ทำไมคนเราถึงชอบแพร่กระจายเรื่องลวงโลก นักวิจัยมีคำอธิบายเรื่องนี้ในแง่วิวัฒนาการมนุษย์

มีงานวิจัยจากนักรัฐศาสตร์และนักมานุษยวิทยาในเรื่องที่ว่าทำไมคนเราถึงชอบแพร่กระจายทฤษฏีสมคบคิดต่างๆ รวมถึงข้อมูลเท็จและเรื่องลวงโลกอื่นๆ ถึงแม้ว่าคนที่พูดจะรู้ตัวเองดีว่าไม่ใช่เรื่องจริงก็ตาม

11 ส.ค. 2564 นักรัฐศาสตร์ชาวเดนมาร์ก 2 คนคือ ไมเคิล แบง ปีเตอร์เซน (Michael Bang Petersen) และมาเทียส ออสมุนด์เซน (Mathias Osmundsen) ร่วมกับนักมานุษยวิทยาสหรัฐฯ จอห์น ทูบี (John Tooby) ได้ทำการวิจัยเรื่องเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าทำไมคนเราถึงชอบเผยแพร่ข่าวลวงและทฤษฏีสมคบคิดต่างๆ โดยอาศัยแง่มุมเรื่องทางจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการของมนุษย์มาศึกษาในเรื่องนี้

พวกเขาระบุว่ามนุษย์มักจะต้องการสร้างเรื่องเท็จหรือทฤษฏีสมคบคิดหลอกๆ ขึ้นมาเพื่อสร้างความได้เปรียบต่อคู่แข่งทางการเมืองและทำให้ตัวเองกุมอำนาจที่เหนือกว่าในสังคมเอาไว้ได้ด้วยวิธีการหลอกใช้ผู้คนจำนวนมากและรักษาความจงรักภักดีของกลุ่มคนเหล่านี้ โดยเปรียบเทียบกับการใช้โวหารหลอกลวงปลุกปั่นของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี สหรัฐฯ และนักฉวยโอกาสทางการเมืองอื่นๆ ในหน้าประวัติศาสตร์

นักวิจัยเหล่านี้ระบุว่าแม้แต่ในหมู่สัตว์ สัตว์บางชนิดก็มีการใช้วิธีการหลอกลวงให้ข้อมูลเท็จเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบในความขัดแย้ง เช่น สัตว์บางชนิดจะพองตัวให้ดูใหญ่กว่าความเป็นจริงเพื่อทำให้ศัตรูกลัว แต่สำหรับในหมู่มวลมนุษย์แล้ว การแพร่ข่าวลวงอาจจะกลายเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนแค่กลุ่มๆ เดียวเท่านั้น

ในงานวิจัยที่ชื่อ "The Evolutionary Psychology of Conflict and the Functions of Falsehood" หรือ "จิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการของความขัดแย้งและการทำงานของความหลอกลวง" ทำการศึกษาการทำงาน 3 รูปแบบของการเผยแพร่ต่อของข้อมูลข่าวสารคือ "การขับเคลื่อนกลุ่ม, การประสานงานความสนใจ และการส่งสัญญาณผูกมัด"

ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาวิจัยเรื่องเกี่ยวกับการแพร่กระจายเรื่องเท็จหรือทฤษฏีสมคบคิด การใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง ซึ่งมักจะระบุว่ามาจาก "การใช้เหตุผลในแบบที่มีแรงจูงใจให้ทำ" (Motivated Reasoning) มากกว่าจะมาจากความเขลา (Ignorance) เช่น เรื่องของกลุ่มคนที่มีความหลงใหลในการได้สถานะทางสังคมแต่ก็รู้สึกถูกบีบออกจากกระแสหลักจะมีความรู้สึกอยากแชร์พวกทฤษฏีสมคบคิดลวงเหล่านี้ แต่งานวิจัยล่าสุดนี้ถึงแม้ว่าจะยังคงเป็นไปในแนวทางเดียวกับความคิดเรื่อง "การใช้เหตุผลในแบบที่มีแรงจูงใจให้ทำ" อยู่ แต่ก็ระบุถึงสาเหตุที่มาจากแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการของระบบทางสังคมที่อยู่เบื้องหลังแรงจูงใจที่ว่านี้ด้วย

ในแง่ของวิวัฒนาการแล้ว กลุ่มคนที่แพร่กระจายทฤษฏีสมคบคิดและการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองเหล่านี้ ไม่ได้รู้สึกประสบความสำเร็จเพราะเชื่อว่าตัวเองได้เผยแพร่เรื่องจริงหรือความสัตย์จริง แต่เพราะการได้ถูกเลือกเผยแพร่ต่อ

ปีเตอร์เซน ระบุว่า "เมื่อคุณต้องการขับเคลื่อนกลุ่มของคุณ สิ่งที่คุณต้องการคือการหาว่าพวกเรากำลังเผชิญกับปัญหา และวิธีการที่คุณใช้อธิบายปัญหาที่ว่านั้นก็จะต้องเป็นสิ่งที่ยึดกุมความสนใจให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนที่คุณจะทำให้กลุ่มๆ นั้นเน้นความสนใจอยู่กับเรื่องๆ เดียว ในบริบทแบบนี้เองที่ความเป็นจริงไม่น่าเร้าใจเท่าเรื่องแต่ง" การใช้เรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริงเช่นนี้ยังกลายเป็นการเสริมสิ่งที่คนในกลุ่มมองว่าเป็นภัยให้ฟังดูเป็นภัยมากเกินจริงด้วย เมื่อทำเช่นนี้แล้วคนที่ทำแบบนี้จะอยู่ในสถานะที่ดีกว่าในการขับเคลื่อนหรือประสานงานความสนใจในกลุ่มตัวเอง

ในบทสัมภาษณ์ที่นักวิจัยให้ไว้กับสื่อซาลอน มีการยกตัวอย่างกรณีของอดีตผู้นำสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มักจะใช้วิธีการดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เช่น การที่ทรัมป์มักจะแถลงซ้ำๆ โจมตีว่าสื่อใหม่เป็น "ข่าวปลอม" อ้างถึงเรื่องผู้อพยพ กล่าวหาว่ามีเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งโกงคะแนนให้โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนกลุ่มคนที่สนับสนุนทรัมป์ที่มีปัญหาในเรื่อง "การเรียกร้องความสนใจ"

ปีเตอร์เซนกล่าวว่าการปั้นเรื่องเท็จของทรัมป์ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่สนับสนุนเขากับพรรคเดโมแครต กับคู่แข่งทางการเมืองของเขา และกับกลุ่มอื่นๆ หลายครั้ง รวมถึงการอ้างเรื่องที่ว่ามีผู้เข้าร่วมพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการของทรัมป์ มากกว่าของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นได้ว่าเป็นเรื่องเท็จ

ปีเตอร์เซนกล่าวต่อไปว่าสิ่งที่ทรัมป์ทำนั้นไม่ใช่เพราะเขาโง่เขลาแต่เป็นคนที่เก่งในด้านการเล่นกับจิตใจคน สิ่งที่ทรัมป์ต้องการแสดงให้เห็นคือเขาจะพูดอะไรก็ได้ เขาไม่ต้องใส่ใจว่ากลุ่มอื่นๆ จะคิดอย่างไร ทำให้เขาพูดอะไรเป็นเท็จได้อย่างโจ่งแจ้ง อย่างที่พวกเขารู้ว่ามันเป็นเรื่องไม่จริง แต่ที่ยังทำแบบนี้แม้คนอื่นจะรู้เพราะเขาต้องการส่งสัญญาณว่าตัวเองเหนือกว่า

ทฤษฏีของปีเตอร์เซนยังนำมาใช้อธิบายว่าเหตุใดการพูดถึงเรื่องเท็จกับทฤษฏีสมคบคิดลวงแม้จะรู้ว่าคนบางกลุ่มจะไม่เชื่อเพื่อขับเคลื่อนให้คนบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 ม.ค. 2564 จนเกิดเหตุจลาจลรุนแรง

ปีเตอร์เซนบอกว่า ระบบความเชื่อในแบบที่จะเชื่อในข้อมูลและเนื้อหาที่คนอื่นๆ มองว่ามันเป็นเท็จอย่างชัดเจนนั้นเริ่มเป็นระบบความเชื่อที่มีแพร่หลายมากขึ้น "มันอาจจะส่งผลแบบที่ค่อนข้างเลวร้ายอย่างที่คุณเห็นได้จากตัวอย่างกรณีการบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 ม.ค."

ปีเตอร์เซนกล่าวสรุปในเรื่องนี้ว่าการที่มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมจึงมีคำอธิบายในเขิงวิวัฒนาการสำหรับการแพร่กระจายเรื่องหลอกลวงแม้จะรู้ว่ามันไม่จริงเพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายทางสังคมบางอย่างเช่นการส่งสัญญาณหรือขับเคลื่อนกลุ่มที่จงรักภักดีกับตัวเอง

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท