สายการบินลุฟท์ฮันซา (Lufthansa) ประกาศ 'เลิก' ทักทายผู้โดยสารว่า 'ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี'

สายการบินลุฟท์ฮันซาของเยอรมนี ประกาศยกเลิกการกล่าวคำทักทายแก่ผู้โดยสารว่า "ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี" ซึ่งเป็นการระบุเพศแบบไม่คำนึงถึงนอนไบนารี (Non-binary) หรือผู้ไม่อยู่ในระบบสองเพศ และจะเรียกผู้โดยสารด้วยคำที่คำนึงครอบคลุมถึงความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

15 ก.ค. 2564 เดิมทีแล้วสายการบินลุฟท์ฮันซาจะเริ่มต้นทักทายผู้โดยสารว่า "เรียนท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ยินดีต้อนรับขึ้นเครื่อง" แต่หลังจากนี้ไปสายการบินมีแผนการเปลี่ยนการเรียกและการทักทายผู้โดยสารด้วยภาษาที่เป็นกลาง เช่น "เรียนคุณลูกค้า", "สวัสดีตอนเช้า/สวัสดีตอนเย็น" หรือ "ยินดีต้อนรับขึ้นเครื่อง" โดยการเลือกใช้คำทักทายไหนนั้น สายการบินจะปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของลูกเรือที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนเครื่องบิน และนโยบายนี้จะนำมาใช้กับทุกสายการยินที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของลุฟท์ฮันซากรุป ไม่ว่าจะเป็นสายการบินออสเตรียนแอร์ไลน์, สายการบินสวิส และสายการบินยูโรวิงส์ ซึ่งพนักงานของสายการบินได้รับการแจ้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงนี้มาตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมาแล้ว

อันยา ชเตงเงอร์ (Anja Stenger) โฆษกของสายการบินลุฟท์ฮันซา กล่าวว่า ความหลากหลายไม่ได้เป็นเพียงคำพูดลอยๆ แต่เป็นความจริงสำหรับสายการบินลุฟท์ฮันซา และนับตั้งแต่นี้ไป สายการบินจะแสดงออกถึงทัศนคติด้านนี้ผ่านการใช้ภาษาขององค์กร

ถึงแม้จะฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อเล็กซานดรา เชเล (Alexandra Scheele) ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาและเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบีเลเฟลด์ มองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลในเชิงสัญลักษณ์ ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นในเรื่องการคำนึงถึงเพศสภาพและการตั้งคำถามต่อมุมมองแบบสองเพศที่เป็นคู่ตรงข้าม

"สำหรับผู้คนที่ไม่ได้อยู่ในระบบสองเพศชายหญิง รวมถึงทุกคนที่ตั้งคำถามต่อระบบสองเพศคู่ตรงข้ามแล้ว การไม่ใช้คำว่า 'ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี' คงจะดีกว่า" เชเลกล่าว

นอกจากสายการบินลุฟท์ฮันซาแล้ว บริษัทอื่นๆ องค์กระระดับประเทศหรือระดับโลกก็เริ่มหันมาใช้มาตรการส่งเสริมและคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศสภาพที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยนำเอาแนวทางการใช้ภาษาแบบไม่เจาะจงเพศมาใช้เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) และคณะกรรมาธิการยุโรป เป็นต้น

สถาบันเพื่อความเท่าเทียมทางเพศสภาพแห่งสหภาพยุโรป (European Institute for Gender Equality) นิยามคำว่า 'ภาษาแบบเป็นกลางทางเพศ' ว่าเป็นภาษาที่ไม่ได้เจาะจงเพศสภาพแต่คำนึงถึงผู้คนทั่วไป โดยไม่จำกัดว่าเป็นเพศใด ใน พ.ศ.2561 รัฐสภายุโรปเผยแพร่คู่มือการใช้ภาษาแบบเป็นกลางทางเพศ โดยระบุว่า 'ภาษาที่คำนึงถึงความครอบคลุมทางเพศนั้นเป็นมากกว่าเรื่องของความถูกต้องทางการเมือง (Political correctness) เพราะจุดประสงค์ของการใช้ภาษาที่เป็นกลางทางเพศนั้น คือ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำที่อาจถูกตีความว่ามีอคติ เลือกปฏิบัติ หรือลดทอนคุณค่าอัตลักษณ์บุคคล ด้วยการบอกเป็นนัยว่าเพศกำเนิดหรือเพศสภาพใดเป็นบรรทัดฐานของสังคม

หลายภาษาทั่วโลก โดยเฉพาะภาษาในยุโรป รวมถึงภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่มีการระบุเพศอยู่ในตัว เช่น คำเรียกแพทย์ชาย (Arzt) และแพทย์หญิง (Ärztin) หรือบรรณาธิการชาย (Redakteur) และบรรณาธิการหญิง (Redakteurin) ก็จะเรียกต่างกันเล็กน้อย ทำให้การนำภาษาแบบเป็นกลางทางเพศมาใช้มีการอภิปรายความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านอ้างว่าการใช้ภาษาแบบเป็นกลางทางเพศเป็น "การโจมตีภาษา" แต่ผู้สนับสนุนมองว่าภาษาแบบดั้งเดิมที่มีเพศจะทำให้ผู้ที่ไม่อยู่ในระบบสองเพศชายหญิงรู้สึกแปลกแยก อีกทั้งภาษาดั้งเดิมนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการเหมารวมแบบเหยียดเพศด้วย

ในภาษาอังกฤษ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง 'ฟอร์ด' ก็เพิ่งเปลี่ยนมาใช้ภาษาแบบเป็นกลางทางเพศด้วยการเปลี่ยนคำว่า 'ประธาน' ซึ่งจาก 'chairman' เป็น 'chair' เท่านั้น

เชเลบอกว่าการใช้ภาษาแบบคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศจะกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศได้ แต่ก็มองว่าองค์กรและบริษัทต่างๆ ควรจะไปให้ไกลกว่าแค่เรื่องภาษา แต่ต้องให้ครอบคลุมเรื่องการจ้างงานโดยไม่เลือกปฏิบัติ ต้องคำนึงถึงสัดส่วนของคนแต่ละเพศในที่ทำงาน รวมถึงการจ่ายเงินค่าจ้างอย่างเป็นธรรมโดยไร้อคติทางเพศ นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ควรพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร หากมีกรณีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นก็ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ได้รับทราบ ไม่เช่นนั้นก็ควรขจัดการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติให้หมดไป

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท