Skip to main content
sharethis

เชียงใหม่จัด #ม็อบ20กุมภา ‘หมู่เฮาบ่เอา112’ มีการเสวนา ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อยกเลิกกฎหมาย ม.112 พร้อมทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชน “เห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิก ม.112” ก่อนเลิกงานเกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังตำรวจเตะกล่องพลุของผู้ชุมนุมล้มพุ่งใส่ประชาชนได้รับบาดเจ็บ

21 ก.พ. 2565 เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงเวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ทะลุฟ้า, Law Lab, iLaw, วงสามัญชน, ประชาคมมอชอ, พรรควิฬาร์, ลำพูนปลดแอก และลานยิ้มการละคร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม #ม็อบ20กุมภา ‘หมู่เฮาบ่เอา112’ ขึ้นที่ลานท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่

ภายในงานมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 พร้อมทั้งทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มาร่วมงาน “เห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิก ม.112” และมีการโปรยกระดาษที่มีข้อความ เช่น ยกเลิก ม.112, ปฎิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง, ปริญญาศักดินา ฯลฯ

 

หลังจากนั้นได้มีการเสวนาพูดคุยเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 โดย พินิจ ทองคำ พิราบขาวเพื่อมวลชน, ธนาธร วิทยเบญจางค์ พรรควิฬาร์, มิตร ใจอินทร์ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw

พินิจ ทองคำ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง สมาชิกพิราบขาวเพื่อมวลชน ซึ่งเป็นหนึ่งในจำเลยคดีมาตรา 112 เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองว่า เขาเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมทางการเมืองมาตลอด และถูกเจ้าดำเนินคดีตามมาตรา 112 เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าเขาเป็นคนนำป้ายผ้าที่เขียนข้อความ “งบประมาณสถาบันกษัตริย์มากกว่าวัคซีนโควิด-19” ไปติดที่สะพานรัษฎาภิเศก จังหวัดลำปาง ทำให้มีความผิดตามมาตรา 112 พินิจระบุว่า ก่อนการแขวนป้ายผ้าตนเองได้ทำการสำรวจข้อมูลงบประมารของสถาบันกษัตริย์แล้วว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในขณะนั้นโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักมีคนตายเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดคำถามว่าเหตุใดรัฐไทยจึงไม่นำงบประมาณมาจัดซื้อวัคซีนหรือช่วยเหลือประชาชนแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ก่อน

ธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมาชิกกลุ่มพรรควิฬาร์ และถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 เช่นกัน คดีตามมาตรา 112 สร้างภาระให้ธนาธรเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อยทุก 14 วัน เขาต้องไปรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้าน เสียเวลาไปครึ่งวัน และการถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ยังสร้างเงื่อนไขในการเดินทางออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตามธนาธรยืนยันว่า กฎหมายมาตรา 112 ควรต้องถูกยกเลิก และถูกนำมาคิดกันใหม่ในสังคมปัจจุบัน

มิตร ใจอินทร์ ศิลปินในจังหวัดเชียงใหม่ที่เคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 มามากกว่า 10 ปี ตั้งคำถามว่าสถาบันกษัตริย์ยังมีความเหมาะสมกับสังคมไทยในสภาวะปัจจุบันอยู่หรือไม่ และการใช้กฎหมายมาตรา 112 เช่นนี้มีความเป็นธรรมหรือไม่ ปัจจุบันมีนักศึกษาและกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก เรากำลังใช้มาตรา 112 กระทำชำเรากับคนรุ่นใหม่ ในฐานะคนทำงานศิลปะมิตรยืนยันว่าศิลปะต้องรับใช้ความจริงมิใช่รับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ยิ่งชีพ iLaw กล่าวว่า 1 ปีมาแล้วที่มีการพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ไม่มีใครตอบได้เลยว่าการพูดในแง่ไหนจะปลอดภัยหรือเป็นภัยต่อชีวิต และไม่มีใครรู้เลยว่าการขึ้นศาลในคดี 112 จะมีความเป็นธรรมเกิดขึ้นหรือไม่ ในพ.ศ. 2564 มีคนถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 สูงถึง 170 กว่าคน ซึ่งเป็นสถิติที่สูงสุดตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้มา ส่อให้เห็นถึงนัยยะของปรากฎการณ์การใช้กฎหมายที่ผิดปกติ ยิ่งชีพมองว่าคดี 112 จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบรรยากาศทางการเมืองของประเทศในขณะนั้น ปัจจุบันเพนกวิน พริษฐ์และทนายอานันท์ ซึ่งยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิดตามมาตรา 112 จริงหรือไม่ ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำมาแล้วนานกว่า 6 เดือน ดังนั้นเราจึงต้องพยายามทำให้กฎหมายมาตรานี้หายไป เพื่อป้องกันไม่ให้ใครต้องถูกจำคุกด้วยการใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรมอีก

นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า โดยรอบพื้นที่จัดงานมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาสังเกตการณ์เกินกว่า 50 นาย และก่อนเริ่มงานเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาขอให้ทางผู้จัดงานนำป้ายผ้าที่มีข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่แขวนไว้ในพื้นที่จัดงานออก รวมไปถึงก่อนเลิกงานเวลา 19.49 น. ผู้จัดงานมีการทำกิจกรรมจุดพลุปิดงาน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเตะกล่องพลุของทางผู้จัดงานล้ม ทำให้มีพลุพุ่งใส่ประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นจนได้รับบาดเจ็บที่แขนซ้ายและหน้าแข้ง จนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ

 

ภาพบรรยากาศ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net