‘ตำรวจหญิง’ นั้นสำคัญไฉน: คุยกับ 'อดีตผู้กำกับหญิง' ถึงความท้าทายของเพศสภาพในวงการสีกากี

เพราะ “ตำรวจหญิง” ไม่ได้มีหน้าที่เป็น “แท่นวางโทรศัพท์” แต่เป็น “สายซัพ” ที่สำคัญและจำเป็นในเส้นทางอาชีพตำรวจที่ได้ชื่อว่า “สังคมชายเป็นใหญ่” พร้อมฟังความเห็นจากอดีตผู้กำกับการสอบสวนหญิงและอัยการว่าทำอย่างไร วงการตำรวจไทยจึงจะก้าวพ้นข้อจำกัดด้านเพศสภาพทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานและประชาชน

  • วิธีพิจารณาความอาญามาตรา 133 วรรคสี่ ระบุว่า “ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิง ให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิงเป็นผู้สอบสวน” และมาตรา 85 ระบุว่า “ถ้าค้นตัวผู้หญิงต้องให้หญิงอื่นเป็นผู้ค้น” เจตนารมณ์ของกฎหมายระบุชัดเจนว่าต้องมีตำรวจหญิงอย่างน้อย 1 คน ประจำการที่สถานีตำรวจ แต่ตำรวจหญิงในไทยกลับมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่
  • อดีต ผกก.สส.หญิง เผยการยกเลิกนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงถือเป็น ‘การถอยหลังลงคลอง’ ขององค์กรตำรวจไทย และแนวคิด ‘ปิตาธิปไตย’ ยังขัดขวางความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตำรวจหญิง
  • เสนอจัดตั้งศูนย์เฉพาะทางด้านคดีเด็ก ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แก้ปัญหางานล้นตำรวจโรงพัก ช่วยเข้าถึงและดูแลผู้เสียหายอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง เพิ่มโอกาสตำรวจหญิงพิสูจน์ฝีมือ
  • ตำรวจไทยต้อง ‘ลดอคติทางเพศ’ และปฏิบัติต่อผู้เสียหายและผู้ต้องหาโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มุ่งปลูกฝังแนวคิดเรื่องเพศสภาพ (Gender) ในระดับจิตสำนึกของสังคม

เมื่อพูดถึงอาชีพ “ตำรวจ” ภาพจำของคนในสังคมไทยคือตำรวจมีหน้าที่ “วิ่งไล่จับคนร้าย” และส่วนใหญ่ผู้ประกอบอาชีพตำรวจมักจะเป็นผู้ชาย ภาพจำเหล่านี้ผูกโยงกับความคิดความเชื่อที่หยั่งรากลึกมาอย่างยาวนานในสังคม แน่นอนว่าตำรวจนั้นมีหน้าที่จับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายมาลงโทษ แต่การ ‘จับ’ อาจไม่จำเป็นต้อง ‘วิ่ง’ เสมอไป เพราะทุกวันนี้ สังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ กรอบคิดทางการเมือง ไปจนถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งความซับซ้อนเชิงโครงสร้างเหล่านี้ก็ทำให้รูปแบบการกระทำความผิดของ ‘โจร’ มีชั้นเชิงที่สูงขึ้น จนอาจพูดได้ว่าแค่ ‘วิ่ง’ หรือใช้กำลังทางกายอย่างเดียวคงไม่พอ

ประชาไทจึงชวน พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว วรรณฉวี อดีตผู้กำกับการ (สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว มาร่วมสนทนาถึงบทบาทของเพศสภาพในงานตำรวจ (Gender and policing) และบทบาทของตำรวจหญิงที่มีสำคัญและจำเป็นไม่แพ้กับตำรวจชาย ภายใต้โครงสร้างองค์กรตำรวจไทยที่ไม่ได้มีแค่งานใช้กำลังเพียงอย่างเดียว หากแต่มีงานสนับสนุนส่วนอื่นหรือที่ภาษาวัยรุ่นมักเรียกว่า “สายซัพ” ซึ่งงานประเภทนี้มีความจำเป็น ซึ่งนอกจากจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้ว ปัจจัยด้านเพศสภาพก็มีส่วนสำคัญในการปฏิบัติงานและเติมเต็มความหลากหลายในสายงานที่ได้ชื่อว่า “เป็นงานของผู้ชาย” พร้อมฟังความเห็นด้านกฎหมายจากวุฒิชัย​ พุ่มสงวน อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว ต่อบทบาทหน้าที่ของตำรวจหญิงในสังคมไทย

พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว วรรณฉวี
 

ความจำเป็นและบทบาทของตำรวจหญิงในสังคมไทย

พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นสังคมไทย หรือสังคมไหน แนวคิดการเลือกปฏิบัติตามเพศสภาพถือว่าไม่ยุติธรรมและไม่เป็นไปตามหลักสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงาน ไม่ว่าจะสายอาชีพตำรวจหรืออาชีพใดก็ควรเปิดโอกาสให้เท่าเทียมกันทั้งชายและหญิงตามสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเรื่องความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง ซึ่งความเสมอภาคทางเพศเป็นหลักสากลที่นานาประเทศยอมรับยึดถือ องค์กรตำรวจไทยจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว ยังกล่าวว่างานของตำรวจไม่ได้มีแค่ส่วนของการใช้กำลัง แต่มีงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน และต้องให้ผู้หญิงเข้ามาดำเนินการ เช่น งานสอบสวนคดีเด็กและคดีทางเพศ รวมถึงสายงานอื่นๆ เช่น งานสืบสวนที่ตำรวจหญิงก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยจับกุมคนร้าย

“พูดถึงงานสอบสวนแล้วกัน เป็นที่รู้กันอยู่ว่ามีคดีที่เกี่ยวกับเพศ ความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่เป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ซึ่งมีทั้งเด็กและสตรีโดยส่วนใหญ่ ผู้ชายก็มีบ้างที่ถูกหลอกไปใช้แรงงาน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เวลาเราใช้ตำรวจหญิงหรือพนักงานสอบสวนหญิงเข้าไปสอบปากคำในคดีพวกนี้ จะได้รับความร่วมมือจากจากผู้เสียหายค่อนข้างดี เพราะเวลาสื่อสารหรือพูดคุยกัน เขาจะมีความไว้วางใจ ยอมเปิดเผยข้อมูล” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าว

วุฒิชัย​ พุ่มสงวน อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในส่วนของบทบาทและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนหญิงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 133 วรรคสี่ ซึ่งระบุว่า “ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิง ให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิงเป็นผู้สอบสวน เว้นแต่ผู้เสียหายนั้นยินยอมหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น และให้บันทึกความยินยอมหรือเหตุจำเป็นนั้นไว้ ทั้งนี้ ผู้เสียหายจะขอให้บุคคลใดอยู่ร่วมในการถามปากคำนั้นด้วยก็ได้”

นอกจากนี้ ยังมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 85 ที่ระบุว่า “เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับไว้ มีอำนาจค้นตัวผู้ต้องหาและยึดสิ่งของต่างๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้

การค้นนั้นจักต้องทำโดยสุภาพ ถ้าค้นผู้หญิงต้องให้หญิงอื่นเป็นผู้ค้น สิ่งของที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่น ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น”

“เจตนารมณ์ [ของกฎหมาย] ชัดเจนแล้วว่าต้องการคุ้มครองผู้หญิง เขาจึงให้พนักงานสอบสวนหญิงเป็นคนทำสำนวน คดีทางเพศ ถ้าเล่าให้ผู้หญิงด้วยกันฟังมันก็ซอฟต์กว่า เวลาพาไปตรวจร่างกาย ผู้หญิงเขาก็จะเข้าใจผู้หญิงได้มากกว่า เมื่อกฎหมายเขียนประโยคนี้แล้ว แปลว่าอย่างน้อยสถานีตำรวจต้องมีพนักงานสอบสวนหญิงอย่างน้อย 1 คน” วุฒิชัย กล่าว

วุฒิชัย​ พุ่มสงวน
 

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงที่มีไม่เพียงพอ ทำให้ตำรวจต้องใช้ข้อยกเว้นที่ระบุไว้ในกฎหมายเพื่อดำเนินการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับเพศแทน ซึ่งอาจทำให้ผู้เสียหายรู้สึกไม่สบายใจที่จะให้การ แต่ต้องจำยอม เพราะข้อจำกัดหลายอย่างด้านการปฏิบัติงานจริงซึ่งไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ตามตัวบทกฎหมาย

ความแตกต่างระหว่างตำรวจชายและตำรวจหญิงในการทำงานกับผู้เสียหาย

“ถ้าพูดถึงคดีที่มันชัดเจนก็คงจะเป็นคดีที่เกี่ยวกับเพศหรือผู้หญิงที่ถูกกระทำทารุณกรรมในเรื่องอื่นๆ บางทีอคติเกิดขึ้นโดยตัวของผู้เสียหายเอง เช่น สมมติว่าผู้เสียหายถูกกระทำมาจากสามี เขาก็มีความอคติทันทีว่าผู้ชายคงไม่เข้าใจผู้หญิง ก็คงจะไปเข้าข้างผู้ชายด้วยกัน อคติแบบนี้มันอาจจะเกิดขึ้นเองโดยที่พนักงานสอบสวนหรือตำรวจผู้ชายคนนั้นเขาอาจจะเข้าใจผู้หญิงก็ได้ แต่ว่าที่พูดว่าอคติ เพราะผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้หญิงรู้สึกไม่ไว้วางใจ เพราะฉะนั้นถ้าเป็น ตำรวจผู้หญิงเข้าไปคุยก็จะเกิดความไว้วางใจมากกว่า ยอมเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริง เพราะว่าเวลาทำงานสอบสวนบางทีมันจำเป็นจะต้องรู้ข้อเท็จจริง ต้องรู้ข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด ไม่เช่นนั้นเราจะเดินกระบวนการไปแบบบิดเบี้ยว อันนี้คือที่เทียบให้เห็นชัดเจนนะ”

“จากประสบการณ์ เราเห็นว่าโดยวัฒนธรรมบ้านเราที่ ‘ผู้ชายเป็นใหญ่’ เขาจะมองว่าความสามารถในการทำงานของผู้หญิงคงจะไม่พอ สู้ผู้ชายไม่ได้ มักจะไม่ได้รับมอบหมายงานสำคัญ จะไปมอบหมายเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง แม้เจ้าหน้าที่คนนั้นจะมีความตั้งใจ มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่สามารถโดดเด่นขึ้นมาได้”

“แล้วยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมาก เช่น การสอบสวนบางทีมันก็ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความอดทน แล้วผู้หญิงได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีความอดทนอยู่แล้ว ถ้าต้องใช้เวลารอ เราก็ ‘ไม่เป็นไร ถ้าไม่พร้อมก็ต้องรอ’ เราหมายถึงความอดทนในเรื่องพวกนี้นะ ไม่ใช่ความอดทนในเรื่องร่างกายแข็งแรง ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าผู้ชายมีความอดทนในเรื่องพละกำลังมากกว่า แต่ในเรื่องนี้ เช่น การอดทนรอ ผู้หญิงอดทนเก่งนะคะ (หัวเราะ) เรื่องบางอย่างมันต้องรอให้ถึงเวลา ถ้าผู้เสียหายไม่พร้อมให้การ ผู้หญิงเขาจะมีความอดทนรอ คิดว่าเมื่อเปรียบเทียบมันจะเห็นชัดในเรื่องพวกนี้” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าว

‘ปิตาธิปไตย’ ความท้าทายและอุปสรรคใหญ่ในการทำงานของตำรวจหญิง

“จากประสบการณ์ เราเห็นว่าโดยวัฒนธรรมบ้านเราที่ ‘ผู้ชายเป็นใหญ่’ เขาจะมองว่าความสามารถในการทำงานของผู้หญิงคงจะไม่พอ สู้ผู้ชายไม่ได้ มักจะไม่ได้รับมอบหมายงานสำคัญ จะไปมอบหมายเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง แม้เจ้าหน้าที่คนนั้นจะมีความตั้งใจ มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่สามารถโดดเด่นขึ้นมาได้” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าว พร้อมระบุว่าการได้พิสูจน์ตัวเองในเรื่องสำคัญ ได้รับผิดชอบคดีสำคัญนั้นส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคนนั้นโดดเด่น ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ซึ่งการปฏิบัติงานเหล่านี้ก็เชื่อมโยงกับการเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่ปัญหาคือตำรวจหญิงไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม มักไม่ค่อยได้รับโอกาสให้ทำงานยากหรืองานใหญ่ จึงไม่มีโอกาสเฉิดฉายในสายงานเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับตำรวจชาย

“ในสำนักงานตำรวจ ผู้หญิงที่เติบโตไปถึงตำแหน่งนายพลก็มี แต่น้อย แล้วก็ไม่ได้อยู่ตามสถานีตำรวจ ก็จะเป็นฝ่ายการเงิน แม้จะเป็นนายพลก็จริงแต่อยู่ในตำแหน่งจัดทำงบประมาณ การเงิน บัญชี เป็นไปในลักษณะนั้น เพราะฉะนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ก็จะตอบสังคมเสมอว่าไม่ใช่ว่าผู้หญิงไม่ก้าวหน้า ผู้หญิงก็ก้าวหน้า แต่ในงานที่สัมผัสประชาชนอย่างพนักงานสอบสวน โอกาสโตสุดก็เป็นแค่ผู้กำกับ และไม่ได้เป็นผู้กำกับที่เป็นหัวหน้าโรงพักนะ เพราะเขามองว่ายังไม่เหมาะสม ยังไม่ถึงเวลา ถ้าจะเป็นได้ก็คือผู้กำกับการสอบสวนที่ดูแลเฉพาะเรื่องสำนวนคดี หรือดูแลเฉพาะงานคดีสอบสวนเท่านั้น ถ้าเป็นหัวหน้าโรงพักที่ต้องดูทั้งระบบ ยังถูกมองว่าผู้หญิงจะไปดูงานป้องกันปราบปราม ดูจราจร ดูอย่างอื่น ก็ยังคงไม่ได้รับความไว้วางใจทั้งๆ ที่ไม่เปิดโอกาสให้เขาทำ ถ้าเปิดโอกาส เขาอาจจะทำได้ไม่แพ้กัน คิดว่าอย่างนั้น” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าว

22 พ.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงรวบนักกิจกรรมนักศึกษา (ชาย) หน้าหอศิลปฯ กรุงเทพฯ ในเหตุการณ์รำลึกเหตุการณ์ 1 ปีรัฐประหาร เนื่องจากเข้าใจผิดว่านักศึกษาคนดังกล่าวเป็นผู้หญิง ทั้งนี้ การใช้ตำรวจหญิงเข้าจับกุมหรือค้นตัวผู้ถูกจับกุมที่เป็นเพศหญิง ต้องให้ตำรวจหญิงเป็นผู้กระทำ ตาม ป.วิอาญา ม.85 (แฟ้มภาพ: ประชาไท)
 

ยกเลิกการสอบนายร้อยตำรวจหญิง ทำวงการตำรวจไทย 'ถอยหลังลงคลอง'

พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าวว่า การยกเลิกการสอบนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงเมื่อ พ.ศ.2561 หลังจากรับสมัครมาได้ 10 รุ่นนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบมากต่อจำนวนตำรวจที่ปฏิบัติงานในภาพรวม เพราะโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามารถผลิตนายร้อยตำรวจหญิงได้เพียงรุ่นละ 70 คนเท่านั้น หมายความว่าตำรวจหญิงที่จบจากโรงเรียนนายร้อยยังไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างการทำงานได้ทั้งหมด โดยเฉพาะสายงานสอบสวนที่จำนวนพนักงานสอบสวนน้อยกว่าจำนวนโรงพักหลายเท่าตัว

“สถานีตำรวจมีทั้งหมด 1,488 แห่ง ในปัจจุบันมีพนักงานสอบสวนอยู่ประมาณ 500 กว่าคน แต่ว่าก็ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เต็ม 500 นะ บางคนก็อาจจะไปช่วยราชการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ ถึงมีนายร้อยตำรวจหญิงจากโรงเรียนนายร้อยมาเติมก็ยังขาด[กำลังพล]อยู่ แต่สำนักงานตำรวจก็รับเพิ่มนะ แม้ไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงที่ผลิตจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่เขาก็ยังเปิดรับพนักงานสอบสวนหญิงในช่องทางอื่น คือเปิดช่องให้คนที่เรียนจบนิติศาสตร์หรือเนติบัณฑิต หรือวุฒิอื่นๆ ตามที่กำหนดสามารถสมัครได้ และก็ยังเปิดรับอยู่เรื่อยๆ ถามว่าขาดตอนนี้มันขาด แต่มันอาจจะไม่กระทบในเรื่องกำลังพลในภาพรวม เพราะนายร้อยตำรวจหญิงที่ผลิตจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจก็ได้แค่ 70 คน ไม่ได้เพิ่ม[กำลังพล]มาก แต่ที่กระทบมากก็คือมันเป็นเรื่องที่ทำให้เห็นว่าองค์กรเรามันถอยหลังเข้าคลอง” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าว

“การผ่านโรงเรียนนายร้อยตำรวจจะทำให้เขาได้ประสบการณ์มากกว่าตำรวจที่มาจากปริญญาตรี ปริญญาโท หรือเนติบัณฑิต และภายในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เขาจะได้ประสบการณ์ในเรื่องอื่นๆ เทียบเท่ากับตำรวจผู้ชาย ซึ่งการยกเลิกนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงเป็นการปิดโอกาสของผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง แล้วก็น่าสงสัยที่ว่ามันมีมาแล้วตั้ง 10 รุ่น ทำไมถึงยกเลิก ถึงจะผลิตบุคลากรได้ไม่มากแต่มันก็เป็นเรื่องของความเท่าเทียม ให้มองเห็นศักยภาพของประเทศเราด้วยซ้ำไป เราก็มองว่าน่าเสียดายที่มันถอยหลังเข้าคลองไป แต่ว่าถ้ากังวลเรื่องว่าจำนวนเพียงพอไหม สำนักงานตำรวจก็พยายามที่จะรับอยู่เรื่อยๆ รับจากบุคคลภายนอกเข้ามาอบรมหลักสูตร 4-6 เดือน แล้วก็มาเพิ่มพูนเรื่องการสอบสวนวิธี การสอบสวนเทคนิคอะไรต่างๆ เป็นอย่างไร ความรู้ของคนที่รับมาก็มีอยู่แล้ว แต่ว่ามันต้องมาฝึกเรื่องเรื่องเทคนิคต่างๆ วิธีการรวบรวมหลักฐาน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าว

ตำรวจชายตรึงกำลังและปฏิบัติหน้าที่ในกิจกรรม “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564
(ภาพโดยวรรณา แต้มทอง, แฟ้มภาพ)
 

พนักงานสอบสวนเงินเดือนน้อย แต่อยู่ได้ สิ่งสำคัญคือการบริการประชาชน

“จริงๆ แล้วถ้าเปรียบเทียบในกระบวนการยุติธรรมอื่นถือว่าน้อย แต่ว่าก็ไม่ถึงกับน้อยมากเพราะว่าหนึ่งพนักงานสอบสวนจะมีเงินประจำตำแหน่ง บรรจุครั้งแรกจะมีเงินเดือน 15,000 บาท และมีเงินประจำตำแหน่งรองสารวัตรอีก 12,000 บาท ซึ่งรวมแล้วก็ 27,000 บาทในระดับเริ่มต้นงานใหม่ๆ ก็คิดว่าอยู่ได้ถ้าเรารู้จักใช้ชีวิตไม่ได้หรูหราฟุ่มเฟือย ก็ถือว่าอยู่ได้ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมอื่นซึ่งมีความรู้พื้นฐานมาเหมือนกันก็ถือว่ายังน้อยกว่า แล้วก็มีเงินค่าสำนวน ถ้าทำคดีก็จะไปเบิกได้ 500 บาท 1,000 และ 1,500 บาท แล้วแต่คดี เขาจะเอาเกณฑ์เรื่องโทษเป็นหลัก อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาช่วยในเรื่องของการนำมาใช้เป็นเงินในการบริหารจัดการเคสนั้นๆ จริงๆ แล้วไม่น้อยเกินไป มันพออยู่ได้ถ้าสตาร์ทมาอย่างนี้” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าว

พ.ต.หญิง ฉัตรแก้วยอมรับว่าอีกหนึ่งปัญหาที่พนักงานสอบสวนต้องเจอคือการเบิกเงินค่าสำนวนล่าช้า ทำให้พนักงานสอบสวนต้องควักกระเป๋าจ่ายเองไปก่อน ซึ่งหากเป็นคดีเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่เป็นไร แต่บางคดีที่มีผู้เสียหายมาก ต้องทำหลายสำนวน และเดินเอกสารหลายขั้นตอน ก็ถือว่า ‘เจ็บหนักเอาการ’ แต่ตนไม่รู้ว่าองค์กรตำรวจจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร ให้เงินค่าดำเนินการถึงมือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างรวดเร็วที่สุด นอกจากนี้ พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว ยังบอกว่าตำรวจคืองานที่ต้องบริการประชาชน และต้องเริ่มต้นด้วยใจรัก จึงจะสามารถไปต่อได้ในเส้นทางอาชีพนี้

“แต่ว่าที่สำคัญคือคุณต้องมีใจรักในการบริการประชาชน ถ้าจะทำเรื่องพวกนี้ เพราะมันหนักจริงๆ ปัจจุบันเราจะเห็นว่าประชาชนเขามีความรู้มากมาย รู้ถึงสิทธิหน้าที่ เพราะฉะนั้นเราต้องรองรับเรื่องพวกนี้ได้ ว่าเรามีความอดทนอดกลั้นพอไหม แล้วก็หลายคนที่เข้ามาสมัครเพื่อเก็บชั่วโมงการทำงาน อย่างคนที่จะรอสอบต่อไปเป็นผู้พิพากษา เป็นอัยการ ก็มาอยู่แป๊บๆ แล้วก็ออก เพราะรู้ว่าเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน บางครั้งเขาไม่ได้ทุจริตอะไรเลยแต่เวลาทำงาน มันทำงานอยู่ระหว่างคน 2 ฝ่าย มันต้องมีฝ่ายที่พอใจกับไม่พอใจ ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ ถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง มันก็เสี่ยงต่อการที่คุณจะถูกตั้งกรรมการ ถูกร้องเรียน แล้วมันจะพลาดโอกาสที่คุณจะไปเดินสายอื่น ในสายที่เขากำหนดในเรื่องที่ว่าคุณต้องไม่ด่างพร้อย หลายคนมาทำก็เลยถอดใจลาออกเพื่อถนอมตัว” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าว

องค์กรตำรวจควรเพิ่มหลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชนให้มากกว่านี้

พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าวว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พยายามเสริมหลักสูตรเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในหลักสูตรอบรมของข้าราชการตำรวจ เช่น สถาบันส่งเสริมงานสอบสวน ซึ่งจัดอบรมให้แก่พนักงานสอบสวนก็มีการให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงหลักสูตรต่างๆ ซึ่งตำรวจที่จะเลื่อนตำแหน่งจากรองสารวัตรเป็นสารวัตร จากสารวัตรเป็นผู้กำกับ ก็จะมีหลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ด้วย แต่ต้องยอมรับว่า ‘มีน้อย’

“คิดว่าชั่วโมงมันยังน้อย พวกนี้บางทีมันต้องปลูกฝังจากจิตสำนึกเลยด้วยซ้ำเพื่อให้เข้าใจ แต่คิดว่าพนักงานสอบสวนหรือตำรวจส่วนใหญ่ก็รู้ เวลามีเหตุเราเห็นเป็นข่าวนู่นนี่ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนเขาก็จะออกมาเรียกร้อง นอกจากนี้หลักสูตรอบรมต่างๆ แล้ว เวลามีการอบรมประจำเดือน ผู้บังคับบัญชาเขาก็จะมาเพิ่มมาเสริม อันนี้พูดจากประสบการณ์ที่เรารับราชการมา คือให้ความสำคัญแหละ แต่ว่าการที่จะปฏิบัติตามได้เคร่งครัดแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวปัจเจกว่าคุณทำงานโดยคำนึงถึงศักดิ์ความเป็นมนุษยไหม คำนึงถึงสิทธิของประชาชนไหม สิทธิมีมากมาย บางทีพนักงานสอบสวนไม่แจ้งสิทธิก็โดนก็มี อย่างตัวดิฉันเองก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวิทยากรในการอบรมหลักสูตรต่างๆ ของทางตำรวจก็ยังพยายามบอกเขาในเรื่องเหล่านี้ อะไรก็ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เราต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด ประชาชนบางคนเขาก็ไม่รู้ ก็ต้องบอก ไม่งั้นเขาก็จะเสียสิทธิ์” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าว

ภาพ พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว ขณะรับใบประกาศเกียรติในพิธีมอบประกาศเกียรติคุณให้พนักงาoสอบสวนหญิงร่วมการประชุมสตรีที่เป็นผู้นำในบทบาทการบังคับใช้กฎหมายระดับภูมิภาคอาเซียน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 (ภาพโดยสถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
 

ตำรวจไทยต้องลด ‘อคติทางเพศ’ และปฏิบัติต่อผู้เสียหายโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ในความเห็นที่เคยเจอกับตัวเอง แต่ไม่ได้มีลักษณะที่ต้องไปตรวจค้นเนื้อตัวร่างกาย แต่ว่าถ้ามีลักษณะที่ว่าเขาเป็นผู้ชายเข้ามา สำหรับตัวเองก็เหมือนว่าเขาเป็นประชาชนคนหนึ่ง เราไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ปัญหาก็เคยได้ยินอยู่เหมือนกันว่า (ตำรวจ) ไม่ได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีของเขา บางทีผู้เสียหายร่างกายไม่ตรงกับเพศสภาพ เวลาดำเนินการเรื่องอะไรก็ตามก็ไม่คำนึงถึงตรงส่วนนี้”

“การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางทีมันต้องเข้าใจเรื่องเพศสภาพหรือ Gender แต่เรามองว่าเรื่องพวกนี้ บางทีมันเป็นเรื่องที่เป็นวัฒนธรรมในสังคมที่ฝังอยู่ในความคิด ในจิตใต้สำนึกของคนไทย บางคนยิ่งเป็นผู้ใหญ่ในระดับสูงไปแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจในประเด็นละเอียดอ่อนพวกนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเรามาทำคดีแล้วเราไม่เข้าใจประเด็นที่ละเอียดอ่อนพวกนี้ มันก็จะละเมิดสิทธิผู้เสียหายซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศไปโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะคิดว่าเขาก็ทำกันอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ เขาเป็นผู้ชายนี่ ในบัตรประชาชนยังเป็นนาย ก็ต้องปฏิบัติอย่างผู้ชาย แต่กลับไม่ได้คำนึงถึงสภาพของเขาว่าจริงๆ เขาเป็นผู้หญิงแล้ว” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าว

“เราคิดว่าควรไปปลูกจิตสำนึก โดยเฉพาะงานที่ต้องบริการประชาชน เราจะไม่คำนึงถึงเพศไม่ได้นะ มันต้องโยงกับเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเรื่องสิทธิมนุษยชน มันต้องปลูกฝังเรื่องนี้ ถ้าตำรวจที่ทำงานเข้าใจเรื่องนี้ทั้งหมด ปัญหาพวกนี้ก็จะไม่เกิด แล้วต้องยอมรับว่าทุกวันนี้มันจะแบ่งแค่นั้น (ชาย-หญิง) ไม่ได้ ในชีวิตประจำวันก็ต้องเจออยู่แล้ว มันแตกต่างจากสมัยก่อน ปัจจุบันต้องยอมรับและปฏิบัติต่อกลุ่มคนเหล่านี้อย่างเท่าเทียม อย่างมนุษย์คนหนึ่ง” พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว กล่าว พร้อมเล่าถึงประสบการณ์ที่รุ่นน้องตำรวจชายมาขอคำปรึกษาการทำคดีล่วงละเมิดทางเพศซึ่งมีผู้เสียหายเป็นหญิงที่แต่งงานแล้ว โดยตนแนะนำไปว่า ‘ต้องลดอคติทางสังคม อย่าคิดแทน และดูเฉพาะพยานหลักฐานก็พอ’

“ยกตัวอย่างเช่นมีคดีหนึ่งที่รุ่นน้องพนักงานสอบสวนมาปรึกษาคดีล่วงละเมิดทางเพศ เขาบอกว่าผู้เสียหายเป็นผู้หญิงที่เคยแต่งงานแล้ว อายุประมาณ 30 กว่า มาแจ้งความว่าถูกคนรู้จักกันข่มขืน ซึ่งรุ่นน้องพนักงานสอบสวนรับแจ้งความเป็นคดีไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ คิดว่าจะรอให้คู่กรณีมาเคลียร์กับผู้เสียหาย ซึ่งลักษณะอย่างนี้เขาเรียกว่าเกิดความคิดอิทธิพลจากสังคมแล้วว่า ‘เป็นผู้ใหญ่ แต่งงานแล้ว โอกาสที่จะถูกข่มขืนมันจริงหรือเปล่า’ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในสังคมคิดกันเอง แต่ความคิดตรงนี้มันต้องเปลี่ยน เพราะ (การล่วงละเมิดทางเพศ) มันเกิดขึ้นได้หมดแหละ ไม่เกี่ยวว่าเป็นวัยไหน หน้าที่เราคือต้องดำเนินคดี ดูที่พยานหลักฐาน ไม่ต้องคำนึงว่าเขาจะเจรจา จะคุยกันหรือไม่คุย ถ้าเขาจะไปยอมความในชั้นศาลมันก็เป็นเรื่องของอนาคต ก็เป็นเรื่องของดุลยพินิจของศาล แต่หน้าที่ของเรา (ตำรวจ) คืออย่าไปคิดแทน แต่การคิดแบบนั้นก็ไม่ได้ผิด เพราะอย่างน้อยเขาก็บริสุทธิ์ใจที่จะรับเรื่องเป็นคดี แต่ด้วยแนวคิดอคติทางเพศที่ฝังรากในสังคมมันก็ทำให้เขาคิดเช่นนั้น แต่หลักคิดเหล่านี้ไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานที่ว่ามันเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น อย่าเอาเรื่องที่สังคมป้อนเข้ามามามองในเรื่องนี้ และมันก็อาจจะไม่ได้เป็นแค่ตำรวจ แต่อาจจะลากยาวเข้าไปถึงกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าว

การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางทีมันต้องเข้าใจเรื่องเพศสภาพหรือ Gender แต่เรามองว่าเรื่องพวกนี้ บางทีมันเป็นเรื่องที่เป็นวัฒนธรรมในสังคมที่ฝังอยู่ในความคิด ในจิตใต้สำนึกของคนไทย บางคนยิ่งเป็นผู้ใหญ่ในระดับสูงไปแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจในประเด็นละเอียดอ่อนพวกนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเรามาทำคดีแล้วเราไม่เข้าใจประเด็นที่ละเอียดอ่อนพวกนี้ มันก็จะละเมิดสิทธิผู้เสียหายซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศไปโดยไม่ได้ตั้งใจ

“ถ้าถามความเห็นส่วนตัว ถ้าเป็นผู้หญิงได้หมดก็ดี แต่ในบ้านเราการสอบปากคำก็เขียนไว้ชัดเจนว่าคดีล่วงละเมิดทางเพศต้องเป็นพนักงานสอบสวนหญิงเท่านั้น แต่ก็มีข้อยกเว้นให้พนักงานสอบสวนชายกระทำได้ หากผู้เสียหายยินยอม ที่เปิดช่องไว้อย่างนี้เพราะบางพื้นที่มันไม่มีพนักงานสอบสวนหญิง แต่กฎหมายไม่ได้บังคับในชั้นอัยการหรือศาล แต่ในทางปฏิบัติ แม้ไม่มีกฎหมายระบุ แต่เมื่อเราเชิญพนักงานอัยการมาร่วมสอบปากคำในคดีเด็กหรือคดีล่วงละเมิดทางเพศ ทางอัยการเขาก็พยายามคัดเลือกอัยการที่เป็นผู้หญิงมา เพราะเข้าเข้าใจกระบวนการ แต่ถ้าเป็นไปได้ หากมีกฎหมายเขียนไว้อย่างชัดเจนก็คงดี” พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว กล่าว

อัยการชี้ระบบกฎหมายไทยยังรองรับเฉพาะเพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิด

วุฒิชัยกล่าวว่าสิทธิทางเพศที่ระบุไว้ในกฎหมายไทยมีเพียงเพศชายและเพศหญิง ซึ่งยึดตามเพศกำเนิดเป็นหลัก พร้อมยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 157/2524 ที่ระบุว่า “เพศของบุคคลธรรมดากฎหมายรับรองและถือเอาตามกำเนิดหญิงตามพจนานุกรมคือคนที่ออกลูกได้ ผู้ร้องเป็นชายรับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศ แต่ก็ไม่สามารถมีลูกได้ ไม่มีกฎหมายให้ผู้ร้องขอเปลี่ยนแปลงเพศ โดยใช้สิทธิทางศาล” ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไข ยกเลิก หรือตรากฎหมายใหม่เกี่ยวกับสิทธิทางเพศ คำพิพากษาศาลฎีกานี้ก็ยังถือว่าเป็นบรรทัดฐานในการตีความตามกรอบกฎหมาย

“หลักกฎหมายไทย ไม่ได้รับรองการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพภายหลัง ยังคงถือหลักการว่าเพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเป็นอย่างไร ก็มักจะมีแนวปฏิบัติไปในทางนั้น ฉะนั้นเวลาเราตีความตามกฎหมาย เราอาจจะต้องตีความโดยใช้เพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่น การข่มขืน ปัจจุบันกฎหมายแก้ไขว่าอวัยวะเพศล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศ หรือใช้สิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศ ถ้าผู้ชายที่แปลงเพศแล้วมีอวัยวะเพศ เหมือนเพศหญิง ก็อาจจะตีความโดยเคร่งครัดได้ว่าไม่ถือเป็นการล่วงล้ำในอวัยวะเพศหญิงในความหมายของกฎหมาย ฉะนั้น เรื่องเพศสภาพ (Gender) กฎหมายไทยไม่ได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจน ส่วนวิธีปฏิบัติก็แล้วแต่ความตระหนักของเจ้าหน้าที่แต่ละคน และยังคงต้องรอ ความเห็นที่หลากหลายของนักกฎหมาย และรวมถึงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่มาวางหลักต่อไป” วุฒิชัย กล่าว

“ถามว่ามีการอบรมในเรื่องสิทธิทางเพศไหม ก็มีนะ แต่มันขึ้นอยู่กับปัจเจกชน มันไม่ได้มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องนี้” วุฒิชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 ไอลอว์รายงานโดยอ้างอิงข่าวแจกของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคำวินิจฉันเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยระบุว่าจากกรณีที่เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคำ ผู้ร้อง คู่รักที่ถูกปฏิเสธสิทธิการจดทะเบียนสมรสไม่ได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีมติเป็น "เอกฉันท์" ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม โดยมีข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สมควรดำเนินการ "ตรากฎหมาย" รับรองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

ทางไอลอว์ตั้งข้อสังเกตว่า ในข่าวดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญตั้งข้อสังเกตให้ "ตรากฎหมาย" รับรองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่ได้ตั้งข้อสังเกตโดยระบุเจาะจงให้ "แก้ประมวลกฎหมายแพ่งฯ" ซึ่งกำหนดการสมรสเฉพาะชาย-หญิง นี่อาจเป็นหนึ่งสัญญาณ ที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เลือกผลักดัน "ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต" ที่เป็นกฎหมายแยก ให้เฉพาะคู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต ซึ่งเป็นคนละแนวทางกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้ทุกคนจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายเดียวกัน

ภาพธง Pride ในกิจกรรมเรียกร้องสิทธิให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 (แฟ้มภาพ)
 

เสนอตั้งหน่วยงานคุ้มครองเด็ก ผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ รับทำคดีเฉพาะทางแบบครบวงจร

พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้วกล่าวว่าตนเสนอเรื่องนี้เสนอทุกเวทีที่มีโอกาสว่าต้องแยกหน่วยงานเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็ก ผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ออกมาเป็นหน่วยงานเดี่ยว เพราะคดีที่มีความละเอียดอ่อน ทั้งเรื่องคดีทางเพศ คดีเด็ก คดีค้ามนุษย์ หรือสื่อลามกเด็ก ควรจะมีหน่วยงานเฉพาะเหมือนกับกระทรวงความมั่นคงและมนุษย์ (พม.) แต่กระทรวง พม. มักจะรับทำเฉพาะคดีใหญ่ๆ เท่านั้น ส่วนคดีทั่วไปก็จะตกมาอยู่ที่โรงพักต่างๆ ซึ่งภาระทั้งหมดก็จะมาลงที่พนักงานสอบสวน แต่คดีที่มีความละเอียดอ่อนเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการสอบสวน ต้องรอ เพราะผู้เสียหายอาจจะยังไม่พร้อมให้การในเวลานั้น หากมีหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะคดีเฉพาะทางเหล่านี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาให้แก่เด็ก ผู้หญิง รวมไปถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ตำรวจไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นตำรวจ แต่ต้องใส่หมวกเป็นนักสังคมสงเคราะห์ด้วย อย่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำ กฎหมายเขียนไว้เลยว่า ‘ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย’ คือต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาใส่หมวกให้คุณไปแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณเข้าไปแก้ปัญหาคดีพ่อตีลูก ลูกจะฆ่าพ่อแม่ หรือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ตำรวจเข้าไปได้โดยไม่จำเป็นต้องรอหมายค้น อันนี้คือความสำคัญที่ทำไมกฎหมายถึงใส่หมวกให้ เพื่อให้เรา (ตำรวจ) เข้าไปช่วยได้ทันที

“(การมีหน่วยงานเฉพาะทาง) นอกจากเปิดโอกาสที่ถือว่าเป็นการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้เสียหายที่เป็นเด็ก สตรี และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยังทำให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง พนักงานสอบสวนหรือตำรวจที่เข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ เขาก็ไม่ต้องไปทำคดีสะเปะสะปะ เขาก็จะเกิดความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ มีเวลาเต็มที่ในการทำเรื่องนี้จริงๆ เพราะกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลในคดี 3-4 ประเภทที่ได้กล่าวไป ตำรวจไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นตำรวจ แต่ต้องใส่หมวกเป็นนักสังคมสงเคราะห์ด้วย อย่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำ กฎหมายเขียนไว้เลยว่า ‘ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย’ คือต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาใส่หมวกให้คุณไปแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณเข้าไปแก้ปัญหาคดีพ่อตีลูก ลูกจะฆ่าพ่อแม่ หรือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ตำรวจเข้าไปได้โดยไม่จำเป็นต้องรอหมายค้น อันนี้คือความสำคัญที่ทำไมกฎหมายถึงใส่หมวกให้ เพื่อให้เรา (ตำรวจ) เข้าไปช่วยได้ทันที ถ้ายังขึ้นอยู่กับตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนประจำโรงพัก ซึ่งก็มีงานประจำเยอะอยู่แล้ว ไม่มีเวลาไปทำคดีละเอียดอ่อน แต่ถ้ามีหน่วยงานที่ทำคดีเฉพาะเหล่านี้จนเกิดความเชี่ยวชาญ ก็จะมีคอนเน็คชันในการทำงานที่สอบสวนที่เป็นกึ่งงานสังคมสงเคราะห์ เพราะต้องทำงานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. อย่างใกล้ชิด เมื่อมีคอนเน็คชัน ก็จะเกิดการประสานและส่งต่องานที่มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย เขาจะได้รู้สึกว่ามีที่พึ่ง รู้สึกปลอดภัย” พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว กล่าว

พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้วเล่าถึงการฝึกอมรมการสอบสวนคดีเฉพาะทางที่มีวิทยากรเป็นตำรวจจากประเทศออสเตรเลียมาบรรยายให้ความรู้ โดยระบุว่าที่ประเทศออสเตรเลียจะมีศูนย์พักพิงให้กับผู้เสียหายในคดีที่มีความละเอียดอ่อนเหล่านี้ และมีแพทย์มาประจำการอยู่ที่สถานีตำรวจ เพื่อที่ผู้เสียหายจะได้ไม่ต้องเดินทางไปตรวจร่างกายเองที่โรงพยาบาล ซึ่งตนก็คาดหวังให้ประเทศไทยเป็นเช่นนั้น

“หมออาจจะไม่ต้องมาเข้าเวร (ที่โรงพัก) ทุกวันหรอก เพราะมันไม่ได้มีคดีทุกวัน แต่ถ้ามีคดีเกิดขึ้นก็ต้องมีหมอพร้อมเดินทางมาตรวจร่างกายที่โรงพัก แบบนี้ก็สามารถออกกฎหมายได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายต้องเขียนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้” พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว กล่าว พร้อมระบุว่าต้องการเห็นความร่วมมือจากหลายกระทรวงและหน่วยงานให้มีส่วนร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการจัดตั้งหน่วยงานทำคดีเฉพาะทางเกี่ยวกับเด็ก สตรี และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

“ในประเทศมีผู้หญิงและเด็กเป็นผู้เสียหายเยอะ และมีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจริงว่ามีสิทธิเท่าเทียม มีโอกาสทำหน้าที่นู่นนั่นนี่ รัฐต้องดูแล แต่กระบวนการคุ้มครองที่ทำให้เห็นรูปธรรมยังไม่ชัดเจน พูดเฉพาะคดีที่เขาเป็นผู้เสียหายแล้วนะ ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องอื่น อย่างที่เขียนไว้ว่าต้องให้พนักงานสอบสวนหญิงเป็นผู้สอบปากคำ ซึ่งจริงๆ มันก็ใช่ แต่ว่า (จำนวนเจ้าหน้าที่) มันไม่ครบ สอบปากคำอย่างเดียวแล้วได้อะไรในเมื่อคดีละเอียดอ่อนเหล่านี้ยังมีกระบวนการอื่นอีกเยอะแยะเต็มไปหมดเลย เราก็มองว่ายังมีจุดอ่อน มีข้อด้อย ยังไม่สมบูรณ์” พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว กล่าว

‘ศพดส.เชียงใหม่’ ต้นแบบหน่วยงานเฉพาะทาง แก้ปัญหา ‘งานเกิน’ ของตำรวจโรงพัก

“หน่วยงานที่ทำคดีละเอียดอ่อนไม่ใช่ว่ามีเฉพาะส่วนกลาง แต่ต้องมีทุกจังหวัด ทุกวันนี้ เรามีศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ (ศพดส.) จริง แต่มันเป็นศูนย์ที่มีแต่ป้าย แต่ที่ดูแล้วเป็นงานที่โดดเด่นจริงๆ น่าจะเป็นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งศูนย์มาหลายปีแล้ว แล้วเขาทำเป็นรูปแบบ ทำงานเป็นทีมอย่างที่เล่าไป แต่ในจังหวัดอื่นๆ เท่าที่ทราบมาก็เหมือนมีแต่ป้าย เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์เหล่านี้ขึ้นมา แต่การปฏิบัติจริงๆ ก็กลับมาที่โรงพักอยู่ดี ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น หรืออย่างในกองบัญชาการตำรวจนครบาลก็มีกองสวัสดิภาพเด็ก แต่เขาทำหน้าที่แค่สืบสวน ไม่ได้สอบสวน จับได้ก็ต้องมาส่งโรงพักอยู่ดี เราอยากให้มีทั้งทีมสืบสวนหรือฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายพิสูจน์พยานหลักฐาน และฝ่ายสอบสวนที่มีความจำเพาะเกี่ยวกับคดีพวกนี้ ให้อยู่เป็นทีมเดียวกัน” พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้วกล่าว พร้อมระบุว่าการทำงานของ ศพดส. จ.เชียงใหม่ มีการขยายผลหลังการจับกุมทำให้สามารถจับกุมผู้ซื้อประเวณีเด็กได้นับสิบราย ในขณะที่ส่วนอื่นนั้น เมื่อมีคดีเหล่านี้มาก็จับกุมแค่ผู้ต้องหาแล้วจบ ไม่มีการสอบสวนเพื่อขยายผลเพิ่มเติม

“แต่ถ้าเป็นเรื่องเฉพาะทางที่มีทีมทำโดยเฉพาะ ตั้งแต่พนักงานสืบสวน สอบสวน ไปจนถึงทีมเทคโนโลยี มีบุคลากรครบประหนึ่งว่าเป็นโรงพัก แต่คุณรับทำเฉพาะเรื่องนี้ ให้มีจังหวัดละหนึ่งที่ ถ้า สน. หรือ สภ. ในพื้นที่รับแจ้งความก็ส่งต่อไปยังหน่วยงานนี้ การจัดตั้งมันทำได้ ไม่ต้องมีงบประมาณอะไร เพราะเราก็แค่เกลี่ยคนมา สน. หรือ สภ. ก็จะเบาลง ซึ่งที่พูดก็รวมถึงคดีทางไซเบอร์ด้วยนะ เพราะ ปอท. ก็รับทำเฉพาะคดีใหญ่ สุดท้ายก็โอนกลับมาที่โรงพัก โรงพักก็ทำไม่ไหว รอผู้เสียหายมาตามถึงจะขยับ พนักงานสอบสวนเลือกที่จะทำคดีที่จับตัวผู้ต้องหาหรือคดีมีตัวได้ก่อน เพราะคดีพวกนี้มีเวลาที่จำกัด ส่วนคดีที่ยังไม่มีผู้ต้องหาก็ต้องชะลอไว้ก่อน เมื่อภาระงานของพนักงานสอบสวนประจำโรงพักเยอะเกิน ผลเสียก็ตกอยู่ที่ประชาชน” พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว กล่าว

“ถ้าไม่แก้ปัญหาตรงนี้ ปัญหามันก็ไม่จบหรอก อย่างเราทำงานในสายพนักงานสอบสวนมาเป็นเวลา 20-30 ปี ปัญหามันยังคงเดิมเพราะวิธีแก้มันเดินไปในรูปแบบนี้ ยังไม่ได้เดินไปในรูปแบบของหน่วยงานเฉพาะทาง ถามว่าจะต้องไปเพิ่มงบประมาณเยอะไหม ก็ไม่ใช่ขนาดนั้น อาจจะเพิ่มพวกอุปกรณ์ สถานที่ ส่วนจำนวนคนก็เกลี่ยมาจากโรงพักหรือหน่วยงานที่มีอยู่ ซึ่งเขายอม เพราะโรงพักไม่จำเป็นต้องทำคดีที่ต้องใช้เทคนิคการสอบปากคำยากๆ แล้ว บางทีการสอบปากคำเด็ก ตำรวจไม่อยากสอบนะ เพราะการสอบปากคำเด็กเล็กๆ มันยากนะ แต่ถ้ามากองนี้ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญที่รู้ว่าทำอย่างไรให้เด็กพูด มันมีแต่ประโยชน์นะ ไม่ได้สิ้นเปลืองงบประมาณอะไรด้วย” พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว กล่าว

“ถ้าไม่ทำหน่วยงานเฉพาะทาง งานสอบสวนก็จะล้มเหลวอยู่อย่างนี้ คนก็จะท้อ เขาก็จะหนี เพราะเขาทำไม่ไหว” พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว กล่าว

ภาพตำรวจหญิงขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมโรงงานน้ำตาลพ่วงไฟฟ้าชีวมวล ที่ อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2562 (ภาพจากเพจขบวนการอีสานใหม่)
 
“กำลังพลก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะต่อให้เราจะมีนโยบายที่เลิศหรูเท่าไรก็ตาม แต่ถ้ากำลังพลไม่พอมันก็เป็นไปได้ยาก ที่พูดมาทั้งหมดมันอยู่บนพื้นฐานที่ว่ารัฐบาลต้องเพิ่มจำนวนตำรวจทุกสายงานให้เพียงพอต่อการบริการประชาชน ในกรมในกองไม่จำเป็นต้องมีเยอะ เพราะเวลามีปัญหาอะไรก็จะให้ (ประชาชน) ไปที่โรงพักตลอด โรงพักจึงเป็น ‘จุดแตกหัก’ จะต้องมีคนเพียงพอไว้สำหรับบริการประชาชน ส่วนในกรมกองไม่ต้องมีเยอะ เพราะมีแค่หน้าที่บริหาร ทำนโยบาย สั่งการลงไปให้คนที่ต้องปฏิบัติการดูแลประชาชน ซึ่งนั่นก็คือโรงพัก จะให้มีแค่ 2 คนนั่งอยู่มันก็ไม่ได้ ต้องมีเจ้าหน้าที่เต็มอัตรา ตั้งแต่เริ่มต้นสอบสวนไปจนถึงเจ้าหน้าที่เก็บสถิติแล้วไปรายงานผลต่อผู้เสียหาย ทั้งหมดนี้ต้องตั้งทีมขึ้นมา ไม่ได้หมายว่าต้องมีเยอะมากมายหรอก แต่ต้องมีให้เพียงพอต่อการบริการประชาชนในหนึ่งวัน” พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว กล่าว

สังคมไทยต้องช่วยกันปลูกฝังแนวคิดเรื่องเพศสภาพ (Gender) ในระดับจิตสำนึก

พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว และอัยการวุฒิชัย เห็นตรงกันว่าบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความรู้และความเข้าใจเรื่องเพศสภาพ (Gender) มากน้อยต่างกันในมุมมองของปัจเจก เหมือนกับคนในสังคมที่มีทั้งบุคคลที่เปิดรับ และไม่เปิดรับ จึงต้องให้โอกาสคนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ได้เวลาเรียนรู้และทำความเข้าใจ โดยเฉพาะคนที่สูงอายุ เพราะปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัยและการวัฒนธรรมบางอย่างในสังคมที่ฝังรากลึกต้องใช้เวลาเข้ามาเป็นตัวช่วย และในตอนนี้ ตนก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มความเข้าใจในเรื่องนี้ นอกจากการจัดหลักสูตรอบรม และปลูกฝังแนวคิดให้ฝังรากลึกจนกลายเป็นค่านิยมใหม่ในสังคม

“การจะสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศสภาพ (Gender) ไม่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น แต่ควรเป็นการปลูกฝังในระดับจิตสำนึกมาตั้งแต่เด็ก เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีความเข้าใจและตระหนักในสิทธิทางเพศให้มากขึ้นและมั่นคงในอนาคต ซึ่งตนหวังว่าใน 10-20 ปีจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างชัดเจนในสังคม” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว กล่าว

“ทางแก้ก็คือการปรับปรุงทัศนคติของผู้ปฏิบัติให้มีความตระหนัก มีความเข้าใจมากขึ้นในทางปฏิบัติต่อเรื่องเพศสภาพ เรายังต้องอาศัยพัฒนาการทางสังคมที่มันจะส่งผลกระทบต่อกฎหมาย สังคมยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ” วุฒิชัย กล่าว

 

สกู๊ปนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษชุด เพศสภาพในงานตำรวจ (Gender and policing) ซึ่งจะมีการนำเสนอระหว่างพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท