Skip to main content
sharethis

พรรคก้าวไกล อภิปรายขอให้ทบทวนงบประมาณสร้างอาคารที่พักข้าราชการสภาใหม่เกือบ 1,000 ล้านบาท เหตุไม่เป็นไปตามระเบียบ - สร้างภาระผูกพันโดยไม่ผ่านมติ ครม. พร้อมขอตัดงบ ส.ว. โครงการ “เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย” 28.8 ล้านบาท ชี้ที่มาและทัศนคติขัดประชาธิปไตยเอง แต่จะมาสอนคนอื่นเรื่องประชาธิปไตยได้อย่างไร

 

23 ส.ค.2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานต่อสื่อมวลชนว่า วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการผู้สงวนความเห็น และ พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม สมาชิกพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ร่วมกันอภิปรายขอตัดลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในส่วนของมาตรา 30 หน่วยงานของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยงบประมาณการก่อสร้างอาคารที่พักข้าราชการรัฐสภาแห่งใหม่ และงบประมาณการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของวุฒิสภา

วาโย ได้อภิปรายในส่วนของงบประมาณสร้างอาคารใหม่เกือบ 1 พันล้านบาท โดยสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการเสนอขอรับงบประมาณสำหรับปี 2566 มา 49.9 ล้านบาท หรือประมาณ 5% โดยระบุว่าเป็นการตั้งงบประมาณที่ผิดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่กำหนดให้การขอเสนอรับงบประมาณ ต้องไม่ต่ำกว่า 20% ของงบประมาณทั้งหมด

ซึ่งเมื่อได้สอบถามประเด็นนี้กับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการงบประมาณแล้ว ได้รับคำตอบมาว่า ด้วยกฎหมายมีช่องว่างอยู่ให้สามารถยกเว้นได้หากมีมติคณะรัฐมนตรีออกมา แต่ทว่าจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีการขอมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรระบุว่าจะไปขอให้คณะรัฐมนตรีออกมติภายหลัง

วาโย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการตั้งงบประมาณควบคุมการสร้างเข้ามาด้วย 30 ล้านบาท และยังมีการตั้งงบประมาณสำหรับการสำรวจและออกแบบอีกราว 30 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่าโครงการทั้งหมดนี้ ยังไม่มีการออกแบบ หรือแม้แต่การสำรวจและการทำ EIA ก็ยังไม่มีเกิดขึ้น แต่กลับมีการของบประมาณในการก่อสร้างไปแล้ว

“การมีอาคารให้ข้าราชการรัฐสภาได้ใช้เป็นเรื่องที่ดี แต่การตั้งงบประมาณเพื่อสร้างอาคารควรต้องเป็นไปตามระเบียบ ไม่ใช่ทุกอย่างแหย่กันมา 2-3% บ้าง 5% บ้าง ตั้งงบฯ กันมาดูเหมือนจะน้อยๆ แต่ว่าจริงๆ ผูกพันเยอะแยะมากมายมหาศาลเป็นร้อยเท่า แล้วมาสำแดงกันแบบนี้แล้วค่อยไปขออนุญาต ทำแบบนี้ไม่ต้องมีกฎหมายก็ได้” วาโย กล่าว

ขณะที่ พริษฐ์ ได้อภิปรายขอตัดลดงบประมาณในโครงการของสำนักเลขาธิการวุฒิสภา “เผยแพร่และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” 28.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจาก ส.ว. ในรูปแบบปัจจุบันเป็นองค์กรที่มีความชอบธรรมน้อยที่สุดในทางประชาธิปไตย เพราะที่มาของ ส.ว.250 คน ในปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. อีกทั้งยังสามารถร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ เท่ากับว่า ส.ว. คนหนึ่ง มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีเท่ากับประชาชน 7 หมื่นคน หรือ ส.ว. 250 คน มีอำนาจเท่ากับประชาชน 19 ล้านเสียงรวมกัน

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมี ส.ว. บางคนที่เคยแสดงทัศนคติที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวว่าตัวเองนิยม “เผด็จการประชาธิปไตย”, การกล่าวหาว่าผู้อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัดอำนาจ ส.ว. เป็นผู้ไม่เคารพ 15 ล้านเสียงที่ลงประชามติ ขณะที่ตัวเองยกมือผ่านให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้ง, การอ้างว่า ส.ว. ไม่เคยเป็นอุปสรรคต่อการตัดกลไกสืบทอดอำนาจ ทั้งที่ตนเองขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง และการไล่ให้เยาวชนไปเรียกร้องทางการเมืองกับท้องถิ่นก่อนมาที่ระดับชาติ เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรม ที่ ส.ว. จะมามีบทบาทในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย

“Practice what you preach คือการปฏิบัติในสิ่งที่ตัวเองพร่ำสอนให้ได้ก่อนที่จะมาสอนคนอื่น หากวุฒิสภายังอยากจะของบประมาณจากภาษีประชาชนเพื่อไปสอนคนอื่นเรื่องประชาธิปไตย ผมขอชวนให้ท่านปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยให้ได้ก่อน เริ่มต้นด้วยการโหวตเห็นชอบให้กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชน ที่จะถูกเสนอในที่ประชุมร่วมรัฐสภาในเดือนหน้า ที่เสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ เพื่อให้การเลือกตั้งในประเทศเรากลับมามีความหมายและเคารพหลัก 1 สิทธิ 1 เสียงของประชาชนอย่างแท้จริง” พริษฐ์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net