Skip to main content
sharethis

ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นเรื่องต่อ บช.น. ให้ตรวจสอบกรณีหญิงเสื้อขาววิ่งเข้าไปที่รถพระที่นั่งระหว่างขบวนเสด็จฯ เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค. 64) หวั่นความปลอดภัยของ ร.10 และราชินี เผย หากอยู่ใกล้กว่านี้จะรีบเข้าไปขัดขวาง และขอให้ตรวจสอบกรณีนักกิจกรรมยืนชูป้าย 'ยกเลิก 112' พร้อมทวงถามความคืบหน้าคดี ม.110 ประทุษร้ายพระราชินีในขบวนเสด็จฯ เมื่อ 14 ต.ค. ปีที่แล้ว ด้าน บช.น. ตอบ "ยังไม่มีข้อมูลเหตุเมื่อวานนี้" ส่วนคดี ม.110 นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เริ่มสืบพยานนัดแรกปลายปีหน้า 

29 ธ.ค. 2564 สำนักข่าว The Reporters รายงานว่า ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดยอานนท์ กลิ่นแก้ว ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่ม เดินทางยื่นหนังสือร้องทุกข์ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ให้ตรวจสอบกรณีนักกิจกรรมชูป้ายยกเลิก ม.112 และมีผู้หญิงคนหนึ่งสวมเสื้อสีขาววิ่งเข้าไปยังรถยนต์พระที่นั่งระหว่างขบวนเสด็จฯ ของ ร.10 และพระราชินีเมื่อวานนี้ (28 ธ.ค. 2564) โดยแกนนำกลุ่ม ศปปส. นำหลักฐานเป็นไฟล์วิดีโอบันทึกใส่แผ่นซีดีมามอบให้กับตำรวจ ซึ่ง พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน อดีตผู้กำกับการ สน.ลุมพินี ซึ่งถูกย้ายมาปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 (ศปก.บก.น.5) จากเหตุปล่อยให้มีการลักลอบเปิดสถานบันเทิงเมื่อเดือน ต.ค. 2564 เป็นตัวแทนรับหนังสือ

แกนนำกลุ่ม ศปปส. กล่าวว่าผู้หญิงเสื้อขาวที่วิ่งเข้าไปยังรถยนต์พระที่นั่งเมื่อวานนี้ ทำให้ตนนึกถึงเหตุการณ์ขบวนเสด็จฯ ของพระราชินีเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 พร้อมทวงถามความคืบหน้าจาก บช.น. ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน กรณีหญิงเสื้อขาวนั้น แกนนำกลุ่ม ศปปส. อยู่ไกล จึงไม่สามารถวิ่งเข้าไปขัดขวางได้ทัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าหญิงคนดังกล่าวมีสติกเกอร์แบบเดียวกับตน ซึ่งเป็นสติกเกอร์สำหรับผู้ที่เคยต้องคดีมาก่อน จึงขอให้ตรวจสอบว่าหญิงคนนั้นสามารถเข้ามารับเสด็จฯ ได้อย่างไร เพราะขนาดตนที่มีสถิติเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ หลายครั้งยังต้องใช้เวลาตรวจร่างกายหลายชั่วโมงกว่าจะได้เข้าไปในพื้นที่นั่งรอ พร้อมกันนี้ แกนนำกลุ่ม ศปปส. ยังได้ถามตำรวจว่าตอนนี้ผู้หญิงคนดังกล่าวอยู่ที่ใด มีการควบคุมตัวหรือไม่ และตนทราบมาว่าหญิงคนดังกล่าวเป็นชาวต่างชาติ ข้อเท็จจริงนี้ถูกต้องหรือไม่

คลิปของวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร ระบุว่าหญิงคนดังกล่าวมีสัญชาติลาว และน่าจะมีอาการทางจิตเวช เนื่องจากเมื่อนำตัวไปสอบสวน หญิงคนนี้บอกว่าเคยพูดคุยกับ ร.10 ผ่านทางโทรศัพท์มือถือและแอปพลิเคชันไลน์ นอกจากนี้ เมื่อค้นโทรศัพท์มือถือของหญิงคนดังกล่าวก็พบพระบรมฉายาลักษณ์ของ ร.10 จำนวนมาก
 

นอกจากขอให้ตำรวจตรวจสอบกรณีหญิงชุดขาววิ่งเข้าไปยังรถยนต์พระที่นั่งแล้ว แกนนำกลุ่ม ศปปส. ยังขอให้ตำรวจตรวจสอบกรณีที่มีนักกิจกรรมไปยืนชูป้าย 'ยกเลิก ม.112' โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ที่ระบุว่าการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของปนัสยา สิทธิจริวัฒนกุล, อานนท์ นำภา และภาณุพงศ์ จาดนอก เป็นการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ซึ่งแกนนำกลุ่ม ศปปส. ระบุว่าคำวินิจฉัยนี้มีผลผูกพันทุกองค์กร เหตุใดตำรวจจึงเปรียบเทียบปรับแล้วปล่อยตัวไป

ด้าน พ.ต.อ.จักรกริศน์ ผู้เป็นตัวแทนรับหนังสือกล่าวว่า บช.น. ยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการจาก สน.บุปผาราม หากกลุ่ม ศปปส. ต้องการรายละเอียดคดีผู้ชุมนุมชูป้ายยกเลิก ม.112 ต้องไปขอกับ สน.บุปผาราม ส่วนกรณีหญิงเสื้อขาวนั้นตนไม่ทราบข้อมูล โดย พ.ต.อ.จักรกริศน์ ขอให้แกนนำกลุ่ม ศปปส. เข้าไปกรอกเอกสารว่าต้องการให้ตำรวจตรวจสอบเรื่องใดบ้าง

คดี ม.110 ใน #ม็อบ14ตุลา ศาลนัดสืบพยานปลายปีหน้า

สำหรับความคืบหน้าทางคดีประทุษร้ายต่อพระราชินี ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ที่แกนนำ ศปปส. ระบุว่าไม่ทราบความคืบหน้านั้น พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและศาลอาญามีคำสั่งรับฟ้องเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2564 โดยมีจำเลยในคดีนี้ 5 คน ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน, บุญเกื้อหนุน เป้าทอง หรือฟรานซิส และสุรนาถ แป้นประเสริฐ พร้อมด้วยประชาชนอีก 2 ราย แต่ศาลให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์มูลค่า 2-3 แสนบาท และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 5 คน

ส่วนความคืบหน้าล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2564 ว่าศาลตรวจพยานหลักฐานแล้ว และกำหนดวันนัดสืบพยานในคดีความผิดตามมาตรา 110 ซึ่งเป็นคดีหลักจำนวน 16 นัด แบ่งเป็นนัดสืบพยานโจทก์ 13 นัด และนัดสืบพยานจำเลย 3 นัด เริ่มตั้งแต่ 16 พ.ย. 2565 ถึง 31 ม.ค. 2566 โดยจำเลยทั้ง 5 คนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่า "ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และไม่ได้ประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี"

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยคำฟ้องของอัยการในคดีดังกล่าว โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ 

คำฟ้องของอัยการในคดี ม.110

ในช่วงเช้าวันนี้ เวลาประมาณ 10.48 น. พ.ต.ท.ธงชัย อิทธินิติกุล พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ได้แจ้งผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ว่าได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา รัชดาภิเษก 

พนักงานอัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า จําเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาดําเนินคดี มีพฤติการณ์ทำความผิดดังต่อไปนี้ 

ก่อนเกิดเหตุ กลุ่มคณะราษฎร 2563 ได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุมชื่อ “เพราะเราทุกคนคือคณะราษฎร และคณะราษฎรยังไม่ตาย” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งในวันดังกล่าวทางราชการมีหมายกำหนดการขบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ผ่านไปยังสถานที่ใกล้เคียงกับสถานที่ชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าว โดยได้มีประชาชนและกลุ่มคนไทยรักในหลวง ซึ่งส่วนใหญ่สวมใส่เสื้อสีเหลืองมาคอยเฝ้ารับเสด็จ 

เวลา 14.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาล โดยตลอดเส้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ตั้งเครื่องกีดขวางเป็นแนวรั้งหน่วงหลายจุด จึงเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนที่ไปได้ช้า ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วน ซึ่งรวมทั้งจำเลยทั้ง 5 ได้แยกตัวออกจากขบวน โดยเดินล่วงหน้าไปรวมตัวกันบริเวณถนนพิษณุโลก ใกล้ทำเนียบรัฐบาลเพื่อรอขบวนใหญ่ดังกล่าว 

ขณะนั้นตลอดเส้นทางถนนพิษณุโลกยังไม่ได้มีการปิดการจราจรเนื่องจากยังต้องดำรงไว้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ตามหมายกำหนดการเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ไปทรงบำเพ็ญกุศลถวายผ้าพระกฐินประจำปี 2563 ณ วัดราชโอรสาราม 

เวลา 17.00 น. ขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ดังกล่าวเป็นเส้นทางเดิมที่กำหนดคือจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปยังวัดราชโอรสาราม โดยให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้ถวายอารักษ์ขารักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจรตามเส้นทางขบวนเสด็จดังกล่าว 

ในช่วงเวลานั้น เอกชัย บุญเกื้อหนุน สุรนาถ และประชาชนอีก 2 คน ได้บังอาจร่วมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้างเมือง โดยจำเลยทั้งห้ากับผู้ชุมนุมจำนวนหลายร้อยคนได้ลงมายืนบนพื้นผิวจราจรบนถนนพิษณุโลกช่วงตั้งแต่หน้าประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล จนถึงเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ ในขณะที่พื้นผิวจราจรบริเวณดังกล่าวและตลอดเส้นทางบนถนนได้กำหนดใช้เป็นเส้นทางเสด็จทางพระราชดำเนิน การรวมตัวดังกล่าว เป็นไปในลักษณะกีดขวางการจราจร โดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นการกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัย หรือความสะดวกในการจราจร 

ในขณะที่รถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ กำลังแล่นขึ้นสู่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อมุ่งหน้าไปแยกนางเลิ้ง ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชนตั้งแถวปิดหน้ารถยนต์พระที่นั่ง เพื่อป้องกันมิให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใกล้รถยนต์พระที่นั่งได้ แล้วจัดแถวเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชนเป็นแถวคู่ขนานด้านซ้ายขวาของขบวนเสด็จพระราชดำเนินตลอดแนวขบวน เพื่อเป็นแนวสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้เข้ามาประชิดขบวนเสด็จ 

ในเวลานั้น เอกชัย บุญเกื้อหนุน และจำเลยที่ 5 ยืนนำหน้ากลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากหลายร้อยตย ซึ่งมีนายสุรนาถ และ จำเลยที่ 4 รวมอยู่ด้วย ได้บังอาจร่วมกันประทุษร้ายต่อเสรีภาพของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา โดยนายเอกชัยเป็นผู้สั่งการนำ นายบุญเกื้อหนุน นายสุรนาถ จำเลยที่ 4 และ ที่ 5 พร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหลายร้อยดังกล่าว เดินเข้าไปขัดขวางเส้นทางพระราชดำเนิน ร่วมกันใช้กำลังผลักดันแถวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชน แต่เมื่อจำเลยทั้งห้ากับพวกดังกล่าวไม่สามารถต้านทานแรงผลักดันของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชน เพื่อเปิดเส้นทางนำขบวนเสด็จของพระราชินีได้ นายสุรนาถจึงได้สั่งการให้จำเลยและพวกกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวนั่งลงบนถนนพิษณุโลก ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชนไม่สามารถนำขบวนเสด็จราชดำเนินเคลื่อนที่ไปข้างหน้าต่อได้ 

ทั้งนี้ จำเลยทั้งห้ากับพวกดังกล่าวได้ลงมือกระทำผิดประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลสมดังเจตนาของจำเลยทั้งห้ากับพวก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยเสริมบริเวณด้านหน้าแถวเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชน จำเลยทั้งห้าจึงได้ยอมถอยออกไปจากเส้นทางขบวนเสด็จพระราชดำเนินดังกล่าว แต่ยังยืนอยู่บนถนนพิษณุโลก นายเอกชัยและจำเลยที่ 4 ถึง ที่ 5 กับพวกดังกล่าวได้ชูสัญลักษณ์สามนิ้วใส่ขบวนเสด็จพระราชดำเนิน อันเป็นการร่วมกันประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net