Skip to main content
sharethis

คุยกับผู้ร่วมชุมนุมอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาตั้งแต่ ป้าขายหม้อ แม่ค้าขายน้ำส้มคั้น พ่อค้าหมึกสด คนอยากเห็นสื่อมวลชนปลดแอก นักกิจกรรมรุ่นเก๋า ผู้สิ้นหวังท้อแท้กับสภาที่มีทั้งซื้องูเห่า-แจกกล้วย  นักศึกษารัฐศาสตร์ เยาวชนขัดแย้งกับบ้านเพราะการเมืองจนต้องมาอยู่ลำพังและขายขนม ผู้ต้องการปฎิรูปขนส่งสาธารณะ จนถึงอดีตทหารผ่านศึก ผู้หมดศรัทธา

20 ก.พ.2564 ประมวลบทสัมภาษณ์ผู้ร่วมชุมนุม #ม็อบ20กุมภา ประชาภิปรายไม่ใว้วางใจ จากรัฐสภาใหม่ เกียกกาย ซึ่งจัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 

"อะไรที่ขายได้ ป้าขายหมด"

นี่คือเสียงของป้าหนุ่ย (นามสมมติ) แม่ค้าวัย 65 ปี ที่วันนี้มาขายข้าวของเครื่องใช้ในพื้นที่ชุมนุม
ป้าหนุ่ย (นามสมมติ) แม่ค้าวัย 65 ปี

นี่คือเสียงของป้าหนุ่ย (นามสมมติ) แม่ค้าวัย 65 ปี ที่วันนี้มาขายข้าวของเครื่องใช้ในพื้นที่ชุมนุม 

เธอ เล่าเพิ่มว่า วันนี้ตนหอบหม้อและกล่องเหล็กจากที่บ้านมาขายเป็นอุปกรณ์เคาะจังหวะให้ประชาชนที่สนใจซื้อไปร่วมกิจกรรม

"หม้อมีหลายราคา ใบใหญ่ 80 บาท ช่วงนี้ค้าขายเงียบมาก ป้ายังขายไม่ได้เลย" ป้าหนุ่ย กล่าว

ป้าหนุ่ย กล่าวเพิ่มว่า ปกติตนเป็นแม่ค้าขายน้ำอยู่แถวประตูน้ำ แต่โดนไล่ที่เนื่องจากการการจัดระเบียบพื้นที่ของรัฐบาล ต่อมาเมื่อมีการผ่อนปรน ตนก็ย้ายไปขายแถวสยาม ราชดำริ และสีลม แต่พอโควิด-19 ระบาดก็ขายไม่ได้เลย

"เมื่อวานป้าก็มานะ ขายได้ 200 ได้เงินมาก็เอาเงินไปซื้อของมาขายต่อ บางทีก็ท้อจนคิดนะว่าอยากจะตายไปเลย"

เรื่องการเยี่ยวยาช่วงโควิด-19 จากภาครัฐ ป้าหนุ่ย บอกว่า ตนได้รับสิทธิเยียวยาจากโครงการไทยชนะ ซึ่งเงินที่ได้มาก็นำไปใช้ซื้อของมาขาย และซื้อได้จากร้านที่ร่วมโครงการเท่านั้น ซึ่งไม่สะดวก เพราะเอาไปใช้อย่างอื่นไม่ได้ ถ้าเลือกได้ตนอยากรับเงินเยียวยาเป็นเงินสด เพราะสามารถนำไปใช้จ่ายอื่น ๆ ได้ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือซื้อยา

"ป้าอยากขายของตรงที่ป้าเคยขาย บางทีเราต้องย้ายที่ไปตรงโน้นตรงนี้ก็ลำบาก เราแก่แล้ว ไปไกลมากก็ไม่ได้ ยิ่งมาเจออย่างนี้ก็ยิ่งไปกันใหญ่เลย ร้องไห้ทุกวัน แต่ป้าก็คิดว่าต่อสู้ไปเถอะ เดี๋ยวมันก็คงไปได้" ป้าหนุ่ย ทิ้งท้าย

"อยากเห็นสื่อมวลชนปลดแอก"

แจ๊ค (นามสมมติ) ผู้เลิกดูสื่อโทรทัศน์มาหลายปี มาร่วมชุมนุม #ม็อบ20กุมภา พร้อมป้าย "อยากเห็นสื่อมวลชนปลดแอก"

แจ๊ค (นามสมมติ) ผู้เลิกดูสื่อโทรทัศน์มาหลายปี

ผู้ถือป้ายสื่อมวลชนปลดแอก ชี้สื่อมวลชนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทางการเมือง พร้อมเรียกร้องให้สื่อนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา

แจ๊ค (นามสมมติ) ผู้เลิกดูสื่อโทรทัศน์มาหลายปี มาร่วมชุมนุม #ม็อบ20กุมภา พร้อมป้าย "อยากเห็นสื่อมวลชนปลดแอก" เขาเล่าว่า อยากเห็นสื่อมวลชนตั้งคำถามกันเองว่า ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีของวิกฤตการเมือง เคยคิดไหมว่าสื่อเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทางการเมือง

แจ๊ค กล่าวว่า สื่อกล้าพูดหรือไม่ว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ผิด หรือถ้ามีอำนาจกดดัน ก็ขอให้สื่อพูดกับประชาชนจริง ๆ ว่าพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้ หรือถ้าสื่อไหนไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ก็ขอให้บอกมาเลย จะได้เลือกดูหรือไม่ดูได้

สำหรับการชุมนุมวันนี้ แจ๊คอยากเห็นการรายงานของสื่อที่ตรงไปตรงมา พาดหัวข่าวแบบไม่ใส่อคติ

นักกิจกรรมรุ่นเก๋า สิ้นหวังท้อแท้ สภามีทั้งซื้องูเห่า-แจกกล้วย 

วรัญชัย โชคชนะ

วรัญชัย โชคชนะ นักกิจกรรมทางการเมือง

วรัญชัย โชคชนะ นักกิจกรรมทางการเมือง กล่าวว่า ติดตามอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้อยู่บ้าง แต่ไม่ได้ฟังทุกคน เพราะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่ว่าจะโหวตอย่างไรก็คงแพ้ เพราะเสียงรัฐบาลมากกว่า มีทั้งเสียงจากพรรคเอื้ออาทร ได้มาจากฝ่ายค้านอีกนิดหน่อย ตอนเลือกนายกรัฐมนตรียังได้จาก ส.ว. ทั้งยังมีการซื้องูเห่า การแจกกล้วย ทำให้รู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้มาก เพราะต่อให้อภิปรายกี่ครั้ง เมื่อยกมือโหวตก็ดูจะไม่มีทางชนะเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องอาศัยพลังประชาชนและนักศึกษานอกสภา

“ผมยังมีความหวังว่า นักศึกษาประชาชนนอกสภาจะทำอย่างพม่า และจะทำอย่างในอดีต คือปี 2516 ไล่เผด็จการถนอม-ประภาส ปี 2535 ไล่สุจินดา คราประยูร เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ เผด็จการประยุทธ์ก็คงรู้สึกว่ายังอยู่ได้ ในสภาก็ชนะ นอกสภาก็ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร” วรัญชัยกล่าว

วรัญชัยกล่าวอีกว่า 7 ปีที่ผ่านมาทำให้เรารู้แล้ว ก่อนหน้านี้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถึง 4 คนก็ถูกไล่ ได้แก่ ทักษิณ ชินวัตร, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, สมัคร สุนทรเวช, และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พอมาถึงปี 2557 เราก็มีนายกรัฐมนตรีคนนี้คนเดียวถึง 7 ปี สูญเสียทั้งประชาธิปไตย สูญเสียทั้งสิทธิเสรีภาพ คนที่ออกมาก็ถูกจับ ถูกดำเนินคดี รัฐธรรมนูญเขียนว่าประชาชนมีเสรีภาพในการชุมนุม แต่ก็ถูกขัดขวางโดย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

วรัญชัยเสนอว่า อนาคตเราอาจจะรวมกันแบบไม่มีแกนนำ ไม่มีปราศรัย ออกมารวมกันให้มากๆ ทำเหมือนเมียนมา กับคนที่ถูกดำเนินคดีตนรู้สึกเสียใจมาก แต่ละคนโดนไม่รู้กี่สิบคดีที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล

วรัญชัยเล่าเพิ่มว่า ตนก็เคยถูกดำเนินคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์กแยกปทุมวัน เพราะไปสังเกตการณ์ ยังต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเกือบสองปี 

“ผมคิดว่าตราบใดที่เผด็จการยังครองเมืองจะทำให้องค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรมคล้อยตามเผด็จการ ตำรวจก็เอาใจ เอาใจเสร็จแล้วก็ส่งศาล ผมรู้สึกเห็นใจคุณอานนท์และคุณพริษฐ์ที่จะถูกขังนานแค่ไหนก็ไม่รู้” วรัญชัยกล่าว

ถ้าสามารถต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่ถูกกฎหมายเล่นงาน วรัญชัยเห็นว่าใครก็สามารถนำการต่อสู้ได้ ตนก็เคยนำประชาชนไล่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เมื่อปี 2521 เคยไปร่วมเดินขบวนไล่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่พอ พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ปี 2558 ก็ออก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ถ้าขึ้นปราศรัยก็เอาเรื่องเอาราว ถ่ายรูปแล้วก็ส่งหมายเรียกไปที่บ้าน

“ผมอยากให้การต่อสู้ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการเริ่มต้น เมื่อเริ่มต้นแล้วก็ขอให้นัดกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อนัดต่อเนื่องไปแล้ว เมื่อหวังพึ่งสภาไม่ได้ ฝ่ายค้านไม่สามารถคว่ำรัฐบาลได้ก็ไม่มีความหวังอีกแล้วในสภา มันก็อยู่ที่นอกสภาอย่างเดียว ผมก้หวังว่านักศึกษา ประชาชน จะออกมาอย่างต่อเนื่องและขับไล่เผด็จการออกไปให้ได้” วรัญชัยกล่าวทิ้งท้าย

"มาขายของก็กลัว แต่ก็ไม่ได้ ก็ต้องมา อยู่บ้านก็คงไม่มีจะกิน กลัวก็ต้องมา"

เบลล์ แม่ค้าขายน้ำส้มคั้น อายุ 28 ปี
เบลล์ แม่ค้าขายน้ำส้มคั้น อายุ 28 ปี

เบลล์ แม่ค้าขายน้ำส้มคั้น อายุ 28 ปี วันนี้เธอเดินทางมาขายน้ำส้มหน้ารัฐสภา เกียกกาย สถานที่นัดชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

เบลล์ เล่าว่า เธอไปตระเวนขายน้ำส้มตามที่ชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง ไปบ้างไม่ไปบ้างเพราะมีลูกน้อยที่ต้องเลี้ยง ในขณะที่สามีที่ทำงานที่ร้านแห่งหนึ่งบริเวณถนนข้าวสาร ก็มีปัญหาเรื่องรายได้ เพราะไม่มีลูกค้า วันนี้จึงอยากรีบขายแล้วรีบกลับ เพราะฝากลูกไว้กับย่า

รายได้จากการขายน้ำส้มในที่ชุมนุมของเบลล์อยู่ที่ราว ๆ 3-5 พันบาท ถือว่าเยอะสำหรับเศรษฐกิจแบบนี้ แต่การขายเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา การชุมนุมหน้าศาลฎีกา ขายได้เพียง 2 พันกว่าบาทเท่านั้น เนื่องจากมีเหตุชุลมุน

"ตอนเขา (แกนนำ) นับถอยหลัง หนูยกรถถอยออกมาเลยพี่"

เบลล์ ฝากให้เจ้าหน้าที่ดูแลประชาชน อยู่ข้างประชาชน เพราะประชาชนมีแต่มือเปล่า

ปฏิรูปล้างไพ่จัดทุกอย่างให้เป็นมาตรฐานสากล

หมี และแมว (นามสมมติ) จากถ้ำสิงห์ แท็กทีมมาร่วมชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในช่วงเย็น
หมี และแมว (นามสมมติ) จากถ้ำสิงห์

หมี และแมว (นามสมมติ) จากถ้ำสิงห์ แท็กทีมมาร่วมชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในช่วงเย็น

ทั้งสองเล่าว่า วันนี้มาเพื่อแสดงพลังว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ไม่ใช่การกล่าวหากันลอย ๆ ว่าโกง แต่มีเอกสารหลักฐานทั้งนั้น ทั้งเรื่องตั๋วช้าง เรื่องทุจริตถุงมือยาง การจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านนำมาเสนอนั้นค่อนข้างใหม่ แต่ผู้ถูกอภิปรายก็ยังได้ไปต่อ ผู้มีอำนาจยังทำให้ผิดเป็นถูก ที่ผ่านมารู้แล้วว่าแย่ แต่ก็พบว่ายังย่ำแย่ได้อีก

หมี กล่าวว่า ความซับซ้อนของประเทศนี้คือ ในขณะที่เราพูดกันว่า play by the rule (เล่นตามกฎเกณฑ์/กฎหมาย) แต่ก็ย้อนแย้ง เพราะต้นทางของกฎหมายก็ผิดมาตั้งแต่ต้น กฎหมายถูกเขียนมาเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม จึงต้องมีการปฏิรูป ล้างไพ่แล้วจัดทุกอย่างให้เป็นมาตรฐานสากล

"อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องข้องบังคับใช้กฎหมายที่มีตามสิ่งที่เป็น จะผิดจะถูกก็ต้องใช้ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนของใคร" หมี กล่าว

คณะราษฎรโฮมเลส ขัดแย้งกับบ้านเพราะการเมืองจนต้องมาอยู่ลำพังและขายขนม

คณะราษฎรโฮมเลส เยาวชนที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัวหลังมาร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคณะราษฎร โดยตอนนี้หารายได้ผ่านการขายขนมและอยู่หอพักลำพัง เล่าถึงการถูกคุกคามจากภายนอกว่า มีคนมาสอดแนมติดตามแถวหอพักตน พร้อมทั้งถามว่ามีคนชื่อนี้พักที่หอพักนี้หรือไม่ ตนจึงนำภาพจากกล้องวงจรปิดไปแจ้งความแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าคนดังกล่าวเป็นใคร

คณะราษฎรโฮมเลส
คณะราษฎรโฮมเลส
คณะราษฎรโฮมเลส

สำหรับสถานการณ์กับทางบ้านนั้น เธอ เล่าว่า ช่วงเดือนแรกหลังปีใหม่ ตนกลับบ้านเพื่อไปขอปรับความเข้าใจ แต่ทางบ้านไม่โอเค จากนั้นจึงไม่ติดต่อกัน โดยขณะนี้อยู่หอพักและนำเงินที่ได้จากการขายขนมแบ่งจ่ายค่าเทอม ค่าหอ ค่ากินและค่าใช้จ่ายทุกอย่าง

ตนอยากฝากร้านขนม เมย์เดย์ บายคณะราษฎรโฮมเลส แค่กล่องสองกล่องก็สามารถต่อชีวิตของตนไปวันต่อวันได้

#ปฎิรูปรถเมล์ และขนส่งสาธารณะ เพื่อประชาชน

เอ นามสมมุติ เห็นว่าเรื่องรถเมล์และขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องที่ มีความสำคัญต่อประชาชนโดยมาก

เอ นามสมมุติ เห็นว่าเรื่องรถเมล์และขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องที่ มีความสำคัญต่อประชาชนโดยมาก ตนเองต้องใช้รถเมล์ในการเดินทางเป็นหลักและได้เห็นปัญหา แผนปฏิรูปรถเมล์ครั้งล่าสุดที่เห็นก็ไม่ใช่ครั้งแรก มีการปรับเปลี่ยนเลขสายเปลี่ยนเส้นทางและชื่อย่อ ซึ่งก็ล้มเหลวไปเพราะประชาชนไม่เห็นด้วย ยังมีปัญหาอื่นที่ไม่เคยถูกพูดถึงเลยทั้งเรื่องของสภาพรถ การให้บริการ และสวัสดิการของพนักงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้ดีขึ้น ลำพังการเปลี่ยนเลขสายไม่ได้แก้ไขปัญหา

การทำเรื่องระบบสัมปทานไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนเป็นหลัก หลายสายที่ตนเคยนั่งก็หายไป หรือการเปลี่ยนชื่อก็สร้างผลกระทบให้กับประชาชน ปฏิรูปแค่เลขแต่คุณภาพรถและการบริการยังเหมือนเดิม เอารถเมล์อายุ 30 ปีมาวิ่งไม่ใช่การปฏิรูป

อยากให้คนที่มีอำนาจเหล่านี้ลงมาดูปัญหาจริงๆว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราเชื่อว่าคนที่คิดแผนนี้ไม่ได้นั่งรถเมล์ ถ้าคนที่ได้นั่งจึงเข้าไปมีส่วนร่วมก็ไม่น่าจะเป็นแบบนี้

หมึกสดหมดแล้ว

พ่อค้าหมึกย่างในม็อบ
หมึก (นามสมมติ) พ่อค้าขายปลาหมึกย่าง

หมึก (นามสมมติ) พ่อค้าขายปลาหมึกย่างเผยว่าวันนี้ดีใจที่ขายของหมด เพราะตั้งแต่เกิดโควิด-19 ตนค้าขายไม่ค่อยดี ยิ่งมาเจอการระบาดระลอก 2 ที่ จ.สมุทรสาครยิ่งแย่กว่าเดิม

"ปกติผมขายอยู่แถวบางแค ก็เงียบ คนไม่ค่อยมีกำลังซื้อ บางคนก็ตกงาน ไม่มีงานทำ" หมึกเล่าพลางซาวน้ำแข็งในถัง

แม้ร้านของหมึกจะติดป้ายรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รับสแกนเราชนะ และคนละครึ่ง แต่หมึกบอกว่าลูกค้าไม่นิยมใช้ เพราะสแกนยาก ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมจ่ายเป็นเงินสดมากกว่า

หมึกเผยว่าตนได้รับสิทธิเยียวยาเราชนะจากรัฐบาลเพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เงินที่ได้มาผ่านแอปพลิเคชันนั้นใช่ไม่สะดวก

"ได้มาก็ใช้ซื้อของในชีวิตประจำวัน เอาไปซื้อของมาขายก็ไม่ได้ เพราะผมซื้อกับขายส่งเจ้าใหญ่ เงินที่ได้มาในแอปฯ ใช้ไม่กี่วันก็หมดแล้ว ถ้าได้รับเป็นเงินสดจะดีกว่า เพราะจ่ายค่าบ้าน ค่ารถได้ เงินในแอปฯ มันจ่ายตรงจุดนี้ไม่ได้ สุดท้ายเราก็ต้องไปกู้นายทุนนอกระบบอีก เพราะเราต้องการเงินสดมาใช้" หมึกกล่าว

ทหารผ่านศึก ผู้หมดศรัทธา

“หมดศรัทธา เห็นการลงมติเมื่อเช้าแล้ว ผมเห็นคนเห็นแก่ได้ไม่เห็นแก่ประเทศชาติไม่เห็นอนาคตของประเทศชาติไม่เห็นอนาคตของลูกหลานเลย ส.ส.บางคนขายตัวเห็นแล้วหมดศรัทธา แต่ผมว่าก็ทนไปไม่เกินสองปี ผมทำนายได้เลยว่า พลังประชารัฐจะค่อยๆ สาบสูญ เหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ค่อยๆ ร่อยหลอลง ประวัติศาสตร์มันเคยมี” 

อดีตทหารผ่านศึก ผู้หมดศรัทธา
จ่าแดง ทหารผ่านศึก วัย 60 ปี

จ่าแดง ทหารผ่านศึก วัย 60 ปีเล่าความรู้สึกหลังจากทราบผลการลงมติเมื่อเช้านี้ แต่เขาก็มั่นใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะอยู่ครบ 4 ปี เพราะว่าประชาชนเองก็มือเปล่าไม่สามารถจะไปสู้ได้ ก็ต้องรอเลือกตั้งรอบหน้า 

“สว.ก็จะรู้สึกเอง ประชาชนจะสั่งสอนและการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะแก้ได้ในสมัยหน้า ประยุทธ์อยู่มาถึงสองปีประชาชนเขารู้ว่าเขาอดอยากขนาดไหนทุกวันนี้บางบ้านไม่มีข้าวจะกินลำบาก คนจนเขาอยากมาก็มาไม่ได้เพราะไม่มีเงิน”

จ่าแดงบอกว่าตัวเขาเองก็ไม่ได้มาชุมนุมบ่อยหลังจากหยุดไปพักหนึ่งก็เพิ่งได้กลับมาเพื่อแสดงพลังให้รัฐบาลเห็นว่าควรจะคืนอำนาจให้กับประชาชนได้แล้ว แล้วเขาก็หวังว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า

จ่าแดงบอกว่าตัวเขาขนาดเป็นทหารผ่านศึกก็ยังไม่เห็นด้วยกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลยครองอำนาจมานานถึง 7 ปีและเห็นว่าควรจะสละอำนาจได้แล้ว เพราะตัวเขาเองถึงจะบำนาญกินก็เป็นเงินเล็กๆ น้อยๆ แค่พออยู่ได้เท่านั้น ซึ่งเขาก็เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทั้ง 3 ข้อ แล้วก็ไม่เห็นว่าการที่เรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเป็นการล้มล้างอย่างไร และสถาบันฯ ก็จะอยู่คงทนสืบไปถ้ามีการปฏิรูปให้ดีขึ้น

สันติ หรือ รุนแรง?

“ตามคาดครับ มันไม่ได้พลิกโผอะไรอยู่แล้ว เพราะสภาเขาควบคุม ส.ส.ได้ไม่มีใครแตกแถว”

นักวิเคราะห์ตลาดหุ้นวัย 31 ปี(ขอสงวนชื่อ) บอกว่าสำหรับตัวเขาเองไม่ได้ตามการอภิปรายตลอด แต่ก็ได้ติดตามประเด็นอภิปรายที่เป็นกระแสสังคมเหมือนกันอย่างกรณี “ตั๋วช้าง” หรือกรณีโรงไฟฟ้าจะนะ

“มันก็นิวโลว์(มีจุดต่ำสุดใหม่)ไปเรื่อยๆ มันก็รู้สึกว่ามันต่ำตมจนเรารู้สึกชินชาไปแล้วอะครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะยอมแพ้อะไรอย่างนั้นนะ เราก็พยายามออกมาเคลื่อนไหว (ยังมีหวังอยู่?) มีๆ เรายังหนุ่มอยู่ โอกาสชนะก็มีอยู่แล้ว แต่ระยะเวลาอันสั้นที่ประยุทธ์จะออกก่อนมันก็พูดยาก เพราะว่ามันไม่มีใครมาแทนประยุทธ์ได้”

ผู้สื่อข่าวจึงถามว่าเขายังหวังว่ากับการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าพรรคฝ่ายค้านจะได้พลิกมาเป็นรัฐบาลบ้างหรือไม่ เขาก็บอกว่า

“ก็ดูสูตร กกต.มันก็พลิกได้แล้วเห็นไหมละ ยังทำอะไรไม่ได้เลยชนะปริ่มๆ ยังพลิกกลับมาได้ รอบหน้านี้คงแบบหน้าด้านตั้งแต่กาในคูหาเลย อย่างที่เราเห็นในเลือกตั้งซ่อมล่าสุดก็เห็นชัดว่า กกต.ค่อนข้างลำเอียงเขาก็คงเอาตั้งแต่ขั้นตอนแรก”

“ถ้าถามว่าเลือกตั้งแล้วฝ่ายเผด็จการแพ้เขาก็ต้องเอาปืนมาจ่อใหม่ ก็ต้องสู้กันไปเรื่อยๆ” นักวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายนี้คิดว่าหลังจากคนที่กุมอำนาจหมดอำนาจลงสุดท้ายก็อาจจะยังต้องสู้กับทหารต่อแบบเดียวกับพม่า และเขาก็คิดว่าถึงจุดหนึ่งก็อาจจะต้องสู้แบบกองโจรเผาทำลายทรัพย์สินไป แต่สำหรับต้องมีขอบเขตที่ต้องไม่มีคนเจ็บคนตาย

ผู้สื่อข่าวจึงถามถึงเหตุการณ์ที่มีการปะทะกันเมื่อเสาร์ที่ 13 ก.พ. ว่าเขามีความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นั้นอย่างไร

“ตำรวจเขาก็ฉลาดนะ เขาก็ต้องวางแผน เขาก็โดนกดดันมาเหมือนกัน เหมือนที่เขาให้สัมภาษณ์ว่าตำรวจถึงความอดทนแล้วนะตำรวจต้องตอบโต้บ้างเนี่ย คือก็ต้องมีผลงานบ้างปล่อยให้ชุมนุมปล่อยให้ม็อบมาแบบนี้แล้วตำรวจไม่ปราบปรามเลยเหรอ” นักวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายนี้คิดว่าเป็นเรื่องการแสดงบทบาทของตำรวจมากกว่า เพราะอย่างการชุมนุมครั้งนี้ตำรวจก็ปล่อยให้ชุมนุมได้ไม่มีการเตรียมรถฉีดน้ำแรงดันสูงมา แต่เขาคิดว่าถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุมก็คงต้องถอยไปแล้วก็รบแบบกองโจรแทน “คือความแค้นทุกคนมันมีนะ มันต้องหาที่ระบาย”

“ทรัพย์สินสูญเสียได้ มันคือการลงทุนเพราะทรัพย์สินนั้นมันก็มาจากภาษีประชาชน ประชาชนเผารีเซทใหม่ เราก็พร้อมที่จะหาเงินใหม่ได้ มันก็เหมือนรัฐบาลกู้เราก็ต้องหาเงินมาจ่ายเราไม่ให้มันกู้ไม่ได้ เราก็เผามันเลย กดดันทางอ้อม เราทำงานหาเงินให้เก็บภาษีสร้างใหม่ได้ ทุกอย่างสร้างใหม่ได้ แต่ชีวิตคนสร้างใหม่ไม่ได้”

ส่วนเพื่อนของนักวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายนี้ เป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรัฐชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพ อายุ 31 ปี(ขอสงวนชื่อเช่นกัน) กลับมีข้อเสนอที่ต่างออกไปเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเขาเสนอว่ามี 4 ประเด็นที่คิดว่าผู้จัดการชุมนุมน่าจะสามารถทำได้เพื่อยกระดับการชุมนุม(เขาบอกว่าเสนอในคลับเฮาส์ไปแล้วแต่อยากเสนอกับประชาไทอีกที) ได้แก่

หนึ่ง กดดันให้ฝ่ายตรงข้ามมาดีเบตเหมือนกับรายการ “ถามตรงๆ” เพราะเห็นว่ามันเป็นวิธีการที่ศิวิไลซ์มากเพราะเพียงแต่ต้องการคุยกันด้วยเหตุผลและถ้าเพียงขอดีเบตแล้วรัฐยังเลือกที่จะสลายการชุมนุมรัฐก็จะไม่มีความชอบธรรมทันทีและความรุนแรงก็จะลดลงมาก ทั้งนี้คนที่มาดีเบตก็ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นนักการเมืองพรรครัฐบาลแต่อาจจะเป็นนักคิดนักวิชาการของอีกฝ่ายก็ได้ แล้วการดีเบตนี้ก็ตั้งประเด็นมาถามทีละประเด็นเพื่อให้อีกฝ่ายต้องตอบให้ได้ไม่ใช่เพียงการเล่นโวหาร

สอง พยายามหาทางเปลี่ยนความคิดของกลุ่มคนมากขึ้นเพราะต้องการพลัง โดยเขาอ้างอิงถึงงานศึกษาของ เอริกา เชโนเว็ธ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่หากประชากร 3.5% จากทั้งหมดมีการออกมาชุมนุมเรียกร้องอย่างต่อเนื่องจะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้สำหรับของไทยก็คือทำให้คน 2 ล้านคนมาร่วมสู้ได้ เพราะที่ผ่านมานอกจากปรากฏการณ์กลุ่มเฟซบุ๊กของปวิน ชัชวาลย์พงษ์พันธุ์และการมีข้อเรียกร้อง 10 ต่อสถาบันกษัตริย์ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมก็ไม่มีครั้งไหนที่ทำให้มีคนแสดงพลังกันเยอะขนาดนั้นอีกเลย เพราะคนที่มาชุมนุมตอนนี้ก็เป็นกลุ่มคนเดิมๆ ไม่ได้มีคนหน้าใหม่มาเท่าไหร่ แต่อาจารย์วิศวะฯ คนนี้ก็ไม่ได้คิดว่าจะทำเรื่องนี้ได้ง่ายๆ

“ถ้าสามารถเปลี่ยนความคิดคนด้วยเหตุผลอย่างเดียวได้ก็คงสำเร็จไปแล้ว แต่ว่าเมื่อคนที่มีความเชื่อฝังใจมาตลอดทั้งชีวิตคนไม่พร้อมจะเปลี่ยนเราก็ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เขาเชื่อมาทั้งชีวิตได้ยังไง ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นนะ ถ้าเรามีทีมที่พร้อมจะไปเปลี่ยนอาจจะใช้หลักการเผยแพร่ศาสนาหรือการขายตรงในการทำความเข้าใจกับกลุ่มคนที่เห็นไม่เหมือนเราแล้วก็เพิ่มจำนวนให้มากขึ้น ทำเหมือนเป็นเกณฑ์ชี้วัดว่าเปลี่ยนคนมาได้กี่คนแล้ว”

สาม ทุกครั้งที่เกิดการเผชิญหน้ากับตำรวจมันเกิดความตึงเครียดขึ้นอยู่แล้ว แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ชุมนุมจะโกรธเพราะมันเป็นความรุนแรงเวลาที่โกรธหรือเกลียดเราก็ด่าตำรวจมันทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ตัวเขาเองก็โกรธเวลาถูกฉีดแก๊สน้ำตาใส่ เขาคิดว่าชุมนุมควรมีลักษณะเป็นองค์กรจัดตั้งแล้วก็มีเหมือนทูตไกล่เกลี่ยจุดที่เกิดการปะทะ เขาคิดว่าในจังหวะที่กำลังจะเกิดการปะทะสามารถทำให้ตำรวจไม่กี่สิบนายเลือกที่จะไม่ใช้ความรุนแรงได้ลดจำนวนคนเจ็บคนตายได้ทุกครั้ง แต่ก็ต้องพยายามทำให้เจ้าหน้าที่มีอารมณ์ความรู้สึกมากกว่านี้

เขาคิดว่าวิธีการนี้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ชุมนุมไม่ได้ แต่ต้องเป็นทีมที่มีหน้าที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้ทำอย่างเป็นยุทธศาสตร์เพียงพอ เขาคิดว่าต้องทำถึงระดับที่ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการยอมเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือมีอารมณ์ร่วมกับผู้สั่งการหรือผู้มีอำนาจซึ่งต้องเริ่มทำก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ปะทะ แต่เขาก็ไม่คิดว่าจะสามารถทำได้ง่ายๆ เพราะต้องคิดถึงเรื่องยุทธศาสตร์เป็นหลักและต้องเป็นคนประนีประนอมอย่างมาก

“ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องลดการปะทะให้ได้มากที่สุด เพราะเราต้องคิดว่าหนึ่งคนที่เราทำให้เขาเบาลงได้ก็คือหนึ่งคนที่ทำให้ปลอดภัยได้ถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นจริงๆ” และเขาคิดว่าทีมนี้อาจจะสำคัญกว่าการ์ดเพราะการ์ดใช้เมื่อเกิดการปะทะแล้ว แต่ทีมนี้จะเริ่มก่อนที่จะเกิดการปะทะ และดึงความเป็นคนของเจ้าหน้าที่ออกมาให้ได้มากกว่านี้

สี่ การให้รางวัลกับผู้ชุมนุมบ้างเพราะเขาเห็นว่าที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งไม่สามารถทำให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมได้ ทำให้จำนวนคนลดลงทุกครั้งอย่างเห็นได้ชัด เพราะคนรู้สึกเหนื่อยแล้วก็ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเลย มันเป็นภาพของความเหนื่อยล้า และถ้ามองในมุมของการลงทุนก็ไม่คุ้มค่า แต่เขาก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องระวังในการทำเพราะอาจจะกลายเป็นเหยียดหยามคนที่ไม่ได้มาชุมนุม เขาคิดว่าสามารถเริ่มได้จากการเป็นรางวัลเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น มาครบกี่ครั้งจะได้เหรียญรางวัลหรือตุ๊กตาเป็ดเหมือนการเก็บสะสมระยะทางวิ่งในแอพพลิเคชั่นที่จะมีเหรียญตรา(badge) ให้

“ทำให้คนรู้ว่าครั้งนี้มาเหอะ มันสำคัญนะ เพราะไม่อย่างนั้นเราใช้เป้าหมาย(ข้อเรียกร้อง) เป็นเกณฑ์ในการให้คนมา เราไม่ถึงเป้าหมายของเราหรอก เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเขาหน้าด้านเราก็ต้องทำในหมู่พวกเราเองว่าให้มากันเถอะ”

ยังมีหวังเพราะมีความเปลี่ยนแปลงถึงมีวันนี้

พิม

พิม(สงวนชื่อสกุลจริง) อายุ 26 ปี

พิม(สงวนชื่อสกุลจริง) อายุ 26 ปี บอกว่าไม่ได้ผิดคาดที่สภามีมติไว้วางใจต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 10 คน

“แต่ถ้าถามว่ายังมีความหวังอยู่มั้ย ก็มีแหละ ถ้าคิดย้อนจากจุดเมื่อก่อนจนมาถึงวันนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงเยอะ มีการออกมาเรียกร้องในเรื่องที่ไม่คิดว่าจะมีคนกล้าพูด” พิมกล่าวถึงความหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ แต่ส่วนเรื่องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะยังเป็นนายกฯ ในอีกห้าปีข้างหน้าไหมเธอคิดว่าตอนนั้น ส.ว.ก็ยังอยู่ ซึ่งก็ต้องเอา สว.ออกไปก่อน หรือมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนจะมีเลือกตั้งใหม่

พิมบอกว่าเรื่องที่ได้ยินจากการอภิปรายแล้วอินที่สุดคือเรื่อง “ตั๋วช้าง” และเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ยื่นภาษีรายได้บุคคล 6 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่เธอพึ่งได้รู้ว่ามีอะไรแบบนี้ด้วย ซึ่งตนไม่พอใจ ที่เคยคิดว่าเลวร้าย ก็เห็นว่าเลวร้ายกว่าที่คิด

อาจารย์วัยเกษียณชี้ 'บ้านเมืองทรุดลงตั้งแต่ปี 50'

ชัยพันธุ์ รักวิจัย
ชัยพันธุ์ รักวิจัย วัย 71 ปี อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชัยพันธุ์ รักวิจัย วัย 71 ปี อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า วันนี้ตนตั้งใจมาร่วมกิจกรรมและขอเป็นกำลังใจให้คนรุ่นใหม่ พร้อมแสดงความเห็นเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองที่แย่ลงทุกวัน

"วันนี้ผมมาให้กำลังใจ ประชาชนและเยาวชนที่มาชู 3 นิ้ว" ชัยพันธุ์กล่าว

ชัยพันธุ์มองว่าวันนี้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกิจกรรมต่างๆ ในปีก่อน แต่ก็เข้าใจได้ว่าเป็นเพราะข้อจำกัดด้านสถานที่ เพราะบริเวณหน้ารัฐสภาเป็นสถานที่ปิด ไม่ใช่ลานโล่งกว้าง อีกทั้งสถานศึกษาทั่วประเทศยังไม่เปิด นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่เรียนออนไลน์ ทำให้ไม่สะดวกที่จะเดินทางมาในวันนี้ นอกจากนี้ ชัยพันธุ์ยังให้ความเห็นว่าคงใช้เวลาหลายปีกว่ากระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยจะสัมฤทธิ์ผล แม้พลังของคนรุ่นใหม่จะก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่เดือน แต่ก็แผ่วลงได้ โดยเปรียบกับการเป็นนักศึกษาที่ใกล้จะเรียนจบ มีไฟแรง กับคนที่จบออกมาแล้วทำงาน ความคิดหรือพลังชีวิตก็อาจจะลดลง

ชัยพันธุ์ให้ความเห็นเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันว่าแย่ลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับในอดีต แต่ชัยพันธุ์ย้ำว่าสถานการณ์ในอดีตกับปัจจุบันนั้นเทียบกันไม่ได้

"สำหรับผมมันเปรียบกับรุ่นนี้ไม่ได้ ตอนผมเรียนจบบ้านเมืองมันก็เปลี่ยน เราคิดว่ามันดีขึ้น แต่ตอนนี้มันกลับทรุดลง ในรอบ 10 ปีนี้มันทรุดลง ระหว่างปี 2520-2540 จนถึงช่วงเกือบ 2550 มันดูดีขึ้นนะ แต่พอหลังปี 2550 มันทรุดลง"

"ผมเองรู้สึกว่าสภาพตอนนี้มันหนักกว่าที่ผมอยู่ สมัยผมหนุ่มๆ ลานพระบรมรูปทรงม้ามันเป็นที่สาธารณะ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว เขาไม่เรียกลานพระบรมรูปทรงม้า เขาเรียกลานพระราชวังดุสิต สนามหลวงก็ไม่ใช่สนามหลวง สมัยผมเด็กๆ ผมไปซื้อหนังสือที่สนามหลวง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เดี๋ยวนี้จะจัดม็อบก็ไม่มีที่ยืน จะไปที่ไหนล่ะก็ที่โล่งกว้างไม่มี"

ชัยพันธุ์กล่าวทิ้งท้ายว่าตนขอเป็นกำลังใจให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกคน ทั้งยังฝากข้อความนักกิจกรรม 4 คนที่ถูกคุมขังอยู่ในตอนนี้ รวมถึงกลุ่มเดินทะลุฟ้าที่กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานคร

"ผมส่งกำลังใจไปให้ อานนท์-เพนกวิน-สมยศ-หมอลำแบงต์ ที่ศาลไม่ให้ประกัน และ กลุ่มเดินทะลุฟ้า จาก โคราช มา กทม. ทำให้สะท้อนใจว่าประวัติศาสตร์กำลังจะสร้างวีรบุรุษและทรราช  ต้องมี เหตุการณ์และใช้เวลาเสมอมา จึงต้องอดทนกับสิ่งที่เกิดขึ้น"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net