Skip to main content
sharethis

ชวนพูดคุยกับประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม ‘ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112’ ที่แยกราชประสงค์วานนี้ (31 ต.ค. 2564) ถึงเหตุผลว่า “ทำไมต้องยกเลิก ม.112” สะท้อนความรู้ ความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ จากมุมมอง ‘มนุษย์ม็อบ’ ที่มาร่วมเข้าชื่อเสนอยกเลิกกฎหมาย รุ่นพี่ร่วมสถาบันของ 'เบนจา อะปัญ' ไปจนถึงศิลปินที่สร้างงานศิลป์สื่อถึงความไม่เป็นธรรมของ ม.112

1 พ.ย. 2564 วานนี้ (31 ต.ค. 2564) ที่แยกราชประสงค์ กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรมชุมนุม “ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112” ผู้สื่อข่าวประชาไทลงพื้นที่พูดคุยกับมนุษย์ม็อบ หรือประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเมื่อวานนี้ แลร่วมลงชื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับกลุ่ม iLaw พร้อมพูดคุยกับศิลปินที่มาร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านงานศิลปะที่สะท้อนปัญหาของกฎหมายฉบับนี้

ลุงตึ๋ง (นามสมมติ) ผู้มาลงชื่อยกเลิก ม.112 กับ iLaw ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่าตนอยากให้ยกเลิก ม.112 เพราะเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชน ทำให้ไม่สามารถพูดถึงเรื่องที่สถาบันกษัตริย์ทำอยู่ในเวลานี้ได้ พร้อมระบุว่าประชาชนไม่ได้ทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสียแต่การกระทำของสถาบันฯ ต่างหากคือบ่อเกิดแห่งปัญหาในเวลานี้ ทั้งยังกล่าวต่อไปอีกว่าการที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 ในตอนนี้นั้นเป็นเพราะว่าก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครกล้าที่จะเริ่ม แต่เพราะประชาชนตาสว่างมากขึ้นและรู้สึกเดือดร้อนจากกฎหมายนี้ จึงเป็นเหตุผลที่พวกเขาออกมาแสดงพลังกันอย่างท้วมท้น

“เมื่อก่อนนี้ยังไม่มีเรื่องที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และประชาชนก็ยังไม่ได้ออกมารณรงค์อะไรพวกนี้มากมาย เพราะเมื่อก่อนนี้ประชาชนหูตายังไม่สว่าง ก็ยังไม่มีใครสนใจ” ลุงตึ๋งกล่าว พร้อมบอกว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้คนออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 มากขนาดนี้เพราะการกระทำของสถาบันกษัตริย์ที่ต้องการขยายพระราชอำนาจมากเกินไป

“คนที่วิพากษ์วิจารณ์แล้วต้องเข้าคุก นั่นคือการรังแกประชาชนโดยตรง” ลุงตึ๋งกล่าว

 

ด้าน คิม (นามสมมติ) วัย 20 ปี หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อยกเลิก ม.112 กับไอลอว์ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่าเขามองว่า ม.112 เป็นกฎหมายที่ปิดปากประชาชนทุกคน ทำให้เราไม่สามารถแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ออกไปตรงๆ ได้ พร้อมบอกว่าสิ่งที่คิดว่า ‘แย่’ เกี่ยวกับกฎหมายนี้เพราะเห็นได้จากสิ่งรอบตัว

คิม (นามสมมติ) วัย 20 ปี หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อยกเลิก ม.112 กับไอลอว์
 

“รู้ว่าเป็นกฎหมายที่เอาไว้ปิดปากคน ไม่ให้คนอธิบายเรื่องกษัตริย์หรือวิจารณ์กษัตริย์ได้โดยตรง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม อาจจะเป็นข้อเท็จจริง หรืออาจจะเป็นเรื่องเท็จ แต่คนเราก็มีสิทธิที่จะพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดออกไปได้ แสดงความคิดเห็นได้ แต่กฎหมายตัวนี้ ไม่ว่าใครก็รู้อะไรไม่ได้ ไม่ว่าใครก็มีความผิด คนไม่ผิดก็ผิด จากขาวก็กลายเป็นดำ” คิมกล่าว

คิม บอกว่า ภาพที่รับรู้เกี่ยวกับสถาบันฯ เป็นภาพทีมีประเด็นปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะช่วงที่ประเทศชาติเกิดวิกฤติเช่นในขณะนี้ที่มีโรคระบาด พร้อมกล่าวต่อไปว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้แสดงออกว่ามีบทบาททางการเมืองเท่าไรนัก แต่ที่เห็นได้ชัดคือ มีการใช้กฎหมาย ม.112 ไล่จับประชาชน ซึ่งอาจจะถูกมองว่าเป็นบทบาทของสถาบันฯ

คิมยอมรับว่าในอดีตคนเคารพ ร.9 เหมือนกับหลายๆ คนที่ยังไม่ตาสว่าง มองกษัตริย์เป็นดั่งสมมติเทพและเหมือนเป็นพ่ออีกคนหนึ่ง แต่ตอนนั้นตนยังเด็ก พอเริ่มรู้ความก็จำได้เพียงแค่ว่า ร.9 ทรงพระชราภาพแล้ว จึงรู้สึกว่าความรู้สึกเคารพรักในตอนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาโดยบิดามารดาของตน แบบที่ผู้ใหญ่ในสังคมหลายคนถูกปลูกฝังมา แต่เมื่อเติบโตขึ้น ชุดความคิดเดิมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะการเข้าถึงข้อมูลที่มากยิ่งขึ้น และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจนเห็นความเป็นจริงหลายอย่าง

“แต่พอโตแล้ว ผมอายุ 20 แล้ว ผมต้องทำงาน ผมเห็นสภาพชีวิตทั้งที่บ้านผม พ่อผมก็ต้องตกงาน ญาติผมทำงานการบินไทย การบินไทยก็มาล่ม คนที่บ้านผมแย่หมด ผมก็ต้องมาดิ้นรน เรียนต่อก็ไม่ได้ เพราะผมไม่มีเงินเรียน แล้วก็ต้องออกมาทำงานเหมือนกัน หลายๆ อย่างมากเลยครับที่มันแย่ ผมเห็นได้” คิมกล่าว

“ตอนนี้ผมเองก็ลำบาก” คิมกล่าว พร้อมบอกว่าเขาเรียนด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจ แต่ต้องพักการเรียนไปเพราะไม่มีเงินเรียนต่อเลยต้องมาทำงานเป็นไรเดอร์ให้กับแอปพลิเคชันส่งอาหาร เพราะเป็นงานที่หาง่ายที่สุดในช่วงนี้

เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เพราะเขาพูดออกมาจากสิ่งที่เขาโดนกระทำ มันไม่ใช่เรื่องโกหก แต่มันคือความจริง และเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ

ขณะเดียวกัน รุจ (นามสมมติ) ศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกับที่เบนจา อะปัญ นักกิจกรรมจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ศึกษาอยู่ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่าตนมายืนถือป้ายยกเลิก 112 ในการชุมนุมวันนี้ เพราะต้องการทวงถามไปยังสถาบันต้นสังกัดของเบนจาว่าทำไมถึงปล่อยให้นักศึกษาที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลต้องถูกคุมขังในเรือนจำเพียงเพราะออกมาแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหวทางการเมือง

รุจ (นามสมมติ) ศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

“จริงๆ แล้ว สถาบันกษัตริย์ควรเป็นสิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ ในเมื่อเขาเลือกที่จะใช้ภาษี ใช้งบประมาณที่มาจากประชาชน ทำไมเขาถึงโดนวิจารณ์ไม่ได้ แล้วทำไมคนที่ออกมาวิจารณ์ถึงต้องโดนจับ โดนขัง ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความผิด ยังไม่มีการตัดสินว่าเขามีความผิด แต่กลับไม่ได้รับการประกันตัว”

รุจ (นามสมมติ) ศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

คุยกับศิลปินเรียกร้องให้ 'ยกเลิก 112' ผ่านงานศิลปะ

NDTM ศิลปินกราฟิตีที่มาจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการชุมนุมราษฎรประสงค์ยกเลิก 112 ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่าวันนี้มีกิจกรรมล่ารายชื่อยกเลิก ม.112 จึงมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการวาดภาพกราฟิตีเพื่อสะท้อนมุมมองของศิลปินต่อกฎหมายฉบับนี้

“ดูจากสัญลักษณ์ก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่ากฎหมายนี้มันพูดถึงใคร ใครเป็นคนคนได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายนี้ที่ไม่ชอบธรรม”

ภาพกราฟิตี 'KINGLLER' ผลงานของ NDTM
 

NDTM กล่าวว่าตนพ่นสีภาพมงกุฎให้ออกมาคล้ายกับรูปกับดัก เพราะต้องการสื่อว่ามงกุฎที่สวยงามนี้ก็เป็นเหมือนกับดักที่ล่อคนเข้าไปแล้วสุดท้ายก็ฆ่าทิ้ง

ติดตามมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่มีการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 2553 เริ่มสนใจเพราะรู้สึกว่า ม.112 เป็นกฎหมายที่น่ากลัว คนโดนคดีน้อย แต่คนที่โดนคดีจากกฎหมายกลับอยู่ไม่ได้ ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ยิ่งในช่วงปีที่ผ่านมา กฎหมายนี้ถูกใช้เยอะจนเกินขอบเขต ตนจึงสนใจว่าทำไมกฎหมายนี้จึงยังใช้อยู่ และมีการตีความกว้างมากจนเละเทะ

“เพื่อนผมก็โดนคนนึง เพราะโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ได้เอ่ยถึงโดยตรง และมีอีกคดีคือทิ้งกรอบรูปลงคลองก็โดน 112 มันมั่วไปหมด และเสียเวลาด้วย”

NDTM กล่าวว่าวิธีการแก้ปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่ง่ายที่สุด คือการหันหน้ามาคุยกัน แต่สิ่งที่รัฐบาลและสถาบันฯ ทำคือไม่ยอมคุยกับประชาชน ทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไข

“มันเหมือนปัญหาที่ไม่มีทางออก เราตะโกนมาตลอดตั้งแต่มีการชุมนุมว่ากฎหมายนี้มันมีปัญหานะ แต่เขาไม่คุย เขาไม่ตอบเรา จริงๆ ผมว่ามันยิ่งสร้างความโกรธและคับแค้นให้คนด้วยนะ เราคุยกับคุณดีๆ เราคุยกับคุณแบบสันติทุกอย่าง ทำทุกวิถีทางแล้วแต่ว่าคุณไม่รับฟัง ไม่คุยแล้วก็ตอบโต้ด้วยความรุนแรง มันก็ยิ่งยัวยุให้คนยิ่งออกมา ก็แสดงว่ากฎหมายนี้ควรถูกยกเลิกไป”

 

“ผมเห็นด้วยกับการปฏิรูป 100% อยู่แล้วเพราะอะไรที่มากเกินขอบเขตของกฎหมายก็ควรจะปรับให้พอดี จริงๆ แล้วไม่ใช่การล้มล้าง แต่เป็นการทำให้ดีขึ้น ทำให้สถาบันกษัตริย์สง่างาม”

ขณะเดียวกัน แพะในกุโบร์ กลุ่มศิลปินอิสระเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เข้ามาจัดตั้งงานศิลปะธีมเปื้อนเลือดกลางถนนขึ้นที่แยกราชประสงค์ใน #ม็อบ31ตุลา64 หนึ่งในผู้จัดทำชิ้นงานเล่าว่า พวกเธอตั้งใจแปะภาพ วางหุ่น เพื่อไล่เรียงเหตุการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 มาจนถึงการชุมนุมในปัจจุบัน ส่วนรูปแมวที่อยู่ด้านบนนั้น มุ่งหวังที่จะสื่อสารเรื่องการลดทอนอำนาจของกษัตริย์ ขณะที่แมวจะดูสูงส่ง ส่วนที่เป็นพื้นที่พิธีนั้นต้องการจะสาปแช่งตามความเชื่อทางศาสนา และหุ่นรูปผู้หญิงนั้น ต้องการที่จะให้เป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองและการถูกลิดรอนสิทธิ

การแสดงผลงานศิลปะเปื้อนเลือดของกลุ่มแพะในกุโบร์
 

“ถ้าเกิดเราอ่านเรื่องที่อยู่บนตัวหุ่นมันจะเล่าถึงคนที่ต้องตายเพราะต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็น ‘หะยีสุหลง’ หรือว่าเพื่อนๆ เราที่ติดคุกอยู่ในตอนนี้ เพียงเพราะออกมาเรียร้องวคามเป็นธรรมให้สังคม แต่ว่าเราจัดอย่างนี้เพราะต้องการจะสื่อสารว่า ‘เขา’ เป็นคนที่ทุกคนเคารพ กราบไว้บูชา แต่เรื่องราวของความเป็น ‘เขา’ ที่ประกอบร่างขึ้นมาจนเป็น ‘เขา’ มันกลับเต็มไปด้วยเลือดและคำว่าฆาตรกรรม เราเลยเอาเรื่องราวของคนที่ถูกลบเลือนออกจากประวัติศาสตร์ ถูกอุ้มหาย มาลงไว้ที่นี่ แล้วก็ทำเป็นบูชา แม้ว่า ‘เขา’ จะฆ่าคนมาแล้วก็ตาม ทุกคนที่ถูกฆ่าหรืออุ้มหายไม่ได้จากไปแบบไร้มูลเหตุ แต่คนเหล่านี้คือคนที่ต้องจากไปเพราะต้องการความเปลี่ยนแปลง เช่น เตียง ศิริขันธ์ ที่ถูกยัดข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์”

การแสดงหุ่นจำลอง 'เขา' ที่ประกอบสร้างจากเรื่องราวของผู้ถูก ม.112 คุกคาม โดยกลุ่มแพะในกุโบร์
 

อนึ่ง การชุมนุม “ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112” วานนี้มีการตั้งเวทีปราศรัย และการออกบูธของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ อาทิ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, เฟมินิสต์ปลดแอก, ทะลุฟ้า, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมถึง iLaw ที่มาตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อยื่นเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมีการนำหนังสือทำมือของ iLaw มาแจกให้ผู้ที่มาเข้าร่วมสามารถเลือกเรื่องราวของผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 เช่น อัญชัน ลุงบัณฑิต (บัณฑิต อานียา) และหนังสือที่ให้ความรู้สะท้อนสภาพปัญหาของตัวกฎหมาย โดยหลังยุติการชุมนุมในเวลา 20.20 น. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw เปิดเผยว่ามีผู้มาลงชื่อยกเลิกกฎหมายทั้งสิ้น 3,600 คน และทาง iLaw เตรียมจะเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อยกเลิกกฎหมายแบบออนไลน์ต่อไป

หนังสือทำมือเกี่ยวกับ ม.112 ที่ iLaw ทำมาแจกผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net