Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ยื่นหนังสือให้พรรคร่วมฝ่ายค้านตรวจสอบกรณีคิงส์เกตเตรียมเปิดกิจการเหมืองทองอัครา เผยความบกพร่อง 4 ประการที่เหมืองสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม ด้านผู้แทนฝ่ายค้านระบุจะนำประเด็นเหมืองทองอัคราเข้าอภิปรายทั่วไปตาม ม.152 อย่างแน่นอน

2 ก.พ. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (2 ก.พ. 2565) ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตรวจสอบกรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ที่เตรียมเปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำใน จ.พิจิตร อีกครั้ง โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, นิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย, วิรัตน์  วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยอภิชาติ ศิริสุนทร และธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนพรรคฝ่ายค้านเข้ารับหนังสือดังกล่าว

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ จากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่า วันนี้เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่มายื่นหนังสือขอให้ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านทุกพรรคตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลประยุทธ์และพวก ในกรณีเหมืองทองคำคิงส์เกตุ ซึ่งเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ได้ติดตามสถานการณ์การทำเหมืองทองอัครามาโดยตลอด และเห็นถึงความบกพร่องในการทำเหมืองมาโดยตลอดเช่นเดียวกัน เรามีความเห็นว่าเหมืองทองอัคราสมควรที่จะถูกปิด แต่อย่างไรก็ตาม การปิดเหมืองทองอัคราจะต้องเป็นการปิดโดยใช้อำนาจทางกฎหมายในประเทศไม่ใช่การใช้อำนาจนอกเหนือกฎหมาย

หลังจากนั้น จุฑามาสเป็นตัวแทนเครือข่ายอ่านรายละเอียดของหนังสือที่ยื่นให้พรรคฝ่ายค้านตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลกรณีเหมืองทองคำคิงส์เกตโดยระบุข้อความ ดังนี้

ความบกพร่องประการแรกของการประกอบกิจการเหมืองทองคำคิงส์เกตในนามบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการประกอบกิจการเหมืองทองคำดังกล่าวที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด เพราะไม่มีมาตรการทางสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนที่บังคับใช้เป็นการเฉพาะในการกำกับควบคุมการทำเหมืองทองคำตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีแต่เฉพาะ ‘การปรึกษาหารือในระดับแจ้งเพื่อทราบ’ เพื่อดำเนินการตามคำขอประทานบัตร และ ‘การปรึกษาหารือให้แสดงความคิดเห็นพอเป็นพิธีกรรม’ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสองเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมในช่วงก่อนการอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่เท่านั้น ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวจะมีผลในระดับการตัดสินใจในการอนุญาตประกอบกิจการ และหลังจากได้รับการอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่แล้วก็จะไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนใดๆ อีก

ประการสอง ระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาชุมชนของเจ้าของกิจการก็อยู่ในระดับต่ำ เพราะมีงบประมาณเพื่อการนี้เพียงร้อยละ 0.1 ของมูลค่าทองคำที่ผลิตได้เท่านั้น ในขณะที่งานศึกษาวิจัยที่ถูกยอมรับในระดับนานาชาติ พบว่าเหมืองทองในต่างประเทศมีการใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาชุมชนถึงร้อยละ 0.9 ของมูลค่าทองคำที่ผลิตได้

ประการสาม เป็นการทำเหมืองโดยไม่มีแนวกันชนที่ต้องรักษาระยะห่างระหว่างชุมชนกับเขตเหมืองแร่ จนทำให้หมู่บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ต้องกลายเป็นหมู่บ้านร้างและบ้านแตกสาแหรกขาด 

ประการสี่ เป็นการทำเหมืองที่หลีกเลี่ยงหรือหาช่องโหว่ของกฎหมาย เพื่อไม่สร้างหลักประกันและแผนปฏิบัติการในการฟื้นฟูเหมืองที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ทั้งการฟื้นฟูระหว่างการทำเหมืองและหลังการปิดเหมือง เพื่อให้สภาพพื้นที่คืนกลับมาเป็นธรรมชาติดังเดิม

ด้วยสาเหตุทั้งสี่ประการเป็นอย่างน้อย ซึ่งยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ทำให้เหมืองทองแห่งนี้ในนามคิงส์เกตและบริษัทอัคราฯ ตกเป็นจำเลยของสังคมมายาวนาน เพราะเป็นการประกอบกิจการที่ถูกสังคมพิพากษามาว่ามีปัญหาค่อนข้างมากทั้งในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่รอบเหมือง แต่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเสียใจที่รัฐบาลไทยไม่ได้นำข้อมูลนี้ไปใช้สู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการอย่างเพียงพอ เสมือนว่ามีพฤติกรรมสมยอมให้ไทยต้องแพ้คดี หรือแลกกับการไม่แพ้คดีโดยให้คิงส์เกตกลับมาทำเหมืองทองใหม่ได้

ทำให้คิงส์เกตได้รับอนุญาตประทานบัตรให้กลับมาทำเหมืองใหม่ตามข่าวที่ออกมาในช่วง 2-3 วันนี้ ซึ่งเป็นการได้รับอนุญาตประทานบัตรและการอนุญาต/ผลประโยชน์อื่นๆ ที่เกินไปกว่าข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการ เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลประยุทธ์ไม่ต้องถูกอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งชี้ขาดให้ต้องแพ้คดีซึ่งต้องเสียค่าปรับประมาณ 24,750 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน โดยเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่มีข้อมูลว่าผลประโยชน์ที่เกินไปกว่าข้อพิพาทมีรายละเอียดดังนี้

  1. จะได้รับอนุญาตให้กลับมาทำเหมืองใหม่ในพื้นที่เดิม คือ ‘แหล่งชาตรี’ ที่ยังเหลืออีก 1 แปลง (จาก 5 แปลง 1,259 ไร่) และในพื้นที่ ‘แหล่งชาตรีเหนือ’ ที่ยังเหลืออีก 8 แปลง (จาก 9 แปลง 2,466 ไร่) รวมถึงการขยายเวลาอายุประทานบัตรแหล่งชาตรีที่หมดอายุประทานบัตรไปเมื่อปี 2563 หรือต่ออายุประทานบัตรให้กับแหล่งชาตรีไปอีก 10-20 ปี และขยายเวลาอายุประทานบัตรแหล่งชาตรีเหนือที่หมดอายุประทานบัตรปี 2571 ให้ด้วย เนื่องจากเสียโอกาสไม่ได้ทำเหมืองมาหลายปีจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ที่สั่งปิดการทำเหมืองทองคำทั้งหมดนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560
  2. จะได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองในพื้นที่ใหม่นอกเหนือจากข้อ (1) ซึ่งเป็นคำขอประทานบัตรค้างคามาเนิ่นนานหลายปีแล้ว ซึ่งตามข้อมูลที่คิงส์เกตเคยแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ในประเทศของตน พบว่าพื้นที่ใหม่ดังกล่าว  คือ ‘แหล่งสุวรรณ’ อยู่ห่างจากแหล่งชาตรีขึ้นไปทางเหนือ 6-10 กิโลเมตร อยู่บนพื้นที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 12,500 ไร่ คาดว่าน่าจะอยู่ในเขต ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ ‘แหล่งโชคดี’ อยู่ห่างจากแหล่งชาตรีขึ้นไปทางเหนือ 20 กิโลเมตร บนพื้นที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 18,750 ไร่ คาดว่าน่าจะอยู่ในเขต ต.บ้านมุงและต.วังยาง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นแหล่งทองคำที่ทับลงบนพื้นที่ทั้งในและนอกเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงและป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย
  3. จะได้รับการขยายเวลาหรือต่ออายุใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองทองตามประทานบัตรแหล่งชาตรีและแหล่งชาตรีเหนือ อาทิ ใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ เป็นต้น ซึ่งในประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการทำผิดให้เป็นถูกด้วย กล่าวคือ โรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายที่ขยายการถลุงแร่ทองคำเพิ่มไปอีกสามเท่า จาก 8,000 ตัน/วัน  เป็น 24,000 ตัน/วัน ที่สร้างก่อนได้รับใบอนุญาตโรงงานและก่อนที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จะผ่านความเห็นชอบที่คดียังอยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้คล้องโซ่ปิดโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายเอาไว้ไม่ให้ใช้งาน จึงมีนัยยะว่ารัฐบาลไทยคงจะให้ความช่วยเหลือคิงส์เกตอย่างเต็มที่ในการสู้คดีนี้
  4. จะได้รับการลดหย่อนค่าภาคหลวงแร่ ผลประโยชน์พิเศษที่ต้องมอบให้แก่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เมื่อได้ประทานบัตร และภาษีรายการอื่นๆ จากการประกอบกิจการเหมืองทองและโลหกรรม
  5. นำบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยโดยไม่ต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายเพิ่มเติม
  6. จะได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไม่ต่ำกว่า 1 ล้านไร่  ซึ่งเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่พบว่า คิงส์เกตได้รับอาชญาบัตรพิเศษไปแล้วก่อนคำตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจำนวน 44 แปลง พื้นที่ประมาณ 4 แสนไร่ ในเขต จ.เพชรบูรณ์ ทั้งที่อยู่รอบเหมืองทองชาตรีและชาตรีเหนือและไกลออกไป ซึ่งเป็นผลจากการประชุมของคณะกรรมการแร่เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 และรัฐบาลไทย โดย กพร. รออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษหลังคำตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอีกประมาณ 60 แปลง พื้นที่ประมาณ 600,000 ไร่ ทั้งที่อยู่ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ซึ่งอยู่รอบเหมืองทองชาตรีและชาตรีเหนือและไกลออกไป รวมถึง จ.ชลบุรี ลพบุรี สระบุรี และจันทบุรี
  7. ได้รับอนุญาตให้คิงส์เกตขนสินแร่ทองคำและเงินคงค้างในระบบผลิตเดิมก่อนถูกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ระงับยับยั้งไว้ เข้าสู่กระบวนการถลุงโลหะทองคำและเงินในโรงถลุงภายในประเทศได้ตั้งแต่เดือนก.ย. 2563 แล้ว

ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่าผลประโยชน์ที่คิงส์เกตได้หรือข้อยุติที่ทำให้ไทยไม่ต้องแพ้คดีโดยที่คิงส์เกตได้ประโยชน์อย่างมหาศาลนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ ‘นอกเหนือข้อพิพาท’ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการก็คือคิงส์เกตฟ้องไทยว่าใช้ ม.44 ปิดเหมืองทอง ซึ่งไม่ใช่กฎหมายปกติที่สากลจะยอมรับได้ และได้ทำลายข้อตกลงความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) โดยกลั่นแกล้งนักลงทุนในประเทศภาคีให้ได้รับความเสียหาย แต่คิงส์เกตกลับกำลังบังคับให้รัฐบาลไทยใช้อำนาจพิเศษเปิดเหมืองทอง บวกกับผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่เกินไปกว่าข้อพิพาท เสมือนการใช้ ม. 44 รอบสอง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่เห็นว่า กลไกฝ่ายบริหารได้สร้างปัญหาอย่างรุนแรงให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยจึงมายื่นหนังสือถึงท่าน ในฐานะเป็นกลไกหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อทำการตรวจสอบอำนาจรัฐที่ฉ้อฉลของฝ่ายบริหารในการสั่งให้เหมืองทองคำคิงส์เกตกลับมาเปิดได้ใหม่ ทั้งๆ ที่สุขภาพของประชาชน  สภาวะแวดล้อม ธรรมชาติและระบบนิเวศในพื้นที่ยังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยไม่มีหน่วยงานใดๆ เข้าไปแก้ไขให้ดีขึ้น 

โดยขอให้นำปัญหานี้ไปอภิปรายซักฟอกรัฐบาล รวมถึงหาข้อมูลข้อเท็จจริงในกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ถูกปกปิดไว้มาเปิดเผยสู่สาธารณะ และรวมถึงใช้ช่องทางอื่นๆ ทั้งหมดที่ท่านสามารถนำปัญหานี้ทำการตรวจสอบรัฐบาล เพื่อทำให้สังคมไทยโปร่งใสขึ้นจากความมืดมนและกดขี่คุกคามประชาชนตลอดหลายปีที่ผ่านมาในรัฐบาลประยุทธ์

ขณะที่ อนันต์ วิลัยฤทธิ์ ประธานชมรมพิทักษ์ธรรมชาติ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า เนินมะปรางเป็นแหล่งพื้นที่ที่ผลิตมะม่วงส่งออกเยอะที่สุดของประเทศไทย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวติด 1 ใน 5 ของประเทศ เป็นภูเขาหินปูนล้านปี หากพรรคฝ่ายค้านได้ลงพื้นที่จะเห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ที่จะถูกพรากไปด้วยสัมปทานเหมืองแร่ของรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน เราขอเชิญชวนทุกท่านลงไปดูพื้นที่จริง เราไม่ได้มาใส่ร้ายรัฐบาลแต่ความกังวลในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับนโยบายสัมปทานแร่ของรัฐบาลประยุทธ์ซึ่งไม่ชอบธรรมมาโดยตลอดและส่งผลกระทบกับชุมชน ทำให้ชุมชนล่มสลายไปแล้ว ที่เขาหม้อ จ.พิจิตร

 

นพ.ชลน่าน กล่าวภายหลังจากรับหนังสือแล้วว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะนำเรื่องเข้าสู่กลไกกระบวนการของทางรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่ตามที่เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่มีความประสงค์และต้องการ ก่อนหน้านี้ เราได้นำเรื่องนี้เข้าสู่สภามาตั้งแต่ พ.ศ.2562 พรรคร่วมฝ่ายค้านในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติมีความเห็นพ้องร่วมกันว่าจะต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้นถึงขบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมด ที่ทำให้เราอาจสูญเสียโอกาสของประเทศ สูญเสียทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของประเทศ เพื่อไปตอบสนองต่อความผิดพลาดของผู้บริหารที่มาจากกลุ่มเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น คือ หัวหน้า คสช. และ คสช. ที่ใช้กฎหมายพิเศษที่ออกโดย ซึ่งพูดตรงนี้เลยว่าเป็นกฎหมายเผด็จการ เพราะผู้ออกกฎหมายมีอำนาจในการออกกฎหมายเองโดยไม่ผ่านกระบวนการทางฝ่ายนิติบัญญัติ บังคับใช้และตีความกฎหมายเองทำหน้าที่แทนตุลาการทั้งหมด ลักษณะแบบนี้เรียกว่าเผด็จการ ดังนั้น การตรวจสอบที่ทางเครือข่ายต้องการ เราจะทำหน้าที่อย่างเข้มข้น เบื้องต้นในปีนี้เราได้เขียนญัตติในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน เป็นญัตติอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรม มาตรา 152 เพื่อนำเรื่องเหมืองทองอัคราเข้าไปเป็นประเด็นอภิปรายสอบถามข้อเท็จจริงและซักฟอกปอกเปลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในรัฐสภา เราได้เขียนไปในญัตติแล้ว

และตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป เราสามารถที่จะตั้งเป็นกระทู้สดถามกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องถึงข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น ว่ารัฐมนตรีที่รับผิดชอบหรือนายกรัฐมนตรีจะตอบอย่างไร และแนวทางต่อไปเรามีงบประมาณที่จะลงไปรับฟังความคิดเห็นและพบปะกับประชาชนในพื้นที่จะนำเข้าแผนได้เลย และเราจะผลักดันเข้าสู่กรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบเชิงลึกที่เราจะทำคู่ขนานกันไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้

ขณะที่ พล.ต.อ.ทวี กล่าวเช่นกันว่า มีข้อสังเกตที่สำคัญอย่างยิ่งอยากให้ประชาชนได้ลองเข้าไปอ่านเว็บไซต์ของคิงส์เกต เขาได้ระบุว่าจะเลิกทำเหมืองที่ประเทศชิลี เพราะประเทศชิลีเพิ่งเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ คือ กาเบรียล บอริก ซึ่งเป็นผู้นำนักศึกษามาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งการกระทำเช่นนี้ เขาสามารถทำได้ในประเทศที่เป็นเผด็จการเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าเมื่อชิลีเป็นประชาธิปไตย ทำให้ในเว็บไซต์ของคิงส์เกตระบุว่าจะเลิกทำ ซึ่งอยู่ในรายงานเดียวกับเหมืองทองอัคราที่ระบุว่าประเทศไทยมีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากถ้าปล่อยให้มีการตัดสินซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พูดว่าจะรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดจะไม่ให้รัฐบาลรับผิดชอบ แต่วันนี้จึงจำเป็นต้องเอาทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน ซึ่งเป็นของคนไทยทุกคนไปยกประโยชน์ให้กับบริษัทที่ในประเทศตนเอง คือ ออสเตรเลีย ยังไม่กล้าทำเหมืองในลักษณะดังกล่าวนี้ เพราะมันเป็นมลพิษที่ร้ายแรงที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net