Skip to main content
sharethis

นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเชื้อกลายพันธุ์ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและอัตราการผู้เสียชีวิตของแต่ละประเทศพุ่งสูงขึ้น จนทำให้ไม่สามารถเปิดประเทศหรือคลายล็อกดาวน์ได้แม้ว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคไปแล้ว นอกจากนี้ หลายๆ ประเทศยังประสบปัญหาหลายอย่างที่เกิดจากนโยบายหรือแผนการบริหารจัดการณ์โควิด-19 เช่น แผนการฉีดวัคซีนล่าช้า ปัญหาด้านระบบสาธารณสุข และเศรษฐกิจหดตัว ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จนเกิดเป็นกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาล

ประชาไทชวนมาดูว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศใดบ้างที่ประกาศ 'ลาออก' เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

 

โยชิฮิเดะ ซูกะ (ญี่ปุ่น)

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าว Kyodo News รายงานว่า โยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ตัดสินใจไม่ลงสมัครชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.ย. นี้ หลังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นในเรื่องการทำงาน โดยเฉพาะการบริการจัดการสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค เช่น แผนการปรับคณะกรรมการบริหารพรรค และแผนการยุบสภา ซึ่งสมาชิกพรรคมองว่าแผนเหล่านี้คือความพยายามต่ออายุเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของตนเอง หลังคะแนนยิลมลดต่ำลง

นิคเคอิเอเชียระบุว่าการที่ซูกะตัดสินใจไม่ลงเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP สิ้นเดือนนี้ หมายความว่าเขาจะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ ซูกะเข้ารับตำแหน่งต่อจากชินโซ อาเบะ ที่ลาออกไปด้วยเหตุผลด้านสุขภาพเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว โดยเขาได้รับเลือกจากสมาชิกพรรค LDP ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งทำให้เขาได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากข่าวการลาออกจากตำแหน่งของซูกะเผยแพร่ออกไป ราคาหุ้นในตลาดหุ้นนิคเคอิของญี่ปุ่นดีดตัวสูงขึ้น 1.8% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดระหว่างวันตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน สมาชิกพรรค LDP หลายคนประกาศชัดแล้วว่าจะลงแข่งขันในศึกเลือกตั้งหัวหน้าพรรค เช่น ฟุมิโอะ คิชิดะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ทาโร่ โคโนะ รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านแผนการฉีดวัคซีน และซานาเอะ ทาคาอิชิ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร โดยการหาเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP จะเริ่มอย่างเป็นการทางในวันที่ 17 ก.ย. 2564

แม้ซูกะจะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เขาต้องการทุ่มเทเวลาที่เหลือก่อนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ต.ค. นี้ให้กับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 แต่ Kyodo News รายงานว่ายังไม่มีแผนการใดๆ เพิ่มเติมออกมา นอกจากนี้ Kyodo News จัดทำผลสำรวจคะแนนนิยมล่าสุดในเดือน ส.ค. ของรัฐบาลซูกะพบว่าลดลงมาอยู่ที่ 31.8% ซึ่งลดลงถึงครึ่งหนึ่งในตอนที่ซูกะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดย Kyodo News ระบุว่าคะแนนนิยมของซูกะลดลงอย่างรวดเร็วหลังเกิดกรณีข้าราชการประจำกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารไปร่วมรับประทานอาหารที่ห้องอาหารหรูกับเจ้าหน้าที่จากบริษัทวิทยุโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเซอิโกะ ซูกะ บุตรชายของนายกรัฐมนตรีรวมอยู่ด้วย พร้อมกันนี้ยังมีเสียงสะท้อนจากประชาชนชาวญี่ปุ่นเรื่องการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของซูกะยังทำได้ไม่น่าพอใจนัก

มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน (มาเลเซีย)

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว Malaysiakini ของมาเลเซียและ CNA ของสิงคโปร์ รายงานว่า มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศลาออกจากตำแหน่ง พร้อมคณะรัฐมนตรีทั้งหมด การประกาศลาออกของรัฐบาลยัซซินเกิดขึ้นก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 7 ก.ย. ที่จะถึงนี้ โดยยัซซินจะดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าจะมีประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่

สาเหตุที่ยัซซินประกาศลาออกจากตำแหน่งเกิดจากความไม่พอใจของประชาชนในเรื่องการจัดการและแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยมาเลเซียเป็นประเทศที่มีอัตราผู้ติดเชื้อสูง และมีสัดส่วนการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อจำนวนประชากรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งๆ ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้ว 7 เดือน และล็อกดาวน์ประเทศมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564

ต่อมา วันที่ 31 ก.ค. 2564 ประชาชนชาวมาเลเซียหลายร้อยคนในกรุงกัวลาลัมเปอร์นัดหมายกันใส่เสื้อดำและไปนั่งชุมนุมประท้วงกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก นอกจากปัญหาเรื่องโควิด-19 แล้ว รัฐบาลของยัซซินยังมีปัญหาความขัดแย้งภายในกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยยัซซินกล่าวในแถลงการณ์ลาออกของเขาว่า “ผมพยายามหลายอย่างเพื่อรักษารัฐบาลผสมกลุ่มพันธมิตรแห่งชาติ หรือ Perikatan Nasional (PN) อย่างน้อยๆ ก็ตั้งใจทำหน้าที่ไปจนกว่าภารกิจแก้ไขปัญหาโควิด-19 จะลุล่วง อย่างไรก็ตาม ความพยายามนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลกระหายอำนาจมากกว่าใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน”

และในวันที่ 21 ส.ค. 2564 อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ รองนายกรัฐมนตรีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยยาคอบมาจากพรรคองค์การมลายูรวมแห่งชาติ หรือพรรคอัมโน (UMNO) ซึ่งเป็นพรรคเดียวกับนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกตัดสินจำคุกข้อหาทุจริตคดีกองทุน 1MDB

สเตฟาน เลอเวน (สวีเดน)

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา สเตฟาน เลอเวน นายกรัฐมนตรีสวีเดน ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (SAP) ซึ่งหมายความว่าเขาจะสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติทันทีที่พรรค SAP มีหัวหน้าพรรคคนใหม่และได้รับการรับรองจากสภา

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2564 เลอเวนประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อในฐานะรักษาการนายกฯ หลังจากที่ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” เลอเวน เพราะรัฐบาลพรรค SAP ของเขาผลักดันนโยบายเปิดเสรีค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ที่อนุญาตให้เจ้าของบ้านเช่าหรือห้องชุดสามารถกำหนดค่าเช่าได้อย่างเสรี ซึ่งขัดต่อรูปแบบรัฐสวัสดิการของประเทศ ทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิของผู้เช่าอีกด้วย ภายหลังพ่ายศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้เลอเวนมีทางเลือก 2 ทาง คือ ‘ยุบสภา’ หรือ ‘ลาออก’

อย่างไรก็ตาม เลอเวนเลือกการลาออกจากตำแหน่งเพราะเห็นว่าการเลือกตั้งกลางเทอมอาจไม่ส่งผลดีค่อประเทศ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงเหลือเวลาอีกประมาณ 1 ปีก็จะถึงกำหนดเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ก.ย. ปีหน้า จึงไม่ต้องการให้จัดการเลือกตั้ง 2 ครั้งในระยะเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นชิด โดยเลอเวนจะสิ้นสุดการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของสวีเดนอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้

จูเซปเป คอนเต (อิตาลี)

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา จูเซฟเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี (ตำแหน่งในขณะนั้น) ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังถูกกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะมาเตโอ เรนซี อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคอิตาเลียวีวา (IV) ขู่จะถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วม หากคอนเตยืนยันจะผลักดันนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 200,000 ล้านยูโร

เรนซีวิพากษ์วิจารณ์แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของคอนเตว่าเป็น ‘โอกาสที่ผิดพลาดในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง’ เพราะงบประมาณทั้งหมดจะถูกนำมาใช้จ่ายเป็นเงินเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แทนที่จะใช้ปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งความขัดแย้งระหว่างเรนซีและคอนเตนำมาสู่รอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล จนในที่สุด พรรค IV ของเรนซีก็ประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ส่งผลให้คะแนนเสียงในชั้น ส.ส. และ ส.ว. ของฝ่ายรัฐบาลลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18-19 ม.ค. 2564 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คอนเตได้รับคะแนนโหวต ‘ไว้วางใจ’ จากทั้ง 2 สภา โดยได้คะแนน 321 ต่อ 259 เสียงในชั้น ส.ส. และได้คะแนน 156 ต่อ 140 เสียงในชั้น ส.ว. อย่างไรก็ตาม มี ส.ว. งดออกเสียง 16 คน นั่นหมายความว่าคอนเตได้รับการไว้วางใจจากทั้ง 2 สภาอย่าง ‘ไม่เป็นเอกฉันทน์’ แม้คอนเตจะสามารถบริหารประเทศต่อไปได้ แต่ความมีเสถียรภาพของรัฐบาลถือว่าลดลง เพราะไม่มีหลักประกันว่าแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของคอนเตหรือกฎหมายฉบับอื่นๆ ต่อจากนี้จะผ่านสภาและบังคับใช้ได้ เนื่องจากคะแนนเสียงฝ่ายรัฐบาลในสภา โดยเฉพาะในชั้น ส.ว. ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ แม้จะชนะในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่คอนเตได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อยุติความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล คอนเตดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอิตาลีตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2561 เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด แต่ได้รับการทาบทามจากพรรค M5S ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2561 หลังจากนั้นจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกพรรค M5S ในเวลาต่อมา โดยอาชีพเดิมของคอนเตคือนักกฎหมาย

รมว.สาธารณสุขที่ลาออกเพราะแก้ปัญหาโควิด-19 ล้มเหลว

นอกจากนายกรัฐมนตรีหลายประเทศจะลาออกเพราะผลงานด้านการแก้ปัญหาโรคระบาดและเศรษฐกิจไม่เป็นที่น่าพึงพอใจแล้ว ในรอบปีที่ผ่านมายังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหลายคนตบเท้ากันลาออก เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น 'เนลสัน ทีช' แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาเนื้องอกและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบราซิลที่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 29 วัน ก่อนจะลาออกเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายป้องกันโควิด-19 หลายอย่างของประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ต่อมา ประธานาธิบดีโบลโซนารูของบราซิลได้แต่งตั้ง 'เอดูอาร์โด ปาซูเอลโล' อดีตนายพลของกองทัพบราซิลและที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดี ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อจากทีช อย่างไรก็ตาม นโยบายแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของปาซูเอลโลนั้นมีความผิดพลาดจนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อของบราซิลพุ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขในระประเทศมีปัญหาตามมาหลายอย่าง เช่น การขาดแคลนเครื่องผลิตออกซิเจน และบุคคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักเกินเวลา

'แมตต์ แฮนค็อก' อดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ประกาศลาออกกระทันหันหลังมีข่าวชู้สาวกับผู้ช่วยส่วนตัว และละเมิดกฎการรักษาระยะห่างโควิด-19 ซึ่งในขณะนั้น สหราชอาณาจักรยังคงประกาศล็อกดาวน์ ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของออสเตรีย 'รูดอล์ฟ อันโชเบอร์' ประกาศลาออกเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าเขามีปัญหาสุขภาพ และรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานภายใต้สถานการณ์โควิด-19

เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา 'พิลาร์ มาซเซ็ตติ' อดีตรัฐมนตรีว่าการประทรวงสาธารณสุขของประเทศเปรูได้ประกาศลาออกหลังมีข่าวว่าเธอเป็นผู้จัดหาวัคซีนให้มาร์ติน วิซคาร์รา อดีตประธานาธิบดี ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเดือน ต.ค. 2563 ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศแผนการฉีดวัคซีนแห่งชาติ เธอจึงตัดสินใจลาออกหลังมีกระแสข่าวและได้รับแรงกดดันจาก ส.ส. ในสภา ส่วนจีเนส กอนซาเลซ การ์เซีย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอาร์เจนตินา ประกาศลาออกในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับอดีตรัฐมนตรีว่าการประทรวงสาธารณสุขของเปรูด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน คือ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้แก่นักการเมืองและคนรู้จัก โดยลัดคิวฉีดให้บุคคลเหล่านั้นก่อนประชาชนทั่วไป

*หมายเหตุ : รวบรวมข้อมูลเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net