ครม. เห็นชอบร่าง 'พ.ร.บ. คู่ชีวิต' เตรียมเข้าสภา #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ซึ่งไม่ครอบคลุมสิทธิหลายอย่าง และเป็นคนละฉบับกับ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ปพพ. เพื่อให้บุคคลทุกเพศได้รับสิทธิในการสมรสเท่าเทียมที่เปิดรับฟังความเห็นอยู่ขณะนี้ ขณะที่ #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ขึ้นเป็นแฮชแทคติดเทรนด์อันดับต้นๆ ในทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว

8 ก.ค. 2563 วันนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตและร่างพระราชพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเสนอโดยกระทรวงยุติธรรม และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และ 6 เพื่อให้บุคคลทุกเพศได้รับสิทธิในการสมรสอย่างเท่าเทียมที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้

The Standard รายงานว่าวันนี้ (8 ก.ค.) เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และฉัตราภรณ์ ดิษฐศรีพร นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เข้าร่วมชี้แจงร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (ฉบับผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา) ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 28/2563

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ ทั้งสองฉบับ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฏรต่อไป

โดย Voice Online รายงานว่าร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ 9 ข้อ คือ

1. "คู่ชีวิต" หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้

2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้

3. กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย

4. กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต

5. กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

6. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน

7. คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้

8. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

9. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม

ส่วนร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญ 3 ข้อ คือ

1. กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี "คู่สมรส" หรือ "คู่ชีวิต" อยู่ไม่ได้

2. กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่น ฉันท์ "คู่ชีวิต"

3. กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับของกระทรวงยุติธรรมเป็นร่างกฎหมายคนละฉบับกับร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 หลักทั่วไป บรรพ 5 ครอบครัว และบรรพ 6 มรดก ฉบับที่เสนอโดยธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ซึ่งกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้และเสนอให้มีการปรับถ้อยคำในประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้เปลี่ยนจากคำว่า “สามีและภรรยา” เป็นคำว่า “คู่สมรส” ส่วนในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการหมั้น ให้ใช้คำว่า “ผู้หมั้น” และ “ผู้รับหมั้น” แทนคำว่า “ชาย” และ “หญิง” และในมาตราเกี่ยวกับการสมรส ให้เปลี่ยนจากคำว่า “ชาย” และ “หญิง” เป็น “บุคคล” เพื่อให้บุคคลทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศสามารถหมั้นและสมรสกันได้ตามกฏหมายและเพื่อให้คู่สมรสทั้งต่างเพศและเพศเดียวกันมีสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่าเทียมกัน

ธัญวัจน์ให้สัมภาษณ์กับ The Standard ว่าการสมรสเท่าเทียมคือการเปลี่ยนให้ทุกคนเสมอภาค คำว่า ‘คู่สมรส’ นั้นอยู่ในกฎหมายอื่นๆ อยู่แล้ว ดังนั้นการเปลี่ยนตรงนี้ก็จะสามารถรองรับและสอดคล้องกับกฎหมายอื่นๆ ได้ ในขณะที่คำว่า ‘คู่ชีวิต’ ไม่ได้เท่ากับการสมรส คำว่าคู่ชีวิตเป็นคำใหม่ ไม่เคยมีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่การสมรสเท่าเทียมนั้น คำว่าคู่สมรสอยู่ในทุกกฎหมาย ดังนั้นหากเราแก้ตรงต้นตอ กฎหมายอื่นๆ ที่มีคำว่าคู่สมรสก็จะครอบคลุมด้วย แต่หากเป็นคู่ชีวิต คำนี้ไม่มีในกฎหมายอื่นๆ ดังนั้น เมื่อมี พ.ร.บ. คู่ชีวิตฯ แล้วก็ยังไม่ได้ครอบคลุมสิทธิอื่น ๆ

ธัญวัจน์ยังกล่าวอีกว่าสำหรับร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ นั้น เราไม่ได้สุดโต่งแต่อย่างใด โดยร่างที่พรรคก้าวไกลยื่นไปนั้นแก้เพียงคำว่าชายหญิงเป็นบุคคล ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับบิดามารดาไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด ซึ่งสิ่งที่เสนอไปก็เพื่อให้รองรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ดังนั้นเป็นการแก้กฎหมายที่เคารพทุกเพศ ซึ่งธัญวัจน์มองว่าการมีกฎหมายสมรสรองรับคนหลากหลายเพศนั้นเป็นการเปิดกว้างให้สังคมรับเรื่องเหล่านี้ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิตฉบับกระทรวงยุติธรรมเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้ว่าไม่ได้ให้สิทธิกับคู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศเทียบเท่ากับคู่สมรสต่างเพศ เนื่องจากมุ่งให้ความสำคัญเรื่องการจัดการทรัพย์สินมรดกและการฟ้องแทนในคดีอาญาได้เท่านั้น ไม่ครอบคลุมทั้งหมดของการใช้ชีวิตคู่ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาลและการได้รับสวัสดิการ (กรณีที่อีกฝ่ายมีสิทธิที่ได้รับจากการทำงาน) สิทธิในกรณีคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งตาย และสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขที่คลุมเครืออย่างการระบุให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้โดยอนุโลม ซึ่งอาจสร้างปัญหาในการตีความว่าจะอนุโลมได้หรือไม่ เช่น สิทธิในการใช้นามสกุลร่วมกันกับอีกฝ่าย สิทธิในการเซ็นยินยอมการรักษาของอีกฝ่าย สิทธิในการจัดการศพอีกฝ่ายที่เสียชีวิต สิทธิในกองทุนประกันสังคมในฐานะคู่สมรส

ในเดือน ส.ค. 2562 คณะทำงานเพื่อการสมรสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน ร่วมกับองค์กรและบุคคลที่ดำเนินงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ 80 รายชื่อ จึงออกจดหมายเปิดผนึก ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณา ยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... โดยจดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าวระบุว่าร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิตฉบับกระทรวงยุติธรรม “มีเนื้อหากฎหมายที่เลือกปฏิบัติกับบุคคลหลากหลายทางเพศ เนื่องจาก พลเมืองหญิง ชาย ได้รับการคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวและสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีสิทธิสวัสดิการครอบครัวมากกว่าพลเมืองกลุ่มหลากหลายทางเพศ” และและขอให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายครอบครัวและมรดกในบรรพ 5 บรรพ 6 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อขยายสิทธิการสมรสให้ครอบคลุมทุกเพศ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ และทุกเพศวิถี

จากกระแสการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อสิทธิสมรสเท่าเทียมที่ทำให้ #สมรสเท่าเทียม และ #LGBTQ กลายเป็นแฮชแทคติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ช่วงคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 ก.ค.) ขณะนี้แฮชแทค #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ก็กลายเป็นแฮชแทคติดเทรนด์อันดับต้น ๆ ในทวิตเตอร์อย่างรวดเร็วหลังชาวเน็ตจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างพ.ร.บ. ทั้งสองฉบับที่ได้รับความเห็นชอบจากค.ร.ม. ในวันนี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท