Skip to main content
sharethis

'วาโย' เผยอาจไม่สามารถฟ้องอาญาต่อเอกชนที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการนำเข้าปลาหมอสีคางดำตามกฎหมายประมงทั้งเก่าและใหม่ได้ แต่ภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถฟ้องร้องทางแพ่งกับเอกชน ให้ชดใช้ค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมแทนรัฐ

 

1 ส.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก The reporters ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (1 ส.ค.) เมื่อ 14.34 น. ว่า วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุ และแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ แถลงข้อสรุปที่ได้มีการหารือกันในที่ประชุมเกี่ยวกับการฟ้องร้องในคดีต่างๆ ว่า แบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลักๆ คดีอาญา คดีแพ่ง และคดีการปกครอง ซึ่งคดีการปกครองมีบางภาคส่วนที่ได้ดำเนินคดีกับกรมประมงไปแล้ว ซึ่งวันนี้มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม 

โดยที่ประชุมมีการเปรียบกฎหมายตอนปี 2490 ที่ใช้บังคับเมื่อปี 2553-2554 และกฎหมาย พ.ร.ก.ประมง ปี 2558 เพราะว่าก่อนหน้านี้เคยมีคำพูดว่าตอนนู้นยังไม่สามารถเอาผิดได้ เนื่องจากกฎหมายยังไปไม่ถึงผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมยกประเด็นขึ้นมาว่า พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 36 กำหนดว่า คนที่ได้รับอนุญาตไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ปรากฏในใบอนุญาต จะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเอกชนที่นำเข้ามา และไม่ได้ปฏิบัติตาม ถือว่าเข้าข่ายละเมิดมาตรา 36 พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. 2490 หรือไม่

วาโย กล่าวว่า ได่มีการสอบถามผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย กรมประมง ที่มาร่วมประชุมวันนี้ โดยทางกรมประมง ระบุว่ามันคนละส่วนกัน เพราะว่ามี 2 เอกสารคือใบอนุญาต และใบที่ตอบกรมประมง คือทางเราถามไปว่า มันมีเอกสารลงวันที่ 28 เม.ย. 2553 ที่กำหนดเงื่อนไข 2 ข้อเป็นอย่างน้อย คือเรื่องตัดครีบ เมื่อเสร็จแล้วต้องทำลาย และส่งตัวอย่างให้กรมประมง แต่ถ้าไม่ได้ทำตาม ถือว่าไม่ได้ทำตามตามเงื่อนไข พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 36 หรือไม่ ต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือไม่ และทางกรมประมงได้ดำเนินการตามนี้หรือเปล่า ซึ่ง ผอ.ฝ่ายกฎหมาย กรมประมง ระบุว่า ใบอนุญาต และเอกสารที่ลงวันที่ 28 เม.ย. 2553 มันคนละส่วนกัน

อย่างไรก็ตาม สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ถ้ากระดาษอยู่คนละแผ่น แต่เป็นเรื่องเดียวกัน เนื้อหาเหมือนกัน ก็ต้องพิจารณาร่วมกัน จึงเกิดประเด็นว่ากรมประมงได้ปฏิบัติตามมาตรา 36 ตาม พ.ร.ก. ประมง 2490 หรือไม่ ในเรื่องที่บริษัทเอกชนไม่ได้เก็บครีบ และส่งขวดโหลปลาคืนให้กับกรมประมง อาจต้องดำเนินกระบวนการต่างๆ ต่อไป เพราะไม่แน่ใจว่าในเงื่อนไขได้กำหนดเวลาไว้หรือไม่  

วาโย กล่าวว่า ในอีก 2 เรื่องของคดีทางแพ่ง และอาญา ในคดีมาตรา 54 พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. 2490 และมาตรา 65 ใน พ.ร.ก.ประมง 2558 คือเรื่องอนุญาตนำเข้า แต่ไม่ปฏิบัติตาม ตรงนี้ทางหลายภาคส่วนเห็นว่ามันอาจจะยากที่จะไปถึง เพราะว่าองค์ประกอบความผิด ทั้งในกฎหมายเก่า และกฎหมายใหม่ อาจจะยากที่จะเอาผิดทางอาญากับบริษัทเอกชน แต่ในส่วนทางแพ่งน่าจะดำเนินการได้ โดยสภาทนายความร่วมกับภาคประชาชนได้ดำเนินการไปแล้ว

วาโย กล่าวว่า นอกจากที่สภาทนายความได้ดำเนินการฟ้องแพ่งไปแล้ว องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถฟ้องร้องเอาผิดกับบริษัทเอกชน ในฐานละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายได้ ยกตัวอย่าง อบจ. หรือ อบต. ได้เยียวยาหรือมีมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือประชาชน สามารถไปฟ้องไล่บี้เอากับบริษัทเอกชนได้เหมือนกัน ส่วนแพ่งที่ 2 ฟ้องร้องโดยรัฐโดยตรง ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม  พ.ศ. 2535 มาตรา 97 กำหนดว่า ถ้าหากผู้ใดทำให้สิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติเสียหาย ต้องจ่ายค่าชดเชยให้รัฐทั้งหมดได้ ทั้งนี้ กรมทรัพยากรชายฝั่ง ได้ร่วมดำเนินการสำรวจความเสียหาย และจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

CPF เข้ามาชี้แจงเรื่องปลาหมอคางดำ ที่ กมธ.อว.

วันเดียวกัน เว็บไซต์ 'ไทยพีบีเอส' รายงานเมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. ระบุว่า ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF พร้อมคณะ เดินทางมาเพื่อเตรียมเข้าชี้แจง กมธ.อว.สภา ที่มีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เป็นประธาน และมี วาโย อัศวรุ่งเรือง เป็นรองประธาน

ต่อมา เมื่อเวลา 16.14 น. เพจเฟซบุ๊ก The reporters รายงานว่า ประสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อหลังประชุมกับ คณะกรรมาธิการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร เรื่องการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ระบุว่า วันนี้ไม่ได้มีการมาชี้แจงอะไรเพิ่มเติม 

ต่อกรณีจะมีการเปิดเผยภาพหลักฐานบ้างหรือไม่ ประสิทธิ์ ระบุว่า ตนเองพูดมากไม่ได้ บางภาพที่ออกมาก็ไม่ถูกต้อง แต่ยืนยันว่าส่งซากให้กรมประมงไปแล้ว และเราชี้แจงเพียงพอแล้ว ย้ำว่า เราทำตามกระบวนการ ให้เราส่งของไปให้ ก็ติดต่อประสานงานส่งของไปตามที่ได้ตกลงกัน ส่วนจะแถลงเพิ่มเติมหรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณา

ต่อกรณีมีบริษัทอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ประสิทธิ์ กล่าวว่า มันมีข่าวอยู่แล้วเพราะมีการส่งออกปลาหมอคางดำจาก 11 บริษัทไป 17 ประเทศ เป็นข้อมูลจากกรมประมง และข่าวต่างๆ ที่มีการสืบค้นเพิ่มเติม

ประสิทธิ์ ระบุต่อว่า ตอนนั้น CPF นำปลาหมอคางดำเข้ามาจากประเทศกานา จำนวน 2 พันตัว แต่มาถึงสนามบินไทยเหลืออยู่ 600 ตัวโดยประมาณ แต่มีข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกปลาหมอคางดำกว่า 300,000 ตัว ซึ่งคิดเป็น 150 เท่า จึงน่าจะมีการพิจารณาว่าการแพร่กระจายเกิดจากอะไรกันแน่ เราเชื่อมั่นว่าไม่ได้เกิดจากเรา ส่วนเกิดจากอะไร ต้องให้คณะกรรมการธิการ หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตนเองก็ไม่ทราบนโยบายของทางภาครัฐ และฝากนักข่าวพิจารณาเพิ่มเติมว่ามาจากไหน แต่เราคงแสดงความคิดเห็นมากไม่ได้

CPF ระบุต่อว่า เรายืนยันกับกรมประมงแล้วว่า ลูกปลาอยู่กับเราแค่ 16 วัน หลังจากนำเข้ามา เนื่องจากสภาพไม่แข็งแรง และทยอยตายลงเรื่อยๆ ส่วนเหตุผลที่นำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อนำมาพัฒนาสายพันธุ์ปลา ซึ่งรายละเอียดต้องให้นักพัฒนาสายพันธุ์เป็นคนตอบ ตอนนั้นการนำเข้ามาเกิดจากการประชุมการพัฒนาสายพันธ์ุที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนปี 2549 จึงเกิดเป็นไอเดียนำเข้ามา เพื่อนำมาทดลอง แต่เนื่องด้วยกระบวนการยุ่งยากว่าจะนำเข้ามาอย่างถูกกฎหมายใช้เวลานาน กว่าจะเข้ามาก็ปี 2553 เมื่อปลาไม่สมบูรณ์ ก็ปิดโครงการในระยะเวลาทั้งหมด 16 วันเท่านั้น จากนั้นจึงมีการฝังซากปลา ก็ตามขั้นตอนฝังในฟาร์ม 

ทั้งนี้ ประสิทธิ์ กล่าวถึงโครงการช่วยเหลือนั้น เป็นมาตรการสนับสนุนมาตรการของรัฐบาล โดยเน้นย้ำว่าไม่ว่า CPF จะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ก็ต้องช่วยเหลือ เหมือนตอนโควิด-19 แพร่ระบาด ทั้งดึงปลาออกจากระบบให้เร็วที่สุด 2 ล้าน กก. สนับสนุนปลา 2 แสนตัวกำจัดปลาหมอสีคางดำ และการสนับสนุนด้านอื่นๆ ทั้งงานวิจัย การทำอาหาร
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net