Skip to main content
sharethis

หลังจากเมื่อ 30 ก.ย. 2567 ศาลอาญามีคำสั่งให้ควบคุมตัวอี ควิน เบดั๊บ ผู้ลี้ภัยชาวมองตานญาด และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน-เสรีภาพทางศาสนา เพื่อรอให้กระทรวงการต่างประเทศ และนายกรัฐมนตรีไทยชี้ขาดอีกครั้งว่าจะส่งตัวกลับประเทศเวียดนามในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ระหว่างนี้ประชาไทชวนรู้จักชาวมองตานญาดทำไมคนกลุ่มนี้ถึงถูกประหัตประหารจากทางการเวียดนาม และประเด็นข้อถกเถียงทางด้านกฎหมายจากคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน

รากความขัดแย้ง

คำว่า “มองตานญาด” แปลว่า คนภูเขา หรือชาวเขา เป็นชื่อที่ฝรั่งเศสใช้เรียกรวมๆ ถึงชนพื้นเมืองที่อาศัยภูมิภาคที่ราบสูงและเขตภูเขาตอนกลางของเวียดนาม  มีอาณาเขตติดต่อและอยู่บนแนวเทือกเขาเดียวกันกับพื้นที่ตอนใต้ของลาว และติดฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาในปัจจุบัน กรณีของอี ควิน เบดั๊บ เป็นชาวชาติพันธุ์ ‘เอดี’ ซึ่งเป็นหนึ่งในชนพื้นเมืองชาวเขามองตานญาดเช่นกัน

จังหวัดดั๊กลัก (Dak Lak) ประเทศเวียดนาม (ภาพจาก Human rights watch)

ชนาธิป ตติการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอเนชั่นแนล กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวมองตานญาดถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษจากรัฐบาลเวียดนามมีอยู่ 3 ปัจจัย คือ ศาสนา ประวัติศาสตร์ และปัญหาการแย่งยึดที่ดินทำกิน

ในทางศาสนา ชาวมองตานญาดส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ที่ไม่ได้รับการรับรอง โดยใช้บ้านเป็นที่ประกอบศาสนพิธี ชนาธิป มองว่า การนับถือศาสนาคริสต์ไม่ได้เป็นปัญหาหลัก แต่การยุ่งเกี่ยวกับองค์ทางศาสนาที่ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล พิธีหรือกิจกรรมทางศาสนาจะถูกมองเป็นกิจกรรมนอกกฎหมาย หรือเป็นภัยคุกคามของรัฐ ซึ่งรัฐบาลจะปราบปรามอย่างรุนแรง เช่น การข่มขู่ จับกุมโดยพลการ บังคับเปลี่ยนศาสนา ทำร้ายร่างกาย ซ้อมทรมาน และอื่นๆ 

ทั้งนี้ ตามกฎหมายเวียดนามบังคับกลุ่มทางศาสนาทุกกลุ่มต้องลงทะเบียนกับรัฐ และดำเนินกิจกรรมภายใต้องค์กรที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งกรมศาสนาจะเป็นผู้ตัดสินใจให้การรับรอง 

ข้อมูลจากฮิวแมนไรท์วอตซ์ (HRW) ระบุว่า วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวมองตานญาดนับถือ ‘ผี’ แต่การเข้ามาของสหรัฐฯ ในช่วงปี 2493-2513 ชาวมองตานญาดเริ่มนับถือศาสนาคริสต์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังเวียดนามเหนือเอาชนะสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2518 ทางการได้มีการสั่งปิดโบสถ์คริสต์คาทอลิก และโพรแทสแตท์ รวมถึงมีการจับกุมชาวมองตานญาดและบาทหลวงหลายคน และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ชาวมองตานญาดบางคนเริ่มรวมกลุ่มกับกองกำลัง “ฟูลโร” ซึ่งมีแนวคิดเรียกร้องเขตปกครองตนเอง

กองกำลังฟูลโร (FULRO) หรือชื่อเต็มคือ "แนวร่วมเพื่อปลดปล่อยเผ่าพันธุ์ที่ถูกกดขี่" เป็นหนึ่งในกองกำลังที่ใหญ่ที่สุดที่เคยลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลเวียดนาม และมีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ก่อปฏิบัติการราวปี 2507 และประกาศวางอาวุธเมื่อปี 2535

นิโคลัส เบเคลัง ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้สัมภาษณ์บีบีซีว่า รัฐบาลเวียดนามมีมุมเชิงลบต่อศาสนาคริสต์โดยรวม เนื่องจากมองว่ามีความเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ ขณะที่ ‘ซิว’ ผู้ลี้ภัยชาวมองตานญาด มองว่ารัฐบาลไม่อยากให้นับถือศาสนาคริสต์ เพราะกลัวสูญเสียความศรัทธาและความเชื่อจากสาธารณชน

ขณะที่ชาวมองตานญาดส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ขึ้นทะเบียนกับรัฐบาล เพราะพวกเขากังวลเรื่องการสอดส่องจากรัฐบาล

“เวียดนามเป็นรัฐที่มีความหวาดระแวงสูงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวต่อต้านภาครัฐ มีความอ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์ หรือกังวลต่อความเป็นไปได้ในการก่อตัวของมวลชน ซึ่งอาจจะมีศักยภาพในการต่อต้านรัฐบาล เขาจะพยายามกำจัดใครก็ตามที่อาจจะมาเป็นศัตรูของภาครัฐได้ในอนาคต" ชนาธิป จากแอมเนสตี้ฯ ให้ความเห็นเพิ่ม

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ชาวมองตานญาด แต่กลุ่มศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ ก็จะเผชิญกับปัญหาข้อจำกัดในการรวมตัวกัน และทำกิจกรรมทางศาสนา และการคุกคามเช่นเดียวกัน

ปัจจัยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ (?)

ชนาธิป เชื่อว่า รัฐบาลเวียดนามยังมีความไม่ไว้ใจชาวมองตานญาด เหตุจากช่วงสงครามเวียดนาม ชาวมองตานญาดบางส่วนเคยช่วยสหรัฐฯ รบกับเวียดนามเหนือ ขณะที่นักประวัติศาสตร์บางรายมองว่าอาจเป็นเพราะมองตานญาดเคยเข้าร่วมกองกำลัง ‘ฟูลโร’ (FULRO)

อีกปัจจัยหนึ่งคือการกระทบกระทั่งระหว่างชาวมองตานญาด และรัฐบาลเวียดนาม เรื่องการแย่งยึดที่ดินทำกิน เนื่องจากปี 2533 เป็นต้นมา รัฐบาลเคยมีนโยบายกระตุ้นให้ชาวเวียดนามย้ายเข้าไปในเขตที่ราบสูงตอนกลางเพื่อปลูกกาแฟ ซึ่งขัดกับวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของมองตานญาดที่ทำเกษตรแบบ ‘ไร่หมุนเวียน’ 

นักโทษทางความคิด

ปัจจัยดังกล่าวนำมาสู่การเรียกร้องเสรีภาพทางศาสนาและสิทธิที่ดินทำกินของชาวมองตานญาด ไปจนถึงการถูกดำเนินคดีของชาวมองญาด ข้อมูลจาก HRW เผยว่า ตั้งแต่ปี 2544-2554 มีชาวมองตานญาดอย่างน้อย 350 คนถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลานาน ด้วยข้อหาความมั่นคงที่คลุมเครือ จากการเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมนุมสาธารณะเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกิน และเสรีภาพทางศาสนา หรือประกอบศาสนพิธีที่โบสถ์บ้านซึ่งไม่ได้รับการจดทะเบียนโดยรัฐ ข้อกล่าวหาที่ชาวมองตานาร์ดเหล่านี้ถูกตั้งขึ้น ได้แก่ การทำลายความสามัคคีของชาติ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 87 หรือทำลายความมั่นคง มาตรา 89

รายงานจากแอมเนสตี้ “นักโทษทางความคิดในเวียดนาม” เก็บข้อมูลปี 2561 จนถึง เม.ย. 2562 พบว่าเวียดนามมีนักโทษทางความคิด 128 คน ทั้งหมดถูกดำเนินคดีจากการออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพการนับถือศาสนาโดยใช้มีวิธีสันติ  

ในจำนวน 128 คน เป็นชาวมองตานญาดที่นับถือศาสนาคริสต์ 24 คน แทบทั้งหมดถูกดำเนินคดีข้อหาเซาะกร่อนบ่อนทำลายความสามัคคีของชาติ ตามมาตรา 87 ประมวลกฎหมายอาญาเวียดนาม พ.ศ. 2542

การซ้อมทรมาน

เมื่อปี 2559 รายงานเรื่อง “เรือนจำในเรือนจำ : การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อนักโทษด้านความคิดในเวียดนาม" จัดทำโดย แอมเนสตี้ฯ พบว่ามีนักโทษทางความคิดที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และต้องเผชิญการซ้อมทรมานหลายรูปแบบ เพื่อให้รับสารภาพคดีที่เขาเหล่านั้นอาจไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด เช่น การถูกขังเดี่ยว ถูกซ้อมทำร้ายร่างกาย ช็อตด้วยไฟฟ้า และอื่นๆ

ยกตัวอย่าง กรณีของ ดาร์ (นามสมมติ) อดีตนักโทษชาวมองตานญาด ซึ่งถูกจับเมื่อปี 2551 เขาเล่าว่าเขาถูกจับขังเดี่ยวในห้องขังขนาดเล็กมากช่วง 10 เดือนแรกที่ถูกควบคุมตัว เขาถูกทุบตีด้วยไม้และสายยาง ถูกต่อย เตะ และช็อตด้วยไฟฟ้า ตลอดจนมีการจุดไฟใส่กระดาษลนที่ขา เขาเล่าด้วยว่า บางครั้งถูกจับแขวนโดยผูกเชือกที่แขนเอาตัวห้อยลงมา จากนั้นตำรวจก็ทุบตีจนเขาหมดสติ

กรณีเมื่อเดือน มี.ค. 2564 ‘เหงียนวันดุกดอ’ นักกิจกรรม ซึ่งปัจจุบันได้รับโทษจำคุกนานถึง 11 ปี และเคยถูกขังเดี่ยว 300 วัน ในช่วงแรกของการขังเดี่ยวเขาบอกว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำเอาโซ่ล่ามขาทั้ง 2 ข้างเป็นเวลา 10 วันติดต่อกัน และมีการเอาน้ำสกปรกและอาหารที่เจือปนด้วยอุจจาระมาให้กิน

ผู้ก่อการร้าย หรือคดีการเมือง

สำหรับคดีความอี ควิน เบดั๊บ เขาตกเป็นผู้ต้องหาคดีบงการและอยู่เบื้องหลังการก่อการร้าย โจมตีที่ทำการรัฐบาลและสถานีตำรวจ ที่จังหวัดดั๊กลัก ประเทศเวียดนาม เมื่อ 11 มิ.ย. 2566 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บสาหัส 2 ราย นอกจากเบดั๊บ แล้วยังมีชาวมองตานญาดอีกประมาณ 100 คน ที่ถูกดำเนินคดีจากกรณีนี้

ภาพจากยูทูบที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนาม VTV4 เผยแพร่เมื่อ 5 ก.ย. 2567 อ้างว่า อี ควิน เบดั๊บ อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุโจมตีที่จังหวัดดั๊กลัก เวียดนาม (ที่มา: ยูทูบ VTV4)

ทางการเวียดนามกล่าวหาโดยอ้างคำรับสารภาพจากผู้ถูกจับกุมว่าเบดั๊บ อยู่เบื้องหลังการรวบรวมกองกำลังนักสู้เพื่อเตรียมก่อเหตุ และอ้างว่ามีการแชทแอปพลิเคชันติดต่อสื่อสารกับผู้ก่อเหตุ

ขณะที่เบดั๊บ ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตี และกล่าวหาว่ารัฐบาลเวียดนามว่าพยายามดำเนินคดีเขาโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง และตอบโต้การรณรงค์เรียกร้องสิทธิของเขา

ขณะที่นานาชาติวิจารณ์รัฐบาลเวียดนามว่า การพิจารณาคดีมีปัญหาเพราะใช้เวลาพิจารณาคดีที่เร็วมาก และเป็นการพิจารณาคดีแบบลับหลัง โดยไม่ให้ผู้ถูกกล่าวมีโอกาสชี้แจง ซึ่งขัดกับหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ฯ มีโอกาสสัมภาษณ์ชาวมองตานญาด 2 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมหลังเกิดเหตุ โดยทั้งสองให้สัมภาษณ์ว่า เขาถูกตำรวจจับและถูกลากตัวเข้าไปในห้องมืด จากนั้นมีการฉีดสารบางอย่างเข้าไปในตัวเขา และควบคุมตัวเขาไว้ในห้องเป็นเวลา 2 วัน ในช่วงเวลา 2 วันนั้นตำรวจได้เข้ามาสอบปากคำเขาเกี่ยวกับเหตุโจมตี และใช้กระบองยางตีที่ขา ไหล่ มือ และศีรษะของเขา

ขณะที่ข้อหา ‘ก่อการร้าย’ ของเวียดนาม เคยถูกวิจารณ์จากนานาชาติด้วยว่า "มีความเป็นการเมือง" อย่างมาก เนื่องจากข้อกฎหมายมีบทบัญญัติที่กำกวม และถูกนำไปตีความได้อย่างหลากหลาย ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือจับกุมนักเคลื่อนไหวอย่างสันติ ลิดรอนเสรีภาพการแสดงออก และเสรีภาพการชุมนุม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ศาลไทย 'ควร' พิจารณา พ.ร.บ.ผู้ร้ายข้ามแดน และ พ.ร.บ.ป้องกัน ซ้อมทรมาน (?)

อี ควิน เบดั๊บ เป็นผู้ก่อตั้งองค์กร 'Montagnards stand for justice - MSJ' ซึ่งเป็นองค์รณรงค์เพื่อสิทธิชาวมองตานญาด เขาลี้ภัยเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 2561 ก่อนได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เมื่อปี 2563 นอกจากนี้ ก่อนลี้ภัยมาที่ประเทศไทย เบดั๊บ เคยให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ฯ เปิดเผยว่า เขาถูกจับกุมเข้าไปที่สถานีตำรวจ และถูกซ้อมทรมานเมื่อปี 2553

อี ควิน เบดั๊บ (ที่มา: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล)

เบดั๊บ ถูกจับกุมที่กรุงเทพฯ เมื่อ 11 มิ.ย. 2567 ข้อหาก่อการร้าย จากการที่รัฐบาลเวียดนามได้ส่งคำขอถึงไทยให้มีการจับกุม และส่งตัวกลับไปรับโทษในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน คดีโจมตีสถานีตำรวจและที่ทำการราชการในดั๊กลัก เมื่อปี 2566  

การสืบพยานดำเนินตั้งแต่ ก.ค. จนถึง 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาออกคำสั่งควบคุมตัวเบดั๊บ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอรัฐบาลชี้ขาดว่าจะส่งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้นี้กลับประเทศต้นทางหรือไม่

ศาลพิจารณาเพียงมาตรา 19 พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ว่าคำร้องของรัฐบาลเวียดนามถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่พิจารณาข้อต่อสู้ของจำเลยที่ยก พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย มาตรา 13 หรือเจ้าหน้าที่รัฐห้ามผลักดันหรือขับไล่ใครก็ตามกลับประเทศต้นทาง หากพิสูจน์ได้ว่าส่งบุคคลดังกล่าวกลับไปแล้วอาจเผชิญอันตราย ถูกซ้อมทรมาน หรือบังคับสูญหาย โดยมองว่า มาตรา 13 พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ต้องให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้พิจารณา

คำพิพากษาสร้างความประหลาดใจให้ทนายจำเลย และภาคประชาสังคม โดยตั้งคำถามว่า ศาลควรพิจารณา พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายฯ มาตรา 13 ในกรณีนี้ด้วยหรือไม่ ขณะที่บางส่วนเสนอว่ารัฐไทยต้องถอดบทเรียนจากคดีนี้ว่าจะทำยังไงให้กฎหมายมาตรานี้บังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระบวนการหลังจากนี้คงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร เพราะหากรัฐไทยส่งผู้ลี้ภัยกลับไป แล้วเขาต้องเผชิญอันตราย รัฐบาลจะมีส่วนต้องรับผิดชอบ ซึ่งอาจกระทบถึงการลงชิงเก้าอี้คณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ของประเทศไทยที่จะมีการเลือกในเดือน ต.ค.นี้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net