Skip to main content
sharethis

ตามรอยคนไทยถูกหลอกไปทำงานในธุรกิจผิดกฎหมายในกัมพูชา ปรากฏการณ์ใหม่เมื่อประเทศเพื่อนบ้านเป็นจุดหมายปลายทางของชาวไทยและธุรกิจสีเทา-ดำ ในวันที่แรงจูงใจทางการเงินและเทคโนโลยีทำให้การปิดชายแดนไม่อาจปิดกั้นการย้ายถิ่น

เมื่อราวเดือน พ.ค. 2564 เล็ก (นามสมมติ) อายุ 36 ปี เดินทางไปยังเมืองสีหนุวิลล์ ราชอาณาจักรกัมพูชาพร้อมสามี น้องสาวและลูกสาวเพื่อทำงานตามได้รับคำชักชวนจากคนรู้จัก บอกว่าเป็นการทำงานออนไลน์ เป็นแอดมินตอบแชท ตอบข้อความของลูกค้า โดยได้เงินเดือนละราว 30,000 บาท ไม่รวมค่านายหน้า

“คนที่ชวนไปก็จะเป็นคนรู้จักที่บ้าน เป็นเพื่อน แต่ก็ไม่ได้สนิทกันเท่าไหร่ คนนั้นชวนที คนนี้ชวนที คนในหมู่บ้านก็ไปกันเยอะ เราก็รู้ว่าเขาไปแล้วเขาก็ได้ตังค์ไง ก็เลยอยากลองไปดู พอเขาชวนก็ไปกับเขา”

“เหมือนตรงนี้เขาอยากได้คน เขาจะเอาเยอะอยู่ อยากไปมั้ย เงินเดือนสามหมื่น (บาท) แล้วก็ค่าเปอร์เซ็นต์ต่างหาก ก็รวมๆ แล้ว 4-5 หมื่น รวมๆ ดูแล้วก็ได้เยอะดี แล้วก็ว่างงานด้วย ก็เลยชวนกันไป”

เวลาผ่านไปเกือบ 2 เดือน เล็กและเพื่อนฝูงกว่า 20 คนร้องขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง หลังถูกบีบบังคับให้ทำยอดจากธุรกิจที่มีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ หากใครทำยอดไม่ได้ก็จะถูกหัวหน้างานลงโทษด้วยการให้วิ่งรอบสนามบาสเกตบอลเป็นเวลา 30-60 นาที หรือไม่ก็ถูกทำร้ายร่างกาย เมื่อมีคนขอลาออกจึงได้รู้ว่าพวกเขาและเธอมีราคาค่าหัวกันอยู่ที่ราวหลักหมื่นไปจนถึงสองแสนบาท และยังถูกขู่ว่าจะขายต่อให้นายจ้างชาวจีนที่ทำธุรกิจในกัมพูชา 

ไม่เคยมีความช่วยเหลือใดไปถึงพวกเธอจนกระทั่งถูกปล่อยตัวตามมีตามเกิดเมื่อธุรกิจสีเทาเองก็เจ๊งได้ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ในโมงยามที่โควิด-19 ทำให้ชายแดนปิดสนิท

จากเชียงรายสู่ ‘เอรี่วันบาย’

การเดินทางของเล็กและครอบครัวเริ่มต้นจากการนั่งเครื่องบินจาก จ.เชียงรายไปที่สนามบินดอนเมือง จากนั้นมีรถตู้มารับไปลงที่ จ.สระแก้ว ชายแดนไทย-กัมพูชา จากนั้นก็ไปพักที่โรงแรมๆ ติดชายแดน ในช่วงประมาณหนึ่งทุ่ม พวกเธอขึ้นรถกระบะไปรอข้ามแดนในช่วงค่ำ ที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะการเดินทางข้ามแดนของเธอเป็นการลักลอบข้ามแดนด้วยช่องทางธรรมชาติตลอดทั้งคืน

“เขาก็จะให้พวกหนูปิดเสียงโทรศัพท์ ห้ามเสียงดัง ไปนั่งรออยู่ตรงสวนอ้อยของเขมร บางคนก็ได้ไปรอที่สวนปาล์ม แล้วก็เดินทางต่อ มาจนครบ คือเขาไม่ได้รับแค่เราสี่คนนะคะ เขาจะรอจนกว่าคนไทยที่โทรหาเขาก่อนหน้านั้นมาจนครบกันหมด รวมๆ ก็ราว 40-50 คนต่อเที่ยว”

“คนเยอะมาก ก็คือเดินกันเป็นแถวๆ เดินไปถึงปอยเปต เดินในป่า เดินตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงตีสามตีสี่ เดินแบบไม่มีไฟ เดินแบบมืดๆ บางคนก็รองเท้าขาด บางคนก็เหนื่อย ท้อ”

“พากันวิ่งบ้าง หลบบ้าง หลบทหารเขมรบ้าง… ทหารจะอยู่ตามป่าก็เยอะอยู่ค่ะ แต่เขาจะมีคนตลอดทางเลย ตลอดเส้นทางที่เขาพาเดิน คือคนของเขาเป็นสี่สิบ ห้าสิบ หกสิบ เป็นร้อยเลยก็ว่าได้ อยู่ตลอดทาง เขาเหมือนจะให้สัญญาณกัน เป่าปากกัน ผิวปากให้กัน ฝั่งนู้นตอบรับก็เหมือนว่า โอเค ผ่านได้ ก็ส่งให้เป็นทอดๆ ไป ฝั่งนู้นบอกว่าโอเค ฝั่งที่ไปรับพวกหนูมาก็ไม่ไปละ ก็จะให้อีกฝั่งที่มารออยู่ข้างป่าพาไปอีกต่อหนึ่ง จะเป็นอยู่ 4-5 ต่อเลย บางคนก็ปีนอยู่บนต้นไม้บ้าง ซ่อนอยู่ในป่าบ้าง เขาจะผิวปากให้กัน ส่งสัญญาณให้กัน”

ราวตีสี่ กลุ่มข้ามชายแดนได้เดินทางถึงปอยเปต เมืองใหญ่ติดชายแดนไทยที่ อ.อรัญประเทศ ผู้ลักลอบได้บอกให้พวกเธอนอนพักบริเวณป่าหรือสวนแถวนั้นจนเช้า จากนั้นก็มีรถมารับในเวลา 6.00-7.00 น. พวกเธอถูกแยกกลุ่มออกไปตามจุดหมายปลายทาง ได้แก่ ปอยเปต กรุงพนมเปญ และสีหนุวิลล์ และมีรถเก๋งมารับไปขึ้นรถตู้ที่จะพาไปยังจุดหมายปลายทาง

เล็กและกลุ่มที่แยกมาแล้วถูกนำตัวไปที่กรุงพนมเปญ นายหน้าเล่าให้พวกเธอฟังว่าเขาเป็นชาวจีน อยู่อาศัยในพนมเปญมา 20-30 ปีแล้ว พวกเธอนอนที่นั่นหนึ่งคืนก่อนที่รถตู้จะมารับไปส่งที่เมืองสีหนุวิลล์ เมื่อถึงแล้ว พวกเธอถูกตรวจเชื้อโควิดและกักตัวหนึ่งอาทิตย์ คนที่มีอาการป่วยจะถูกกักตัวแยก จากนั้นชีวิตใหม่ของเธอในสีหนุวิลล์ก็เริ่มต้นขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษของกัมพูชา ในอาคารชุดที่เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน 

ภาพถ่ายของอาคารที่เล็กทำงาน มีป้ายภาษากัมพูชา ใจความว่า ห้ามเข้า-ออก มีผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ข้างใน

ตำแหน่งที่ทำงานของเล็กที่ได้รับจากการแชร์โลเคชั่น

เล็กทำงานในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ชื่อว่า ‘เอรี่วันบาย’ แอปพลิเคชั่นประมูลสินค้าออนไลน์ที่มีระบบสุ่มหมายเลขผู้ใช้สินค้าเพื่อลุ้นรับรางวัล เธอและเพื่อนๆ มีหน้าที่ชวนเพื่อนคนไทยให้นำเงินมาลงในระบบ อนึ่ง ใน URL ของหน้าเสนอขายแอปพลิเคชันใช้ชื่อแอปพลิเคชันว่า everyone.xichen ไม่ใช่ everyone buy 

ภาพตัวอย่างแอปพลิเคชันเอรีวันบาย

อาจจะเพราะเศรษฐกิจหรือความไม่น่าเชื่อถือของแอปพลิเคชันที่การดาวน์โหลดจากไอโฟนจะต้องทำการตั้งค่าด้วยมือถึงจะสามารถดาวน์โหลดได้ หรือระบบประมูลที่ผู้แพ้ก็ถูกกินเงินประมูลอยู่ดี ทำให้สุดท้ายทีมงานมักจบลงด้วยการทำยอดไม่ครบ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษหรือทำร้ายร่างกาย พวกเธอจึงตัดสินใจจ้างให้เพื่อนคนอื่นเข้ามาใช้บริการแอปฯ 

“จากที่ว่าตอนแรกเริ่มจากให้ทำงาน ให้หาลูกค้า พอให้หาลูกค้า บางคนก็หาไม่ได้ วันหนึ่งให้หายี่สิบคน สามสิบคน สี่สิบคน วันนี้ให้หาห้าคน อีกวันหนึ่งสิบคน อีกวันหนึ่งยี่สิบ สามสิบ สี่สิบ จนให้ครบหนึ่งร้อยคน ภายใน 15 วัน ถ้าหาไม่ได้ก็ให้วิ่ง พอให้วิ่งแล้วบางคนก็วิ่งไม่ไหว วิ่งจนเหนื่อย จนล้า พวกหนูก็ไม่รู้ว่าพวกหนูมีค่าตัว ค่าหัว ค่ายา ค่าอะไรไม่รู้ว่ามาจากไหน เพื่อนอีกคนหนึ่งเขาวิ่งไม่ไหวแล้ว เขาก็ขอกลับ นายจ้างก็เลยบอกว่า คิดดีๆ นะจะขอกลับน่ะ”

“เขาก็พูดคำหยาบว่า พวกมึงเนี่ย มีค่าหัวคนละแสน แล้วก็ที่กักตัวอีก ให้ยาอีกคนละแสน ก็คือรวมๆ แล้วสองแสน แล้วเขาก็บอกว่า ค่ายาและค่าตัวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และห้ามถามกันเด็ดขาดว่าคนละเท่าไหร่ เพราะว่ากูพอใจจะเอาคนไหนเยอะ พวกมึงก็ต้องออกเยอะ ถ้าคนไหนถูกใจกูก็ให้ถูกหน่อย ก็คือมาแบบงงๆ (นายจ้าง) บอกว่าเงินเดือนก็ห้ามถาม เงินเดือนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน”

โควิด+งานออนไลน์ = การหลอกลวงยุคใหม่

เล็กและเพื่อนอีกรวม 7 คนไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือแต่อย่างใด เธออ้างว่านายจ้างได้มาเล่าให้ฟังว่ามีตำรวจไปหาที่สำนักงานแล้ว 2-3 ครั้งแต่ก็เข้าไม่ถึงตัว ท้ายที่สุด โมเดลธุรกิจของเอรี่วันบายก็ไปไม่รอด แม้นายจ้างพยายามปรับเปลี่ยนเป็นหวยเบอร์รายนาที แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายนายจ้างก็ทิ้งพวกเธอออกมาพร้อมเงินจำนวนหนึ่งเพื่อเดินทางกลับประเทศ พวกเธอได้รับการประสานงานจากสถานทูตไทย ณ กรุงพนมเปญและเดินทางกลับเข้าประเทศไทยได้เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2564 เหลือเพียงชาวไทยอีกไม่เกิน 10 รายที่ประกอบธุรกิจกลุ่มไลน์วาบหวิวต่อในสีหนุวิลล์ จนถึงปัจจุบัน (ก.พ. 2565) ยังไม่ทราบชะตากรรมของพวกเธอ

แหล่งข่าวอีกรายปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์เนื่องจากกลัวการถูกติดตามและทำร้ายในภายหลัง อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวรายนี้ได้เดินทางกลับเข้าประเทศอย่างปลอดภัยแล้ว

ผู้สื่อข่าวใช้เวลากว่าสามเดือนในการติดต่อสถานการณ์และประสานงานขอความช่วยเหลือระหว่างญาติและหน่วยงานรัฐ ระหว่างนี้ ญาติของเหยื่อเล่าว่า มีการติดต่อสถานีโทรทัศน์เอกชนแห่งหนึ่งเพื่อขอให้ทำข่าว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับเรื่องการเผยแพร่

สภาพเท้าของเพื่อนร่วมงานของเล็กที่บวมเป่งจากการถูกทำโทษด้วยการวิ่ง

เรื่องราวของเล็กและเพื่อนเป็นเพียงเศษเสี้ยวของคนไทยจำนวนมากที่ไปเผชิญโชคต่างแดนในช่วงการระบาดของโควิด-19 นฤชัย นินนาท ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ หน่วยงานภายใต้กรมการกงสุลที่มีหน้าที่ช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างแดน ให้ข้อมูลกับประชาไทเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ว่า ตลอดช่วงปี 2564 มีการช่วยเหลือแรงงานไทยและผู้ที่อาจเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในช่วงเดือน ม.ค. - ก.ย. ถึง 226 คน มากกว่าปี 2563 ทั้งปีที่มีการช่วยเหลือกับไทยที่ 126 คน โดยประเภทการทำงานที่ถูกหลอกลวงมากที่สุดคือการหลอกลวงไปค้าประเวณีในต่างประเทศและแรงงานประมง โดยประเภทแรกมักพบมากในประเทศแถบตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน โอมาน

ในส่วนกรณีของกัมพูชา ในช่วงปี 2564 มีการช่วยเหลือคนไทยที่ร้องขอความช่วยเหลือผ่านกรมการกงสุลและสถานทูตไทย ณ กรุงพนมเปญเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยช่วงเดือน ส.ค. - ธ.ค. มีจำนวนการร้องขอความช่วยเหลือเดือนละราว 25 กรณี มากกว่าช่วงอื่นของปีที่จะตกเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 5-6 กรณี รวมแล้วมีการช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในลักษณะนี้รวมอยู่ที่ 500-700 ราย

“อย่างแรกก็จะไปทำงานเป็นออนไลน์คาสิโน ซึ่งมันผิดกฎหมาย เขาก็จะให้ทำงานในนั้น ให้โทรติดต่อชักชวนคนมาเล่นพนันออนไลน์ต่างๆ อันที่สอง ไปทำเป็นแก๊งคอลล์เซนเตอร์ แก๊ง sms หรือแก๊งทำเว็บไซต์ สื่อโซเชียล ออนไลน์ต่างๆ เพื่อจะชักชวน หลอกลวงคนไทยให้ลงทุน หรือหลอกเงินคนไทย อันนี้เป็นงานที่ได้รับมอบหมายซึ่งไม่ใช่งานที่ตกลงกันไว้ตอนต้น และถ้าไม่ทำ ก็จะถูกกักขัง อดอาหาร อาจจะถูกทำร้ายร่างกายด้วย และก็อาจจะถูกข่มขู่ว่าจะขายต่อให้กับนายจ้างคนต่อไป”

ผอ.กองการคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศเล่าว่า สถานทูตไทยพบว่ามีข้อจำกัดอยู่สองประการในการดำเนินการช่วยเหลือ ประการแรกคือเวลาผู้ตกทุกข์ร้องขอความช่วยเหลือผ่านสื่อออนไลน์ หรือทางโทรศัพท์ นายจ้างอาจทราบเรื่องก่อนหน่อยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ และนายจ้างอาจจะเข้าทำโทษคนที่ร้องเรียน ประการที่สอง กระบวนการหลังการช่วยเหลืออาจใช้เวลา เพราะต้องมีการสืบสวนสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่รัฐกัมพูชา กระบวนการนี้อาจใช้เวลาได้ถึงหนึ่งเดือน

สิ่งนี้ก็สอดคล้องกับกระบวนการที่เล็กพบเจอ ก่อนที่จะถูกนายจ้างปล่อยลอยแพออกมา

“ตำรวจก็ช่วยไม่ได้ เหมือนก่อนเข้ามาตำรวจก็บอกก่อนว่าวันนี้จะเข้ามาตรวจนะ ทหาร พวกทหารเขมรก็จะบอกข้างในก่อนว่ามีคนไทยไปแจ้งสถานทูตไทยนะ แล้วพรุ่งนี้จะเข้ามา มันจะมีกรณีผู้หญิงเขมรคนหนึ่ง ข้างในนี้จะมีขายตัวด้วย เป็นคาราโอเกะ มีผู้หญิงขายตัว แล้วผู้หญิงเขมรคนนี้เขาตั้งใจจะมาขายตัว แต่ทีนี้หน้าตาเขาไม่ผ่าน”

ภาพบุคคลที่เล็กอ้างว่าเป็นทีมหัวหน้าคนงาน ในสนามบาสเก็ตบอลที่เอาไว้ทำโทษคนที่ทำยอดไม่ได้

“เขาก็เลยเอาผู้หญิงเขมรคนนี้มาทำงานแอดมินกับพวกหนู แต่ผู้หญิงคนนี้พูดไทยไม่ได้ แล้วเขาจะทำงานแอดมินได้ยังไง เขาก็เลยไม่ทำ เขาบอกว่างั้นก็ให้เอาเขากลับ นายจ้างบอกว่าพอถึงแล้วถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ มาถึงแล้ว ค่าตัว ค่าหัวเธอก็คือแสนหนึ่ง เอาตังค์มาจ่ายถ้าอยากจะกลับ ผู้หญิงเขมรก็ไม่มีตังค์ เขาก็แจ้ง ตม. แจ้งสถานทูตเขมรนั่นแหละ ก็ช่วยเขาไม่ได้เหมือนกัน ก็ออกไปไม่ได้ ขังเขาไว้เป็นเดือนๆ ในห้อง”

ปัญหาใหม่สำหรับทุกฝ่าย

จากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นและผู้บังคับใช้กฎหมาย พบว่าเรื่องราวการหลอกไปทำงานเช่นนี้เพิ่งเป็นที่พบเห็นหลังจากการระบาดของโควิด-19 รายงานพิเศษของนิคเคอิ เอเชียน รีวิวเมื่อเดือน ก.ย. 2563 ระบุว่าธุรกิจการพนันและธุรกิจสีเทาหลั่งไหลมายังพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในกัมพูชาเพื่อหนีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดในประเทศจีนและส่วนอื่นๆ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเหยื่อที่ถูกหลอกมาทำงานและประสบชะตากรรมแบบเล็กก็มีทั้งคนจีนและคนฟิลิปปินส์

สภาพการทำงานที่เล็กแอบถ่ายภาพออกมา

ประวิทย์ ร้อยแก้ว อัยการกองคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด เล่าว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยมีคดีจากกัมพูชาที่ชี้ชัดว่าเป็นค้ามนุษย์เลย สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้คือสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการหาโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ในช่วงล็อกดาวน์และโควิด-19 ระบาด ซึ่งสามารถพบลักษณะการไปทำงานเช่นนี้ในลาวและพม่าเช่นกัน 

ในส่วนของกระบวนการทางกฎหมาย เมื่อช่วยเหลือคนไทยกลับมาแล้วก็จะมีการสัมภาษณ์ข้อมูลเพื่อคัดกรองว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงาน หรือได้ค่าแรงที่ไม่ตรงตามสัญญา เพื่อจัดหมวดหมู่ผู้เสียหายและหมวดหมู่การดำเนินคดีด้วยข้อหาที่ไม่เหมือนกัน

“ส่วนพวกนายจ้าง ทางฝั่งนู้น (กัมพูชา) ก็จะพูดคล้ายๆ กันว่าไม่น่าจะใช่คนในประเทศกัมพูชาเอง อาจจะเป็นคนจากประเทศอื่น ซึ่งตอนนี้เราก็ยังหาข้อมูลยืนยันไม่ได้ชัดว่าเป็นบุคคลสัญชาติไหนกันแน่ แต่เท่าที่ฟังในเบื้องต้นน่าจะไม่ใช่คนกัมพูชา แต่อาจจะมีคนกัมพูชาเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง แต่หมายถึงเจ้าของ (ไม่น่าจะใช่คนกัมพูชา)”

ประวิทย์เล่าว่า ทางตำรวจไทยกับกัมพูชาได้มีการพูดคุยกันเพื่อดำเนินการในกรณีการหลอกคนไทยไปทำงาน ซึ่งถือเป็นบทบาทเชิงรุกที่มีความจำเป็นต้องทำ เพราะคาดว่าคดีแบบนี้คงเกิดขึ้นเยอะในช่วงล็อกดาวน์และโควิด-19 ระบาดจนคนต้องออกไปแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ นอกจากนั้น การมีบทบาทในการไปทลายรังในต่างแดนได้ก็จะเป็นแต้มบวกให้ภาพลักษณ์ของไทยในเรื่องความตั้งใจในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย

ภาพการประชุมจากข่าวความร่วมมือไทย-กัมพูชา ทลายรังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย)

“เจ้าหน้าที่ของไทยอาจจะต้องมองไปข้างหน้าว่า นอกเหนือไปจากการเก็บพยานหลักฐาน เราอาจจะต้องไปคุยกับประเทศซึ่งผู้ต้องหาเป็นบุคคลสัญชาตินั้นด้วย เพื่อขอความร่วมไม้ร่วมมือกับเขา เพราะมันจะมีเรื่องของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เรื่องนู่นนี่นั่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีก เพราะหลายประเทศเขาจะปฏิเสธไม่ยอมส่งคนของประเทศตัวเองไปให้ถูกดำเนินคดีในประเทศอื่น”

“สมมติว่า ประเทศซึ่งผู้ต้องหาเป็นคนสัญชาตินั้นอยู่ เขาเกิดไม่ยอมที่จะให้มีการจับกุม หรือส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ก็ต้องหาทางที่จะขอให้ประเทศนั้นๆ ดำเนินคดีกับคนของเขา ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดน เรื่องขอให้ประเทศเจ้าของสัญชาติดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อลงโทษคนของเขา ในประเทศของเขาเอง” ประวิทย์กล่าว

อัยการคดีกองค้ามนุษย์เล่าต่อไปว่า การทำคดีค้ามนุษย์ข้ามแดนมีความยากลำบากอยู่ เนื่องจากบางครั้งการตระหนักถึงปัญหาการค้ามนุษย์ในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน บางครั้ง บางประเทศก็ให้ความสำคัญกับการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายมากกว่า ทำให้การประสานงานขอพยานหลักฐานที่จะใช้ดำเนินคดีมีความยากลำบากและล่าช้า และบางครั้งกำแพงทางภาษาก็เป็นอุปสรรค และด้วยลักษณะคดีที่ยากและกินเวลานาน ก็อาจทำให้เจ้าหน้าที่บางคนเลือกที่จะไม่ทำคดีนี้และเลือกไปเก็บคดีที่ใช้เวลาน้อยและง่ายกว่า

“บางประเทศปลายทางก็ไม่ค่อยเข้าใจ และไม่ค่อยให้ความร่วมมือ หรือบางครั้ง พยานหลักฐาน ต้องบอกว่าระบบกฎหมายมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ในแง่ของพยานหลักฐานก็อาจจะแตกต่าง บางครั้งอาจมีการดำเนินคดีในศาลของเขา แต่กระบวนการและวิธีการไม่เหมือนกัน พยานหลักฐานที่เขาใช้ก็อาจจะไม่ค่อยสอดคล้องกับพยานหลักฐานที่เราต้องการเท่าไหร่”

“อีกเรื่องหนึ่งก็อาจจะเป็นกรณี ว่า การสืบสวนสอบสวนระหว่างประเทศมันใช้เวลามาก บางประเทศ ไม่ระบุแล้วกันว่าประเทศไหน สมมติเราขอความร่วมมือ ขอพยานหลักฐานไปอย่างเป็นทางการ เป็นปีก็ไม่ได้ บางครั้งเราก็ไปคุยกับเขา เขาก็บอกว่าไม่รู้เหมือนกันว่าต้องทำยังไง เพราะสิ่งที่เราขอไป เขารู้ว่าขออะไร แต่ในประเทศของเขา เขาก็ไม่รู้ว่าจะส่งคำร้องแบบนี้ไปให้หน่วยงานไหนดำเนินการให้”

คัทลียา เหลี่ยมดี นักวิจัยประจำศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่าการระบาดของโควิด-19 เป็นจุดตัดที่สำคัญสำหรับการเคลื่อนย้ายของประชากรในลักษณะนี้ เดิมทีธุรกิจสีเทาอย่างคาสิโนหรือสถานบันเทิงที่กัมพูชานั้นมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนไทยอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถรับลูกค้าได้เนื่องจากมาตรการปิดชายแดน ธุรกิจก็ต้องหาทางไปต่อ การเข้ามาของเทคโนโลยีออนไลน์และแรงจูงใจจากช่องทางทำเงินใหม่ๆ ที่ชาวไทยมองหา ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการย้ายถิ่นแบบนี้ขึ้น

“ที่ชุมชนชายแดนครึกครื้นได้ส่วนหนึ่งก็เพราะคาสิโน การเคลื่อนย้ายมักจะอยู่ที่ชายแดน คนไม่ได้เดินทางไปเสียมเรียบ ไปพนมเปญเยอะขนาดนั้น แต่อยู่ตรงนั้นและใช้จ่ายตรงนั้น เมื่อโควิดเกิดขึ้น ชายแดนถูกปิดสนิท กิจกรรมอะไรที่คนเคยทำปกติมันก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติ”

“ธุรกิจคาสิโนออนไลน์ที่เฟื่องฟูมากๆ ในยุคโควิด ส่วนหนึ่งก็คิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งองการพยายามหารายได้ของกลุ่มมิจฉาชีพที่พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเราก็จะเห็นจาก sms ที่ทุกคนน่าจะได้กัน จากเดทติ้งแอปฯ ที่เอารูปใครก็ไม่รู้มาคุยแชทเพื่อหลอกไปเจอ ไปคุย หรือโอนเงินให้ คาสิโนออนไลน์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้มนุษย์มากขึ้น อย่าง sms อาจจะใช้แค่เครื่องแปลหรือคนติดต่อ แต่คาสิโนออนไลน์ที่ทำให้คนไทยสนใจยอมเสี่ยงชีวิตไปทำงานที่กัมพูชา ก็จะเป็นส่วนที่ให้คนไทยได้ปฏิสัมพันธ์กับคนไทย เหมือนกับให้คนไทยมาหลอกกันเอง เหมือนสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะเป็นการใช้ภาษาเดียวกัน ไม่ได้ใช้เครื่องแปล มันก็มีความเสี่ยงสำหรับคนที่อยากจะเข้าไปทำงานในคาสิโน และก็เป็นความเสี่ยงของคนในประเทศ ที่เกิดจากพื้นที่นอกประเทศไทย”

อย่าเพิ่งเชื่อข้อเสนอที่ดีเกินไป

ปัจจุบันเล็กกำลังเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศไทยอีกครั้ง เธอกำลังเก็บเงิน ออมทุนและมองไปถึงโอกาสการทำงานในต่างแดนที่อีกครั้ง ผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อเช่นนี้บางคนเองก็มีการตัดสินใจในลักษณะเดียวกันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นอุทธาหรณ์สำหรับเธอในการเลือกทำงานในต่างแดน

“ไม่อยากให้หลงเชื่ออะไรง่ายๆ อย่าเห็นแก่เงินๆ น้อยๆ แล้วทำให้เราเหมือนตายทั้งเป็น ไปอยู่ที่อย่างนั้น โชคดีไปที่เรายังกลับมาได้ เพราะบางคนที่หลงไปแล้วกลับมาไม่ได้ก็เยอะ”

“ก็คือเหมือนมีข่าวว่าบางคนฆ่าทิ้งในทะเลบ้าง เพราะมันติดทะเล ก็โยนทิ้งทะเลก็จบ ก็มีข่าวแบบนี้มาเหมือนกัน เขาเห็นเราเป็นแค่เหมือนคนต่างด้าวคนหนึ่งที่ไปทำงานฝั่งนู้น เราก็ไปผิดกฎหมาย เขาก็ไม่ได้สนใจอยู่แล้ว เขาจะทำอะไรเราก็ได้” เล็กกล่าว

ในส่วนข้อเสนอแนะ นฤชัยเตือนคนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศให้ศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนและไม่หลงเชื่อข้อเสนอที่ดีเกินจริง และควรเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลและช่องทางการขอความช่วยเหลือเอาไว้ ซึ่งกรมการกงสุลมีเครื่องมือพร้อมจะให้บริการในส่วนนี้ (หมายเลขฮอตไลน์กรมการกงสุล +6625728442)

“ข้อหนึ่งที่สำคัญสุด ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะไปทำงาน ก็ควรจะศึกษารายละเอียดให้ดีเลย อะไรที่อาจจะเกินความเป็นจริงไปหน่อย เช่น เดินทางไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง ไม่ต้องใช้วีซ่า เราก็ทราบดีอยู่แล้วว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือไปแล้วได้รับเงินเดือนสามสี่ห้าหมื่นโดยไม่มีการทำสัญญาอย่างเป็นทางการ ก็ต้องตรวจสอบดีๆ ถ้ามีข้อสงสัย ควรสอบถามจากกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน เพราะกรมการจัดหางานจะเป็นหน่วยงานหลักที่ให้คำแนะนำและดูแลคนไทยที่จะไปทำงานที่ต่างประเทศ”

“ควรจะต้องมีหมายเลขและรายละเอียดติดต่อทางหน่วยงานไทยที่จะคอยช่วยเหลือและดูแล หากตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ แน่นอน ก็คือสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ หรือสถานกงสุลใหญ่ในประเทศนั้นๆ รวมถึงฮอตไลน์กรมการกงสุล ที่เรารับสาย 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว มีคอลล์เซ็นเตอร์ เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยท่านก็มีเบอร์เหล่านี้อยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเวลาหา เพราะเวลาที่ท่านตกอยู่ในสภาพที่ตกทุกข์ได้ยากหรือภัยอันตราย กว่าจะหาเบอร์ได้ก็ยากลำบากแล้ว กว่าจะโทรมา หรือแอบโทรมาอีกก็ลำบาก ถ้ามีเบอร์เหล่านี้เอาไว้ มีอะไรก็โทรมาได้เลย” นฤชัยกล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net