Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปรีดี บุญซื่อ เขียนไว้ในหนังสือ “อาณาจักรอียิปต์โบราณสมัยฟาโรห์” ว่า ในมุมมองความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ อียิปต์โบราณคือ “ชุมชนจินตนาการ” (Imagined communities) แห่งแรกๆ ของโลกที่สร้างขึ้นบน “แบบแผนความร่วมมือในจินตนาการ” ของศาสนาพหุเทวนิยม (polytheism) ที่มีเทพเจ้านับพัน

คำอธิบายของเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ใน “History of Western Philosophy” ช่วยให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า ศาสนายุคแรกๆ ในอารยธรรมโบราณเป็นเรื่องของชาติพันธุ์ต่างๆ มากกว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ยิ่งกว่านั้นศาสนายังเป็นรากฐานของระบบการเมือง ศีลธรรม และกฎหมาย 

ตัวอย่างเช่น ศาสนาเทพหลายองค์ในอารยธรรมเมโสโปเตเมียเป็นรากฐานของการสถาปนาจักรวรรดิบาบิโลเนียที่เริ่มสร้าง “ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี” (Code of Hammurabi) อันลือชื่อ ที่ให้ทั้งบทบัญญัติกฎหมายมาตราต่างๆ พร้อมบันทึกตัวอย่างคำตัดสินคดีต่างๆ และประเพณี “สรรเสริญพระบารมี” ต่อท้ายคำประกาศตัดสินคดีของกษัตริย์ฮัมมูราบี เช่นว่า 

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ก็คือผลตัดสินคดีของฮัมมูราบี ราชาผู้สามารถ เจ้าผู้รวบรวมอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่น และบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระราชจริยวัตรอันงดงามและเที่ยงธรรม...ข้าคือฮัมมูราบี ราชาผู้ยิ่งใหญ่ ราชาผู้ไม่เคยเฉยชาและละทิ้งมนุษยชาติ ผู้ที่เทพเอลลิลประทานให้ข้าปกปัก และผู้ที่เทพมาร์ดุกประสิทธิ์ประสาทอำนาจและให้ข้าเป็นผู้นำทาง (ใน “เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ” ของยูวัล โนอาห์ แฮรารี หน้า 158)

บังเอิญว่าประเพณีสรรเสริญพระบารมีทำนองนี้ คล้ายจะเป็น “ประเพณีสากล” ที่ใช้ในระบบกษัตริย์แทบทุกแห่งของโลก แต่ที่แน่ๆ “ชุมชนจินตนาการ” ที่รองรับการสร้างแบบแผนความร่วมมือหรือระเบียบทางสังคมการเมืองขึ้นมา น่าจะเป็นลักษณะสากลของสังคมมนุษย์ทุกแห่ง

หากมองแบบนักคิดโพสต์โมเดิร์นจะเห็นว่า “เรื่องเล่าหลัก” (metanarrative) ของศาสนาพหุเทวนิยมแบบอียิปต์คือเรื่องเล่าที่ว่า มนุษย์เรามีแบบแผนความสัมพันธ์กับธรรมชาติ แบบแผนการดำเนินชีวิต และแบบแผนความร่วมมือทางสังคมที่ยึดโยงอยู่กับเทพต่างๆ หรือมีเทพต่างๆ อยู่เบื้องหลังความชอบธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของแบบแผนต่างๆ เหล่านั้นเสมอ 

เรื่องเล่าหลักเช่นนี้ถูกใช้เป็นรากฐานวางโครงสร้างทางการเมืองแบบ “รูปปิรามิด” ขึ้นมาว่า ฟาโรห์คือเทพหรือโอรสของเทพ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดบนยอดปิรามิด ทำหน้าที่เป็นซีอีโอของรัฐคือ เป็นหัวหน้าคณะบริหารที่ประกอบด้วยศาลสูงสุด ผู้บัญญาชาการทหาร และคณะนักบวชชั้นสูง ส่วนฐานล่างของปิรามิด ก็คือคนส่วนใหญ่ที่เป็นพวกสามัญชนและทาส ว่ากันว่าชุมชนจินตนาการเช่นนี้มีอายุยาวนานกว่าสามพันปี ซึ่งแสดงถึงอำนาจและประสิทธิภาพของชุมชนจินตนาการแบบศาสนา

ขณะที่ศาสนาเอกนิยม (monotheism) ของชาวยิวสร้างชุมชนจินตนาการของตนเองว่า “ชาวยิวคือชนชาติที่ถูกเลือกโดยพระเจ้า” เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการอพยพหนีจากการตกเป็นทาสแรงงานของฟาโรห์คืนสู่ “แผ่นดินแห่งพันธสัญญา” ในดินแดนที่เรียกว่าประเทศอิสรเอลในปัจจุบัน

แต่นักคิดสายเสรีนิยมอย่างโธมัส เพน วิจารณ์ไว้ในหนังสือ “สามัญสำนึก” (Common Sense) ว่าเป็นความผิดพลาดของชาวยิวที่สถาปนามนุษย์ขึ้นเป็นกษัตริย์คนแรกของอิสราเอล เพราะพระเจ้าผู้ทรงปัญญาสัมบูรณ์เท่านั้นที่ควรเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียว 

สำหรับเพน การตั้งมนุษย์เป็นกษัตริย์ที่ทรงอำนาจดุจดังพระเจ้า คือต้นตอของปัญหาทางการเมืองและศีลธรรมของมนุษยชาติ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การสถาปนาอำนาจเทวสิทธิ์ของพระสันตะปาปาและกษัตริย์ในยุคกลาง

ทว่าหนังสือ “เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ” ของแฮรารีอธิบายภาพรวมว่า ไม่ว่าแบบแผนความร่วมมือแบบชุมชนจินตนาการในศาสนาโบราณ ศาสนาคริสต์และอื่นๆ รวมทั้งเรื่องเล่าอย่าง “คำประกาศอิสรภาพอเมริกา” ที่ว่า “พระผู้สร้างได้ประทานสิทธิแก่เราทุกคนเท่าเทียมกัน” หรือคำประกาศ “สิทธิของมนุษย์” และหลัก “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ในการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นต้น ต่างมีก็สถานะเป็นเพียง “แบบแผนความร่วมมือในจินตนาการ” เท่านั้น 

เนื่องจากในทางชีววิทยานั้น คนเราไม่ได้ถูกสร้างขึ้น จึงไม่มี “พระเจ้าผู้สร้าง” ซึ่ง “มอบสิทธิ” ใดๆ ให้กับพวกเรา...ในทางชีววิทยาจึงไม่มีสิทธิอยู่ ความเท่าเทียมกันจึงไม่ต้องพูดถึง (เพราะชีววิทยาทำให้เราวิวัฒนาการมาแตกต่างกัน และยังมีลักษณะกลายพันธุ์ที่ดำเนินไปอย่างไร้จุดหมาย และมืดบอด-ผมเพิ่มเติมตามอรรถธิบายแบบแฮรารี) จะมีก็แค่อวัยวะ ความสามารถ และลักษณะต่างๆ นกบินได้ไม่ใช่เพราะพวกมันมีสิทธิจะบิน แต่เพราะพวกมันมีปีก...” (หน้า 161)

แต่เราก็อาจถามแฮรารีกลับได้ว่า ถ้าเราจับนกใส่กรงขังจะพูดอย่างมีความหมายได้ไหมว่า “ขณะที่อยู่ในกรงขังนกไม่มีสิทธิบิน?” แฮรารีคงจะเถียงไม่ขึ้น และเราก็คงจะไม่เถียงแฮรารีว่ารูปแบบความร่วมมือทางสังคมต่างๆ นั้นไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์จินตนาการขึ้น แต่ที่ต้องจินตนาการขึ้น ก็เพราะ “ความจริงทางชีววิทยา” แม้ว่ามันจะทำให้เราเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับธรรมชาติของตัวเราเอง แต่มันยังไม่เพียงพอที่จะเป็นเครื่องมือให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่าง (ที่เราคิดว่า) “ยุติธรรม” หรืออย่างมีความหมายที่ดีแบบอื่นๆ 

ดังนั้น เรื่องเล่าหลักของศาสนาต่างๆ ที่สร้างแบบแผนความร่วมมือของชุมชนจินตนาการต่างๆ ขึ้นมาในโลก ก็เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานสำคัญๆ ที่มนุษย์ยุคโบราณและยุคกลางเผชิญ เมื่อเวลาผ่านไปมนุษย์ยุคต่อมาก็พบว่า ชุมชนจินตนาการแบบศาสนาคือ “กรงขัง” ที่ทำให้มนุษย์เป็นดุจนกที่ไม่มีสิทธิและเสรีภาพจะโบยบิน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องสร้างเรื่องเล่าหลักใหม่ว่า พระเจ้าหรือธรรมชาติสร้างเรามาให้มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน แม้เรื่องเล่าใหม่นี้ (หรือที่อาจจะมีใหม่ๆ กว่านี้ไม่สิ้นสุด) จะไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ แต่มันดูจะใช้งานได้ดีกว่าเรื่องเล่าหลักในยุคก่อนๆ 

นี่คือเหตุผลสำคัญว่า ทำไมมนุษย์ส่วนใหญ่ที่เลิกล่าสัตว์ มาเร่ร่อนเลี้ยงฝูงสัตว์ หรือเลิกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ มาตั้งถิ่นฐานทำการเกษตร และเลิกวิถีชีวิตเกษรกร มาสู่สังคมอุตสหากรรมเป็นต้นแล้ว จึงไม่อยากหรือไม่อาจจะหวนกลับไปใช้ชีวิตในแบบยุคที่ผ่านพ้นมาแล้ว 

เช่นเดียวกัน มนุษย์ที่ “ย้ายความคิด” มาอยู่ในโลกของเรื่องเล่าหลักแบบยืนยัน “สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แล้ว ก็ย่อมไม่ต้องการกลับไปเป็น “ฝุ่นใต้ตีน” ของ “เทพสมมติ” ใดๆ อีกแล้ว การใช้อำนาจบีบบังคับ หรือใช้มนต์มายาทางศาสนาใดๆ ครอบงำให้ย้อนยุคจึงเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ!

ที่ว่ามายืดยาว ก็เพื่อจะสรุปเชิงตั้งคำถามว่า การศึกษาศาสนาแบบบศาสนาในบ้านเราให้ความรู้อะไรที่มีประโยชน์จับต้องได้บ้าง

ที่ว่า “การศึกษาศาสนาแบบศาสนา” หมายถึง ประเพณีการศึกษาศาสนาเพื่อค้นหาคำสอนที่เชื่อกันว่าเป็น “แก่นแท้” มาตอบปัญหาพื้นฐานต่างๆ ของชีวิตและสังคมปัจจุบัน การศึกษาแบบนี้ต่างอย่างไรกับการทำ “หน้าที่เผยแพร่ศาสนา” เพราะเหมือนจะ “สมมติล่วงหน้า” อยู่แล้วว่า คำสอนศาสนาตอบปัญหาพื้นฐานสำคัญๆ ของชีวิตและสังคมปัจจุบันได้ดีกว่าความรู้สมัยใหม่ต่างๆ

ในแง่หนึ่ง การศึกษาศาสนาทำนองนี้ยึด “คตินิยม” ที่ว่า คำสอนศาสนาคือ “ความจริงสูงสุด” ที่ถูกต้องหรือดีเสมอ และอยู่เหนือความถูกต้องหรือความดีในแบบใดๆ เมื่อเราเรียนรู้และนำมาปฏิบัติย่อมทำให้ชีวิตเรามีความสุขและสังคมมีศีลธรรมแน่นอน ปัญหาอยู่ที่ว่าคนห่างศาสนา ไม่สนใจใฝ่รู้คำสอนศาสนา หรือไม่นำมาปฏิบัติ จึงทำให้สังคมเสื่อมทรามลง คตินิยมเช่นนี้เองที่เป็นรากฐานของประเพณีการศึกษาศาสนาแบบที่คนรุ่นใหม่ล้อเลียนกันว่า “พุทธพ่อทุกสิ่ง” (ซึ่งรวมทั้ง “อิสลามพ่อทุกสิ่ง” คริสต์ และ ฯลฯ พ่อทุกสิ่งด้วยเช่นกัน) 

สุดท้ายแล้วประเพณีการศึกษาศาสนาเช่นนี้ ก็ย่ำอยู่ใน “จารีตนักเผยแพร่ศาสนา” ซึ่งอันที่จริงอาจไม่ตรงกับวิธีคิดแบบยุคศาสดาด้วยซ้ำ เช่นอย่างน้อย เมื่ออ่านไตรปิฎก เราก็พบว่าพุทธะเองก็มองและวิพากษ์วิจารณ์ให้เห็นว่า เรื่องเล่าหลักแบบศาสนาที่มีอยู่ก่อนมันสร้างปัญหาไว้มากมาย หรือไม่ตอบโจทย์ชีวิตและสังคมเวลานั้นได้ดีพอ จึงพยายามสร้างเรื่องเล่าใหม่ที่มีเหตุผลดีกว่า 

แต่จะเป็นไปได้อย่างไร ที่เรื่องเล่าของพุทธะซึ่งเคย “ใหม่” เมื่อกว่าสองพันปีที่แล้วจะยังคงเป็น “อกาลิโก” หรือ “ใหม่เสมอ” ในแทบทุกมิติหรือเป็น “ส่วนใหญ่” ซึ่งสามารถใช้ตอบปัญหาพื้นฐานต่างๆ ของชีวิตและสังคมในปัจจุบันและอนาคตได้ดีกว่า ดังประเพณีการศึกษาศาสนาในบ้านเราพยามเน้นกัน 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net