ก้าวไกล จี้ ทปอ.ช่วย นร.ติดโควิดหรือกักตัวให้ได้สอบ TCAS-ถาม ทส.ปมใช้สารเคมีน้ำมันรั่วระยอง

วาโย ส.ส.ก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปราย แนะภาครัฐหามาตรการช่วยเหลือ นร.ที่ติดโควิด-19 หรือต้องกักตัว สอบเข้ามหาวิทยาลัย พร้อมจี้ รมว.ทส. ตอบเรื่องปริมาณน้ำมันรั่ว จ.ระยอง และทำไมต้องใช้สารเคมีสลายคราบน้ำมันเยอะเกินสัดส่วน เพราะมีผลเสียตกค้างทะเลไทย ด้านวราวุธ เผยใช้เยอะ เพราะรีบกำจัดคราบน้ำมัน ยันไม่เคยปิดบังข้อมูล

 

18 ก.พ. 65 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 2 

วาโย อัศวรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายทั่วไป โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประเด็น คือ ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ TCAS และน้ำมันรั่วที่หาดมาบตาพุด จ.ระยอง

วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.ก้าวไกล

สืบเนื่องจากกรณีผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ร่วมกันโพสต์ข้อความติดแฮชแท็ก #แบนทปอ และวิจารณ์การทำงานการไขข้อข้องใจของแอดมินเพจ Mytacas.com ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการติดต่อประชาสัมพันธ์ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือเรียกชื่อเล่นว่า TCAS ซึ่งเป็นระบบสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2561 โดยมีผู้ออกแบบระบบคือที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ทวีตข้อความพร้อมแนบรูปภาพที่ตนส่งข้อความหรือคอมเมนต์ถามข้อมูลในเพจ Mytcas.com เกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องการสอบ เช่น "หากจำเป็นต้องกักตัวช่วงวันสอบจะทำอย่างไร", "หากติดโควิดช่วงวันสอบจะทำอย่างไร", "หากไปสอบแล้วติดโควิดมา จะทำอย่างไร", "สามารถเลื่อนสอบออกไปก่อนได้หรือไม่ เพราะกังวลการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน" หรือ "หากไม่ได้ไปสอบเนื่องจากติดโควิด ทาง ทปอ. สามารถคืนเงินค่าสมัครสอบให้ได้หรือไม่" เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แอดมินเพจ Mytcas.com กลับตอบคำถามเหล่านั้นอย่างไม่ชัดเจน เช่น "ต้องกักตัว และสมัครสาขาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบ", "ติดก่อนสอบกักตัวเอง ติดจากการสอบควรไปรักษาและแจ้ง ทปอ. เพื่อเตือนคนอื่นที่เสี่ยงไปด้วยครับ", "สอบปีหน้า หรือไม่ก็เลือกสาขาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบครับ", "การเลื่อนสอบสอบไม่เป็นเหตุให้ Omicron หายไปจากประเทศไทย" หรือ "กระบวนการคืนเงินสร้างภาระมากเกินควรครับ" เป็นต้น และในส่วนของการคืนเงินค่าสมัครสอบนั้น แอดมินเพจได้ชี้แจงว่า "ค่าสมัครถูกนำไปใช้ในการจัดสอบ พัฒนาระบบ IT และใช้ใน ทปอ. เพื่อสังคมครับ ข่าวสารที่ต้องการคืออะไรบ้าง รบกวนถามได้ทางช่องทางต่างเลยนะครับ การกำหนดนโยบายที่สำคัญผ่านที่ประชุมกรรมการดำเนินงานก่อนทุกครั้ง"

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งได้บันทึกภาพหน้าจอแสดงข้อความที่มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียคนหนึ่งเข้าไปสอบถามข้อมูลในเพจ Mytcas.com ว่าทำไมจึงไม่จัดหา ATK ให้นักเรียนที่สมัครสอบได้ตรวจหาเชื้อก่อนเข้าห้องสอบ ซึ่งแอดมินเพจตอบว่า "สร้างภาระมากครับ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วาโย อภิปรายต่อว่า นอกจากปัญหาเรื่องการตอบคำถามแล้ว มาตรการควบคุมโควิด-19 ในสถานที่สอบคัดเลือกนั้นก็ไม่รัดกุมเพียงพอ เช่น มีจุดคัดกรองเป็นอุณหภูมิในสนามสอบ แต่กลับไม่มีการแจกชุดตรวจโควิด-19 ชนิด ATK ให้กับผู้สมัครสอบล่วงหน้า TCAS รวมถึงการจัดแยกสนามสอบออกเป็น 2 ประเภท โดยห้องที่ 1 สำหรับผู้ที่อุณหภูมิร่างกายสูง และห้องที่ 2 สำหรับนักเรียนที่มีอุณหภูมิร่างกายต่ำ 

ส.ส.พรรคก้าวไกล มองว่า การจัดการของ ทปอ. จะส่งผลให้สนามสอบกลายเป็นคลัสเตอร์กระจายเชื้อโควิด-19 เนื่องจากเมื่อ ทปอ. ไม่มีมาตรการช่วยเหลือนักเรียนที่ติดโควิด-19 และกักตัวให้มีโอกาสสอบ หรือสอบทีหลัง นักเรียนเหล่านั้นจะไม่กล้าบอกว่าตัวเองติดโควิด-19 และจะมาสอบร่วมกับคนอื่นๆ กลายเป็นมีนักเรียนที่ติดโควิด-19 และไม่ติดเชื้อนั่งปนกันในห้องเดียว ส่งผลให้เชื้อไวรัสกระจายเป็นวงกว้าง 

แนะทำสนามสอบกึ่ง รพ.สนาม-สอบ 2 รอบ ช่วย นร.ติดโควิด

ดังนั้น ส.ส.ก้าวไกล เสนอมาตรการว่า ยกเลิกการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าห้องสอบ และหันมาแจก ATK ให้นักเรียนทำการตรวจล่วงหน้า และนำมายืนยันเพื่อเข้าสู่สนามสอบในวันสอบ

ทปอ. ต้องส่งข้อมูลและข่าวสาร sms หรือทางอีเมลของผู้สมัครสอบ TCAS 65 ให้มีการเฝ้าระวังตัวเอง และให้กักตัวเองเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ก่อนมีการสอบ

ให้มีการจัดสนามสอบที่เป็นกึ่งโรงพยาบาลสนาม ไม่ต้องใช้แพทย์จำนวนมาก แต่มีพยาบาลคอยดูแล สำหรับนักเรียนที่ได้รับผลยืนยันจากชุดตรวจโควิด-19 ว่าเป็นบวก แต่ถ้าอาการไม่มีก็แยกไปสอบ แต่ถ้าเป็นนักเรียนที่ป่วยอาการหนัก ให้ ทปอ.จัดสอบใหม่ภายหลังอีกรอบ ถ้ากลัวเด็กที่สอบรอบหลังจะมีเวลาอ่านหนังสือเยอะกว่าคนอื่น และไม่ยุติธรรมกับนักเรียนที่สอบรอบแรก แนะนำให้มีการจัดสอบภายใน 1-2 เดือน 

ถ้ากลัวว่าจะมีข้อสอบหลุด แนะนำให้แยกข้อสอบออกเป็น 2 ชุด ชุดแรกสำหรับการสอบรอบแรก และชุด 2 สำหรับการสอบรอบ 2 

ปริมาณน้ำมันก็ไม่รู้-สารก็ใช้ไม่ถูก

นอกจากประเด็นด้านการศึกษา วาโย ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายทั่วไปเรื่องเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่อ่าวมาบตาพุด จ.ระยอง 

วาโย อภิปรายโดยทวงถามไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ทำไมต้องใช้สารเคมีจำนวนมากในการสลายคราบน้ำมัน เนื่องจากศิริชัย ธรรมวานิช สาขาสมุทรศาสตร์เคมี ภาควิชาวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า การสลายคราบน้ำมันในทะเล ต้องเลือกชนิดให้ถูกต้องกับชนิดน้ำมัน และต้องเลือกสัดส่วนให้เหมาะสม ไม่น้อยหรือมากเกินไป เพราะถ้าใช้น้อยเกินไป น้ำมันไม่แตกตัว หรือมากเกินไป ไม่มีประสิทธิภาพ 

แต่จากกรณีล่าสุดพบว่า ไม่นานมานี้ มีน้ำมันรั่วเพิ่มอีก 5,000 ลิตร มาขอสารเคดี ดิสเพอร์แซนต์ (dispersant) จากกรมควบคุมมลพิษ หรือ คพ. 5,000 ลิตร อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ จึงไม่อนุมัติ สัดส่วนประมาณ 1 ต่อ 1 อาจทำให้สารเคมีสลายคราบน้ำมันได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การใช้สารเคมีสลายคราบน้ำมัน ต้องใช้เป็นสัดส่วน 1 ต่อ 10 หรือ 1 ต่อ 30 แล้วแต่ชนิด 

ส.ส.ก้าวไกล จึงเรียนถามว่า อยากให้ช่วยชี้แจงปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วทั้งหมดมีปริมาณเท่าใดกันแน่ และทำไมต้องใช้สารเคมีจำนวนมากขนานนั้น หรือรั่วเกินกว่าที่บอก และสารเคมีที่ลงทะเลจำนวนมากจะส่งผลกระทบอย่างไร

จากการหาข้อมูลของ ส.ส.ก้าวไกล พบว่า สารซิลิกอนที่เคยถูกนำมาใช้กำจัดคราบน้ำมันมีผลเสียชั่วคราว อาจไม่ทำให้เป็นมะเร็ง และจากงานวิจัยสากลเผยด้วยว่า สารดิสเพอแซนด์ที่ใช้สลายคราบน้ำมันมีผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ทำให้เป็นมะเร็งได้ และสารดิสเพอแซนด์ที่ใช้จับกับน้ำมัน ยังทำให้น้ำทะเลมีพิษอยู่ แม้นว่าสารพิษจะลดลงแล้วก็ตาม เพราะฉะนั้น ถ้าเทเยอะเกิน มันจะทำให้มีน้ำมันตกค้าง และก่อเกิดผลเสียต่อประเทศไทยเพราะมันอยู่เป็น 10 ปี 

ใช้เยอะ เร่งกำจัดน้ำมัน

สำนักข่าว Voice TV รายงานวันนี้ (18 ก.พ.) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงกรณีคำถามของวาโย ส.ส.ก้าวไกลว่า หากได้ฟังตอนที่ตนตอบกระทู้ ส.ส. ก็จะจำได้ หรือตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 ม.ค. 65 น้ำมันรั่วในเวลา 22.00 น. และหยุดในเวลาเที่ยงคืน ตอนนั้นมืดจึงไม่มีใครเห็นว่าน้ำมันรั่วที่ใดบ้าง และบูมที่เตรียมมาก็ใช้ไม่ทัน เนื่องจากบริษัทมาแจ้งตอนที่น้ำมันหยุดไหลแล้ว การใช้สารดิสเพอร์แซนต์จำนวนอัตรา 1 ต่อ 20 หากจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต้องนำบูมน้ำมันมาล้อมน้ำมันทั้งหมดที่รั่ว จึงจะใช้สารดิสเพอส์แซนต์ ในอัตรา 1 ต่อ 20 หรือ 1 ต่อ 10 เมื่อไม่ทราบว่าน้ำมันที่รั่วไหลออกมาลอยไปยังทิศทางใด กระแสน้ำไปทางไหน บูมที่ทำมาก็ไม่ทัน เพราะฉะนั้น จึงแก้ไขเฉพาะหน้าโดยการฉีดสารดิสเพอร์แซนต์ไปทั้งตอนกลางคืนให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ลอยขึ้นฝั่ง และต้องฉีดสารดิสเพอส์แซนต์ ฉีดเข้าไปให้ได้มากที่สุด ในที่คาดว่ากระแสน้ำจะไหลไป และตนก็ได้ตอบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการตอบกระทู้ไปเมื่อสัปดาห์ก่อนแล้ว

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ขณะที่น้ำมันนั้นจะรั่ว 50,000 หรือ 100,000 ลิตร เบื้องต้นไม่ว่าจะเป็นกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า จะไม่ยอมสามารถรอได้ว่ารั่วตรงไหน คนที่จะตอบได้ดีที่สุดคือบริษัทที่เป็นต้นเรื่อง ว่าเป็นอย่างไร เมื่อได้ข้อมูลจากบริษัทมาแล้ว ก็เอาข้อมูลตรงนั้นมาก่อนเพื่อเอามาแก้ไขสถานการณ์ และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่า สาเหตุที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นมาจากอะไร และรั่วออกมาเท่าไหร่ เมื่อบริษัทบอก 50,000 ลิตร เราก็ต้องเอาเท่าที่บริษัทบอก ไม่เช่นนั้นหากบอกว่าน้ำมันรั่วออกมา 100,000 ลิตร ก็ต้องใช้ดิสเพอร์แซนต์ ออกไป 100,000 ลิตร หรือถ้าใช้สารดิสเพอร์แซนต์ออกไปน้อยกว่านั้นก็มีปัญหาอีก ข้อมูลที่ออกมาจากบริษัทจึงต้องนำมาใช้คำนวณการใช้สาร ดิสเพอส์แซนต์ในเบื้องต้น

ขณะที่สารดิสเพอส์แซนต์ที่ใช้ เป็นสารตัวเดิมที่ใช้ในปี 2556 ซึ่งเป็นสารยี่ห้อเดิม แต่ไม่ใช่สารตัวเดิม เนื่องจากสารที่ใช้ในปีนี้เป็นเจนเนอเรชั่น 3 ซึ่งถือว่าเป็น “Food grade” มีความปลอดภัยมากกว่า สามารถย่อยคราบน้ำมันออกมาได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

ส่วนพิษของสารเคมี ในเจเนอเรชันที่ 3 นี้ เป็นคุณภาพ Food grade คุณสมบัติของไฮโดรฟิลิก กับ ไฮโดรโฟบิก ทำให้น้ำมันสามารถสลายและละลายกับน้ำทะเลได้ และเมื่อระยะเวลาผ่านไปแน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรืออะไรจะเป็นคาสิโนเจนิกที่ทำให้เกิดมะเร็ง ทั้งสิ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนอินทรีย์ในทะเลสามารถกัดกร่อนตัวน้ำมัน และสาร ดิสเพอร์แซนต์ ที่ควบรวมกันแล้ว น้ำทะเลที่มีปริมาณมากความเป็นพิษก็จะค่อยๆ สลายไป ตามขั้นตอนต่างๆ

ในช่วงท้าย วราวุธ ยังฝากไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เวลาตั้งโรงงานขึ้นมาแห่งหนึ่ง ท่านตั้งกระทู้ถามหน่วยงานไหน เวลาอยู่ในทะเลท่านตั้งกระทู้ถามหรือขออนุญาตหน่วยงานไหน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่มาเก็บกวาดปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เคยจะวิ่งหนีหรือมาแก้ตัว และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะมาต้องนั่งปิดบังว่าน้ำมันรั่วมาเท่าใด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท