Skip to main content
sharethis

สองปีงานวิจัย ‘คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง’ เปิดเผยความสลับซับซ้อนของคนจนเมือง การด้นชีวิตตามยถากรรม ภาพลวงตาของเมืองสวยงามที่เบียดขับคนจนออกจากเมือง ย้ำคนจนคือผู้หล่อเลี้ยงเมือง สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมืองต้องเป็นของทุกคนเมืองยุติธรรมจึงจะเกิดขึ้นได้

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 65 โครงการวิจัยชุด ‘คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง’ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และรายการ The Active จัดเวทีสาธารณะเพื่อนำเสนอข้อค้นพบของงานวิจัยคนจนเมือง 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต่อผู้ทรงคุณวุฒิ ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ (แฟ้มภาพประชาไท)

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัยได้สังเคราะห์ภาพรวมของชีวิตคนจนเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

เรารู้อะไรมากขึ้น “คนจนเมือง/สังคมเมือง”

จากการศึกษาวิจัยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มี 5 เรื่องด้วยกันที่ทางโครงการคนจนเมืองได้ค้นพบและสร้างสรรค์ขึ้นมา

  1. ความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “ความสลับซับซ้อน” ของ “คนจนเมือง”
  2.  ความเข้าใจใน “การด้นชีวิต” ของคนจนเมืองทั้งเก่าและใหม่
  3. ภาพ “ลวงตา” ของการพัฒนาเมือง
  4. สังคมเมืองที่ “แยกส่วน” (Fragmented Society)
  5. การสร้างสรรค์ความเป็นธรรม : สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง (The Right to the City)

ความสลับซับซ้อนของคนจนเมืองที่ปรากฏชัดเจนในงานวิจัยของทุกพื้นที่คือ ความหลากหลายของคนจนเมือง ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เป็นคนสลัม ชุมชนเก่า ชุมชนใหม่ คนจนรุ่นเก่า คนจนรุ่นใหม่ คนชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ ความหลากหลายเหล่านี้กระจายอยู่ในทุกภูมภาคและเป็นภาพซ้อนกันของคนจนที่มีหลายระนาบ  

อรรถจักร์กล่าวว่า เราไม่สามารถเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็นคนจนเมืองได้เหมือนกันหมด แม้ว่าเราจะจัดกลุ่มให้เขาเป็นคนจนเมือง เนื่องจากชีวิตคนจนเมืองมีความซับซ้อนและสภาวะของการไหลเลื่อนเข้าออกระหว่างชนบทกับเมืองอยู่ภายในนั้น และยังมีการไหลเลื่อนแบบข้ามชาติของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาเป็นแรงงานในทุกพื้นที่    

ความหลากหลายและการไหลเลื่อนของคนจนเมือง ทำให้สังคมไทยจำเป็นต้องเข้าใจปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเในมิติที่สลับซับซ้อนมากขึ้น โดยโครงการคนจนเมืองพยายามชี้ให้เห็นว่า หากเราจะจัดการกับภาวะการไหลเลื่อนของคนจนเมืองทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติ เราจะต้องคิดและคำนึงถึงความซับซ้อนและการไหลเลื่อนอะไรบ้าง

ต่อมาความเข้าใจใน “การด้นชีวิต” ของคนจนเมืองทั้งเก่าและใหม่ คนจนเมืองรุ่นเก่าซึ่งเข้ามาต่อสู้ชีวิตในเมืองเป็นระยะเวลานานสามารถสร้างสร้างสรรค์แบบแผนชีวิตบนฐานของความสามารถที่พวกเขามี ถือเป็นการด้นชีวิตบนทักษะของตนเองและไหลเลื่อนไปตามเงื่อนไขชีวิตที่เปิดโอกาสให้พวกเขา โดยคนจนเมืองรุ่นเก่าจำนวนหนึ่งสามารถขยับฐานะตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการผลิตไม่เป็นทางการได้

นอกจากนี้คนจนเมืองรุ่นเก่ายังสามารถขยับฐานะการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยของตนเองได้ในทุกภูมิภาค เงื่อนไขสำคัญที่เป็นเช่นนั้นได้เพราะ “รัฐอาจจะยังไม่รังแกเขามากนัก” ขณะที่คนจนเมืองรุ่นใหม่ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นลูกหลานของคนจนรุ่นเก่า แม้ว่าคนรุ่นนี้จะมีการศึกษาสูงขึ้น แต่คนจนเมืองรุ่นใหม่ยังคงเป็นคนทำงานในระดับการใช้แรงงานหรือเป็นพนักงานบริษัทระดับล่างที่ไม่สามารถขยับฐานะตัวเองได้

การทำความเข้าใจการด้นชีวิตบนเงื่อนไขของคนจนเมืองจะนำไปสู่การความเข้าใจความหมายและความสำคัญของ “ภาคการผลิตไม่เป็นทางการ” การศึกษาในตะวันตกชี้ว่า ภาคการผลิตไม่เป็นทางการสามารถลดความยากจนในสังคมลงได้ โดยมูลค่าการผลิตของภาคการผลิตไม่เป็นทางการที่เกิดขึ้นจากการด้นชีวิตของคนจนเมืองรุ่นเก่านั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ระบุว่า มูลค่าการผลิตของภาคการผลิตไม่เป็นทางการสูงถึง 43.8 เปอร์เซ็นต์ของ GDP และงานศึกษาของธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2557 ห่างกัน 10 ปียังพบว่า มูลค่าการผลิตของภาคการผลิตไม่เป็นทางการสูงขึ้นจนไปแตะร้อยละ 60 -70 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

สะท้อนว่า เศรษฐกิจในภาคการผลิตไม่เป็นทางการที่คนจนเมืองเกินครึ่งร่วมเข้าไปสร้างสรรค์อยู่นั้นมีส่วนสำคัญของ GDP เป็นตัวค้ำยันเสาหนึ่งของเศรษฐกิจมวลรวม และในทางสังคมวัฒนธรรมภาคการผลิตไม่เป็นทางการยังเป็นการหล่อเลี้ยงผู้คนในสังคมจำนวนมหาศาลทั้งในเมืองและชนบทตามการไหลเลื่อน

“เงินที่ได้จากภาคการผลิตไม่เป็นทางการในเมืองไหลไปสู่ชนบท ทำให้เกิดการผลิตในชนบทเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น”

ดังนั้น ภาคการผลิตไม่เป็นทางการจึงเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงผู้คนมากมายในนานของเครือญาติหรืออะไรก็ตามแต่ ทั้งในเมืองและชนบท เนื่องจากภาคการผลิตไม่เป็นทางการไม่ใช่การผลิตที่เป็นปัจเจกชน หากแต่ยังเป็นการผลิตที่มีความสัมพันธ์ของเครือญาติและอื่นๆ ถือเป็นตาข่ายที่รองรับวิกฤตทางเศรษฐกิจ ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 และวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน  

นอกจากนี้งานวิจัยทุกชิ้นในโครงการคนจนเมืองยังชี้ให้เห็น “ภาพลวงตา” ของการพัฒนาเมือง เมืองถูกทำให้เป็นสินค้าโดยการวาดภาพว่าจะนำความผาสุกมาให้ การพัฒนาเมืองหรือการมุ่งที่จะสร้างเมืองให้สวยงามถูกจริตชนชั้นกลางล้วนแล้วแต่เป็นภาพลวงตา เพื่อทำให้คนจำนวนมากชื่นชมกับความสวยงามของเมืองที่ถูกวาดภาพขึ้น ทั้งที่ลึกลงไปแล้วซ่อนไว้ด้วยการแสวงหาผลกำไร  

“เมืองที่ถูกทำให้เป็นสินค้าและถูกจริตชนชนชั้นกลางเหล่านี้ เบียดขับคนจนเมืองออกไปจากพื้นที่ในการด้นชีวิต คนจนจำนวนมากเริ่มหาโอกาสในการขยับตัวเองขึ้นมาสู่การเป็นผู้ประกอบการในภาคการผลิตไม่เป็นทางการได้น้อยลง”

อรรถจักร์ยังกล่าวเตือนชนชั้นกลางว่า เมืองที่สวยงามและถูกทำให้เป็นสินค้าจะกีดกันชนชั้นกลางที่เป็นคนส่วนใหญ่ของเมืองให้กลายเป็นแค่ผู้ชมความสวยงามของเมือง ผลกระทบจากการเป็นเมืองสวยงามโดยไม่คำนึงถึงผู้คนในมืองไม่ได้ส่งผลเฉพาะคนจนเมือง แต่ชนชั้นกลางเองก็จะได้รับผลกระทบด้วย

การปล่อยให้การพัฒนาเมืองเดินไปตามแบบแผนของเมืองสวยงามที่ถูกทำให้เป็นสินค้าและถูกจริตชนชนชั้นกลาง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลายเมืองจะทำให้เมือง “แยกส่วน” กันมากขึ้น ข้อมูลเชิงปริมาณซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า การใช้ชีวิตของคนจนเมืองฉีกขาดออกจากคนอื่นๆ ในเมือง ทั้งวิถีชีวิตและเวลาในการทำงานของคนจนเมืองไม่เหมือนกับชนชั้นกลางในเมือง คนจนเมืองจำนวนมากแทบจะไม่เคยเดินห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หลายคนซื้อของใช้ตามตลาดนัด ตลาดสด โลตัส หรือ โลตัส express ฯลฯ  

“ชีวิตที่แยกส่วนเช่นนี้ถูกทำให้ฉีดขาดออกจากกัน ทั้งในเวลาว่างและความคิดความฝันในชีวิต การถูกแยกส่วนเหล่านี้ทำให้ผู้คนไม่สามารถมองเห็นกันได้อย่างเข้าอกเข้าใจ ความเดือดร้อนรำคาญระหว่างกันก็อาจปะทุเป็นความรุนแรงได้ ถ้าหากเราปล่อยให้เมืองเดินไปแบบนี้โดยไม่คิดให้รอบครอบ โดยไม่คิดเริ่มต้นจากการเข้าใจชีวิตคนจนเมือง เรากำลังจะปล่อยให้เมืองเดินไปสู่การเป็นสังคมอันตรายมากขึ้น”

อรรถจักร์ขยายความคำว่า สังคมอันตราย คือสังคมที่ผู้คนอยู่ในภาวะเสี่ยงตลอดเวลา ซึ่งในปัจจุบันสังคมเมืองในไทยก็กำลังเป็นเช่นนั้น และจะนำไปสู่การเกิดความรุนแรงในอนาคตต่อไป

สิ่งสำคัญที่โครงการวิจัยชุดนี้ได้ค้นพบและต้องการทำให้เกิดขึ้นมากที่สุดคือ การการสร้างสรรค์ความเป็นธรรมหรือสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง (The Right to the City) เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้คนที่มีชีวิตร่วมกันอยู่ในเมือง ทุกคนในเมืองควรมีสิทธิร่วมกันในการกำหนดความเป็นไปของเมืองที่พวกเขาอยู่ เพราะเมืองสัมพันธ์ต่อทุกชีวิต คนจนเมืองก็คือคนหนึ่งที่หล่อเลี้ยงเมือง ดังนั้น เมืองจึงจำเป็นต้องมองเห็นชีวิตและความหมายของคนจนเมือง ให้คนจนเมืองมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดชีวิตของเมือง ถ้าหากชนชั้นกลางมองเห็นและตระหนักถึงเรื่องนี้ เราก็มีโอกาสที่จะสร้างสังคมที่งดงามในเมืองได้อย่างแท้จริง  

“เราจะทำสิ่งที่เป็นกรอบความคิดใหญ่ที่สำคัญมากๆ คือเมืองสำหรับผู้คน ไม่ใช่เมืองสำหรับทำกำไร เราไม่ได้มาแค่ศึกษาว่าคนจนเมืองคือใคร แต่เราอยากจะบอกชนชั้นกลางในสังคมและบอกสังคมทั้งหมดว่า พวกคุณอยากจะสร้างสังคมที่งดงามหรือไม่ คุณต้องเข้าใจตรงนี้”

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

โครงการคนจนเมืองได้เสนอข้อเสนอเชิงนโยบายระดับพื้นที่และข้อเสนอต่อคนจนเมืองทั่วประเทศ ดังนี้

ข้อเสนอเชิงนโยบายระดับพื้นที่

ข้อ 1 ความมั่นคงของชีวิต รัฐจำเป็นต้องคิดถึงเรื่องที่อยู่อาศัย บ้านเช่า การเช่าที่ดินรัฐหรือหน่วยงานราชการ ให้สลับซับซ้อนมากขึ้น

“เราไม่อาจจะคิดง่ายๆ ได้แค่การสร้างบ้านเอื้ออาทรหรือบ้านมั่นคงเท่านั้น เราต้องคิดถึงความหลากหลายของกลุ่มคนมากขึ้น”

โครงการวิจัยคนจนเมืองเสนอถึงการที่รัฐควรมีนโยบายอุดหนุนค่าเช่าแก่ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า เพื่อตอบสนองต่อปัญหาของคนจนเมืองด้านที่อยู่อาศัย

ข้อ 2 พื้นที่ทำมาหากิน รัฐต้องจัดให้มีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการประกอบอาชีพนอกระบบ เพื่อเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสให้แก่คนจนเมืองที่สามารถเปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการผลิตไม่เป็นทางการได้ เนื่องจากภาคการผลิตไม่เป็นทางการเป็นกำลังสำคัญของสังคมไทยและ GDP

ข้อ 3 การกระจายอำนาจในหลายมิติ ท้องถิ่นควรมีอำนาจในการจัดการพื้นที่ของตนที่สลับซับซ้อนมากขึ้น เพื่อทำให้เสียงของผู้ไม่มีเสียงดังขึ้น

ข้อ 4 สร้างวิสัยทัศน์ใหม่ เมืองยุติธรรมควรจะเป็นหัวใจของทุกเมือง  

ข้อ 5 ทบทวนกรอบความคิดในการพัฒนาเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ที่ไม่ให้กีดกันใครออกไปจากเมือง

ข้อ 6 จัดความสัมพันธ์ใหม่กับคนจนเมืองที่เป็นแรงงานข้ามชาติในช่วงเวลาที่ไทยกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ลูกหลานของคนไทใหญ่ที่เรียนหนังสืออยู่ในเชียงใหม่หลายคนเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก รัฐควรคิดกลไกเพื่อดึงคนที่มีศักยภาพมาทำงานในประเทศสร้างสรรค์เมืองต่อไป

ข้อ 7 ความช่วยเหลือของรัฐในช่วงวิกฤตโควิด-19 ต้องเปลี่ยนให้เสมอภาคมากขึ้น ควรกระจายความช่วยเหลือแบบคัดออก ไม่ใช่คัดเลือกคนเข้ามาแบบที่ดำเนินอยู่

ข้อ 8 ต้องศึกษาถึงการด้นชีวิตของผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการผลิตไม่เป็นทางการให้ชัดเจนขึ้น และสร้างสรรค์ต่อยอดโอกาสของพวกเขาต่อไป

ข้อเสนอต่อคนจนทั่วประเทศ

อรรถจักร์กล่าวว่า คนจนต้องตระหนักว่าความยากจนที่กำลังเผชิญอยู่นี้ไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะตัวของปัจเจก หากแต่เกิดมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่กำกับความจนเอาไว้ และทำให้กลายเป็นคนจนข้ามรุ่น

“คนจนข้ามรุ่นคือการพูดถึงความยากจนที่สืบทอดกันมาเป็นชนชั้น เราต้องคิดว่าเรายากจนนี้ไม่ใช่เพราะเรา การเปลี่ยนอัตลักษณ์เราเป็นคนจนแบบนี้ เราจงตระหนักว่าคือคนแบกเมือง คนเลี้ยงเมือง หรือคนเลี้ยงสังคม ถ้าหากเราคิดถึงตรงนี้เราจะทำให้เสียงของเราเพิ่มขึ้น

เราต้องทำให้เกิด Voice of the Voiceless และ Power of the Powerless”

ความเหลื่อมล้ำที่กดขี่ให้คนจนเมือง “มีชีวิตเพื่อยังชีวิต” ไปวันๆ

โครงการวิจัยคนจนเมืองพยายามทำให้เห็นว่า สังคมต้องขยายพรมแดนความเข้าใจความเหลื่อมล้ำออกไป เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเด่นชัดและทวีเพิ่มมากขึ้น

“คนจนเมืองคือกลุ่มคนที่อยู่ลำดับชั้นล่างสุดของเมือง คนจนเมืองไหลเวียนสัมพันธ์อยู่กับคนจนชนบท ทั้งหมดกลายเป็นคนสืบทอดความยากจน คนจนข้ามรุ่นคือชนชั้นผู้ยากจนในแผ่นดิน ความเหลื่อมล้ำจึงเป็นพื้นที่ที่เชื่อมระหว่างเมืองกับชนบท

ดังนั้น หากเราเริ่มคิดถึงการแก้ปัญหาคนจนเมือง เราจะสามารถโยงไปถึงความเหลื่อมล้ำอื่นๆ ได้ ความเหลื่อมล้ำทั้งหลายมันกดขี่ทำให้คนจนเมืองมีชีวิตเพื่อยั้งชีวิตไว้”

การแก้ไขปัญหาคนจนเมืองถือเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิตคนจนเมืองเท่ากับเป็นการสร้างฐานให้กับคนชนบทและสังคมไทย “การคิดแยกส่วนระหว่าความยากจนในเมืองและความยากจนชนบทไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอะไรเลย” ดังนั้นจึงต้องสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองและชนบท

“สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมืองเป็นสิทธิของพลเมืองในรัฐที่เป็นธรรม”  อรรถจักร์ สรุปย้ำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net