Skip to main content
sharethis

คุยกับแอดมินเพจ ‘ทะลุแก๊ซ’ เผยตั้งเพื่อความเป็นเอกภาพ ไม่ให้พวกเขาถูกทอดทิ้ง ยันอยู่ในกรอบของสันติวิธีสากล ขณะที่ความรุนแรงมาจากรัฐ จากการยั่วยุของฝั่ง คฝ ย้ำความต้องการไม่ได้ถอดจากทฤษฎีสังคมการเมือง แต่เป็นเรื่องปากท้อง ต้องการรัฐบาลใหม่ ได้วัคซีน พ่อแม่ได้กลับไปทำงาน ชี้ทะลุแก๊ซไม่ใช่แค่สมรภูมิที่ดินแดง แต่คือใครก็ได้ที่ถึงจุดที่รู้สึกว่าทนไม่ไหวแล้ว พร้อมจะวิ่งไปปะทะกับรัฐโดยสมัครใจ

หนึ่งเดือนที่ผ่านมาการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจควบคุมฝูงชน(คฝ.) ที่บริเวณแยกดินแดง ยังคงมีรายวันต่อเนื่องทั้งที่จุดเริ่มต้นเพียงต้องการเดินไปประท้วงที่บ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ซึ่งอยู่ในค่ายทหาร กรมทหารราบที่ 1 หรือ ร.1รอ.เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจาตำแหน่ง เท่านั้น การปะทะกันส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บการยึดรถของผู้ชมนุมจำนวนมาก รวมทั้งถูกจับกุม โดยวันนี้ (8 ก.ย.64) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เดือนสิงหาคม สถานการณ์ชุมนุมเข้มข้น ขณะการจับกุมเกิดขึ้นรายวัน ยอดผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีเกือบ 300 ราย เฉพาะผู้ถูกจับกุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงการจับกุมต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. เรื่อยมา ยอดผู้ถูกจับกุมมีอย่างน้อย 225 ราย แบ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อย 15 ราย เยาวชนอายุ 15-18 ปี อย่างน้อย 62 ราย


 

เพื่อทำความเข้าใจกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณแยกดินแดง เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวประชาไทได้ติดต่อสัมภาษณ์ผ่านทาง zoom กับแอดมินเพจ ทะลุแก๊ซ - Thalugaz ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มทะลุแก๊ซ รวมถึงเป็นฝ่ายประสานงานให้กับผู้ชุมนุมที่แยกดินแดง เกี่ยวกับสาเหตุการก่อตั้งกลุ่ม และเป้าหมายของแนวทางที่ใช้ รวมไปถึงประเมินผลได้-ผลเสียจากการชุมนุมที่ผ่านมาของการชุมนุมที่แยกดินแดง โดยบทสัมภาษณ์นี้ 

ตั้งเพื่อความเป็นเอกภาพ ไม่ถูกทอดทิ้ง ยันอยู่ในกรอบของสันติวิธีสากล

แอดมินเพจทะลุแก๊ซกล่าวถึงการตั้งกลุ่มทะลุแก๊ซว่า ได้ตั้งขึ้นเมื่อ 20 ส.ค. มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงมีความเป็นเอกภาพ และไม่อยากให้สหาย หรือพันธมิตรการชุมนุมต่างๆทอดทิ้งพวกเขา ต้องการให้ยอมรับการมีตัวตนอยู่ของพวกเขา สร้างความชอบธรรมให้กับการที่พวกเขาออกไปแสดงออกแบบนี้ และเนื่องจากเห็นว่ามวลชนกลุ่มนี้อาจจะโดนไม่นับรวมเหมือนที่เคยมีมา รวมถึงม๊อบอื่นๆ ในเชิงสันติวิธีอาจออกมาบอกถึงการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของม๊อบกลุ่มนี้ ทั้งๆ การกระทำของม๊อบที่แยกดินแดงนั้นเข้ากับกรอบของสันติวิธีสากล เพียงแต่ในประเทศไทยการใช้สันติวิธียังไม่มีการถกเถียงอย่างเป็นรูปธรรมว่าอะไรคือความรุนแรงอะไรคือสันติ

แอดมินเพจทะลุแก๊ซเผยว่าการชุมนุมที่แยกดินแดงต้องบอกตามตรงว่าไม่คุ้มกับผลที่ได้มา เพราะการมีเจตนาปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชนอันนี้ไม่คุ้มแน่นอนอยู่แล้ว อีกทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมยังมีส่วนที่เป็นเยาวชน แต่ด้วยความที่เขาไม่มีพื้นที่ทางสังคมสำหรับการแสดงออก  เนื่องจากถูกกีดกันจากการชุมนุมกระแสหลักว่าเป็นผู้ใช้ความรุนแรง และถูกปฏิเสธว่าไม่ใช่แนวร่วม การชุมนุมกระแสหลักไม่เห็นด้วยกับวิธีการตรงนี้ไม่เป็นไร แต่ไม่อยากให้ก่นด่า หรือประณามพวกเขา เพราะจะเป็นการทำให้รัฐมีอำนาจในการล้อมปราบมากขึ้น โดยส่วนตัวต้องบอกว่ามีอารมณ์ร่วมในส่วนนี้ไม่น้อย เนื่องจากเคยสรุปถอดบทเรียนจากการล้อมปราบเมื่อปี 53 ซึ่งตอนนั้นใช้วิธีการแบบ Non-violence แต่มีการใช้อาวุธสังหาร

ย้ำความต้องการเรื่องปากท้อง รบ.ใหม่ ได้วัคซีน พ่อแม่ได้กลับไปทำงาน 

แน่นอนว่าการชุมนุมด้วยแนวทางนี้มีทั้งผลดีและไม่ดี ในส่วนที่ดีของการชุมนุมที่แยกดินแดงตนประเมินว่าด้านหนึ่งเป็นการเผยให้เห็นความรุนแรงโดยรัฐ ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าความรุนแรงไม่ได้เกิดจากฝ่ายผู้ชุมนุมก่อน ซึ่งตรงนี้ต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจ และหลายคนที่ให้ความสนใจกับการชุมนุมที่แยกดินแดง ตนมองว่าเหมือนกับการเดินขบวนเกลือของคานธีที่พาคนเดินไปให้เจ้าหน้าที่กระทำความรุนแรง ซึ่งทำให้สังคมภายนอกรับรู้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น นี่เป็นจุดประสงค์ของการก่อจราจลที่ดินแดง ตนมองว่าผลในแง่ลบที่เกิดขึ้น เช่น การถูกจับ อาจมีการเสียเงินประกันตัว มีคดีความติดตัว แต่เป็นเรื่องที่ผู้ชุมนุมสมัครใจจะกระทำ ซึ่งส่วนนี้ไม่ขอก้าวก่ายการตัดสินใจของผู้ชุมนุม แต่เนื่องด้วยความเป็นเยาวชนอาจมีบางส่วนที่เข้ามาเพราะอยากร่วมสนุกเพียงอย่างเดียว ไม่ได้สนใจข้อเรียกร้อง หรือเห็นเพื่อนทำจึงทำตามเพื่อน ประเด็นนี้น่าเป็นห่วงมากกว่า แต่จากการประเมินจากข้อมูลของทีมปฏิบัติการหน้างาน พบว่ากลุ่มคนที่เข้ามาร่วมชุมนุมที่แยกดินแดงส่วนใหญ่แล้วเป็นคนชายขอบของสังคมเมืองที่ได้รับผลกระทบจริงๆ 

“เขาไม่ได้มีข้อเรียกร้องตามม๊อบทั่วไป เช่น ให้ประยุทธ์ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่ตรงนี้เลย ข้อเรียกร้องของพวกเขาคือต้องการรัฐบาลใหม่ มีคนเข้ามาจัดการใหม่ ได้รับวัคซีน ต้องการให้พ่อแม่ของพวกเขาได้กลับไปทำงาน”

“ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องปากท้องของปัจเจก ไม่ใช่ประเด็นที่พวกเขาต้องตกผลึกทางสังคมจากทฤษฎีสังคมการเมือง แต่เป็นประเด็นที่พวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรง”

ยอมรับว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนซึ่งเป็นส่วนน้อยมีพกอาวุธปืนไปจริง แต่พวกเขาจะมีเส้นแบ่งทางศีลธรรมของเขาอยู่แล้วว่าจะใช้ตอนไหน ซึ่งการพกอาวุธของคนในกลุ่มนี้คือเป็นวัฒนธรรมในจักรวาลวิทยาของเขา คือเป็นการพกปืน พกระเบิด เพื่อไปข่มขวัญ หรือประการศักดา เหมือนกับคนรวยมีรถหรู หรือใส่นาฬิการาคาแพง ตนมองว่าในส่วนนี้เป็นวัฒนธรรมแบบเดียวกัน แต่จากการสอบถามผู้ชุมนุมซึ่งตนประสานกับทีมปฏิบัติการ พบว่าผู้ชุมนุมบอกว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงถ้าคฝ.ไม่ใช้ก่อน อีกทั้งผู้ชุมนุมก็ยอมรับประเด็นที่พวกตน(กลุ่มประสานงานทะลุแก๊ซ)เสนอขึ้นเกี่ยวกับแนวทางสันติวิธีเชิงตอบโต้ มีการตระหนักถึงอาวุธที่ใช้มีอะไรบ้างที่จะข้ามไปสู่ความรุนแรง ไปจนถึงเป็นอาชญากรรมที่เขากำลังจะก่อขึ้น ทางผู้ชุมนุมเองก็รับฟังในส่วนนี้ เพราะส่วนใหญ่มวลชนกลุ่มนี้เป็นคนที่เคยไปม็อบหลักมาก่อน จะเข้าใจเรื่องแนวทางสันติวิธีอยู่แล้ว

ยันความรุนแรงมาจากรัฐ จากการยั่วยุของฝั่ง คฝ. ผู้ชุมนุมยังอยู่ในขอบเขตสันติวิธี

แอดมินเพจทะลุแก๊ซกล่าวถึงมุมมองต่อความรุนแรงว่า ความรุนแรงขึ้นอยู่กับศีลธรรมส่วนบุคคลในการกำหนดความรุนแรงในสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่าคนไทยถูกทำให้เชื่องมานาน การที่ชนชั้นล่างซึ่งคือพวกเรา(ผู้ชุมนุม)ลุกขึ้นตอบโต้ชนชั้นบนซึ่งเป็นรัฐ หรือฝ่ายที่ปกครองประชาชน คนส่วนใหญ่จะมองว่า ผู้ชุมนุมไม่มีสิทธิ์ทำแบบนั้น เพราะฝ่ายรัฐจะตอบโต้ด้วยความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วมันไม่ใช่ ความจริงคือความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากฝั่งผู้ชุมนุม แต่เป็นการยั่วยุของฝั่ง คฝ. เช่น การตั้งตู้คอนเทนเนอร์ในจุดปะทะ หรือการเปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์เพื่อต้อนให้ผู้ชุมนุมเข้าไป รวมทั้งการใช้อาวุธร้ายแรงละเมิดหลักสากลในการปราบจราจล มีการใช้กระสุนยางยิงในระดับหัวของผู้ชุมนุม หรือจ่อยิงในระยะประชิด อีกทั้งการเข้าสลายโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ด้วยความที่ในกลุ่มผู้ชุมนุมมีเยาวชนจึงมีอารมณ์คล้ายกับการยกพวกตีกัน ถ้าคุณแฟร์กับเรา เราก็แฟร์ แต่ถ้าคุณตุกติกก็พร้อมที่จะตอบโต้ได้ตลอดเวลา 

ส่วนตัวตนมองว่าผู้ชุมนุมยังอยู่ในขอบเขตสันติวิธี คือพวกเขาไม่ได้มุ่งหมายจะทำร้ายใคร หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพใคร ไม่ได้มีการรวมกลุ่มไปบ้านตำรวจ ไม่ได้มีหน่วยจรยุทธ์ โดยที่ตนแสดงความเห็นดังกล่าวไม่ใช่การนิยามขึ้นมาเองแต่เป็นการอิงกับหลักสันติวิธีสากล ซึ่งกว่าจะใช้คำว่า สันติวิธีเชิงตอบโต้ ตนใช้เวลาในการศึกษาแนวทางการต่อสู้ของทั่วโลกมาพอประมาณ ซึ่งแนวทางสันติวิธีเชิงตอบโต้ก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆอย่างเช่น การสาดสี การเผารูป รวมไปถึงการเผารถตำรวจยังถือเป็นแนวทางสันติวิธี เนื่องจากเป็นการทำลายสัญญะเชิงอำนาจ ยกตัวอย่างว่า ถ้าการเผารูป สาดสี ยิงพลุไฟใส่คฝ.เป็นความรุนแรง เปรียบเทียบกับกรณีอุบัติเหตุบนถนนที่มีโอกาสทำให้คนตายมากขึ้นทุกวัน เหตุการณ์แบบนี้เป็นความรุนแรงเหมือนกันทำไมเขาถึงอนุญาตให้คนเรายังขับรถได้ แต่ความรุนแรงที่ว่านี้มันไม่ได้ถูกกำหนดโดยประชาชน แต่ถูกกำหนดโดยรัฐ แล้วรัฐก็ปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ผ่านองค์กร และอำนาจรัฐต่างๆ ที่กดหัวผู้คนมาทั้งชีวิต 

“ความรุนแรงไม่ได้ถูกดีไซน์ขึ้นมาจากเหตุการณ์ต่างๆ แต่ถูกกำหนดมาแล้วว่าอะไรคือความรุนแรง และอะไรคือความไม่รุนแรงทำให้เส้นแบ่งของสันติวิธียิ่งต่ำลง บวกกับคนในสังคมที่คุ้นชินกับความเชื่อง เลยทำให้คนบอกว่าสันติวิธีต้องเป็นแบบนั้นเป็นนี้”

ทะลุแก๊ซไม่ใช่แค่สมรภูมิที่ดินแดง แต่คือใครก็ได้ที่ถึงจุดที่รู้สึกว่าทนไม่ไหวแล้ว พร้อมจะวิ่งไปปะทะกับรัฐโดยสมัครใจ

แอดมินเพจทะลุแก๊ซกล่าวต่อว่าที่มาทำทะลุแก๊ซไม่ใช่เพื่อสร้างความชอบธรรมให้พวกเขา(กลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกดินแดง)เพียงอย่างเดียว แต่อยากจุดประเด็น และสื่อสารว่าสาเหตุที่ผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ไม่พอใจเพราะอะไร ต้นเหตุมาจากไหน และพวกเขาเป็นใครมาจากไหน ด้วยความที่พวกเขาเป็นคนจนเมือง เป็นคนชายขอบของเมืองอาจจะประกอบสร้างจากพ่อแม่ที่อพยพมาจากต่างจังหวัด มาทำมาหากินในกรุงเทพ และต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีกำแพงทางชนชั้น คนชนชั้นกลางกระแสหลักก็ไม่ค่อยพอใจกับการมีอยู่ของเด็กแว๊น และช่างกล ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่เข้าใจกัน ไม่เชื่อมต่อกัน ต่างคนต่างยึดถือในอีโก้ของศีลธรรมส่วนตัวของตนเอง ดังนั้นพอมีพื้นที่ที่ดินแดง ทำให้เขาได้แสดงออกทางความคิด ตะโกนความอัดอั้นตันใจต่อสังคมและการชุมนุมกระแสหลักที่ให้ความหวังพวกเขาด้วย

เมื่อถามถึงจะมีการยกระดับการปะทะเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น แอดมินเพจทะลุแก๊ซกล่าวว่าการชุมนุมจะอยู่ในระดับนี้ไปเรื่อยๆ จะไม่มีการยกระดับแน่นอน ส่วนหนึ่งผู้ชุมนุมยังคงคาดหวังกับการชุมนุมกระแสหลักอยู่ พวกเขายังไม่ได้ละทิ้งแนวทางตรงนั้น ยังคงยึดมั่นว่าต้องใช้แนวทางสันติวิธี และเมื่อตนเสนอแนวทางสันติวิธีเชิงตอบโต้ทำให้พวกเขารู้สึกมีพื้นที่ได้แสดงออก มีการยอมรับพวกเขาเกิดขึ้น โดยกลุ่มทะลุแก๊ซวางตำแหน่งเป็นมวลชนอิสระที่สามารถเข้าร่วมได้กับทุกกลุ่ม 

“ทะลุแก๊ซไม่ใช่แค่สมรภูมิที่ดินแดง แต่คือใครก็ได้ที่ถึงจุดที่รู้สึกว่าทนไม่ไหวแล้ว เป็นคนที่พร้อมจะวิ่งไปปะทะกับรัฐโดยสมัครใจโดยที่ตัวเองเป็นแค่ผู้ชุมนุม ไม่ได้ถูกวางหน้าที่เป็นการ์ด หรือเป็นอะไรเลย นี่คือหนึ่งในนิยามของทะลุแก๊ซ” แอดมินเพจ ทะลุแก๊ซ ทิ้งท้าย

นักวิชาการชี้ไม่มีจุดที่เรียกว่าความรุนแรงเป็นศูนย์ แม้ในภาวะปกติของเรา

เกี่ยวกับความรุนแรงนั้น การสนทนาออนไลน์ผ่านเพจ We Watch เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมาในหัวข้อ “ความซับซ้อนของอารมณ์ และความรุนแรงในการปฏิวัติ” โดย สรวิศ ชัยนาม อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เขียน ‘คู่มือการอ่าน violence ของ Slavoj Žižek ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย’ กล่าวในการสัมภาษณ์ทางเพจ We Watch ดังกล่าว โดยชี้ให้เห็นว่า อุดมการณ์เป็นตัวกำหนดและตัดสินว่าสิ่งใดรุนแรง สิ่งใดไม่รุนแรง

สรวิศกล่าวเริ่มด้วยเรื่องเล่าซึ่งอยู่ในหนังสือที่เขาเขียนว่า คนงานคนหนึ่งถูกเจ้าของโรงงานสันนิษฐานว่าเป็นหัวขโมย ฉะนั้นทุกเย็นหลังเลิกงาน เจ้าของโรงงานจะให้ รปภ. คอยตรวจเช็คคนงานคนนี้ว่าขโมยอะไรออกจากโรงงานหรือไม่ จากนั้นทุกเย็น รปภ. จะเห็นคนงานคนนี้เข็นรถเข็นออกไป แต่ในรถเข็นว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยออกไปทุกวัน จนกระทั่งจับได้ว่าสิ่งที่ถูกขโมยจริงๆ คือ รถเข็น โดยชิเชค(ผู้เขียนหนังสือ Violence)พยายามโยงเรื่องนี้เข้ากับความรุนแรงที่เขาเสนอ คือ เรามักจะมองความรุนแรงว่าเป็นอะไรที่เห็นชัด เหมือนกับเวลาเราเพ่งเล็งไปที่รถเข็น เราไม่เห็นอะไรอยู่ข้างใน เราจะรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่ถูกขโมยไป คล้ายกับความรุนแรงซึ่งเราคาดหวังว่าต้องเป็นอะไรที่เห็นได้ชัดรบกวนภาวะปกติของเรา เลือดสาด มีผู้กระทำอย่างชัดเจน ระบุตัวตนของผู้กระทำได้ นี่เป็นความรุนแรงที่เราคุ้นกัน ซึ่งเป็นความรุนแรงที่เราเห็นได้ตามสื่อ บางทีอาจโยงมาจากธรรมชาติอย่างเช่น พายุเฮอริเคน ทีนี้ชิเชคจึงบอกว่า เราต้องอย่าลืมกรอบ หรือบริบทที่เราอาศัยอยู่ด้วย หรือพูดง่ายๆ ว่าเราต้องพยายามเห็นรถเข็นด้วย ในทีนี้ คือ ความรุนแรงไม่ใช่แค่สิ่งที่รบกวนภาวะปกติของเรา แต่ความรุนแรงมันแฝงฝังอยู่ในภาวะปกติของเรา 

จึงไม่มีจุดที่เรียกว่าความรุนแรงเป็นศูนย์  แม้แต่ภาวะปกติของเราที่สังคม และระบบเศรษฐกิจการเมืองขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่นต้องอาศัยความรุนแรงในเชิงระบบมากมาย เช่น ความรุนแรงที่มาจากฟอสซิล การขูดรีดแรงงานมากมาย หรือแม้แต่พระที่รักษาธรรมวินัย แต่แล้วก็ต้องพึ่งความรุนแรงในเชิงระบบมากมายเพื่อดำรงชีวิต เมื่อญาติโยมนำอาหารมาถวาย ซึ่งอาหารที่กินไม่สามารถแยกออกจากความรุนแรงในอุตสาหกรรมที่ขูดรีดแรงงาน และรุนแรงต่อสัตว์  ความรุนแรงไม่ได้แฝงฝังในการกระทำใดอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจะรุนแรงหรือไม่รุนแรงเสมอไป ซึ่งต้องดูบริบทไปด้วย 

คำถามว่าความรุนแรงแบบไหนที่ดีและไม่ดี สรวิศกล่าวถึงอำนาจก่อนว่า เป้าหมายของอำนาจอย่างหนึ่ง คือการจำกัดพิกัดของความจริง หรือจำกัดความเปลี่ยนแปลงความเป็นจริง ให้อยู่ในพิกัดหนึ่ง และใช้ความรุนแรงเพื่อรักษาสภาวะนี้เอาไว้ เช่น บางเรื่องเป็นไปไม่ได้เลย บางเรื่องเท่านั้นถึงเป็นไปไปได้ ดังนั้นความรุนแรงที่มีไว้เพื่อจำกัดพิกัดของความเป็นไปได้ใหม่ เรียกกว้างๆ ว่าเป็นความรุนแรงที่ไม่ดี ส่วนความรุนแรงที่ดีจะอิงอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าการแตกหัก การแตกหักคือการขยับพิกัด หรือการเปลี่ยนแปลงความเป็นจริง พูดให้เข้าใจง่ายคือ ความรุนแรงที่นำไปสู่การสรรค์สร้างอะไรใหม่ๆ ทำให้สิ่งที่ถูกอำนาจระบุว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ เช่น การเลิกทาส การหายไปของการล่าอาณานิคม การที่ผู้หญิงจะเท่าเทียมกับผู้ชาย ความรุนแรงที่ดีทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้  

โดยสรุปมุมมองจากตัวแทนฝ่ายผู้ชุมนุมมองว่าเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งจะเป็นความรุนแรงได้ขึ้นอยู่กับสองเงื่อนไข คือ 1)ศีลธรรมส่วนตัว 2)กลไกของรัฐ ซึ่งเหล่านี้เป็นส่วนกำหนดสร้างคนในสังคมว่าสิ่งไหนรุนแรงหรือไม่รุนแรงที่ในส่วนของการเสวนาสะท้อนว่าจะรุนแรงหรือไม่นั้นถูกกำหนดโดยอุดมการณ์เบื้องหลังการกระทำนั้นตัดสิน แบ่งกว้างๆเป็น ความรุนแรงเป็นที่ดี ซึ่งเป็นความรุนแรงที่นำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นจริง หรือสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ส่วนความรุนแรงที่ไม่ดี เป็นการรักษาสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ และต่อต้านจำกัดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ซึ่งทั้งสองมุมมองเป็นมุมมองทั้งจากทางตรงโดยตัวแทนผู้ชุมนุม และจากเวทีการเสวนาในห้วงเวลาของสถานการณ์การชุมนุมที่มีการนำประเด็นดังกล่าวมาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างเข้มข้นในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับ ธนรัตน์ เขียวลายเลิศ ผู้สัมภาษณ์/เรียบเรียงชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท จาก สาขาวารสารศาสตร์ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

หมายเหตุเพิ่มเติม ประชาไทเพิ่มข้อมูลเมื่อเวลา 21.50 น. วันที่ 25 ก.ย.64

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net