ศาลอาญามีนบุรีไม่ให้ประกัน ปชช.วัย 51 ปี ข้อหา ม.112 โพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความ

  • ศาลอาญามีนบุรี ยกคำร้องขอประกันตัว 'วุฒิ' ประชา่ชนอายุ 51 ปี คดี ม.112 โพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความ ชี้คดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวเกรงจะหลบหนี ทำให้ตอนนี้มีผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมือง และคดียังไม่สิ้นสุด จำนวน 8 ราย
  • ด้านอัยการสั่งฟ้อง 'เวหา' คดี ม.112 คดีที่ 3 เหตุโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับคำพิพากษา 'นรินทร์' ผู้ติดสติกเกอร์ 'กูkult' ที่ฐานพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 ก่อนได้ประกันตัว

 

27 มี.ค. 2566 เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (27 มี.ค.) ศาลอาญามีนบุรีไม่อนุญาตให้ประกันตัว “วุฒิ” (นามสมมติ) ประชาชนวัย 51 ปี ภายหลังถูกอัยการมีนบุรีสั่งฟ้องในคดีมาตรา 112 และ ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความ ในช่วงปี 2564

คดีนี้ วุฒิได้รับหมายเรียกจาก สน.นิมิตรใหม่ ลงวันที่ 25 พ.ย. 2564 มีสุรวัชร สังขฤกษ์ เป็นผู้กล่าวหา และเขาได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 โดยในตอนแรกตำรวจมีการแจ้งข้อกล่าวหาจากโพสต์จำนวน 10 ข้อความ โดยเขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

หลังจากตำรวจส่งสำนวนให้กับอัยการเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2565 ตำรวจยังได้ติดต่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 โดยมีการแจ้งพฤติการณ์เพิ่มจากการโพสต์ข้อความอีก 2 ข้อความ ก่อนอัยการจะนัดหมายสั่งฟ้องคดีในวันนี้ 

รุ่งโรจน์ แดงสวัสดิ์ พนักงานอัยการ ฝ่ายคดีอาญามีนบุรี 2 เป็นอัยการผู้เรียงฟ้อง บรรยายพฤติการณ์ ข้อกล่าวหาระบุว่า ระหว่างวันที่ 21 มี.ค. 2564 ถึง 15 พ.ย. 2564 จำเลยได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กหลายกรรมต่างกัน รวมจำนวน 12 ข้อความ ที่มีเนื้อหาดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ไปในทางที่ชี้นำประชาชนที่เข้ามาคอมเมนต์ให้เข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นบุคคลไม่ดี ลดคุณค่าความน่าเชื่อถือและความนับถือลง และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร พร้อมมีการโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี

อัยการยังไม่ได้คัดค้านการประกันตัวจำเลย โดยขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

ภายหลังถูกสั่งฟ้อง วุฒิได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท

ต่อมา เวลา 16.55 น. ศาลอาญามีนบุรี มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำที่ถูกฟ้องเป็นการกระทำหลายครั้งต่อเนื่องกัน โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย คดีมีอัตราโทษสูง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง  ลงนามผู้พิพากษาโดย สุรพันธ์ เจริญกิตติ

ผลของคำสั่งดังกล่าว ทำให้วุฒิถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี

วุฒิ เคยให้ข้อมูลว่า เขาเป็นคนจังหวัดเพชรบูรณ์ แต่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เคยทำงานเป็นช่างเชื่อมในโรงงาน แต่ตอนหลังได้มารับงานเป็นช่างเชื่อมอิสระ ก่อนหน้านี้ได้ติดตามการเมืองมาตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และเคยไปร่วมการชุมนุมทั้งการคัดค้านรัฐประหารและการชุมนุมกับคนเสื้อแดงมาก่อน แต่ไปในฐานะผู้ชุมนุม ไม่เคยถูกดำเนินคดีใดมาก่อน จนกระทั่งมาถูกดำเนินคดีจากการโพสต์เรื่องการเมืองในเฟซบุ๊กนี้ และเขาไม่เคยรู้จักผู้กล่าวหามาก่อน

ทั้งนี้ สุรวัชร ผู้กล่าวหาในคดีนี้ มีรายงานข่าวว่าเคยเคลื่อนไหวในนามกลุ่มการเมืองภาคประชาชน มีข้อมูลว่าเป็นผู้แจ้งความกล่าวหาคดีมาตรา 112 ไว้ที่ สน.นิมิตรใหม่ อย่างน้อย 2 คดี รวมทั้งคดีของวุฒิคดีนี้ด้วย 

ปัจจุบัน มีผู้ถูกคุมขังทางการเมือง และคดียังไม่สิ้นสุด จำนวน 8 คน ประกอบด้วย คทาธร ทัตพงศ์ อานนท์ ถิรนัย ชัยพร ‘หิน’ ชนะดล และวุฒิ

'เวหา' ถูกสั่งฟ้อง ม.112 คดีที่ 3 ก่อนศาลให้ประกัน

ในวันเดียวกันนี้ เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความฯ รายงานด้วยว่า เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3) มีคำสั่งฟ้องคดีของ 'เวหา แสนชนชนะศึก' ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ภาพประกอบข้อความวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคำพิพากษาสั่งจำคุก "นรินทร์" คดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์คำว่า "กูkult" ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565

เวหา แสนชนชนะศึก (ที่มา แมวส้ม)

สำหรับคดีนี้มี กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล สมาชิกของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา เวหาเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ไปเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 และเหตุที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ยังเป็นเหตุเดียวกันกับที่ทำให้เขาถูกศาลอาญาสั่งถอนประกันในคดี "คุกวังทวีวัฒนา"

ต่อมา ทนายความได้ยื่นประกันตัวเวหา และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด จำนวน 90,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้กระทำการใดอันมีลักษณะตามที่ถูกฟ้องอีก และกำหนดนัดวันตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 29 พ.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

เปิดคำฟ้องคดี อัยการระบุจำเลยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์-ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา

ในคำฟ้องพนักงานอัยการได้กล่าวเกริ่นว่า ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" และมาตรา 6 บัญญัติว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้"

คำฟ้องบรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 เวลากลางวัน จำเลยได้หมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊ก โพสต์ข้อความว่า "เนื่องจากคำพิพากษาของศาลอาญา วันนี้ (4 มี.ค 2565) พิพากษาจำคุก "นรินทร์" เพื่อนของเราจากกรณีถูก "กล่าวหา" ว่าเป็นผู้ติดสติ๊กเกอร์คำว่า "กูKult" ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยศาลให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่แสดงความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นที่เคารพเทิดทูน ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ"

"ดังนั้น เพื่อเป็นการมิให้เกิดความเสื่อมเสียพระเกียรติยศของในหลวงรัชกาลที่ 10 ในฐานะประมุขของชาติ ผู้ยิ่งใหญ่ดุจดั่งสมมติเทพที่อวตารลงมาจากสรวงสวรรค์ ข้าพเจ้าและเหล่าสหายร่วมอุดมการณ์ขอน้อมรับคำพิพากษาของศาล และจะปกป้องมิให้ใครผู้ใดมากระทำการอันมิบังควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 อีก ด้วยการจะทำให้รูปของในหลวงที่อยู่ตามสถานที่สาธารณะ มิให้ปรากฏอีกต่อไป ไม่ว่าจะที่ใดในประเทศนี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครสามารถเอาสติ๊กเกอร์ไปแปะให้วชิราลงกรณ์ต้องเสื่อมพระเกียรติยศอีก"

ประกอบภาพผู้ชายสวมเสื้อแขนยาวสีแดง กางเกงขายาวสีดำ ยืนบนแท่นเฉลิมพระเกียรติทรงพระเจริญ พร้อมกับมีกรอบรูปเฉลิมพระเกียรติอยู่ด้านหลัง ที่ไม่ปรากฏรูปภาพ อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี พนักงานอัยการได้ระบุว่า หากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล และขอให้ศาลนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อกับโทษจำคุกของจำเลยในคดีตามมาตรา 112 อีก 2 คดีด้วย

ทั้งนี้ คดีนี้เป็นคดีตามมาตรา 112 คดีที่ 3 ของเวหา โดยคดีแรก คือ คดีที่เวหาถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ "ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด" ทวิตข้อความเล่าเรื่องประสบการณ์ใน "คุกวังทวีวัฒนา" ซึ่งในนัดสืบพยานครั้งแรก เวหา ได้ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาและศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 พ.ค. 2566

ขณะที่คดีที่สอง คือ คดีจากกรณีแชร์โพสต์เพจเฟซบุ๊ก "เยาวชนปลดแอก" มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาล และโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ศาลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งมีกำหนดนัดสืบพยานในวันที่ 18-19 ก.ค. 2566

สามารถติดตามประชาไทได้ทุกช่องทาง https://linktr.ee/prachatai

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท