Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง 'เลื่อน' วินิจฉัยกฎหมายแพ่งสมรสเฉพาะชาย-หญิง ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไปเป็นวันที่ 14 ธ.ค. 2564 จากเดิมที่มีกำหนดนัดฟังคำวินิจฉัยในวันนี้

28 ก.ย. 2564 ไอลอว์ รายงานผ่านทวิตเตอร์ว่าวันนี้ (28 ก.ย. 2564) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเลื่อนวินิจฉัยกฎหมายแพ่งสมรสเฉพาะชาย-หญิง ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไปเป็นวันที่ 14 ธ.ค. 2564 แทน หลังจากที่มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และเครือข่าย เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2562 ให้วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดให้ชายหญิงต่างเพศเท่านั้นสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ต่อมา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2563 มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศและเครือข่ายพร้อมทนายความเข้ายื่นหหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เหตุกฎหมายจดทะเบียนสมรสทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ ทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้จนเสียสิทธิต่างๆ ที่พึงมีเช่นเดียวกับคู่รักชายหญิง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ไอลอว์ รายงานเพิ่มเติมว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่รับรองสิทธิในการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะถือเป็นการนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียม โดยศาลรัฐธรรมนูญสามารถกำหนดคำบังคับได้ว่าจะให้คำวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญมีผลเมื่อไหร่ อาจกำหนดให้มีผลหลังจากศาลวินิจฉัยก็ได้ เพื่อฝ่ายนิติบัญญัติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีเวลาดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2563 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นำมาสู่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา อนุญาตให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

นอกจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีสมรสเท่าเทียมที่เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 14 ธ.ค. แล้ว ยังมีกระบวนการนิติบัญญัติที่รอการพิจารณาด้วยเช่นกัน ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2563 ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และร่างกฎหมายดังกล่าวก็ถูกบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วเป็นเวลากว่าหนึ่งปี แต่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง ชั้นรับหลักการ จึงต้องติดตามช่วงเดือน พ.ย. 2564 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการประชุมสภาสมัยหน้า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

นอกจากนั้นในไลฟ์ของแฟนเพจ เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย สัญญา เอียดจงดี ทนายความที่รับผิดชอบคดีของคู่รักเพศเดียวกันที่ถูกสำนักงานเขตบางรักปฏิเสธรับเรื่องจดทะเบียนสมรส ได้กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดของการยื่นเรื่องผ่านศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่กำหนดไว้ให้มีเพียงชายและหญิงแต่งงานได้นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยทนายความระบุว่าศาลเยาวชนฯ แจ้งกับเขาว่าศาลรัฐธรรมนูญยังมีไม่คำวินิจฉัยมาและให้เลื่อนนัดฟังคำวินิจฉัยออกไปเป็นวันที่ 14 ธ.ค.2564

สัญญาระบุว่าก่อนหน้านี้ศาลเยาวชนฯ เคยมีนัดฟังคำสั่ง 2-3 ครั้งแล้วแต่ปรากฏว่าเรื่องก็ยังไม่กลับมาจากศาลรัฐธรรมนูญ และการนัดฟังคำวินิจฉัยครั้งนี้ก็เป็นทางเจ้าหน้าที่ของศาลเยาวชนฯ แจ้งมาว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยลงมาแล้วจึงได้มีการนัดฟังคำวินิจฉัยในวันนี้ก็ทำให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต่างรอฟังข่าวกัน แต่ก็เลื่อนออกไปแสดงว่าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยอย่างหนึ่งอย่างใดว่าม.1448 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทนายความเล่าเพิ่มเติมจากการคุยกับศาลเยาวชนฯ หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาอีกว่า เขาได้ชี้แจงกับศาลว่าที่ใช้ช่องทางนี้เพราะเห็นว่าตัวกฎหมายเป็นการเลือกปฏิบัติแล้วที่มาถึงตรงนี้ก็เพราะว่าได้ดำเนินการไปตามช่องทางอื่นๆ ที่มีตามกฎหมายหมดแล้ว ซึ่งศาลเองได้ถามเกี่ยวกับเรื่องที่ในรัฐสภาก็มีการพูดถึงเรื่องกฎหมายคู่ชีวิตแล้วก็ยังมีพรรคการเมืองจะยื่นร่างแก้ไขกฎหมาย ม.1448 ด้วย ซึ่งเขาเองก็แสดงความเห็นกับศาลว่าส่วนแก้ไข ม.1448 ก็เกี่ยวกับคดีโดยตรง แต่การจะให้คู่รักเพศเดียวกันต้องไปอยู่ในกฎหมายอีกฉบับหนึ่งแล้วเขาก็ไม่เท่ากับคนทั่วไปเหมือนชายหญิงในม.1448 มันเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ซึ่งเขาเห็นว่าศาลเยาวชนฯ ก็ควรมีบทบาทในเรื่องนี้ด้วย

สัญญาตอบคำถามในไลฟ์อีกว่าถึงจะมีการนัดใหม่แล้วก็ยังไม่แน่ชัดว่าในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ศาลจะมีคำวินินจฉัยออกมาหรือไม่ เขามองว่าประเด็นนี้เป้นเรื่องใหญ่อยู่เหมือนกันเนื่องจากกฎหมายแต่งงานนี้มีมาเกือบ 100 ปีแล้วโดยที่ไม่เคยถูกแตะต้องแก้ไขมาก่อน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเองไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยทางใดก็ต้องมีคำอธิบายที่สังคมจะไปฏิเสธ โดยเฉพาะถ้าบอกว่า ม.1448 ในปัจจุบันนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญเพราะในอารยะประเทศก็มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ไปแล้วก็ต้องอธิบายกับสังคมให้ได้ว่าการจะมีความเสมอภาคกันในสังคม ม.1448 มันจะเป็นได้จริงในทางปฏิบัติอย่างไร

ทนายความยังประเมินถึงผลที่ตามมาหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วด้วยว่า หากศาลบอกว่า ม.1448 ขัดรัฐธรรมนูญก็จะผลผูกผันทุกองค์กรทั้งนายทะเบียนที่รับจดทะเบียนจะอ้างม.1448 มาปฏิเสธการรับจดทะเบียนไม่ได้แล้ว ส่วนสำหรับของคู่รักเพศเดียวกันที่เป็นผู้ยื่นเรื่องถึงศาล ศาลก็จะต้องไต่สวนคดีต่อว่าคู่รักนี้ถูกปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสเพราะไม่ใช่ชายกับหญิง ซึ่งศาลก็น่าจะอนุญาตให้จดทะเบียนหรือมีคำสั่งให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนโดยนำคำสั่งศาลไปประกอบการยื่นขอจดทะเบียนที่สำนักงานเขต

สัญญาได้ประเมินความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นต่อว่านายทะเบียนก็อาจจะรับจดทะเบียนให้เลย แต่ก็มีความเป็นไปได้อีกว่าเหมือนกันว่าศาลมีคำสั่งแล้ว ม.1448ก็บังคับใช้ไม่ได้แล้ว นายทะเบียนก็อาจต้องไปดูว่ามีฐานทางกฎหมายมหาชนใดที่ให้ดำเนินกาได้บ้างซึ่งประเด็นนี้เขาก็มองว่าเป็นเรื่องภายในหน่วยงานราชการที่ต้องไปหาทางมา แต่ก็จะทำให้ราชการปฏิเสธการขอจดทะเบียนสมรสไม่ได้แล้ว

สัญญาระบุว่า อย่างไรก็ตามฝ่ายนิติบัญญัติเองก็ต้องเร่งกระบวนการออกกฎหมายในสภาควบคู่กันให้ออกมาสอดรับกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้มีกฎหมายใช้ในทางปฏิบัติด้วยไปจนถึงการแก้ไขป.แพ่งฯ กฎระเบียบกฎกระทรวงต่างๆ ที่มากดทับเรื่องนี้อยู่

'ครูธัญ' ชี้ ร่างแก้ไข ป.พ.พ.1448 คือกุญแจดอกสำคัญเพื่อปลดแอกความเสมอภาคทางเพศ

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ริเริ่มเเละผลักดันร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายเพิ่มเติมเเพ่งเเละพาณิชย์ (ป.พ.พ. 1448 ) กล่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการอ่านคำวินิจฉัยมาตรา 1448 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากวันนี้เป็นวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ว่า การยื่นตีความในกรณีนี้สืบเนื่องมาจากข้อสงสัยว่า การสมรสที่กระทำได้ระหว่างชายและหญิงเท่านั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากกรณีที่ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง และพวงเพชร เหงคำ หญิงรักหญิงที่อยู่ร่วมกันกว่าสิบปี ยื่นขอจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตภาษีเจริญ แต่ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าการที่ทั้งคู่มีเพศกำหนดเป็นหญิงและหญิงเหมือนกัน ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสให้ได้ จึงนำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยถึงความเสมอภาคที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 ที่รับประกันความเสมอภาคระหว่างชายหญิงและการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 1448 ที่กำหนดให้สมรสกันได้เฉพาะระหว่างชายและหญิง ‘ขัด’ ต่อรัฐธรรมนูญก็จะนำมาสู่กระบวนการแก้กฎหมายว่าด้วยการสมรสมาตรานี้ แต่ในทางกลับกัน หากวินิจฉัยว่า ‘ไม่ขัด’ ต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะถือว่าการสมรสระหว่างชายและหญิงเป็นสิทธิเท่าเทียมแล้ว

“คำถามที่เกิดขึ้นมากมายต่อมาคือคำถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดจะส่งผลอย่างไรต่อกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม หรือการแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ.1448 ที่ธัญและพรรคก้าวไกลที่ยื่นสู่สภา เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นย่อมผูกพันทุกองค์กร และคำวินิจฉัยของศาลก็จะถูกนำมาพูดหรืออ้างถึงในสภาที่อาจจะส่งผลด้านใดด้านหนึ่งต่อร่างสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล

“อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าอย่างไร ในฐานะผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการยื่นเสนอกฎหมายและผ่านกฎหมาย ต้องถือว่าเป็นคนละเรื่องกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจากกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาแล้ว แต่ผู้แทนราษฎรกำลังจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายสู่อนาคต ผ่านกลไกรัฐสภาและตัวแทนจากประชาชน”

ต่อกรณีที่มีการเลื่อนการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปเป็นวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ธัญวัจน์ กล่าวว่า ยังคงเป็นการรอคอยที่ไม่รู้จุดหมายอย่างแน่ชัดของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ในฐานะผู้แทนราษฎรที่ยื่นกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นสิ่งที่เราเชื่อว่านี่คือความเสมอภาคและคนทุกเพศต้องสามารถสร้างครอบครัวของตนเองได้ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนั้น ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไร ก็จะเดินหน้าผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างสุดความสามารถผ่านกลไกของสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net