Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชาวนาในที่นี้ ผมขอใช้ในความหมายกว้างๆ รวมตั้งแต่ชาวนาเลี้ยงตนเอง ชาวนาเล็ก หรือแม้แต่ทาสติดที่ดินในระบบศักดินาฝรั่ง และผู้เช่าที่ดินจากชาวนารายใหญ่, เจ้าครองแคว้น, เจ้าท้องถิ่น หรือนายทุน ซึ่งพบได้ทั่วไปในโลกตะวันออก

นี่เป็นอาชีพที่ผมเชื่อว่าเก่าแก่กว่าโสเภณี แต่ไม่เก่าไปกว่าการหาของป่าล่าสัตว์

ทั้งหาของป่าล่าสัตว์ และเพาะปลูกต่างต้องการอำนาจทางการเมืองระดับหนึ่ง หาของป่าล่าสัตว์ต้องมีการควบคุมในกลุ่ม ซึ่งนอกจากยกให้แก่ประเพณีแล้วก็ยังมี “ผู้ใหญ่” ของกลุ่มรวมอยู่ด้วย แต่การเพาะปลูกต้องการอำนาจทางการเมืองมากกว่านั้น อย่างน้อยก็เพราะอพยพหนีภัยไม่ได้ง่าย ต้องรอให้พืชที่ปลูกไว้สุกเสียก่อน กรรมสิทธิ์เหนือที่ดินอย่างน้อยในช่วงที่ได้ลงแรงไปแล้วต้องมีความมั่นคงพอสมควร

เรื่องนี้ไม่แปลกอะไร กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ต้องการอำนาจทางการเมืองทั้งนั้น จะแยกการข่มขืนออกจากโสเภณีได้ก็เพราะมีอำนาจทางการเมืองรับประกันให้

แต่น่าประหลาดที่ว่า จำเป็นต้องมีอำนาจทางการเมืองระดับที่ไม่สูงนักในการผดุงอาชีพโบราณเหล่านี้ เมื่อไหร่ที่อำนาจทางการเมืองพัฒนาไปไกลถึงขั้นตั้งเป็นรัฐขึ้นมา ก็เกินความต้องการของอาชีพโบราณไปเสียแล้ว ดังนั้น ชาวนา, พ่อค้าเร่, โสเภณี, พรานป่า, คนทำไร่นาหมุนเวียน, คนบนที่สูงซึ่งเข้าถึงยาก ฯลฯ จึงเป็นกลุ่มคนที่ไม่น่าไว้วางใจแก่รัฐ เพราะควบคุมได้ด้วยความยากลำบาก ซึ่งทำให้รัฐหาประโยชน์จากคนเหล่านี้ได้ยากลำบากไปด้วย

ทั้งนี้เพราะรัฐ “อ่าน” คนเหล่านี้ไม่ค่อยได้ ขึ้นชื่อว่ารัฐก็ต้อง “อ่าน” ประชากรของตนออกในระดับหนึ่ง เช่น บ้านอยู่ไหน, มีความสัมพันธ์กับใครบ้าง หรือลูกเต้าเหล่าใคร, ทำมาหากินอะไรและมีรายได้เท่าไรที่พอจะแบ่งให้รัฐบ้าง ฯลฯ เป็นต้น คนในอาชีพที่ผมยกตัวอย่างไปนั้น ต่างมีวิถีชีวิตที่รัฐ “อ่าน” ไม่ค่อยออกทั้งนั้น จึงควบคุมได้ยาก อย่างน้อยก็ควบคุมโดยตรงไม่ได้ ต้องอาศัยอำนาจอื่นที่ใกล้ชิดกว่า เช่น ท้องถิ่น, เผ่า, โคตร, เจ้าที่ดิน หรือแคว้นเป็นผู้ควบคุมให้อีกทีหนึ่ง เพราะต่างก็ “อ่าน” คนในอาชีพเหล่านี้ได้ออกมากกว่ารัฐ แต่การฝากให้คนอื่นควบคุมแทนนั้นต้องเสีย “ค่าต๋ง” สูง จนทำให้รัฐอ่อนแอ อันเป็นเหตุให้รัฐเองก็จะเสียการควบคุมตัวแทนไปด้วย

ในที่นี้จะขอคุยเรื่องชาวนาเพียงอาชีพเดียว เพราะส่วนใหญ่ของประชากรไทย หรือแม้แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปทั้งหมด ล้วนเป็นชาวนาทั้งนั้น จนเมื่อไม่นานมานี้เอง สัดส่วนของประชากรในอาชีพนี้จึงลดลงในไทยและบางประเทศ

รัฐไทยโบราณไม่มีทางเก็บภาษีจากชาวนาได้โดยตรง ที่บอกว่ามีพนักงานจากกรมนาไปเก็บ “หางข้าว” จากชาวนา รวมทั้งมีบันทึกปริมาณที่นาซึ่งชาวนาแต่ละครอบครัวใช้ในการเพาะปลูก ก็คงทำได้เฉพาะในเขตใกล้เมืองหลวง ซึ่งนักประวัติศาสตร์แต่ก่อนท่านเรียกว่า “มณฑลราชธานี” เท่านั้น และจากหลักฐานที่ปรากฏเป็นกรณีในกฎหมายหรือหลักฐานอื่น ล้วนส่อว่าระบบดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติน้อยมาก เช่น ชาวนาที่ไหนจะโง่ถึงกับบอกแก่กรมนาว่าตัวใช้ที่ดินเท่าไรในการเพาะปลูก ใครๆ ก็ต้องบอกน้อยกว่าที่ใช้จริงทั้งนั้น อย่าว่าแต่ข้าราชการโบราณเท่านั้นที่จับไม่ได้ ผมเชื่อว่าข้าราชการสมัยใหม่ก็จับไม่ได้หรอกครับ เพราะการสำรวจจริงเป็นงานหนัก ต้องเผชิญกับความไม่ร่วมมือของชาวบ้าน หรือเจอสินบน เป็นธรรมดา

กฎหมายโบราณท่านพูดถึงพิธีกรรมในการรังวัดที่ดินอย่างละเอียด ก็แสดงอยู่แล้วว่ารัฐไม่เหลืออำนาจอะไรจนต้องพึ่งผี พิธีกรรมจึงมีความสำคัญในรัฐไทยเสียยิ่งกว่ากลไกอำนาจในเชิงปฏิบัติ ซึ่งรัฐไม่มีอยู่ในมือจริง

และด้วยเหตุดังนั้น การเก็บภาษีหรือเก็บแรงงานจากชาวนา จึงต้องอาศัยเอเย่นต์เป็นหลัก ได้แก่ เจ้าเมืองซึ่งมีเครือข่ายเป็นนายบ้านลงไปถึงท้องถิ่น เก็บได้เท่าไรก็ส่งกรุงเท่าที่กรุงจะตรวจนับได้ ที่ตรวจนับจริงก็ทำได้ไม่เท่าไร ดังนั้น กรุงทั้งอยุธยาและบางกอกจึงได้รายได้และแรงงานจากชาวนาไม่มากนัก ต้องอาศัยการค้าต่างประเทศเป็นแหล่งรายได้สำคัญ

เราอาจมองระบบไพร่จากความสัมพันธ์ทางสังคมว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ แต่หากมองจากรัฐก็คือระบบตัวแทนเท่านั้น อันที่จริงเรียกว่าตัวแทนก็ทำให้ไขว้เขวได้ เพราะเขาไม่ใช่คนของรัฐแท้ๆ เขาเป็นอำนาจอิสระอันหนึ่งที่เลือกจะอยู่กับรัฐ เพื่อผลประโยชน์ของเขา รัฐเช่นอยุธยาหรือต้นรัตนโกสินทร์จึงเป็นบริษัทมหาชนที่ผู้ถือหุ้นคือเหล่าผู้มีอำนาจระดับต่างๆ โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นซีอีโอในเมืองหลวงเท่านั้น ถึงจะมีการชิงราชสมบัติเปลี่ยนซีอีโอบ่อยๆ แต่ผู้ถือหุ้นก็ยังคงเดิม

จนแม้เมื่อมีการปฏิรูปในสมัย ร.5 สืบลงมาจนถึงทุกวันนี้ รัฐไทยก็ไม่เคยเก็บภาษีจากชาวนาได้โดยตรง แต่เก็บจากโรงสีและผู้ส่งออก ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่เขาต้องผลักภาระอันนี้ให้แก่ชาวนาในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น โรงสีและผู้ส่งออกคือ “เอเย่นต์” ของรัฐเช่นเดียวกับเจ้าเมืองในสมัยโบราณแหละครับ เพราะชาวนาโบราณหรือชาวนาสมัยใหม่ ล้วนเป็นกลุ่มคนที่รัฐ “อ่าน” ไม่ค่อยออกทั้งนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเรียกเอาผลประโยชน์จากชาวนาโดยตรง

ทำไมรัฐไทย หรือว่าที่จริงรัฐสมัยใหม่ จึงรังเกียจการทำไร่หมุนเวียนบนเขานัก เหตุผลหลักก็เพราะนี่คือคนที่รัฐ “อ่าน” ไม่ได้เอาเลย นอกจากไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแล้ว ยังเข้าถึงได้ยาก สิ่งที่เป็น “รายได้” ของคนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเป็นสิ่งที่เก็บเอาตามธรรมชาติ จึงไม่มีบันทึกอะไรเลย เพราะเคลื่อนย้ายในวงกว้าง จึงทำให้จับเครือข่ายความสัมพันธ์ของเขาไม่ได้ เช่นในสมัยหนึ่ง เส้นเขตแดนก็ไม่สามารถขวางกั้นความสัมพันธ์ผ่าน “แซ่” ของชาวม้งได้ มีข่าวสารข้อมูลไหลกันไปมาในวงกว้างข้ามประเทศ รวมทั้งแหล่งทำเลที่เหมาะกับการไปตั้งภูมิลำเนาเพื่อทำมาหากินด้วย

ดังนั้น จึงไม่ต้องพูดถึงว่า คนบนพื้นที่สูงเหล่านี้จะปลูกอะไร และปลูกอย่างไร หรือขายให้ใคร รัฐไม่มีส่วนกำกับเลย

ไม่เฉพาะรัฐไทยเท่านั้น แต่ในเวียดนาม และลาว รัฐก็พยายามอพยพโยกย้ายชาวนาบนพื้นที่สูงเหล่านี้ลงมายังพื้นราบ ซึ่งมีเส้นทางคมนาคมและกลไกรัฐ (ถนน, โรงเรียน, สุขศาลา, ที่ว่าการอำเภอ ฯลฯ) ตั้งอยู่ พื้นราบกลายเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาและบริการจากรัฐ รวมทั้งการทำนาลุ่มก็ถูกอ้างว่าเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ผู้อพยพ (ยิ่งกว่าป่า???)

ในประเทศลาว ผู้อพยพมักถูกนำมาตั้งชุมชนติดกับถนนหลวงที่เพิ่งสร้างใหม่เลย (“อ่าน” ได้จะจะ) แต่พื้นที่ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก แม้รัฐพยายามส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น มะม่วงหิมพานต์ แต่ก็ไม่สู้จะได้ผลนัก ในเวียดนาม ผู้อพยพจากพื้นที่สูงไม่มีประสบการณ์การทำนาลุ่ม แม้รัฐพยายามช่วยด้วยการนำเอาชาวไทดำ-ขาวมาให้ความรู้ แต่ผู้อพยพก็ยังไม่อาจผลิตข้าวได้พอกินอยู่นั่นเอง บางครอบครัวลักลอบกลับขึ้นเขาไปทำข้าวไร่ (ซึ่งพวกเขาเห็นว่า “อร่อย” กว่าด้วย) เพื่อให้ได้ข้าวพอแก่การยังชีพ

รัฐต่างๆ ใช้ข้ออ้างหลายอย่างว่าเหตุใดจึงไม่ควรตั้งชุมชนทำกินอยู่บนที่สูง นั่นคือเหตุผลทางนิเวศวิทยา ทำลายป่า โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ ประชาชนไม่ได้รับความทันสมัยที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบาย (ตามสายตาของคนพื้นราบ) ผลิตยาเสพติด และกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ แต่เหตุผลเหล่านี้เป็นเพียงข้ออ้างสำหรับการอพยพเท่านั้น ไม่ใช่การตั้งทำกินบนที่สูงจะไม่มีปัญหาในโลกปัจจุบันเสียเลย แต่ก็มีวิธีอื่นอีกหลายอย่างที่อาจช่วยพวกเขาได้โดยไม่ต้องถูกอพยพลงมา

แม้กระนั้น ตราบเท่าที่เขายังอยู่บนพื้นที่สูง และเพาะปลูกรายย่อยอยู่เหมือนเดิม ก็ยังเป็นประชากรกลุ่ม “อ่าน” ยากอยู่นั่นเอง

อันที่จริง การเปลี่ยนผ่านสู่ความทันสมัยในชีวิตของคนบนพื้นที่สูงจะต้องทำอย่างไร เป็นปัญหาที่ไม่เคยมีการศึกษาอย่างจริงจังเลยด้วยซ้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตด้านเกษตรกรรมเพื่อทำกำไรก้อนโตบนพื้นที่ราบ การศึกษามาเน้นด้านนี้อย่างมาก

การผลิตด้านเกษตรกรรมในโลกสมัยใหม่เปลี่ยนมาสู่การผลิตเพื่อขาย ตลาดกลายเป็นเป้าหมายหลักเพียงอย่างเดียวของการเพาะปลูก เกิดการกสิกรรมแบบใหม่ที่อ้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้น ประกอบด้วยลักษณะสำคัญสองสามอย่าง นั่นคือปลูกพืชชนิดเดียวในพื้นที่เดียวกัน (monocrop) และด้วยเหตุดังนั้นจึงทำให้อ่อนแอต่อโรคพืชและแมลง อีกทั้งยังดูดเอาแร่ธาตุชนิดเดียวออกจากพื้นดินไปในเวลาอันรวดเร็ว จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลง, ยาป้องกันโรค และปุ๋ย จำนวนมหาศาล ดินยิ่งตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว

กสิกรรมแบบใหม่ยังเน้นการใช้เครื่องจักร นับตั้งแต่การเตรียมดิน ให้ยาให้ปุ๋ย ไปจนถึงเก็บเกี่ยว พืชจึงถูกปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้เหมาะกับการทำงานของเครื่องจักร เช่น บางชนิดต้องการก้านที่แข็งพอรับคมมีดของเครื่องจักร มีขนาดใกล้เคียงกันเพื่อให้เครื่องจักรสามารถเก็บเกี่ยวได้ง่าย พืชต้องสุกพร้อมกันเพื่อให้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวได้ในครั้งเดียว ไร่นาสมัยใหม่จึงไม่ได้ปลูกแต่พืชชนิดเดียวเท่านั้น พืชชนิดนั้นยังต้องเป็นสายพันธุ์เดียวกัน ซ้ำยังเป็นพันธุ์ที่ไม่ได้มีตามธรรมชาติ แต่เป็นพันธุ์ที่ถูกปรับปรุงขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตมากและถูกใจทั้งเครื่องจักรและตลาดไปพร้อมกัน จึงทำให้ยิ่งอ่อนแอลงทั้งดินและพืช

ถ้าวิทยาศาสตร์หมายถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ การเกษตรแบบวิทยาศาสตร์ที่เราทำกันอยู่ในเวลานี้ ห่างไกลจากธรรมชาติลิบลับ จนไม่น่าเรียกว่าเป็นวิธีทางวิทยาศาสตร์เอาเลย เราจะผลิตอาหารด้วยวิธีนี้กันต่อไปได้อีกนานเท่าไรก็ไม่ทราบได้ ก่อนที่ระบบนิเวศน์ทั้งพืช, ดิน และน้ำ จะพังทลายลง และเกิดความอดอยากกว้างใหญ่ชนิดที่โลกไม่เคยพบเห็นมาก่อน

การเพาะปลูกของชาวนาไม่ได้มีเป้าหมายที่แคบอย่างนี้ ทั้งชาวนาบนพื้นราบและบนที่สูง นอกจากต้องการอาหารให้พอแก่ปากท้องแล้ว ยังก่อให้เกิดความยั่งยืนของปัจจัยการผลิตด้วย ชาวนาในโลกนี้ทำการผลิตสืบเนื่องกันมาเป็นพันเป็นหมื่นปี ก็แสดงอยู่แล้วว่าเขาประสบความสำเร็จอย่างไร

ในปัจจุบัน ข้ออ้างที่ยอมรับทั่วไปว่าเราจำเป็นต้องเพาะปลูกด้วยวิธีใหม่ที่เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ก็คือ เรามีพลโลกจำนวนมากเสียจนหากไม่ผลิตด้วยวิธีนี้ ก็จะไม่สามารถผลิตอาหารได้พอกิน ผมไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ และสงสัยว่าไม่มีใครสักคนที่ทราบแน่ว่าจริงหรือไม่ อย่างน้อยก็มีคุณตาฟูกูโอกะคนหนึ่งล่ะครับ ที่ยืนยันว่าไร่นาที่เพาะปลูกตามธรรมชาติของท่าน ทำให้ได้ผลผลิตเท่ากับไร่นาซึ่งผลิตด้วยวิธีใหม่และได้ผลผลิตสูงสุดในญี่ปุ่น (ปฏิวัติด้วยฟางเส้นเดียว)

นอกจากนี้ เกษตรแบบใหม่ก็ไม่อาจผลิตอาหารให้เพียงพอจะเลี้ยงพลโลกได้อยู่นั่นเอง เพราะตลาดอันเป็นเป้าหมายเพียงอย่างเดียวของการผลิตไม่อาจกระจายอาหารไปแก่คนที่เข้าไม่ถึงตลาดได้ เวลานี้จึงมีคนที่เข้านอนด้วยท้องที่ไม่อิ่มทั่วโลกนับเป็นร้อยๆ ล้านคนทั่วโลก เฉพาะในเมืองไทยช่วงโควิด อาจมีถึง 10 ล้านก็ได้

ทั้งนี้เพราะไม่เคยมีการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นระบบในเรื่องการเพาะปลูกของชาวนาทั่วโลก เพื่อให้วิทยาศาสตร์ที่แท้จริง คือวางเป้าหมายไว้หลากหลายตามธรรมชาติ มากกว่าการเพิ่มผลผลิตเพียงอย่างเดียว ได้เข้าไปมีบทบาทเสริมการผลิตของชาวนาบ้าง ข้อสรุปว่าการผลิตแบบชาวนาจะทำให้เราผลิตอาหารไม่พอเลี้ยงพลโลก จึงเป็นข้อสรุปที่นึกเอาเองโดยไม่มีใครรู้เลยว่าจริงหรือไม่

ผมก็อยากนึกเอาเองเหมือนกันว่า การขยายตัวของเกษตรแบบใหม่ไปทั่วโลกนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุผลทางการเมือง นั่นคือวิถีการผลิตแบบนี้ทำให้รัฐ “อ่าน” เกษตรกรได้ง่ายเหมือนกับที่รัฐ “อ่าน” คนในอาชีพอื่นๆ กรมสรรพากรสามารถคำนวณรายได้ของเกษตรกรได้ทันที เมื่อคำนวณผลผลิตต่อไร่ของเขา ซ้ำยังมีตัวเลขของเครื่องจักรและแรงงานที่ช่วยยืนยันอีกด้วย ถึงนำไปขายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ก็มีบิลระบุไว้แน่นอน เมื่อเกษตรกรอยู่ประจำที่ มีอาชีพเดียวไม่ต้องออกไปหางานอื่นทำนอกฤดูการผลิต ก็พอจะคาดเดาความคิดทางการเมืองของเขาได้ จากการดูผลการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งของเขตเกษตรกรรมนั้นๆ… คิดไปเถอะครับ เกษตรกรสมัยใหม่กระจ่างแก่ตาของรัฐได้ขนาดไหน

ยิ่งมาคิดว่า เกษตรกรรมแบบใหม่เช่นนี้แพร่ขยายจากโลกเขตอบอุ่น (temperate zone) อันเป็นเขตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพน้อย ออกไปสู่เขตร้อนในเอเชีย-แอฟริกาซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ในสมัยล่าอาณานิคม ก็ยิ่งชวนให้คิดว่าเหตุผลทางการเมืองในการควบคุมประชากรในอาณานิคมของตนนั่นแหละ คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกษตรแบบใหม่ขยายไปทั่วโลก ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการผลิตอาหารอะไรอย่างที่ว่านั้นเลย

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_509769

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net