Skip to main content
sharethis

วงถกภาคประชาชน ‘ยกเลิก ม.112 กับอนาคตประเทศไทย’ หน้าศาลอาญา รัชดา ชี้ชัด ม. 112 เป็นปัญหาทั้งกับสังคม การเมือง และสถาบันกษัตริย์เอง เสนอการยกเลิกจะทำให้สถาบันดำรงอยู่ด้วยความศรัทธา เป็นคุณต่อทุกฝ่าย

บรรยากาศงานเสวนา ยกเลิก ม.112 กับอนาคตประเทศไทย

24 ธ.ค. 64 Voice TV ถ่ายทอดสดวานนี้ (23 ธ.ค.) เวลาประมาณ 16.30 น. ติดตามวงเสวนาภาคประชาชน ‘ยกเลิก ม.112 กับอนาคตประเทศไทย’ หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก โดยมี ณัฐชนน ไพโรจน์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จีรนุช เปรมชัยพร อดีตสมาชิกคณะรณรงค์แก้ไข ม. 112 (ครก.112) รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และณัชปกร นามเมือง จาก iLaw เป็นผู้ร่วมเสวนา 

ม.112 ทำลายพื้นที่ตรงกลาง-สร้างความขัดแย้ง

ณัฐชนน มองว่า ปัญหาของมาตรา 112 คือการทำลายพื้นที่ตรงกลาง ไม่ให้คนมาถกเถียงถึงปัญหาทางด้านการเมืองและสังคม คนกลุ่มหนึ่งพูดอะไร ก็ถูกจับ ถูกดำเนินคดี และถูกคุกคามจากรัฐ พอพื้นที่พูดคุยมันไม่มี แต่ปัญหาในประเทศมีอยู่จริง คนก็ออกมาเรียกร้อง ไม่ใช่เพราะว่ามีคนหว่านเงิน แต่เพราะปัญหามันมีอยู่จริง แต่พอภาครัฐใช้กฎหมายจับกุมดำเนินคดีคนที่ออกมาประท้วงเรียกร้องประเทศให้ดีขึ้น มันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา แต่มันเป็นการสร้างความแตกแยก ทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัวมากขึ้น ความแตกแยกไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนออกมาประท้วง แต่ความแตกแยกมันเกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐ และตัวบทกฎหมาย ดังนั้น ในมุมมองของเขาแล้ว กฎหมาย ม.112 นี้เป็นต้นตอของทุกปัญหา 

ณัฐชนน ไพโรจน์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

นอกจากนี้ ณัฐชนน มองว่า ปัญหาในบ้านเมืองจะเกิดการแก้ไขได้อย่างแท้จริงต้องมีคนที่เดือดร้อน และสะท้อนปัญหาออกมา จากนั้น ผู้แทนราษฎรนำปัญหานี้ไปพูดในรัฐสภา และตรากฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ถ้ามีกฎหมาย ม.112 ปัญหาก็ไม่ได้รับการสะท้อน เพราะผู้คนกลัวถูกดำเนินคดี ปัญหาก็หมักหมม ไม่ได้แก้ไข ณัฐชนน ถามไปถึงเจ้าหน้าที่ว่า สุดท้ายประเทศถึงทางตัน เป็นเพราะคนออกมาเรียกร้องหรือกฎหมายไม่เป็นธรรมกันแน่   

ยกเลิก ม.112 เพื่อให้สถาบันอยู่ด้วยความสง่างาม

ณัฐชนน กล่าวว่า การที่สถาบันกษัตริย์อยู่ได้สังคมอย่างสง่างาม และอยู่กับประชาชน สถาบันกษัตริย์ต้องปฏิรูปตัวเอง และการยกเลิก ม.112 คือหนึ่งในการปฏิรูปตรงนั้น ณัฐชนน ชวนผู้ฟังคิดตามว่า สมมติถ้าวิจารณ์ทักษิณ ชินวัตร แล้วเป็นประโยชน์กับสาธารณชน แต่การวิจารณ์สถาบันแล้วเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน แต่คนวิจารณ์ถูกกฎหมายเล่นงาน อย่างไหนมีปัญหามากกว่ากัน 

การยกเลิก ม.112 จะทำให้ประชาชนสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่เป็นปัญหาต่อสังคมได้ เช่น สถาบันกษัตริย์ประเทศไหนมีกองกำลังทหารเป็นของตัวเอง สถาบันก็จะสามารถแก้ไขและปรับตัวได้ สถาบันกษัตริย์จะเป็นที่ศรัทธาของสังคม ขณะเดียวกัน ก็เป็นคนที่จับต้องได้ วิจารณ์ได้ และอยู่ร่วมสังคมได้

“การที่สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วย ม.112 เป็นเพราะเขาอยู่ในสังคมได้ด้วยความศรัทธา หรือความกลัว อันนี้เป็นสิ่งที่เขาต้องตั้งคำถาม ไม่ใช่ถามกับพวกเราอย่างเดียว”

“(การยกเลิก ม.112) มันไม่ใช่แค่จะทำให้เราสามารถแก้ไขต่อประเทศชาติได้เท่านั้น ปัญหาการใช้งบประมาณ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาต่างๆ ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ไม่ได้แก้ปัญหารัฐประหารเพียงอย่างเดียว การยกเลิก ม.112 จะทำให้เขาอยู่ได้ด้วยความสง่างาม และได้ความรัก ไม่ใช่ความกลัว … ผมมองไม่เห็นเลยว่าการยกเลิก ม.112 เป็นปัญหาต่อสังคมยังไง แต่กลับกันมันเป็นคุณกับคนทุกฝ่าย” ณัฐชนน กล่าว 

ม.112 กักขังความคิด ทำลายสถาบันกษัตริย์-ตุลาการ

จีรนุช เปรมชัยพร อดีตสมาชิก ครก. 112 และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวถึงข้อความในวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของ ‘นพพล อาชามาส’ ซึ่งระบุถึงปัญหาของ ม.112 ว่า 

“ม.112 เป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง ท่ามกลางฐานที่ใหญ่กว่า เพียงแต่เราเลือกมองหรือเคลื่อนไหวแตกต่างกันไป ตามอุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองของแต่ละฝ่าย โดยการแก้ปัญหามาตรา 112 แยกไม่ออกจากการปฏิรูปสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้ความขัดแย้งครั้งนี้ สังคมไทยจึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเผชิญปัญหาประเด็นเรื่องสถานะของสถาบันกษัตริย์โดยไม่หลบตาจากมัน และจำเป็นต้องหาหนทางในการพูดคุยกันอย่างสงบสันติในทางสาธารณะในประเด็นนี้ให้ได้ ทั้งนี้  เพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่เป็นอยู่ และป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า” ข้อความในทีสิสเล่มนี้ ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2553 จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นความจริง 

จีรนุช เปรมชัยพร อดีตสมาชิก ครก. 112

 

ส่วนปัญหาของ ม.112 จีรนุช กล่าวว่า มีอย่างน้อย 3 ประเด็น คือหนึ่ง มาตรา 112 เปรียบเสมือนเพดานแก้วของความคิด 

“เหมือนว่ามันโปร่ง เรามองไปในสังคมที่เห็นท้องฟ้า แต่ทำไมไม่รู้บนฟ้า เราเห็นเพดาน เรารู้ว่ามันมีกำแพงที่สกัดความคิด และถ้าในสังคมไหนก็ตาม ที่คนหรือพลเมืองในสังคม ไม่สามารถที่จะมีอิสระในความคิด ไร้กรอบ คิดว่านั่นเป็นปัญหาการพัฒนาสังคม และปัญหาสังคมประชาธิปไตยด้วย ต้องตั้งคำถามว่าแบบนั้น เราจะยังเรียกสังคมประชาธิปไตยได้หรือไม่ ตราบที่เรายังมีเพดานแก้วครอบอยู่บนหัวเรา” จีรนุช กล่าว 

ต่อมา การที่ยังคงไว้ซึ่ง ม.112 เป็นโทษต่อสถาบันกษัตริย์โดยตัวเอง ย้อนไปตอนที่ยังทำ ครก.112 ตอนนั้นเรามีข้อเสนอว่า เราอยากให้สถาบันกษัติรย์ ในฐานะสถาบันทางสังคมที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง รัชกาลใดรัชกาลหนึ่ง เป็นสถาบันทางสังคมที่อยู่ได้อย่างสง่างามทั้งในสังคมไทยและประชาคมโลก แต่ ม.112 ปัจจุบัน ถูกนำไปใช้แอบอ้างเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ เพื่อพยายามจะเหยียบและก็ปิดหนทางในการที่ประชาชนจะได้ตั้งคำถาม และแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงบางเรื่อง สิ่งนี้ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย

ท้ายที่สุด จีรนุช ระบุว่า ทำไมเธอถึงเปลี่ยนความคิดจากคนที่ต้องการแก้ไข ม.112 เป็นการยกเลิกมาตรานี้ เพราะเธอมองว่า มาตรา 112 กำลังทำลายกระบวนการยุติธรรมและสถาบันตุลาการ กรณีที่ชัดเจนที่สุดคือการไม่ให้ประกันตัวผู้ถูกกล่าวหามาตรา 112 ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวอยู่แล้ว และในกระบวนการพิจารณาที่เกี่ยวกับคดีเหล่านี้ ก็มีความพิสดาร และแปลกประหลาด ซึ่งในสังคมหนึ่ง การที่กระบวนการยุติธรรมมีปัญหา มันก่อให้เกิดผลเสียมากมาย เมื่อสถาบันตุลาการไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริงได้ บ้านเมืองก็วุ่นวาย

‘เผยแพร่มุมมองกษัตริย์ใต้ รธน.’

จีรนุช มองว่า สังคมไทยมีมุมมองต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์ สามารถแบ่งออกได้ 4 มุมมอง หนึ่งกลุ่มที่รักและหวงแหน พร้อมปกป้องสถาบันโดยบริสุทธิ์ใจ และกลุ่มที่แอบอ้างการมีอยู่ของสถาบันเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง  

กลุ่มที่ต้องการจัดสรรความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประชาชนและสถาบันกษัตริย์ภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตย และอีกกลุ่มที่ตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ 

วิธีการมองของสังคมไทยต่อสถาบันกษัตริย์ตอนนี้กำลังเป็นปัญหาประการหนึ่ง เนื่องจากสังคมจะมองว่า สถาบันกษัตริย์ต้อง ‘อยู่เหนือการเมือง’ และ 'อยู่เหนือหัว' ดังนั้น จะไม่สามารถแตะต้องได้ กับอีกกลุ่มหนึ่งอุดมการณ์ที่เรียกว่า 'กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ' สองแนวคิดนี้กำลังปะทะ และแย่งชิงความหมายกัน คือว่าการที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ทำยังไงให้การอยู่เหนือการเมือง ไม่เท่ากับสถานะสมมติเทพ แต่เป็นสถานะที่ อยู่ได้รับความเคารพภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะไม่เข้ามามีอำนาจในความสัมพันธ์ทางการเมือง สองความหมายนี้กำลังปะทะกันว่า กษัตริย์แตะต้องได้หรือไม่ได้ แต่ถ้าพูดกันในมาตรฐานสังคมโลกนั้น สถาบันกษัตริย์ที่ยังคงอยู่ในหลายประเทศ คือสถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนชื่นชม และวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ไม่ได้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์

“ดังนั้น ถ้าเราอยากเห็นสถาบันกษัตริย์งอกงามในสังคมประชาธิปไตย เราคิดว่าเราคงต้องมาช่วยขยายแนวคิดการพูดถึงกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นการเหยียบ หรือยกขึ้นเหนือหัว ทำให้เป็นเรื่องความเข้าใจที่ไม่ได้ใส่คุณค่าทั้งยก และกด” จีรนุช กล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า การพูดเรื่องการยกเลิก ม.112 ไม่ผิด ม.112 และแม้ว่าข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง แต่เราต้องยืนยันว่า การปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง 

สถาบันถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในช่วงทำ ครก.112 นั้น มีการเสนอให้แก้ไข ม.112 เพราะการมีอยู่ของ ม.112 ตอนนั้น ทำให้กษัตริย์ถูกตั้งคำถามมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำไมถึงยังไม่เสนอให้ยกเลิก เพราะไม่อยากให้สังคมขัดแย้งจนพาสังคมไปสู่การแตกหัก ถ้าเสนอให้ยกเลิกในขณะนั้นอาจจะทำให้ไม่สามารถรณรงค์ได้เลย

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์จาก มธ.

แต่ 10 ปีต่อมา ประชาชนสนใจเรื่องของการยกเลิก ม.112 มากขึ้น ยุกติ กล่าวว่า เรื่องนี้มีเหตุผลทางการเมืองอยู่ เช่น ปัญหาในตัวบทกฎหมาย เช่น การจัดอยู่กฎหมายความมั่นคง กฎหมายคุ้มครองในระดับรุนแรง มีสถานะเท่ากับกฎหมายความมั่นคงอื่นๆ ใครแจ้งความก็ได้

อีกข้อ การบังคับใช้กฎหมาย กระบวนที่ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม การต่อสู้ที่ทำให้ผู้ต้องหาไม่ได้สิทธิต่อสู้คดี 

ปัญหาในเรื่องอุดมการณ์ การตัดสินคดี ม. 112 มองสถาบันกษัตริย์ไม่เหมือนบุคคลธรรมดาทำให้เกิดปัญหาในการตัดสินของศาล ต่อมา คือปัญหาของความไม่เป็นสากลของมาตรา 112 

ยุกติ กล่าวว่า เขาสังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง 2 ประการ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนมาขมวดปมเมื่อปีที่แล้วและปีนี้ จนมีการเรียกร้อง ยกเลิก 112 ด้านหนึ่งคือประชาชน และอีกด้านคือสถาบันกษัตริย์ 

กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา หรือพฤษภาทมิฬ ประชาชนตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยมากขึ้น หรือการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่คนไม่คาดคิดว่าจะเกิดก็เกิดขึ้น คือรัฐประหาร และเกิดขึ้นถึง 2 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ยิ่งทำให้ประชาชนตระหนักถึงการถูกลิดรอนเสรีภาพ และสถาบันกษัตริย์ถูกดึงไปใช้ประโยชน์แค่เฉพาะคนบางกลุ่ม และส่งผลให้เกิดการริดรอนสิทธิประชาชนมากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงในสถาบันกษัตริย์ แต่ความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ในด้านหนึ่งประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์มากขึ้น เนื่องจากประชาชนรู้สึกว่าสถาบันถูกดึงมาเป็นเครื่องมือเอื้อประโยชน์แก่ฝักฝ่ายทางการเมืองบางกลุ่ม และริดรอนเสรีภาพประชาชน 

อีกประการหนึ่งคือมีคนขยายอำนาจให้สถาบันกษัตริย์มากขึ้น มีกองกำลังของตัวเอง ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจ คือการโอนทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินให้กลายเป็นแบบปัจจุบัน สถานะของกษัตริย์ถูกตั้งคำถาม ตนไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ แต่คนที่รับสนองพระบรมราชโองการต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะเป็นคนทำให้สถาบันลงมาเกลือกกลั้วกับประชาชน และถูกทำให้เป็นปฏิปักษ์กับประชาชน และนี่ความเปลี่ยนใหญ่ 2 ประการ ที่ทำให้ประชาชนมองหาการยกเลิก ม. 112 

ยกเลิก ม.112 มีคุณทั้งด้านสังคม-การเมือง

ยุกติ มองว่า การยกเลิก ม.112 ไม่ได้เป็นผลดีแค่สถาบัน แต่ประชาชนก็ได้รับประโยชน์ตรงนี้ในหลายระดับ และหลายด้าน 

ด้านของสังคม จะไม่มีใครใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง ข่มขู่ ต่อว่า หรือกีดกันรับเข้าทำงาน ถ้ายกเลิกแล้ว ความขัดแย้งในสังคมจะน้อยลง

ความเสื่อมทางการเมือง และการบริหารกระบวนการยุติธรรม อันเนื่องมาจาก ม.112 การยกเลิก ม.112 จะทำให้การเมืองพัฒนาไปข้างหน้า เพราะจะไม่มีใครห้อยโหน ม.112 เป็นข้ออ้าง รวมถึงข้ออ้างใช้ยุบพรรคการเมือง 

การปรับโครงสร้างการเมืองในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบัน-ประชาชน ถ้าปลดตรงนี้ มันจะดีต่อสถาบันกษัตริย์เอง ประชาชนแสดงความเห็นได้ วิจารณ์ได้ อันนั้นคือสิ่งที่ทำให้สถาบันกษัตริย์พิสูจน์ตัวเองว่า ท่านได้ทำสิ่งที่ประชาชนสงสัย หรือวิจารณ์รึเปล่า หรือทำได้ดีกว่านี้รึเปล่า ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ 

คนที่บอกว่า อย่าไปยุ่งกับท่าน นู่นนี่ แต่จริงๆ แล้วการดำรงอยู่สถาบันกษัตริย์ขึ้นอยู่กับความชอบธรรมจากประชาชน ไม่งั้นก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่เกี่ยว ก็ไม่ต้องรับงบประมาณจากภาษีประชาชน ก็ไปเอาเงินจากบริษัทเอกชนแทน 

ช่วยกันนำความจริงออกมา (ถกเถียง)

ณัชปกร หรือฐา iLaw กล่าวว่า ปัญหามาตรา 112 อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน คือพอเวลาที่พยายามคุยเรื่องใดก็ตามที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่สามารถพูดได้ 

ณัปกร นามเมือง หรือฐา iLaw

ขณะที่ความขัดแย้ง ม.112 กับปัญหาทางการเมือง ฐา มองว่า ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้มีด้วยกัน 2 ฝั่ง คือฝั่งที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และฝั่งที่ต้องการปกป้องสถาบันอย่างสุดโต่ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อัยการลำปาง มีการสั่งฟ้องคดี ม.112 “งบสถาบัน > งบวัคซีน” คนที่ควรถูกตำหนิที่สุดในข้อวิจารณ์นี้คือรัฐบาล เพราะรัฐบาลคือคนเสนอร่างงบประมาณ และรัฐสภา แต่หน่วยงานรัฐกลับเอา ม.112 มาเล่นงานคนที่วิจารณ์รัฐบาล “นี่แหละที่เรียกว่าไอ้ห้อย ไอ้โหน”

ฐา ฝากข้อความไปยังผู้ปกป้องสถาบันกษัตริย์ด้วยว่า ท่านรับได้หรือกับการปกป้องสถาบันกษัตริย์สุดโต่งอย่างนี้ รัฐบาลไม่อยากรับผิดชอบต่อการจัดสรรงบประมาณที่ผิดพลาด หรือรัฐสภาที่ไม่อยากรับผิดชอบต่อการจัดสรรงบประมาณ และเอา ม.112 มาใช้กับประชาชน เพราะเขาต้องการวิจารณ์ว่าเงินภาษีของประชาชนควรจะใช้อะไร เราต้องทบทวนว่าคนที่วิจารณ์นโยบายสาธารณะ หรือพูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้น ถูกต้องหรือไม่ ต้องไม่ปล่อยให้มีคนโหนสถาบันแบบนี้ ไม่งั้นจะพูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ไม่ได้เลย เพราะเสี่ยงถูกกฎหมายเล่นงานไปหมด ถ้าผู้ปกป้องสถาบันต้องการให้บ้านเมืองสงบ เราต้องช่วยกันเอาความจริงออกมา ถกเถียงด้วยความจริง ถ้าไม่เห็นด้วย ก็นำความจริงมาถกเถียงไม่ใช่ดำเนินคดี

ถ้าไม่มี ม.112 ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

ณัชปกร นามเมือง ระบุว่า จากตัวอย่างประเทศที่ไม่มีมาตรา 112 สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงดำรงอยู่ได้ และเป็นที่ยอมรับของคนในประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น ได้ ดังนั้น การยกเลิก ม.112 จะทำให้สถาบันเสื่อมเสียยังไง ตนคิดว่าไม่มี 

แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะระบุว่า สถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ และใครจะละเมิดมิได้ แต่อยากจะกล่าวว่า มันไม่ได้หมายความว่าวิจารณ์ไม่ได้ และถ้าจะไม่ให้วิจารณ์จริงๆ สถาบันกษัตริย์ก็ต้องไม่สามารถทำอะไรได้เลย หรือต้องจำกัดพระราชอำนาจให้มากที่สุด การอ้างแบบว่า ‘King can do no wrong’ แล้วแก้ ม.112 ไม่ได้เลย มันผิดหลักการ เพราะฉะนั้น การไม่มี ม.112 ไม่ได้ทำให้การละเมิดมากขึ้น และการถูกละเมิดหรือไม่ละเมิดขึ้นอยู่กับผู้รับสนองพระบรมราชโองการว่าจะจำกัดพระราชอำนาจยังไงให้ถูกต้อง ไม่เกินเลย และไม่ถูกตำหนิ ดังนั้น ไม่เกี่ยวกับว่าคนจะละเมิดมากหรือน้อย และการดำรงอยู่ ม. 112 ก็ไม่แน่ใจว่าทำให้การวิจารณ์สถาบันลดน้อยลง มันจะยังคงอยู่ จนกว่าจะมีการจำกัดพระราชอำนาจให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย 

ด้านจีรนุช มองว่า การบอกว่า ม.112 แก้ไขไม่ได้นั้น จริงๆ แล้วในประวัติศาสตร์มันถูกแก้ไขมาตลอด โดยเฉพาะ พ.ศ. 2519 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการปรับให้มีโทษหนักขึ้น เพื่อปราบปรามคนที่เห็นต่างทางการเมือง หรือมีความคิดประชาธิปไตย การที่มีคนบอกว่ามันไม่สามารถแก้ไขได้ อันนี้ผิดตามหลักฐานประวัติศาสตร์

จีรนุช กล่าวต่อว่า การยกเลิก ม.112 ไม่ได้แปลว่าสถาบันกษัตริย์จะไม่ได้รับการคุ้มครอง แต่ได้รับการคุ้มครองในสถานะบุคคลที่เท่ากันเท่านั้น 

ทั้งนี้ วงเสวนา  ‘ยกเลิก ม.112 กับอนาคตประเทศไทย’ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ‘ทวงความยุติธรรมคืนเพื่อนเรา’ จัดโดย กลุ่มทะลุฟ้า และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บนพื้นผิวถนนรัชดาภิเษก หน้าศาลอาญา รัชดา เรียกร้องสิทธิการประกันตัวแก่ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองทุกคน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net