ฟ้องอีก 6 คดีการเมือง 'ป้าเป้าเปลื้องผ้าประท้วง คฝ.-3 คดีทะลุแก๊ซ-2 คดีชุมนุมปี 63'

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยมีการฟ้องอีก 6 คดีการเมือง 'ป้าเป้าเปลื้องผ้าประท้วง คฝ.-3 คดีทะลุแก๊ซ-2 คดีชุมนุมปี 63' - ไต่สวนขอประกัน 4 แกนนำราษฎร ศาลอนุญาตอัยการยื่นคัดค้านอีก หลังไต่สวน แม้ 'อานนท์' ท้วง นัดฟังคำสั่ง 24 ธ.ค.นี้ 

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าพบว่า ในช่วงเดือน พ.ย. 2564 มีคดีความทางการเมืองในกรุงเทพฯ ที่อัยการมีคำสั่งฟ้องนักกิจกรรมและประชาชนอีก 6 คดี เป็นคดีในศาลอาญา 4 คดี และคดีในศาลแขวง 2 คดี โดยยื่นฟ้องต่อศาลในช่วงครึ่งเดือนแรก รวม 3 คดี ได้แก่ คดีสืบเนื่องจาก #ม็อบ16กันยา และ #ม็อบ10สิงหา ของกลุ่มทะลุแก๊สที่แยกดินแดง มีจำเลยคดีละ 1 ราย คือ ชิติพัทธ์ (สงวนนามสกุล) และประวิทย์ ธิบูรณ์บุญ และคดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 อัยการฟ้องนักศึกษาเพิ่มอีก 1 ราย คือ เนตรนภา อำนาจส่งเสริม ซึ่งถูกออกหมายจับภายหลังจากการชุมนุมนานนับปี

ช่วงครึ่งเดือนหลัง อัยการยังยื่นฟ้องอีก 3 คดี ได้แก่ คดีที่สืบเนื่องจาก #ม็อบ18พฤศจิกา63 ที่แยกราชประสงค์ มีจำเลยเป็นนักกิจกรรม 5 ราย, คดีความจาก #ม็อบ28กันยา หยุดราชวงศ์ประยุทธ์ จำเลย คือ “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง ที่เลือกเปลือยกายในหน้าแถว คฝ. เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และคดีที่สืบเนื่องจาก #ม็อบ11กันยา ที่แยกดินแดง มีจำเลย 2 ราย 

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ไต่สวนขอประกัน 4 แกนนำราษฎร ศาลอนุญาตอัยการยื่นคัดค้านอีก หลังไต่สวน แม้ 'อานนท์' ท้วง นัดฟังคำสั่ง 24 ธ.ค.นี้ 

17 ธ.ค. 2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดไต่สวนคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 4 แกนนำราษฎร  ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งถูกขังตามหมายขังระหว่างพิจารณาในคดีชุมนุมต่างๆ และทนายยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา

บรรยากาศในศาลอาญาช่วงเช้ามีการตั้งจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ และมีบัตรชั่วคราวสำหรับบุคคลที่จะเข้าร่วมฟังการไต่สวน ส่วนที่ห้องพิจารณา 704 เจ้าหน้าที่ศาลไม่ได้เก็บเครื่องมือสื่อสารเหมือนที่ผ่านมา ทั้งยังให้ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าร่วมฟังการไต่สวนครั้งนี้ได้ โดยมีผู้สังเกตการณ์จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์

ภายหลังศาลไต่สวนจำเลยทั้ง 4 คนพร้อมทั้งพยานแล้ว ได้กล่าวกับจำเลยว่า จะต้องนำข้อเท็จจริงจากการไต่สวนไปพิจารณาในที่ประชุมของศาล เนื่องจากไม่อยากให้การสั่งปล่อยหรือไม่ปล่อยเป็นการสั่งโดยผู้พิพากษาคนเดียว พร้อมทั้งย้ำว่า อย่าเข้าใจว่าการให้โอกาสไต่สวนในครั้งนี้จะเป็นเหตุให้ปล่อยตัวได้ทันที การอ้างว่าจะต้องกลับไปเรียนหรือกลับไปทำงานไม่ใช่เหตุที่จะนำไปสู่การปล่อยตัว ไม่เช่นนั้นทุกคนที่ถูกขังอยู่ก็คงอ้างได้

นอกจากนี้ศาลยังกล่าวด้วยว่า ไม่ใช่ว่าจำเลยแถลงยอมรับเงื่อนไขแล้วศาลจะต้องปล่อยตัวเท่านั้น การเสนอเงื่อนไขไม่ใช่เหตุปล่อยตัวอย่างเดียว ศาลจะต้องพิจารณาที่การกระทำ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้ปล่อย จึงจะอนุญาตปล่อยชั่วคราว ไม่ว่าจะสั่งอย่างไร สังคมก็จะมีคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำสั่งนั้น ศาลจึงต้องให้โอกาสในการเรียกมาไต่สวน 

จากนั้นศาลได้ถามพนักงานอัยการฝ่ายโจทก์ว่า จะคัดค้านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ก่อนกล่าวว่าอันที่จริงอัยการได้แถลงคัดค้านไว้แล้วก่อนจะมีการไต่สวน อัยการแถลงว่า จะต้องคัดค้านเนื่องจากคดีทั้งหมดเป็นคดีที่มีโทษสูง หากปล่อยตัวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี 

ต่อมา คณะพนักงานอัยการราว 15 คน ได้ปรึกษากันอีกครั้ง ก่อนจะแถลงว่าไม่สามารถแถลงคัดค้านภายในวันนี้ได้ เนื่องจากจำเลยแต่ละคนมีหลายคดี จึงขอทำคำแถลงเป็นเอกสารมายื่นภายในสัปดาห์หน้าซึ่งอาจจะเป็นวันพุธที่ 22 ธ.ค. 2564 

อานนท์ได้ขอแถลงต่อศาลว่า ตนรู้สึกว่าขั้นตอนการไต่สวนค่อนข้างแปลก เนื่องจากเปิดให้มีการไต่สวนแล้ว ยังจะเปิดให้มีการแถลงคัดค้านหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนอีก ซึ่งตนกังวลว่าหากอัยการทำคำแถลงมาแล้วปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ ฝ่ายจำเลยก็จะไม่ได้โต้แย้ง จะเป็นเสมือนการตอกฝาโลงตนหรือไม่ จึงขอท้วงติงไว้ 

ศาลกล่าวตอบอานนท์ว่า จำเลยอย่าบังคับศาลมากเกินไป ศาลได้ย่นย่อการพิจารณาให้สั้นลงโดยไม่ได้เรียกพนักงานสอบสวนแต่ละคดีมาไต่สวน หรืออานนท์อยากจะให้มีการสืบพยานอีกซัก 2-3 นัด ซึ่งมันก็อาจจะช้าออกไปอีก อานนท์จึงกล่าวว่า การพูดอย่างนี้ก็เหมือนเอาคนที่ถูกคุมขังอยู่เป็นตัวประกัน เพราะเวลาของคนข้างนอกกับคนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำไม่ได้เท่ากัน

หลังศาลและจำเลยโต้เถียงเหตุผลกันอยู่ราวครึ่งชั่วโมง ศาลจึงกล่าวสรุปว่า เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ต้องให้โอกาสทั้งสองฝ่ายเต็มที่ โดยโจทก์ได้ยืนยันว่าจะไม่มีข้อเท็จจริงใหม่ การทำหนังสือคัดค้านเป็นเพียงการคัดค้านตามปกติ ส่วนฝ่ายจำเลยก็สามารถทำคำแถลงคล้ายกับการทำคำแถลงปิดคดีได้เช่นกันหากประสงค์จะทำ

ให้พนักงานอัยการยื่นคำคัดค้านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหนังสือภายในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 และนัดฟังคำสั่งว่าศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ในเวลา 13.00 น.

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท