Skip to main content
sharethis

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นน่ามอบประกาศเกียรติคุณให้ คฝ. ที่สลายการชุมนุมเมื่อคืน 6 ธ.ค. จนทำให้ม็อบ 13-14 ธ.ค.เพิ่มจำนวนเพิ่มพลังเพิ่มความชอบธรรมอีกหลายสิบเท่า

อันที่จริง คืน 6 ธ.ค.ไม่น่าเรียกว่าม็อบ ชาวจะนะแค่ไปรวมตัวหน้าประตูทำเนียบ รอยื่นเรื่องร้องทุกข์ ทวง MOU แต่ไม่รู้ตำรวจรับคำสั่งใคร เห็นประตูทำเนียบเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ม็อบหน้าไหนประชิดไม่ได้ “กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย” ใช้กำลังกวาดจับไป 37 คน โดยข่มขู่ผู้สื่อข่าว ไล่ตะเพิด ใช้สปอตไลท์ส่องจนไม่สามารถบันทึกภาพการใช้กำลัง

ภาคีเซฟจะนะลุกฮือพร้อมพรั่ง ไม่ต่างจากครั้งเซฟบางกลอย แถมบังเอิญธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นคนทำ MOU เมื่อครั้งยังเป็น รมช.เกษตร พอประยุทธ์ปฏิเสธความรับผิดชอบ ทั้งที่รัฐบาลมอบหมาย ก็กลายเป็นประเด็นการเมือง ซึ่งพัวพันไปถึงประชาธิปัตย์ นิพนธ์ บุญญามณี ถูกก้าวไกลอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องกว้านซื้อที่ดิน

กระแสสื่อ กระแสสังคม ก็ให้ความสนใจความเป็นมา ซึ่งถูกตีแผ่ว่าทีแรกมีมติ ครม.ปี 59 พัฒนา 3 พื้นที่ 3 จังหวัด แต่กลับยัดไส้เมืองอุตสาหกรรมจะนะในปี 62 แล้วเปลี่ยนผังเมืองกันง่าย ๆ 3 โครงการยังไปไม่ถึงไหน โครงการจะนะลัดนิ้วมือว่องไวโดยไม่ผ่านประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA

ถึงตอนนี้แม้รัฐบาลจะยอมทำ แต่ความต้องการประชาชนคือ Set Zero ไม่ใช่บอกว่าเลิกไม่ได้ ความไว้เนื้อเชื่อใจไม่มีแล้วหลังโดนเบี้ยวมาหลายครั้ง

ม็อบจะนะเกิดปรากฏการณ์แบบเดียวกับเซฟบางกลอย คือทุกฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลโดดเข้าร่วม เข้ามาสนับสนุน ทั้งที่ดูเหมือนอยู่คนละขั้ว เช่นบางส่วนของม็อบราษฎร ที่เพิ่งแสดงพลังยกเลิก 112 ที่ราษฎร์ประสงค์ เพิ่งล่าชื่อสมรสเท่าเทียมขณะที่อีกด้าน NGO สายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หลายคนก็เคยเข้าร่วมม็อบพันธมิตร กปปส.

พลังเดียวกันนี้ยังมีจุดร่วมคัดค้าน CPTPP ควบรวมทรู-ดีแทค ทุบหัวลำโพงฯลฯ ในด้านกลับกันก็เป็นตลกร้าย ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธาน TPIPP ที่ซัดม็อบจะนะเป็นอันธพาล ก็เคยสนับสนุนพันธมิตรไล่ “ทุนสามานย์” เมื่อปี 49

จะโทษว่าเกลียดประยุทธ์แล้วรวมหัวกันไม่ลืมหูลืมตา ก็ต้องดูด้านกลับว่า คฝ.ปฏิบัติต่อม็อบโดยไม่เลือกเช่นกัน ไม่ว่าม็อบราษฎรหรือม็อบจะนะ รัฐบาลนี้แตะไม่ได้ ยอมให้มาอยู่หน้าทำเนียบไม่ได้ ทั้งที่การมีม็อบมาเรียกร้องหน้าทำเนียบถือเป็นประเพณีประชาธิปไตย ทุกยุคทุกสมัยยกเว้นประยุทธ์

ถ้าประยุทธ์ไปใต้ แล้วมีชาวจะนะถือป้ายต่อต้าน ก็คงถูกตำรวจตามถึงบ้านแบบเดียวกับม็อบราษฎรหรือสาวอุดร

การต่อต้านโครงการของรัฐหรือการลงทุนขนาดใหญ่ ไม่ได้บอกว่าถูกต้องเสียหมด เพราะมีคนอีกฝ่ายสนับสนุน เห็นว่าจะทำให้เศรษฐกิจดีมีงานทำ บางโครงการ NGO ก็มองด้านเดียวจนดื้อรั้น แต่ที่เป็นปัญหาทุกครั้งคือการทำโครงการแบบรวบรัด ใช้อำนาจรัฐอำนาจทุนปิดปาก โดยเฉพาะช่วงที่รัฐบาลมีอำนาจมาก จนกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมา NGO

ใช่เลย รัฐบาลทักษิณไง แต่ทักษิณมีอำนาจมากจากชนะเลือกตั้ง และประสบความสำเร็จในนโยบายเศรษฐกิจ “ภาคประชาชน” ตอนนั้นฆ่าตัวตายเข้าร่วมพันธมิตรออกบัตรเชิญรัฐประหาร จนนำมาสู่ระบอบประยุทธ์ รัฐอนุรักษนิยมเบ็ดเสร็จ ซึ่งไม่ต้องการให้มีภาคประชาชน ไม่ต้องการให้มีการเคลื่อนไหวนอกสภา ให้ร้องศูนย์ดำรงธรรมตามขั้นตอนระบบราชการ ให้เสนอปัญหาผ่านพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล แต่ถ้านักการเมืองเป็นตัวตั้งตัวตีเสียเองก็จบเห่

ระบอบอำนาจปัจจุบันจึงบีบให้ขบวนเคลื่อนไหวทุกภาคส่วนกลับมาเป็นแนวร่วมกันโดยธรรมชาติ ต่อต้านรัฐรวมศูนย์ผูกขาดการตัดสินใจ ภายใต้อารมณ์ร่วมเดียวกันคือไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกระทำ จากอำนาจบังคับ

ภาพอย่างนี้จะขยายใหญ่ขึ้น แม้รัฐบาลยิ่งมีอำนาจมากขึ้น

 

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/column/501139

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net