Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสลัม 4 ภาค และกลุ่มชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) พร้อมประชาชนร่วมชุมนุมหน้ากระทรวงคมนาคม เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อเรียกร้องให้จัดแบ่งที่ดินการรถไฟบริเวณเส้นทางเชื่อม 3 สนามบินอย่างเป็นธรรม โดยมีผู้แทนองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทยเข้าร่วมรับฟังเสียงประชาชนและสังเกตการณ์ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ตัวแทนประชาชนเผยผลการประชุมยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก แต่พร้อมสู้ต่อ เรียกร้องสิทธิที่อยู่อาศัยให้คนจนเมือง

4 ต.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (4 ต.ค. 2564) เวลา 08.04 น. เครือข่ายสลัม 4 ภาค, ชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) และประชาชนกว่า 500 คน และขณะนี้ยังทยอยกันมาอย่างต่อเนื่อง รวมตัวกันที่บริเวณหน้ากระทรวงคมนาคม เพื่อชุมนุมเรียกร้องเรื่องการจัดการการกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรมให้แก่ประชาชน เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) โดยจุดประสงค์หลักของการชุมนุมในวันนี้ เพื่อทวงถามความคืบหน้าการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการการก่อสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการพัฒนาที่ดินย่านมักกะสัน, กม.11 ย่านบางซื่อ และโครงการก่อสร้างแก้มลิงบึงมักกะสัน

 

เวลา 09.50 น. วิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ออกมารับเรื่องเจรจากับตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค โดยอนุญาตให้ประชาชนที่มาในวันนี้ เข้าไปใช้ห้องน้ำในกระทรวงคมนาคมได้ และเปิดห้องให้ตัวแทนเครือข่ายเข้าไปพูดคุยด้านในกระทรวง อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันนี้

วิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
 

สุมิตรา วุฒิวารี ประธานชุมชนรถไฟมักกะสัน และผู้ประสานงานชุมชนทางรถไฟเขตราชเทวี กล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่าในวันนี้ (4 ต.ค. 2564) ตนและประชาชนที่อยู่อาศัยริมทางรถไฟหลายพื้นที่ใน กทม. มาทวงถามความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรว่าการกระทรวงคมนาคมเคยรับปากไว้ว่าจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือ

สุมิตรา กล่าวว่าเฉพาะพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบนั้น มีประชาชนอยู่รวมกันกว่า 500 ครัวเรือน บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ริมทางรถไฟมักกะสัน ซึ่งในตอนนี้บริษัท CP ได้เข้าซื้อไปแล้ว 197 ไร่ เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยอีก 497 ไร่ เบื้องต้น ทางกลุ่มเจรจาขอพื้นที่ 16% เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย แต่การเจรจาจบลงที่ 3% ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณริมทางรถไฟมักกะสัน และภายในเดือน ม.ค. 2565 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีคำสั่งให้ประชาชนบางส่วนต้องย้ายออกจากพื้นที่โดยทันที

 

สุมิตรา กล่าวเพิ่มเติมว่าพื้นที่ 3% ที่ รฟท. จัดสรรให้นั้นน้อยเกินไป และไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต เพราะผู้อยู่อาศัยในชุมชนมีทั้งเด็ก และคนชรา การอยู่อาศัยบนอาคารสูงตามที่ รฟท. วางแผนไว้นั้นคงไม่เหมาะสม ตนในฐานะผู้นำชุมชนจึงต้องการเจรจาขอแบ่งพื้นที่ในแนวราบ เพื่อให้สะดวกแก่การใช้ชีวิต นอกจากนี้ สุมิตรายังกล่าวว่าพื้นที่ 3% ที่การรถไฟเตรียมจัดสรรให้ใหม่นั้น เป็นการแยกโซนกันอยู่ ซึ่งชาวชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันต้องการอยู่รวมกันเป็นชุมชนดังเดิม จึงมาร่วมชุมนุมและเข้าเจรจากับตัวแทนภาครัฐในวันนี้

เวลา 10.40 น. ตัวแทนชุมชนริมทางรถไฟเขตบางซื่อ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของชุมชนริมทางรถไฟเขตบางซื่อ คือ ต้องการพื้นที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม 3 ไร่จากเดิม 5 ไร่ ซึ่ง รฟท. สัญญาว่าจะให้ รวมต้องการพื้นที่ทั้งสิ้น 8 ไร่ เพราะพื้นที่ 5 ไร่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่

ตัวแทนชุมชนริมทางรถไฟเขตบางซื่อ
 

แถลงการณ์วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2564

กระจายที่ดิน จัดที่อยู่อาศัย แก้ปัญหาคนจนเมือง

ตามที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งเป็นขบวนคนจนเมือง มีการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้เกิดการแก้ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกในทุกปี ด้วยเห็นความสำคัญของปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย

สถานการณ์ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย หรือการไร้ที่อยู่อาศัย เป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และยังเป็นปัญหาใหญ่ของคนจนเมือง ที่ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต ปัญหาการไล่รื้อ และการดำเนินคดีกับคนจน เพื่อบีบบังคับให้ออกจากที่ดินที่เป็นที่อยู่อาศัย เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังจะเกิดขึ้นต่อไป เนื่องจากรัฐบาลไม่ตระหนัก และไม่ให้ความสำคัญ ในขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงของการไล่รื้อจากโครงการพัฒนาของรัฐเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในระบบราง และการพัฒนาเศรษฐกิจบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบกับชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนบนที่ดินการรถไฟ ต้องถูกรื้อย้ายออกเป็นจำนวนมากถึง 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน ครอบคลุม 36 จังหวัด

และในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในทางเศรษฐกิจ คนจนเมืองหลายกลุ่มต้องประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ คนจำนวนมากรายได้ลดลง บางส่วนต้องตกงาน เป็นปัญหาที่ซ้ำเติมให้การดำเนินชีวิตมีความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผู้เช่าบ้านราคาถูกในเมือง ต้องออกจากห้องเช่ามาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ ซึ่งถ้าไม่มีนโยบาย หรือมาตรการในการช่วยเหลือสนับสนุน คนกลุ่มนี้อาจต้องกลายเป็นคนไร้บ้านถาวร หรือแม้แต่ผู้ที่ยังสามารถอยู่ในห้องเช่า พวกเขาอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการหลุดออกมาจากห้องเช่าได้ตลอดเวลา

เครือข่ายสลัม 4 ภาค พบว่ากลุ่มคนจนเมืองที่ประสบปัญหาในด้านที่อยู่อาศัย มี 3 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มคนในชุมชนแออัด, กลุ่มแรงงานผู้เช่าบ้านราคาถูกในเมือง และกลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้านที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายการจัดการทรัพยากรที่ดินที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจะให้ชุมชนได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และสอดคล้องกับสภาพปัญหาของคนแต่ละกลุ่ม เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงมีข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก บนหลักการของการแบ่งปันที่ดินรัฐในเมือง รองรับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับคนจน ดังนี้

1. ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการพัฒนาที่ดินย่านมักกะสัน, กม.11 และย่านบางซื่อ และโครงการก่อสร้างแก้มลิงบึงมักกะสัน ที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้มีกระบวนการในการทำงานแก้ปัญหาร่วมกับกระทรวงคมนาคม จนได้แนวนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมายไว้ในการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2564 โดยให้ รฟท. จัดหาที่ดินรองรับชุมชนในย่านมักกะสัน กม. 11 และย่านบางซื่อนั้น นายกรัฐมนตรีต้องประสานงานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เร่งรัดดำเนินการ ตามมติคณะอนุกรรมการฯกระทรวงคมนาคมโดยเร็ว

2. รัฐบาลต้องมีนโยบายให้หน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ แบ่งปันที่ดิน เพื่อจัดเป็นที่อยู่อาศัยให้กับคนจนที่ไร้ที่อยู่อาศัย

3. กรณีผู้ที่ต้องออกจากห้องเช่า จากผลกระทบของภาวะวิกฤตโควิด ต้องจัดหาที่อยู่อาศัยรองรับชั่วคราวระยะสั้น 3-6 เดือน ในเมือง ใกล้แหล่งประกอบอาชีพ โดยลดเงื่อนไขข้อจำกัดในการเข้าพัก เพื่อให้สอดคล้องกับความเดือดร้อน และวิถีชีวิตในการประกอบอาชีพ

4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ต้องพัฒนานโยบายการจัดที่พักอาศัยสำหรับเช่าราคาถูกในเมือง ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนจนเมือง ที่เป็นแรงงานผู้เกื้อหนุนหล่อเลี้ยงคนเมือง ให้มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยราคาถูกจากรัฐ

สามัคคีคนสลัม รวมพลังคนจน
วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2564
หน้ากระทรวงคมนาคม

เครือข่ายสลัม 4 ภาค
เครือข่ายชุมชนคนเมืองที่ได้รับผลกระทบรถไฟ

ภายหลังการประชุมหารือ 4 ฝ่าย ระหว่างเครือข่ายชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค ผู้แทนกระทรวงคมนาคม และผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ชม. ได้ข้อสรุป 5 ข้อดังต่อไปนี้

  1. กรณีที่ดินแปลงซอยหมอเหล็งพื้นที่แปลง 1, 2 และ 3 รวม 7 ไร่ การรถไฟฯ จะใช้เป็นที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน ซอยหมอเหล็ง และ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สนามบิน (ชุมชนบุญร่มไทร ชุมชนแดงบุหงา ชุมชนหลังกรมทางหลวง ชุมชนหลังโรงพยาบาลเดชา ชุมชนอาร์ซีเอ) ส่วนรูปแบบที่อาศัยเป็นรูปแบบอาคารสูง ขนาดพื้นที่ห้อง 30-40 ตารางเมตร ส่วนจะสูงกี่ชั้นให้คำนึงถึงความเพียงพอในการใช้ที่ดินเพื่อรองรับชุมชน และความสามารถ ในการผ่อนชำระรายเดือนและค่าใช้จ่ายส่วนกลางรายเดือน และให้มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับเป็นพื้นที่ใช้สอย เช่น ร้านค้าชุมชน และอื่นๆ ส่วนพื้นที่แปลงที่ 4 จำนวน 8 ไร่ การรถไฟฯ จะร่วมกับชุมชน ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาปรับผังชุมขนเพื่อเช่าเป็นที่อยู่อาศัยในระยะต่อไป
  2. กรณีชุมชนในย่านกม.11 และบางซื่อ (ชุมชนพัฒนา กม. 11 ชุมชนริมคลอง กม. 11 ชุมชนบางซื่อ) ในชั้นต้น การรถไฟฯ จะจัดที่ดินรองรับเป็นพื้นที่ 5 ไร่ บริเวณ กม. 11 และบางซื่อ ส่วนรูปแบบที่อาศัยเป็นรูปแบบอาคารสูง ส่วนจะสูงกี่ชั้นให้คำนึงถึงความเพียงพอในการใช้ที่ดินเพื่อรองรับชุมชน และความสามารถของชุมชน ในการผ่อนชำระรายเดือนและค่าใช้จ่ายส่วนกลางรายเดือน และให้มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับเป็นพื้นที่ใช้สอย เช่น ร้านค้าชุมชน และอื่นๆ
  3. กรณีชุมชนในย่านมักกะสัน ชุมชนริมทางรถไฟมักะสัน ชุมชนนิคมมักกะสัน ชุมชนหลังวัดมักกะสัน ชุมชนโรงเจมักกะสัน ขอกลับไปหารือกับกับอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เพื่อหาที่ดินรองรับแปลงบี ได้หรือไม่ ให้เหมาะสมต่อไป
  4. กรณีชุมชนอาร์ซีเอ และ ชุมชน กม. 11 และชุมชนบุญร่มไทร ชุมชนแดงบุหงา และชุมชนหลังกรมทางหลวงที่ถูกหมายศาล และอยู่ระหว่างดำเนินการขอเช่าขอให้ชุมชนเสนอรายชื่อชุมชนที่ถูกหมายศาล และมีความประสงค์ที่จะเข้าโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและการรถไฟฯ จะไปแถลงต่อศาลว่าเข้าโครงการ และขอชะลอการดำเนินคดี
  5. การขอลดอัตราค่าเช่าชุมชนพระราม 6 การรถไฟฯ จะนำเรื่องบอร์ดภายใน เดือน ธ.ค. 2564

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนเครือข่าย ชมฟ. และเครือข่ายสลัม 4 ภาคเปิดเผยว่าผลการประชุมยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก แต่ขอให้ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเรียกร้องในวันนี้อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะการต่อสู้ยังไม่จบ ยังมียกต่อๆ ไป ต้องค่อยๆ ขยับข้อเรียกร้องจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

อัภยุทย์ จันทรพา ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค ผู้เข้าร่วมการประชุมหารือภายในกระทรวงคมนาคม
 

นอกจากนี้ ผู้แทนองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม และรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน พร้อมกันนี้ ผู้แทนองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยยังได้กล่าวเน้นย้ำ

ผู้แทนองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกร่วมกับประชาชนในวันนี้
 

ทั้งนี้ จำนงค์ หนูพันธุ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) กล่าวว่าทางกลุ่ม P-Move ได้เตรียมจดหมายเปิดผนึกมายื่นต่อ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เร่งรัดการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในตอนแรก ทางสำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งกับทางกลุ่ม P-Move ว่าเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมารับหนังสือที่หน้ากระทรวงคมนาคม แต่สุดท้ายได้แจ้งยกเลิกการเดินทางมาที่หน้ากระทรวงคมนาคม ทำให้ทางกลุ่มไม่ได้ยื่นหนังสือ อย่างไรก็ตาม กลุ่ม P-Move ได้เปิดเผยเนื้อหาจดหมายเปิดผนึกต่อสื่อมวลชน ใจความดังนี้

ตามที่คณะกรรมการการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้ประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2564 ณ ห้อง 109 ชั้น 1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมได้รับทราบบันทึกข้อตกลงแนวทางการแก้ไขปัญหาของ ขปส. กับคณะอนุกรรมการทั้ง 9 คณะ พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี รับทราบและมอบแนวทางการดำเนินการของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ รวมทั้งเห็นชอบการปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน เห็นชอบข้อเสนอในการดำเนินงานโฉนดชุมชน และเห็นชอบการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัฐ และคณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินที่ทำกินให้กับชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ รายละเอียดนามที่อ้างถึงนั้น

บัดนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายมากขึ้น ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของรัฐมนตรีบางท่าน ซึ่งส่งผลต่อการแก้ไขปัญหา ขปส. ตามที่ท่านในฐานะประธานฯ ได้รับมอบหมายเพื่อให้ติดตามการแก้ไขปัญหามีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม ขปส. จึงเรียนมายังท่านเพื่อขอให้เร่งจัดประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยด่วน ภายในเดือน ต.ค. 25641 นี้ หากมีความคืบหน้าประการใด ขอโปรดแจ้งให้ทราบด้วย

จำนงค์ หนูพันธุ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net