดเจนด้วยว่าเรื่องที่ด่ากันเป็นเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวกัน

ทั้งนี้อานนท์ก็ไม่ได้คิดว่าการสื่อสารจะต้องทำกับแค่ชนชั้นนำ แต่ต้องพยายามทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นด้วยกับขบวนการเคลื่อนไหวด้วย เขายกตัวอย่างว่าจะทำอย่างไรให้เวลามีชุมนุมแล้วจะมีพ่อค้าแม่ค้าเอาอาหารมาให้หรือให้คนขับรถอยากขับไปส่งเพราะเห็นด้วยกับการชุมนุมมาก และในการชุมนุมปีที่ผ่านมาของราษฎรก็สามารถทำได้ทั้งวินมอเตอร์ไซค์หรือแท็กซี่ก็ไปส่งผู้ชุมนุมให้ฟรีด้วย ซึ่งก็คือการทำให้เขาเห็นด้วยแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวอันนี้เป็นโจทย์ของขบวนการประชาธิปไตยที่ต้องทำเรื่องนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท