Skip to main content
sharethis

เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.ก้าวไกล ถาม รมว.ทส. กรณีเหตุน้ำมันดิบรั่วที่จุดขนถ่ายน้ำมันบริษัท SPRC และถูกพัดมาขึ้นหาดแม่รำพึง จ.ระยองนั้น มีการปกป้องผลประโยชน์ช่วยเหลือบริษัทเอกชนหรือไม่ ด้าน 'วราวุธ' โต้ไม่มีการปกป้อง และจะให้บริษัทดังกล่าวชดใช้ทุกบาททุกสตางค์

 

3 ก.พ. 65 สำนักข่าว Voice TV ถ่ายทอดสดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (3 ก.พ.) ผ่านช่องทางเว็บไซต์ยูทูบ ที่รัฐสภา เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งให้ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ตอบแทน ในประเด็นท่อส่งน้ำมันรั่วในอ่าวไทยเมื่อกลางดึก 25 ม.ค. 65 ก่อนที่คราบน้ำมันจะถูกพัดขึ้นหาดรำพึง จ.ระยอง ในเวลาต่อมา

เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.ก้าวไกล

เบญจา กล่าวว่า จากกรณีที่ท่อส่งน้ำมันรั่วไหล ณ บริเวณจุดขนถ่ายน้ำมันบริเวณทุ่นผูกเรือ กลางทะเลมาบตาพุด จังหวัดระยอง ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ซึ่งมีบริษัทเชฟรอน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เมื่อ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นภัยพิบัติทางทะเลครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านระยองอย่างมาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิตประมง และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เบญจา ชี้ว่า เหตุน้ำมันรั่วครั้งล่าสุดส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อชาวระยอง เหมือนฝันร้ายที่กลับมาซ้ำเติมชาวบ้าน เนื่องจากก่อนหน้านี้ ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่แพร่ระบาดต่อเนื่อง แต่ในปีนี้สถานการณ์กำลังดีขึ้น รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาด ชาวบ้านมีความหวังที่จะได้ลืมตาอ้าปากอีกครั้ง แต่กลับต้องมาเจอเหตุน้ำมันรั่ว ชาวประมงไม่สามารถออกหาปลา เครื่องมือจับปลาเสียหายมีคราบน้ำมันเกาะ ผู้ประกอบการร้านอาหารริมฝั่งขายไม่ได้ เพราะประชาชนกังวลเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพ การท่องเที่ยวเสียหาย คนไม่กล้ามาเที่ยว ยอดจองที่พักถูกยกเลิกทันทีหลังมีข่าวเผยแพร่ ห่วงโซ่ระบบการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องก็ได้รับผลกระทบติดตามกันไป

นอกจากนี้ ส.ส.ก้าวไกล ระบุด้วยว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ชีวิตมนุษย์เท่านั้น ยังมีทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางทะเลและทางบก แหล่งเพาะพันธุ์ปลา ป่าชายเลน ถูกทำลายไปด้วย และแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วส่งผลกระทบระยะยาว ซึ่งกินระยะเวลายาวนานจนถึงวันนี้ ยังไม่รวมจากที่รัฐต้องแบ่งงบประมาณ เพื่อควบคุมสถานการณ์ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และการดำเนินการทางกฎหมายต่อ SPRC เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด

“เราไม่ได้เรียนรู้ หรือถอดบทเรียนจากหายนะครั้งก่อนเลย นับตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา ระยองเกิดเหตุน้ำมันรั่วไม่น้อยกว่า 26 ครั้ง” เบญจา กล่าว 

ส.ส.ก้าวไกล ระบุต่อว่า จนถึงวันนี้ ผ่านมา 7 วัน การจัดการข้อมูลของรัฐและบริษัทเอกชนกลับไม่มีความชัดเจน เพราะวันแรกมีการประเมินปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลออกมาประมาณ 4 แสนลิตร แต่วันที่ 2 หรือ 26 ม.ค. 65 มีการปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลออกมา เปลี่ยนเป็น 1.6 แสนลิตร และหลังส่งทีมนักประดาน้ำไปสำรวจ ตัวเลขน้ำมันเหลือ 5 หมื่นลิตร ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า เป็นการประเมินจากบริษัทเอกชน

รัฐบาลสามารถตรวจสอบและประเมินคราบน้ำมันได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานรัฐสามารถประเมินได้จากการตรวจสอบเอกสารนำเข้าที่บริษัทเอกชนที่จดแจ้งกับศุลกากร แต่กลับมีการนำมาหักลบกับน้ำมันที่อยู่ในเรือ และภาครัฐยังปล่อยเรือที่เป็นของกลางกลับประเทศโดยไม่ตรวจสอบใดๆ เพียงเพราะเขาอ้างว่ามีธุระต้องเดินทางกลับประเทศเท่านั้น 

เบญจา ระบุต่อว่า รมว.ทส. ควรจะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน แต่กลับออกมายืนยันแทนบริษัทเอกชน โดยระบุว่า น้ำมันที่รั่วครั้งนี้เป็นน้ำมันเบา เมอร์เบินออย (Murban Crude Oil) สีใส ไม่ดำเหมือนน้ำมันดิบ จึงไม่น่าจะมีคราบน้ำมันดำลอยไปติดชายฝั่ง เหมือนเมื่อคราวที่ท่อส่งน้ำมันดิบรั่วที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด เมื่อราวแปดปีก่อน และคาดการณ์ว่าภายใน 5 วัน น้ำมันบนผิวน้ำจะสลายหมดไปเองจากการระเหยและเจือจางไปในอากาศ

ขณะที่ช่วงต้นของเหตุการณ์ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็สร้างความสับสนเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลออกมา ทั้งนี้ ในฐานะตัวแทนรัฐบาล รัฐมนตรีฯ แสดงความมั่นใจว่า “ขอยืนยันว่าการรั่วไหลของน้ำมันดิบจะไม่กระทบกับการท่องเที่ยวและหาดแม่รำพึงอย่างแน่นอน”
  
“ตอนนี้ท่านเห็นความเสียหายของพี่น้องประชาชน แล้วท่านจะรับผิดชอบคำพูดอย่างไร” เบญจา กล่าว
 
เบญจา จึงขอถาม รมว.ทส. ว่า 1) สาเหตุการรั่วไหลของน้ำมัน และเรือน้ำมันที่บรรทุกน้ำมันเข้ามาและรั่วไหลทางทะเล มาจากประเทศอะไร และบรรทุกมาเท่าไร 2) ท่อที่เกิดเหตุ บริษัทเอกชนเข้ามาบำรุงรักษาหรือไม่ และหน่วยงานใดของภาครัฐเข้ามาดูแลตรวจสอบอย่างไร สอดคล้องกับรายงาน EIA ที่บริษัททำไว้หรือไม่ 3) ภาครัฐร่วมมือกับนายทุน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนน้ำมันยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ปกปิดข้อมูล โดยการปรับลดตัวเลข เพื่อให้บริษัทรับผิดชอบน้อยลงหรือไม่ 

'วราวุธ' โต้ ไม่มีการปกป้อง บ.เอกชน 

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ตอบคำถาม ส.ส.เบญจา ว่า ในประเด็นแรกเรื่องการเยียวยาความเสียหายให้แก่ชาวบ้าน ภาครัฐจะให้ทางบริษัทเอกชนรับผิดชอบทุกบาททุกสตางค์ 

“ผมอยากให้บริษัทได้ฟังว่า ที่ทุกคนพยายามรักษาช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น แต่ 3 ชั่วโมงกว่าๆ จากอังคาร และคาบเกี่ยวมายังวันพุธของคืนวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายมากขนาดไหน รายได้ทั้งหลายทั้งปวงที่เสียหายไป ไม่ว่าจะรายได้จากการท่องเที่ยว พี่น้องชาวประมงทั้งหลาย รวมไปถึงสรรพกำลัง หน่วยงานของภาครัฐ รวมไปถึงประชาชนที่มาช่วยงาน จะต้องมีค่าใช้จ่ายให้กับพวกเขา ผมได้พูดไปแล้ว ทุกบาททุกสตางค์จะต้องมีการชดใช่จากบริษัทดังกล่าว” วราวุธ กล่าว 

รมว.ทส. ชี้แจงต่อว่า เหตุที่น้ำมันรั่วไม่ได้มาจากระหว่างการขนถ่ายน้ำมันอย่างที่เข้าใจ แต่มาจากการรั่วของท่ออ่อน คือจากชายฝั่งจะมีท่อเหล็กยื่นออกมาในทะเล 20 กิโลเมตร และจากก้นทะเลจะมีท่ออ่อนเชื่อมต่อมายังทุ่นด้านบน ซึ่งเรือจะขนถ่ายน้ำมันผ่านทุ่นตัวนี้ แต่จากรายงานเรือไม่ได้มีการต่อท่อ หรือขนถ่ายน้ำมัน ดังนั้น จึงไม่ได้ตรวจสอบ และไม่ทราบข้อมูลว่า เรือบรรทุกน้ำมันมาเท่าใด และประเด็นเรื่องปริมาณ น้ำมันรั่วประมาณเที่ยงคืน เวลาน้ำมันรั่วตอนกลางคืน ทำให้กะปริมาณน้ำมันรั่วออกมาเป็นเรื่องยาก ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนในช่วงแรก และไปอ้างอิงข้อมูลจากบริษัทเอกชนแทน จนกระทั่งตอนเช้า จึงได้เห็นแผ่นฟิล์มตามที่ได้กล่าวกับสื่อ

“เป็นไลท์ครูดออย (Light Crude Oil) ซึ่งต่างจากเฮฟวีครูดออย (Heavy Crude Oil) เหมือนอย่างปี 56 ซึ่งเกิดที่อ่าวพร้าว แต่ข้อเสียของมันคือควบคุมได้ยากกว่า และในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องไม่สร้างความตกใจ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณชน” รมว.ทส. ระบุ

วราวุธ กล่าวย้ำว่า รัฐไม่ได้ออกมาปกป้องบริษัท แต่ออกมาทำงานเพื่อที่ว่าจะทำยังไงเพื่อให้ผลกระทบจากน้ำมันที่รั่ว จะประมาณ 5 หมื่นลิตร จะปกป้องได้มากแค่ไหน

“ผมหวงที่สุด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประเทศไทย ใครมาทำอะไรให้กับทะเล ให้ประชาชนเดือดร้อนเราไม่ยอมแน่นอน ดังนั้นการที่บอกว่า รัฐบาลออกมาปกป้องแทนบริษัทไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน” วราวุธ ระบุ พร้อมกล่าวถึงสถานการณ์คราบน้ำมันที่รั่วเมื่อ 30 ม.ค. 65 ว่า ตอนนี้ไม่มีคราบน้ำมันลอยอยู่ในทะเลแล้ว เนื่องจากภาครัฐมีการใช้ สารดิสเพอร์แซนด์ ในการสลายคราบน้ำมันให้แตกตัวในระดับโมเลกุลขนาดเล็ก เพื่อจะเอื้อให้จุลินทรีย์ในทะเลสามารถกัดกินก้อนน้ำมัน ซึ่งเป็นสารไฮโดรคราร์บอน ซึ่งดิสเพอร์แซนด์ก็เป็นไฮโดรคาร์บอน ซึ่งมีคุณสมบัติดักจับสารไฮโดรคาร์บอนด้วยกัน และคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน กระบวนการทำลายคราบน้ำมันในทะเลน่าจะเสร็จสิ้น และระบุด้วยว่า สารดิสเพอร์แซนด์เป็น ‘food grade’ เชื่อมั่นว่าปลอดภัยบริโภคได้

ขจัดคราบน้ำมันดิบที่ลานหินขาว หาดแม่รำพึง จ.ระยอง เมื่อ 31 ม.ค. 65

นอกจากนี้ รมว.ทส. ระบุว่า สถานการณ์ตอนนี้โชคดีที่ภาครัฐยังสามารถป้องกันไม่ให้คราบน้ำมันไปขึ้นฝั่งที่อ่าวพร้าว หรือเกาะเสม็ด หรือที่ขึ้นแล้ว จะมีการกำจัดและวางมาตรการไม่ให้เกิดขึ้นอีก และจะมีเจ้าหน้าที่ประจำคอยตรวจสอบตลอด  

อย่างไรก็ตาม เบญจา แสงจันทร์ ปิดท้ายโดยนำปลาและปูจากพ่อค้าแม่ค้าริมหาดรำพึง มาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ช่วยทานและพิสูจน์ว่าสัตว์น้ำที่หาดสามารถบริโภคได้จริง โดยหลังจากทานแล้ว ให้ช่วยโพสต์ลงโซเชียลมีเดียด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจต่อสาธารณชน เนื่องจากหลังเกิดเหตุ ชาวประมงขายปลาไม่ได้เลย
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระดมพลขจัดคราบน้ำมัน ลานหินขาว หาดแม่รำพึง จ.ระยอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net