เปิดเนื้อหาร่าง 'พ.ร.ป.พรรคการเมือง' และ 'พ.ร.ป.เลือกตั้ง' ฉบับเพื่อไทยก่อนเข้าสภา 24-25 ก.พ. นี้

‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ ประธานคณะทำงานด้านการเมืองฯ พรรคเพื่อไทย เปิดร่าง 'พ.ร.ป.พรรคการเมือง' และ 'พ.ร.ป.เลือกตั้ง' ฉบับพรรคเพื่อไทย เดินหน้าทวงคืนการเลือกตั้ง คืนสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย เข้าสภา 24-25 ก.พ. นี้ ด้านรองประธานวิปฝ่ายค้านเชื่อแก้ไขกฎหมายลูกไร้ปัญหา แล้วเสร็จไม่เกิน พ.ค. 65 ชี้ ไม่มีพรรคการเมืองไหนได้ประโยชน์ให้ประชาชนตัดสินตอนเลือกตั้ง

22 ก.พ. 2565 ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านการเมือง รัฐธรรมนูญ ความเป็นประชาธิปไตยพรรคเพื่อไทย เปิดเผยรายละเอียดร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ... และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ... ของพรรคเพื่อไทยที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในวันที่ 24-25 ก.พ. 2565 โดยระบุว่าพรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีเป้าประสงค์แก้ไขในส่วนที่บทบัญญัติเดิมมีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ และเพิ่มในส่วนของสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมให้กับประชาชน มุ่งหมายคืนประชาธิปไตยให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเท่าที่จะทำได้

ชูศักดิ์ กล่าวว่า "ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส." ฉบับพรรคเพื่อไทย มีสาระสำคัญ 3 ข้อหลัก ดังนี้

1. การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หลักทั่วไปคือเอาคะแนนรวมทั้งประเทศมาหารด้วย 100 คน เมื่อหารแล้วจะได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จากนั้น เอาคะแนนรวมที่พรรคได้รับมาหารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนในส่วนนี้ ก็จะได้ว่าพรรคนี้มีได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนเต็มเท่าไร เบื้องต้นคิดจากจำนวนเต็ม ส.ส. 100 คนก่อน หากได้ ส.ส.ครบ 100 ถือว่าจบ แต่ถ้าคำนวณออกมาแล้วได้ ส.ส.ไม่ครบ 100 คน เช่น คำนวณแต่ละพรรคแล้วได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมา 98 คน ขาดไปอีก 2 คน ก็จะไปคิดเศษจากพรรคการเมืองอื่นๆ เข้าใจง่ายๆ เศษที่เป็นจุดทศนิยม พรรคเพื่อไทยเห็นว่าควรให้สิทธิแก่พรรคการเมืองที่ผลจากการคำนวณครั้งแรกไม่ถึงเกณฑ์ค่าเฉลี่ย เพื่อเปิดโอกาสให้กับพรรคการเมืองต่างๆ โดยหลักการนี้เคยใช้มาแล้วในการเลือกตั้งปี 2554 หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงนั้นเพียงแต่ในเวลานั้นพรรคที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำในรอบแรกจะถูกตัดออกไป

2. การให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหมายเลขเดียวกัน เป็นวิธีที่พรรคการเมืองนิยมและประชาชนชื่นชอบเพราะไม่สร้างความสับสนให้ประชาชนในการเลือกตั้ง แต่ปัญหาใหญ่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ไม่ได้แก้ไขในมาตราที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ มาตรา 90 ไม่ได้มีการแก้ไข ซึ่งเป็นการกำหนดให้ส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตก่อนผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งมีการตีความกันว่าต้องให้มีการสมัครแบบเขตก่อนถึงจะสมัครแบบบัญชีรายชื่อ ทำให้มีความกังวลกันอยู่ พรรคเพื่อไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถทำได้ คือ ให้มีการเปิดรับสมัคร ส.ส.เขต ก่อน แต่ยังจะไม่ได้รับหมายเลข จากนั้นจึงเปิดรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อในวันที่สอง ซึ่งจะมีการจับหมายเลขเลยในวันนั้น จะได้หมายเลขของพรรคการเมืองแล้วกำหนดให้การสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จบก่อนการปิดรับสมัคร ส.ส. เขต กำหนดให้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ไม่น้อยกว่า 3 วัน วิธีการนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะสามารถจดจำเบอร์พรรคและเบอร์ผู้สมัครที่ตัวเองชื่นชอบได้ง่าย

3. การแก้ไขรายละเอียดในประเด็นอื่นๆ เช่น การเพิ่มกรรมการประจำหน่วยจาก 5 คนเป็น 7 คน เนื่องจากมีการเพิ่มเขตเลือกตั้ง การแบ่งเขตการเลือกตั้งที่นอกจากต้องเป็นเขตติดต่อกันแล้วต้องให้ประชากรของทุกๆ เขตแตกต่างกันไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ และแก้ไขเรื่องระยะเวลาต่างๆ เพื่อความสะดวกของพี่น้องประชาชน

ชูศักดิ์ ศิรินิล
 

สำหรับ "ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง" พรรคเพื่อไทยได้เสนอแก้ไขหลายมาตรา หลังจากได้พิจารณาตั้งแต่มาตราแรกจนมาตราสุดท้ายแล้วเห็นว่านอกจากมาตราที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ก็ควรเสนอแก้ไขมาตราอื่นๆ เพิ่ม เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองและประชาชนมากขึ้น โดยประเด็นสำคัญที่เสนอให้มีการแก้ไข 6 ประเด็น ดังนี้

1. ยกเลิกการเก็บค่าบำรุงพรรคการเมือง เนื่องจากสร้างความยุ่งยากและข้อจำกัดให้ประชาชนพอสมควร รวมทั้งสร้างปัญหาแก่พรรคการเมืองหลายประการ โดยเฉพาะการเสียค่าบำรุงเป็นรายปี การไม่ชำระค่าบำรุงสองปีติดต่อกันทำให้ขาดจากสมาชิก แต่ถ้าพรรคการเมืองใดเห็นสมควรจะเรียกเก็บก็ให้กำหนดในข้อบังคับพรรค

2. ความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ จึงมีการเสนอให้ยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเทียบเท่ากับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. เพราะการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองควรเป็นสิทธิเสรีภาพ เป็นสิทธิทางการเมืองและเป็นสิทธิพลเมืองที่สำคัญของประชาชน จึงแก้ไขให้ความเป็นสมาชิกพรรคแตกต่างจากคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมากขึ้น

3. การเสนอให้มีแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดกรณีการยินยอมให้บุคคลภายนอกครอบงำ ควบคุมสั่งการทำให้พรรคการเมืองขาดความเป็นอิสระ ที่ถือเป็นความผิดถึงขั้นยุบพรรค พรรคเพื่อไทยเห็นว่า

3.1 อะไรคือการครอบงำ ควบคุมและสั่งการจะต้องมีความชัดเจน อีกทั้งกฎหมายในข้อนี้ยังเขียนต่อไปด้วยว่า 'ต้องทำให้พรรคการเมืองนั้นขาดความเป็นอิสระ' พอเขียนเช่นนี้ทำให้มีการตีความกันวุ่นวายไปหมด ดังนั้นจะต้องทำความกระจ่างในเรื่องนี้ จึงคิดว่าสังคมการเมืองการขอคำปรึกษาหารือกับบุคคลต่างๆ ควรเป็นเรื่องปกติ

3.2 เรายืนยันหลักการว่า การพูดจาทำความเข้าใจให้คำปรึกษา คำแนะนำ แต่พรรคยังเป็นอิสระในการทำหน้าที่หรือตัดสินใจ เรื่องนั้นไม่ควรเป็นการครอบงำ ควบคุม สั่งการ จึงมีการเพิ่มข้อความในบทบัญญัตินี้เป็นวรรคสองว่า "การให้คำปรึกษา การให้คำแนะนำใดๆ ก็ตาม ไม่ถือเป็นการครอบงำ ควบคุม สั่งการ ถ้าการให้คำปรึกษานั้นเป็นเพียงการเสนอแนะ ทำความเข้าใจ โดยที่อำนาจการตัดสินใจยังคงอยู่กับพรรค" 

3.3 ต้องย้ำว่าไม่ได้มีการตัดบทบัญญัติเดิมแต่อย่างใด เพียงแต่เพิ่มข้อความให้เกิดความกระจ่าง  มีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและให้มีความเป็นธรรมมากที่สุด เพื่อไม่ให้มีการใช้กฎหมายมาตรานี้ไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

4. การจัดทำไพรมารีรับฟังความเห็นประชาชนในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยที่จะจัดทำเพราะแสดงถึงการมีส่วนร่วมของสมาชิก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการส่งผู้สมัคร แต่ที่ผ่านมาในการปฏิบัติยังเกิดความขัดแย้งกับความเป็นจริงการให้สมาชิกเพียง 50 คนมาลงคะแนนไม่น่าจะเรียกได้ถนัดนักว่าเป็นไพรมารี หลักการควรใช้เขตจังหวัดเป็นเขตรับฟังความคิดเห็น เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวและเป็นรูปธรรมว่ามีการไพรมารีรับฟังความเห็นประชาชนอย่างแท้จริง

5. ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำนโยบายต้องแสดงที่มาของรายได้ ความคุ้มค่า ความเสี่ยง เพราะไม่มีผลเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ เห็นได้จากการเสนอนโยบายของพรรคการเมืองที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้จริง จึงให้เป็นความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการนำเสนอและเป็นวิจารณญาณของพี่น้องประชาชน ในการตรวจสอบ

6. กำหนดให้การเลิกพรรคการเมืองจะต้องผ่านที่ประชุมใหญ่โดยคะแนนเอกฉันท์ การยุบพรรคการเมืองมีความเหมาะสม ไม่ยุบกันได้ง่ายๆ การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นกรณีที่สำคัญจริงๆ ไม่ใช้การเลิกหรือการยุบพรรค เช่น เฉพาะการล้มล้างการปกครองและต้องมีพยานหลักฐานเป็นประจักษ์ ไม่ใช้การเลิกหรือยุบพรรคเป็นประโยชน์หรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่

ชูศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคการเมืองลงเลือกตั้งมาแล้วและได้เป็น ส.ส. แต่วันดีคืนดีมาเลิกพรรคเพื่อย้ายไปอยู่พรรคอื่น ซึ่งเท่ากับพูดปดกับประชาชน จึงเสนอว่าถ้าจะมีการทำอย่างนี้ก็จะต้องผ่านที่ประชุมใหญ่ ที่จะต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่ใช่อยู่ดีๆ มีมติคณะกรรมการบริหารพรรคเลิกพรรคการเมืองเลย ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับการทรยศประชาชน 

นอกจากนั้น เราเสนอบทเฉพาะกาลสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่าหากมีการทำตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไว้แล้วให้ทำได้ทุกเขต เมื่อมีการแบ่งเขตใหม่อาจมีผลทำให้เหลือสมาชิกไม่ถึง 100 คนก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ หากมีเขตใหม่และมีสมาชิกอยู่ในเขตใหม่ที่เพิ่มขึ้นแล้วก็สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องเลือกตัวแทนขึ้นอีก

ขณะที่ สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า การประชุมรัฐสภาว่าด้วยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ในวาระรับหลักการ ซึ่งมีกฎหมายสำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ 'พ.ร.ป.พรรคการเมือง' และ 'พ.ร.ป.เลือกตั้ง' ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ได้รับการแก้ไขไปแล้ว

สมคิด เชื้อคง
 

สมคิดกล่าวว่าในส่วนของพรรคการเมืองขนาดเล็กที่กลัวว่าตัวเองจะเสียประโยชน์หากมีการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งใหม่ จนนำไปสู่การยื่นตีความตามกฎหมาย เป็นสิทธิที่จะทำได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าการแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับแก้โดยระบบรัฐสภา มีทั้ง ส.ว. และ ส.ส. เห็นชอบร่วมกันให้มีการแก้ไข และผ่านกฎหมายนี้และมีการลงพระปรมาภิไธยแล้ว หากพรรคเล็กจะร้องเพื่อตนเองไม่น่าจะเป็นไปได้

นอกจากนี้ สมคิดยังกล่าวด้วยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่มีพรรคการเมืองไหนได้เปรียบ เพราะไม่ว่าอย่างไรคนตัดสินคือประชาชน ไม่ว่าพรรคใหญ่หรือพรรคเล็กหากประชาชนไม่เลือกก็ไม่มีความหมาย พรรคเล็กก็ต้องทำงานเพื่อให้เข้าตาประชาชน ซึ่งพรรคเพื่อไทยเข้าใจ แต่พรรคเล็กต้องเข้าใจและอดทนเพื่อพัฒนาทางการเมืองต่อไป

“ในส่วนการพิจารณา หลังจากลงมติแล้ว มีการตั้งกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาต่อไป เชื่อว่าไม่น่าจะเกิน 2 เดือนครึ่งก็น่าจะแล้วเสร็จ และเมื่อเปิดสมัยประชุมใหม่ก็จะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 เชื่อว่าการแก้ไขกฎหมายลูกน่าจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้ และสามารถใช้กฎหมายฉบับใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ทันอย่างแน่นอน” สมคิด กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท