ภาคประชาชนชวนจับตาแนวทางการตัดสินอนุญาโตตุลาการ ม.44 กลายร่าง เปิดเหมืองทองคิงส์เกต

ภาคประชาชนและพรรคการเมืองร่วมวงเสวนา “จับตา ม.44 รอบสอง เปิดเหมืองทองคิงส์เกต?” ประเมินสถานการณ์และแนวทางคำพิพากษาของอนุญาโตตุลาการ พร้อมชี้แนะช่องทางการต่อสู้ให้รัฐบาลไทย ต้องเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ด้านรองประธาน FTA Watch ชี้ การใช้ ม.44 ปิดเหมืองและกระบวนการกดดันทางอ้อมให้เปิดเหมืองเปรียบเสมือน 'ทฤษฎีสมคบคิดเอื้อนายทุนต่างชาติ'

8 พ.ย. 2564 วันนี้ (8 พ.ย. 2564) เวลา 10.00-12.00 น. ภาคประชาชนร่วมกับพรรคการเมือง ร่วมกับสำนักข่าว The Reporters จัดเสวนาเวทีสาธารณะออนไลน์ “จับตา ม.44 รอบสอง เปิดเหมืองทองคิงส์เกต?” โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่, FTA Watch, พรรคสามัญชน และพรรคประชาชาติมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ หลังจากที่อนุญาโตตุลาการเลื่อนการอ่านคำชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดท จํากัด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด กับราชอาณาจักรไทย จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 72/2559 ระงับการทำเหมืองทองคำและการประกอบโลหกรรมแร่ทองคำหรือเหมืองทองพิจิตร ออกไปเป็นวันที่ 31 ม.ค. 2565 จากนัดเดิมคือวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน ผู้ร่วมเสวนาคนแรกกล่าวว่าการให้ข่าวความคืบหน้ากรณีเหมืองทองอัครานั้นออกมาจากฝ่ายบริษัทคิงส์เกตเพียงอย่างเดียว ซึ่งเลิศศักดิ์มองว่าการให้ข่าวของบริษัทคิงส์นั้นเป็นกลยุทธ์เชิงจิตวิทยาที่อาจส่งผลต่อการพิจารณาคดีของอนุญาโตตุลาการและอาจถูกนำมาหักล้างกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในพื้นที่ เพราะอนุญาโตตุลาการอาจให้น้ำหนักไปที่เรื่องผลกระทบจากการถูกละเมิดภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) เช่น ข่าวการรับเงินค่าประกันความเสี่ยงด้านการเมืองจำนวน 82 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียจากบริษัท ซูริก ออสเตรเลีย อินชัวรันซ์ ลิมิเต็ด (Zur-ich Australia Insurance Limited) ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติที่บริษัทคิงส์เกตจะได้รับในฐานะผู้ถือกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงด้านการลงทุนระหว่างประเทศ อีกทั้ง เลิศศักดิ์ยังมองว่าการคัดเลือกอนุญาโตตุลาการของรัฐบาลไทยทำให้ไทยเสียเปรียบในการพิจารณาคดี

นอกจากนี้ เลิศศักดิ์ยังกัวลว่าการให้ข่าวของบริษัทคิงส์เกตที่เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 ที่ระบุในทำนองว่า “รัฐบาลไทยจะทำตามข้อเรียกร้องของคิงส์เกตทั้งหมด 7 ข้อเรียกร้อง” นั้นอาจจะเป็นความพยายามบีบบังคับให้รัฐบาลไทยใช้กฎหมายพิเศษเปิดเหมืองทองและดำเนินการอื่นๆ ตามข้อเรียกร้องให้บริษัทอีกครั้ง ทั้งๆ ที่บริษัทยื่นฟ้องรัฐบาลไทยว่าไม่ใช้กฎหมายปกติในการดำเนินการ เลิศศักดิ์มองว่าหากเป็นเช่นนี้ก็เปรียบเสมือนการใช้ ‘กฎหมายพิเศษ’ เร่งรัดขั้นตอนในการเปิดเหมืองทอง ไม่ต่างอะไรกับตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ใน ม.44 บังคับปิดเหมืองทอง ในทางกลับกัน เลิศศักดิ์ระบุว่าหากบริษัทคิงส์เกตต้องการเปิดทำการเหมืองแร่ใหม่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 แต่ส่วนตัวมองว่าเปิดไม่ได้ เพราะพื้นที่ของเหมืองทับซ้อนกับถนนสาธารณะหรือที่ป่าสงวน หากจะเปิดจริงๆ ต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน และเมื่อเปิดแล้ว ต้องถามว่าประเทศไทยมีระบบตรวจสอบอะไรมาปกป้องชีวิตประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ดังกล่าวอีก

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า TAFTA เป็นข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกๆ ที่ไทยทำและเปิดช่องให้เอกชนฟ้องรัฐได้ แต่ข้อตกลงตัวนี้เปิดในเฉพาะผู้ลงทุนโดยตรงเท่านั้นเป็นผู้ฟ้อง และฟ้องได้ที่อนุญาโตตุลาการของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ หรืออันซิทรอล (UNCITRAL) ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วสามารถนำคำตัดสินนั้นกลับมาทบทวน และเจรจาต่อรองนอกรอบได้ ซึ่งต่างจากการในกระบวนการอนุญาโตตุลาการของธนาคารโลก (World Bank) ที่จะคำตัดสินมีผลชี้ขาดและต้องปฏิบัติตามทันที ตนจึงอยากให้รัฐบาลสู้เต็มที่ในการต่อสู้คดีเหมืองทองอัครา เพราะมีช่องทางที่ทำให้ประเทศไทยเสียหายน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน กรรณิการ์ก็ตั้งข้อสังเกตว่ากรณีเหมืองทองอัครามีลักษณะคล้ายทฤษฎีสมคบคิด เพราะเหตุเริ่มต้นจากการใช้ ม.44 ในการปิดเหมืองทั้งๆ ที่ใช้กฎหมายปกติได้ และไทยมีโอกาสชนะมากกว่า ส่วนความพยายามเปิดเหมืองเพื่อชดเชยความผิดพลาดนั้น กรรณิการ์มองว่ามีลักษณะคล้ายการข่มขู่ให้รัฐบาลไทยต้องยอมทำตาม พร้อมกันนี้ กรรณิการ์ยังให้ข้อเสนอแนะทิ้งท้ายว่าไทยควรทบทวนกฎหมายการลงทุนระหว่างอย่างจริงจังว่ากฎหมายบ้านเราอ่อนแอหรือไม่ เหตุใดจึงต้องไปใช้ข้อตกลงการค้าที่เราเสียเปรียบ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

"คุณใช้กฎหมายปกติได้แต่คุณไม่ทำ แต่คุณไปให้ข้อมูลหัวหน้า คสช. เพื่อให้ใช้ ม.44 เพราะคุณรู้ว่าจะปิดไม่ได้อย่างนั้นหรือเปล่า และจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนฟ้องร้องในที่สุด และต่อมาคุณก็ไม่สู้เพราะคุณกลัวแพ้ คุณก็เลยต่อรองให้เค้าเปิดเหมืองได้ เปิดเหมืองต่อไปได้ในที่เดิมหรือถวายที่ใหม่ๆให้กับเขา โดยไม่สนใจว่ามันต้องมาจากเลือดเนื้อของชุมชนนี่คือบทสรุปของการลงทุนใน FTA ต่างๆ และจะรุนแรงยิ่งขึ้นใน CPTPP ที่ให้การคุ้มครองการลงทุนแม้ไม่ใช่การลงทุนโดยตรงก็ตาม แค่ลงทุนใน portfolio ก็ได้รับการคุ้มครอง" กรรณิการ์กล่าว

ผศ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งคำถามถึงการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ล่าช้าในคดีบ่อกักเก็บกากแร่ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2554 รวมถึงบางคดีที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเจ้าของเหมืองซึ่งอยู่ในมือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เช่น กลต. ออสเตรเลียพบว่า มีการโอนเงินจากบริษัทในออสเตรเลีย ซึ่งได้สัมปทานทำเมืองทองคำใน จ.พิจิตร มายังประเทศไทย โดย ป.ป.ช.ได้รับเรื่องในปี 2558 และตั้งอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้และพบว่ามีนักการเมืองและข้าราชการของไทยถึง 13 คนเข้ามาเกี่ยวข้อง ในจำนวนนี้มีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและอดีตหัวหน้าพรรคการเมืองไทยพรรคหนึ่ง และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ต่อมาได้ทำเรื่องขอเส้นทางการเงินจากทางฮ่องกง จนปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ ป.ป.ช. ไม่สามารถตามต่อได้ว่ามีเงินเข้าบัญชีใครบ้าง

ทั้งยังระบุว่ารัฐบาลไม่มีการดูแลเยียวยาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่หลังรัฐบาล คสช. ใช้ ม.44 สั่งปิดเหมือง ซึ่งตนไม่ได้พูดถึงเรื่องความชอบธรรมในการใช้กฎหมายนี้ แม้ว่าจะมีข้อดีคือทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นจริงๆ แต่เมื่อสั่งปิดเหมืองไปแล้วก็ต้องดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย ไชยณรงค์ระบุว่าคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเป็นคนละเรื่องกับคดีของบริษัทเจ้าของเหมืองที่อยู่ในศาลไทย ดังนั้นจึงไม่ควรให้ทั้ง 2 ประเด็นนี้มาปะปนกัน

ไชยณรงค์กล่าวว่าการทำเหมืองระบบสัมปทานเป็นกฎหมายและระบบที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ซึ่งรัฐได้ประโยชน์จากส่วนนี้น้อยมาก ในขณะที่ประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์เลย จึงเสนอว่าควรแก้กฎหมายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ทุกคนในประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน และควรแก้กฎหมายให้มีการคุ้มครองประชาชนในพื้นที่ พร้อมฝากถึงนักการเมืองว่าอัดแต่ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเดียวไม่พอ ต้องมองประโยชน์ของประชาชน ต้องพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชน เอาเรื่องชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อมของชาติมาเป็นตัวตั้ง 

“ค่าโง่กว่า 2  หมื่นล้านก็จ่ายไป แล้วรัฐก็มาฟ้องเอาคืนจากเอกชนมากกว่าค่าโง่ที่เราต้องเสียไป ทั้งความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมสุขภาพของประชาชนที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากต่างๆ คดีที่พูดไปทั้งหมด รัฐบาลสามารถจัดการทุนข้ามชาติได้เลย ไม่ต้องมานั่งรอให้เขาฟ้อง ในประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆเขาไม่ปล่อยให้เอกชนทำร้ายประชาชนแบบนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ได้ช่วยปกป้องผลประโยชน์ให้กับประชาชนเลย รัฐให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต่อสู้กับเอกชนเองตามยถากรรม อีกทั้งในระยะหลังยังมีกระแสข่าวการซูเอี๋ยกัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แต่ท่าทีของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ดูเหมือนว่าจะให้กลับมาเปิดใหม่ ซึ่งหากมีการเปิดใหม่อีกครั้ง จะเป็นการทำร้ายประชาชนอย่างร้ายแรง” ไชยณรงค์กล่าว

ไชยณรงค์ ระบุว่า หากมีการเปิดเหมืองอีกครั้ง ที่ต้องแบกรับคือคนที่อยู่ตรงนั้น และสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหายเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในเชิงคุณภาพ เพราะชาวบ้านรอบเมืองได้รับสารพิษโลหะหนักเข้าไปในร่างกายคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เราต้องจ่ายให้กับเรื่องนี้ ไม่สามารถคำนวณความเสียหายได้  นอกจากนี้เห็นว่านักการเมืองควรที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน แต่วันนี้พรรคการเมืองพูดเฉพาะประเด็น ม.44  แต่ไม่มีการพูดถึงมิติความเสียหายที่ประชาชนแต่อย่างใด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ส.รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ตามหลักการประกอบธุรกิจหลักสิทธิมนุษยชน หากเกิดผลกระทบหรือความเสียหายต่อประชาชนในพื้นที่ บริษัทที่เข้ามาลงทุนต้องรับผิดชอบ คิงส์เกตเป็นบริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ซึ่งประเทศออสเตรเลียนั้นชูเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ดังนั้นจึงควรตั้งคำถามเรื่องนี้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ส.รัตนมณียังเห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้ร่วมเสวนาคนอื่นๆ ว่าการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการควรใช้เหตุผลเรื่องการปกป้องสิทธิของประชาชน ซึ่งมีตัวอย่างจากกรณีอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหายน้อยกว่า และเรียนกร้องให้รัฐบาลไทยต้องเปิดเผยผลการพิจารณาคดี รวมถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีให้ประชาชนรับรู้อย่างโปร่งใส สุดท้าย ส.รัตนมณีกล่าวว่าผู้สั่งการปิดเหมืองทองอัคราต้องรับผิดชอบในนามส่วนตัวด้วย เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน มิเช่นนั้นแล้วจะไม่มีการรับผิดชอบ หากอ้างว่ากระทำไปในนามรัฐบาล

ขณะที่ สุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่าตนเห็นด้วยกับแนวทางการต่อสู้โต้แย้งด้วยเหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ท่าที่ของรัฐไทยตอนนี้คือไม่สู้สักทาง ขณะเดียวกัน คนไทยต้องตั้งคำถามด้วยว่าการใช้ ม.44 โดยเฉพาะในกรณีนี้ ส่งผลอย่างไรต่อคนไทย ดีหรือไม่กับคนไทย และเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยกระบวนการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการกับรัฐสภา หรือไม่ก็เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องตั้งกระทู้ถามไปยังรัฐบาล และบริษัทเจ้าของเหมืองต้องกลับมาเคลียร์คดีที่ค้างอยู่ในศาลไทยก่อนเปิดทำการเหมืองด้วยเช่นกัน

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ผู้เสวนาคนสุดท้าย กล่าวว่ารัฐบาลกลัวเสียหน้า ไม่อยากได้ยินคำว่า “แพ้” จึงนำทรัพยากรประเทศไปแลกกับผลประโยชน์ที่เกิดจากความผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยออกมาเปิดเผยข้อมูลการพิจารณาคดีให้ประชาชนรับรู้ เพราะตอนนี้คนไทยทราบข่าวจากฝั่งคิงส์เกตอย่างเดียว ในขณะที่รัฐบาลไทยมีแต่ออกมาข่มขู่ประชาชน

พ.ต.อ.ทวี ตั้งข้อสังเกตเรื่องการถือหุ้นของบริษัทเจ้าของเหมืองว่าตอนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยระบุว่าคนไทยถือหุ้น 51% ต่างชาติ 49% แต่ตอนยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการกลับยื่นฟ้องในนามบริษัทสัญญาติออสเตรเลีย 100% หากเป็นเช่นนี้จะเข้าข่ายการใช้นอมินี (nominee) ซึ่งผิดกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ไทยหรือไม่ นอกจากนี้ พ.ต.อ.ทวี บอกว่าตนเข้าใจปัญหาและความต้องการของประชาชน แต่ในขณะนี้ สภาไม่ใช่สภาของผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง การยกมือลงมตินั้นเป็นไปตามเสียงส่วนมากซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อประดยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ในฐานะที่ตนเป็นผู้ประสานงานฝ่ายค้านนอกสภาจะนำข้อเสนอที่ได้จากการแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนานี้ไปดำเนินการควบคู่กันไป ทั้งยังกล่าวว่าตนเห็นด้วยกับข้อเสนอเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพยากร ไม่ควรให้เป็นอำนาจของรัฐ แต่ควรเป็นอำนาจของทิ้งถิ่นที่กระจายสู่ประชาชนทุกคน พร้อมฝากถึงรัฐบาลว่าอย่าเอาคำว่า “ประโยชน์ของรัฐ” มาอ้างหากแพ้คดีในครั้งนี้

ช่วงท้ายของการเสวนา มีการอ่านแถลงการณ์เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ โดยมีจุฑามาศ ศรีหัตถผดุงกิจ ตัวแทนเครือข่ายเป็นผู้อ่าน

แถลงการณ์
จับตา ม. 44 รอบสอง เปิดเหมืองทองคิงส์เกต

ความบกพร่องประการแรกของการประกอบกิจการเหมืองทองคิงส์เกตในนามบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการประกอบกิจการเหมืองทองดังกล่าวที่รอยต่อสามจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลกถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด เพราะไม่มีมาตรการทางสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนที่บังคับใช้เป็นการเฉพาะในการกำกับควบคุมการทำเหมืองทองตลอดห่วงโซ่อุปทาน  มีแต่เฉพาะ ‘การปรึกษาหารือในระดับแจ้งเพื่อทราบ’ เพื่อดำเนินการตามคำขอประทานบัตร และ ‘การปรึกษาหารือให้แสดงความคิดเห็นพอเป็นพิธีกรรม’ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสองเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมในช่วงก่อนการอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่เท่านั้น และไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวจะมีผลในระดับการตัดสินใจในการอนุญาตประกอบกิจการ และหลังจากได้รับการอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่แล้วก็จะไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนใดๆ อีก

ประการสอง ระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาชุมชนของเจ้าของกิจการก็อยู่ในระดับต่ำ เพราะมีงบประมาณเพื่อการนี้เพียงร้อยละ 0.1 ของมูลค่าทองคำที่ผลิตได้เท่านั้น ในขณะที่งานศึกษาวิจัยที่ถูกยอมรับในระดับนานาชาติพบว่าเหมืองทองในต่างประเทศมีการใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาชุมชนถึงร้อยละ 0.9 ของมูลค่าทองคำที่ผลิตได้

ประการสาม เป็นการทำเหมืองโดยไม่มีแนวกันชนที่ต้องรักษาระยะห่างระหว่างชุมชนกับเขตเหมืองแร่ จนทำให้หมู่บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ต้องกลายเป็นหมู่บ้านร้างและบ้านแตกสาแหรกขาด 

ประการสี่ เป็นการทำเหมืองที่หลีกเลี่ยงหรือหาช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อไม่สร้างหลักประกันและแผนปฏิบัติการในการฟื้นฟูเหมืองที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ทั้งการฟื้นฟูระหว่างการทำเหมืองและหลังการปิดเหมือง เพื่อให้สภาพพื้นที่คืนกลับมาเป็นธรรมชาติดังเดิม

ด้วยสาเหตุทั้งสี่ประการเป็นอย่างน้อย ซึ่งยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ทำให้เหมืองทองแห่งนี้ในนามคิงส์เกตและอัคราฯตกเป็นจำเลยของสังคมมายาวนาน เพราะเป็นการประกอบกิจการที่ถูกสังคมพิพากษามาว่ามีปัญหาค่อนข้างมากทั้งในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่รอบเหมือง แต่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเสียใจที่รัฐบาลไทยไม่ได้นำข้อมูลนี้ไปใช้สู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการอย่างเพียงพอ เสมือนว่ามีพฤติกรรมสมยอมให้ไทยต้องแพ้คดี หรือแลกกับการไม่แพ้คดีโดยให้คิงส์เกตกลับมาทำเหมืองทองใหม่ได้

ซึ่งทำให้คิงส์เกตมีความมั่นใจมากถึงขั้นที่ออกข่าวเผยแพร่สู่สาธารณะฉบับวันที่ 23 ก.ย. 2564 และฉบับวันที่ 27 ต.ค. 2564 ว่าข้อเสนอของคิงส์เกตในการแลกต่อการไม่แพ้คดีของไทยจะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทยทุกข้อโดยไม่มีข้อจำกัด หรือทำให้กระบวนการอนุมัติ/อนุญาตเป็นไปโดยรวดเร็ว ลัดขั้นตอนของกฎหมายแร่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ  โดยมีประเด็นสำคัญทั้งที่อยู่ในและนอกข่าวเผยแพร่สู่สาธารณะสองฉบับดังกล่าว ดังนี้

(1) จะได้รับอนุญาตให้กลับมาทำเหมืองใหม่ในพื้นที่เดิม  คือ  ‘แหล่งชาตรี’ ที่ยังเหลืออีก 1 แปลง (จาก 5 แปลง 1,259 ไร่)  และในพื้นที่ ‘แหล่งชาตรีเหนือ’ ที่ยังเหลืออีก 8 แปลง (จาก 9 แปลง 2,466 ไร่) 

รวมถึงการขยายเวลาอายุประทานบัตรแหล่งชาตรีที่หมดอายุประทานบัตรไปเมื่อปี 2563 หรือต่ออายุประทานบัตรให้กับแหล่งชาตรีไปอีก 20-30 ปี  และขยายเวลาอายุประทานบัตรแหล่งชาตรีเหนือที่หมดอายุประทานบัตรปี 2571 ให้ด้วย  เนื่องจากเสียโอกาสไม่ได้ทำเหมืองมาหลายปีจากคำสั่งหัวหน้า คสช.​ ที่ 72/2559 ที่สั่งปิดการทำเหมืองทองคำทั้งหมดนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560

(2) จะได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองในพื้นที่ใหม่นอกเหนือจากข้อ (1) ซึ่งเป็นคำขอประทานบัตรค้างคามาเนิ่นนานหลายปีแล้ว  ซึ่งตามข้อมูลที่คิงส์เกตเคยแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ในประเทศของตนพบว่าพื้นที่ใหม่ดังกล่าว  คือ  ‘แหล่งสุวรรณ’  อยู่ห่างจากแหล่งชาตรีขึ้นไปทางเหนือ 6-10 กิโลเมตร  อยู่บนพื้นที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ 12,500 ไร่  คาดว่าน่าจะอยู่ในเขตตำบลวังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก  และ ‘แหล่งโชคดี’  อยู่ห่างจากแหล่งชาตรีขึ้นไปทางเหนือ 20 กิโลเมตร บนพื้นที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 18,750 ไร่ คาดว่าน่าจะอยู่ในเขตตำบลบ้านมุงและวังยาง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นแหล่งทองคำที่ทับลงบนพื้นที่ทั้งในและนอกเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงและป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย

(3) จะได้รับการขยายเวลาหรือต่ออายุอนุญาตใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองทองตามประทานบัตรแหล่งชาตรีและแหล่งชาตรีเหนือ อาทิ ใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ เป็นต้น

ซึ่งในประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการทำผิดให้เป็นถูกด้วย กล่าวคือ โรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายที่ขยายการถลุงแร่ทองคำเพิ่มไปอีกสามเท่าจาก 8,000 ตัน/วัน เป็น 24,000 ตัน/วัน ที่สร้างก่อนได้รับใบอนุญาตโรงงานและก่อนที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จะผ่านความเห็นชอบ ที่คดียังอยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้คล้องโซ่ปิดโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายเอาไว้ไม่ให้ใช้งาน จึงมีนัยยะว่ารัฐบาลไทยคงจะให้ความช่วยเหลือคิงส์เกตอย่างเต็มที่ในการสู้คดีนี้

(4) จะได้รับการลดหย่อนค่าภาคหลวงแร่, ผลประโยชน์พิเศษที่ต้องมอบให้แก่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เมื่อได้ประทานบัตร และภาษีรายการอื่นๆ จากการประกอบกิจการเหมืองทองและโลหกรรม

(5) นำบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยโดยไม่ต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายเพิ่มเติม

(6) จะได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไม่ต่ำกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่พบว่า  (6.1) คิงส์เกตได้รับอาชญาบัตรพิเศษไปแล้วก่อนคำตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจำนวน 44 แปลง  พื้นที่ประมาณ 4 แสนไร่ในเขต จ.เพชรบูรณ์ ทั้งที่อยู่รอบเหมืองทองชาตรีและชาตรีเหนือและไกลออกไป ซึ่งเป็นผลจากการประชุมของคณะกรรมการแร่เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 และ (6.2) รัฐบาลไทยโดย กพร. รออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษหลังคำตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอีกประมาณ 60 แปลง พื้นที่ประมาณ 600,000 ไร่  ทั้งที่อยู่ในเขตรอยต่อสาม จ.พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลกซึ่งอยู่รอบเหมืองทองชาตรีและชาตรีเหนือและไกลออกไป และจังหวัดชลบุรี ลพบุรี สระบุรี จันทบุรี

(7) ได้รับอนุญาตให้คิงส์เกตขนสินแร่ทองคำและเงินคงค้างในระบบผลิตเดิมก่อนถูกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ระงับยับยั้งไว้ เข้าสู่กระบวนการถลุงโลหะทองคำและเงินในโรงถลุงภายในประเทศได้ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563 แล้ว

ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่า ผลประโยชน์ที่คิงส์เกตได้ หรือข้อยุติที่ทำให้ไทยต้องไม่แพ้คดีโดยที่คิงส์เกตได้ประโยชน์อย่างมหาศาลนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ ‘นอกเหนือข้อพิพาท’ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่คิงส์เกตจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนแลกกับการให้อนุญาโตตุลาการไม่อ่านคำตัดสินชี้ขาดให้รัฐบาลไทยแพ้คดีด้วยการดำเนินการตามกฎหมายปกติ

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการก็คือคิงส์เกตฟ้องไทยว่าใช้ ม.44 ปิดเหมืองทอง ซึ่งไม่ใช่กฎหมายปกติที่สากลจะยอมรับได้ และได้ทำลายข้อตกลง TAFTA โดยกลั่นแกล้งนักลงทุนในประเทศภาคีให้ได้รับความเสียหาย แต่คิงส์เกตกลับกำลังบังคับให้รัฐบาลไทยใช้อำนาจพิเศษเปิดเหมืองทอง บวกกับผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่เกินไปกว่าข้อพิพาทอีกด้วย

แน่นอนว่าตัวประยุทธ์เองมีสภาวะ ‘โรคใช้อำนาจเหนือกฎหมาย’ อย่างเป็นปกติวิสัย ใช้กฎหมายปกติเพื่อบริหารบ้านเมืองไม่เป็น หรือไม่ได้ใช้อำนาจเหนือกฎหมายภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินอย่างแท้จริงใดๆ แต่ใช้โดยปกติวิสัย มีลักษณะเป็นเผด็จการโดยสันดาน การเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับคิงส์เกตเพื่อจะให้คิงส์เกตได้กลับมาทำเหมืองทองใหม่ บวกกับผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษอื่นๆ อีกมหาศาลที่จะส่งผลต่อความหายนะ  ไม่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพของชีวิตประชาชนไทยจำนวนมาก จึงมีลักษณะเสมือนการใช้ ม.44 รอบสอง

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่เห็นว่า ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น  หากรัฐบาลไทยต้องแพ้คดีเพราะการกระทำโดยใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. จึงเห็นควรว่าประยุทธ์ต้องจ่ายค่าเสียหายด้วยทรัพย์สินของตนเอง จะต้องไม่เอาชะตาชีวิตและภาษีประชาชนไปจ่ายแทนการกระทำความผิดของตนเอง หรือหากแลกกับการไม่แพ้คดีโดยประเคนผลประโยชน์ตอบพิเศษหลายรายการตามที่ได้ระบุไว้ในแถลงการณ์ฉบับนี้  พลเอกประยุทธ์ต้องเป็นผู้รับโทษทั้งหมด โดยเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่จะรณรงค์ร่วมกับประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ ร้องคัดค้านต่อศาลไทยให้ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างคิงส์เกตกับรัฐบาลไทยที่จะถูกอ่านในคำตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในวันที่ 31 ม.ค. 2565 อย่างถึงที่สุด และจะฟ้องร้องต่อศาลไทยให้ลงโทษพลเอกประยุทธ์อย่างถึงที่สุดที่เอาชะตาชีวิต ความเสียหายและผลประโยชน์ของประชาชนไปแลกกับความผิดพลาดของตนเพียงผู้เดียวที่ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ปิดเหมืองทอง และกำลังใช้อำนาจเหนือกฎหมายเสมือนการใช้ ม. 44 รอบสอง เพื่อเปิดเหมืองทองสร้างความหายนะให้กับประชาชนและชุมชนโดยรอบเหมืองอีกครั้ง

ด้วยความเคารพ
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
8 พ.ย. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท