Skip to main content
sharethis

จากผลสำรวจโพลระบุว่า ผู้คนส่วนมากไม่ชอบชื่อใหม่ "เมตา" ของเฟซบุ๊ก และถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะยังคงชอบเฟซบุ๊กอยู่ แต่ก็ไม่ชอบซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และมีเกินครึ่งหนึ่งมองว่าที่ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊กเป็นเพราะเขาต้องการหลบเลี่ยงจากข่าวแย่ๆ และต้องการเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นกับเฟซบุ๊ก เช่นเรื่องที่พวกเขาไม่ยอมแก้ปัญหาเรื่องเฮทสปีช และดำเนินการแบบลำเอียงเข้าข้างฝ่ายขวา

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง 'เฟซบุ๊ก'

จากการสำรวจโพลระหว่างวันที่ 29 ต.ค. ถึง 1 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าในกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ 2,200 ราย มีร้อยละ 55 ที่ยังคงมองเฟซบุ๊ก "ในแง่บวกอย่างมาก" หรือ "ในแง่บวกอยู่บ้าง" ขณะที่ร้อยละ 39 มองเฟซบุ๊กในแง่ลบ แต่กลุ่มตัวอย่างส่วนมากคือร้อยละ 54 มองมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊กในแง่ลบ ขณะที่มีเพียงร้อยละ 22 เท่านั้นที่ยังคงมองซักเคอร์เบิร์กในแง่บวก โดยที่คะแนนเรตติงความชื่นชอบซักเคอร์เบิร์กโดยรวมแล้วอยู่ที่ติดลบ 32

ทั้งนี้ ยังมีกรณีที่ซักเคอร์เบิร์กเพิ่งจะประกาศไม่นานนี้ว่าจะเปลี่ยนชื่อ "เฟซบุ๊ก" เป็น "เมตา" (Meta) ที่ถึงแม้ซักเคอร์เบิร์กจะอ้างว่าเพื่อเป็นการ "สะท้อนถึงอนาคตที่พวกเขาอยากจะสร้างขึ้น" โดยจะสื่อถึง "เมตาเวิร์ส" (Metaverse) ซึ่งเปรียบเป็นจักรวาลเสมือนที่อยู่นอกเหนือไปจากโลกจริง แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้คนจำนวนมากที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงชื่อนี้ และมากกว่าครึ่งหนึ่งก็มองว่าซักเคอร์เบิร์กแค่เปลี่ยนชื่อ เพราะต้องการหลบเลี่ยงข่าวเสื่อมเสีย และเรื่องอื้อฉาวต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับเฟซบุ๊กตอนนี้มากกว่า

จากผลสำรวจระบุว่ามีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25 เท่านั้นที่มองชื่อ "เมตา" ในทางบวก ขณะที่ร้อยละ 40 ไม่ชอบชื่อนี้ อย่างไรก็ตาม มีร้อยละ 32 ที่ระบุว่าชอบโลโก้ใหม่ของบริษัท และร้อยละ 30 ที่บอกว่าไม่ชอบ ทั้งนี้ กับคำถามที่ว่าผู้คนสนใจในโครงการโลกเสมือนของเมตาเวิร์สหรือไม่นั้นมีเพียงร้อยละ 32 เท่านั้นที่ระบุว่าสนใจอีกร้อยละ 68 ระบุว่าพวกเขาไม่สนใจ

มีการตั้งข้อสังเกตจากผลสำรวจโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างว่า กลุ่มคนที่มีแนวโน้มสนใจโลกเสมือนเมตาเวิร์สมากที่สุดนั้น คือ กลุ่มมิลเลนเนียล หรือคนที่เกิดตั้งแต่ระหว่าง พ.ศ. 2523-2539 อยู่ที่ร้อยละ 46 รองลงมา คือ คนรุ่นเจน Z (เกิดระหว่างปี พ.ศ.2540-2555) อยู่ที่ร้อยละ 42 นอกจากนี้ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเมืองกับกลุ่มประชากรชายยังมีแนวโน้มจะสนใจเรื่องนี้มากกว่าด้วย

อย่างไรก็ตามมีออยู่ร้อยละ 51 ระบุว่าการที่ซัคเคอร์เบิร์กประกาศเปลี่ยนชื่อเฟสบุคเป็นเมตานั้นเพราะเขาต้องการหลบเลี่ยงจากข่าวแย่ๆ เกี่ยวกับเฟสบุคในช่วงนี้ ขณะที่ร้อยละ 50 มองว่าเป็นเพราะต้องการเบี่ยงเบนความสนใจออกมาจากเรื่องอื้อฉาวที่เกิดกับเฟสบุคในตอนนี้

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาที่วุ่นวายสำหรับเฟซบุ๊กจากกการที่มีกรณีที่สื่อหลายแห่งนำเสนอรายงานที่มีคนเคยทำงานภายในเฟสบุคนำมาเปิดโปงว่า ทางบริษัทพยายามแสวงหาผลกำไรโดยไม่สนใจความเสียหายที่จะเกิดกับผู้คน เอกสารที่นำมาแฉระบุถึงการที่เฟซบุ๊กละเลยการวิจัยจากภายในที่แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาส่งผลเสียหายต่อผู้คนอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเลือกปฏิบัติโดยมีการ "ปฏิบัติแบบให้อภิสิทธิ์" แก่กลุ่มคนดังฝ่ายขวาและสื่อของฝ่ายขวา รวมถึงไม่ใช้ทรัพยากรมากพอในการจัดการแก้ไขปัญหาเฮทสปีชและปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นมาในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ

ฟรานเซส เฮาเกน อดีตพนักงานเฟซบุ๊กผู้ที่เปิดโปงในเรื่องนี้ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ และให้การต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา เธอได้เรียกร้องให้ซักเคอร์เบิร์กลาออกจากเฟซบุ๊กจากปัญหาเหล่านี้

 

เรียบเรียงจาก

Most Americans Still Like Facebook, Poll Finds—But Not Mark Zuckerberg Or Its New Meta Name, Forbe, 02-11-2021
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตพนักงานแฉ เฟซบุ๊กมุ่งหากำไร ไม่สนใจจัดการ hate speech-ความรุนแรง-ข้อมูลเท็จ

ทนายแกมเบียขอเฟสบุ๊คเลิกอ้าง กม. เพื่อปกปิดข้อมูลฆ่าล้างโรฮิงญาในพม่า
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net