Skip to main content
sharethis

ฤดูฝนผ่านมาแล้วผ่านไป ทิ้งเอาไว้เพียงร่องรอยการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกปีละหลายหมื่นราย ตายเกือบร้อย ย้อนดูที่มาของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย สัญญาณของยุงที่ทนทายาดขึ้น และปัญหาในการควบคุมโรคไข้เลือดออก ภายใต้เงาทะมึนของโควิด-19 ที่อาจทำให้คนลืมไปว่าในบ้านเรายังมียุง

  • โรคไข้เลือดออกยังคงอยู่กับชาวไทยทุกปี แม้ในช่วงเวลาการระบาดของโควิด-19
  • ตั้งแต่ปี 2548-2562 ยอดผู้ป่วยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 77,000 รายต่อปี เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 86 ราย
  • มีทฤษฎีว่ายุงลายบ้านกระจายจากถิ่นกำเนิดในแอฟริกาไปทั่วโลกพร้อมๆ กับการเดินทางของมนุษย์ 
  • แนวทางการควบคุมไข้เลือดออกในไทย กระจายบทบาทไปที่ท้องถิ่นและประชาชนในการกำจัดลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ตัวเอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
  • การวิจัยในหลายพื้นที่ของไทยเริ่มพบยุงลายมีความต้านทานต่อสารที่ใช้ฉีดพ่นหมอกควันมากขึ้น 
  • การฉีดพ่นที่ไม่ถูกวิธี หรือฉีดพ่นบ่อยเกินไป อาจสร้างโอกาสให้ยุงมีความต้านทานมากขึ้น

“หนูกับน้องก็คิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดาทั่วไป แต่มันผิดปกติตรงที่ว่า เริ่มไม่อยากอาหารบ้าง ท้องเสียบ้าง แล้วส่วนตัวน้องชายอ้วกออกมาบ้าง แล้วอาการมันหนักขึ้นเรื่อยๆ หนูเป็นคนที่หน้ามืดบ่อยอยู่แล้ว แล้วพอลุกขึ้นมาแบบเวียนศีรษะ ลุกขึ้นมาแทบไม่ได้ต้องนอนอย่างเดียว เป็นอย่างนี้เกือบอาทิตย์หนึ่ง”

ธนัญชนก แสงมณี นักเรียนอายุ 17 ปีจาก ต.บางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เล่าถึงประสบการณ์การป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเมื่อ 2-3 ปีก่อน เมื่ออุณหภูมิไข้ที่ไม่ทราบที่มาค่อยๆ ไต่ระดับสูงขึ้น  สำทับด้วยอาการเจ็บคอ ร้อนในและท้องเสีย หลังจากนั้นไม่นานน้องชายของเธอก็มีอาการคล้ายคลึงกันแต่ว่าหนักกว่า และเมื่อได้ตรวจเลือดจึงรู้ว่าเป็นโรคไข้เลือดออก

ธนัญชนก (ไม่ประสงค์เปิดเผยตัวตน)

กรณีของธนัญชนกและน้องชายจบลงด้วยดีเมื่อน้องชายได้รับการรักษา และธนัญชนกดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านจนหายดี และได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์อนามัยในพื้นที่เข้ามากำจัดลูกน้ำและยุงลายเพื่อตัดตอนการระบาดในชุมชนที่ปลูกอยู่บนคลอง ณ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา  แต่ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะจบดีแบบนี้ เพราะโรคไข้เลือดออกที่เป็นภัยเงียบที่กลับมาระบาดและคร่าชีวิตคนในทุกๆ หน้าฝน

ในปี 2563 สถิติจากกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวน 67,538 ราย เสียชีวิต 49 ราย ย้อนไปในปี 2562 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 116,647 ราย และเสียชีวิตถึง 129 ราย หากวัดย้อนไปถึงปี 2548 จะพบว่ามีค่าเฉลี่ยผู้ป่วยราวปีละ 77,000 ราย เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 86 ราย

ในระดับโลก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สะท้อนว่าโรคไข้เลือดออกค่อยๆ แพร่กระจายไปทั่วโลกแบบเสียงไม่ดังเหมือนการระบาดของโควิด-19 โดยในทศวรรษที่ 2510 มีการรายงานเรื่องการระบาดของไข้เลือดออกจากเพียง 9 ประเทศ แต่ปัจจุบัน การระบาดได้กระจายไปมากกว่า 100 ประเทศ โดยร้อละ 70 จะอยู่ในพื้นที่แปซิฟิกตะวันตก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกมีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จากจำนวน 505,430 รายในปี 2543 เป็น 5.2 ล้านรายต่อปีในปี 2563 ข้อมูลการขยายตัวของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจาก WHO ไม่ได้หมายความว่าการระบาดเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่การที่หลายประเทศมีการจดบันทึกด้วยสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คือสัญญาณว่าโรคไข้เลือดออกและยุงลายคือปัญหาด้านสาธารณสุขที่ใหญ่ขึ้นทุกปี

ยุงลายแข็งแกร่งขึ้นในทุกหน้าประวัติศาสตร์

พญ.ดารินทร์ อารีย์โชคชัย รองผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคระบาดตามฤดูกาลที่มีอัตราผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับโรคระบาดประจำฤดูกาลอื่นๆ ยอดการระบาดของไข้เลือดออกในไทยมักมียอดการระบาดพุ่งทำยอดสูงสุดทุกหนึ่งหรือสองปี จากนั้นประชากรจะมีภูมิคุ้มกันไปพักหนึ่ง ก่อนจะมีการระบาดทำยอดสูงสุดใหม่ทุกๆ หนึ่งหรือสองปี โดยปัจจัยการระบาดหลักๆ มักเกิดจากการโยกย้ายถิ่นฐานของประชากร

ตัวอย่างของความเกี่ยวพันนี้สะท้อนจากตัวเลขผู้ป่วยในปี 2564 ที่มีราว 8,000 – 9,000 ราย (ยอดเมื่อเดือน พ.ย.) อันเป็นผลจากจำนวนการเดินทางที่ลดลงในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ การที่ยุงลายสามารถปรับตัวให้อิงแอบแนบชิดกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดของไข้เลือดออกอยู่ทุกปี

พญ.ดารินทร์

“มาลาเรียแต่ก่อนระบาดหนักมาก แต่ช่วงหลังสถานการณ์ดีขึ้นจากการที่มาลาเรียเป็นโรคที่มียารักษาอย่างชัดเจน ยาที่มีประสิทธิภาพรักษาหายขาดเยอะขึ้น จำนวนผู้ป่วยน้อยลง ขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยน มาลาเรียเป็นโรคที่ต้องอยู่กับป่า ด้วยความที่สังคมมันเป็นเมืองมากขึ้น ยุงที่นำเชื้อมาลาเรียคือยุงก้นปล่องไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีป่า ก็เลยทำให้การแพร่เชื้อมันลดลงไปเรื่อยโดยปริยาย”

“แต่ไข้เลือดออกไม่เหมือนกัน อยู่ในเมือง ในชนบท ยุงลายอยู่ได้หมด ไม่ว่าจะที่ชนบทหรือเขตเมือง แม้กระทั่งกรุงเทพมหานคร ไข้เลือดออกไม่มียารักษาเฉพาะ รักษาตามอาการ วัคซีนที่มีประสิทธิภาพก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้นการควบคุมไข้เลือดออกมันยากกว่าเดิมเยอะ ทำให้โรคไข้เลือดออกยังคงอยู่” ดารินทร์กล่าว

การเดินทางของยุงลายเกี่ยวพันกับกิจกรรมของมนุษย์อย่างมาก ทฤษฎีหลายสำนักระบุว่า การเดินทางของพาหะนำโรคไข้เลือดออกอย่างยุงลายบ้าน หรือ Ae. Aegypti อาจเริ่มแพร่กระจายจากถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาไปทั่วโลกพร้อมๆ กับข้าวของเครื่องใช้ที่ติดตัวมนุษย์ไปกับการเดินทาง ค่อยๆ ขยายตัวไปทางทิศตะวันตกผ่านเส้นทางสามเหลี่ยมการค้าทาสระหว่างแอฟริกาตะวันตก-ทวีปอเมริกา-สเปนและโปรตุเกส แล้วค่อยๆ ขยายตัวไปตามการโยกย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการค้าที่ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ หรือการเคลื่อนย้ายกำลังพลในช่วงสงคราม เมื่อผนวกกับการปรับตัวของยุงลายที่เปลี่ยนการกินเลือดสัตว์มากินเลือดมนุษย์ เปลี่ยนแหล่งวางไข่จากพื้นที่ธรรมชาติเป็นวัสดุมีน้ำขังที่ทำโดยมนุษย์ หรือการปรับพฤติกรรมให้ตัวเองพักเกาะกับพื้นผิวเรือได้ยาวนาน ก็ทำให้ยุงลายสามารถสืบพันธุ์และเดินทางข้ามโลกไปกับมนุษย์ได้

การเดินทางของยุงลายและไข้เลือดออกยังคงสัมพันธ์กับการย้ายถิ่นและการค้าของมนุษย์จนถึงโลกยุคปัจจุบัน รายงานจากองค์การอนามัยแพนอเมริกันระบุว่า ในช่วงปี 2554-2560 มีการรายงานการระบาดของโรคไข้เลือดออกหลังจากการเคลื่อนย้ายของคนขนานใหญ่ในช่วงมหกรรมกีฬาแพน-อเมริกัน เกม ที่กัวดาลาฮารา ประเทศเม็กซิโก ในปี 2554 การแข่งขันฟุตบอลเฟเดอเรชั่นคัพในปี 2556 และ มหกรรมฟุตบอลโลกในปี 2559 ที่ประเทศบราซิล

ตั้งแต่ปี 2548 เนเธอร์แลนด์เริ่มมีการค้นพบยุงลายสวน (Aedes albopictus) หนึ่งในพาหะเลือดออกจากการนำเข้าไม้ไผ่กวนอิม (Lucky Bamboo) และยุงลายบ้านจากยางใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ในชิ้นประมวลงานโดย รศ.ชำนาญ อภิวัฒนศร พบว่างานวิจัยในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2551 พบว่ายุงลายสามารถแพร่กระจายเข้ามาอาศัยในชายคาบ้านคนมากขึ้น สะท้อนว่ายุงลายสวนในเมืองมีการปรับตัวในการอาศัยในสภาพแวดล้อมใหม่ได้ ซึ่งก็อาจเกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากการขยายตัวของเมืองที่ลดพื้นที่สีเขียวลง

สภาวะสภาพอากาศแปรปรวน หรือที่รู้จักกันในชื่อเก่าว่า “ภาวะโลกร้อน” ก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่ถูกพูดถึงในฐานะปัจจัยที่มีการถกเถียงกันว่ามีผลเป็นปัจจัยบวกต่อการแพร่กระจายของยุงลายมากขึ้น โดยมีข้อค้นพบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของยุงลายบ้านและการแพร่กระจายเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2 ผลการทดลองพบว่า ไข้เลือดออกจากยุงสามารถแพร่เชื้อได้ดีในอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียสขึ้นไป และใช้เวลาฟักเชื้อในตัวยุงน้อยลง โดยในอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ยุงจะใช้เวลาฟักเชื้อก่อนแพร่ให้มนุษย์ที่ 12 วัน แต่ในอุณหภูมิที่ 32-35 องศาเซลเซียส ยุงจะใช้เวลาเพียง 7 วันเท่านั้น

ในฝั่งมนุษย์ มาตรการการควบคุมลูกน้ำด้วยการหย่อนทรายอะเบทและการพ่นหมอกควันก็มีแนวโน้มที่นับวันอาจจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งาน จากงานการสุ่มทดลองใน 11 หมู่บ้าน 8 จังหวัดในภาคเหนือของดำรงพันธุ์ ทองวัฒน์ และนพวรรณ บุญชู พบว่าลูกน้ำที่รอดชีวิตจากสารเทมีฟอส สารที่ถูกใช้ในทรายอะเบท จะมีความต้านทานต่อสารพ่นหมอกควันในตระกูลไพรีทรอยด์หลายชนิดที่มักถูกใช้ในการพ่นหมอกควันในประเทศไทยด้วย

ไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) เป็นกลุ่มสารเคมีสังเคราะห์ที่เลียนแบบสารไพรีทรัม (Pyrethrum) หรือไพรีทริน (Pyrethrins) ที่พบในพืชตระกูลดอกเบญจมาศหรือเก๊กฮวย สารไพรีทรอยด์สังเคราะห์จะมีการปรับปรุงเพื่อให้สามารถเกาะติดกับสภาพแวดล้อมและพื้นผิวต่างๆ ได้นานขึ้น มักถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการฆ่าและกำจัดแมลงชนิดต่างๆ ในทางการเกษตรและสาธารณสุข

การวิจัยของพัชรวรรณ ศิริโสภา และคณะ พบว่า จากการสุ่มตัวอย่างในเขตประเวศ กรุงเทพฯ  อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ชุมพร และพัทลุง พบว่ายุงจากทุกพื้นที่มีความต้านทานต่อสารสังเคราะห์ต่างๆ ในตระกูลไพรีทรอยด์สังเคราะห์ สารที่มักใช้ในการพ่นหมอกควันและมีอยู่ในยาจุดกันยุงอย่างแพร่หลายในประเทศไทยอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง โดยส่วนมากจะมีความต้านทานต่อสารไบเฟนทริน เปอร์เมทรินและเดลต้าเมทริน

จากการสุ่มตรวจครัวเรือนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ในงานวิจัยของ ปฐวี แวววับ และคณะ เมื่อปี 2559-2560 ยังพบว่า ลูกน้ำยุงลาย มีความต้านทานต่อสาคเมีเทมีฟอสในระดับปานกลาง และยุงลายตัวเต็มวัยมีความต้านทานต่อสารเดลต้าเมทริน ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการฉีดพ่นในรูปแบบสเปรย์กระป๋องหรือหมอกควันอยู่ในระดับสูง โดยมีอัตราการตายอยู่ที่น้อยกว่าร้อยละ 10 เพียงเท่านั้น สะท้อนว่าการพ่นหมอกควันและทรายอะเบทซ้ำๆ เป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ยุงลายมีความต้านทานต่อสารเคมีดังกล่าว

บ้านเรือนส่วนหนึ่งในคุ้งบางกะเจ้าจะปลูกอยู่บนพื้นที่คลองน้ำ

สังสิทธิ์ สังวรโยธิน อาจารย์ด้านกีฏวิทยาการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า ในความเป็นจริง การใช้ทรายอะเบทนั้นมักมีความเข้มข้นกว่าจำนวนที่ใช้ในห้องทดลอง และการพ่นหมอกควันก็มักจะใช้สารเคมีตระกูลไพรีทรอยด์หลายตัวผสมกัน ทำให้แม้ยุงที่มีความต้านทานกับสารหนึ่ง ก็อาจจะยังตายเพราะสารเคมีตัวอื่น แต่การพ่นหมอกควันที่ทำเป็นกิจวัตรซ้ำๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือนักการเมือง ก็อาจเร่งการสร้างความต้านทานของยุงในพื้นที่ที่มีการฉีดพ่น

ดารินทร์ จากกองโรคติดต่อนำโดยแมลงระบุว่าการใช้ทรายอะเบทและสารพ่นหมอกควันยังคงใช้ได้ดีในประเทศไทย แต่ข้อกังวลจะอยู่ที่การจัดเก็บและการนำสารข้างต้นไปใช้ เทมีฟอสเป็นสารที่มีความไวต่อแสง หากจัดเก็บไม่ดีก็อาจมีผลต่อประสิทธิภาพการใช้งาน นอกจากนั้น การผสมสารฉีดพ่นที่ไม่ถูกวิธี การใช้เครื่องพ่นหมอกควันผิดประเภทและการฉีดพ่นที่ทำเป็นกิจวัตรโดยนักการเมืองเป็นปัญหาที่อาจทำให้ยุงลายมีอัตราการรอดชีวิตและมีความต้านทานต่อสารฉีดพ่นมากขึ้น

เมืองใหญ่ ปัญหาใหญ่

ประชาไทลงสำรวจพื้นที่เขตห้วยขวาง เขตที่มีพื้นที่ 15 ตร.กม. และประชากรตามทะเบียนบ้านราว 84,000 คน เมื่อเทียบกับเขตอื่นๆ ในเมืองหลวงจะพบว่ามีขนาดเล็ก แต่พื้นที่นี้มีประวัติพบผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกในลำดับต้นๆ อยู่หลายหน และยังเคยทำยอดติดอันดับ 1 ในช่วงไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมาอยู่หนึ่งครั้ง หลังแรงงานชาวจีนหลักร้อยติดเชื้อไข้เลือดออกกันทั้งแคมป์จากการขุดเจาะทำชั้นใต้ดินระหว่างการก่อสร้างอาคารแห่งหนึ่ง และในปี 2558 เขตห้วยขวางได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคมอย่างมาก เมื่อทฤษฎี สหวงศ์ หรือ ‘ปอ’ ดาราชื่อดังที่อาศัยอยู่ในเขตล้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก

ณภัสสรณ์ รัตนทยากร เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน เขตห้วยขวาง แบ่งลักษณะการใช้ที่ดินในเขตห้วยขวางแบบหยาบๆ ได้เป็นพื้นที่บ้านเดี่ยวที่ค่อนข้างมีฐานะ พื้นที่ที่เป็นชุมชนแออัด ที่อยู่อาศัยแบบห้องเดี่ยวแบบอพาร์ตเมนท์และพื้นที่สำนักงาน ความแตกต่างของการใช้ที่ดินส่งผลต่อมาตรการการควบคุมโรคไข้เลือดออกในแบบที่แตกต่างกันออกไป

ณภัสสรณ์

“บ้านมีสตางค์มีพื้นที่ปลูกต้นไม้เยอะ บางทีเข้าไปจัดการความเป็นอยู่ของเขาไม่ได้ เขาก็ไม่อยากให้เข้า บางทีเวลาเราเดินรณรงค์บางคนเขามารับเรื่องหน้าบ้าน มีอ่างนั่นนี่ แต่เขาไม่ให้เข้า บางคนก็ให้เข้า บางคนมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมันก็เยอะ อันนี้ก็เป็นอุปสรรคเราเข้าได้ไม่ทั่วถึง เวลาเขาป่วยเขาถึงจะยอมให้เข้าพ่นยุง แต่เวลาเราเดินสำรวจเดินไปเคาะประตูเขาก็ทำเป็นไม่ได้ยิน”

ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตห้วยขวาง-ดินแดง พรรคเพื่อไทย เป็นสมาชิกรัฐสภาที่เคยเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) และสมาชิกสภาเขต (สข.) มาก่อน และเป็นที่รู้จักเรื่องการลงพื้นที่เพื่อพ่นหมอกควันไล่ยุง และรณรงค์เรื่องการกำจัดลูกน้ำยุงลายมายาวนานเกือบ 30 ปี เล่าว่า การทำงานของหน่วยงานราชการกรุงเทพฯ ยังมีช่องโหว่ เพราะมีพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่ไม่ถูกจดทะเบียนเป็นชุมชนกับเขต เช่น หมู่บ้านจัดสรรหรือทาวน์เฮาส์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะมีผู้ประสานงานระหว่างคนในหมู่บ้านกับส่วนราชการ ต่างจากพื้นที่ชุมชนที่จดทะเบียนจัดตั้งที่จะมีกรรมการชุมชนและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ที่ผ่านการอบรมในเรื่องการควบคุมโรคไข้เลือดออก จากสถิติที่ตนมีก็พบว่าหลังๆ ผู้ป่วยไข้เลือดออกในพื้นที่ชุมชนแออัดหรือพื้นที่บุกรุกซึ่งจัดตั้งเป็นชุมชนกับทางเขตจะมีจำนวนน้อยกว่าพื้นที่บ้านจัดสรรหรือทาวน์เฮาส์

ประเดิมชัยประกาศแจ้งประชาชนเรื่องการมาฉีดพ่นหมอกควัน

“คนที่อยู่ในบ้านจัดสรรสถิติป่วยเป็นไข้เลือดออกเยอะกว่า พวกทาวน์เฮ้าส์เยอะกว่าชุมชนแออัด ในชุมชนแออัดมี อสส. ที่เขตเองรณรงค์ ประสานงานกับ อสส. (อาสาสมัครสาธารณสุข) เอา อสส. เดินรณรงค์ เอาทรายอะเบทไปแจก คว่ำภาชนะต่างๆ ทำอย่างต่อเนื่อง พูดถึงช่วงก่อนโควิด แต่ในช่วงโควิด เจ้าหน้าที่เขตก็ลงไปค่อนข้างน้อย เพราะมีเรื่องของสถานการณ์โควิดเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปค่อนข้างลำบาก เพราะว่าต้องใช้มาตรการเฝ้าระวังของโควิดด้วย” ประเดิมชัยกล่าว

การพ่นหมอกควันของประเดิมชัยจะเป็นการนำทีมงานไปลงพื้นที่แล้วฉีดเพื่อครอบคลุมพื้นที่หนึ่งๆ ให้มากที่สุด ต่างจากการฉีดพ่นของทางเขตที่จะเกิดขึ้นหลังสอบสวนโรคแล้วระบุพิกัดพื้นที่การระบาดได้ แล้วจึงออกไปพ่นหมอกควันในรัศมี 50 เมตรรอบบ้านที่มีการระบาด หากเทียบทรัพยากรจะพบว่าทีมงานของประเดิมชัยมีมากกว่าเขต โดยมีเครื่องฉีดพ่น 3 เครื่อง และคนที่ทำหน้าฉีดพ่น 6 คน เทียบกับของเขตที่มีเครื่องฉีด 2 เครื่อง และพนักงานฉีดพ่น 2 คน

ทั้งนี้ ผู้ฉีดพ่นก็รู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สังเกตได้จากการที่ยุงไม่ได้ลดลงไปนัก สอดคล้องกับผลวิจัยเรื่องความต้านทานที่เกิดขึ้นในหมู่แมลงตัวจิ๋วที่เขาว่ากันว่าร้ายกว่าเสือนี้ มากไปกว่านั้น บริบทเมืองยังทำให้การฉีดพ่นได้รับการตอบรับที่ต่างกันออกไปของชุมชนที่อยู่กันหนาแน่น

ทีมงานพ่นหมอกควันของประเดิมชัย ขณะพ่นหมอกควันในพื้นที่ห้วยขวาง

“(ยุง) ไม่น้อยลงครับ ในทุกรอบปี ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ในช่วงที่หมดฝน น้ำมันขัง ยุงลายไข่ แพร่ระบาด ก็มีถามว่าคนป่วยน้อยลงไหม ไม่น้อยครับ ปริมาณยุงไม่น้อยลง ยุงมีแต่เพิ่มมากขึ้น”

“ตามหลักวิชาการ เขามุ่งเน้นที่จะให้ความรู้เรื่องรวมทั้งขอความร่วมมือในการคว่ำ ดูแลภาชนะในการที่จะเป็นแหล่งรองรับน้ำที่ยุงจะไปไข่และแพร่ระบาด ฟักเป็นตัวมากกว่าการที่จะฉีดพ่น แต่ประชาชนเองส่วนหนึ่งเขามองว่าการฉีดพ่นเป็นการช่วยเสริม ทำให้เขาปลอดภัย อุ่นใจมากขึ้น การฉีดพ่นไม่ได้เป็นอันตรายต่อประชาชน เขาไม่ได้สัมผัส ไม่ได้อยู่กับสารเคมีตลอด ไม่ได้มีอันตรายต่อผู้คน” ประเดิมชัยกล่าว

“พี่ต้องโทรถามผู้ติดเชื้อผู้ป่วยก่อน อาจจะไม่สะดวกว่ารอบข้างเป็นอย่างไร ถ้าเป็นร้านค้าเขาต้องหยุดไง มันก็จะกลายเป็นอุปสรรค หรือคนไข้ที่อยู่ภาคสนามหรืออยู่ในออฟฟิศ โอกาสที่จะมียุงมากัดก็น้อย มันต้องใช้ดุลยพินิจตรงนี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ พ่นส่งๆ แล้วมันกลายไปเป็น (ผล) ข้างเคียง พี่เคยโดนดึงคอเสื้อจะชก เขาเลี้ยงไก่ตัวหนึ่งหลายแสน”

“กระทรวง (สาธารณสุข) เขาไม่ให้พ่น แนะนำว่าให้ใช้วิธีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตอนเป็นลูกน้ำดีที่สุด เพราะพอมันเป็นตัวแล้วมันตายยาก ตายช้า เป็นตัวหนุ่มสาวบินไกล เวลาเราพ่นโดนเต็มๆ มันเป็นไปได้ แต่มันไม่ได้ร่วงยาว ตายเป็นหมวดหมู่ ตัวแก่ๆ มีสิทธิ์ตาย เขาคิดว่าพ่นจะช่วยได้ พี่คิดว่ามันเหมือนเราพ่นสเปรย์เนี่ยแหละ เหมือนช่วยทางใจ” ณภัสสรณ์เล่า

นอกจากเรื่องการจัดการยุงโดยตรง นโยบายบางอย่างยังมีผลกระทบต่อมาตรการการกำจัดลูกน้ำยุงลายด้วย ยกตัวอย่างเช่น นโยบายเก็บภาษีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เมื่อช่วงปี 2563 ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือกสวนไร่นาผุดขึ้นกลางที่ดินรกร้างในกรุงเทพฯ เป็นดอกเห็ด แม้พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอาจฟังดูเป็นเรื่องที่ดี แต่เรือกสวนไร่นาที่ขาดการดูแลก็ทำให้พื้นที่เพาะพันธุ์ยุงลายขนาดใหญ่

ท่อน้ำใน กทม. กับหมอกควันฉีดยุง

“ยกตัวอย่างนะ บางที่ก็ปล่อยเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ตอนนี้ก็ยกมาเป็นร่องสวน เพื่อใช้ในการปลูกต้นไม้ พูดง่ายๆ มันอาจจะมีช่องว่าง แทนที่จะปล่อยเป็นที่รกร้าง ภาษีมันแพง ก็ปลูกต้นไม้เสีย แจ้งเป็นแปลงเกษตร การเสียภาษีก็จะถูกลง คนที่อยู่คอนโดฯ ข้างหลังก็ร้องมาให้ไปฉีดยุงในที่ว่างข้างหลังนี้ให้หน่อย เพราะว่ายุงมันเยอะ ทำให้คนอยู่ในคอนโดฯ เดือดร้อน ซึ่งเราเข้าไปไม่ได้เพราะว่าเขาล้อมรั้ว อันนี้ก็ยังเป็นความกังวล ยังเป็นปัญหาในกรณีที่รกร้างว่างเปล่าที่มันมีแหล่งน้ำขังและเป็นแหล่งน้ำสะอาด เป็นจุดที่ก่อให้เกิดยุง โดยเฉพาะยุงลายเพิ่มด้วย ซึ่งเราก็ทำอะไรไม่ได้ เราไม่รู้จะทำยังไง” ประเดิมชัยกล่าว

“ห้วยขวางก็มี ดงปรือเยอะ มีแหล่งน้ำ ยุงลาย เมื่อก่อนเขาให้มองตรงนี้ด้วยแต่เราทำไม่ไหว แบบที่ตรงนู้นมันเป็นไร่ ใครจะไปหยอด (น้ำมันฆ่าตัวโม่ง) ให้เขาได้ ปัญหาคือตรงนี้ มันมีที่ว่างในพื้นที่กรุงเทพฯ เจ้าของที่ปล่อยให้เป็นต้นหญ้าที่ขึ้นมาโดยไม่ใส่ใจถมที่ เป็นแหล่งน้ำ” ณภัสสรณ์เล่า

โควิด-19 ยื้อแย่งทรัพยากร

ดารินทร์เล่าว่าแนวทางการควบคุมโรคไข้เลือดออกของไทยเปลี่ยนเป็นลักษณะกระจายอำนาจมากขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อำนาจการจัดสรรงบประมาณ บทบาทการรณรงค์ให้ประชาชนกำจัดลูกน้ำยุงลาย และการฉีดพ่นหมอกควันถูกส่งต่อให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยเหลือด้านข้อมูลและองค์ความรู้ สอดคล้องกับแนวทางการควบคุมโรคไข้เลือดออกที่เรียกร้องให้ประชาชนควบคุมลูกน้ำยุงลายให้เหมาะสมตามบริบทที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

หน้ากากที่กลายเป็นขยะในทางน้ำขัง

แต่การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ก็กลายเป็นเงื่อนไขที่ดึงสรรพกำลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆ ไปจัดการกับการควบคุมโรคอุบัติใหม่นี้กันหมด ทำให้การตรวจสอบโรคประจำฤดูกาลอื่นๆ ถูกจัดวางความสำคัญเอาไว้ในลำดับรองลงมา ตัวเลขผู้ป่วย 8,000 กว่ารายในปี 2564 นั้นยังอาจมีความคลาดเคลื่อนไปจากตัวเลขความเป็นจริงอยู่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังต้องใช้เวลาเพื่อตามเก็บยอดผู้ป่วยย้อนหลัง

ณ คุ้งน้ำบางกะเจ้า ถิ่นฐานบ้านเกิดที่ธนัญชนกเคยป่วยไข้ ยอดผู้ป่วยไข้เลือดออกค่อยๆ ลดลงจากปี 2561 ที่ 5 ราย เหลือ 3 ราย และเหลือ 1 รายในปี 2563 แนวโน้มสถานการณ์ดูดีขึ้นเรื่อยๆ แม้สภาพพื้นที่ของชุมชนในพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใกล้กรุงเทพฯ จะเต็มไปด้วยเรือกสวนไร่นาและพื้นที่คลองน้ำที่มีชุมชนปลูกบ้านเรือนแบบยกสูงอยู่ก็ตาม ธนัญชนกเล่าว่าเธอรู้สึกว่าจำนวนยุงลดลงไปมาก เทียบกับสมัยก่อนที่ยุงจะบินเข้ามาเกาะแขนเกาะขาทันทีที่ออกไปทำอาหารที่ห้องครัว

ชมัยพร แสงแดงชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ผอ.รพ.สต.) บางกะเจ้า เล่าว่า การทำงานในพื้นที่ได้มีการจัดอบรมกลุ่มแกนนำต่างๆ อย่าง อสม. ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ จากนั้นเมื่อทำต่อมาเรื่อยๆ ผู้ป่วยก็ลดลงเรื่อยๆ

ชมัยพร

“เราเน้นในเรื่องโครงการอบรมแกนนำ ในการอบรมเราเชิญแกนนำหมุ่บ้านเข้ามา พออบรมเสร็จก็เดินรณรงค์รอบๆหมุ่บ้าน หลังจากจัด เราจัด 2 รอบ งบประมาณเราขอไว้แค่นั้น เราจัดสองรอบแล้วไม่ใช่โครงการอย่างเดียว เรายังมีการเดินรณรงค์ของ อสม. และเจ้าหน้าที่ด้วยปีละ 4

“หลังจากเดินรณรงค์เสร็จเราก็ให้ อสม. ไปสำรวจลูกน้ำยุงลาย แล้วเราให้มีทีมเข้าไปประเมิน อสม. ไปตรวจว่าเจอลูกน้ำไหม ถ้าเจอลูกน้ำเราก็เข้าไปปรับ เอา อสม. เข้าไป จะมีทีม อสม. ไปตรวจสุ่มลูกน้ำยุงลายด้วย มันก็เกื้อหนุนกับโครงการที่ทำเรื่องลูกน้ำยุงลายนั้นแหละ แต่ว่าอันนี้คือเป็นกิจกรรมของ อสม. เช่น ทราย (อะเบท) เราก็ได้รับการสนับสนุนจาก อบต. จังหวัด และสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ”

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ศูนย์อนามัยต้องเอาทรัพยากรไปลงกับเรื่องการควบคุมโรคอุบัติใหม่นี้จนโครงการเดิมยังไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ มาตรการการควบคุมโรคของ อสม. ก็ยังคงดำเนินต่อไปตามเดิม เงื่อนไขเช่นนี้ดำเนินไปในลักษณะเดียวกันในเขตห้วยขวาง ซึ่งณภัสสรณ์เล่าว่ามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้การเดินรณรงค์ตามบ้านต้องถูกระงับเอาไว้เกือบ 2 ปี

กิจกรรมการรณรงค์เรื่องการกำจัดลูกน้ำยุงลายของ รพ.สต.บางกะเจ้า

เช่นเดียวกันกับที่ ต.บางกระเจ้า จ.สมุทรสาคร ตำบลริมน้ำชื่อคล้ายคลึงกับ ต.บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ ปฐวี ปวกพรหมา นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ รพ.สต.บางกระเจ้า เล่าว่ายังไม่มีรายงานผู้ป่วยในปี 2564 โดยปกติจะมีผู้ป่วยเฉลี่ยต่อปีราว 20 ราย แม้การระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องใช้กำลังคนไปควบคุมการระบาดของโควิด-19 ก่อน แต่กิจกรรมการรณรงค์การกำจัดลูกน้ำยุงลายและการเดินตรวจตามบ้านยังคงทำกันเป็นปกติ

ข้ามไปที่ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ นพ.กิตติภูมิ จุฑาสมิทธ์  ผอ.รพ.ภูสิงห์ เล่าว่าปกติในพื้นที่จะมีผู้ป่วยปีละ 25-30 ราย แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สภาพอากาศที่แห้งแล้งและฝนน้อยก็ทำให้ผู้ป่วยน้อยลง ในปี 2564 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ได้รับรายงานอยู่เพียง 8 ราย ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ความสนใจในเรื่องการควบคุมโรคไข้เลือดออกถูกเบนออกไปอย่างที่หลายที่เป็น

“ปกติเราจะแอคทีฟ (ตื่นตัว) ก่อนโควิด-19 โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ต้องป้องกันอันดับหนึ่งเลย เพราะมันระบาดแทบทุกปี แต่พอมีโควิด-19 เราต้องออกควบคุมโรค ทำการสวอบ ฉีดวัคซีน เรามุ่งทรัพยากรไปที่เรื่องโควิด-19 มาก จนอาจจะละเลยเรื่องไข้เลือดออกไป จริงๆ ก็ไม่ได้ละเลย เรียกว่า ลดลำดับความสำคัญลง จากที่เคยเป็นความสำคัญอันดับแรกลงมาเป็นอันดับสอง อันดับสาม”

ความร่วมมือคือสิ่งที่ต้องการ

กิตติภูมิเล่าว่า ภาพรวมการควบคุมโรคระบาดของไข้เลือดออกในไทยมีขั้นตอนอยู่สามอย่าง ได้แก่ หนึ่ง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นลูกน้ำด้วยการกำจัดพื้นที่น้ำขังหรือใส่ทรายอะเบทในแหล่งเก็บน้ำกินน้ำใช้ สอง ทำลายตัวยุงที่โตแล้วด้วยการพ่นหมอกควัน สาม หาตัวผู้ป่วยให้เจอและรีบรักษาโดยเร็ว เพราะผู้ป่วยจะมีเชื้อไข้เลือดออกในเลือด ยุงที่ดูดเลือดผู้ป่วยไปแล้วก็จะสามารถแพร่โรคให้คนอื่นได้

หลักการดังกล่าวถูกใช้ในศูนย์อนามัยทุกที่ที่มีการสอบถาม ข้อท้าทายในส่วนของการทำงานมักจะอยู่ที่เรื่องของความร่วมมือจากประชาชนที่แต่ละที่ยังมองว่ามีไม่มากพอ โดยเฉพาะเมื่อประชากรมีการขยายตัวและความเป็นเมืองมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การไม่จัดการกับแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ของตัวเองและพื้นที่โดยรอบก็ยิ่งทำให้ความเสี่ยงที่มีต่อไข้เลือดออกสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

“ถ้าประชากรเพิ่มขึ้น ความแออัด สุขลักษณะของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน พอแออัดมากขึ้นขยะมันก็มากขึ้น... ลูกน้ำที่เราเจอส่วนใหญ่เจอในขยะที่มันโดนฝนตกมาแล้วมันขังในถ้วยที่เขาทิ้งไว้ ทำให้เกิดลูกน้ำยุงลาย อันนี้คือค่อนข้างที่จะเยอะพอสมควร ปกติแล้วถ้าเป็นอ่างน้ำ ถ้าเขาใช้เป็นประจำมันไม่ค่อยมีหรอก อย่างอ่างน้ำในห้องน้ำเพราะคนที่สุขลักษณะดี เขาจะทำความสะอาด ขยะที่อยู่ข้างนอกโดยที่ไม่เก็บ ถูกทิ้งไม่เป็นที่เป็นทาง ยุงลายมันไปไข่กลายเป็นลูกน้ำ” ปฐวีกล่าว

“ตัวมนุษย์นี่แหละครับน่าจะจำเป็นต้องตระหนักที่สุด แล้วรู้ว่าบ้านเรามีตรงไหนบ้างที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แล้วในขณะเดียวกันผู้ที่จะไปเป็นผู้รณรงค์การเพาะพันธุ์ยุงลายก็ต้องเข้าใจแต่ละคนด้วย ภาชนะพลาสติก ถังน้ำใบเดียวกัน บ้านหนึ่งใช้เพื่อวัตถุประสงค์หนึ่ง อีกบ้านเพื่อวัตถุประสงค์หนึ่ง วัตถุประสงค์เขาเปลี่ยนไปนะ ไอ้ที่เราบอกว่าคว่ำภาชนะ ที่เราบอกเป็นแบบแผนง่ายๆ มันเข้าไม่ถึงแต่ละคนจริงๆ ดังนั้นควรจะมีกลไกอื่นๆเข้ามาร่วมกัน” สังสิทธิ์ จาก ม.มหิดล กล่าว

ณภัสสรณ์เองก็มีความเห็นเดียวกันว่าถ้าประชาชนใส่ใจในการกำจัดลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ของตัวเอง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคไข้เลือดออกในเมืองได้เยอะ

“ประชาชนขาดความตระหนักความใส่ใจ ไม่สนใจในเรื่องนี้ ไม่ให้ความร่วมมือ คอยให้เราไปสปอยล์ตลอด บางทีไปให้ความรู้เขาก็ไม่ค่อยเข้าใจ แก่แล้วยุงอะไรกัดตัวเองเป็นไข้เลือดออก ยุงลาย ยุงที่ดูดเลือดที่แพร่เชื้อไม่รู้

“ประชาชนขาดความสนใจตัวเองในการที่จะไม่ให้ยุงกัด ถ้าให้ความร่วมมือต่างคนต่างช่วยกันมันจะรอด แต่ถ้าเรียกร้องมาให้พ่นยุงให้หน่อยแต่ตัวเองไม่ทำอะไรมันก็แค่นั้น จริงๆ ถ้าทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ได้ ป้องกันตัวเองมันก็รอด” ณภัสสรณ์กล่าว

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องขอความร่วมมือ ท่ามกลางความพยายามควบคุมไข้เลือดออก การระบาดของไข้เลือดออกในไทยก็ยังคงดำเนินต่อไป คำถามตัวโตก็คือ อะไรที่จะทำให้การควบคุมโรคไข้เลือดออกประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง

ติดตามอนาคตของการควบคุมโรคไข้เลือดออกในตอนจบของรายงานชุดพิเศษ ที่นี่ (คลิก)

รายงานพิเศษชุดนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Internews’ Earth Journalism Network

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net