Skip to main content
sharethis

SuisseSecrets (สวิสซีเคร็ตส์) คือชื่อของโครงการข่าวสืบสวนสอบสวนข้ามชาติโดยนักข่าวมากกว่า 163 คน จาก 48 สำนักข่าวใน 39 ประเทศทั่วโลก เพื่อเปิดโปงข้อมูลการทำธุรกรรมที่น่าสงสัยมากกว่า 18,000 บัญชีซึ่งมีเงินฝากสูงสุดกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse Bank) ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยธุรกรรมเหล่านั้นอาจเชื่อมโยงกับการทำธุรกิจผิดกฎหมาย การทุจริต หรือการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

สวิตเซอร์แลนด์เป็นที่รู้จักดีในนามแหล่งสะสมเงินจากทั่วทุกสารทิศบนโลก เพราะมีกฎหมาย “การรักษาความลับทางธนาคาร” ที่เข้มงวด การมีบัญชีเงินฝากในธนาคารสวิสไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายหรือแปลกอะไร หากคุณมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของธนาคารและมีเงินจำนวนมากพอก็สามารถขอเปิดบัญชีกับธนาคารสวิสได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งของการฝากเงินในธนาคารสวิสที่พบกันมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ คือ ธนาคารสวิสมีส่วนพัวพันกับการทำธุรกรรมให้แก่บุคคลที่กระทำผิดกฎหมายหรือได้เงินมาอย่างไม่สุจริต

โครงการข่าวสืบสวนสอบสวน SuisseSecrets ต้องการเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ข้อมูลในอีกมุมหนึ่งวาสสถาบันการเงินที่ได้ชื่อว่า ‘ดีที่สุดในโลก’ อย่างธนาคารสวิสก็อาจมี ‘มุมมืดที่คาดไม่ถึง’ เช่นกัน ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธนาคารสวิสกลายเป็นแหล่งซ่อนตัวของอาชญากรทางการเงิน คือ กฎหมายรักษาความลับทางธนาคาร ซึ่งโครงการ SuisseSecrets ต้องการชี้ให้เห็นว่ากฎหมายความลับที่ว่านี้เป็นปัญหาต่อการตรวจสอบและความโปร่งใสของภาคการเงินสวิส

 

รู้จักกฎหมายและการเมืองสวิส เพื่อเข้าใจระบบรักษาความลับทางธนาคาร

การจะทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องการธนาคารของสวิสนั้นควรเริ่มจากความเข้าใจข้อมูลพื้นฐานเรื่องระบบกฎหมายและการปกครองของประเทศสวิตเซอร์แลนด์เสียก่อน เป็นที่ทราบกันดีว่าสวิตเซอร์แลนด์หรือชื่อทางการคือสมาพันธรัฐสวิสปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ (federation) หรือเป็นประเทศรัฐรวมที่มีรัฐบาลกลางและรัฐบาลประจำแต่ละรัฐ โดยแบ่งการปกครองออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประเทศ ระดับแคนทอน (canton) หรือระดับรัฐ และระดับคอมมูน (commune) หรือระดับเทศบาล ซึ่งการแบ่งเขตการปกครองในลักษณะนี้คล้ายกับการแบ่งเขตการปกครองในสหรัฐอเมริกา แต่ต่างกันตรงที่รัฐบาลมลรัฐของสวิสมีอำนาจมอบหรือจำกัดอำนาจบางอย่างของรัฐบาลกลาง ทำให้รัฐบาลมลรัฐของสวิสมีความเป็นอิสระจากรัฐบาลกลางมากกว่าเมื่อเทียบกับการกระจายอำนาจแบบสหรัฐฯ ที่รัฐบาลกลางมีอำนาจเหนือรัฐบาลมลรัฐในหลายเรื่องสำคัญ

จุดเด่นของรัฐธรรมนูญของสวิสคือการให้อำนาจประชาธิปไตยโดยตรงแก่ประชาชน เพื่อกำหนดแก่นสารและโครงสร้างให้กับรัฐบาลกลาง อำนาจดังกล่าวนั้นรวมถึงการที่ประชาชนสามารถจัดทำประชามติและริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญเองได้ หากรวบรวมรายชื่อได้ครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ ซึ่งอำนาจทั้ง 2 ส่วนนี้ทำให้องค์ประกอบของโครงสร้างทางกฎหมายของสวิสมีความเป็น ‘สากลนิยม’ มีระเบียบ และเป็นไปตามหลักการเสียงส่วนมาก

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สภาพแวดล้อมทางกฎหมายของสวิสถูกหล่อหลอมขึ้นจากการพยายามนำกฎหมายระหว่างประเทศรวมถึงกฎหมายด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศมาประมวลและบรรจุลงในระบบกฎหมายของประเทศ โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางระบบกฎหมายของสวิสในยุคนั้น คือ กุสตาฟ มอยนิเยร์ (Gustave Moynier) นักกฎหมาย และอังรี ดูนังต์ (Henri Dunant) นักธุรกิจและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวสวิส ผู้ก่อตั้งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (CICR)

ใน ค.ศ.1815 หลังสิ้นสุดสงครามนโปเลียน หลายประเทศในยุโรปเข้าร่วมการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna) เพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่สร้างความเสียหายให้แก่ยุโรป เพราะในขณะนั้น ยุโรปแบ่งขั้วอำนาจกันเป็นหลายฝ่ายและมีข้อขัดแย้งหลายอย่างที่ไม่ลงตัวระหว่างขั้วอำนาจ ซึ่งในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมมีมติฟื้นฟูสมาพันธรัฐสวิสและประกาศให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ ‘เป็นกลางในระดับนานาชาติ’ อย่างเป็นทางการ ต่อมาใน ค.ศ.1848 สมาพันธรัฐสวิสที่มีหน้าตาเหมือนในปัจจุบันได้ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการ มีการสร้างระบบรัฐ ระบบกฎหมาย และระบบการเงินของประเทศขึ้นมา

สงครามโลกครั้ง 1: สู่ความเป็นมหาอำนาจทางการเงิน

ด้วยภาพลักษณ์และนโยบายที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเช่นนี้ ทำให้เงินทุนจำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้าไปในสวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้งรัฐบาลสวิสเองก็เล็งเห็นโอกาสสร้างชาติจากเงินทุนเหล่านี้ จึงออกนโยบาย ‘ความลับทางการธนาคาร’ ขึ้นมา เพื่อสร้าง ‘จักรวรรดิทางการเงิน’ ที่ยิ่งใหญ่ เหมือนกับที่สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสเปน เป็นจักรวรรดิที่แข็งแกร่งด้านการค้า การเงิน และการทหารในยุคนั้น

Sébastien Guex ศาสตราจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซาน กล่าวไว้ในบทความวิชาการเรื่อง “จุดกำเนิดกฎหมายความลับทางธนาคารของสวิสและผลสะท้อนสู่นโยบายของรัฐบาลกลางสวิส” (The Origins of the Swiss Banking Secrecy Laws and Its Repercussions for Swiss Federal Policy, 2000, น.237-266) โดยระบุว่าในช่วงทศวรรษที่ 1910 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เจ้าของธุรกิจธนาคารชาวสวิสเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อโฆษณาความแข็งแกร่งของธุรกิจธนาคารสวิส โดยชูจุดเด่นเรื่องการเก็บรักษาความลับทางการเงิน ต่อมา เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นจริงๆ เงินทุนจำนวนมหาศาลจากต่างประเทศจึงหลั่งไหลเข้ามายังธนาคารสวิสในเวลาอันรวดเร็วเนื่องจากสงครามทำให้สภาพการเมืองและเศรษฐกิจของหลายประเทศในยุโรปไม่มีเสถียรภาพ รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพราะต้องนำเงินไปใช้ในสงคราม เช่น ในปี 1914 รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศเก็บภาษีเงินได้ส่วนบุคคลเป็นครั้งแรก และเพิ่มอัตราภาษีมรดก ทำให้นักธุรกิจหรือนายทุนผู้มั่งคั่งชาวฝรั่งเศสพากันย้ายบัญชีธนาคารมาที่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อเลี่ยงการเก็บภาษีในประเทศของตน รวมถึงเศรษฐีกระเป๋าหนักจากประเทศอื่นๆ อย่างอิตาลี ออสเตรีย เยอรมนี ก็ย้ายบัญชีมาที่สวิสเช่นกัน โดยชาวฝรั่งเศสนิยมฝากเงินไว้ที่ธนาคารในนครเจนีวา ชาวอิตาลีเลือกใช้บริการธนาคารในเมืองลูกาโน ส่วนชาวเยอรมันนิยมไปที่ธนาคารในเมืองซูริก

เดิมทีนั้น กฎหมายเรื่องความลับทางธนาคารในสวิสเป็นเรื่องทางแพ่งซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันตามมลรัฐ และเกิดขึ้นมายาวนานหลายศตวรรษแล้ว หนึ่งในกฎหมายการเงินและการธนาคารฉบับเก่าที่สุดของสวิสตราขึ้นใน ค.ศ.1713 โดยรัฐสภาแห่งนครเจนีวา กฎหมายดังกล่าวระบุว่า “ธนาคารมีหน้าที่เก็บบันทึกข้อมูลของลูกค้าและข้อมูลการทำธุรกรรมของพวกเขาไว้ แต่ห้ามเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้นให้กับบุคคลอื่นนอกจากลูกค้า ยกเว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากสภาเมือง”

แม้ว่านโยบายความเป็นส่วนบุคคลและการรักษาข้อมูลความลับของลูกค้าจะเป็นจุดขายที่แข็งแกร่งของธนาคารสวิสมานานหลายร้อยปี แต่รัฐสภากลางของสวิสเพิ่งตรากฎหมายด้านการธนาคารให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้ระดับประเทศในช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 โดยใน ค.ศ.1934 รัฐสภากลางของสวิสมีมติเห็นชอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยธนาคารและธนาคารออมทรัพย์ ค.ศ.1934 (Federal Act on Banks and Savings Banks 1934) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กฎหมายการธนาคารสวิส 1934’ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติเรื่องการรักษาความลับทางธนาคารเอาไว้ในมาตราที่ 47 ที่ระบุว่า “บุคคลใดก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคการธนาคาร บุคคลนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลของลูกค้า” และกำหนดโทษทางอาญาเพิ่มเติม จากเดิมที่มีเพียงโทษทางแพ่ง โดยเมื่อ 1 ก.ค. 2015 มีการแก้ไขกฎหมายให้มีความเข้มงวดขึ้นในส่วนการรักษาความลับและโทษ

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยธนาคารและธนาคารออมทรัพย์แห่งสวิตเซอร์แลนด์ ค.ศ.1934

มาตรา 47

1 บุคคลที่ระบุไว้ในมาตรา 1 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่จงใจกระทำการดังต่อไปนี้อาจต้องโทษปรับหรือจำคุกสูงสุด 3 ปี

(a) เปิดเผยข้อมูลของลูกค้าซึ่งถือเป็นข้อมูลความลับที่ลูกค้ามอบให้แก่ธนาคารด้วยความไว้วางใจ

(b) พยายามชักชวนให้กระทำผิดกฎหมายความลับทางธนาคาร

(c) เปิดเผยข้อมูลซึ่งเป็นความลับให้แก่บุคคลที่สามหรือใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อหาประโยชน์ให้กับตนหรือบุคคลอื่น

1 (ทวิ) บุคคลที่กระทำการให้ตนเองหรือบุคคลอื่นได้รับผลประโยชน์ตามการกระทำในวรรค 1 (a) หรือ (c) อาจต้องโทษปรับหรือจำคุกสูงสุด 5 ปี

2 บุคคลที่กระทำความผิดตามมาตรานี้มีโทษปรับสูงสุด 250,000 ฟรังก์สวิส

3 … (ถูกยกเลิกตาม พ.ร.บ.โครงสร้างตลาดการเงิน ค.ศ.2015)

4 การละเมิดข้อตกลงการรักษาความลับทางวิชาชีพยังคงมีผลตามกฎหมายแม้ว่าธนาคารจะถูกเพิกถอนในอนุญาตประกอบกิจการหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคธนาคารจะยุติการทำหน้าที่ในตำแหน่งนั้นๆ ไปแล้วก็ตาม

5 หากการเปิดเผยข้อมูลลูกค้ากระทำโดยรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลมลรัฐเพื่อใช้เป็นหลักฐานหรือเป็นข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ จะได้รับการยกเว้นจากมาตรานี้

6 การกำหนดบทลงโทษและการพิพากษาการกระทำความผิดตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามความรับผิดชอบของเขตอำนาจศาลในแต่ละมลรัฐ และใช้ข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญาสวิส ค.ศ.1937

สงครามโลกครั้งที่ 2: วิกฤติความโปร่งใสจากนโยบายความลับทางธนาคาร

Guex ระบุในบทความวิชาการของเขาว่าแม้รัฐบาลสวิสจะยึดนโยบายเป็นกลางทางการเมือง แต่หลังจากที่กองทัพนาซีเยอรมันบุกยึดฝรั่งเศสได้ในปี 1940 กลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและการเงินของสวิสก็เอนเอียงเข้าหาฝ่ายอักษะอย่างลับๆ ในช่วงนั้น ค่าเงินฟรังก์สวิสก็เป็นค่าเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรปและเป็นสกุลเงินยุโรปเพียงหนึ่งเดียวที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเกือบจะเสรีที่สุด ด้วยระบบธนาคารที่แข็งแกร่งและกฎหมายรักษาความลับทางธนาคาร สวิสเซอร์แลนด์จึงเป็นที่ที่เหมาะกับการทำธุรกรรมในช่วงสงคราม และรับทำธุรกรรมจำนวนมหาศาลจากทุกที่ในโลก รวมถึงธุรกรรมของพรรคนาซีเยอรมันและเบนิโต มุสโสลินี นายกรัฐมนตรีอิตาลีในช่วงนั้นอีกด้วย

ทว่า ทันทีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ธนาคารสวิสต้องเผชิญวิกฤตการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจโลก เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ และสหรัฐฯ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกได้ประกาศอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลและธนาคารสวิสทั้งหมดที่อยู่ในสหรัฐฯ แลกกับข้อบังคับ 2 ข้อ ได้แก่ ข้อแรก ธนาคารสวิสต้องยอมเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินของชาวเยอรมันทั้งหมดที่อยู่ในและนอกสวิตเซอร์แลนด์ ข้อสอง ต้องระบุรายละเอียดทรัพย์สินเอกชนทั้งหมดที่มาจากสวิตเซอร์แลนด์และกำลังถูกอายัดอยู่ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรยังกำหนดระเบียบและขอมีส่วนร่วมในการตรวจสอบธนาคารสวิสอีกด้วย

รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ในขณะนั้นได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากทั้งภายในและภายนอก โดยแรงกดดันภายในนั้นส่วนใหญ่มาจากสมาคมธนาคารสวิสที่ต้องการให้รัฐบาลรักษากฎหมายความลับทางธนาคาร ส่วนแรงกดดันภายนอกคือทรัพย์สินทั้งหมดที่ถูกรัฐบาลอเมริกันอายัดนั้นมีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP สวิตเซอร์แลนด์ หากไม่เร่งแก้ปัญหาอาจทำให้ระบบธนาคารและเศรษฐกิจของสวิสเสียหาย ทั้งนี้ รัฐบาลสวิสแก้เกมด้วยให้ความช่วยเหลือเป็น ‘เงินทุนด้านมนุษยธรรม’ แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรและประเทศอื่นๆ ที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม ไปพร้อมๆ กับการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรให้ผ่อนปรนข้อบังคับ โดยรัฐบาลสวิสขอดำเนินการสอบสวนธุรกรรมของธนาคารสวิสตามระเบียบของตนเอง และจะไม่เปิดข้อมูลทรัพย์สินของลูกค้าคนอื่นๆ ยกเว้นลูกค้าที่ถือสัญชาติเยอรมนีเท่านั้น ท้ายที่สุด รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์บรรลุข้อตกลงกับฝ่ายสัมพันธมิตร และสามารถรักษามาตรฐานกฎหมายความลับทางธนาคารของตนเอาไว้ได้ ซึ่งสร้างความพอใจให้กับประชาชนชาวสวิส โดยเฉพาะกลุ่มนายธนาคาร และเรียกคืนความเชื่อมั่นทางการเงินกลับมาได้อีกครั้ง

“กฎหมายนี้เป็นข้อจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างมากในสวิตเซอร์แลนด์ มันทำให้สื่อสวิสต้องเซ็นเซอร์ตัวเองและเหมือนถูกข่มขู่ กฎหมายนี้สามารถปกป้องอาชญากรและทรัพย์สินของพวกเขา แต่กลายเป็นว่านักข่าวที่ต้องการเปิดเผยเรื่องพวกนี้กลับเสี่ยงถูกดำเนินคดีเสียเอง” -- อาร์เทอร์ รูทิเชาส์  หัวหน้าบรรณาธิการของ Tamedia

อย่างไรก็ตาม Guex วิเคราะห์และสรุปไว้อย่างชัดในบทความวิชาการของเขาว่ากฎหมายการรักษาความลับทางธนาคารนั้นเกิดขึ้นก่อนที่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และการนำเรื่องนี้มาผูกโยงกับการปกป้องทรัพย์สินของชาวยิวที่เป็นเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของพรรคนาซีเยอรมันก็เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 หรือประมาณ 20 ปีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่ง Guex ใช้คำว่าแนวคิดนี้เป็นการ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ของกลุ่มธนาคารสวิส เพราะต้องการเชื่อมโยงจุดยืนด้านความเป็นกลางและมนุษยธรรมตามหลักกรอบคิดของระบบกฎหมายสวิสที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ทั้งนี้ Guex ระบุว่าหลังจากช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ที่มีการเปิดโปงว่าเงินฝากของชาวยิวจำนวนมากในช่วงสงครามโลกหายไปจากธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้ทั่วโลกเริ่มกลับมาตั้งคำถามกับนโยบายความลับทางธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง ทั้งยังมีกรณีวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายนี้อาจกลายเป็น ‘ซ่องโจร’ เพราะเอื้อต่อการหนีภาษีของคนมีเงินและอาชญากร ที่บางส่วนเป็นกลุ่มเผด็จการ เช่น โมบูตู เซเซ เซโก อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (หรือซาอีร์) และนายพลซานิ อาบาชา อดีตประธานาธิบดีและหัวหน้าคณะรัฐประหารของไนจีเรีย เป็นต้น

กฎหมาย ‘ความเป็นส่วนตัว’ ที่เข้มงวด

นอกจากกฎหมายกฎหมายการธนาคารสวิส 1934 ที่เข้มงวดเรื่องการรักษาข้อมูลลูกค้าแล้ว แนวคิดด้านการเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญสวิตเซอร์แลนด์ก็ส่งผลต่อแนวปฏิบัติของธนาคารสวิสเช่นกัน เพราะรัฐธรรมนูญแห่งสมาพันธรัฐสวิส มาตรา 13 ระบุว่า “พลเมืองสวิสมีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะได้รับการเคารพในชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัว ซึ่งรวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรายได้และทรัพย์สิน”

 

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายด้านความเป็นส่วนตัวที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งแห่งสวิส มาตรา 28 ที่ระบุว่า “บุคคลและนิติบุคคลมีสิทธิด้านความเป็นส่วนตัว” ซึ่งรวมถึงความเป็นส่วนตัวด้านสถานะทางเศรษฐกิจ และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์หรือธนาคาร ในกรณีที่ธนาคารจำเป็นจะต้องให้ข้อมูลบางส่วนเพื่อการรายงานตามกฎหมายนั้น ธนาคารจะให้ได้เฉพาะข้อมูลโดยรวมที่ไม่สามารถระบุตัวตนของลูกค้าได้ หรือแม้แต่ในกรณีที่เป็นคดีความแล้ว สำนักข่าวหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถเปิดเผยชื่อหรือข้อมูลส่วนตัวใดๆ ของบุคคลที่ถือสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ได้ตามกฎหมายด้านความเป็นส่วนตัวของสวิตเซอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยเรื่องการค้าสิ่งผิดกฎหมาย หรือกิจกรรมผิดกฎหมายใดๆ ที่สอดคล้องกับกฎหมายของสวิสหรือสนธิสัญญาต่างๆ ที่สวิสเข้าร่วม ก็อาจใช้ข้อยกเว้นเพื่อขอให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูลลูกค้าได้

กรณีที่สามารถขอให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูลลูกค้า:

  • เมื่อศาลสวิสได้รับหมายศาลจากประเทศอื่นขอให้ตรวจสอบบัญชีธุรกิจของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง
  • ธนาคารสวิสมีหน้าที่รายงานธุรกรรมต้องสงสัยต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามกฎหมายป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน ค.ศ.1998
  • เมื่อธนาคารได้รับหมายศาลสวิสในคดีแพ่งและอาญาตามกฎหมายสวิส รวมถึงคดีที่เกิดขึ้นตามอำนาจศาลในต่างประเทศ แต่มีข้อแม้คือคดีในต่างประเทศต้องมีความผิดที่สอดคล้องกับกฎหมายของสวิส อาทิ การค้าสิ่งของผิดกฎหมาย ฟอกเงิน หลบหนีภาษี เป็นต้น
  • การซื้อขายหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลวงใน (Insider Trading) ไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมายสวิส ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการเปิดเผยข้อมูลลูกค้าได้
  • คดีแพ่ง เช่น การฟ้องหย่า การฟ้องเรียกรับมรดก การชำระหนี้ หรือการล้มละลาย หากมีเอกสารยินยอมจากเจ้าของบัญชี สามารถขอให้ศาลสั่งเปิดเผยข้อมูลธนาคารได้ตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติถือว่าทำได้ยากเพราะต้องพิสูจน์ว่าบัญชีมีอยู่จริงหรือไม่ตามขั้นตอนของธนาคาร
  • กฎหมายความลับทางธนาคารถือเป็นอันยกเลิกหากธนาคารล้มละลาย

ข้อมูลใน SuisseSecrets มาจากไหน และมีอะไรอยู่ในนั้น?

ซุดดอยท์เชอไซทุง (Süddeutsche Zeitung) หนังสือพิมพ์รายวันที่ใหญ่ที่สุดในเมืองมิวนิก รัฐบาวาเรียของเยอรมนีได้รับข้อมูลบัญชีธนาคารเครดิตสวิสที่น่าสงสัยมานานมากกว่า 1 ปีแล้ว โดยแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อเป็นผู้ส่งข้อมูลให้ ต่อมา โครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริต (Organized Crime and Corruption Reporting Project: OCCRP) และซุดดอยท์เชอไซทุง (Süddeutsche Zeitung) ร่วมกับนักข่าวมากกว่า 163 คนจากสำนักข่าว 48 แห่งใน 39 ประเทศทั่วโลก ได้เริ่มต้นโครงการข่าวสืบสวนสอบสวน SuisseSecrets ขึ้น ซึ่งประชาไทเป็นหนึ่งในทีมข่าวผู้ร่วมในโครงการนี้

ข้อมูลบัญชีเครดิตสวิสที่หลุดออกมาเป็นบัญชีต้องสงสัยมากกว่า 18,000 บัญชีที่มีเจ้าของบัญชีกว่า 30,000 รายชื่อ และมีข้อมูลอื่นๆ ประกอบ ได้แก่ เลขที่บัญชี จำนวนเงินสูงสุดที่เคยมีในบัญชี วันเปิดและปิดบัญชี โดยบัญชีเหล่านี้เปิดมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 หรือในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันมากกว่า 120 ล้านฟรังก์สวิส ข้อมูลบัญชีที่โครงการ SuisseSecrets ได้รับมานั้นระบุได้แค่เพียง “เป็นข้อมูลที่ธนาคารเครดิตสวิสถือครองอยู่” แต่ไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลของธนาคารในเครือเครดิตสวิสหรือไม่ และไม่ทราบว่าบัญชีบางส่วนเคยเป็นของธนาคารอื่นมาก่อนหรือไม่ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารเครดิตสวิสได้เข้าซื้อหรือควบรวมกิจการธนาคารหลายแห่งทั้งในและนอกประเทศ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

บางบัญชีมีชื่อผู้ถือครองร่วมหลายคน หรือเปิดในนามนิติบุคคล มีบุคคลและนิติบุคคลรวมมากกว่า 160 สัญชาติในมากกว่า 120 ประเทศทั่วโลก เงินฝากในบัญชีเฉลี่ยทั้งหมดอยู่ที่ 7.5 ล้านฟรังก์สวิส ส่วนบัญชีที่มีเงินฝากมากที่สุด คือมีจำนวนเงินมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทุกบัญชีแล้วมีเงินฝากทั้งสิ้นกว่า 1,000 ล้านฟรังก์สวิส แต่จำนวนเงินทั้งหมดนี้ไม่ได้บ่งชี้เส้นทางการเงินที่ไหลเวียนเข้าออกตลอดหลายปี ซึ่งโครงการ SuisseSecrets คาดว่ากระแสเงินหมุนเวียนในบัญชีเหล่านี้น่าจะสูงกว่าที่เห็น

ข้อมูลบัญชีที่หลุดออกมาไม่ใช่ข้อมูลในปัจจุบัน แต่เป็นข้อมูลที่อยู่ในช่วงทศวรรษที่แล้ว ซึ่งในช่วงนั้นมีผู้เปิดบัญชีกับธนาคารเครดิตสวิสจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ.2551-2552 อย่างไรก็ตาม พ.ศ.2557 เป็นปีที่มีผู้ปิดบัญชีมากที่สุด โดยในปีนั้นเป็นปีที่สวิตเซอร์แลนด์ออกกฎหมายเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีของลูกค้าที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศ ทั้งนี้ บัญชีในธนาคารเครดิตสวิสส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 11 ปี

ทำไมลูกค้าในบางประเทศถึงไม่มีชื่อในชุดข้อมูลนี้

ข้อมูลบัญชีธนาคารเครดิตสวิสที่หลุดมานั้นปรากฏชื่อของลูกค้าที่มีถิ่นพำนักในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก แต่กลับไม่ปรากฏชื่อของลูกค้าจากประเทศใหญ่ๆ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และบราซิล แม้ว่าจะยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัด แต่นักข่าวในโครงการ SuisseSecrets ตั้งข้อสังเกตว่ารายชื่อลูกค้าที่อยู่ในชุดข้อมูลนี้คือผู้ที่มีถิ่นพำนักในประเทศที่ไม่ได้ลงนามหรือเพิ่งลงนามใน “ข้อตกลงการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (Common Reporting Standard: CRS)” หรือข้อตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินการธนาคารทั่วไประหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อตรวจสอบและป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งประเทศที่ยังไม่ได้ลงนามข้อตกลง CRS และมีชื่อปรากฎจำนวนมากในข้อมูลชุดนี้ เช่น อียิปต์ ยูเครน และเวเนซุเอลา

“ยิ่งมาจากสถานที่ที่แปลกเท่าไร ยิ่งต้องสงสัยว่าอาจเกี่ยวกับการทุจริตมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งประเทศต้นทางของลูกค้าไม่มั่นคงเท่าไร ทรัพย์สินที่ลูกค้านำมาฝากก็ยิ่ง[มีมูลค่า]สูงขึ้น และคุณต้องรับผิดชอบให้เร็วที่สุด” - โมนิกา รอธ ทนายความชาวสวิสผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเงิน

ส่วนสหรัฐฯ แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่ได้ลงนามในข้อตกลง CRS ซึ่งประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ลงนามไปแล้ว แต่สหรัฐฯ มีข้อตกลงทวิภาคีเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินและภาษีกับหลายประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสวิตเซอร์แลนด์ ทางการสหรัฐฯ จึงสามารถเข้าถึงข้อมูลการธนาคารสวิสที่ต้องสงสัยว่าจะหลบเลี่ยงภาษีในสหรัฐฯ ได้

สำหรับประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าวเช่นกัน โดยรายงานความมั่งคั่งของประเทศไทย พ.ศ.2562 (Wealth Report Thailand 2019) จัดทำโดย SCB Julius Baer ระบุว่าไทยจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านเพื่อลงนามในข้อตกลง CRS ตั้งแต่ พ.ศ.2562 และจะปฏิบัติตามกรอบข้อตกลงภายในปี 2565

การทำงานของนักข่าวในโครงการ SuisseSecrets

นักข่าวทั้งหมดที่เข้าร่วมในโครงการนี้ใช้เวลาหลายเดือนในการสืบค้นและตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งต่างๆ เช่น บันทึกบริษัท เอกสารราชการ เอกสารศาล และบันทึกประวัติอาชญากรรม รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้รู้ข้อมูลวงในเพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าหลายชื่อมีความเชื่อมโยงกับเจ้าของบัญชีธนาคารเครดิตสวิสตามชุดข้อมูลที่หลุดออกมา ตัวอย่างเช่น พบหลายบัญชีในธนาคารเครดิตสวิสที่เป็นชื่อลูกชายเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศอาเซอร์ไบจาน เปิดร่วมกับหุ้นส่วนทางธุรกิจของเขา ซึ่งชื่อที่ปรากฏเหล่านี้เกี่ยวข้องกับชื่อที่พบในการเปิดโปงข้อมูลขบวนการฟอกเงินครั้งใหญ่โดย OCCRP เมื่อ 3 ปีก่อน คือ Troika Laundromat และ Azerbaijani Laundromat นอกจากนี้ จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของนักข่าวพบว่าลูกค้าบางคนยอมรับว่าบัญชีดังกล่าวที่หลุดออกมานั้นเป็นของพวกเขาจริง ในขณะที่บางส่วนบอกว่าบัญชีที่ปรากฏในชุดข้อมูลนั้นถูกอาญัติไว้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารเครดิตสวิสไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธความถูกต้องของข้อมูลชุดดังกล่าว โดยอ้างเรื่องการรักษาความลับของลูกค้า

การเปิดเผยข้อมูลบัญชีในธนาคารสวิสไม่ใช่อาชญากรรม และนักข่าวในโครงการ SuisseSecrets นั้นตระหนักดีถึงขอบเขตการทำงานทั้งการกฎหมายและจรรยาบรรณ จึงไม่มีการเปิดเผยชื่อหรือข้อมูลทั้งหมดของลูกค้า เว้นแต่เห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และจะเปิดเผยเฉพาะข้อมูลที่ตรวจสอบแล้ว ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดิบ รวมถึงไม่เปิดเผยข้อมูลต้องสงสัยจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับคำตอบ จนกว่าจะได้รับคำตอบที่แน่ชัดว่าบุคคลที่มีชื่อในบัญชีเหล่านั้นกระทำความผิดละเมิดกฎหมายการธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์จนนำไปสู่จุดจบอันเลวร้าย

บุคคลที่ ‘ต้องเปิดเผยชื่อ’

บุคคลที่นักข่าวในโครงการ SuisseSecrets จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะคือเจ้าของบัญชีและเจ้าของบัญชีร่วมที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย หรือเกี่ยวข้องกับนักการเมือง รวมถึงเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในประเทศต่างๆ อาทิ โรโดลจุบ ราดูโลวิช (Rodoljub Radulovic) สมาชิกระดับสูงของแก๊งค้าโคเคนในยุโรปตะวันออกที่เกี่ยวข้องกับดาร์โก ชาริก (Darko Saric) หัวหน้าแก๊งมาเฟียเซอร์เบียซึ่งถูกจับกุมและถูกศาลพิพากษาจำคุกไปก่อนหน้านี้ฐานฟอกเงิน ราดูโลวิชสามารถเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารเครดิตสวิสได้ แม้ว่าเขาจะมีประวัติเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินในสหรัฐฯ และมีประวัติในศาลเซอร์เบียว่าเขาฟอกเงินจำนวนกว่า 3 ล้านยูโรที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด

เอ็ดเวิร์ด ไซเดล (Eduard Seidel) อดีตผู้บริหารระดับสูงของซีเมนส์ (Siemens) บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่จากเยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบัญชีในธนาคารเครดิตสวิส และบางบัญชีมีเงินฝากสูงหลายสิบล้านฟรังก์สวิส โดยไซเดลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐของไนจีเรียเพื่อแลกกับสัมปทานธุรกิจโครงข่ายสื่อสาร รวมถึงมีชื่อของมุลเลอร์ คอนราด ‘บิลลี่’ เราเตนบัค (Muller Conrad ‘Billy’ Rautenbach) นักธุรกิจชาวซิมบับเวที่มีความใกล้ชิดกับโรเบิร์ต มูกาเบ อดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการของซิมบับ และมีชื่อพัวพันกับการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐแลกกับการทำธุรกิจจำนวนมาก เราเตนบัคถูกทางการสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปคว่ำบาตรรวมถึงเป็นบุคคลเฝ้าระวังขององค์การสหประชาชาติ (UN) จากข้อกล่าวหาการทุจริตสัมปทานเหมืองแร่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

“ทุกคนควรเข้าถึงระบบธนาคารได้บางส่วน สิ่งที่คุณไม่ควรทำคือใช้ระบบธนาคารเป็นที่สร้างความร่ำรวยแบบทุจริต แล้วทำให้มันกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย” เกรแฮม บาร์โรว์ (Graham Barrow) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมทางการเงินจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ท้ายที่สุด งานข่าวสืบสวนสอบสวนระดับโลกชิ้นนี้ต้องการเปิดเผยและชี้ให้เห็นความล้มเหลวเชิงระบบของธนาคารสวิส ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ธนาคารเครดิตสวิสมีชื่อเกี่ยวพันกับลูกค้าจำนวนมากที่มีข่าวฉาวทางการเงิน ทั้งการทุจริต การหลบหนีภาษี การฟอกเงิน หรืออาชญากรรมทางการเงินอื่นๆ โดยะนาคารเครดิตสวิสเองก็ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีจนต้องจ่ายค่าปรับจำนวนมหาศาลและทำข้อตกลงกับทางการในหลายครั้ง ซึ่งหนึ่งในข้อตกลงของธนาคารคือการรับปากว่าจะปรับปรุงระบบและแนวทางการปฏิบัติงานให้เข้มแข็งมากกขึ้น แต่ข่าวฉาวทางการเงินกลับมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารควรทำอย่างไรกับ ‘ลูกค้าที่มีชื่อเสีย’

รอสส์ เดลตัน (Ross Delton) ทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการฟอกเงินสัญชาติอเมริกัน กล่าวว่า ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงสามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ แต่ต้องเป็นกลุ่มที่ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน แหล่งที่มาของความมั่งคั่งจะต้องถูกตรวจสอบและผู้จัดการอาวุโสต้องเป็นผู้อนุมัติการเปิดบัญชี

สำหรับผู้ที่เคยต้องโทษข้อหาทุจริต เดลตันกล่าวว่า “นั่นเป็นระดับที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง” โดยธนาคารต้องตั้งคำถามว่า “ควรจะรับบุคคลเหล่านี้เป็นลูกค้าหรือไม่” เช่นเดียวกับกรณีของผู้ที่เคยต้องโทษคดีค้ายาเสพติด มีชื่ออยู่ในบัญชีคว่ำบาตร หรือเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของตำรวจสากล (INTERPOL)

“แม้ว่าธนาคารไม่ชอบพูดว่า ‘ไม่’ แต่ก็จำเป็นต้องบอกว่า ‘ไม่’ เพราะมีโอกาสเป็นไปได้สูงมากว่าพวกเขา[บุคคลตามที่ระบุไว้ข้างต้น]จะเปิดบัญชีเพื่อฟอกเงิน ดังนั้น ไม่ควรยอมเปิดบัญชีให้ตั้งแต่แรก ธนาคารอาจจะต้องคำนวณให้ดีกว่าพวกเขาจะได้เงินเพิ่มจากธุรกิจเหล่านั้นมากกว่าชื่อเสียงที่เสียไปหรือเปล่า” เดลตันกล่าว

ด้าน โมนิกา รอธ (Monika Roth) ทนายความชาวสวิสและนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเงินระบุว่าไม่มีเส้นตายกำหนดว่าตอนไหนที่ธนาคารเครดิตสวิสจะต้องเริ่มกระบวนการตรวจสอบข้อมูลลูกค้าใหม่ซึ่งได้มาจากการควบรวมธุรกิจธนาคาร แต่ธนาคารเครดิตสวิสยังคงต้องรับผิดชอบความเสี่ยงจากการรับบุคคลเหล่านั้นเข้าเป็นลูกค้าอยู่ดี

“ยิ่งมาจากสถานที่ที่แปลกเท่าไร ยิ่งต้องสงสัยว่าอาจเกี่ยวกับการทุจริตมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งประเทศต้นทางของลูกค้าไม่มั่นคงเท่าไร ทรัพย์สินที่ลูกค้านำมาฝากก็ยิ่ง[มีมูลค่า]สูงขึ้น และคุณต้องรับผิดชอบให้เร็วที่สุด” รอธกล่าว

“โดยปกติแล้ว ก่อนที่จะมีการควบรวมกิจการ ควรจะมีการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะเพิ่มเติม รวมถึงการประเมินความเสี่ยงฐานฟอกเงิน จะมาบอกว่าไม่ทันระวังเพราะลูกค้าย้ายมาจากธนาคารอื่น แบบนั้นไม่สมเหตุสมผล” ไมรา มาร์ตินี (Maira Martini) จากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) กล่าว

‘เครดิตสวิส’ ควรแก้ไขปรับปรุงอย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินหลายคนลงความเห็นต่อกรณีธนาคารเครดิตสวิสและลูกค้าที่น่าสงสัยหลายคนว่าปัญหานี้ไปไกลเกินกว่าเรื่องความล้มเหลวของธนาคารในการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของลูกค้า แต่เป็นปัญหาที่ยั่งรากลึกในระบบกฎหมายและอุตสาหกรรมธนาคารสวิส

เออร์เว ฟาลเชียนี (Hervé Falciani) วิสวกรระบบเชื้อสายอิตาลี-ฝรั่งเศส ผู้เปิดโปงรายชื่อบุคคลต้องสงสัยว่าอาจจะหนีภาษีกว่า 130,000 รายชื่อที่เป็นลูกค้าของธนาคาร HSBC สาขาสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า “ปัญหาอยู่ที่ระบบ” และกฎหมายการรักษาความลับทางธนาคารคือสิ่งที่ทำให้ปัญหายังคงอยู่ เช่นเดียวกับเจมส์ เฮนรี นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษาระดับสูงของเครือข่ายภาษีเพื่อความยุติธรรม (Tax Justice Network) ที่กล่าวว่าการเอาผิดธนาคารสวิสด้วยโทษปรับเพียงอย่างเดียวแบบที่เคยเกิดขึ้นเป็นการ “ทำผิดซ้ำซาก” เพราะสุดท้าย ธนาคารก็คิดแค่ว่าการเอาลูกค้าเหล่านี้ออกหรือต้นทุนทางธุรกิจที่ต้องจ่ายเป็นปกติ ปัญหาจริงๆ จึงอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มข้นมากพอ

ย้อนกลับไปในปี 2557 กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ สั่งปรับธนาคารเครดิตสวิสเป็นเงิน 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในข้อหา “สมรู้ร่วมคิดกับผู้หลบเลี่ยงภาษีตามกฎหมายของสหรัฐฯ” ซึ่งค่าปรับในส่วนนั้นสามารถนำไปลดหย่อนภาษีในภายหลังได้ ไม่มีใครต้องเข้าคุก ไม่มีใครต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต

“ผู้บริหารบางคนต้องได้เข้าคุก พวกเขาต้องได้นอนซังเตจริงๆ สักครั้งเพื่อเขย่าเสาบริษัทตัวเอง” เฮนรีกล่าว

นอกจากนี้ กฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ยังทำให้นักข่าวทำข่าวเรื่องอาชญากรรมทางการเงินลำบากขึ้น ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นเรื่องมาตรา 47 ของกฎหมายการธนาคารสวิส ทำให้ Tamedia หนึ่งในสำนักข่าวที่เป็นหนึ่งในเครือข่ายของ OCCRP ตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ SuisseSecrets

“กฎหมายนี้เป็นข้อจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างมากในสวิตเซอร์แลนด์ มันทำให้สื่อสวิสต้องเซ็นเซอร์ตัวเองและเหมือนถูกข่มขู่ กฎหมายนี้สามารถปกป้องอาชญากรและทรัพย์สินของพวกเขา แต่กลายเป็นว่านักข่าวที่ต้องการเปิดเผยเรื่องพวกนี้กลับเสี่ยงถูกดำเนินคดีเสียเอง” อาร์เทอร์ รูทิเชาส์ (Arthur Rutishause) หัวหน้าบรรณาธิการของ Tamedia กล่าว

‘เครดิตสวิส’ ว่าอย่างไรกับกรณี Suisse Secrets

ธนาคารเครดิตสวิสตอบกลับมายัง OCCRP อย่างแบ่งรับแบ่งสู้เรื่องข้อมูลบัญชีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางการเงิน (อ่านแถลงการณ์ที่นี่) และระบุเพียงแค่ว่าในปี 2564 ธนาคารได้ดำเนินการตรวจสอบความเสี่ยงอย่างเต็มรูปแบบทั้งธนาคารแล้ว โดยดำเนินการทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่ ตรวจสอบความเสี่ยงขั้นพื้นฐาน จัดการบทบาทและภาระความรับผิดชอบในทุกแผนก พัฒนาเครื่องมือและกระบวนการตรวจสอบเพื่อพัฒนาความรับผิดชอบทางธุรกิจ การควบคุม และการป้องกันความเสี่ยง รวมถึงทบทวนกระบวนการและโครงการการจ่ายชดเชยค่าเสียหาย ทั้งยังโอบรับและให้ความสำคัญเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตาม ธนาคารเครดิตสวิสไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนเรื่องการดำเนินการกับลูกค้าที่เป็นปัญหาตามรายงานใน SuisseSecrets โดยตัวแทนของธนาคารบอกเพียงสั้นๆ แค่ว่า “เราจะวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวและจะดำเนินการต่อไปหากจำเป็น”

แถลงการณ์ของ OCCRP

“ท้ายที่สุดแล้ว ธนาคารชาติตะวันตกอย่าง ‘เครดิตสวิส’ นั้นเป็นผู้ดูแลเงินในบัญชีจำนวนมากที่มาจากการทุจริตและการก่ออาชญากรรม ดังนั้น พวกเขาจึงต้องมีความรับผิดชอบขั้นสูงสุดเพื่อระบุและยับยั้งบัญชีเหล่านี้ เครดิตสวิสทราบดีว่าธนาคารจำเป็นต้องปฏิบัติตามกระบวนการตรวจสอบที่ช่วยคัดกรองลูกค้าและยืนยันได้ว่าแหล่งที่มาของเงินเหล่านั้นถูกกฎหมายหรือไม่ เมื่อธนาคารไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบวิเคราะห์สถานะลูกค้าได้ การก่ออาชญากรรมและการทุจริตก็เป็นไปได้ง่าย ได้ผลกำไร และประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราจำเป็นต้องรายงานเรื่องนี้”

“เราทำเช่นนี้เพราะความลับทางการเงินนั้นเป็นมากกว่าบทคัดย่อทางวิชาการ กล่าวคือ เงินที่ไม่โปร่งใสหมายความถึงอำนาจที่ไม่โปร่งใส เมื่อเงินที่ได้จากการทุจริตสามารถไหลเข้าสู่ระบบการเงินได้อย่างไม่มีอะไรมาขวางกั้น เราจะได้อาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น มีคตินิยมแบบสุดโต่งมากขึ้น และตัดตอนแนวทางประชาธิปไตยมากขึ้น และตอนนี้ เงินมืดมองเห็นได้ในหลายประเทศเพราะประเด็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติที่สำคัญ”

“ระบบแบบสวิสที่ให้ค่าแก่ความลับมากกว่าความรับผิดชอบมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ทางที่ผิดได้ยิ่งกว่า ธนาคารสวิสทั้งหลายมีประวัติมาอย่างยาวนานเรื่องการรับลูกค้าไม่ดี ตั้งแต่กลุ่มนาซีจนถึงกลุ่มเผด็จการบางส่วนในโลกยุคใหม่ พวกเขารับประกันและแสดงท่าทีหลายครั้งว่าจะกำจัดลูกค้าไม่ดีออกจากรายชื่อของลูกค้าธนาคาร ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ควรชื่นชม แต่พวกเขารับผิดชอบตามข้อกำหนดที่ถูกควบคุมโดยกฎหมายการรักษาความลับ และรัฐบาลก็เป็นผู้ให้ความสำคัญกับกฎหมายนี้ ข้อมูลที่หลุดออกออกมาในโครงการ SuisseSecrets นั้นถือเป็นโอกาสที่หายากของนักข่าวที่จะรับผิดชอบระบบนี้โดยอิสระ”

“เราเชื่อว่าตัวอย่างของลูกค้าจำนวนหนึ่งที่เรายกมากล่าวถึงนั้นจะสามารถช่วยตั้งประเด็นคำถามอย่างจริงจังเกี่ยวกับประสิทธิภาพและการให้คำมั่นของธนาคารเครดิตสวิสที่จะดำเนินการอย่างเต็มความรับผิดชอบ ธนาคารเครดิตสวิสอ้างว่าได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามรายงานข่าวไปแล้วกว่า 90% แต่กลับไม่ให้หลักฐานหรือข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานเพิ่มเติม แม้ว่าเราจะยอมรับคำกล่าวอ้างนั้น แต่รายชื่อบุคคลต้องสงสัยว่าจะเป็นอาชญากรหรือกระทำการทุจริตยังคงมีอยู่และมีบัญชีอยู่ในธนาคารสวิส ซึ่งนั่นเป็นเพียงคำตอบของสิ่งที่นักข่าวถามไป แต่บัญชีเหล่านั้นอาจมีมากกว่านี้อย่างแน่นอน”

“เครดิตสวิสบอกอีกว่ากรณีเหล่านั้นเป็น ‘เรื่องที่เกิดขึ้นนานแล้ว’ ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่ตรงคำถาม ข้อมูลข้องเราแสดงให้เห็นว่าธนาคารยังคงเก็บรักษาลูกค้าเหล่านี้ไว้เป็นเวลาหลายปี บุคคลที่สาธารณชนทราบดีว่ามีข้อครหามากมาย ถูกกล่าวว่าเป็นอาชญากร หรือมีสมาชิกในครอบครัวเป็นกลุ่มเผด็จการ และในบางกรณี ลูกค้าเหล่านั้นก็ยืนยันด้วยตัวเองว่าบัญชีพวกนั้นยังคงเปิดอยู่ตามปกติ”

“แม้กระทั่งพนักงานหลายคนของเครดิตสวิสจะบอกกับนักข่าวว่ามีกฎพิเศษของธนาคารสำหรับลูกค้าที่ร่ำรวยที่สุดเกี่ยวกับเรื่องประวัติอาชญากร และยังบอกอีกด้วยว่าธนาคารล้มเหลวในการถอนรากถอนโคนเงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย แต่มีหนึ่งคนที่เชื่ออย่างแรงกล้าว่า ‘ต้องปล่อยข้อมูลนี้’ เพื่อแก้ไขอะไรบางอย่าง”

ที่มา: OCCRP

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net