เมื่อไทยกำลังมีเขต 'เหมืองใหม่' 3 ล้านไร่ ฟังเสียงจาก 'เหมืองแร่เมืองเลย' ที่ 'ไม่เคยถูกฟื้นฟู'

แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ในปี 2566 นี้ กำลังขยายพื้นที่แหล่งแร่ พื้นที่การทำเหมืองในประเทศให้เพิ่มขึ้นเป็น 3,000,000 ไร่ มีเสียงคัดค้านจากประชาชนในหลายพื้นที่ เนื่องจากเป็นการประกาศเขตแหล่งแร่ทับซ้อนกับพื้นที่ห่วงห้ามตามกฎหมาย ชวนรับฟังเสียงจากชาวบ้านนาหนองบง จังหวัดเลย ผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำถึงแผนแม่บทแร่ฯ ที่จัดทำเพื่อพัฒนาทรัพยากรแร่ของประเทศ แต่ไม่เคยบรรจุการเยียวยาฟื้นฟูความเสียหายด้านต่างๆ จากเหมืองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บท

 

27 ธ.ค. 2565 วันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา “ฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย” กลุ่มประชาชนจาก 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ จากการทำเหมืองแร่ทองคำ ที่หมู่บ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ได้เข้ายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลยถึงคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) คัดค้านการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 เรียกร้องให้การจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการเมืองแร่ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.แร่ 2560

นอกจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย ยังมีภาคประชาชนอีกหลายกลุ่มทั่วประเทศที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน แผนแม่บทฯ แร่ฉบับใหม่จากประเด็นหลักๆ ที่ว่ามีการกำหนดเขตพื้นที่ที่สามารถนำไปทำเหมืองได้ โดยไม่สนใจพื้นที่เปราะบางที่เป็นข้อยกเว้นตามกฎหมาย พ.ร.บ.แร่ 2560 กำหนดไว้

ในกรณีของเหมืองแร่นาหนองบงถึงแม้จะมีคำวินิจฉัยจากศาลอย่างชัดเจนว่า การทำเหมืองแร่ทองคำส่งผลเสียด้านต่างๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่ จนมีคำสั่งให้บริษัทเหมืองแร่ต้องทำการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ตามแผนแม่บทฯ แร่นั้น พื้นที่บ้านนาหนองบงยังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ในการทำเหมืองอยู่ เป็นตัวอย่างที่ดีในการยกขึ้นมาแสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรม ของแผนแม่บทฯ แร่ฉบับใหม่ที่กำลังจะประกาศใช้ในปี 2566 นี้

 

กำเนิดแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่โดยตรงคือ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งถูกใช้เป็นกฎเกณฑ์ในการอนุญาตทำเหมืองแร่มานาน ซึ่งที่ผ่านมามีการพยายามเสนอให้มีการแก่พ.ร.บ.แร่ ฉบับนี้อยู่หลายครั้งในรัฐบาลหลายชุด  จนการเข้ามายึดอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ที่ต่อมาออกแผนปฏิรูปประเทศ ออกมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ ซึ่งทรัพยากรแร่ก็ ก็เป็นส่วนนึงในแผนปฏิรูปนั้นด้วย ทำให้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ที่จัดทำโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ผ่านออกมาในห้วงเวลานั้น

โดยตัว พ.ร.บ.แร่ ฉบับนี้เองกำหนดให้มีการจัดทำ ยุทธศาสตร์บริหารจัดการแร่ 20 ปี (2561-2580) ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการกับทรัพยากรแร่ในระยะยาว สอดรับไปกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล และมีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดแร่ออกมาในทุก 4-5 ปี เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการทรัพยากรแร่ในระยะสั้น กลายมาเป็นมา แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับแรก ครอบคลุมในปี พ.ศ. 2561 – 2565 และฉบับที่ 2 ปีที่กำลังจะประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2566-2570

“กฎหมายแร่ฉบับนี้พยายามทำให้เป็น One stop service เพราะตามกฎหมายแร่ฉบับเก่าเวลาจะทำเหมืองต้องไปขออนุญาต เจ้าของพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สปก. พื้นที่ทหาร เป็นพื้นที่ของหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ทำให้เป็นอุปสรรคในการทำเหมือง” เลิศศักดิ์ กล่าว

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน นักกิจกรรมทางสังคมด้านสิทธิมนุษยชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว โดยมองว่ากฎหมายแร่ฉบับ ปี พ.ศ. 2560 มีเป้าหมายหลักเป็นไปเพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากให้การข้ออนุญาตทำเหมืองแร่ จากเดิมที่ต้องขออนุญาตหลายหน่วยงานเปลี่ยนให้ กพร.ทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวกลางในการประสานขอใช้พื้นที่ โดยพยายามให้มี “การจัดทำเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง” หรือ “Mining zone” เพื่อให้สามารถงดเว้นการใช้กฎหมายฉบับอื่นๆ ในพื้นที่เหล่านั้นได้

ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 มาตรา 16 กำหนดให้กรมทรัพยากรธรณีและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเหมืองของประเทศเป็นการประเมินด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ บริบททางสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดแบ่งว่ามีพื้นที่ไหนในประเทศเหมาะกับการทำเหมืองแร่เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ประกอบอยู่ในแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ทั้ง 2 ฉบับ

ความเชื่อมโยงระหว่างแผนแม่บทที่ 2 กับนโยบายอื่นๆ 

ปัญหาการทำ Mining Zone ที่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์

แต่ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 มาตรา 17 ได้กำหนดข้อยกเว้นในการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองไว้ว่าต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแหง่ชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำ หรือป่าน้ำซับซึม

ซึ่งเท่ากับว่าควรจะมีการล้างไพ่จัดทำสำรวจพื้นที่ mining zone ขึ้นมาใหม่ให้เห็นว่าพื้นที่ไหนไม่สามารถทำเหมืองได้ตามข้อยกเว้นดังกล่าว แต่เมื่อมีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับแรกที่บังคับใช้ในปี พ.ศ. 2561-2565 นั้นกลับพบว่า คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติได้นำพื้นที่ตามประทานบัตร คำขอต่ออายุประทานบัตร หรือพื้นที่ตามอาชญาบัตร ก่อนที่มี พ.ร.บ.แร่ 2560 จะบังคับใช้มาใช้เป็นพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง  โดยไม่มีการนำข้อยกเว้นตาม มาตรา 17 พ.ร.บ.แร่ มาพิจารณา

ทำให้ปัญหาข้อพิพาทต่างๆ จากการอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ก่อนหน้านี้ ซึ่งถูกคัดค้านโดยประชาชนในหลายพื้นที่ไม่ได้รับการแก้ไขหรือหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในการทำ mining zone ด้วย แม้ว่าจะถูกประชาชนทักท้วงว่าเป็นการอนุญาตให้ทำเหมืองทับซ้อนกับพื้นที่โบราณสถานที่มีคุณค่าหรือพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำของชุมชนก็ตาม

อย่างเช่น เครือข่ายคนรักษ์เขากระบี่ จังหวัดกระบี่ ที่ออกมาคัดค้านว่ามีการประกาศเขตแหล่งแร่ทับพื้นที่แหล่งน้ำ และพื้นที่ทางโบราณสถาน หรือกรณีของกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร ที่ออกมาคัดค้าน การโครงการเหมืองแร่หินแร่อุตสาหกรรมได้ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ทั้งยังเป็นพื้นที่ซับน้ำของชุมชน และอีกหลายชุมชนในประเทศที่เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้น แต่กลับไม่ถูกนำไปใช้ประกอบการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง

ภาพชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านเหมืองแร่หิน

ภาพจากเฟซบุ๊ก "กลุ่มอนุรักษณ์น้ำซับคำป่าหลาย"

แผนแม่บทแร่ฉบับ 2 เพิ่มเขตแหลง่แร่ 1.4 ล้านไร่

เมื่อแผนแม่บทฯ ฉบับแรกสิ้นใกล้สิ้นสุดระยะเวลา ทางคนร. จึงได้จัดทำ ร่างแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งก็ยังได้นำพื้นที่ตามประทานบัตร คำขอต่ออายุประทานบัตร หรือพื้นที่ตามอาชญาบัตร ที่มีมาก่อน พ.ร.บ.แร่ 2560 จะบังคับใช้ เข้ามาเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเช่นเดิม ยังไม่มีการนำข้อยกเว้นตาม าตรา 17 วรรค 4 พ.ร.บ.แร่ 2560 มาพิจารณา โดยไม่ได้สนใจเสียงทักท้วงจากภาคประชาชน ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้ตามคำอธิบายใน “การประชุมเวทีสาธารณะ (Public Hearing) เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ ๒” นาทีที่ 1:38:21 - 1:38:35  ได้สรุปว่า

“แผนฉบับแรกจะเป็นการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในลักษณะของคำนิยาม โดยเอาพื้นที่ ๆ มีการประกอบการอยู่แล้วหรือว่ามีคำขออนุญาตอยู่แล้วมาใช้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง”

หากเราเอาคำนิยามนี้เข้าไปดูในเอกสารแผนแม่บทการจัดการแร่ฉบับที่ 1 ในหน้า 135 จะเห็นได้ว่าการนำเอาจำนวนพื้นที่ ๆ มีการประกอบการอยู่หรือมีคำขออยู่แล้วจะรวมกันได้ทั้งหมด 1.59 ล้านไร่

นอกจากนั้น ทำให้เห็นว่าการกำหนดเขตเหมืองแร่นั้นในแผนแม่บทฉบับใหม่นี้ มีแนวโน้มที่จะคำนวณพื้นที่ใหม่โดยการนำพื้นที่ซึ่งสำรวจแล้วว่า มีแนวโน้มที่จะพบแร่ในปริมาณที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและปัจจัยอื่นๆ ซึ่งตามข้อมูลจาก การประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 เผยให้เห็นตัวเลขว่าประเทศไทยจะมีเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ขนาด 3,000,000 ไร่

สูตรหาพื้นที่ทำเหมืองที่เปลี่ยนไป

“การพัฒนาทรัพยากรแร่ควรคำนึงถึงมิติอื่นๆ ไม่ใช่แค่การขุดมาใช้อย่างเดียว ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดแผนแม่บทให้มากขึ้น” เลิศศักดิ์ กล่าว 

เลิศศักดิ์ให้ความเห็นว่า พื้นที่แต่ละแห่งมีคุณค่าในแง่มุมที่ต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือวัฒนธรรม การไม่จัดทำเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองให้เป็นไปตามข้อยกเว้นของ พ.ร.บ.แร่ 2560 นั้น จะส่งผลกับชีวิตผู้คนในพื้นที่เป็นอย่างมาก “ไม่งั้นก็จะให้สัมปทานขุดเหมืองไปหมด โดยไม่สนว่าพื้นที่เหล่านั้นจะคุณค่าด้านอื่นกับคนในพื้นที่อย่างไร โลกมันพัฒนาไปไกลแล้ว เกินกว่าทรัพยากรแร่จะถูกผูกขาดอยู่กับรัฐแต่เพียงผู้เดียว โดยชุมชนชนท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วมอีกต่อไป”

 

เสียงจากเหมืองเมืองเลยที่หยุดการต่อสู้ไม่ได้

หลุมขนาดใหญ่กลางภูเขาราวกับถูกอุกกาบาตตกลงมาใส่เป็นเหมือนบาดแผลต่างหน้าทิ้งไว้ให้เห็นว่าครั้งหนึ่งบ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย แห่งนี้ เคยเป็นที่ตั้งของเหมืองแร่ทองคำ แม้การต่อสู้ของ “กลุ่มคนรักบ้านเกิด จ.เลย” ที่เป็นการรวมกลุ่มชาวบ้านที่ได้ผลกระทบจากเหมืองทอง ท้ายที่สุดจะสามารถทำให้บริษัทเหมืองต้องปิดกิจการออกจากพื้นที่ไป จนถูกยกให้เป็นกรณียกตัวเอาอย่างของพลังประชาชน แต่กว่าเรื่องราวจะดำเนินมาถึงจุดที่เป็นอยู่นี้ต้องผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมากมายที่ชาวบ้านถูกกระทำ

เหมืองแร่ของบริษัททุ่งคำเปิดดำเนินกิจการตั้งแต่ พ.ศ. 2549 จากนั้นเมื่อผลกระทบด้านต่างๆ จากเหมืองเริ่มเห็นเด่นชัดขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำชุมชนที่ปนเปื้อนสารพิษ ไปจนถึงการตรวจพบสารสารพิษเกินค่ามาตรฐานในร่างกายชาวบ้าน จึงเกิดการรวมตัวของชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้านรอบเหมืองเรียกร้องให้เหมืองแร่ออกจากพื้นที่ เกิดเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้ภาคประชาชนที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน จนเป็นกระแสและได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคมในช่วงหนึ่ง ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงสำคัญอย่างคืนวันที่ 15 พ.ค. 2557 ที่มีชายฉกรรจ์ราว 200- 300 คน บุกเข้ามาในหมู่บ้าน ใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกาย จับชาวบ้านเป็นตัวประกัน จนได้รับบาดเจ็บหลายราย เพื่อเปิดทางให้กับรถบรรทุกสามารถขนแร่ทองคำออกจากพื้นที่ไปได้

“ไม่อยากให้เรื่องแบบเกิดขึ้นกับใครอีก” รจนา กล่าว

รจนา กองแสง หนึ่งชาวบ้านนาหนองบงกล่าวถึงเหตุผลที่ออกมาคัดค้านการทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับใหม่ เพื่อไม่ให้สิ่งที่พวกเขาพบเจอมาเกิดขึ้นกับพื้นที่อื่นๆ อีก “ถ้ากฎหมายไม่เป็นธรรมพวกนี้ยังอยู่เราก็ยังไม่ชนะ” แม้จะดูเหมือนชาวบ้านนาหนองบงจะได้รับชัยชนะจากการขับไล่เหมืองแร่ออกไปได้แล้ว

“เราเป็นผู้ได้รับผลกระทบแต่กลับไม่ได้มีส่วนร่วมกับแผนนี้ ปัญหาเดิมของยังไม่ได้รับการแก้ไข และมีโอกาสจะมีการทำเหมืองในพื้นที่ได้อีก” รจนา กล่าว

รจนามองว่า การเดินหน้าจัดทำแผนแม่บทที่ผ่านนั้นขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน  และยังไม่ได้เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ที่การทำเหมืองแร่ทิ้งไว้ในอดีตที่ผ่านมา “พื้นที่หมู่บ้านเราก็ยังมีประทานบัตร และอาชญาบัตรพื้นที่สำรวจแร่เหลืออยู่เป็นอีกหมื่นๆ ไร่ เราเลยหยุดสู้ไม่ได้” ถึงแม้จะมีคำพิพากษาของศาลออกมาอย่างชัดเจนว่าการทำเมืองแร่ที่บ้านนาหนองบงนั้นส่งผลกระทบอย่างหนักชาวบ้าน จนนำมาสู่คำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูชดเชยความเสียหาย แต่ตามแผนแม่บทฯ แร่ ทั้ง 2 ฉบับยังกำหนดให้พื้นที่นาหนองบงเป็นเขตแหล่งเพื่อการทำเหมืองแร่ เพราะที่บริษัทเหมืองแร่ได้รับประทานบัตรมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ก่อน พ.ร.บ.2560 จึงทำให้การต่อสู้ของชาวบ้านนาหนองบงยังไม่สิ้นสุด

ภาพการปะทะระหว่างชาวบ้านนาหนองบงกับชายฉกรรจ์

ภาพจากเฟซบุ๊ก "เหมืองแร่ เมืองเลย V2"

 

การฟื้นฟูผลกระทบจากเหมืองที่ไม่เคยอยู่ในแผนแม่บท

“ถ้าจะมองว่าเราชนะ ก็เป็นชัยชนะที่ผ่านความเจ็บปวด” แม้ปัจจุบันหากมองจากภายนอกจะดูเหมือนชาวบ้านนาหนองจะประสบความสำเร็จ ที่สามารถทำให้บริษัทเหมืองแร่ปิดกิจการออกจากพื้นที่ไปได้ แต่รจนามองว่าบาดแผลและผลกระทบของการทำเหมืองยังอยู่กับชาวบ้านถึงปัจจุบัน ทั้งด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังคงตกค้างอยู่ รวมไปถึงความขัดแย้งของคนหมู่บ้านที่ยังไม่คลี่คลาย

“เราอยากฟื้นฟูไม่ใช่แค่เรื่องสารเคมีที่ปนเปื้อน แต่รวมไปถึงความขัดแย้งและเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อเอกชนไม่ทำก็ควรเป็นหน้าที่ของรัฐ เพราะคุณอนุญาตให้เขาเข้ามาทำเอง” รจนา กล่าว

หลังจากพ.ศ. 2561 ที่ศาลจังหวัดเลย ได้มีคำสั่งให้บริษัททุ่งคำต้องทำการฟื้นฟูเยียวยาชดเชยพื้นที่รอบๆ เหมืองให้กลับสู่สภาพปกติ แต่ทางบริษัททุ่งคำได้ยื่นล้มละลายตัวเองไปก่อนหน้านี้ ทำให้ปัจจุบันการฟื้นฟูเยียวยาสิ่งแวดล้อมและประชาชนรอบเหมืองจึงไปไม่ถึงไหน แม้ชาวบ้านจะพยายามทำแผนฟื้นฟูของตัวเองขึ้นนับเสนอต่อภาครัฐก็ตาม

“อยากให้ใช้พื้นที่เราเป็นตัวอย่าง ว่าพื้นที่เหมืองเมืองเลยคือความล้มเหลวอย่างมากของรัฐ”  การต่อสู้ของชาวบ้านนาหนองบงเพื่อให้ได้รับการฟื้นฟู ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการชี้ให้สังคมเห็นความล้มเหลวของโครงการของรัฐ เพื่อจะไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับพื้นที่อื่นอีกในอนาคต

“ต้องกับมาดูกันใหม่ตั้งแต่แรกก่อนทำเหมืองว่ามีจะมาตรการป้องกันเยียวยายังไง ไม่ใช่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วไม่มีคนมารับผิดชอบ” รจนา กล่าว

ถึงตอนนี้ประเทศไทยมีแผนแม่บทบริหารจัดการแร่มาแล้ว 1 ฉบับ คือ พ.ศ. 2561 - 2565 และมีร่างฉบับที่ 2 กำลังประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2566-2570 และจะมีฉบับถัดไปตามในอนาคต กรณีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านนาหนองบงเป็นตัวอย่างที่ดีว่าควรจะหันย้อนกลับมาทบทวนผลกระทบที่เหมืองแร่ทิ้งไว้ ก่อนจะเดินหน้าวางกฎเกณฑ์อะไรต่อไป

 

 

 

  • บทความนี้ได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลจากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เพื่ออธิบายถึงอุสาหกรรมการทำเหมืองแร่ในประเทศไทย ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนต่ออุสาหกรรมเหมืองได้ที่เฟซบุ๊ก ผืนดินนี้ไม่มีเหมือง - This Land No Min

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท