Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลกล่าวชื่นชมโครงการข่าวสืบสวนสอบสวนระดับโลก 'Suisse Secrets' ที่เปิดโปงด้านมืดของธุรกิจธนาคารสวิส จากสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งและรุ่งเรืองที่สุด สู่สถานที่อันฉ้อฉลและเป็นที่พักพิงแก่อาชญากร รวมทั้งเผด็จการระดับโลก พร้อมจี้ให้รัฐบาลสวิสเร่งแก้ไขปัญหาความโปร่งใสในภาคการเงินของประเทศ 

22 ก.พ. 2565 โจเซฟ สติกลิตส์ (Joseph Stiglitz) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2544 แสดงความคิดเห็นต่อกรณีการเปิดโปงความลับและการทุจริตของลูกค้าธนาคารเครดิตสวิส หรือ "Suisse Secrets" ที่โครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริต (Organized Crime and Corruption Reporting Project: OCCRP) ดำเนินการร่วมกับสำนักข่าว 48 แห่งใน 39 ประเทศทั่วโลก โดยเขาระบุว่า "Suisse Secrets ข่าวการเปิดโปงครั้งล่าสุดที่สำนักข่าวทั่วโลกร่วมกันทำเป็นภาคต่อของจุดเริ่มต้นอย่างปานามาเปเปอร์สและพาราไดซ์เปเปอร์ส"

โจเซฟ สติกลิตส์ (Joseph Stiglitz)
ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย
 

สติกลิตส์ ระบุว่า "ในแง่หนึ่ง เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งเกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก กล่าวคือ ทุกครั้งที่นักข่าวเปิดม่านเผยความลับใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจการเงิน เราจะเข้าใจยิ่งขึ้นว่าทำไมกฎการรักษาความลับจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าได้เห็นเครือข่ายการทุจริตและการกระทำอันชั่วร้ายของลูกค้าสีเทาและครอบครัวเหล่าเผด็จการที่เมื่อดูเผินๆ ก็อาจจะเห็นว่าเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่น่าเคารพ ทว่า กลับมีชื่ออยู่ในเครือข่ายที่ว่านี้"

"แต่ครั้งนี้ มีบางอย่างที่แตกต่างออกไป ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในบริษัทนอกชายฝั่ง (off-shore) หรือในประเทศกำลังพัฒนาที่พยายามดิ้นรนหาทางออกจากปัญหายาเสพติดด้วยการสร้างโมเดลธุรกิจทางเลือก การเปิดโปงครั้งนี้เกิดขึ้นธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรป และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือเรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุด และมี 'หลักนิติธรรม' มากที่สุดของโลก แต่สิ่งที่น่าผิดหวังยิ่งกว่าคือการที่รัฐบาลและธนาคารเคยให้สัญญาไว้ว่าจะปรับปรุงนโยบายความโปร่งใสให้ดียิ่งขึ้น หลังจากที่มีประวัติเรื่องช่วยเหลือผู้หลบหนีภาษีมาอย่างยาวนาน ซึ่งนั่นดูจะเป็นจุดที่เป็นปัญหาน้อยที่สุด แต่นี่แหละคือประเด็น หากไม่มีความโปร่งใสมากกว่านี้ ก็จะไม่มีการตรวจสอบเกิดขึ้น"

"อันที่จริง จุดยืนของสวิตเซอร์แลนด์นั้นกลายเป็นพวก 'ตีสองหน้า' มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกรอบกฎหมายที่มีบทลงโทษสำหรับคนที่พยายามจะเปิดเผยความลับและความเป็นส่วนตัว ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่บนโลกนั้นผ่านกฎหมายคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลซึ่งสามารถนำไปเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีในกรณีที่มีการกระทำผิดกฎหมาย ดังเช่นกรณีของฟรานเซส เฮาเกน (Frances Haugen) ที่ออกมาเปิดโปงการกระทำผิดของเฟซบุ๊ก เธออาจจะไม่มีที่ยืนทุกวันนี้หากสหรัฐอเมริกาไม่มีกฎหมายคุ้มครองพยานที่เข้มแข็ง แต่ในกรณีของสวิตเซอร์แลนด์ หนึ่งในประเทศประชาธิปไตยเก่าแก่ที่สุดของโลก ดูเหมือนว่า[กฎหมาย]จะเข้มข้นกว่านั้นสองเท่าในเรื่องการรักษาความลับ แม้ว่าความลับนั้นจะเอื้อผลประโยชน์ให้การกระทำที่ชั่วร้าย คุกคามนักข่าวและคนอื่นๆ ที่อาจเข้าถึงข้อมูลที่เผยให้เห็นเรื่องในมุมมืดของระบบการเงินก็ตาม แม้ว่าจะเสียใจแต่ไม่ประหลาดใจเท่าใดนักที่ไม่ได้เห็นสำนักข่าวสวิสเข้าร่วมในโครงการ Suisse Secrets เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายและได้รับผลกระทบทางกฎหมายตามมา เพราะสวิตเซอร์แลนด์ยังมีกฎหมายรักษาความลับ แต่นักข่าวในประเทศอื่นๆ สมควรได้รับคำชื่นชมเช่นกันที่กล้าเสี่ยงกับการถูกเอาผิดตามกฎหมายของสวิส แน่นอนว่า สวิตเซอร์แลนด์ต้องรู้ว่าบรรยากาศความกลัวการแสดงความคิดเห็น (chilling effect) เพราะกฎหมายดังกล่าวนั้นมีอยู่แล้วแน่นอน และที่เกือบจะแน่นอนคือ กฎหมายนั้นตั้งใจที่จะรักษาไว้ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจที่นอนกิน 'เงินร้อน' จากคนอื่นให้ได้นานเท่านาน แลกกับการมอบที่ลับและที่ปลอดภัยให้เก็บเงินเหล่านั้นไว้"

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"จากการเปิดโปงของ Suisse Secrets เราพบว่ามีมุมมองที่ต้องเฝ้าระวัง 2 อย่าง ได้แก่ ประการแรก การทำงานร่วมกันของนักข่าวทั่วโลกในโปรเจ็กตืนี้เห็นเพียงส่วนเล็กๆ ของข้อมูลลูกค้าธนาคาร แต่ถ้าชิ้นส่วนเล็กๆ นี้เป็นลูกค้าเจ้าปัญหาอยู่แล้ว ทั้งเผด็จการและครอบครัว อาชญากรสงคราม สายลับเบอร์ใหญ่และลูกน้อง ผู้จัดการที่ทุจริต พวกค้ามนุษย์ ประมุขแห่งรัฐ นักธุรกิจที่ถูกคว่ำบาตร และผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน นี่มันศูนย์รวมคนเลวทั้งนั้น ลองคิดดูว่าแล้วเราจะเห็นอะไร ถ้าหน้าต่างของธนาคารเปิดกว้างขึ้น"

"ประการที่สอง จากการเปิดโปงครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่เป็นผู้ที่เจ็บปวดที่สุดจากการกระทำของธนาคารสวิสที่คอยช่วยเหลือคนเลว ความเปิดโปงนี้ยืนยันสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเคยเตือนไว้เมื่อนานมาแล้วว่าสวิตเซอร์แลนด์ยินยอมที่จะเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินส่วนใหญ่กับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ไม่ยอมทำกับประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่อาจจะเป็นรังของการกระทำผิดกฎหมายเหล่านี้ ดังนั้น โจราธิปไตย (kleptocracy) และการทุจริตจะยังคงเบ่งบาน"

"เป็นเรื่องน่ายินดีที่นักข่าวเชื่อในหน้าที่ว่าพวกเขาจะต้องรายงานเรื่องนี้ และต่อสู้เพื่อ "สิทธิในการรับรู้" ของพลเมืองในประเทศเหล่านี้ที่ไม่มีอำนาจในการควบคุมสิ่งที่นักการเมืองในประเทศตัวเองซ่อนไว้ในสวิตเซอร์แลนด์ ในขณะเดียวกัน นักการเมืองในประเทศพัฒนาแล้วชอบพูดวิจารณ์การทุจริตในประเทศอื่น แต่กลับไม่พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมีอะไรมากกว่าที่คิด กล่าวคือ ให้ทั้งพื้นที่ปลอดภัยและรับประกันผลประโยชน์ที่จะได้รับ[จากการทุจริต] เราควรจะพูดให้ชัดว่าจริงๆ แล้วสวิตเซอร์แลนด์ไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวที่เป็นเช่นนี้ เพราะการปิดประตูที่สวิสจะทำให้การกระทำทั้งหลายทั้งแหล่เหล่านี้ย้ายฐานไปยังไมอามี ลอนดอน หรือศูนย์กลางการฟอกเงินโลกแห่งอื่นๆ ไม่ว่าอย่างไรก็ยังมีผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ทางศีลธรรมเหล่านั้นอยู่ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร หรือสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งใช้ชีวิตโดยใช้เงินที่ขโมยมาจากคนอื่นๆ ยากจนกว่ามาก แต่ประเทศเหล่านั้นที่คล้ายสวิตเซอร์แลนด์กลับสร้างกฎหมายที่ทำให้การกระทำผิดในระบบการเงินกลายเป็นเรื่องที่น่าอับอายขายขี้หน้าอย่างยิ่ง"

"ต้องให้มีอีกกี่เรื่อง ต้องให้เปิดโปง ต้องให้ตีแผ่กันอีกสักเท่าไร สวิตเซอร์แลนด์จึงจะยอมเปลี่ยนแปลงกฎหมายการรักษาความลับทางธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่เอื้อต่อการฟอกเงิน อาชญากรรม และการทุจริต แบบที่ประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรยอมทำ ในขณะที่ขุมทรัพย์[ทางข้อมูล]นี้แสดงให้เห็นว่าสวิตเซอร์แลนด์ได้ประโยชน์จากการไหลเวียนของเงินจากประเทศที่ยากจน ระบบของสวิสเองก็เป็นสิ่งที่ทุจริตเช่นกัน ความเน่าเฟะของเงินที่แปดเปื้อนนี้ทำให้ทุกอย่างที่เข้าไปข้องเกี่ยวต้องเน่าเสียตาม เราเห็นสิ่งเหล่านี้อย่างชัดเจนแล้วในสหรัฐฯ ที่ที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกลายเป็นผู้บัญชาการการฟอกเงินสูงสุดเสียเอง และทำให้ประชาธิปไตยของประเทศตกอยู่ในอันตราย"

"หวังว่า Suisse Secrets ซึ่งเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แห่งวงการสื่อมวลชนที่ซื่อสัตย์และน่าเคารพจะสร้างความอับอายให้แก่คนที่ต่อต้านการสร้างระบบการเงินและเศรษฐกิจที่มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น"

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net