Skip to main content
sharethis

รายงานฉบับใหม่โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ชี้ให้เห็นถึงความรู้สึกไม่มั่นคงจากคนทั่วโลกส่วนหนึ่ง แม้จะมีการเติบโตของการพัฒนามาหลายปีที่พยายามกระตุ้นให้เกิดความสามัคคีและให้ความสำคัญกับความพยายามในการพัฒนาใหม่ก็ตาม ขณะที่การระบาดของโควิด-19 สะท้อนปัญหาระบบสาธารณสุขของไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

9 ก.พ. 2565 รายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ฉบับใหม่ที่นำเสนอเกี่ยวกับความมั่นคงของมนุษย์ได้เผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ระบุว่าความก้าวหน้าของการพัฒนาทั่วโลกไม่ได้นำไปสู่ความรู้สึกปลอดภัยมากเท่าที่ควรจะเป็น

ข้อมูลและการวิเคราะห์ชุดใหม่ในรายงาน New Threats to Human Security in the Anthropocene หรือภัยคุกคามใหม่ต่อความมั่นคงของมนุษย์ในยุคแอนโทรโปซีน แสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกของผู้คนในเรื่องด้านความปลอดภัยและความมั่นคงอยู่ในระดับต่ำในเกือบทุกประเทศ รวมถึงประเทศที่ร่ำรวยที่สุด แม้จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาที่สูงขึ้นหลายปีก็ตาม ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ ความมั่งคั่ง และการศึกษาในระดับสูงสุดรายงานความวิตกกังวลมากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน

เพื่อจัดการกับความไม่เชื่องโยงระหว่างการพัฒนาและการรักษาความปลอดภัยให้ลงตัวนี้ รายงานเรียกร้องให้มีความสามัคคีมากขึ้นระหว่างพรมแดน รวมถึงแนวทางใหม่ในการพัฒนาที่ช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ปราศจากความต้องการ ความกลัว ความวิตกกังวล และความขุ่นเคือง

“แม้ว่าความมั่งคั่งทั่วโลกจะสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา แต่คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกวิตกกังวลกับอนาคต และความรู้สึกนี้ยิ่งเพิ่มขึ้นหลังจากการเกิดโรคระบาดใหญ่” อาคิม สไตเนอร์ (Achim Steiner) ผู้อำนวยการใหญ่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กล่าว

“ในการแสวงหาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไร้การควบคุม เรายังคงทำลายโลกธรรมชาติของเราต่อไปในขณะที่ความไม่เท่าเทียมกันกำลังขยายกว้างขึ้นทั้งภายในและระหว่างประเทศ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องตระหนักถึงสัญญาณของสังคมที่อยู่ภายใต้ความเครียดมหาศาล และกำหนดนิยามใหม่ว่า ความก้าวหน้าหมายถึงอะไร เราต้องการโมเดลการพัฒนาที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ซึ่งสร้างขึ้นจากการปกป้องและฟื้นฟูโลกของเราด้วยโอกาสใหม่ๆ ที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน” เขากล่าวเสริม

ความจำเป็นในการดำเนินการในตอนนี้ไม่เคยชัดเจนเท่านี้มาก่อน เนื่องจากผลการวิจัยใหม่แสดงให้เห็นว่า อายุไขเฉลี่ยแรกเกิดทั่วโลกลดลงเป็นปีที่สองเนื่องจากโควิด-19 และมาตรการพัฒนามนุษย์โดยรวมก็กำลังลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ทั่วโลก แม้จะมีการลดการปล่อยมลพิษในระดับปานกลาง ผู้คนประมาณ 40 ล้านคนอาจเสียชีวิตเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิก่อนสิ้นศตวรรษ

รายงานตรวจสอบกลุ่มประเภทของภัยคุกคามที่เปลี่ยนไป พบว่ามีความโดดเด่นมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงภัยคุกคามจากเทคโนโลยีดิจิทัล ความไม่เท่าเทียมกัน ความขัดแย้ง และความสามารถของระบบการดูแลสุขภาพในการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ เช่น การระบาดใหญ่โควิด-19

ผู้เขียนรายงานให้เหตุผลในการรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้ ผู้กำหนดนโยบายจะต้องพิจารณาถึงการคุ้มครอง การเสริมอำนาจ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเคียงข้างกัน เพื่อให้ความมั่นคงของมนุษย์ การพิจารณาเรื่องดาวเคราะห์ และการพัฒนามนุษย์ทั้งหมดทำงานร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกซึ่งกันและกัน ซึ่งหมายความว่าวิธีแก้ไขปัญหาหนึ่งไม่ควรทำให้ปัญหาอื่นๆ รุนแรงขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้น โควิด-19 ได้ตอกย้ำและทำให้ความท้าทายของกลุ่มปราะบางในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขนั้นเด่นชัดมากขึ้น เช่นเดียวกับ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น จากปัญหาต่างๆ อาทิ มลพิษทางอากาศ ภัยแล้ง และภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

ข้อมูลและผลการวิจัยอื่นๆ ที่น่าสนใจในรายงานมีพบว่า

  • ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีแนวโน้มที่จะใช้ประโยชน์จากการพัฒนาของมนุษย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในขณะที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำต่างๆ น้อยกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาหรือยังไม่พัฒนา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังทำให้ความไม่เท่าเทียมทวีความรุนแรงขึ้น
  • ผู้คนกว่า 1,200 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (560 ล้านคน) อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ส่วนมากไม่นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบาง ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวทางในการทบทวนความคิดดั้งเดิมที่เกี่ยวกับเกณฑ์การบ่งชี้ว่า แนวคิดดั้งเดิมในการชี้วัดว่าประเทศไหนจัดเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อความขัดแย้งและจัดว่าเป็นประเทศที่เปราะบาง ต้องได้รับการทบทวนและตรวจสอบอีกครั้ง
  • ใน ค.ศ. 2021 แม้ว่า GDP ของโลกจะอยู่ในจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์และแม้ว่าวัคซีนโควิด-19 จะสามารถแจกจ่ายได้อย่างครอบคลุมในบางประเทศ แต่ในทางกลับกัน อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกลดลงเป็นปีที่สองติดต่อกัน และลดลงโดยเฉลี่ยประมาณหนึ่งปีครึ่งเมื่อเทียบกับโลกก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 
  • ช่องว่างขนาดใหญ่ได้ขยายตัวกว้างขึ้นในระบบการดูแลสุขภาพระหว่างประเทศ โดยตามรายงานดัชนีความเป็นสากลด้านการดูแลสุขภาพใหม่ ระหว่าง ค.ศ.1995 ถึง ค.ศ. 2017 แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพระหว่างประเทศระหว่างประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์สูงเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ต่ำนั้นมีแนวโน้มที่แย่ลง

แนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเริ่มนำมาใช้ครั้งแรกในรายงานการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในปี 1994 ได้ส่งสัญญาณให้ออกจากความคิดอันสุดโต่งที่ว่า ด้วยการเข้าถึงความปลอดภัยควรที่จะถูกประเมิณจากความปลอดภัยในอาณาเขตนั้นอย่างเดียว เน้นย้ำถึงความสำคัญของความต้องการพื้นฐาน ศักดิ์ศรี และความปลอดภัยในการดำรงชีวิตของผู้คน

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เป็นองค์กรชั้นนำของสหประชาชาติที่ต่อสู้เพื่อยุติความอยุติธรรมของความยากจน ความไม่เท่าเทียมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและพันธมิตรกว่า 170 ประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างการแก้ปัญหาแบบบูรณาการที่ยั่งยืนสำหรับผู้คนและโลกใบนี้ เรียนรู้เพิ่มเติมที่ th.undp.org และ Twitter/Facebook: @UNDPThailand

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net