Skip to main content
sharethis

กสทช. ร่วมกับ กฟน. กฟภ. เเละ กทม. ประชุมหารือเพื่อกำหนดแผนบูรณาการการจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งเป้าเก็บสายสื่อสารทั่วประเทศลงใต้ดินภายใน 3 ปี อย่างไรก็ตาม แผนการเก็บสายสื่อสารเฉพาะใน กทม. ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 เก็บสายสื่อสารลงดินได้เพียง 7 กม. จาก 2,450 กม. ขณะที่โครงการเก็บสายไฟฟ้าลงดินใน กทม. ซึ่งเริ่มเมื่อ 37 ปีที่แล้ว ตอนนี้ทำเสร็จแล้ว 20%

17 ธ.ค. 2564 ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่าในวันที่ 20 ธ.ค. 2564 สำนักงาน กสทช. จะเชิญผู้แทนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมประชุมหารือเพื่อกำหนดแผนบูรณาการการจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 ที่มีมติมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร) เป็นหน่วยงานหลักรับไปประสานความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนบูรณาการการจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าในเส้นทางหลักทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันเพื่อลดจำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าโดยเร่งด่วน รวมทั้งปรับปรุงระบบสายสื่อสารของผู้ประกอบกิจการให้มีสายสื่อสารปลายทางเพียงรายเดียว (single Last Mile)

ไตรรัตน์กล่าวว่าสำนักงาน กสทช. จะเป็นผู้ประสานงานระหว่าง กฟน. กฟภ. และ กทม. กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ รวมถึงการนำสายสื่อสายลงใต้ดิน ภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยจะรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะๆ

“การจัดระเบียบสายสื่อสารต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าของเสา/ท่อร้อยสาย และเจ้าของสายสื่อสาร มีการตรวจสอบสภาพเสาที่จะนำสายสื่อสารไปพาด ไม่พาดเกินน้ำหนักที่เสาจะรับได้ พาดสายให้เรียบร้อยเป็นระเบียบ ต้องมีการสำรวจตรวจสอบ และจัดการนำสายสื่อสารที่ไม่มีการใช้งาน หมดอายุลงจากเสา ไม่ปล่อยให้ห้อยระโยงระยาง ด้วยการร่วมมือกันจัดการคาดว่าปัญหาสายสื่อสารรกรุงรังจะสามารถแก้ไขได้” ไตรรัตน์กล่าว

ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล
 

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2560 เดอะสแตนดาร์ดรายงานว่าข้อมูลตามเอกสารแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวงระบุว่า "โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ (เสาไฟ) เป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ในพื้นที่สำคัญ" ริเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2527 ขณะที่ผู้จัดการออนไลน์รายงานเพิ่มเติมว่าถนนสายแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเก็บสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน คือ ถ.สีลม

ในเดือน ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา สำนักข่าว The MATTER รายงานความคืบหน้าเพิ่มเติมโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินใน กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมระยะทาง 236.1 กิโลเมตร ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2527 โดยแบ่งเป็น 3 โครงการย่อย ได้แก่ โครการแรกเป็นแผนดั้งเดิมตั้งแต่ปี 2527-2557 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, โครงการที่สอง คือ โครงการรองรับมหานครอาเซียน เริ่มต้นในปี 2558 หลัง คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้เพียง 1 ปี และโครงการที่สาม คือ แผนนำสายไฟฟ้าลงดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด ปี 2562 ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 3,673.4 ล้านบาท ให้นำสายไฟฟ้าลงดินเพิ่มอีก 20.5 กิโลเมตร ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถ.รัตนาธิเบศร์, เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถ.กรุงเทพ-นนทบุรี และถ.ติวานนท์ รวมถึงเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถ.สุขุมวิท โดยทั้ง 3 โครงการมีกำหนดระยะเวลาเสร็จสิ้นในปี 2567 และในขณะนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเป็นระยะทาง 48.6 กิโลเมตร

ส่วนโครงการนำสายสื่อสารร้อยท่อในพื้นที่ กทม. ลงใต้ดิน ซึ่งรวมระยะทางทั้งสิ้น 2,450 กิโลเมตรนั้น เริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2556 มีกำหนดเสร็จสิ้นในปี 2575 โดยขณะนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วประมาณ 7 กิโลเมตรเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net