รอด! ศาล รธน. ปัดตกคำร้อง 72 ส.ส.เพื่อไทยจี้วินิจฉัยความเป็น รมต.ของ 'ประยุทธ์'

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับวินิจฉัยคำร้องของ ส.ส.เพื่อไทย ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากกรณีการใช้ ม.44 เข้าแทรกแซงกิจการสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเมื่อปี 2562

1 ก.ค. 2564 วันนี้ (1 ก.ค. 2564) สํานักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญ "ไม่รับคำร้อง" ของ ส.ส.เพื่อไทยจำนวน 72 คน ยื่นคำร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่าจะมีผลสิ้นสุดหรือไม่ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เข้าแทรกแซงโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว เมื่อเดือน เม.ย. 2562

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วลงมติว่า "มีคําสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย" โดยให้เหตุผลว่าขณะที่ ส.ส.เพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องนั้น พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ไปแล้ว เนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และมีการเลือกตั้งแล้ว

เอกสารของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 30 มิ.ย. 2564 ระบุว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 42 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 146 วรรคหนึ่ง และมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 10/2564) 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จํานวน 72 คน ยื่นคําร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ผู้ถูกร้อง) ออกคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว ลงวันที่ 11 เม.ย. 2562 เป็นการเข้าไปแทรกแซงและก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทาน จากหน่วยงานของรัฐซึ่งมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ผู้ร้องจึงส่งคําร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 42

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) มีความมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่ผู้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีไม่ให้กระทําการ อันเป็นการต้องห้ามในขณะที่ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี หากรัฐมนตรีผู้ใดกระทําการอันเป็นการต้องห้ามดังกล่าว ในขณะที่ตนดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีอยู่ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้นั้นย่อมต้องสิ้นสุดลง ดังนั้น การยื่นคําร้อง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 42 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีนั้นอยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อข้อเท็จจริงตามคําร้องปรากฏว่าในขณะที่ผู้ร้องยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 82 แต่ผู้ถูกร้องได้พ้นจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญไปแล้วนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญเข้ารับหน้าที่ ผู้ร้องไม่อาจยื่นคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ได้ 

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคําสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท