ฟังเสียงภาควิชาการและประชาสังคม ทำไม 'สิทธิประกันตัว' จึงสำคัญต่อความยุติธรรม

นักวิชาการถามคำสั่งไม่ให้ประกันตัว เป็นไปตามหลักกฎหมาย หรือการเมือง? ยกหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และสิทธิ์ในการต่อสู้คดีถูกลดทอน เป็นเหตุผลสำคัญของการประกันตัว ขณะที่ ‘ยืนหยุดขัง’ ชี้สิ่งที่เกิดขึ้นศาลกลายเป็นคนบ่อนเซาะกระบวนการยุติธรรมเสียเอง

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับ Nitihub เปิดวงวิชาการผ่าน Clubhouse ถกหลักกฎหมายกรณีจำเลย มาตรา 112 ภายใต้หัวข้อ “คำสั่งไม่ให้ประกันตัว หลักกฎหมาย หรือการเมือง?” (รับชมรับฟัง วิดีโอคลิปบันทึกการถ่ายทอดสดเสวนาดังกล่าว)

สำหรับ มาตรา 112 หรือ กฎหมายความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ถูกนำมาใช้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันอย่างกว้างขวาง และเป็นกฎหมายที่ถูกตั้งคำถามจากประชาชนในวงกว้างถึงเหตุแห่งการไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง จนเกิดการตั้งคำถามว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นหลักกฎหมาย หรือการเมือง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยในวงเสวนาครั้งนี้ว่า มีผู้ต้องหาทางการเมืองที่ไม่ได้สิทธิประกันตัวทางการเมืองอย่างน้อย 27 คน และมีบุคคลที่เป็นเยาวชน 1 คน โดยเยาวชนนี้สาเหตุที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวคือไม่สามารถหาผู้ปกครองมารับรองได้

ภาพกิจกรรมยืนหยุดขัง เรียกร้องสิทธิประกันตัว หน้าศาลฎีกา เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา (ภาพโดยแมวส้ม)

คำสั่งไม่ให้ประกันตัว หลักกฎหมาย หรือการเมือง?

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ระบุผ่านวงเสวนา Clubhouse ดังกล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติมาตรา 6 สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยราชการภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุนั้นจึงเป็นที่แน่ชัดว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการเมือง และเป็นกระบวนการที่เป็นประโยชน์ทับซ้อนแก่ผู้มีอำนาจ

ดังนั้น ศาลผู้มีอำนาจจึงต้องตระหนักถึงหลัก Presumption of Innocence นั่นคือหลักที่แสดงว่าหากจำเลยถูกกล่าวหาต้องได้รับสิทธิในการสู้คดี

“มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำให้หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองมาทุกฉบับ มันกลายเป็นจริงซะที ที่ผ่านมามันยังเป็นการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด นี่คือปัญหาใหญ่ของเรา” ปริญญา กล่าว 

หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์

สิทธิในการประกันตัว หรือสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี ก่อนที่ศาลจะพิพากษาจนถึงที่สุด เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเป็นสิทธิที่มาจากหลักการ Presumption of Innocence ที่จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จากคณะนิติศาสตร์ มธ. ระบุว่า บุคคลจะเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะพิพากษา ศาลต้องเข้าใจว่าที่จับกุมบุคคลมาเป็นการใช้อำนาจบริหาร ศาลจะต้องฟังความทั้งโจทย์จำเลย ผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหาให้ครบถ้วน ดังนั้นเมื่อเป็นแค่การกล่าวหา บุคคลเหล่านั้นก็ไม่ควรจะติดคุกก่อนศาลพิพากษา 

“ในมาตรา 29 วรรค 2  ในคดีอาญา ให้สัญนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฎิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้ ดังนั้นการที่ไม่ให้เขาประกันตัว เอาเขาไปขังในคุก มันผิดหมดเลย” ปริญญากล่าว

ในขณะที่ ฐิตินันท์ เต็งอำนวย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุในวงเสวนาเดียวกันว่า ถึงแม้หลัก Presumption of Innocence จะเกิดขึ้นมาภายหลังประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาร่างเสร็จไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อหลักนี้ได้รับการบังคับใช้แล้วนั้น ผู้พิพาษาซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย จำเป็นต้องตระหนักหลักนี้เอาไว้ คือต้องสัญนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์

ภาพจากกิจกรรมยืนหยุดขัง เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา (ภาพโดยแมวส้ม)

5 เงื่อนไขไม่ปล่อยตัวชั่วคราว

ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญาฯ) มาตรา 108/1 ได้ระบุว่า "การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 

  • (1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
  • (2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
  • (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
  • (4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
  • (5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

ฐิตินันท์ ระบุว่าการปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องเป็นหลัก จะไม่ปล่อยได้เมื่อเข้าเหตุ 5 ประการที่บรรญัติไว้ข้างต้นเท่านั้น ใช้ในกรณีที่จำเลยก่อเหตุร้ายแรง และมีท่าทีว่าจะหลบหนีเท่านั้น 

นอกจากนี้ ฐิตินันท์ ยังกล่าวเสริมว่า คดีการเมือง มาตรา 112 ตอนนี้กระบวนการถูกมองเพียงแค่สองด้าน คือปล่อย กับไม่ปล่อย แต่ยังไม่มีตรงกลางนั่นก็คือเงื่อนไขต่างๆ ในการปล่อยตัว 

ยกตัวอย่างข้อสามที่กล่าวไว้ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ฐิตินันท์ให้ความเห็นว่าเป็นข้อที่ต้องนิยามให้ชัดว่า คำว่า ‘อันตรายประการอื่น’ คืออะไร แต่หากมองเปรียบเทียบกับนานาชาติที่เป็นแม่แบบในการใช้กฎหมายอย่างเช่น อังกฤษ และออสเตรเลีย คำว่า ‘อันตรายประการอื่น’ นั้นต้องเป็นอันตรายต่อเนื้อตัวร่างกาย อันได้แก่ อันตรายต่อเนื้อตัวร่างกายหรือเรื่องเพศเท่านั้น ไม่ใช่อันตรายต่อเนื้อตัวจิตใจ การตะโกนด่า หรือการร่วมชุมนุมนั้นไม่ใช่อันตรายประการอื่น

นอกจากนี้ นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า การที่ศาลกล่าวว่าจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นนั้น ต้องระบุให้ชัดเจนว่าคืออะไร เพราะจำเลยหรือผู้ต้องหาก็ไม่อาจทราบว่าเหตุนั้นคือสิ่งใด

สิทธิ์ในการต่อสู้คดีถูกลดทอน

การไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวของจำเลย 112 หมายความว่า สิทธิ์ในการต่อสู้คดีถูกลดทอนลงไป เนื่องจากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีแม้แต่โอกาสในการสู้คดีนอกห้องขัง

ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าการไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว หมายความว่าสิทธิในการต่อสู้คดีถูกลดทอน สำหรับคนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวตอนนี้เท่ากับว่าสิทธิในการต่อสู้คดีถูกลดทอนลงไปมาก บุคคลที่ถูกฝากขัง ณ ปัจจุบัน ทนายไม่สามารถส่งเอกสารบางส่วนไม่สามารถส่งไปได้ คลิปวิดีโอหรือรูปภาพต่างๆ ทนายไม่สามารถส่งไปให้ได้

นอกจากนี้ นรเศรษฐ์กล่าวต่อว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นไม่ต่างจากกระบวนการการมัดมือชก ผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกไม่สามารถทำการค้นคว้าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ไม่มีหนังสือที่จะอ่านค้นคว้าเพื่อมาอธิบายต่อศาล นั่นหมายความว่าบุคคลที่ถูกฝากขังไม่มีเวลาเตรียมตัวในการต่อสู้คดี แต่ฝั่งของรัฐบาลนั้นมีข้อมูลมากมาย ดังนั้นการจำกัดของกระบวนการที่เป็นอยู่ตอนนี้ตนมองว่า จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีเป็นอย่างมาก 

ทางออกการต่อสู้คดี คือการปล่อยตัว

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการต่อสู้คดี 112 นั้น พอจำเลยอยู่ในคุกสิทธิในการต่อสู้คดีนั้นไม่เต็มร้อย ซึ่งหลักการคือต้องปล่อยตัวเป็นหลัก ไม่ปล่อยเป็นข้อยกเว้น เพราะต้องให้โอกาสจำเลยในการต่อสู้คดี

“ทุกวันนี้พอเป็น 112 เหมือนเราไม่ใช้หลักกฎหมายเดียวกันกับคนอื่นแล้ว แค่นี้ก็ปัญหาแล้ว ศาลท่านไม่ได้ใช้ด้วยกรอบในหลักปฏิบัติที่มันเป็นมาตรฐานเดียวกันกับคดีอื่นๆ ปัญหามันก็ตามมาอยู่แล้ว ผู้ต้องหาในคดี 112 ควรจะได้รับสิทธิแบบเดียวกันด้วย” ฐิตินันท์ กล่าว พร้อมเสริมว่าจำเลย 112 ควรจะมีโอกาสในการแแสดงหลักฐานในการต่อสู้คดีเท่ากับกรณีอื่นๆ สิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลย 112 มีอยู่ แต่ตอนนี้ถูกกีดกันโดยกระบวนการเหล่านี้ 

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จากคณะนิติศาสตร์ มธ. ระบุว่า การที่จะนำผู้ต้องหาหรือจำเลยไปขังไว้ในราชทัณฑ์ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 รวมถึงการไปขังรวมกับนักโทษซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรค 2 ด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องปล่อยตัว

‘ยืนหยุดขัง’ เสียงประชาชนต่อการคุมขังจำเลย 112

อีกด้านหนึ่ง กิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ ที่บริเวณหน้าศาลฎีกา หรือลานอากง เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ซึ่งจัดต่อเนื่องนับเป็นเวลา 71 วันแล้วที่มีการจัดกิจกรรม โดยเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา มีผู้มาร่วมกิจกรรมประมาณ 30 คน ซึ่งใช้เวลายืนทำกิจกรรมเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ (ภาพโดย แม้วส้ม)

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ แกนนำกลุ่ม กล่าวว่า การทำกิจกรรมยืนหยุดขัง เป็นการเปิดโอกาสให้ศาลได้ทบทวนตัวเองว่าสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ถูกต้องตามหลักการของกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

“การที่เรายืนจำนวนวันมากขึ้นเรื่อยๆ มันสะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมไทยมันไม่ได้เคารพหลักการถึงสิทธิการประกันตัวของคนที่ถูกกล่าวหา พอระบบกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นระบบกล่าวหา คุณแค่ถูกกล่าวหา ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว คนมันก็จะล้นจากเรือนจำ การถูกริดรอนสิทธิต่างๆ การที่จะปรึกษาทนายเพื่อต่อสู้คดีมันก็ไม่มี โอกาสที่จะต่อสู้คดีอย่างโปร่งใสเป็นธรรมมันก็หายตามไปด้วย เพราะฉะนั้นการที่ศาลทำแบบนี้มันก็เท่ากับศาลเป็นคนบ่อนเซาะกระบวนการยุติธรรมเสียเอง” พันศักดิ์กล่าว

ชัย ธงชัย หนึ่งในผู้มาร่วมกิจกรรมกล่าวว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีความเป็นประชาธิปไตย มันไม่ถูก เด็กมันไม่มีความผิด เขาก็อยากเรียกร้องสิทธิของเขา ไม่สมควรที่จะมีโทษมีอะไร มันเด็ก มีสิทธิมีเสียงเหมือนกัน สิ่งไหนถูกก็ถูก สิ่งไหนผิดก็ผิด ทุกวันนี้โลกมันไปไกลแล้ว มันเปลี่ยนแปลงไปหมด เด็กทุกวันนี้เขาเก่ง เขามองทางไกล ผู้ใหญ่เราต้องเปิดโอกาสให้เค้า

นอกจากนี้ยังกล่าวเสริมว่า กระบวนการต่อสู้ในครั้งนี้จะออกไปทางไหนผมก็มองไม่ออก เราก็ต้องสู้กันไปอย่างนี้ ประชาธิปไตยไม่ใช่จะได้มาง่ายๆ คนเขาต้องช่วยกันเยอะๆ เพราะว่าทางเขาก็ไม่ยอมเรา เราก็ไม่ยอมเขา มันก็ยืนสู้กันไปอย่างนี้ 

“ภายข้างหน้าใครจะชนะ ผมก็ทายไม่ถูก ผมต้องเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะอยู่ทุกวันนี้มันไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยมันต้องรับฟังสองทาง หันหน้าคุยกัน ถอยคนละก้าว อันไหนผิดอันไหนถูกว่ากัน ให้โอกาสเด็ก” ชัยกล่าว

ขณะที่ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ศาสตราจารย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน กล่าวว่า ในฐานะของคนที่เขียนถึงประวัติศาสตร์ของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐไทยมากว่า 20 ปี รู้สึกว่าการมาร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะเป็นพยานของความอยุติธรรม 

“รู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่มีพลังมาก นานเท่าไหร่ที่รัฐจะขังคนโดยหลักการที่ไม่ค่อยยุติธรรม คนที่กล้าที่จะตั้งคำถามก็คือเสียอิสรภาพ แล้วก็เดาว่ารัฐใช้วิธีแบบนี้เพื่อขู่ให้คนอื่นไม่พูด เพราะจะเห็นว่า ถ้าเรากล้าที่จะตั้งคำถาม ก็คงต้องเสียอิสรภาพ สุดท้ายก็ใช้วิธีแบบนี้หลายต่อหลายครั้ง สิ่งที่เป็นพื้นฐานคือต้องไม่มีคำถามสักคำใดๆ เลยที่ห้ามถาม ควรจะได้ถกเถียงกัน มันควรจะเป็นอย่างนั้น” ไทเรลกล่าว

สำหรับ ทอฝัน ช่วยชู รายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาจากสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท