Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


วิดีโอคลิปแสดงชีวิต การงาน ความรู้สึกของสัปเหร่อท่านหนึ่งซึ่งทำงานไม่ได้หยุดหย่อนในช่วงนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงผลการระบาดของโควิดในช่วงที่ผมชี้ไว้เมื่อตอนต้นเดือนนี้ขณะที่มีผู้ป่วยวันละไม่กี่พันคนว่าเรากำลังเข้าสู่ funeral phase หรือ ระยะของการจัดการศพที่มีอย่างมากมาย ทั้งจากผู้เสียชีวิตจากโควิดและเสียชีวิตจากโรคอื่นซึ่งปรกติจะไม่ตาย แต่ก็ต้องตายเพราะการเข้าไม่ถึงบริการของโรงพยาบาล

คำว่า “สัปเหร่อ” คงแปลงมาจากภาษาอื่นๆ ในวิกิพจนานุกรมระบุว่ามาจากภาษามอญ และภาษาบาลี สปฺปุริส แปลว่า คนดี ซึ่งก็เหมือนคำว่า สัปบุรุษ ซึ่งใช้ทั้งทางพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม 

สัปเหร่อ จึงเป็นคนดีที่ช่วยจัดการศพเมื่อมีคนเสียชีวิต ถ้าไม่มีสัปเหร่อจัดการ ศพทั้งหลายก็เน่าเหม็น แห้งเหี่ยว เป็นที่น่ารังเกียจหรือรำคาญของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ 

เมื่อผมกล่าวถึง funeral phase เมื่อตอนต้นเดือนกรกฎา ซึ่งยังไม่มีปัญหาคนตายมากแบบตอนนี้ คนส่วนใหญ่รู้สึกมองไปข้างหน้าแล้วเศร้าจัง ตอนนี้ความเศร้าเป็นปัจจุบันไม่ใช่อนาคตแล้ว 

ความเศร้าและสังเวชเมื่อคิดถึงความตายคงมาจากองค์ประกอบอย่างน้อยสองส่วน ส่วนแรก คือ ความรู้สึกเสียดายชีวิตและความเป็นอยู่ว่าจะต้องจากไป อีกส่วนหนึ่งอาจจะอยู่ในจิตใต้สำนึกหรือสัญชาตญาณ กลัวร่างกายของตนเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีกลายเป็นอสุภซึ่งน่ารังเกียจ

ในทางพุทธศาสนา ผมได้ยินมาว่า กุศโลบายในการลดราคะโดยเฉพาะของหนุ่มๆ ทั้งหลาย คือ ให้คิดถึงสภาพของ อสุภ คือ ซากศพ 

ผมมีมุมมองทางชีววิทยาว่า ราคะ คือ ธรรมชาติหรือสัญชาติญาณที่ผลักดันให้มนุษย์หรือสัตว์ดำรงพืชพันธุ์ต่อไปซึ่งควบคุมด้วยปีกสมองส่วนที่ใกล้ขมับ สมองส่วนนี้เป็นศูนย์กลางของสัญชาติสัตว์ เป็นพลังของการเกิด การต่อสู้ ปกป้องอาณาบริเวณของตน หาอาหาร และสืบพันธุ์ เมื่อมีมากเกินไปก็ก่อปัญหาในสังคม เมื่อมนุษย์วิวัฒนาการไป สมองส่วนใหม่ที่มีความลึกซึ้งกว่า ก็ควบคุมความฉลาดและเหตุผล หาธรรมไป ไปสะกดสมองส่วนสัญชาติญาณ 

การคิดถึงอสุภ หรือ ซากศพ ไม่ได้ใช้สำหรับลดราคะอย่างเดียว แต่เป็นการฝึกจิตให้ลดความกลัวและความเศร้าหมองที่ได้ผลที่คนอินเดียสั่งสอนกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาล 

เจ้าชายสิทธัตถออกบวชด้วยแรงดลใจจากการเห็นการเจ็บป่วยและเสียชีวิต นักบวชสมัยนั้นเอาผ้าห่อศพไปซักทำความสะอาดกลับมาใช้นุ่งห่ม ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เรียกว่าเพื่อหลุดโลกไปเลย คือ ไม่ให้ญาติมาตอแยต่อไป สมัยนี้เราทอดผ้าบังสุกุลเอาจีวรสีสดใสไปวางต่อหน้าพระท่านเป็นเพียงสัญลักษณ์ แต่เรายังห่างไกลจากความตั้งใจแน่วแน่ของนักบวชในสมัยพุทธกาลอยู่มาก

ผมนึกย้อนกลับไปถึงปลายปี พ.ศ. 2547 ตอนที่มีศพจำนวนมากในเขตอันดามันจากมหันตภัยสึนามิ การพิสูจน์ตัวตนของศพเป็นปัญหาหนักทางคนไทยและชาวต่างชาติ ผมมีเพื่อนอาจารย์ทันตแพทย์จิตอาสาท่านหนึ่งไปช่วยงานนี้ ท่านใช้เวลาทำงานอยู่กับศพจำนวนมากตั้งแต่เช้าจรดเย็น อยู่ถึงสองสัปดาห์ ด้วยความเคารพศรัทธา ผมเชื่อว่าท่านผู้นี้ซึ่งผ่านช่วงเวลาแบบนั้น คงเข้าถึงธรรมชาติของชีวิตในแก่นแกนของอารมณ์อย่างลึกซึ้ง ไม่ทราบว่าจะเหมือนนักบวชสมัยพุทธกาลหรือไม่

กลับมาถึงความกังวลของสัปเหร่อและวัด ท่านเหล่านั้นคงไม่ได้รังเกียจอสุภ แต่ไม่แน่ใจว่าจะติดเชื้อโควิดจากการจัดการศพหรือไม่ ความกังวลนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบที่ทำให้วัดบางวัดหรือหลายวัดไม่ยอมรับจัดการศพโควิด

ก่อนสึนามิเล็กน้อย เมื่อปี พ.ศ.2545 โรคซาร์ส ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายๆ โควิด เกิดระบาดในประเทศจีน เวียดนามและฮ่องกง มีคุณลุงท่านนึงเดินทางมาจากฮ่องกงถึงหาดใหญ่พร้อมอาการปอดบวมรุนแรง ทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์รับไว้รักษาด้วยคำวินิจฉัยว่า สงสัยว่าจะเป็นโรคซาร์ส รักษาได้ไม่กี่วันก็เสียชีวิต ทางโรงพยาบาลเราก็จัดการห่อศพด้วยพลาสติกแน่นหนาหลายชั้นเตรียมจะไปฌาปนกิจที่วัด ก่อนเคลื่อนย้ายศพ ผมได้รับแจ้งว่าให้ไปช่วยเจรจากับมวลชนหน่อย เพราะมีทั้งพระ ไวยาวัจกรวัด สัปเหร่อ และชาวบ้านนับร้อยมาประท้วงที่หน้าโรงพยาบาลไม่ยอมให้เผาศพในวัดนั้น ไม่ว่าจะชี้แจงอย่างไรก็ไม่ยอม เจรจาเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ ท้ายสุดท่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปหาวัดอื่นที่ปิดเป็นความลับจัดการคนเรียบร้อย เรื่องนี้เป็นอดีตไปแล้ว โควิดติดต่อง่ายกว่าซาร์สมาก แต่วัดสมัยนี้ไม่ได้กลัวมากมายอย่างในอดีต ไม่งั้นตอนนี้ยุ่งแน่ๆ

โดยทั่วไป ข้อมูลทางระบาดวิทยาบอกว่า ศพส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดโรคกับคนที่ยังมีชีวิตนะครับ มีโรคระบาดไม่กี่โรคที่แพร่จากศพมายังมนุษย์ 

ฝีดาษหรือไข้ทรพิษ อาจจะเป็นหนึ่งในนั้น เพราะไวรัสฝีดาษเจาะเข้าทำลายเซลต่างๆ ทั่วร่างกายรวมทั้งบริเวณผิวหนัง การรับเชื้อที่สำคัญ คือ สัมผัสหนองฝี เรื่องนี้ชาวบ้านรู้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ อย่างที่เคยเล่าไว้ในบทความที่เคยเขียนเมื่อปีกลายว่า เรื่องราชาธิราชแต่งว่า อายมนทะยายอดสายลับชาวมอญ สามารถหลบหนีออกจากวงล้อมของกองทัพพม่าออกมาได้โดยทำ
เป็นตายด้วยโรคฝีดาษ แสดงว่า คนโบราณรู้แล้วว่าฝีดาษติดต่ออย่างไร

โรคระบาดร้ายแรงที่สองที่ติดต่อผ่านศพ คือ กาฬโรค สัตว์นำโรคที่สำคัญ คือ สัตว์แทะโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนู และ หมัดกระโดด ในสภาพความยากจนและสงคราม สัตว์นำโรคทั้งสองมีอยู่ดาษดื่นทำให้คนป่วยและตายจากกาฬโรคคราวละมากๆ นอกจากนี้ กาฬโรคยังแพร่ได้ทางลมหายใจจากผู่ป่วยที่ปอดบวมจากกาฬโรค ด้วยคุณสมบัติทางระบาดวิทยาแบบนี้ กองทัพมองโกลจึงใช้ศพของคนที่เป็นกาฬโคโยนข้ามกำแพงเข้าตัวเมืองที่ตนเองปิดล้อมไว้ หนูและหมัดในเมืองก็จะช่วยแพร่โรคออกไปจนกองทัพและประชาชนที่ถูกปิดล้อมต้องเจ็บป่วยเสียชีวิต ไม่สามารถป้องกันตนเองจากกองทัพมองโกลได้

โรคที่สามเท่าที่ผมนึกได้ ก็คือ อีโบล่า ซึ่งจัดว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ เชื้อไวรัสอีโบล่ามีกลไกการแพร่คล้ายๆ ไข้ฝีดาษ คือ ไวรัสถูกขับออกทางเลือด น้ำเหลือง และสิ่งคัดหลั่ง เช่น อุจาระ ปัสสาวะ น้ำมูกน้ำลาย อีโบล่าระบาดในอาฟริกาตามการจัดงานศพซึ่งแขกที่ไปร่วมงานจะไปสัมผัสศพตามประเพณีและรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย วันหลังโรคนี้อาจจะแวะมาเยือนไทย ตอนนั้นเราค่อยมาว่ากัน

แล้วเชื้อโควิดล่ะ จะติดจากศพไปยังคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัปเหร่อหรือไม่

ผมยังไม่เคยเห็นหรือได้ยินว่ารายงานมีการแพร่ระบาดแบบนี้เกิดขึ้นที่ใดในโลกนะครับ มีรายงานชัดเจนว่าเชื้อโคโรนาไวรัส ทั้งที่ทำให้เกิดซาร์ส เมอร์ส และ โควิด ถูกขับออกจากร่างกายตามทางเดินหายใจ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะพบอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย นอกจากนี้ยังพบเชื้ออยู่ในอุจจาระ ส่วนในเหงื่อและปัสสาวะน่าจะมีน้อยมาก 

สรุปว่าการสัมผัสกับศพของผู่ป่วยโควิด อาจจะนำไปสู่การติดเชื้อได้ แต่ไม่น่ากลัวมากเท่ากับการสัมผัสใกล้ชิดกับคนติดเชื้อที่ยังมีชีวิต เพราะเราจะไม่ทันระวังตัว และการสัมผัสโดยสูดดมละอองฝอยจากการพูดจา การจามหรือไอ มีประสิทธิผลการในรับเชื้อมากกว่าการสัมผัสทางผิวหนังมาก

ผมได้แนะนำพี่น้องมุสลิมในชายแดนใต้ว่า ในสถานการณ์การระบาดแบบนี้ ไม่ว่าศพของใครก็ตาม ควรจัดการเหมือนศพโควิดไว้ก่อน คือ อย่าสัมผัสศพโดยตรง เพื่อความปลอดภัยของคนที่ยังมีชีวิตอยู่

ช่วงระยะนี้จะมีจำนวนศพมากขึ้น มีวัดแสดงเจตจำนงที่จะจัดการศพโควิดโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายห้าร้อยกว่าวัด ความจริงน่าจะมากกว่านั้น เพราะเมืองไทยเป็นดินแดนพุทธศาสนา มีวัดที่ขึ้นทะเบียนไว้ราวสี่หมื่นวัด ในขณะเดียวกันก็มีวัดที่ขอพักซ่อมเมรูเผาศพเนื่องจากกลัวว่าใช้งานมากเกินไปจะพังลงมาไม่รู้เหมือนกันว่ามีกี่วัด 
ผมใคร่ขอร้องทางวิศวกรโยธาทั้งของทางราชการและสมาคมวิชาชีพช่วยกันหน่อยครับ เรามีเทคโนโลยีด้านพลังงาน และ การจัดการเผาไม่ให้เกิดมลพิษทางอากาศก็ขอให้ช่วยกันพัฒนาให้ใช้อย่างกว้างขวาง ถึงเวลาที่ท่านจะต้องแสดงบทบาทแล้วครับ ส่วนรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตลอดจนมูลนิธิต่างๆ นอกจากระดมเงินซื้อวัคซีน เครื่องมือแพทย์และอาหารผู้ป่วยแล้ว ควรช่วยกันระดมเงินทำให้การจัดการศพของชาวพุทธในประเทศไทยให้ทันสมัยกว่าที่เป็นอยู่

กล่าวกันว่าการฝึกโยคะในอาสนะสุดท้าย คือ ศวาสนะ เป็นอาสนะที่ยากที่สุดอาสนะหนึ่ง ภาษาสันสกฤตจำนวนมาก เมื่อแปลงมาเป็นไทยแล้วก็เปลี่ยน ว แหวน เป็น พ พาน เพราะคนไทยชอบคำสั้น ศวาสนะ ก็คือ ศว หรือ ศพ สนธิกับ อาสนะ แปลว่า ทำร่างกายให้เป็นเสมือนศพ อาสนะนี้เป็นอาสนะที่ถ้าข้ามไปแล้วน่ะถือว่าการฝึกในคาบนั้นไม่สมบูรณ์ 

หลังการเคลื่อนไหวเพื่อให้ร่างกายปรับสมดุล ยืดหยุ่นและกระปี้กระเป่าแล้ว ร่างกายและจิตใจก็จะต้องเรียนรู้ถึงการผ่อนเบา ไม่ติดยึดกับความแข็งแกร่งทีฝึกมา ผมเชื่อว่าถ้าฝึกศวาสนะนี้ได้ดีพอ จะรู้สึกว่าความตายเป็นเรื่องที่ไม่น่ากลัว มันเป็นเพียงอาสนะหนึ่งเท่านั้นเอง

คนตายไปแล้วไม่ต้องเป็นห่วงเขามากหรอกครับ องคาพยพทั้งหลายก็จะถูกรีไซเกิลโดยธรรมชาติกลับไปเป็นองค์ประกอบย่อยของชีวิตอื่น 

สิ่งที่ควรคิดถึงมากกว่า คือ คนที่ยังมีชีวิตอยู่ เด็กกำพร้า คนที่ขาดที่พึ่งจะมีจำนวนมากขึ้น เราจะดูและให้เขาผ่านช่วงนี้โดยไม่ต้องทุกข์มากได้อย่างไร 

ทำอย่างไรพวกเขาจึงจะได้รับการเติมเต็มให้กลับมาเป็นพลังของมนุษยชาติได้ เมื่อถึงเวลาที่เราควบคุมการระบาดของโควิดได้แล้ว

 

ที่มา: Facebook Viroj NaRanong

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net