Skip to main content
sharethis

การดิ้นรนเอาตัวรอดและขยายพันธุ์ของยุงลายดำเนินไปคู่ขนานกับความพยายามในการกำจัดพวกมันของมนุษย์ การควบคุมยุงลายและไข้เลือดออกในไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้บางที่ได้ผล แต่บางที่ยุงก็แข็งแรงขึ้น บางที่มีการติดเชื้อซ้ำซาก แล้วอะไรจะเป็นทางออกที่ยั่งยืน ประชาไทสำรวจการดิ้นรนของมนุษย์ในการควบคุมไข้เลือดออกในวันนี้และอนาคต ซึ่งมีการมีชีวิตรอดของทั้งยุงและคนเป็นเดิมพัน

ยุงสตัฟฟ์ในห้องนิทรรศการของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กระทรวงสาธารณสุข

ในทางสถิติระดับชาติ ตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกย้อนหลังที่ยังคงแตะหลักหมื่นถึงหลักแสนต่อปียังคงเป็นคำถามว่า การควบคุมโรคที่ใช้กำลังคนจำนวนมากยังมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ จะมีเครื่องมืออะไรที่สามารถนำมาใช้ในการควบคุมไข้เลือดออกได้อีก โจทย์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงในประเทศไทย แต่ประเทศอื่นทั่วโลกที่มีการระบาดของโรคที่มากับยุงต่างก็ค้นหาแนวทางในการลดจำนวนยุง หรือตัดตอนพาหะนำโรคเหล่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ตลอดเวลา

ยุงยังดิ้นรน คนก็เช่นกัน (1): อดีตและปัจจุบันของการควบคุมไข้เลือดออกในไทย

ในตอนสุดท้ายของชุดรายงานพิเศษ “ยุงยังดิ้นรน คนก็เช่นกัน” เราสำรวจแนวทางการควบคุมลูกน้ำยุงลายที่มนุษยชาติกำลังค้นหาแนวทางที่ดีที่สุด บางครั้งก็สำหรับมนุษย์อย่างเดียว บางคราวก็สำหรับยุงด้วย

ยุงยุคใหม่ ปลอดภัยจากไข้เลือดออก

หากค้นหาตามหน้าข่าวหรืองานวิจัย จะพบว่าแนวทางการควบคุมไข้เลือดออกในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาเริ่มเป็นไปในทางการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบสารสนเทศมาใช้งานในการจัดการพื้นที่ ไปจนถึงการจัดการกับรายละเอียดทางชีวภาพของยุงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อมุ่งเน้นให้ยุงจัดการกับยุงกันเอง

ยกตัวอย่างเช่น การทำหมันยุง หนึ่งในความพยายามตัดต่อพันธุกรรม หรือเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางชีวภาพบางอย่างในตัวยุง เพื่อให้ยุงออกไปผสมพันธุ์แล้วมียุงรุ่นต่อไปที่เป็นหมัน หรือทดแทนประชากรยุงในพื้นที่หนึ่งๆ ด้วยยุงที่ไม่เป็นพาหะนำเชื้อไข้เลือดออก วิธีการนี้มีการทดลองในหลายพื้นที่ทั่วโลกเพื่อป้องกันโรคติดต่อนำโดยแมลง

ในไทย การทดลองเมื่อปี 2562 นำโดยมหาวิทยาลัยมหิดล ใช้วิธีนำยุงลายบ้านฉีดเชื้อแบคทีเรียสกุลโวบาเกีย (Wolbachia) ไปฉายรังสีปริมาณอ่อนเพื่อให้ยุงเป็นหมันแล้วปล่อยยุงเพศผู้ที่ผ่านกระบวนการข้างต้นออกไปผสมพันธุ์กับยุงลายบ้านตัวเมียในธรรมชาติและทำให้ยุงตัวเมียไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อได้ เมื่อนำยุงไปทดลองใช้งานในพื้นที่วิจัยที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อปี 2559 พบว่าสามารถลดจำนวนยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคในธรรมชาติได้ร้อยละ 97 หลังปล่อยยุงตัวผู้เป็นเวลา 6 เดือน

การทำหมันยุงในลักษณะเดียวกันเคยถูกใช้ในประเทศจีนที่เมืองบนเกาะกลางแม่น้ำสองแห่งในมณฑลกวางโจวเมื่อปี 2559-2560 แต่ถูกใช้กับยุงลายสวน โดยการทดลองพบว่าจำนวนยุงตัวเมียที่โตเต็มวัยมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสองปีข้างต้น โดยจำนวนยุงลดลงร้อยละ 83 ในปี 2559 และลดลงร้อยละ 94 ในปี 2560

สังสิทธิ์ สังวรโยธิน อาจารย์จากภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่าวิธีควบคุมโรคไข้เลือดออกที่กำลังเป็นเทรนด์ร้อนแรงในปัจจุบันเป็นไปในแนวทางที่ไม่ได้พูดถึงความร่วมมือในการกำจัดลูกน้ำยุงลายสักเท่าไหร่ แต่ไปเน้นที่ตัวยุงเป็นหลัก

“...วิธีนี้เขามองข้ามความร่วมมือจากประชาชนไปแล้ว เขาขอแค่การยอมรับ อย่างสิงคโปร์ เขาก็ส่งคนไปเชิญประชาชนมาดูในห้องแล็ป มาดูที่ศาลาประชาคม และสิ่งที่เขาทำคือเขามีกรงใส่ยุง แล้วเขาก็ยื่นแขนเข้าไปแล้วเขาก็บอกว่ายุงไม่กัด เหตุผลที่มันไม่กัดเพราะว่ามันคือยุงเพศผู้ แต่ว่ายุงเพศผู้ตัวนี้ เบื้องหลังของเขาก็คือเป็นยุงเพศผู้ที่ถูกทำให้มันมีแบคทีเรียตัวหนึ่ง แบคทีเรียที่เข้าไปแทรกอยู่ในเซลล์ของตัวยุงเลยนะ แล้วเจ้าแบคทีเรียตัวนี้มีสายพันธุ์ของมันเองถ้าสายพันธุ์เหล่านี้อยู่ร่วมกันได้ ยุงก็จะออกลูกออกหลานได้ มันจะไปติดเชื้ออยู่ในระบบสืบพันธุ์ทั้งในรังไข่และในอัณฑะนะครับ แต่ถ้าหากว่าเป็นคนละสายพันธุ์กัน มันจะทะเลาะกัน ก็ทำให้ลูกที่เกิดขึ้นมาเนี่ยได้รับแบคทีเรียจากต่างสายพันธุ์มีปัญหาลูกก็จะตาย” สังสิทธิ์พูดถึงการทำหมันยุงและการใช้แบคทีเรียโวบาเกีย

โวบาเกียเป็นแบคทีเรียที่อาศัยในเซลล์ของแมลงหลายประเภท ยุงบางชนิดเองก็มีแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ แต่ไม่ใช่กับยุงลายบ้าน แบคทีเรียชนิดนี้ถูกค้นพบเมื่อปี 2467 และในการทดลองเมื่อทศวรรษที่ 2530 ก็พบว่าโวบาเกียมีผลต่อการส่งต่อโรคที่นำโดยยุง และในปี 2552 โครงการ World Mosquito Program ประสบความสำเร็จในการผลิตยุงลายที่สามารถส่งต่อโวบาเกียให้ยุงรุ่นลูกได้ โดยยุงที่มีโวบาเกียจะติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้น้อยลง

โครงการของ World Mosquito Program มีความมุ่งหมายมากกว่าจะลดประชากรยุงด้วยการทำหมัน แต่มุ่งที่จะทำให้ยุงที่มีโวบาเกียสามารถดำรงชีวิตและสืบพันธุ์ต่อไปในธรรมชาติเพื่อลดอัตราการระบาดของโรคที่ติดต่อจากยุงในระยะยาว ข้อมูลเมื่อเดือน ก.ย. 2564 มีการปล่อยยุงลักษณะนี้ใน 11 ประเทศในภุมิภาคเอเชียแปซิฟิก ออสเตรเลียและละตินอเมริกา ข้อมูลจากโครงการระบุว่าพื้นที่ที่มีการปล่อยยุงที่มีโวบาเกียนั้นมีอัตราการติดเชื้อไข้เลือดออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การทดลองรอบล่าสุดในการปล่อยยุงลายที่มีโวบาเกียในเมืองยอกยาการ์ตา หนึ่งในเมืองใหญ่ของประเทศอินโดนีเซีย พบว่าการทดลองปล่อยยุงในพื้นที่ควบคุม สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ได้มากถึงร้อยละ 77 และสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลงกว่าร้อยละ 86

ยังไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

แม้อนาคตจะบีบมาทางนี้ แต่สังสิทธิ์มองว่าการใช้โวบาเกียยังมีข้อจำกัดในเชิงพื้นที่อยู่ เพราะในพื้นที่จริง ยุงที่มีโวบาเกียต้องเจอกับยุงเจ้าถิ่นที่เป็นประชากรเดิม บวกกับการที่ยุงก็มีอายุขัยสั้นอยู่แล้วก็อาจต้องใช้ยุงหลายชุดกว่าที่จะสามารถควบคุมประชากรยุงได้ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ของไทยและปัจจัยทางพันธุกรรมของยุงที่ควบคุมไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เหตุผลที่พัวพันและผสมผสานกันนี้อาจทำให้กระทรวงสาธารณสุขไทยยังคงมองเรื่องการควบคุมโรคไข้เลือดออกด้วยการมุ่งเป้าไปที่ตัวยุงอย่างรอบคอบ

“ประเทศที่เป็นเกาะกับประเทศที่เป็นสะพานเชื่อมแบบประเทศไทย วิธีคิดมันไม่สามารถมองมุมเดียวกันได้ ประเทศที่เป็นหมู่เกาะถ้าลดประชากรไปเรื่อยๆ มันไม่มียุงข้ามเกาะมาใหม่ เทคนิค sterile insect technique (ทำหมันยุง) มักจะประสบความสำเร็จพื้นที่ที่เป็นเกาะ อย่างเช่นอเมริกา แต่เขาใช้เวลาเป็น 10 ปีเลยนะในการใช้รังสีฉายไปยังแมลงวันชนิดหนึ่ง เรียกว่าแมลงวันที่ไปไชตามผิวหนัง เขาแค่แก้ปัญหาที่ปศุสัตว์แต่ว่ามันมาแก้ไขปัญหาไชผิวหนังคนได้ด้วย เพราะฉะนั้นเวลาประมาณเป็น 10 ปีมั้งที่พยายามปล่อยเพศผู้เป็นหมันซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งๆ ที่กำลังลดจำนวนลงไป เหตุผลหลักก็เพราะว่าอเมริกาซ้ายก็ทะเล ขวาก็ทะเล ก็ถือว่าเป็นทวีปที่แยกขาดจากทวีปใหญ่”

“ประเทศไหนที่ประสบความสำเร็จอีก เวียดนามมั้ง เวียดนามประสบความสำเร็จแต่ว่าเขาทำในเกาะ แต่ว่าถ้าเราจะมาทำในประเทศไทย แนวคิดนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วกับแมลงวันทอง ที่เราเคยใช้รังสีจากพลังงานนิวเคลียร์เหมือนกันในการไปควบคุมแมลงวันทองด้วยการกะว่าจะได้กำจัดประชากรพวกนี้ทั้งหมดไป เราคิดจะกำจัดจากสวนหนึ่ง ปรากฎว่าแมลงวันทองจากอีกสวนหนึ่งมันก็เข้ามาแทนที่ อันนี้เราต้องหมั่นทำเรื่อยๆ เราก็ไม่ทราบว่ามันจะสำเร็จเมื่อไหร่”

“เรากำลังเลือกที่มีพันธุกรรมแบบนี้นะครับ จะมี โวบาเกีย ก็ตาม หรือมียีนส์อะไรต่างๆออกไปเนี่ย สู่สิ่งแวดล้อม แต่เราลืมธรรมชาติข้อนึงของสิ่งมีชีวิต คือสิ่งมีชีวิตต้องการจะมีชีวิต ไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนที่คิดไปในทางสูญพันธุ์ มีแต่จะหาทางรอด โดยเฉพาะพวกแมลงมันมีโอกาสที่จะพัฒนาทิศทางไม่ว่าเราจะใส่อะไร ให้มันตายก็ตาม มันก็จะหาทางรอดตายได้เสมอ แล้วในวันนั้นเราจะกลับไปแก้ไม่ได้” สังสิทธิ์กล่าว

ความเป็นไปได้เรื่องการเอาตัวรอดของยุงเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2562 ในประเทศบราซิล บีบีซีรายงานว่า ยุงที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมให้เป็นหมันเพื่อลดประชากรยุงใน 18 เดือนก่อนหน้านั้น ค่อยๆ เพิ่มจำนวนและมีความแข็งแกร่งและทวีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ยุงรุ่นใหม่ควรจะอ่อนแอและตายลง

พญ.ดารินทร์ อารีย์โชคชัย รองผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กระทรวงสาธารณสุขเล่าว่า ปัจจุบันการใช้โวบาเกียและทำหมันยุงยังอยู่ในระดับของงานศึกษาและวิจัยโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลที่มีห้องปฏิบัติการพร้อม และยุงเหล่านั้นจะถูกนำไปทดสอบในพื้นที่โดยทางกองฯ ที่ยังไม่มีห้องแล็บที่เพียบพร้อมเท่า ทั้งนี้ ศักยภาพของแล็บในประเทศยังไม่สามารถผลิตยุงได้เพียงพอต่อความต้องการของพื้นที่ ดังนั้น นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาใช้จะยังคงเป็นมาตรการที่ดำเนินการควบคู่ไปกับการควบคุมลูกน้ำยุงลายโดยประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่น

“การที่จะเอายุงเป็นหมันหรือเชื้อโวบาเกียไปปล่อยในธรรมชาติเพื่อที่จะให้มีการควบคุมโรคได้ แปลว่ามันต้องปล่อยให้เยอะพอเพื่อที่จะไปแทนในธรรมชาติได้ พูดง่ายๆ พอปล่อยไปแล้วในระยะยาวมันทดแทนยุงที่มีเชื้อธรรมชาติออกไปได้ มันต้องปล่อยจำนวนมหาศาล ตอนนี้ข้อจำกัดคือห้องแล็บประเทศไทยที่มีไม่ผลิตยุงในสเกลที่ใหญ่มากขนาดนั้นค่ะ สมมติว่าเราต้องการยุงบ้าน 100 หลังคาเรือนอย่างที่บอก เราต้องการยุง 100,000 ตัว แต่ผลิตได้แค่ 20,000 ตัวมันยังห่างไกลความเป็นจริงอีกเยอะเลย แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำ เพื่อขยายศักยภาพต่อไปในอนาคต”

ทางข้างหน้าคือการหลอมรวม

สำหรับการควบคุมโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จริง กองโรคติดต่อนำโดยแมลงได้พยายามผสานการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ร่วมกับการควบคุมลูกน้ำยุงลายตามบ้านเรือน มีการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่งข้อมูลดิบเพื่อจัดทำฐานข้อมูลและประมวลความเสี่ยงและสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ต่างๆ อย่างแอปพลิเคชันทันระบาด นอกจากนั้นยังมีแอปพลิเคชันรู้ทัน ที่ดึงข้อมูลจากแอปฯ ทันระบาดเข้าไปประมวลเป็นยอดการรระบาดตามพื้นที่ทั่วประเทศไทย พร้อมแนะนำแนวทางการควบคุมลูกน้ำยุงลายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึง

การทดลองกับยุงโดยกองโรคติดต่อนำโดยแมลง

“จะมีเครื่องดักจับยุงบางตัวที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ดักยุงแล้วฆ่ายุงให้ ตรวจนับยุงได้ พวกนี้ก็จะมีที่ทดสอบอยู่ แล้วก็จะมีในอนาคตอันนี้เป็นอันที่ทาง สวทช. ทำอยู่ที่เป็นความร่วมมือในอนาคตคือ AI ดักจับยุงลาย ปัจจุบันนี้ที่เราประเมินความเสี่ยงว่าพื้นที่ไหนไข้เลือดออกระบาด คนลงไปสำรวจลูกน้ำยุงลาย มันใช้แรงคนเยอะมาก แต่ว่าเรากำลังคิดว่าทำยังไงให้มี AI เข้ามาช่วยในการสำรวจยุง โดยไม่ต้องเอาคนเข้าไปจับยุงในพื้นที่”

“platform ทันระบาด ทำขึ้นมาแล้วใช้เต็มที่ในปี 61-62 ที่เราทำเรื่องจิตอาสากำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง พอดีปีนั้นเป็นปีที่รณรงค์เรื่องจิตอาสาเยอะทั่วประเทศ แล้วผลักดันเรื่องการใช้แอปฯ ทันระบาด โดยลูกน้ำยุงลายเข้าไปเป็นหนึ่งในโครงการจิตอาสา ปีนั้นเราคาดว่าเราคาดการว่าไข้เลือดออกจะระบาดหนักและเราจะมีผู้ป่วยประมาณ 140,000 รายทั้งปีทั่วประเทศ แต่ว่าพอสุดท้ายเรารณรงค์เรื่องนี้ต่อเนื่อง ผู้ป่วยมันลดลงเหลือแค่ 8 หมื่นกว่าราย ตลอดทั้งปี” ดารินทร์กล่าว

ไม่ว่าไปข้างหน้าแบบอนาล็อกหรือดิจิทัล มีส่วนร่วมมากหรือน้อย ในทางหลักการ การบูรณาการศาสตร์หลายแขนงกำลังเป็นทิศทางที่สำคัญของความพยายามควบคุมไข้เลือดออกในอนาคต เห็นได้จากแม่บทการควบคุมโรคติดต่อโดยแมลงระดับโลก หรือ Global Vector Control Response (GVCR) ที่ได้รับการรับรองในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก องค์การอนามัยโลกเมื่อเดือน พ.ค. 2560

GVCR คือยุทธศาสตร์การควบคุมการระบาดและการเสียชีวิตจากโรคที่นำโดยแมลงด้วยการยกระดับการเฝ้าระวังและควบคุมโรคจากโดยใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำระบบฐานข้อมูลด้านสาธารณสุขของประชากร การตรวจตราการระบาด การร่วมมือจากชุมชน ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดโอกาสการแพร่พันธุ์ของแมลง ตัวอย่างของการดำเนินการด้วยหน่วยงานอื่นนอกเหนือจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขเพื่อลดโรคติดต่อโดยแมลงที่อยู่ในแผนแม่บทได้แก่ การจัดการสุขลักษณะของระบบชลประทานในเรือกสวนไร่นาของหน่วยงานด้านการเกษตร การตรวจแหล่งที่มีความเสี่ยงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ตัวอ่อนแมลงโดยประชาชน การปรับปรุงพื้นที่สาธารณะหรือโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดพื้นที่เพาะพันธุ์ของแมลงโดยหน่วยงานด้านโยธาธิการ รวมถึงการเสริมความรู้ด้านสุขศึกษาโดยสื่อมวลชน โรงเรียน ศาสนสถาน หรือสถานทำงาน เป็นต้น

GVCR วางเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องลดอัตราการติดเชื้อจากโรคนำโดยแมลงลงทั่วโลกร้อยละ 25 ในปี 2563 และร้อยละ 40 ในปี 2568 และร้อยละ 60 ในปี 2573 เมื่อวัดจากปี 2559 เป็นปีฐาน และป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคให้ได้ทุกประเทศภายในปี 2573

แนวทางเรื่อง GVCR ถูกพูดถึงในไทยเงียบๆ ในการอบรมออนไลน์ที่จัดโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศของไทย และสำนักงานอำนวยการด้านความร่วมมือทางเทคนิค (Technical Cooperation Directorate) ของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ภายใต้หลักสูตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง ซึ่งเน้นไปที่โรคไข้เลือดออก ในเดือน ม.ค. 2564

ดารินทร์ หนึ่งในผู้บรรยายในงานข้างต้นมีความเห็นว่าการควบคุมโรคไข้เลือดออกยังไม่มีแนวทางใดที่เป็นคำตอบสุดท้ายและจัดการกับโรคได้อย่างครอบจักรวาล การใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ และผสมผสานกับความร่วมมือของประชาชนจึงมีความสำคัญอย่างมากในยุคนี้

“มันมีไม่ single solution ว่ามีคำตอบเดียวจะเป็นวิธีควบคุมยุงได้ดีที่สุด การควบคุมยุงมันใช้มาตรการหลายอย่างมาร่วมกัน การกำจัดยุงตัวแก่ถามว่าเรื่องพ่นยังต้องมีไหมในอนาคต อีก 5-10 ปีข้างหน้ามันคงต้องมี แต่รูปแบบการพ่นอาจจะเปลี่ยนไป แต่ก่อนใช้แรงงานคนแบกเครื่องพ่นหนักเป็น 10 กิโลฯ อีกหน่อยใช้โดรนได้ไหม แต่มันก็ยังต้องพ่น

ชุดการรณรงค์การควบคุมยุงลายของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง

“การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงก็ต้องสร้างการมีส่วนร่วม ยังไงทุกคนก็ต้องช่วยกันดูแลตัวเองให้ได้ ดูแลสภาพแวดล้อมในที่ตัวเอง การป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัดยังไงก็ต้องทำ ส่วนที่จะใช้นวัตกรรมเป็นส่วนเสริมมันเป็นส่วนที่ทำให้เราประเมินความเสี่ยงได้เร็วมากกขึ้น หรือลดประชากรยุงในพื้นที่ระบาดได้เร็วมากขึ้น แล้วสุดท้ายคือเรื่องของระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลด้านคน ด้านเชื้อ ด้านยุง มาเพื่อประมวลผลร่วมกันเพื่อให้เราเห็นความเสี่ยงชัดเจนว่าพื้นที่ไหนจะระบาด

“เรื่องวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เอาจริงตอนนี้ไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่อยู่ในท้องตลาดออกมาตัวหนึ่ง (วัคซีนเดงวาเซีย) สุดท้ายมันก็ข้อมูลการใช้จริงประสิทธิภาพมันไม่ดีเท่าที่ควร ก็จะมีตัวใหม่ออกมาเป็นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกออกมาในอนาคตอันใกล้ แล้วจะมีได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย แต่พวกนี้มันก็จะเป็นส่วนที่เป็นค่าใช้จ่าย เป็นงบประมาณของประเทศ ถ้าเราจะต้องเอาวัคซีนมาใช้ เพราะวัคซีนทุกตัวออกมาราคาแพง กว่าที่มันจะถูกลงมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นมันไม่มีมาตรการใดมาตรการหนึ่ง single solution ใช้อันนี้ได้ผลแน่นอน ต้องทุกมาตรการร่วมกัน”

สังสิทธิ์ จาก ม.มหิดล มองว่าการควบคุมโรคไข้เลือดออกด้วยแนวทางบูรณาการ หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) มีความสำคัญ เพราะยุงลายไม่ได้เป็นเพียงพาหะของโรคไข้เลือดออกเท่านั้น แต่ยังเป็นพาหะของไข้เหลือง ซิก้า และโรคปวดไขข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา นอกจากนั้นยังสามารถเป็นพาหะของโรคลัมปีสกินในวัวได้ด้วย เพียงแค่มีเชื้อติดอยู่ที่ปาก ดังนั้นการจัดการควบคุมโรคจึงต้องพิจารณาทั้งในหมู่มนุษย์และปศุสัตว์

ควันจากการพ่นหมอกควันกำจัดยุงในกรุงเทพฯ

“เราพูดได้ไม่เต็มปากว่าอนาคตจะมีไข้เหลืองที่มีเยอะในแอฟริกาและอเมริกาใต้ นำโดยตัวยุงลายในภูมิภาคของเรารึเปล่า โรคทางไวรัสมีเพียบ ถ้าลงใต้ ยุงลายก็เป็นตัวนำโรคเท้าช้าง (โดยเชื้อ) บูโคเรอเรีย ปาหังกาย (Wuchereria pahangi) ชื่อมาจากรัฐปะหัง (ในมาเลเซีย)”

“แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมันใกล้ชิดกับมนุษย์มาก มนุษย์เป็นตัวสร้างแหล่งเพาะพันธุ์เหล่านี้ให้กับยุงลายเอง มันเลยกลายเป็นว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมาเองและทำลายตัวเอง และทีนี้จากมนุษย์นี่แหละมันถึงจะส่งไปต่อถึงภาพกว้าง พอมนุษย์มีสัตว์เลี้ยงรวมไปถึงปศุสัตว์ รวมไปถึงที่มาของยุงลายอีกต่างหาก” สังสิทธิ์กล่าว

เมื่อถอยหลังหนึ่งก้าวออกจากความตั้งใจระดับโลก การเดินหน้าไปสู่แนวทางเช่นนั้นในประเทศไทยยังคงมีคำถามถึงความพร้อมทั้งจากภาคประชาชน และความพร้อมจากภาครัฐ โดยเฉพาะในประเด็นการจัดการสังคมเมืองในแบบที่มีความแนบชิดสนิทกับชีวิตของยุงลาย

น้ำสะอาดเกิดในแปลงที่ดิน เพราะน้ำในพื้นที่สาธารณะก็ไม่ได้สะอาด เกิดในตึกแถวร้าง ที่ท่อระบายน้ำมันตันแล้วพอฝนตกมันก็ขังอยู่อย่างนั้น”

“ในเขตเมืองใน (ที่อื่นๆ) ของโลก ถึงบอกให้ที่ดินปัจเจกดูแลพื้นทที่ที่ดินตัวเอง เพราะทิ้งร้าง ไฟไหม้มา สัตว์ร้ายมา ก็กระทบบ้านข้างๆ ถ้าคุณไม่จัดการน้ำดีๆ ระบายน้ำดีๆ เกิดน้ำขัง ก็เดือดร้อนทั้งตัวเองและเพื่อนบ้าน”

รศ.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมนักผังเมืองไทยและนักวิชาการด้านผังเมือง หนึ่งในผู้เคยติดเชื้อไข้เลือดออกจากไซต์ก่อสร้างที่เขาเคยคุมงานหลังจากเรียนจบยกตัวอย่างปัญหาเรื่องการใช้ที่ดินในเมือง และขยายความว่าหัวใจของการสร้างสุขภาวะที่ดีในเมืองมีอยู่สองประการ ได้แก่จิตสำนึกของประชาชนในการดูแลพื้นที่ของตัวเองไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่โดยรอบ และเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายที่ดินของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งสองสิ่งนี้ยังคงมีปัญหาที่ต้องทำงานกันต่อไปสำหรับประเทศไทย

“ถ้าเราอยู่บนฐานว่าทุกคนเป็นคนดี เราก็จะมองว่าเพราะเขาไม่รู้ว่าเขาส่งผลกระทบต่อคนอื่น วิธีการข้อที่หนึ่งก็คือทำการประชาสัมพันธ์ว่ามันส่งผลกระทบกับคนอื่นก็อาจจะลดปัญหาลงครึ่งหนึ่ง คนที่เต็มใจแก้ปัญหาเพราะมีเรื่องจิตสำนึกสาธารณะ แต่เขาไม่รู้ว่าการกระทำของเขาส่งผลกระทบต่อคนอื่น”

“คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาคิดว่าไม่สนใจ ก็ต้องเข้าไปจัดการให้มากขึ้น เข้าไปแนะนำ ไปดำเนินการในเชิงรุกต่างๆ ก็ต้องทำ จนถึงขั้นที่จะต้องบังคับใช้กฎหมาย ก็ต้องทำจากเบาไปหาหนักอยู่แล้ว...เพียงแต่ตอนนี้กระบวนการขั้นที่หนึ่งยังไม่เริ่มเลย”

ในทางกฎหมาย นายกสมาคมผังเมืองไทยมองว่าการโยงภาษีที่ดินกับผังเมืองจะทำให้พื้นที่ในเมืองถูกใช้ประโยชน์ตามที่ควรจะเป็น ในกรณีของไทย กฎหมายภาษีที่ดินที่ยังไม่ยึดโยงกับผังเมือง สิ่งนี้ทำให้สวนมะนาวเกิดขึ้นกลางพื้นที่เมืองเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเพิ่มเติม ส่งผลให้เกิดพื้นที่ด้อยพัฒนาอยู่กลางพื้นที่พัฒนาแล้ว อีกนัยหนึ่งก็คือการเอาแหล่งเพาะพันธุ์ยุงไปอยู่กลางพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อย่างหนาแน่น สร้างปัญหาการระบาดของโรคอย่างไม่รู้จบ ซึ่งต่อมาก็ขยายปัญหานี้ไปตามพื้นที่เมืองที่ขยายไปแบบไม่มีวิสัยทัศน์

“สิ่งที่เมืองของโลกทำกันก็คือกลไกภาษีที่ดิน ให้ใช้ในเมืองให้เต็มก่อน เมื่อพื้นที่ข้างในเมืองถูกใช้อย่างคุ้มค่า พื้นที่ด้อยพัฒนาที่เป็นต้นทางของเชื้อโรค อาชญากรรม การมั่วสุม ต้นทาของสัตว์ร้ายมันไม่มี พอชานเมืองที่อยู่ข้างกันระหว่างพื้นที่ด้อยพัฒนากับที่พัฒนาแล้วก็ลดลง เขาก็เลยตายด้วยโรคติดต่อน้อย

“แต่ของเราเนี่ย กลางเมืองไทยยังกลายเป็นพื้นที่ด้อยพัฒนา ปลูกมะม่วง มะนาวไว้ก็จบแล้ว ทั้งๆ ที่มันควรเป็นอย่างอื่น อยู่กลางสีลมคุณจะปลูกมะม่วงมะนาวอยู่เหรอ เตรียมไฟฟ้า ประปาสำหรับตึก 30-40 ชั้น เตรียมรถไฟฟ้าไป แล้วบอกว่าปลูกมะม่วง มะนาวก็รอดจากการเสียค่าปรับของการใช้โครงสร้างพื้นฐานน้อยแล้ว มันก็ไม่เกิดแรงจูงใจให้เกิดการแก้ปัญหาที่ดินที่พัฒนาต่ำกว่าศักยภาพแบบนี้ แล้วเมืองก็ไปขยายตรงชานเมือง”

“สุดท้ายแล้วชานเมืองก็ไปติดไข้เลือดออกเพราะไปอยู่ข้างเรือกสวนไร่นา ซึ่งถ้าเป็นเรือกสวนไร่นาหมดมันก็คงไม่มาถึงคน แต่พอเปิดหมู่บ้านจัดสรรอยู่ข้างเรือกสวนไร่นา ยุงจากเรือกสวนไร่นาก็บินมาถึงคน” พนิตกล่าว

รายงานพิเศษชุดนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Internews’ Earth Journalism Network

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net