Skip to main content
sharethis

ส.ส.จิราพร พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นจี้ ‘ประยุทธ์’ ชี้แจงเรื่องข้อตกลงการเจรจากับ ‘คิงส์เกต’ ข้อพิพาทเมืองทองอัครา จ.พิจิตร แลกยุติคดี รัฐประเคนอะไรไปบ้าง หรือกลัวศาลอนุญาโญโตตุลาการตัดสินว่า ม.44 เป็นกฎหมายไม่ชอบธรรมของคณะรัฐประหาร และต้องถูกสอบภายหลัง

 

18 ก.พ. 65 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 2 โดย ‘จิราพร สิทธุไพร’ หรือน้ำ ส.ส. ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายวันนี้ (18 ก.พ.) กรณีพิพาทเหมืองคิงส์เกต จ.พิจิตร โดยถามไปยังรัฐบาลว่า เหตุใดเหมืองทองอัคราถึงเลื่อนจากเดิม 31 ม.ค. 65 คำชี้ขาดออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมา มีการเลื่อนคำชี้ขาดไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง จึงอยากถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยว่าใครเป็นขอเลื่อน เลื่อนไปแล้วใครได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ เนื่องจากเธอตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่มีการเลื่อนอ่านคำชี้ขาด จะมีการทยอยคืนสิทธิ์ทำเหมืองทอง เพิ่มพื้นที่สำรวจแร่ทองคำ และสิทธิอื่นๆ ให้กับบริษัทคิงส์เกต บริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินงานเหมืองทอง จ.พิจิตร ทุกครั้ง

จิราพร สิทธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ขณะอภิปรายในสภา เมื่อ 18 ก.พ. 65

นอกจากนี้ หลังจากประเทศไทยถูกบริษัทคิงส์เกต ฟ้องร้องเรียกค่าชดชยกรณีประยุทธ์ใช้อำนาจมาตรา 44 ยุติการดำเนินกิจการเหมืองทองบริษัทอัครา จ.พิจิตร รัฐบาลประยุทธ์ ไม่เคยออกมาชี้แจงต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศเลยว่า ถูกฟ้องร้องประเด็นใดบ้าง และต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใด

มีกรณีคดีตัดสินที่คล้ายคลึงกันคือเหมืองทองในประเทศเวเนซุเอลา ประเมินได้ว่าถ้าประเทศไทยแพ้คดี อาจต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นจำนวนสูงถึงประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่าเป็นการคาดการณ์ไปเอง แต่ถ้าคาดการณ์ไปเองทำไมไม่ออกมาชี้แจงตัวเลขที่แท้จริง

“ฉันขอถาม พล.อ.ประยุทธ์ กลับว่า ถ้าเป็นการคาดเดาไปเอง ทำไมไม่บอกความจริงกับประชาชน ว่าสรุปแล้ว บริษัทคิงส์เกต เรียกร้องค่าเสียหายเท่าไร อะไรบ้าง หรือที่ไม่ยอมเปิดปากพูด เพราะรู้ว่าจริงๆ แล้ว ค่าเสียหายมากมายมหาศาลกว่าที่ดิฉันอภิปรายเอาไว้” จิราพร กล่าว

กรณีคิงส์เกตเปิดเผยได้ อย่าบ่ายเบี่ยง

จิราพร ระบุต่อว่า รัฐบาลอย่ามาอ้างว่าไม่สามารถชี้แจงได้ เนื่องจากเป็นเรื่องอนุญาโตตุลาการไม่ให้เปิดเผยระหว่างการพิจารณาข้อพิพาท แต่ถ้าอ่านแถลงการณ์ของ บ.คิงส์เกต ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ระบุว่า แม้ว่าการพิจารณาคดีจะต้องเก็บเป็นความลับก่อนมีคำชี้ขาด เว้นแต่ว่าการเปิดเผยนั้นเป็นไปตามการทำหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น การที่บริษัทคิงส์เกต ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับผู้ถือหุ้น หรือบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลในการชี้แจงกับประชาชน ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะมาบ่ายเบี่ยงไม่ตอบไม่ได้ เพราะมีข้อยกเว้นระบุไว้อยู่

ปัจจุบัน อนุญาโตตุลาการพิจารณาคดีความเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ 12 ก.พ. 63 และพร้อมออกคำชี้ขาดแล้ว แต่มีการเลื่อนออกไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น นายกฯ ต้องตอบทุกคำถามโดยไม่มีการหลีกเลี่ยง 

“เวลา พลเอกประยุทธ์ใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา เขาไม่ได้ฟ้องพลเอกประยุทธ์ เขาฟ้องประเทศไทย คนไทยทุกคน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ รวมถึงท่านประธาน ทุกคนตกเป็นจำเลยร่วมกัน ทำไมเจ้าของภาษี เจ้าของงบประมาณแผ่นดินประเทศไทยนี้จะรู้ไม่ได้เขาฟ้องตัวเองเรื่องอะไร และต้องจ่ายเป็นจำนวนเท่าไร” ส.ส.เพื่อไทย คนเดิม กล่าว 

ประเคนแลกยุติคดี

จิราพร ระบุต่อว่า ฉากทัศน์การออกคำชี้ขาดกรณีเหมืองทองอัครา สามารถแบ่งออกได้ 3 แนวทางตามที่ 2 ฝ่ายร้องขอ คือ 1) ในกรณีที่ 2 ฝ่ายประนีประนอมกัน อนุญาโตตุลาการจะไม่มีการชี้ขาดว่าฝ่ายไหนถูกหรือผิด จะนำข้อตกลงประนีประนอมยอมความมาบันทึกไว้ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามยอมความก็จะสามารถนำไปใช้บังคับคดีได้ 2) ออกคำชี้ขาดข้อพิพาทในบางส่วนบางประเด็น แล้วเก็บข้อพิพาทที่เหลือไว้ชี้ขาดในภายหลัง และ 3) ออกคำชี้ขาดข้อพิพาททั้งหมด ชี้ขาดใครถูกใครผิด

ถ้าประเทศไทยเลือกสู้คดีถึงที่สุด ไทยมีโอกาสแก้คดีสูงมาก และไทยจะต้องจ่ายสิ่งที่เรียกว่า ค่าโง่ ไม่ว่าจะในรูปแบบเงิน ทองคำ หรือทรัพยากรประเทศ ซึ่งตรงกับแถลงการณ์ของ บ.คิงส์เกต ที่ต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 64 ระบุว่า คิงส์เกต ยืนยันว่ามีโอกาสที่จะได้ผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จจากอนุญาโตตุลาการ หากการเจรจากับประเทศไทยไม่สามารถสรุปผลสำเร็จได้ 

“คนที่ต้องรับผิดชอบคือประยุทธ์ หรือประเทศ ประยุทธ์ที่เคยประกาศว่า จะรับผิดชอบเองโดยควักเงินในกระเป๋าจ่าย จะเอางบประมาณแผ่นดินไปจ่าย เพราะแค่ค่าทนาย 700 กว่าล้าน ก็เอางบประมาณแผ่นดินไปสู้คดี ช่วยตอบชัดๆ ให้สภาแห่งนี้ได้ทราบหน่อย” จิราพร ระบุ

ต่อมา จิราพร ขอสอบถามว่า ประยุทธ์เปิดทางให้ บ.คิงส์เกต นำผงเงิน ผงทองคำ ที่ถูกอายัดไว้ออกไปขาย การให้สิทธิ์สำรวจแร่กว่า 4 แสนไร่ และมีรออนุมัติอีก 6 แสนไร่ การให้สิทธิ์ต่อสัมปทานบัตร 4 แปลง เป็นส่วนหนึ่งของการประนีประนอมยอมความหรือไม่ ถ้าตอบว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประนีประนอมยอมความ ทำไมการดำเนินคดียังไม่ยุติ และแม้คดียังไม่ถึงที่สุด แต่รัฐบาลก็ไปเปิดเหมืองทองให้คิงส์เกตทำต่อแล้ว

“มันคืออะไรที่ข้อพิพาทในพื้นที่ 3,000 กว่าไร่ ยังไม่ยุติ ตอนนี้นอกจากจะได้สิทธิพื้นที่เดิม ยังได้สิทธิ์ใหม่เพิ่มเติม เท่ากับใช้สมบัติเฉียด 1 ล้านไร่ เพื่อจ่ายค่าโง่ ใช้ ม.44 ปิดเหมืองทองอัครา มันเป็นไปได้ยังไง ช่วยตอบให้ชัดๆ หน่อย ถ้ายืนยันว่าการให้ตามรายการข้างต้น เป็นการให้ตามกฎหมายปกติ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเจรจาประนีประนอมยอมความ ถ้าประยุทธ์ ออกมาให้ข่าวว่า การเจรจาประนีประนอมกับบริษัทคิงส์เกต มีแนวโน้มจะจบลงด้วยดี ไทยให้อะไรเขา เขาถึงยอมประนีประนอมยอมความด้วย ไม่มีที่ไหนในโลกที่โจทก์จะยอมประนีประนอมยอมความ และถอนฟ้องกลับไปฟรี โดยที่ไม่ได้อะไรกลับไปเลย” ส.ส.เพื่อไทย กล่าว 

ส.ส.'จิราพร' พรรคเพื่อไทย หยิบยกแถลงการณ์ของบริษัทคิงส์เกต ขึ้นมาในที่ประชุม เพื่อประกอบการอภิปรายเมื่อ 18 ก.พ. 65

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของบริษัทคิงส์เกต เมื่อ 23 ก.ย. 64 เผยแพร่บนเว็บไซต์ เป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่ามีการเจรจายอมความกันระหว่างรัฐไทยกับบริษัทคิงส์เกต 

แถลงการณ์ตัวเดิมของ บ.คิงส์เกต เผยว่า คิงส์เกต และรัฐบาลไทย ร้องขออนุญาโตตุลาการ เลื่อนอ่านคำชี้ขาดไปยังวันที่ 31 ต.ค. 64 เพื่อขยายเวลาสั้นๆ ให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้เจรจาหาข้อยุติ ข้อพิพาทร่วมกัน และบริษัทคิงส์เกตได้เจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อหาข้อตกลง ซึ่งต้องทำตามขั้นตอนมีทั้งหมด 11 รายการเจรจา เช่น การให้ใบอนุญาตและคำขอใบอนุญาตที่จำเป็นในการดำเนินการเหมืองทองคำชาตรี การต่ออายุการอนุมัติใบคำขออนุญาตที่สำคัญ การให้สิทธิและการลดหย่อนภาษีจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การเข้าถึงเงินทุนเพื่อการพัฒนาปรับปรุง การขยายเหมือง การพัฒนาโรงงานผลิตทองคำในไทยที่ได้รับการยอมรับระดับสากล และอื่นๆ

“พล.อ.ประยุทธ์ คืนเหมืองให้กับต่างชาติ สรุปปิดเหมืองไปแล้ว ประเทศเสียหายไปแล้ว ต้องคืนสิทธิ์ให้เขาอยู่ดี กลายเป็นว่าสิทธิที่ไทยต้องเสียให้บริษัทคิงส์เกต ในการประนีประนอมยอมความมหาศาล อาจมากกว่าเม็ดเงินและทองคำในกรณีที่แพ้คดีเสียอีก” ส.ส.จิราพร กล่าว 

ให้พื้นที่ทับซ้อนอุทยาน (?)

จิราพร เผยว่า ถ้าเข้าไปดูในรายละเอียด การให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ เกือบ 4 แสนไร่ ให้ประธานบัตรทำเหมือง เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.เหมืองแร่ 2560 มาตรา 17 วรรค 4 ระบุว่า พื้นที่ที่จะกำหนดเป็นแหล่งแร่ เพื่อการทำเหมือง ต้องไม่ใช่เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยกฎหมายอุทยานแห่งชาติ เขตสงวนคุ้มครองสัตว์ป่า เขตพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่า เขตความมั่นคงแห่งชาติ และอื่นๆ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า พื้นที่ที่ยกให้ บ.อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ทับซ้อนกับพื้นที่เหล่านี้หรือไม่

ทั้งนี้ พื้นที่ที่บริษัทคิงส์เกต ร้องขอสัมปทานเหมือง และขออาชญาบัตรสำรวจแร่ค้างไว้ ราว 6 แสนไร่ และกำลังรออนุมัติอยู่นั้น เป็นพื้นที่แร่ทองคำ ชื่อ ‘แหล่งสุวรรณ’ และ ‘แหล่งโชคดี’ ทั้ง 2 แหล่งนี้มีเนื้อที่ 250 ไร่ อยู่ห่างจากแหล่งทองชาตรีไปทางเหนือ ประมาณ 10-30 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าเป็นเขตอำเภอเนินมะปราง จ.พิษณุโลก และแหล่งทองทั้งสองแห่งทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย   

จิราพร จึงฝากคำถามไปยังฝากรัฐบาลว่า ทางคิงส์เกต ขอมาแบบนี้ ทางรัฐบาลจะยกพื้นที่ทำเหมืองทองที่มีความทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติหรือไม่ 

กลัวการตัดสิน ม.44

ข้อพิพาทระหว่างบริษัทคิงส์เกต และราชอาณาจักรไทย จุดศูนย์กลางของปัญหาเป็นเรื่องที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้กฎหมาย ม.44 ระงับการทำเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร ของบริษัทอัครา ซึ่งคิงส์เกต ฟ้องร้องว่า การโอนกิจการมาเป็นของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อข้อตกลงเขตเสรีการค้าไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มาตรา 912 คิงส์เกตจึงได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ชั้นอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมาจากการใช้ ม.44 ไปปิดเหมือง ขัดต่อข้อตกลง จึงได้มีการฟ้องร้อง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับข้อตกลง 11 รายการ ที่ไทยและคิงส์เกตตกลงกันอยู่ 

รวมถึงถ้าดูใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ 2545 มาตรา 43(4) ถ้าอนุญาโตตุลาการ มีการออกคำชี้ขาด และตัดสินชี้ขาดในประเด็นที่เกินกว่าข้อพิพาท ส่วนที่เกินมา ไม่สามารถบังคับใช้กับศาลไทย ดังนั้น ถ้านำเอาข้อตกลง 11 รายการไปใส่ในคำชี้ขาด คำตัดสินชี้ขาดจะกลายเป็นโมฆะ หรือถูกยกเลิกทันที ดังนั้น การตกลงประนีประนอมยอมความ 11 รายการ มีเป็นการถูกหลักการกระบวนการกฎหมายภายในประเทศไทยหรือไม่ 

นอกจากนี้ จิราพร ถามประยุทธ์ต่อว่า ที่ไม่อยากให้มีการดำเนินคดี เพราะว่ารัฐบาลกังวลว่า หากมีคำตัดสินออกว่า ม.44 เป็นกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมทางการเมือง ก็จะเข้าข่ายเป็นกลุ่มองค์กรอาชญากรรม ตามนิยามข้อที่ 2 ของอนุสัญญาสหประชาชาติ เพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งลักษณะองค์กร ดังนั้น การใช้มาตรา 44 อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกตีความเป็นองค์กรอาชญากรรม กลายเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารคนไทยคนแรก ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ทำให้มีการเจรจาถอนฟ้อง

จิราพร กล่าวอีกว่า หากการตัดสินมาตรา 44 ว่าผิด จะมีอาฟเตอร์ช็อกต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลทั้งคณะ คือ หากมาตรา 44 ผิดพลาด และรัฐบาลยังพยายามเอาทรัพย์สินและประเทศประกันตัวเองออกจากคดี หากไทยสามารถเจรจาประนีประนอมยอมความโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนกกฎหมาย จะกลายเป็นความผิดพลาดร้ายแรงซ้ำสองสร้างภาระประเทศไม่มีที่สิ้นสุด หากไม่แสวงหาความจริงได้ ขอให้ทุกคำถาม ประทับอยู่ในหัวใจทั้งประเทศ พรรคเพื่อไทยไม่มีวันลืม แสวงหาข้อเท็จจริงทุกช่องทาง นำความจริง ตีแผ่เบื้องหลัง หากการเจรจายอมความมมีพฤติกรรมไม่สุจริต มีข้อแนะนำเดียว คือ เตรียมทีมทนายในและต่างปะเทศไว้ให้ดี

ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปรายของ ส.ส.จิราพร ได้มี สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.จังหวัดชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ ฝั่งรัฐบาล ลุกขึ้นประท้วงว่า ห้ามไม่ให้นำเอกสารใดๆ มาอ่านให้ที่ประชุมฟังโดยไม่จำเป็น แต่ประธานสภาตอบว่า เป็นตัวเขาเองที่อนุญาตให้นำเข้ามาได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net