Skip to main content
sharethis

สรุปแฮชแท็ก #แบนทปอ ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียเดือด แอดมินเพจ Mytcas.com ตอบคำถามไม่เคลียร์ กรณีมาตรการป้องกันโรคและความรับผิดชอบหากเกิดคลัสเตอร์สนามสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญ แอดมินชี้ 'เลื่อนสอบไม่ทำให้โควิดหาย' ผู้เข้าสอบต้องรับผิดชอบตัวเอง และการจัดหาที่ตรวจ ATK ให้ผู้เข้าสอบ 'ถือเป็นภาระอย่างมาก' ด้าน 'ส.ส.วิโรจน์ ก้าวไกล' เตรียมนำเรื่องเข้าที่ประชุม กมธ.การศึกษาวันพุธหน้า-รองเลขาฯ เพื่อไทยจี้ให้ผู้เกี่ยวข้องเปิดเวทีรับฟังและหาทางออกร่วมกัน ขณะเดียวกัน ทีม มศว (ไม่มีจุด) ล่ารายชื่อผ่าน Change.org จี้ ทปอ. แก้ปัญหาด่วน

21 ม.ค. 2565 ไทยพีบีเอส, กรุงเทพธุรกิจ และข่าวสดออนไลน์ รายงานว่าผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ร่วมกันติดแฮชแท็ก #แบนทปอ และวิพากษ์วิจารณ์การตอบคำถามตอบแอดมินเพจ Mytcas.com ซึ่งเป็นช่องทางหลักของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ใช้สื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลการสอบ TCAS (Thai University Central Admission System) หรือระบบการคัดเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ซึ่งเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 และออกแบบระบบโดย ทปอ.

แฮชแท็ก #แบนทปอ ติดอันดับ 3 ในเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 เวลา 16.47 น. มีผู้ทวิตข้อความพร้อมติดแฮชแท็กดังกล่าวกว่า 390,000 ข้อความ 
 

ไทยพีบีเอสรายงานเพิ่มเติมว่าวันนี้ (21 ม.ค. 2565) เป็นวันแรกที่เปิดรับสมัครสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญ แต่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ใช้งานทวิตเตอร์เริ่มเคลื่อนไหวและติดแฮชแท็ก #แบนทปอ มาตั้งแต่คืนวานนี้ (20 ม.ค. 2565) แล้ว โดยผู้ใช้งานทวิตเตอร์ทวีตข้อความพร้อมแนบรูปภาพที่ตนส่งข้อความหรือคอมเมนต์ถามข้อมูลในเพจ Mytcas.com เกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องการสอบ เช่น "หากจำเป็นต้องกักตัวช่วงวันสอบจะทำอย่างไร", "หากติดโควิดช่วงวันสอบจะทำอย่างไร", "หากไปสอบแล้วติดโควิดมา จะทำอย่างไร", "สามารถเลื่อนสอบออกไปก่อนได้หรือไม่ เพราะกังวลการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน" หรือ "หากไม่ได้ไปสอบเนื่องจากติดโควิด ทาง ทปอ. สามารถคืนเงินค่าสมัครสอบให้ได้หรือไม่" เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แอดมินเพจ Mytcas.com กลับตอบคำถามเหล่านั้นอย่างไม่ชัดเจน เช่น "ต้องกักตัว และสมัครสาขาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบ", "ติดก่อนสอบกักตัวเอง ติดจากการสอบควรไปรักษาและแจ้ง ทปอ. เพื่อเตือนคนอื่นที่เสี่ยงไปด้วยครับ", "สอบปีหน้า หรือไม่ก็เลือกสาขาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบครับ", "การเลื่อนสอบสอบไม่เป็นเหตุให้ Omicron หายไปจากประเทศไทย" หรือ "กระบวนการคืนเงินสร้างภาระมากเกินควรครับ" เป็นต้น และในส่วนของการคืนเงินค่าสมัครสอบนั้น แอดมินเพจได้ชี้แจงว่า "ค่าสมัครถูกนำไปใช้ในการจัดสอบ พัฒนาระบบ IT และใช้ใน ทปอ. เพื่อสังคมครับ ข่าวสารที่ต้องการคืออะไรบ้าง รบกวนถามได้ทางช่องทางต่างเลยนะครับ การกำหนดนโยบายที่สำคัญผ่านที่ประชุมกรรมการดำเนินงานก่อนทุกครั้ง"

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งได้บันทึกภาพหน้าจอแสดงข้อความที่มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียคนหนึ่งเข้าไปสอบถามข้อมูลในเพจ Mytcas.com ว่าทำไมจึงไม่จัดหา ATK ให้นักเรียนที่สมัครสอบได้ตรวจหาเชื้อก่อนเข้าห้องสอบ ซึ่งแอดมินเพจตอบว่า "สร้างภาระมากครับ"

 

ทปอ. ชี้แจงการตอบคำถามของแอดมิน ได้รับการฝึกมาแล้ว

สำนักข่าว PPTV รายงานเพิ่มเติมว่า รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบสมัครสอบ TCAS ประจำปี 2565 ให้ข้อมูลกับทีมข่าวของ PPTV ว่าแอดมินที่ตอบคำถามเป็นพนักงานประจำของ ทปอ. ที่ได้รับการฝึกฝนให้ตอบคำถามเมื่อมีคำถามตามความสงสัยเข้ามา ซึ่งคำตอบทั้งหมดผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแล้ว โดยส่วนตัวแล้ว ชาลีมองว่าแอดมินเพจตอบคำถามตามข้อเท็จจริจ แต่อาจจะมีบางส่วนที่เป็นคำถามล่วงหน้าในเหตุการณ์ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น และยังไม่มีการพิจารณามาตรการในที่ประชุมไว้

หากเป็นกรณีคำถามในเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น แอดมินจะเลี่ยงคำตอบ เช่น หากสนามสอบแรกที่จัดขึ้นเป็นคลัสเตอร์มีผู้ป่วยติดเชื้อ ควิด-19 สนามต่อไปจะมีการเตรียมพร้อมหรือจัดการอย่างไร แอดมินจึงเลี่ยงด้วยการตอบไปว่า “รอให้เกิดขึ้นก่อน” โดยชาลีกล่าวว่าทาง ทปอ. ไม่ได้จ้างแอดมินเพื่อตอบคำถามโดยเฉพาะ ทำให้การตอบคำถามอาจจะถูกใจหรือไม่ถูกใจ พร้อมขอความเห็นใจและกราบขออภัยนักเรียนทุกคน โดยเฉพาะในประเด็นการให้เลือกสมัครในสาขาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบ

ต่างประเทศจัดสอบเข้ามหา'ลัยอย่างไรท่ามกลางโควิด-19

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งที่ร่วมทวีตข้อความในแฮชแท็ก #แบนทปอ ได้ยกกรณีตัวอย่างของประเทศเกาหลีใต้ที่จัดสอบ "ซูนึง" หรือการสอบระดับชาติเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยว่าประเทศเกาหลีใต้สามารถจัดการระบบและอำนวยความสะดวกให้นักเรียนมาสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งในขณะนั้นประเทศเกาหลีใต้ยังไม่ได้เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศ และกำลังเผชิญการระบาดระลอก 3 มีผู้ติดเชื้อรวมทั่วประเทศเกือบ 60,000 ราย

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์คนดังกล่าว นำข้อมูลการนำเสนอข่าวจากสำนักข่าว PPTV HD36 เรื่องมาตรการการจัดสอบของเกาหลีใต้มาอ้างอิง โดยรายงานดังกล่าวระบุว่าในปี 2563 มีนักเรียนจำนวนกว่า 500,000 คนที่สมัครสอบ โดยนักเรียน 3,775 คนจากจำนวนทั้งหมดนี้ต้องทำข้อสอบจากสถานที่กักตัว เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ และมีอีก 35 คนที่ต้องทำข้อสอบในโรงพยาบาลเพราะติดเชื้อโควิด-19 ส่วนผู้สมัครคนอื่นๆ ที่ไม่ติดเชื้อและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสามารถมาสอบที่สถานที่จัดสอบได้แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างเคร่งครัด ได้แก่ ต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าห้องสอบ เมื่อเข้าห้องสอบมาแล้ว ผู้เข้าสอบต้องสวมหน้ากากอนามัยไว้ตลอดเวลา ข้าวของและอุปกรณ์เครื่องเขียนที่แจกให้ถูกทำความสะอาดฆ่าเชื้อ และบนโต๊ะก็มีฉากกั้นพลาสติก

ขณะเดียวกัน รายงานอีกชิ้นของ PPTV HD36 ระบุว่าในช่วงต้นปี 2563 ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศแรกที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 และกำลังเชิญการระบาดอย่างหนักได้ประกาศเลื่อนสอบ "เกาข่า" หรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยระดับชาติออกไปก่อน และกลับมาจัดสอบใหม่ในช่วงกลางปี 2563 ตามรายงานของไทยรัฐออนไลน์ ส่วนที่เวียดนามในปี 2563 สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานโดยอ้างอิงสื่อท้องถิ่นของเวียดนามที่ระบุว่าทางการเวียดนามจัดสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเดือน ส.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน โดยมีนักเรียนกว่า 900,000 คนเดินทางมาสอบที่สนามสอบทั่วประเทศและปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัด ส่วนนักเรียนอีกกว่า 26,000 คนที่ต้องกักตัวหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาสอบได้ ทางการจะจัดให้นักเรียนเหล่านั้นเข้าสอบในภายหลัง

สำหรับการสมัครสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญ ประจำปี 2565 ข้อมูลจากเว็บไซต์ mytcas.com ระบุว่าเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.-9 ก.พ. 2565 เริ่มสอบ GAT/PAT ในวันที่ 12-15 มี.ค. 2565 ประกาศผล 18 เม.ย. 2565 ส่วนวิชาสามัญเริ่มสอบ 19-20 มี.ค. 2565 ประกาศผล 20 เม.ย. 2565

 

'วิโรจน์ ก้าวไกล' เตรียมนำเรื่องเข้า กมธ.การศึกษา 26 ม.ค. นี้

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความคิดผ่านทวิตเตอร์ @wirojlak เห็นต่อกรณีการตอบคำถามของแอดมินเพจ Mytcas.com และท่าทีที่ไม่ชัดเจนของ ทปอ. ต่อมาตรการป้องกันโรคในการสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญ พร้อมระบุว่า ทปอ. น่าจะต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในเบื้องต้น เช่น แนะนำให้นักเรียนที่จะสมัครสอบในปีนี้ และผู้เข้าสอบดูแลตัวเอง แยกตัวจากที่ชุมชนหนาแน่น ก่อนวันสอบ 7 วัน มีมาตรการในการตรวจ ATK ก่อนเข้าสอบ และจัดสนามสอบในที่โล่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งเขามองว่ามาตรการเบื้องต้นเช่นนี้น่าจะป้องกันได้ในระดับหนึ่ง

 

ต่อมา เวลา 14.29 น. วิโรจน์โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เสนอมาตรการจัดสอบเบื้องต้นแก่ ทปอ. 4 ข้อ ได้แก่

  1. การประกาศข้อแนะนำ ให้ผู้เข้าสอบ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสีายงที่จะติดโรค โดยให้แยกตัวเอง ไม่ไปทำกิจกรรมในที่ๆ มีชุมชนหนาแน่น ในระยะเวลา 7-10 วันก่อนการสอบ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิในการสอบของผู้เข้าสอบทุกคน เพราะการเจ็บป่วยด้วยโรคใดๆ ก่อนการสอบก็ไม่เป็นผลดี ต่อผู้เข้าสอบอยู่แล้ว
  2. อาจขอความร่วมมือให้ผู้เข้าสอบ ตรวจ ATK ตนเอง ก่อนวันสอบ
  3. จัดสอบในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเท ปลอดโปร่ง เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรค
  4. มีมาตรการตรวจ ATK เพื่อคัดกรองผู้เข้าสอบ อาจจะสุ่มตรวจ หรือตรวจทุกคนในสนามสอบที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก หรือตรวจเฉพาะกลุ่มที่แจ้งว่ามีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ

นอกจากนี้ วิโรจน์ยังบอกอีกว่าในฐานะที่เขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เขาจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าไปหารือในที่ประชุมในวันที่ 26 ม.ค. 2565 และจะสอบถามไปยัง ทปอ. เพื่อให้เกิดความขัดเจนในเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด

'รองเลขาฯ เพื่อไทย' จี้ 'ประยุทธ์-ศธ.' เปิดเวทีหารือ 3 ฝ่ายรับฟังเสียงเด็ก กรณี #แบนทปอ

ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานว่า อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่แอดมินเพจผู้จัดการระบบสอบทีแคส (TCAS) ตอบคำถามของนักเรียนเกี่ยวกับข้อกังวลการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในช่วงของการจัดสอบ GAT/PAT ปี 2565 ในวันที่ 12-15 มี.ค. ที่จะถึงนี้ว่า การตอบคำถามของผู้จัดสอบในหลายประเด็นเป็นการผลักความผิดไปที่ตัวเด็ก ทั้งที่ข้อกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโอมิครอนในช่วงนี้ เป็นเรื่องที่ผู้จัดสอบจะต้องฉุกคิด แก้ไขและหาทางออกโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะคำถามของนักเรียนที่ว่า “หากต้องกักตัวหรือติดเชื้อก่อนวันสอบ จะทำอย่างไร” แอดมินเพจตอบคำถามว่า “ต้องกักตัว รักษาตัว อาจต้องเลือกสาขาที่ไม่ใช้คะแนนสอบ” หรือคำถามที่ว่า “ถ้าติดโควิดในสนามสอบ GAT/PAT แล้วต้องไปสอบสนามสอบในวิชาสามัญต่อ มีวิธีแก้อย่างไร” แอดมินเพจตอบว่า “ให้สอบปีหน้า หรือเลือกสาขาที่ไม่ใช้คะแนนสามัญ” เป็นต้น ซึ่งคำตอบเหล่านี้ถือเป็นการให้คำตอบที่ไม่เห็นหัวเด็กและเยาวชน ไม่มีความรับผิดชอบต่ออนาคตเด็กทั้งที่เป็นผู้จัดสอบใช่หรือไม่ เหตุใดเด็กไทยจึงต้องถูกผลักไสให้ไปสอบในปีหน้า หรือต้องเปลี่ยนไปเลือกสาขาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบ เพราะอาจเป็นสาขาที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจ ไม่มีความถนัด หรือไม่เป็นไปตามความฝันที่อยากจะเป็น

อรุณี กล่าวอีกว่า รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการต้องฟังเด็กไทยให้มากกว่านี้ หยุดมองปัญหาเพียงแค่ในระดับบน ควรเปิดช่องทางการหารือพูดคุยกัน 3 ฝ่าย ทั้งตัวแทนเด็ก ทปอ. และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกัน เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาด้านการศึกษาที่ยืดเยื้อยาวนาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบริหารจัดการสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 ที่ผิดพลาดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ไม่มีความสามารถในการระงับ ยับยั้ง หรือบริหารจัดการสถานการณ์โรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก เด็กไทยประสบปัญหาด้านการศึกษามาโดยตลอด ตั้งแต่การเรียกร้องให้เลื่อนสอบ TCAS ในปี 2564 ออกไปก่อน จนเกิดกระแส #ฟ้องศาลเลื่อนสอบ หรือกรณีการขอให้ลดค่าสอบหรือออกมาตรการช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ผู้ปกครองตกงานหรือขาดรายได้ จนมาถึงกรณีล่าสุดเกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องการสอบ GAT/PAT ในเดือน มี.ค. นี้

อรุณี กาสยานนท์
 

“หยุดมองอนาคตเด็กเป็นของเล่น หยุดผลักให้เด็กตกลงไปในหลุมบ่อแห่งล้มเหลวของ พล.อ.ประยุทธ์ กระทรวงศึกษาธิการต้องหยุดเกียร์ว่าง หันมาฟังเด็กบ้าง เพราะสุดท้ายคนที่จะนำพาประเทศไปในทิศทางไหนคือเด็ก ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ” อรุณี กล่าว

'ทีมมศว (ไม่มีจุด)' ผุดแคมเปญล่าชื่อส่ง ทปอ. เรียกร้อง 2 ข้อ จัดการปม #แบนทปอ

นอกจากข้อเรียกร้องของนักเรียนที่สมัครสอบผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงตัวแทนพรรคการเมืองแล้วนั้น ยังมีกิจกรรมการเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาการจัดสอบดังกล่าวเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด โดยทีมมศว (ไม่มีจุด) - Teamswu Maimeejut เปิดแคมเปญรณรงค์ผ่าน Change.org ภายใต้ชื่อ "ขอมาตรการป้องกันโควิดอย่างเข้มข้นสำหรับสอบ TCAS #dek65 ไม่ใช่ตอบแบบขอไปที" เพื่อขอเสียงสนับสนุนจากทุกคนร่วมกันส่งเสียงไปยังประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ได้แก่

  1. รีบมีคำสั่งปรับปรุงการสื่อสารของเพจดังกล่าวให้เหมาะสมมากกว่านี้ มีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นมนุษย์ที่มีมโนธรรมสำนึก มีเหตุผล ตอบคำถามชัดเจน ไม่ตอบแบบขอไปที และต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ ระยะยาวอีกต่อไป 
  2. ต้องมีมาตรการป้องกันโควิดในช่วงที่มีการจัดสอบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นหลัก รวมถึงอำนวยความสะดวกตามที่เหมาะสม
 

โดยผู้จัดทำแคมเปญดังกล่าวระบุว่า "ทปอ. หรือ ที่ประชุมคณะอธิการบดีแห่งประเทศไทย คือหน่วยงานสำคัญที่เรียกได้ว่ามีส่วนอย่างมากที่จะกำหนดชะตาชีวิตเด็กไทยทั่วประเทศ เพราะมีหน้าที่จัดการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนี้เรียกว่าเป็นระบบ TCAS ซึ่งเด็กๆ รู้ ผู้ปกครองรู้ ว่าเป็นระบบที่มีความซับซ้อน เปลี่ยนไปมา ไม่ได้ง่ายต่อความเข้าใจ บ้งบ่อยๆ"

"ที่ผ่านมา ทปอ. ใช้เพจ Facebook.com/TCAS.Thailand เป็นหนึ่งในช่องทางหลักที่ใช้สื่อสารข้อมูลการสอบ และใช้ตอบคำถามนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไทยมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมากลับมีการสื่อสารไม่เหมาะสม ใช้ถ้อยคำประชดประชัน ไม่ใส่ใจเสียงหรือความกังวลของของนักเรียน ที่ได้เรียกร้องในหลายประเด็น ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญต่อชีวิตและอนาคตของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมาตรการรับมือโรคระบาดโควิด-19 และการเตรียมสนามสอบที่เหมาะสมมากกว่านี้"

พร้อมกันนี้ ผู้จัดแคมเปญยังได้ยกตัวอย่างการถามตอบระหว่างผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียและแอดมินเพจที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะมาประกอบ พร้อมยกตัวอย่างกรณีการสื่อสารจากทาง ทปอ. ที่เกิดความผิดพลาดจนสร้างความเสียหายแก่นักเรียนผู้สมัครสอบหรือผู้ที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย อาทิ พ.ศ. 2563 มีการตรวจข้อสอบผิด, พ.ศ. 2564 ที่อาจารย์ออกมาตอบกรณีที่มีเด็กจากครอบครัวยากจน ไม่มีเงินสอบในวิกฤตข้าวยากหมากแพงแบบนี้ ว่า “ค่าสอบ (วิชาละ) 900 ถูกมาก” และมีการเปลี่ยนแนวข้อสอบ คะแนนบางคนหาย เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net