‘แรงงานแพลตฟอร์ม’ ผู้ไม่มีตัวตนในกฎหมายและหยาดเหงื่อที่ถูกเอาเปรียบ

แรงงานบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มยังมีสถานะภาพแสนคลุมเครือในกฎหมายไทย ผลพวงอันไม่ควรเกิดคือการถูกเอารัดเอาเปรียบจากความสัมพันธ์ที่ไม่สมมาตร สัญญาที่ไม่เป็นธรรม และผลักภาระเกือบทั้งหมดให้แรงงานแบกรับ

แรงงานแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นไรเดอร์ แม่บ้าน หมอนวด และอื่นๆ ยังคงมีสถานะคลุมเครือในกฎหมายไทย ความคลุมเครือนี้นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบแรงงานจากเจ้าของแพลตฟอร์ม (และในบางครั้งก็จากผู้บริโภค) การผลักภาระและความเสี่ยงเกือบทั้งหมดไปให้แรงงาน

คำถามมีอยู่ว่า แรงงานแพลตฟอร์มมีสถานะคลุมเครือหรือกฎหมายไทยปรับตัวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Friedrich-Ebert-Stiftung Thailand (FES) ได้จัดเสวนาเรื่อง ‘แรงงานแพลตฟอร์ม เส้นทางสู่การจัดตั้งและสถานภาพทางกฎหมาย’ โดยมีวงเสวนาย่อยหัวข้อ ‘บทเรียนจากต่างประเทศและแนวทางการทำงานของไทย’

แรงงานเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

ใหม่ (นามสมมติ) เธอทำอาชีพเป็นแม่บ้านบนแพลตฟอร์มทั้งหมด 5 แพลตฟอร์มมาประมาณ 3 ปี ทำให้มีประสบการณ์กับกติกาต่างๆ ที่แพลต์ฟอร์มกำหนดขึ้น

เธอเล่าว่าลูกค้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางทีเธอต้องเจอกับลูกค้าที่มีความต้องการมากเป็นพิเศษ แม้ว่าเธอจะทำงานตามที่ได้รับการอบรมมาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถูกลูกค้าร้องเรียนซึ่งทำให้เธอถูกหักเงินค่าแรง

“หรือไปสายสิบนาทีหักเงิน 50 บาท หนึ่งชั่วโมงหักเงิน 100 บาท แต่กลับกัน การที่ลูกค้ามาช้าไม่ว่าจะสิบนาทีหรือเป็นชั่วโมง ลูกค้าไม่ต้องเสียค่าเสียเวลาให้เราเลย มีแต่เราต้องเร่งตัวเองเพื่อไปงานต่อไปให้ทันจะได้ไม่ถูกหักเงิน

“กฎแรกเริ่มตั้งแต่เราไปสมัครในแอพ มีข้อบังคับว่าเราต้องปฏิบัติตัวยังไงเวลาไปทำงานบ้านลูกค้า ต้องใส่แบบฟอร์มของเขา เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม บทลงโทษที่เห็นชัดเจนตอนนี้มีอีกหนึ่งแอพที่ถ้าเขาตรวจสอบเจอว่าแม่บ้านขอดีลงานโดยตรงกับลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่แม่บ้านไม่เคยขอ ลูกค้าจะเป็นคนขอเอง ถ้าแอพตรวจสอบเจอเขาให้เราออกทันที ส่วนบทลงโทษอื่นๆ เช่น ยกเลิกงานกะทันหันก็มีค่าปรับ ถ้าเราโดนร้องเรียนกรณีไม่ร้ายแรงก็อาจจะแค่ตักเตือน ถ้าเป็นกรณีที่บริษัทมองว่าทำให้ลูกค้าไม่พอใจมากจะถึงขั้นหักเงินค่าแรงทั้งหมดในวันนั้นของเรา เคยโดนมาแล้ว ทำงานฟรี”

ความสัมพันธ์และสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

ด้าน ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ หัวหน้าศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสิ่งที่แรงงานแพลตฟอร์มต้องเผชิญ เมื่อกฎหมายไม่สามารถให้ความคุ้มครองไปถึงว่ามีอยู่ด้วยกัน 2 ประเด็นหลักคือความสัมพันธ์ในการจ้างงานและสัญญาที่เป็นธรรม โดยประเด็นแรกแรงงานแพลตฟอร์มต้องเจอกับปัญหา 4 ด้าน ได้แก่

1. แรงงานแพลตฟอร์มอยู่บนการจ้างงานแบบไม่มั่นคงหรือในภาษาการจัดการเรียกว่า การจ้างงานแบบยืดหยุ่น (Flexible) ซึ่งทศพลกล่าวว่าในงานวิจัยจำนวนมากจะใช้คำว่า Vulnerable หรือไม่มั่นคง

2. ผลตอบแทนที่ไม่แน่นอนหรือ Zero Hour Contact เมื่อไม่มีการประกันค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือการขูดรีด

3. ผลักภาระความเสี่ยงให้คนทำงานแบกรับ เช่น ต้องเตรียมชุด ผ้า รถมอเตอร์ไซค์ กล่าวคือนี่ไม่ใช่แค่การ Outsource การจ้างงานเพียงอย่างเดียว แต่ยัง Outsource ความเสี่ยงไปให้คนทำงานรับด้วย

4. การเข้าไม่ถึงหลักประกันสิทธิแรงงาน เพราะแรงงานแพลตฟอร์มถูกมองว่าเป็นแรงงานนอกระบบหรือเป็นงานในระบบ แต่ยังไม่มีการฟ้องร้อง

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ (แฟ้มภาพ)

“เป็นการท้าทายให้คนทำงานฟ้องหรือ?” ทศพล อธิบาย “ซึ่งก็ไม่ควรเพราะเป็นการสร้างภาระให้แก่คนทำงาน ทำไมต้องให้เขาฟ้องเพื่อให้เกิดสิทธิ เพราะปัจจุบันงานถูกกระจายผ่านอัลกอริทึมบนแพลตฟอร์ม กระจายไปหาคนงานแต่ละคน ทำให้มีแนวโน้มที่จะรวมกลุ่มกันไม่ได้เกิดภาวะการแบ่งแยกคนงานและให้ทำงานแข่งกัน

“สิ่งที่ควรจะเป็นแต่ไม่เป็น มุมมองทางกฎหมายในสถานการณ์ของประเทศไทยมีแนวโน้มจะฉีกคนทำงานแพลตฟอร์มออกเป็น 2 หน้างาน คือไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งดูแลคนทำงานในแพลตฟอร์มอย่างเป็นระบบในที่เดียว แต่ถูกแยกเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่ 1 ถ้าจะได้รับการดูแลเรื่องสิทธิ รัฐไทยพยายามแบ่งไปให้กระทรวงแรงงานดูแลคนทำงาน แต่ในฐานะแรงงานนอกระบบโดยการผลักดันกฎหมายที่ดูแลแรงงานนอกระบบ ซึ่งระบบนั้นคนที่หลุดออกไปเลย ไม่ต้องมาดูแลชีวิตแรงงานคือนายจ้างหรือแพลตฟอร์ม กลายเป็นคนทำงานกับรัฐร่วมกันสมทบกองทุนมาดูแลแรงงานนอกระบบ แล้วคนที่ได้ประโยชน์จากการทำงานหายไปไหน”

ส่วนประเด็นว่าด้วยการทำสัญญา ทศพลตั้งคำถามว่าสัญญาที่เกิดขึ้นมีความเป็นธรรมหรือไม่?

“สิ่งหนึ่งที่น่าจะดีคือกฎหมายกำกับกิจการการให้บริการดิจิทัลต้องมีความโปร่งใส เพราะเขาบังคับให้แพลตฟอร์มต้องเปิดเผยข้อสัญญา ซึ่งจะต่อไปเรื่องการระงับข้อพิพาทและการบริหารงานที่เป็นธรรม เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่มากๆ คือการระงับบัญชีหรือ Deactivate ของคนทำงานที่เริ่มมีปากเสียง มันเป็นการกระทำฝ่ายเดียวจากแพลตฟอร์ม ทำได้เหรอ? มันไม่ชอบในแง่ของสัญญาที่สองฝ่ายต้องเห็นตรงกัน พอทำฝั่งเดียว คนงานหลุดออกจากแพลตฟอร์มแล้วเขาร้องเรียนที่ไหน หรือผลักให้คนงานไปฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในศาลเองซึ่งสร้างภาระ”

ทศพล กล่าวต่อว่า ทีมวิจัยได้ถอดบทเรียนการจัดการความขัดแย้ง พบว่า ภาวะที่ไม่มีใครจัดการให้ชัดเจน เมื่อเกิดความขัดแย้ง แพลตฟอร์มและแรงงานจะจัดการกันเองซึ่งอำนาจต่อรองของแต่ละฝ่ายต่างกันมาก ทำให้แรงงานเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ตอนนี้คือการปล่อยปละละเลยให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มกับคนทำงาน ตัวใหญ่กับตัวเล็กเคลียร์กันเอาเอง ซึ่งสร้างปัญหาให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยเพื่อให้ได้ข้อสัญญาที่เป็นธรรม เพื่อให้ได้รับการชดเชยจากการเลิกจ้างหรือไม่จ่ายเงิน หรือแม้กระทั่งต้องการสิทธิแรงงานต้องไปฟ้องให้ศาลบังคับว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงานก่อน แล้วถึงจะเข้าสิทธิอื่นๆ ตามมา อันนี้เป็นการผลักภาระให้คนทำงาน

“ปัญหาเรื่องค่าจ้าง การหัก การบังคับ การลงโทษ การลดดาว ความขัดแย้งตรงนี้ เราไม่เคยเห็นอย่างชัดเจนว่ากระบวนการระงับข้อพิพาทภายในแพลตฟอร์มเป็นอย่างไร ถ้าที่รัฐไทยทำอยู่เหมือนจะมีกฎหมายว่าด้วยการกำกับกิจการดิจิทัล ตรงนี้ทำได้จริงไหม เพราะมันมีลักษณะเฉพาะตั้งแต่เงื่อนไข สัญญา การปรับอัลกอริทึมต่างๆ มันจะมีการแจ้งให้คนทำงานทราบและแสดงเจตจำนงยอมให้มีการปรับปรุงสัญญาหรือไม่ หรือเป็นการทำฝ่ายเดียวของแพลตฟอร์ม เรากังวลว่าถ้าหน้างานของรัฐแยกเป็นสอง สุดท้ายเจ้าของแพลตฟอร์มจะจัดการกับตัวคนทำงานแทนซึ่งขาดรัฐ หรืออีกฝั่งหนึ่งเรื่องสวัสดิการจะเป็นรัฐกับคนทำงาน ไม่มีเจ้าของแพลตฟอร์ม ซึ่งเราเสนอว่าไม่ควรเป็นแบบนี้”

ดังนั้น การจัดการปัญหาต่างๆ จึงควรมีอย่างน้อย 3 ฝ่ายคือเจ้าของแพลตฟอร์ม คนทำงาน และหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาแทรกแซงเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรม นอกจากนี้ วิธีบริหารจัดการไม่ควรเป็นภาระของคนงานเองทั้งหมดหรือเป็นของรัฐ ทั้งยังควรนำตัวอย่างจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่มีการออกแบบวิธีการเจรจาต่อรองและมีหลักประกันให้กับคนที่ลุกขึ้นมาพูดแทนคนทำงานคนอื่นไม่ให้ถูกเลิกจ้างหรือกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรม

“ตอนนี้มันผลักภาระให้คนทำงานต้องพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นลูกจ้าง ควรได้สิทธิแรงงานและสวัสดิการอื่นๆ ทำไมเราไม่คิดกลับกันว่าให้ภาระในการพิสูจน์กลับเป็นฝั่งแพลตฟอร์มว่าสัญญาที่จ้างอยู่ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานเพราะอะไร ซึ่งรัฐเขียนกฎหมายได้” ทศพล กล่าวทิ้งท้าย

สถานะคนงานอันคลุมเครือในกฎหมายไทย

“แรงงานแพลตฟอร์มยังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ทางกระทรวงได้รับข้อร้องเรียนเรื่องนี้เยอะมาก ปัญหาว่าผู้ทำงานมีสถานะอย่างไรเป็นข้อถกเถียงกันมานาน แม้กระทั่งในต่างประเทศก็ยังถกเถียงกันอยู่ ทางกรมก็พยายามหาข้อยุติในเรื่องนี้ แต่ด้วยระบบงาน ลักษณะงานค่อนข้างซับซ้อนจึงอาจต้องใช้เวลา” พรสุดา เจียมพัฒนาตระกูล เจ้าหน้าที่กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ยอมรับถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น

ในที่นี้เธอกล่าวเจาะจงไปที่ไรเดอร์ ซึ่งในต่างประเทศก็ยังไม่มีคำตอบเดียวว่าเป็นคนทำงานอิสระหรือลูกจ้างที่มีสิทธิตามกฎหมายแรงงาน พรสุดายกตัวอย่างประเทศออสเตรเลียว่า มีกรณีเข้าสู่ Fair Work Commission หรือคณะกรรมการการทำงานที่เป็นธรรม 2 กรณีคือบริษัท อูเบอร์ อีท กับบริษัท เดลิเวอร์รู โดยกรณีแรกคณะกรรมการตัดสินว่าไรเดอร์เป็น Independent Contractor หรือผู้ทำงานอิสระ ขณะที่กรณีของบริษัท เดลิเวอร์รู กลับตัดสินว่าเป็นลูกจ้าง ซึ่งหลักในการพิจารณา วิทยากรจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ก็ยังเห็นว่าต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป

“ถ้ามองในบริบทการจ้างงานโดยรวมในประเทศไทย ด้วยเราก็ไม่มีคำพิพากษาที่ชัดเจนในเรื่องนี้จึงต้องพิจารณาจากบริบทกฎหมายที่มีอยู่ก่อน ซึ่งกล่าวได้แค่ว่ามี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และประมวลกฎหมายที่กำหนดนิยามการจ้างงานเอาไว้ ซึ่งสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา 575 ถ้าโฟกัสมาที่กฎหมายไทยประเด็นที่ถกเถียงกันคือเป็นจ้างแรงงานหรือจ้างทำของ การจะเป็นสัญญาจ้างแรงงานได้ต้องมีอำนาจบังคับบัญชา แต่การที่ไรเดอร์เข้าออกงานอย่างอิสระ เริ่มหรือเลิกงานเมื่อไหร่ก็ได้ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่มีมาโดยตลอดศาลมองว่าจุดนี้เป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้เห็นว่านายจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้าง ดังนั้น ตามหลักกฎหมายแรงงานทั่วไปจึงไม่ใช่ลูกจ้าง ทำให้ไม่สามารถนำกฎหมายแรงงานมาบังคับใช้ได้

“แต่ตามที่ ILO พูดไว้ตาม Recommendation 198-199 ว่าการพิจารณาความสัมพันธ์การจ้างงานที่แท้จริงต้องดูจากข้อเท็จจริงของสถานการณ์ทำงาน ในเรื่องนี้ถ้าพิจารณาในภาพรวม มันก็มีแนวโน้มที่จะเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่ถ้าพิจารณาลักษณะการทำงานจริงๆ ตาม Recommendation ก็ยังตอบปัญหาข้อนี้ค่อนข้างยาก เพราะไรเดอร์แต่ละคนมีลักษณะการทำงานที่ค่อนข้างแตกต่างกัน บางคนทำเหมือนลูกจ้าง เต็มเวลา บางคนทำเป็นพาร์ทไทม์ ถ้าจะให้สรุปเลยว่าเป็นจ้างทำของก็ตอบยาก อาจเป็นได้ทั้งสองอย่าง ซึ่งต้องดูบริบทของการจ้างงาน ดูลักษณะของการทำงานจริงว่าเป็นอย่างไร”

เธอจึงสรุปว่า

“ถ้าจะคุยเรื่องสถานการณ์ทำงานอาจต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไปก่อน แต่ถ้าดูภาพรวมของการทำงาน ด้วยความอิสระของการทำงาน ลักษณะของการทำงาน ก็น่าจะยังเป็นสัญญาจ้างทำของตามกฎหมายไทย”

ทบทวนสถานะแรงงาน-ทำความเข้าใจแพลตฟอร์ม

ด้าน เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม แสดงความเห็นต่างจากพรสุดา โดยกล่าวว่างานวิจัยเรื่องสถานะคนงานจำนวนมากในต่างประเทศและสถาบันแรงงานฯ เอง การจะวิเคราะห์ว่าคนงานมีลักษณะการทำงานแบบไหนให้ดูที่การควบคุมของแอพพลิเคชันหรือลักษณะการทำงานเป็นหลัก ไม่ได้ดูที่ความต้องการของคนงาน เช่น ลักษณะการทำงานส่งอาหารมีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าคนงานตั้งแต่เปิดแอพพลิเคชันรับออเดอร์จนถึงปิดงานถูกควบคุมทุกขั้นตอน และถ้าทำผิดขั้นตอนแม้แต่ขั้นตอนเดียวก็อาจจะถูกลงโทษหรือไม่ได้รับค่าตอบแทน

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร (แฟ้มภาพ)

“เรื่องการควบคุมนี้เป็นการวิเคราะห์ที่ค่อนข้างเป็นทางเดียวกันในหลายๆ ประเทศ เพียงแต่ผมรู้สึกว่าทางกระทรวงแรงงานเวลาส่งเจ้าหน้าที่มาทุกครั้งก็จะมีแนวความเห็นใหม่ๆ และไม่มีความคงเส้นคงวาในการตัดสินหรือนโยบายที่ชัดเจนเลย”

เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า แนวทางแก้ไขที่คำตอบเดียวสำหรับเรื่องนี้คงไม่มี เนื่องจากความหลากหลายของวิธีการจ้างงานและวิธีการทำงานบนแพลตฟอร์ม ทั้งยังขึ้นอยู่กับบริบทและปัจจัยเชิงกฎหมายและเชิงสถาบันของแต่ละประเทศ

“เราทราบดีว่าในประเทศไทย การบังคับใช้กฎหมายแรงงานไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากลอย่างที่ควรจะเป็น ประกอบกับอำนาจต่อรองของคนงานในพื้นที่ทางสังคมหรือ Social Dialogue ก็ไม่ได้ทำงานอย่างเต็มที่ เรื่องสำคัญคือบริบทในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจเรามีภาคการจ้างงานที่ทางราชการเรียกว่าการจ้างงานนอกระบบ แต่ผมเรียกว่าภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการค่อนข้างใหญ่ เป็นบริบทที่สำคัญที่สุด เพราะความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ ทัศนคติของคนงานในการทำความเข้าใจงานหรือปรากฏการณ์การจ้างงานใหม่ก็มักถูกเปรียบเทียบกับประสบการณ์เก่าของเขา รวมถึงความสัมพันธ์ในเชิงเปรียบเทียบเรื่องสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองหรือบังคับใช้อยู่ในสังคมและเศรษฐกิจ”

เกรียงศักดิ์ เห็นว่าความท้าทายที่สำคัญในเวลานี้เป็นผลจากเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างค่อนข้างมากซึ่งส่งผลสำคัญ 2 ประการคือทำให้เกิดความไม่มั่นคงในการทำงานแบบเรื้อรังเกิดจากความไม่มั่นคงในการทำงานหรือสัญญาจ้างแบบยืดหยุ่น ประการต่อมาคือทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างที่มาจากความไม่สมมาตรในหลายเรื่อง เช่น ความไม่สมดุลของข้อมูลข่าวสารระหว่างแพลตฟอร์มกับคนทำงาน ความไม่สมดุลระหว่างความเสี่ยง ความไม่สมดุลของทรัพยากรที่สองฝ่ายมีไม่เท่ากัน ความไม่สมดุลในการกระจายผลได้ทางเศรษฐกิจหรือรายได้ซึ่งต่างกันมาก และทุกสิ่งที่แพลตฟอร์มทำถูกกำหนดจากแพลตฟอร์มฝ่ายเดียวและสามารถเปลี่ยนแปลงเองเมื่อไหร่ก็ได้ โดยไม่มีกระบวนการทักท้วงหรืออุทธรณ์จากฝั่งคนงาน

“ผมคิดว่าการแก้ปัญหาต้องทำสองเรื่องควบคู่กัน หนึ่ง การทบทวนสถานะซึ่งผมอยากจะใช้คำว่า การยอมรับทางกฎหมาย ซึ่งจำเป็นต้องสอดคล้องกับสภาพการจ้างและสภาพการทำงานของงานแต่ละงาน ที่พูดกว้างๆ เพราะวิธีการไปสู่เป้าหมายนี้อาจไม่ใช่การบอกว่าเขาเป็นหรือไม่เป็นคนงาน เพราะอาจจะมีเส้นทางไปสู่การยอมรับทางกฎหมายได้หลายอย่างซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการกำหนดกรอบกำกับดูแลแพลตฟอร์มไม่ให้ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ล้นเกินในตลาดอย่างอำเภอใจ

“อีกประเด็นคือเราต้องทำความเข้าใจแพลตฟอร์มในฐานะตัวกลางที่กำลังมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระบบตลาดหลายขาหรือที่เรียกว่า Multi-sided Market เพราะเขามีความสัมพันธ์ในเชิงธุรกรรมกับคนงาน กับผู้บริโภค กับร้านค้า และเขาเก็บค่าตอบแทนจาก 3 ฝ่าย และใช้วิธียักย้ายถ่ายเทค่าตอบแทนจาก 3 ฝ่ายมาอุดหนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ใหม่ที่ตัดข้ามมิติเชิงเดี่ยวที่เป็นวิธีการทำงานของรัฐระบบราชการไทย กระบวนการที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงมันเจอทางตันเพราะเราแบ่งการทำงานออกเป็นส่วนๆ

“เราได้ฟังข้อเสนอของอินโดนีเซียและสิงคโปร์ที่ให้มีคณะกรรมการที่มีตัวแทนของหลายฝ่าย ที่สำคัญที่เราคิดว่ายังขาดคือตัวแทนของแพลตฟอร์มและร่วมพูดคุย ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปได้ไหมที่จะมีคณะกรรมการแบบนี้ แต่เนื่องจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน เวลามีตัวแทนจากฝั่งธุรกิจ ข้าราชการ กับคนงานอยู่ด้วยกัน มันมักไม่สมดุลในเรื่องการตัดสินใจและน้ำหนักก็จะถ่ายไปทางความต้องการของนักธุรกิจ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท