พรรคเพื่อไทย ยื่นร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง-พรรคการเมือง คาดเข้าสภา ม.ค. 65

พรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ยื่นร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ต่อประธานสภาฯ ซึ่งจะมีผลต่อการแบ่งเขตเลือกตั้ง แก้ปัญหาคำนวณคะแนน-การปัดเศษ การใช้เบอร์เดียวกันทั้ง ส.ส.และบัญชีรายชื่อ และอื่นๆ คาดเข้าสภาฯ เดือน ม.ค.ปีหน้า

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

16 ธ.ค. 64 มติชนออนไลน์ รายงานวันนี้ (16 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.45 น. นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรค จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และรองหัวหน้าพรรค ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรค พร้อม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมกันยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภา เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องระบบเลือกตั้ง  
.
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีสาระสำคัญเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง และจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คนมาจากระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน จากระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยใช้บัตรเลือกตั้งแบบละ 1 ใบ  และเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนในระบบบัญชีรายชื่อ จึงเป็นเหตุผลที่พรรคเพื่อไทยได้ยกร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับขึ้นมารองรับ
.
ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊ก พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความสรุปร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. มีรายละเอียดที่สำคัญ 4 เรื่องดังนี้ 1) การแบ่งเขตเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งเดียวกันต้องมีเขตพื้นที่ติดต่อกัน แตกต่างจากกฎหมายเดิม ซึ่งเขตเลือกตั้งเดียวกันแต่พื้นที่มิได้ติดต่อกันที่อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

2) ฐานจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องใกล้เคียงกัน เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา ฐานจำนวนประชากรในเขตเลือกตั้งแต่ละเขตมีจำนวนแตกต่างกันมาก บางเขตแตกต่างกันมากถึง 9 หมื่นคน เป็นต้น 

3) การคำนวณคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยได้ยกร่างอย่างชัดเจนให้คำนวณคะแนนด้วยการนำคะแนนแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองหารด้วย 100 แล้วหารด้วยคะแนนแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ก็จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการการเมือง ซึ่งเป็นการคำนวณที่ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา และจะไม่มีการปัดเศษ และ 4) กำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อมีเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ 
.
สำหรับร่างกฎหมายพรรคการเมืองนั้น เมื่อเขตเลือกตั้งเปลี่ยนจาก 350 เขตเป็น 400 เขต กฎหมายเดิมกำหนดไพรมารีโหวต และจัดตั้งตัวแทนประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยยืนยันเสนอหลักการส่งเสริมระบบไพรมารีโหวต แต่เปลี่ยนวิธีการจากการมีตัวแทนหรือสาขาพรรคการเมืองประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้ง มาเป็นมีเพียงสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพียง 1 เขตก็สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น

สำหรับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้ ยกเลิกการเก็บค่าบำรุงพรรค เนื่องจากสร้างปัญหาแก่พรรคการเมืองหลายประการ โดยเฉพาะการเสียค่าบำรุงเป็นรายปี การไม่ชำระค่าบำรุงสองปีติดต่อกันทำให้ขาดจากสมาชิก  แต่ถ้าพรรคการเมืองใดเห็นสมควรจะเรียกเก็บก็ให้กำหนดในข้อบังคับพรรค

ยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ให้เป็นเช่นเดียวกันกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. เพราะการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองควรเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน

กำหนดอำนาจของ กกต. ในการปลดกรรมการบริหารพรรคการเมือง และกำหนดกรณีการครอบงำ ควบคุมพรรคการเมืองโดยบุคคลภายนอกให้รอบคอบรัดกุมมีเหตุมีผลมากขึ้น ไม่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำนโยบายต้องแสดงที่มาของรายได้ ความคุ้มค่า ความเสี่ยง เพราะไม่มีผลในทางปฏิบัติ เห็นได้จากการเสนอนโยบายของพรรคการเมืองที่ผ่านมา

กำหนดให้การเลิกพรรคการเมือง ยุบพรรคการเมือง มีความเหมาะสมรัดกุมขึ้น ยกเลิกเหตุยุบพรรคการเมืองบางกรณี ไม่ใช้การเลิกหรือการยุบพรรคเป็นประโยชน์หรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่

สำหรับการจัดทำไพรมารี ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งคงจะยกเลิกการรับฟังความเห็นจากสมาชิกไม่ได้ เพราะอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่ให้รับฟังความเห็นจากสมาชิกอย่างกว้างขวาง แต่พรรคเพื่อไทยเห็นว่าโดยหลักการควรใช้เขตจังหวัดเป็นเขตรับฟัง อาจเป็นสาขา หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ที่ครอบคลุมเขตจังหวัด และสามารถส่งผู้สมัครได้ทุกเขตทั้งจังหวัด ทั้งนี้คงจะต้องมีบทเฉพาะกาลเนื่องจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่ได้ตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตามระบบเดิมไปมากแล้ว และอาจมีปัญหา เช่น จะต้องมีการแบ่งเขตใหม่ อาจทำให้ตัวแทนหรือสมาชิกคลาดเคลื่อน เช่น เหลือสมาชิกไม่ถึง 100 คน หรือเขตใหม่ 50 เขตไม่ควรตั้งตัวแทนขึ้นมาอีกหากมีการตั้งตัวแทนไว้ในเขตอื่นๆ แล้ว

การจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง ให้มีตัวแทนพรรคการเมืองทั้งที่มี ส.ส. และไม่มี ส.ส.เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย

มติชนออนไลน์ รายงานต่อว่า นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้น ยังแก้ไขค่าบำรุงพรรคของสมาชิกจากเดิม สมาชิกชั่วคราว 100 บาทและ 2,000 บาทสำหรับสมาชิกถาวร ในร่างของพรรคเพื่อไทยได้เสนอว่าเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองมากขึ้น จึงกำหนดว่า อัตราค่าสมาชิกพรรคให้ไปเขียนไว้ในข้อบังคับพรรค ของแต่ละพรรคที่จะเป็นผู้กำหนดเอง นอกจากนี้ยังเสนอเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง เพราะกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยยุบพรรคต้องมีความชัดเจน ทั้งนี้ เชื่อว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือน มี.ค. 65

ด้านนายสุทิน คลังแสง กล่าวว่า หลังจากนี้เป็นกระบวนการของสภาฯ ที่จะตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่จะบรรจุระเบียบวาระการประชุม ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ได้ในช่วงเดือน ม.ค. 65 เพราะขณะนี้หลายพรรคการเมืองก็เริ่มทยอยยื่นร่างแก้ไขแล้ว และยืนยันว่าไม่มีร่างแก้ไขฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จึงให้เสรีและอิสระกับทุกพรรคการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท