Skip to main content
sharethis

10 ก.ค.2564 เวลา 09.00 น. สภาผู้ชมผู้ฟังรายการไทยพีบีเอสภาคใต้ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาคุณภาพรายการ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Meeting  เรื่องเสียงคนใต้ต่อร่างกฎหมายควบคุมองค์กรภาคประชาชน หรือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสมบูรณ์ คำแหง สมัชชาประชาชนภาคใต้ มีผู้เข้าร่วมเวทีจากหลายจังหวัดในภาคใต้

ไพโรจน์ กล่าวว่า องค์กรภาคประชาสังคม ทั้งองค์กรเอ็นจีโอ องค์กรประชาชน องค์กรชุมชน เป็นองค์กรที่ไม่ได้ทำงานเพื่อตัวเอง องค์กรเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะหลังจากเรามีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเปิดพื้นที่ให้การเมืองภาคประชาชน ขยายสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การถอดถอนผู้บริหารระดับชาติและระดับท้องถิ่น การมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบโครงการและนโยบายของรัฐ การดำเนินการขององค์กรต่างๆ ก่อให้เกิดการถ่วงดุลตรวจสอบนโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สวัสดิการสังคม ผู้หญิง ผู้สูงอายุ คนพิการ และด้านอื่นๆ 

แต่หลังจากมีรัฐประหารได้มีการรวมอำนาจในการปกครองประเทศเข้าสู่ระบบราชการ เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจ เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ การมีองค์กรประชาสังคมเป็นอุปสรรคต่อทิศทางที่รัฐราชการอำนาจนิยมจะกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ จึงมีการกำกับควบคุมองค์กรประชาสังคม เป็นที่มาของการออกกฎหมายฉบับนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้สำนักงานกฤษฎีกาจัดทำร่างกฎหมาย โดยไม่ได้ประเมินผลกระทบ ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายฉบับนี้มีอคติกับองค์กรประชาสังคม กล่าวหาว่ามีลักษณะไถยจิต หรือเป็นคนขี้ลักขี้ขโมย จัดตั้งองค์กรเพื่อหารายได้ให้ตัวเอง ไม่มีมิติที่เห็นว่าองค์กรประชาสังคมร่วมพัฒนาประเทศ อาจจะเกิดจากความรู้สึกว่าองค์กรเหล่านี้ท้าทายตรวจสอบติดตามคัดค้าน

ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการจำกัดและกีดกันเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนโดยไม่จำเป็นและไม่สมเหตุสมผล มีการบังคับให้องค์กรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมูลนิธิ สมาคม ต้องจดแจ้ง หรือขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย บังคับให้ทุกองค์กรต้องแจ้งที่มาของรายได้ รายงานกิจกรรมประจำปี ทำงบดุลที่มีผู้รับรองทางบัญชี แจ้งเรื่องการเสียภาษีต่อกระทรวงฯ อีกทั้งมีการให้อำนาจกระทรวงฯ เข้ามาตรวจค้นสำนักงาน ขอสำเนาในการสื่อสารจากคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องมีหมายศาล และอาจมีหน่วยงานอื่นเข้ามาด้วย มีการกำหนดบทลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

ด้านผู้เข้าร่วมเวทีมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการเคลื่อนไหวทางสังคม ควบคุมการเคลื่อนไหวขององค์กรในท้องถิ่น ในขณะที่องค์กรที่มีการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิและสมาคมมีระบบการตรวจสอบ มีการรายงานการเงิน และรายการกิจกรรมต่างๆ อยู่แล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นอุปสรรคในการรวมกลุ่มของชุมชน รวมถึงเยาวชน ซึ่งการจดแจ้งทำได้ยาก ไม่สะดวกทำงบดุล และต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัญชี จะส่งผลให้องค์กรชุมชนจำนวนมากต้องสลายกลุ่มไป นอกจากนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อฐานข้อมูลองค์กร รวมถึงฐานข้อมูลบุคคล เช่น ฐานข้อมูลผู้บริโภค จะส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคมในภาคใต้หลายองค์กรได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านร่างกฎหมาย ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมในภาคอื่นๆ แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าร่างกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้นจะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าความเคลื่อนไหวในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2564  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนยกเลิกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยแนบรายชื่อองค์กรภาคประชาสังคม จำนวน 1,779 องค์กร ประกอบด้วยองค์กรภาคประชาสังคม 17 กลุ่ม ได้แก่ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายเด็ก เยาวชน และครอบครัว เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายชุมชนเมือง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานในระบบ เครือข่ายด้านสุขภาพ เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายชาติพันธุ์ เครือข่ายสิทธิมนุษยชน เครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน และเครือข่ายนักวิชาการด้านสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net