Skip to main content
sharethis

'เซวาง นอร์บู' ศิลปินนักร้องและนักกิจกรรมชาวทิเบต อายุ 25 ปี พยายามจุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงการทำลายวัฒนธรรมทิเบตของรัฐบาลจีนที่หน้าพระราชวังโปตาลาในเมืองลาซาเมื่อ 25 ก.พ. แหล่งข่าวระบุว่าเสียชีวิตแล้ว โดยอยู่ระหว่างรอการยืนยันเพิ่มเติม เซวางนับเป็นผู้จุดไฟเผาตัวเองชาวทิเบตคนที่ 158 นับตั้งแต่ปี 2552 


'เซวาง นอร์บู' ศิลปินนักร้องและนักกิจกรรมชาวทิเบต | ที่มาภาพ: RFA

ชายชาวทิเบตที่ตะโกนสโลแกนและจุดไฟเผาตัวเองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อประท้วงการปกครองของจีนหน้าพระราชวังโปตาลาในเมืองลาซา ได้รับการยืนยันตัวตนแล้วคือ 'เซวาง นอร์บู' นักร้องชาวทิเบตวัย 25 ปี ข้อมูลนี้มาจากแหล่งข่าวผู้ลี้ภัยชาวทิเบตที่บอกกับสำนักข่าว RFA แม้ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าตำรวจสามารถขัดขวางการกระทำดังกล่าวได้สำเร็จก็ตาม 

"เซวาง นอร์บู พยายามประท้วงรัฐบาลจีนด้วยการพยายามเผาตัวเอง และจากแหล่งข่าว 2-3 แห่งที่น่าเชื่อถือจากภายในทิเบต เขาเสียชีวิตแล้ว" ผู้ลี้ภัยชาวทิเบตบอกกับสำนักข่าว RFA

วันเวลาและสถานที่เสียชีวิตของเซวางยังไม่สามารถยืนยันได้ในขณะนี้ โดย RFA กำลังพยายามติดต่อครอบครัวและญาติของเซวางในเมืองลาซา แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ แม่ของเซวางชื่อว่า โซนัม วางโม เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในประเทศจีนเช่นเดียวกัน

ช่องแสดงความคิดเห็นในบัญชีโซเชียลมีเดียของเซวางถูกปิดลงแล้ว หลังมีการส่งข้อความเพื่อแสดงความเสียใจเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันเพลงหลายเพลงของเซวางก็ถูกถอดออกจากแอพเพลงต่างๆ ของจีนแล้วจากข้อมูลของแหล่งข่าว

หนึ่งในผู้ออกมาแสดงความเสียใจคือกลุ่ม Students for a Free Tibet (นักศึกษาเพื่ออิสรภาพทิเบต)​ ระบุในทวิตเตอร์ว่า "เรารู้สึกเสียใจอย่างยิ่งเมื่อได้ยินข่าวการจากไปของศิลปินอายุ 25 ปี ซึ่งเพิ่งได้รับการระบุตัวตนว่าเป็นผู้ประท้วงจุดไฟเผาตัวเองอยู่ด้านนอกพระราชวังโปตาลา แม้เรื่องนี้จะเป็นข่าวสะเทือนใจที่ต้องรับรู้ในช่วงโลซาร์ [เทศกาลปีใหม่ของทิเบต] แต่มันก็เป็นเครื่องเตือนใจอันหนักอึ้งต่อสถานการณ์อันเลวร้ายในทิเบต" 

แหล่งข่าวคนที่ 2 จากชุมชนผู้ลี้ภัยชาวทิเบตขนาดใหญ่ในอินเดีย ยืนยันว่าได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่พระราชวังโปตาลาดังกล่าวจริง แต่ไม่ทราบรายละเอียดมากไปกว่านี้

เซวาง นอร์บู เป็นนักแต่งเพลงและนักร้องที่มีชื่อเสียง มีผลงานเป็นเพลงแนวสมัยใหม่ผสมกับขนบประเพณีของทิเบต เช่น เพลง "แซมปา" เพลง "Dress Up" และเพลง "Except You" เป็นหนึ่งในหลายเพลงที่มีชื่อเสียงในชุมชนชาวทิเบตทั้งในและต่างประเทศ

"หลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น [เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา] ตำรวจจีนก็ปิดถนนด้านหน้าและโดยรอบพระราชวังโปตาลาทั้งหมด และวันนี้ [วันเสาร์ที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา] ก็มีการวางกำลังทหารหน้าพระราชวังโปตาลาเพิ่มขึ้นกว่าปกติ" แหล่งข่าวที่อาศัยอยู่ในทิเบตระบุ โดยขอไม่เอ่ยนามเพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดี ในรายงานอีกชิ้นของ RFA  

พระราชวังโปตาลา ตั้งอยู่บนยอดเขาเหนือเส้นขอบฟ้าของกรุงลาซา โดยเคยเป็นพระราชวังฤดูหนาวและที่ประทับขององค์ดาไลลามะที่มีชื่อเสียงในอดีต ตั้งแต่ พ.ศ. 2192-2502 ในปี 2502 ดาไลลามะองค์ปัจจุบันต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศอินเดีย จากการลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีนในภูมิภาค​หิมาลายันซึ่งเคยเป็นเอกราชมาก่อน นำไปสู่การปราบปรามโดยกองทัพจีน มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนและมีการยิงขีปนาวุธใส่พระราชวังจนได้รับความเสียหาย  

การเสียชีวิตของนอร์บูจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการจุดไฟเผาตัวเองในทิเบตเพิ่มขึ้นเป็นคนที่ 158 นับตั้งแต่มีการประท้วงการปกครองของจีนในพื้นที่ของทิเบตในปี 2552 ขณะที่อีก 8 คนฆ่าตัวตายในเนปาลและอินเดีย 

ก่อนหน้านี้ คนที่จุดไฟเผาตัวเองเสียชีวิตคือชายชื่อเชอร์โม อายุ 26 ปี เผาตัวเองเมื่อ ก.ย. 2558 ในอำเภอนักชู (น่าฉู ในภาษาจีน) เขตการปกครองตนเองทิเบต การเสียชีวิตของเชอร์โมเพิ่งได้รับการยืนยันเมื่อ ม.ค. 64 ที่ผ่านมา

ความพยายามในการจุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ก.พ. เกิดขึ้นเนื่องจาก 10 มี.ค. ที่จะถึงนี้เป็นวันครบรอบเหตุการณ์การลุกฮือในปี 2502 หรือรู้จักกันในชุมชนชาวทิเบตว่า Tibetan National Uprising Day ในช่วงนี้ปกติแล้วรัฐบาลจีนจะเพิ่มการควบคุมและสอดแนมชาวทิเบตอย่างเข้มงวด 

ที่ผ่านมา เทคโนโลยีคุณภาพสูงที่รัฐบาลจีนใช้เพื่อควบคุมโทรศัพท์มือถือและการสื่อสารออนไลน์ในพื้นที่ทิเบต ส่งผลให้ข่าวการประท้วงในทิเบตและการจับกุมชาวทิเบตไม่สามารถเผยแพร่ออกสู่โลกภายนอกได้ 

ดาไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบต ถูกประณามโดยผู้นำจีนว่ามีเจตนาแบ่งแยกดินแดนทิเบตจากการควบคุมของรัฐบาลปักกิ่ง หลังถูกรุกรานและผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจีนโดยกองทัพในปี 2503 ดาไล ลามะ ระบุว่าเขาเพียงต้องการให้ทิเบตมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้น โดยยังเป็นส่วนหนึ่งของจีน และขอให้รัฐบาลจีนคุ้มครองภาษา วัฒนธรรม และศาสนาของชาวทิเบต

ที่มา
Potala Palace self-immolation protester identified as popular Tibetan singer (RFA, 3 March 2022)
Self-immolation attempt at Tibet’s Potala Palace thwarted by Chinese police (RFA, 26 February 2022)
https://twitter.com/SFTHQ/status/1499933628645756928
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net