Skip to main content
sharethis

สรุปเหตุการณ์สำคัญของการระบาด COVID-19 ในรอบ 2 ปี ตั้งแต่ ธ.ค. 2562 - ธ.ค. 2564 จากโรคปอดอักเสบปริศนาที่อู่ฮั่น สู่โรคระบาดที่ร้ายแรงในรอบศตวรรษ โดยจนถึงวันที่ 10 มีนาคม 2565 COVID-19 ได้คร่าชีวิตชาวโลกไปแล้วกว่า 6 ล้านคน  มีผู้ป่วยสะสมทั่วโลก 451 ล้านราย ขณะที่ในประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม COVID-19 กว่า 3.1 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 23,512 ราย

คลัสเตอร์และ 5 ระลอกการระบาดในประเทศไทย

สายพันธุ์ COVID-19 และการกลายพันธุ์

วัคซีนป้องกัน COVID-19 (ข้อมูลจนถึงธันวาคม 2564)

ธันวาคม 2562

'อู่ฮั่น' (Wuhan) เป็นเมืองเอกของมณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นนครที่ใหญ่ที่สุดในมณฑล มีประชากรกว่า 11 ล้านคน เป็นนครที่มีประชากรมากที่สุดในภาคกลางและเป็นนครที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 7 ในประเทศจีน ศูนย์กลางการระบาดของโรคปอดอักเสบลึกลับเมื่อช่วงปลายปี 2562 ก่อนที่จะกลายเป็นวิกฤต 'COVID-19' ในเวลาต่อมา | ที่มา: wikimedia

ช่วงเดือน ธ.ค. 2562 เริ่มมีกระแสข่าวว่าพบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุที่เมือง 'อู่ฮั่น' เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน ต่อมาศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติจีน (CDC) ระบุว่ากลุ่มแรกของผู้ป่วยที่มี 'โรคปอดอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุ' ได้ถูกตรวจพบเมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2562 โดยเป็นผู้ป่วยจากตลาดขายส่งอาหารทะเลหัวหนาน (Huanan Seafood Wholesale Market) ซึ่งจำหน่ายสัตว์ปีกสด ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และสัตว์ป่าหลายชนิด (ข้อมูลชุดนี้เผยแพร่ภายหลังในช่วงเดือน ม.ค. 2563)

นพ.หลี่ เหวินเหลียน (Li Wenliang) จักษุแพทย์โรงพยาบาลอู่ฮั่นเซ็นทรัล ส่งข้อความถึงเพื่อนๆ ในวงการแพทย์ในกลุ่ม  WeChat เพื่อเตือนเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสปริศนาตัวใหม่และแนะนำให้ทุกคนสวมใส่ชุดป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ แต่เขากลับถูกทางการจีนกล่าวหาว่าแสดงความคิดเห็นอันเป็นเท็จ

31 ธ.ค. 2562 จีนได้แจ้งยืนยันต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าได้เกิดโรคระบาดใหม่ที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน โดยต้นเหตุน่าจะมาจากเชื้อ coronavirus ชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อเกิดโรคปอดบวมชนิดรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้ โดยรายงานผู้ติดเชื้อครั้งแรกที่ 27 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก 7 ราย และรักษาหาย 2 ราย

มกราคม 2563

กระทรวงสาธารณสุขของไทย แถลงพบผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 คนแรกในไทย โดยเป็นหญิงชาวจีนวัย 61 ปี เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย | ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข (อ้างใน Thai PBS) 

ช่วงต้นเดือน ม.ค. 2563 นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันควบคุมและป้องกันโรคไวรัสแห่งชาติจีน (IVDC) ได้กำหนดลำดับทางพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ และมีการตั้งชื่อว่า '2019-nCoV' หรือ ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019’ อย่างเป็นทางการจากตัวอย่างที่เก็บจากผู้ป่วยในอู่ฮั่น โดยเริ่มมีการทยอยตัวเลขผู้ติดเชื้อให้กับ WHO อย่างต่อเนื่อง

วันที่ 9 ม.ค. 2563 มีผู้เสียชีวิตคนแรกจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นชายวัย 61 ปี ซึ่งเป็นลูกค้าประจำของตลาดขายส่งอาหารทะเลหัวหนาน ทั้งนี้เขาก็ยังมีโรคตับเรื้อรังและเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว (การยืนยันผู้เสียชีวิตเคสแรกนี้แจ้งต่อสาธารณะในวันที่ 11 ม.ค. 2563)

สำหรับสถานการณ์ในระดับนานาชาติ มีการประมาณการว่าจะมีประชาชนจากเมืองอู่ฮั่นบินออกนอกประเทศ 3,300 คนต่อวัน และคาดการณ์พบโรค 1 ราย ต่อประชากรอู่ฮั่น 600 ราย ที่เดินทางออกนอกประเทศ แม้สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง จะออกมาระบุว่าพบผู้ป่วยต้องสงสัยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 นี้ก่อน แต่กลับเป็นประเทศไทยที่รายงานยืนยันต่อ WHO ว่าพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 รายแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ลำดับที่ 2 ในโลกต่อจากเมืองอู่ฮั่นในประเทศจีนที่มีการยืนยันติดเชื้อนี้ โดยเป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนวัย 61 ปี ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย (จากผลการตรวจเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563) ต่อมาในวันที่ 31 ม.ค. 2563 ญี่ปุ่น ยืนยันพบผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 รายแรกในประเทศ เป็นชายชาวจีนอายุ 30 ปี

ในวันที่ 19 ม.ค. 2563 มีการยืนยันพบผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในพื้นที่อื่นของประเทศจีนนอกเหนือจากเมืองอู่ฮั่นเป็นครั้งแรกที่กวางตุ้งและที่กรุงปักกิ่ง ส่วนที่อู่ฮั่นมีรายงานผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมอีก 136 ราย ในวันที่ 23 ม.ค. จีนได้ปิดเมือง (lockdown) อู่ฮั่น จากนั้นจีนได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและมีการประกาศปิดเมืองอื่นๆ ตามมา ในช่วงเดือน ม.ค. 2563 นี้จีนยืนยันพบติดเชื้อกระจายเกือบทุกมณฑล ส่วนประเทศไทยเริ่มมีการคัดกรองนักท่องเที่ยวจาก

ในเดือนเดียวกันนี้ทีมสืบค้นจากคณะกรรมการอนามัยแห่งชาติของจีนได้ยืนยันว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สามารถติดต่อระหว่างมนุษย์ได้เนื่องจากมีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยสองคนที่อยู่ห่างจากเมืองอู่ฮั่นหลายร้อยไมล์ นอกจากนี้ยังมีการทยอยรายงานพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน  มาเก๊า ฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนาม ฝรั่งเศส เนปาล มาเลเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี ฟินแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย รัสเซีย สวีเดน สเปน อิตาลี สหราชอาณาจักร เป็นต้น

ในวันที่ 30 ม.ค. 2563 WHO จัดประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะฉุกเฉิน (Emergency Committee) และประกาศว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็น 'ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ' (Public Health Emergency of International Concern; PHEIC) หลังจากเชื้อไวรัสดังกล่าวแพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันหรือลดการแพร่ระบาดข้ามพรมแดน อันจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข แต่ไม่ได้หมายถึงให้ประเทศทั่วโลกใช้มาตรการจำกัดด้านการค้าต่อจีน หรือจำกัดการเดินทางไปยังประเทศจีน

ข้อมูล ณ 31 ม.ค. 2563 มีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยืนยันทั่วโลกจำนวนทั้งสิ้น 9,819 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยันในประเทศจีนกระจายเกือบทุกมณฑล จำนวน 9,692 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยัน 19 ราย รักษาหาย 7 ราย

กุมภาพันธ์ 2563

นพ.หลี่ เหวินเหลียน (Li Wenliang) จักษุแพทย์ผู้แจ้งเตือนเกี่ยวกับโรค COVID-19 คนแรกๆ แต่กลับถูกทางการจีนกล่าวหาว่าแสดงความคิดเห็นอันเป็นเท็จ เสียชีวิตเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. 2563 ด้วยโรค COVID-19 | ที่มา: What's on Weibo

1 ก.พ. 2563 มีรายงานผู้เสียชีวิตนอกประเทศจีนรายแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ และตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. 2563 หลายประเทศได้มีการอพยพประชาชนของตนออกจากเมืองอู่ฮั่น ส่วนไทยได้ดำเนินการอพยพพลเมืองไทยจำนวน 138 ราย (ซึ่งต่อมาพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย) เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563

7 ก.พ. 2563 นพ.หลี่ เหวินเหลียน (Li Wenliang) จักษุแพทย์ผู้แจ้งเตือนเกี่ยวกับโรค COVID-19 คนแรกๆ แต่กลับถูกทางการจีนกล่าวหาว่าแสดงความคิดเห็นอันเป็นเท็จ ได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

11 ก.พ. 2563 WHO ระบุชื่อใหม่อย่างทางการให้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้ว่า 'COVID-19' โดยคำว่า CO ย่อมาจาก Corona คำว่า VI ย่อมาจาก Virus คำว่า D ย่อมาจาก Disease และตัวเลข 19 มาจากปีที่ไวรัสตัวนี้เริ่มระบาดครั้งแรก โดยอำนวยการใหญ่ของ WHO ให้เหตุผลที่ต้องให้ชื่ออย่างเป็นทางการครั้งนี้ว่าเป็นเพราะต้องการเลี่ยงใช้ชื่อสถานที่ ชื่อสัตว์ ชื่อที่อ้างถึง บุคคล หรือกลุ่มบุคคล ชื่อใหม่ยังทำให้ออกเสียงง่าย และมีความเกี่ยวข้องกับโรค ที่ทำให้คนนึกถึงเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ทันที 

24 ก.พ. 2563 มติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติของประเทศไทยได้ประกาศให้โรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ต่อมาราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พร้อมกำหนดให้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นเชื้อโรคที่ต้องควบคุม ตาม พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2558 ในวันที่ 29 ก.พ. 2563 (มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มี.ค. 2563)

26 ก.พ. 2563 WHO รายงานว่าผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศจีนลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอิตาลี อิหร่าน และเกาหลีใต้ ทำให้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่นอกประเทศจีนเพิ่มสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศจีนเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ WHO ยกระดับการเตือนภัยความเสี่ยงของโรคติดเชื้อ COVID-19 อยู่ในระดับสูงสุดเนื่องจากมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หลายประเทศในทวีปต่างๆ เริ่มทยอยยืนยันผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศของตนอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีการประกาศภาวะฉุกเฉินหรือยกระดับการเตือนภัยวิกฤตในขั้นสูงสุด มีมาตรการ ปิดกั้น/คัดกรอง/กักตัว ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ในหลายๆ ประเทศ

ข้อมูล ณ 29 ก.พ. 2563 มีรายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกรวม 85,473 ราย เสียชีวิต 2,924 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยัน 42 ราย รักษาหาย 28 ราย
มีนาคม 2563

26 มี.ค. 2563 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และได้มีการจัดตั้ง ‘ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019’ (ศบค.) 

1 มี.ค. 2563 กระทรวงสาธารณสุข แถลงยืนยันว่ามีผู้ป่วย COVID-19 ชาวไทยเสียชีวิตเป็นรายแรก เป็นชายไทย อายุ 35 ปี ที่มีประวัติสัมผัสนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งป่วยเป็นไข้เด็งกีมาก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือน ม.ค. 2563 ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยกลุ่มอาการการทำหน้าที่ผิดปกติของหลายอวัยวะในวันที่ 29 ก.พ. 2563

ในช่วงต้นเดือน มี.ค. 2563 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติเห็นชอบให้กรณีโรคติดเชื้อ COVID-19 อยู่ในประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) นอกจากนี้เริ่มมีการรณรงค์และแจกจ่าย 'หน้ากากอนามัย' ให้กับประชาชน นอกจากนี้รัฐบาลยังสั่งห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีประเด็น 'ผีน้อย' หรือแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ กว่า 5,000 คน ได้ลงทะเบียนขอกลับประเทศไทยเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เกาหลีใต้ในขณะนั้นมีความน่ากังวล สำหรับการรับแรงงานเหล่านี้กลับบ้านั้นมีการคัดกรองทุกคนตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่องเมื่อถึงประเทศไทยจะคัดกรองแยกกักตัว

6 มี.ค. 2563 การแข่งขันชกมวยไทยในรายการลุมพินีแชมป์เปียนเกียรติเพชร มีผู้เข้าชมประมาณ 2,500 คน ที่สนามมวยลุมพินี ถือเป็นการเริ่มต้นการระบาดของคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี ต่อมาในวันที่ 12 มี.ค. 2563 เริ่มมีรายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19 คลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อ (รอบที่ 1) ทั้ง 2 คลัสเตอร์นี้ถือเป็นจุดเริ่มการระบาดเป็นวงกว้างในประเทศไทย ระลอกที่ 1 โดยในวันที่ 15 มี.ค. 2563 ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยสะสมแตะหลักร้อยเป็นครั้งแรก ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศปิดสถานบริการยามค่ำคืนทั่วประเทศ และมีการออกประกาศห้ามจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในจังหวัดต่างๆ

11 มี.ค. 2563 WHO ประกาศยกระดับ COVID-19 เป็นโรคระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) หลังมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100,000 ราย คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 4,300 คน และระบาดกระจายอยู่ใน 110 ประเทศ 

26 มี.ค. 2563 ผู้ติด COVID-19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดสะสมแตะหลักพันเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นในวันที่ 25 มี.ค. 2563 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (มีผลตั้งแต่ 26 มี.ค. 2563) และได้มีการจัดตั้ง ‘ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019’ (ศบค.) ประเทศไทยเริ่มใช้มาตรการ ‘ล็อคดาวน์’ หรือการปิดเมืองอย่างจริงจัง มีการห้ามเข้าพื้นที่เขตกำหนดตามคำสั่งผู้ว่าราชการของจังหวัดต่างๆ และมีการห้ามเดินทางเข้าประเทศไทย ไม่ว่าจะทางบก เรือ อากาศ ยกเว้นบุคคล 5 ประเภท ได้แก่ 1) ผู้มีสัญชาติไทย แต่ต้องมีเอกสารสำคัญคือใบรับรองทางการแพทย์ว่าสามารถทำการบินได้ 2) ทูตต่างประเทศที่ประจำการในไทย 3) การขนส่งสินค้าที่เข้ามาแล้วกลับไปโดยเร็ว 4) นักบินและแอร์โฮสเตส และ 5) บุคคลที่ได้รับการยกเว้นจากนายกฯ หรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบ

ส่วนสถานการณ์อื่นๆ ในต่างประเทศที่น่าสนใจ ก็ได้แก่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนเริ่มดีขึ้นตามลำดับ โดยได้ปิดโรงพยาบาลชั่วคราวแห่งแรก หลังจากอนุญาตให้ผู้ป่วยที่หายดีแล้วชุดสุดท้ายกลับบ้าน โดยโรงพยาบาลชั่วคราวที่เร่งสร้างขึ้นสามารถรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและรักษาไปแล้วทั้งสิ้น 12,000 คน แต่จีนก็ยังมีมาตรการปิดพื้นที่ชายแดนและไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ นอกจากนี้ WHO แถลงการณ์ให้ยุโรปถือเป็นศูนย์กลางการระบาดของ COVID-19 ของโลกหลังมีรายงานผู้ป่วยรายวันมากกว่าจีน สหภาพยุโรป (EU) ผู้นำยุโรป 27 ประเทศ ได้ห้ามนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นเวลา 30 วันเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อ COVID-19 แต่ไม่กระทบต่อชาวยุโรปที่เดินทางกลับบ้าน , นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ยืนยันติดเชื้อ COVID-19

ต่อมาในเดือนเดียวกันนี้ WHO ยังได้ระบุว่าสหรัฐฯ อาจเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อ COVID-19 แห่งใหม่หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน  ซึ่งต่อมาสหรัฐฯ ก็พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวนสูงกว่าจีนและอิตาลี (ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในยุโรปในช่วงเวลานั้น) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศภาวะฉุกเฉินและอนุมัติงบประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในการต่อสู้กับการระบาด 

ส่วนญี่ปุ่นยืนยันว่าการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นจะถูกเลื่อนแข่งไปเป็นปี 2021 เนื่องจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคติดเชื้อ COVID-19 นอกจากนี้ในหลายประเทศเริ่มมีมาตรการระงับให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศ

ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 2563 มีรายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกรวม 789,240 ราย เสียชีวิต 38,092 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ป่วยยืนยัน 10 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 164,359 ราย อิตาลี 101,739 ราย สเปน 87,956 ราย จีน 82,270 ราย (รวม ฮ่องกง 714 ราย มาเก๊า 38 ราย) เยอรมนี 67,051 ราย ฝรั่งเศส 44,550 ราย อิหร่าน 41,495 ราย สหราชอาณาจักร 22,141 ราย สวิสเซอร์แลนด์ 15,922 ราย และเบลเยี่ยม 12,775 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสม 1,651 ราย เสียชีวิตสะสม 10 ราย

เมษายน 2563

ช่วงต้นเดือน เม.ย. 2563 จ.แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดแรกที่ประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานหรือบริเวณที่พักตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. (หรือ 'เคอร์ฟิว') มีผลตั้งแต่วันที่ 1-14 เม.ย. 2563 ต่อมาในวันที่ 2 เม.ย. 2563 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าจะมีการเคอร์ฟิวทั่วประเทศ (22.00-04.00 น.) ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

นายกรัฐมนตรี ประกาศให้โรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นวาระแห่งชาติ สั่งจัดทำ พ.ร.บ.จัดโอนงบประมาณ ปี 2563 มาเติมในงบกลางมากขึ้น สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้เป็นการกู้แต่เป็นการบริหารด้านการเงินการคลัง ซึ่งมีวงเงินประมาณเก้าแสนล้านบาท และออก พ.ร.ก.เงินกู้หนึ่งล้านล้านบาทใช้ในการเยียวยา ฟื้นฟูในระบบเศรษฐกิจ และอีกส่วนสามารถปรับโอนไปมาได้ ช่วงก่อนสงกรานต์ ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัด ได้พิจารณาออกคำสั่งปิดร้านค้าและสถานประกอบการจำหน่ายสุราเป็นการชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนในการสัมผัสเชื้อโรคในช่วงการแพร่ระบาดโรค COVID-19

ในเดือนเดียวกันนี้มีการออกมาตรการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน และให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยลูกจ้างว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยหรือในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 อัตรา 62 % ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน 

WHO ยังออกแถลงการณ์สนับสนุนให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน COVID-19 จากเดิมที่เคยแนะนำว่าหากไม่มีอาการป่วยไม่จำเป็นต้องใส่ นับเป็นการเปลี่ยนคำแนะนำครั้งใหญ่ของ WHO นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยรายชื่อทีมวิจัยวัคซีนอย่างเป็นทางการ ประกอบไปด้วย 70 บริษัทที่กำลังพัฒนาวัคซีน และมี 3 บริษัทที่อยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ ด้านนายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าวเตือนประชาคมโลกว่าหายนะจาก COVID-19 คือบททดสอบใหญ่ที่สุดของประชาคมโลก นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 Oxfam ออกรายงานระบุว่าผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลก อาจทำให้ประชาชนราว 500 ล้านคนต้องกลายเป็นคนยากจน

ที่จีน เมืองอู่ฮั่นได้ยกเลิกมาตรการปิดเมืองหลังปิดไปเป็นเวลา 76 วันและได้เริ่มเปิดเมือง นอกจากนี้จีนมีการอนุมัติให้นำวัคซีน 2 ตัว สำหรับต้าน COVID-19 เข้าทดสอบ “ระดับคลินิก” กับคนได้ วัคซีนทั้ง 2 ตัวที่ได้รับอนุญาตนี้ พัฒนาขึ้นโดยบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) บริษัทเวชภัณฑ์จีนที่จดทะเบียนในตลาดนิวยอร์ก และสถาบันอู่ฮั่นเพื่อผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Wuhan Institute of Biological Products) ซึ่งเป็นหน่วยงานในเครือ ไชน่า ฟาร์มาซูติคัล กรุ๊ป (China National Pharmaceutical Group) โดยทั้ง 2 บริษัทได้เริ่มต้นการทดลองวัคซีนทั้ง 2 ตัวนี้กับคนแล้ว ที่สิงคโปร์มียอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ ทำให้ในช่วงเวลานั้นสิงคโปร์มียอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดอันดับหนึ่งในอาเซียน ที่อังกฤษอังกฤษ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เริ่มทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 กับกลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิง จำนวน 1,112 คน ซึ่งมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า 'ChAdOx1 nCov-19' (วัคซีนของ AstraZeneca ในเวลาต่อมา)

ในช่วงเดือน เม.ย. 2563 นี้ได้มีการก่อตั้งโครงการ COVAX ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างระหว่าง องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavi) องค์การอนามัยโลก (WHO) และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (CEPI) มีเป้าหมายในการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำไปจนถึงประเทศที่มีรายได้ต่ำปานกลางกว่า 92 ประเทศ ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศที่มีรายได้สูงปานกลางและประเทศที่มีรายได้สูงมากกว่า 97 ประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ครอบคลุม 4 ใน 5 ของประชากรโลก เพื่อให้ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจนได้แบ่งวัคซีน COVID-19 กันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมมากที่สุด

ข้อมูล ณ 30 เม.ย. 2563 มีรายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกรวม 3,231,054 ราย เสียชีวิต 228,403 ราย โดยประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยยืนยัน 10 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 1,064,572 ราย สเปน 236,899 ราย อิตาลี 203,591 ราย ฝรั่งเศส 166,420 ราย สหราชอาณาจักร 165,221 ราย เยอรมนี 161,539 ราย ตุรกี 117,589 ราย รัสเซีย 106,498 ราย อิหร่าน 93,657 ราย และจีน 83,945 ราย (รวม ฮ่องกง 1,038 รายมาเก๊า 45 ราย) ส่วนไทยมีรายงานผู้ป่วยยืนยันสะสมจำนวน 2,954 ราย รักษาหาย 2,719 ราย เสียชีวิต 54 ราย

พฤษภาคม 2563

ช่วงต้นเดือน พ.ค. 2563 เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศไทย ให้ร้านค้าหรือสถานประกอบจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ยังคงห้ามจำหน่ายในสถานบันเทิงหรือร้านอาหาร ซึ่งก็แล้วแต่ประกาศตามสถานการณ์ระบาดของโรคของแต่ละจังหวัด อนุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานออกกำลังกายบางส่วน มีการลดระยะเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23.00-3.00 น. ต่อมาในวันที่ 13 พ.ค. 2563 ถือเป็นวันแรกที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่หลังจากที่มีผู้ติดเชื้อทุกวันติดต่อกันนานถึง 65 วัน รัฐบาลจึงได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการเป็นระยะๆ 17 พ.ค. 2563 ได้เริ่มบังคับใช้มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 ตามประกาศของ ศบค. มีผลบังคับโดย อนุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานออกกำลังกายบางส่วน และในปลายเดือน พ.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติต่อ พรก. ฉุกเฉินต่อ รวมทั้งการผ่อนปรนระยะที่ 3 และลดระยะเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23.00–3.00 น.

นอกจากนี้ปกติแล้วในช่วงเดือน พ.ค. จะเป็นช่วงเปิดภาคเรียนในประเทศไทย แต่เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 สถานศึกษาไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติ จึงมีการนำระบบการเรียนทางไกลและออนไลน์มาใช้ทั่วประเทศ

15 พ.ค. 2563 มีการประกาศดำเนินการโครงการ Operation Warp Speed (OWS) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ริเริ่มโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่ออำนวยความสะดวกและเร่งการพัฒนา การผลิต และการจัดจำหน่ายวัคซีน COVID-19

ต่อมาในช่วงเดือน พ.ค. 2563 นี้บริษัท Pfizer Inc. ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ได้พัฒนาวัคซีนร่วมกับ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี ได้เริ่มทำการทดลองวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ในคน ด้านองค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) แถลงการณ์ว่าข้อจำกัดเรื่องการเดินทางที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกประกาศใช้ การปิดสนามบินและชายแดนของแต่ละประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศประสบกับวิกฤตการณ์เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ปี 1950 ส่วนทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ทำให้การลงทุนด้านพลังงานทั่วโลกลดลงมากที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูล
WHO ระบุว่าภูมิภาคแถบละตินอเมริกาขณะนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 แห่งใหม่ของโลกแล้ว ส่วนสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร แถลงยอมรับว่าคนชราในบ้านพักคนชรา 12,526 คนเสียชีวิตเพราะโรคติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลที่ถูกวิจารณ์หนักอยู่แล้วเรื่องการรับมือกับการระบาด ที่สหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แถลงผ่าน Twitter แสดงความเสียใจต่อการสูญเสียชีวิตของคนอเมริกันกว่า 100,000 คน จากการระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ช่วงปลายเดือน พ.ค. 2563 จีนไม่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดในจีน

ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 2563 มีรายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกรวม  6,175,290 ราย มีอาการรุนแรง 53,460 ราย เสียชีวิต 371,228 ราย โดยประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยยืนยัน 10 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 1,816,897 ราย บราซิล 499,966 ราย รัสเซีย 405,843 ราย สเปน 286,308 ราย สหราชอาณาจักร 272,826 รายอิตาลี 232,664 ราย ฝรั่งเศส 188,625 ราย เยอรมนี 183,294 รายอินเดีย 182,681 ราย และ ตุรกี 163,103 ราย ส่วนจีนเป็นอันดับที่ 16 มีจำนวนผู้ป่วย 84,131ราย (รวม ฮ่องกง 1,085 ราย มาเก๊า 45 ราย) ส่วนประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยยืนยันสะสมจำนวน 3,081 ราย รักษาหาย 2,963 ราย เสียชีวิต 57 ราย
มิถุนายน 2563

ต้นเดือน มิ.ย. 2563 ศบค. ผ่อนปรนมาตรการเป็นลำดับ โดยเปิดให้ประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดได้ ส่วนในช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2563 มีการยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน และสามารถใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถานศึกษา สถาบันกวดวิชา และสามารถเปิดโรงเแรม โรงมหรสพ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร และเครื่องดื่มทั่วไป อนุญาตให้มีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ ยกเว้น สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการประเภทผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานที่พำนักอาศัย สามารถเปิดได้แต่ต้องมีมาตรการ ยกเว้นสถานบันเทิง สถานแข่งขัน และปลายเดือน มิ.ย. 2563 ศบค. ประกาศผ่อนปรนระยะที่ 5 ซึ่งรวมถึงธุรกิจผับ บาร์ คาราโอเกะ โรงอาบน้ำ โรงน้ำชา ร้านเกมและอินเทอร์เน็ต แต่คณะรัฐมนตรียังต่ออายุ พรก. ฉุกเฉินต่อ พร้อมมีคำสั่งห้ามชุมนุม ห้ามกักตุนสินค้า และห้ามเสนอข่าวเท็จ 

ในเดือนเดียวกันนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ 39 ตัวอย่าง พบร้อยละ 67 ไม่ผ่านตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข บางยี่ห้อเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ

WHO ระบุว่าสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ในยุโรปกำลังดีขึ้น แต่สถานการณ์ในที่อื่นๆ ของโลกกำลังแย่ลง โดยจากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ร้อยละ 40 ของผู้ติดเชื้อ COVID-19 มีสาเหตุจากการติดเชื้อจากคนที่ติดไวรัสแต่ไม่แสดงอาการ นอกจากนี้ช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2563 WHO ได้ออกแถลงสถานการณ์ COVID-19 หลังผ่านมาแล้ว 6 เดือน ว่าสถานการณ์ระบาดยังห่างไกลจากจุดจบและจุดเลวร้ายสุดของยังมาไม่ถึง ส่วนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก (UNU-WIDER) ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการระบาดของโรค COVID-19 อาจทำให้ผู้คน 395 ล้านคน อยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรง และทำให้จำนวนผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงวันละ 1.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 59 บาท) พุ่งทะลุเกิน 1,100 ล้านคนทั่วโลก

ในเดือน มิ.ย. 2563 นี้อังกฤษ เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง แม้มีเสียงเตือนว่าเร็วเกินไป เนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 ระบาดในอังกฤษยังไม่ดีขึ้น โดยอนุญาตให้โรงเรียนบางแห่งเปิดอีกครั้งหลังจากปิดไปนานถึง 10 สัปดาห์ ให้คนรวมตัวในที่สาธารณะได้ไม่เกิน 6 คน ให้เปิดตลาดนัด จัดการแข่งขันกีฬาโดยไม่มีคนดู และจะให้กลุ่มเสี่ยงที่สุดกว่า 2 ล้านคนออกไปใช้เวลานอกบ้านได้ ส่วนอิตาลี ที่มีผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นประเทศแรกในยุโรป เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวในภูมิภาค หลังจากปิดเมืองไปนาน 3 เดือน โดยหวังจะใช้การท่องเที่ยวกอบกู้เศรษฐกิจประเทศในช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนที่จีนมีการอนุมัติให้ใช้วัคซีน COVID-19 ของ CanSino สำหรับใช้ในกองทัพ (จำกัดการใช้) และวัคซีน COVID-19 อีก 2 ชนิดให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง

ข้อมูล ณ 30 มิ.ย. 2563 เวลา 10.00 น. สถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อ 10,408,433 ราย เสียชีวิต 507,497 ราย รักษาหาย 5,664,407 ราย ส่วนในประเทศไทย ติดเชื้อสะสม 3,171 ราย เสียชีวิต 58 ราย รักษาหาย 3,056 ราย

กรกฎาคม 2563

ช่วงต้นเดือน ก.ค. 2563 มีการเปิดเทอมวันแรก หลังจากที่ต้องเลื่อนมาจากเดือน พ.ค. เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 โรงเรียนทั่วประเทศจัดระบบคัดกรองก่อนเข้าเรียนตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข | ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

1 ก.ค. 2563 เปิดเทอมวันแรก โรงเรียนทั่วประเทศจัดระบบคัดกรองก่อนเข้าเรียนตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่นักเรียนและผู้ปกครองให้ความร่วมมือสวมหน้ากาก-ล้างมือ ก่อนเข้าเรียน 

ในวันที่ 8 ก.ค. 2563 เกิดกรณีทหารอียิปต์จากเครื่องบินทหารพบติด COVID-19 แต่ไม่ได้กักตัว และ 10 ก.ค. 2563 พบผู้ป่วยเด็กครอบครัวของอุปทูตซูดานติด COVID-19 แต่ไม่ได้กักตัวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 14 ก.ค. 2563 ศบค. ชี้แจงว่ากรณีทหารอียิปต์ใช้เพียงวิธีระบบติดตามตัวเท่านั้น มีคำสั่งกักตัวผู้ใกล้ชิดจากการบินไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ต่อมาในช่วงปลายเดือน ก.ค. 2563 รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ระลอกที่ 1 ในขั้นสุดท้ายคืออนุญาตให้มีการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง

มีรายงานข่าวว่าช่วงเดือน ก.ค. 2563 จีนเริ่มโครงการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนคือบุคลกรด่านหน้าและประชาชนกลุ่มเสี่ยง

ในเดือนเดี่ยวกันนี้ WHO เปิดเผยว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นสาเหตุของโรค COVID-19 อาจอยู่ในขั้นฟักตัวมานานก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก นอกจากนี้ WHO ระบุว่าประเทศต่างๆ ที่ดำเนินการตามคำแนะนำเหล่านี้อย่างระมัดระวังและต่อเนื่อง และสามารถป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 เป็นวงกว้างได้เป็นอย่างดีนั้นได้แก่ ประเทศไทย กัมพูชา นิวซีแลนด์ รวันดา เวียดนาม และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกและแคริบเบียน นอกจากนี้ แคนาดา จีน เยอรมนี และเกาหลีใต้ ก็สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีเช่นกัน, ส่วนที่ประชุมสหภาพยุโรป (EU) ประกาศการบรรลุข้อตกลงจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจจาก COVID-19 วงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร (8.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ที่สหรัฐฯ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ เผยแพร่เอกสารการวางแผนรับมือการระบาดใหญ่ของโรค COVID-19 ระบุว่าราวร้อยละ 40 ของผู้มีผลตรวจ COVID-19 เป็นบวกไม่ได้แสดงอาการของโรคออกมา

ข้อมูล ณ 31 ก.ค. 2563 ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อ 17,474,020 ราย เสียชีวิต 676,755 ราย รักษาหาย 10,937,750 ราย ส่วนในประเทศไทย ติดเชื้อสะสม 3,310 ราย เสียชีวิต 58 ราย รักษาหาย 3,125 ราย

สิงหาคม 2563

ช่วงต้นเดือน ส.ค. 2563 กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา มียอดผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 ทะลุ 5 ล้านคน ตอกย้ำการเป็นภูมิภาคที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงที่สุดในโลก

สิงคโปร์ ออกข้อกำหนดให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศสวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระหว่างการกักตัวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ขณะที่เตรียมเปิดพรมแดนต้อนรับนักเดินทางจากต่างประเทศอีกครั้ง

รัสเซีย รับรองวัคซีน Sputnik V เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยในเดือนต่อมา (ก.ย. 2563) มีการแจกจ่ายวัคซีนนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพื่อใช้นอกการทดลองระยะที่ 3

ช่วงปลายเดือน ส.ค. 2563 WHO เผยว่าอัตราติดเชื้อและเสียชีวิตจาก COVID-19 ทั่วโลกชะลอตัวลง โดยมีทวีปอเมริกาพบการแพร่ระบาดลดลงมากที่สุด

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 2563 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 25,384,436 ราย เสียชีวิต 850,591 ราย รักษาหาย 17,706,679 นาย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,412ราย เสียชีวิต 58 ราย รักษาหาย 3,252 ราย

กันยายน 2563

วันที่ 3 ก.ย. 2563 ไทยยืนยันพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายแรกในประเทศในรอบ 100 วัน โดยเป็นผู้ต้องขังชายที่ต้องโทษในคดียาเสพติดและก่อนหน้านั้นทำงานเป็นดีเจในสถานบันเทิง (ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2563)

ในเดือน ก.ย. 2563 นี้มีรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกอย่างน้อย 7,000 คน เสียชีวิตหลังจากติดเชื้อ COVID-19 นับตั้งแต่การระบาดของโรคนี้เมื่อเดือน ธ.ค. 2562

ด้านสหประชาชาติ (UN) ระบุว่าก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลกมีปริมาณความหนาแน่นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2563 นี้ ในขณะที่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวท่ามกลางการระบาดของเชื้อ COVID-19

ผลการศึกษาของ Oxfam พบว่ากลุ่มประเทศร่ำรวยที่มีประชากรเพียงร้อยละ 13 ของโลก จองซื้อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่อยู่ระหว่างการทดลองแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง

ในเดือนเดียวกันนี้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อนุมัติการใช้วัคซีน Sinopharm ในกรณีฉุกเฉินสำหรับบุคลากรทางการแพทย์, สเปน กลายเป็นประเทศแรกในยุโรปตะวันตกที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 เกิน 500,000 คน, สหรัฐฯ มียอดผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ทะลุ 200,000 คน นับเป็นสถานการณ์วิกฤตของประเทศก่อนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีในอีกไม่กี่สัปดาห์

ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 33,841,654 ราย เสียชีวิต 1,012,631 ราย รักษาหาย 25,144,998 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,564 ราย เสียชีวิต 59 ราย รักษาหาย 3,374 ราย

ตุลาคม 2563 

ช่วงปลายเดือน ต.ค. 2563 ไทยเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกครั้ง โดยเป็นนักท่องเที่ยวจีนจำนวน 41 คน เป็นกลุ่มแรกภายใต้เงื่อนไข Special Tourist Visa ต้องกักตัว 14 วันเมื่อปลอด COVID-19 จึงจะท่องเที่ยวได้ 30 วัน

WHO เตือนประเทศในยุโรปให้ระวังผู้คนอ่อนล้าจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 จนกลายเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการยับยั้งโรคนี้ โดยความอ่อนล้าสามารถวัดได้หลายวิธีและมีระดับที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่จากข้อมูลการสำรวจรวมในยุโรปประมาณได้ว่า บางประเทศมีระดับความอ่อนล้าจากการระบาดสูงกว่าร้อยละ 60 แล้ว ประชาชนเสียสละอย่างใหญ่หลวงตลอด 8 เดือนที่ผ่านมาเพื่อพยายามควบคุมการระบาด สถานการณ์แบบนี้จึงเป็นเรื่องง่ายและธรรมดามากที่คนจะเกิดความรู้สึกเฉยเมย หมดกำลังใจ และอ่อนล้า

ด้านธนาคารโลกอนุมัติงบประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วยประเทศกำลังพัฒนาจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 ตั้งเป้าช่วยให้คนได้รับวัคซีนมากถึง 1,000 ล้านคน

สถานการณ์ในประเทศอื่นๆ ในเดือน ต.ค. 2563 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าตนเองและภรรยาติดเชื้อ COVID-19 ส่วนอังกฤษ ประสบปัญหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการหนักต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องมีการล็อกดาวน์กรุงลอนดอน เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เข้มงวดมากกว่าเดิม ที่ฝรั่งเศสประกาศใช้มาตรการปิดเมืองทั่วประเทศรอบ 2 เพื่อหยุดยั้ง COVID-19 ที่กลับมาระบาดหนัก เช่นเดียวกับที่สเปน มีประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งใหม่เพื่อพยายามควบคุมการระบาดของ COVID-19

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 2563 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 45,898,590 ราย เสียชีวิต 1,193,744 ราย รักษาหาย 33,248,821 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,780 ราย รักษาหาย 3,590 ราย เสียชีวิต 59 ราย

พฤศจิกายน 2563

ช่วงเดือน เดือน พ.ย. 2563 ผลการทดลองวัคซีน COVID-19 ของบริษัทต่าง ๆ เริ่มทยอยออกมา | ที่มา: Wikimedia 

ช่วงต้นเดือน พ.ย. 2563 นี้ ครม.อนุมัติจองวัคซีน COVID-19 ของ AstraZeneca จำนวน 23 ล้านโดส มูลค่า 3,469 ล้านบาท

28 พ.ย. 2563 มีรายงานของทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ยืนยันว่ามีหญิงไทยรายหนึ่งติดเชื้อ COVID-19 โดยประวัติที่ได้จากการสอบสวนโรคพบว่าช่วงวันที่ 24 ต.ค.-23 พ.ย. 2563 เธอเข้าไปทำงานอยู่ที่สถานบันเทิงในโรงแรม 1G1 จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ผู้ป่วยเริ่มมีอาการป่วยด้วยอาการไข้ ถ่ายเหลว และจมูกไม่ได้กลิ่น ตั้งแต่ก่อนจะลักลอบเดินทางกลับเข้าประเทศไทยทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายในวันที่ 24 พ.ย. 2563 ถือเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดระลอกที่ 2 ในประเทศไทย

ผลวิเคราะห์ในขั้นแรกของวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA ของบริษัท Pfizer และ BioNTech มีการนำวัคซีนนี้ไปทดลงกับคน 43,500 คน ใน 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี บราซิล อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกี สามารถป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อ COVID-19 ได้ถึง 90% และไม่พบว่ามีปัญหาในเรื่องปลอดภัยกับผู้เข้าร่วมการทดลอง

ด้านบริษัท Moderna, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯ แถลงว่าผลการทดลองวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ในเฟสที่ 3 พบว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันมากกว่า ร้อยละ 94 ทั้งนี้ Moderna ได้พัฒนาวัคซีนดังกล่าวร่วมกับสถาบันวิจัยโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ โดยมีอาสาสมัครจำนวน 30,000 ราย

ส่วนผลการทดลองขนาดใหญ่ชี้ว่าวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษพัฒนาร่วมกับบริษัท  AstraZeneca สามารถยับยั้งไม่ให้อาสาสมัครเกิดอาการของโรคได้ร้อยละ 70 นอกจากนี้รัสเซียก็ออกมาระบุว่าวัคซีน Sputnik V ของตนมีประสิทธิภาพในการปกป้องผู้คนจากโรค COVID-19 ถึง ร้อยละ 92 ตามผลการทดลองขั้นต้น

บาห์เรน อนุมัติการใช้วัคซีน Sinopharm ในกรณีฉุกเฉิน

มีรายงานข่าว ณ ช่วงกลางเดือน พ.ย. 2563 มีชาวจีนราว 1 ล้านคนได้รับวัคซีน COVID-19 ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทยาในประเทศ โดยจีนมีวัคซีนที่อยู่ในขั้นตอนทดสอบทางคลินิกระยะสุดท้ายอย่างน้อย 5 ตัว ซึ่งรวมถึงวัคซีน Sinovac และ Sinopharm

ช่วงต้นเดือน พ.ย. 2563 อังกฤษกลับเข้าสู่การล็อกดาวน์ทั่วประเทศอีกครั้ง (เป็นครั้งที่ 2) หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศพุ่งเลยหลัก 1 ล้านคน และการระบาดในระลอกที่ 2 นี้ทำให้ระบบบริการสุขภาพเริ่มรับมือไม่ไหว ส่วนสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่มียอดผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 เกิน 10 ล้านคน อิตาลี สถาบันมะเร็งแห่งชาติของอิตาลีเผยแพร่งานวิจัยระบุว่า ไวรัส COVID-19 อาจแพร่กระจายในอิตาลีมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2562 ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดในจีนในเดือน ธ.ค. 2562 หากเป็นเช่นนั้น อาจหมายความว่าไวรัส COVID-19 มีอยู่ในอิตาลี 3 เดือนก่อนหน้าที่จะมีการพบผู้ติดเชื้อที่จีน และ 5 เดือนก่อนที่จะมีการรายงานพบผู้ติดเชื้อรายแรกอย่างเป็นทางการในอิตาลีเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563

ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 2563 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 63,066,168 ราย เสียชีวิต 1,465,048 ราย รักษาหาย 43,542,381 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,998 ราย รักษาหาย 3,803 ราย เสียชีวิต 60 ราย

ธันวาคม 2563

หลายประเทศเริ่มอนุมัติการใช้วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ในเดือนธันวาคม 63 และเริ่มทยอยฉีดให้แก่ประชาชนในประเทศ | ที่มา: OHSU/Fritz Liedtke (CC)

เดือน ธ.ค. 2563 ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 2 โดยช่วงต้นเดือนมีประกาศให้ผู้ที่มีสัญชาติไทยและตกค้างอยู่ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ให้สามารถกลับเข้ามาตามช่องทางปกติตรงด่านพรมแดนไทย-เมียนมาสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 ได้ โดยได้มีการประสานผ่านคณะกรรมการชายแดนไทย-พม่า และจะมีการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทั้งนี้มีการประเมินว่ามีคนไทยที่ทำงานในโรงแรม 1G1 ประมาณ 180 คน

ต่อมา วันที่ 19 ธ.ค. 2563 พบการระบาดคลัสเตอร์ใหม่โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร นำมาซึ่งมาตรการระดับจังหวัด ปิดตลาดกลางกุ้งและสถานที่เสี่ยงซึ่งเชื่อมโยงกับแรงงานข้ามชาติ อาทิ สนามกีฬา สนามมวย โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง ฯลฯ มีผู้ติดเชื้อกว่า 1,300 คนใน 27 จังหวัดที่เชื่อมโยงจากคลัสเตอร์นี้

27 ธ.ค. 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง แถลงพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวนมาก โดยพบติดจากบ่อนการพนันในอำเภอเมืองระยอง ต่อมา 28 ธ.ค. 2563 คนงานที่ติดเชื้อ COVID-19 จากคลัสเตอร์บ่อนระยองเสียชีวิต นับเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกของประเทศไทยในรอบเกือบ 2 เดือน และช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2563 นี้ มีรายงานภายหลังว่ามีผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวนหนึ่ง ได้เดินทางไปฉลองปาร์ตี้เทศกาลปีใหม่ตามสถานบันเทิงในจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับสถานการณ์ในระดับนานาชาติ ในวันที่ 18 ธ.ค. 2563 WHO ได้ยืนยันการระบาดของเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ B.1.1.7 หรือชื่อเรียกภายหลังคือ "สายพันธุ์อัลฟ่า" (Alpha) ครั้งแรกในอังกฤษ, ในเดือน ธ.ค. 2563 นี้ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เป็นผู้นำประเทศอีกคนที่ติด COVID-19, WHO รับรองการใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech เป็นกรณีฉุกเฉิน, หลายประเทศเริ่มอนุมัติการใช้วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 โดยอังกฤษเป็นประเทศแรกที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer-BioNTech และอังกฤษยังอนุมัติให้ใช้วัคซีน AstraZeneca เป็นประเทศแรกในโลกด้วยเช่นกัน, ส่วนที่สหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีน Moderna เป็นการฉุกเฉิน

หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนในวงกว้างเป็นครั้งแรกโดยกระจายให้กับบุคลกรด่านหน้าและประชาชนกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น อิสราเอล, สหรัฐฯ, แคนาดา, อังกฤษ (สหราชอาณาจักร), เยอรมนี, เบลเยียม, ฝรั่งเศส, สเปน, อิตาลี, สวิตเซอร์แลนด์, เซอร์เบีย, ไอซ์แลนด์ ฮังการี, สโลวาเกีย และสิงคโปร์ เป็นต้น (ส่วนใหญ่เริ่มฉีด Pfizer-BioNTech ก่อน)

ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 83,060,536 คน เสียชีวิต 1,812,050 ราย รักษาหาย 58,862,045 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 6,884 ราย รักษาหาย 4,240 ราย เสียชีวิต 61 ราย

มกราคม 2564

ช่วงต้นเดือน ม.ค. 2564 ศบค. สั่งห้ามเข้าออกพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และ ตราด ยกเว้นเหตุจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉิน, เกิด "คลัสเตอร์ดีเจมะตูม" จากปาร์ตี้ฉลองวันเกิดของดีเจและพิธีกรมีชื่อในวงการบันเทิงไทย ณ โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ (สรุปมีผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ดีเจมะตูมถึง 26 คน) ในวันที่ 9 ม.ค. 2564 ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยสะสมแตะหลักหมื่นเป็นครั้งแรก 

ในวันที่ 12 ม.ค. 2564 ผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ทั่วโลกทะลุ 2 ล้านคน นอกจากนี้ในเดือน ม.ค. 2564 เชื้อ COVID-19 สายพันธุ์อัลฟ่าเริ่มแพร่ระบาดไปในหลายประเทศ, คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่นำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เดินทางถึงเมืองอู่ฮั่น ในภาคกลางของจีนเพื่อสอบสวนหาที่มาของเชื้อ COVID-19 ที่ทำให้เกิดการระบาดไปทั่วโลก

ที่เนเธอร์แลนด์ มีประชาชนอย่างน้อย 10 เมืองทั่วประเทศ ออกมาร่วมชุมนุมประท้วงต่อต้านมาตรการป้องกัน COVID-19 หลังรัฐบาลบังคับใช้คำสั่งเคอร์ฟิวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19

อินโดนีเซีย เริ่มฉีดวัคซีน Sinovac ให้แก่ประชาชน, อังกฤษและอินเดีย เริ่มฉีดวัคซีน  AstraZeneca ให้แก่ประชาชน ส่วนพม่าเริ่มฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์

บริษัท Johnson & Johnson ระบุทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนป้องกัน COVID-19 ทางคลินิกได้ผล ร้อยละ 66 โดยเป็นวัคซีนแบบฉีดเข็มเดียว

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค. 2021 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 103,132,381 ราย เสียชีวิต 2,229,405 ราย รักษาหาย 74,756,577 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 18,782 ราย รักษาหาย 11,615 ราย เสียชีวิต 77 ราย

กุมภาพันธ์ 2564

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 คนแรกของประเทศไทย โดยเป็นวัคซีนของ Sinovac | ที่มา: NBT

ครม. เห็นชอบโครงการ “ม.33 เรารักกัน” รับคนละ 4,000 บาท เริ่มลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ตั้งแต่ 21 ก.พ.-7 มี.ค. 2564, ในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2564 วัคซีน COVID-19 ชุดแรกได้นำส่งมาถึงประเทศไทย เป็นวัคซีนของ Sinovac จำนวน 200,000 โดส และของ AstraZeneca จำนวน 117,000 โดส รวมทั้งหมด 317,000 โดส โดยวัคซีนล็อตแรกของ Sinovac ถูกกระจายไปใน 13 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สมุทรสาคร)

พื้นที่ควบคุม (เช่น กทม. ฝั่งตะวันตก, ปทุมธานี, อ.แม่สอด จ.ตาก) และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม (เช่น ภูเก็ต, เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี, เชียงใหม่) โดยในวันที่ 28 ก.พ. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 คนแรกของประเทศไทย โดยเป็นวัคซีนของ Sinovac 

ด้านสถานการณ์ในระดับประเทศ WHO ระบุว่า 130 ประเทศทั่วโลก ประชากรกว่า 2,500 ล้านคน ยังไม่มีวัคซีน COVID-19 ฉีดให้ประชาชนแม้แต่โดสเดียว WHO ยังเปิดเผยว่าการที่ประเทศร่ำรวยทำข้อตกลงซื้อวัคซีนต้านโรค COVID-19 โดยตรงจากผู้ผลิตนั้น กำลังส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าวของโครงการ COVAX โดยทำให้ WHO สามารถซื้อวัคซีนได้ในจำนวนโดสที่น้อยลง นอกจากนี้ WHO รับรองการใช้วัคซีน AstraZeneca เป็นกรณีฉุกเฉิน ถือเป็นวัคซีนตัวที่ 2 ต่อจาก Pfizer-BioNTech ที่รับรองไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2563, อิสราเอล เริ่มเปิดเศรษฐกิจ ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่กำลังฟื้นตัวเพราะฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 ให้ประชากรไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่งในขณะนั้น

ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ. 2563 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 114,365,592 ราย เสียชีวิต 2,536,703 ราย รักษาหาย 89,920,889 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 25,951 ราย รักษาหาย 25,128 ราย เสียชีวิต 86 ราย

มีนาคม 2564

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประเดิมฉีดวัคซีน COVID-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกาเข็มแรกในไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ยืนยันวัคซีนมีความปลอดภัย | ที่มา: กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ช่วงเดือน มี.ค. 2564 เกิดการระบาด COVID-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศไทย จุดเริ่มต้นคลัสเตอร์สถานบันเทิงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลครั้งในปี 2564 จากการสืบสวนไทม์ไลน์การติดเชื้อภายหลังพบว่าเริ่มจากเมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค. 2564 กลุ่มนักศึกษาซึ่งไปเที่ยวในผับในจังหวัดปทุมธานี ก่อนที่จะพบการติดเชื้อ 6 ราย ต่อมามีการติดเชื้อไปยังนักดนตรีและครอบครัวซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อต่อเนื่อง

ล่วงมาวันที่ 25 มี.ค. 2564 เริ่มเกิดคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อครั้งที่ 2 โดยจากรายงานการสืบสวนโรคในภายหลังพบว่ากลุ่มนักเที่ยวในสถานบันเทิงย่านทองหล่อทยอยติดเชื้อ COVID-19 เป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมผู้มีชื่อเสียงอย่างเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย (ทราบผลการติดเชื้อ 3 เม.ย. 2564) รวมทั้งผู้มีความเกี่ยวข้องและสัมผัสใกล้ชิดกับนักเที่ยวในวันนั้น เช่น ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กลายเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ติดเชื้อ COVID-19 โดยเขาอ้างว่าติดจากคนใกล้ชิดที่ได้รับเชื้อมาการไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อ

นอกจากนี้ในช่วงปลายเดือน มี.ค. 2564 นักศึกษามหาวิทยาลัยในเชียงใหม่ที่สอบเสร็จแล้วเที่ยวสังสรรค์ผับบาร์จุดเสี่ยงหลายแห่งในเชียงใหม่ ก่อนเดินทางกลับบ้านในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียง ซึ่งต่อมาพบว่าติดเชื้อ COVID-19 เป็นจำนวนมาก และได้ระบาดระเป็นลอกใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือทุกจังหวัดในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2564

ในวันที่ 16 มี.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประเดิมฉีดวัคซีน COVID-19 ของ AstraZeneca เข็มแรกในไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเนื่องจากไทยมีนโยบายใช้วัคซีนนี้เป็นหลักในประเทศ

โดย AstraZeneca ได้ชี้แจงความปลอดภัยของวัคซีน ย้ำว่าอัตราการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดและภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกหรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำในผู้ที่ได้รับวัคซีนต่ำกว่าการพบในประชากรทั่วไป และไม่ต่างจากวัคซีนตัวอื่น

ในช่วงเดือน มี.ค. 2564 นี้ WHO รับรองให้ใช้วัคซีนต้าน COVID-19 ของบริษัท Johnson & Johnson เป็นการฉุกเฉิน นอกจากนี้ WHO ยังให้การสนับสนุนในการใช้วัคซีน AstraZeneca โดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยังคงเดินหน้าฉีดวัคซีนตัวนี้ต่อไปหลังจากทบทวนรายงานเรื่องการเกิดลิ่มเลือดอุดตันแล้วว่าไม่มีอันตรายอย่างมีนัยสำคัญ ที่อินเดียพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนมีความกังวลว่าเชื้อ COVID-19 จะกลายพันธุ์อีกครั้ง

ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2564 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 128,796,905 ราย เสียชีวิต 2,815,896 ราย รักษาหาย 103,923,449 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 28,863 ราย รักษาหาย 27,426 ราย เสียชีวิต 94 ราย

เมษายน 2564

ช่วงต้นเดือน เม.ย. 2564 จังหวัดเชียงใหม่มีรายงานพบผู้ป่วย COVID-19 เป็นครั้งแรกในรอบ 83 วัน จำนวน 4 ราย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้เดินทางไปยังกรุงเทพฯ และมีความเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์สถานบันเทิงในกรุงเทพฯ

ต่อมามีการยืนยันว่าผู้ป่วยจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์อัลฟ่า ในวันที่ 9 เม.ย. มีรายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้กรุงเทพฯ ต้องออกประกาศ เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว (ฉบับที่ 23) ขยายขอบเขตพื้นที่ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการฯ ครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯ ต่อมามีการประกาศปิดสถานบริการยามค่ำคืนเป็นวงกว้างทั่วประเทศครั้งที่ 2 ทั้งนี้ช่วงปลายเดือน เม.ย. 2564 มีการเปิดเผยว่า ณ ช่วงเวลานั้นเชื้อ COVID-19 ที่ระบาดในไทยส่วนใหญ่เป็นสายพันธ์อัลฟ่า ร้อยละ 98

ด้านสถานการณ์ในต่างประเทศ วันที่ 4 เม.ย. 2564 WHO ยืนยันการระบาดของเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ B.1.617.2 หรือชื่อเรียกภายหลังคือ "สายพันธุ์เดลต้า" (Delta) ครั้งแรกในอินเดีย มีการเตือนว่าสายพันธุ์เดลต้านี้แพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม และอาจทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพในการป้องกันโรค

การระบาดในอินเดียยังคงรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 13 เท่าในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโลก ทำให้โรงพยาบาลประสบปัญหาเตียงไม่พออย่างหนัก, หลายประเทศเริ่มระงับการเดินทางเข้าประเทศสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากอินเดีย

ในช่วงเดือน เม.ย. 2564 WHO ยังระบุว่าประเทศยากจนยังคงเข้าไม่ถึงวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 ในขณะที่องค์การอนามัยโลกก่อตั้งโครงการ COVAX ครบรอบ 1 ปี ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปเกือบ 900 ล้านโดส แต่วัคซีนกว่า 81% ได้รับการจัดส่งไปยังประเทศที่มีรายได้สูงหรือสูงกว่าระดับปานกลาง ขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำได้รับวัคซีนเพียง 0.3% ในเดือนเดียวกันนี้ WHO ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนของบริษัท Moderna ได้ในกรณีฉุกเฉิน

ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย. 2021 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 151,117,679 ราย เสียชีวิต 3,179,187 ราย รักษาหาย 128,510,730 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 65,153 ราย รักษาหาย 36,254 ราย เสียชีวิต 203 ราย

พฤษภาคม 2564

1 พ.ค. 2564 ไทยเริ่มให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ผ่าน LINE OA “หมอพร้อม” สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค รวม 16 ล้านคน

10 พ.ค. 2564 ไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า 2 รายแรกเดินทางมาจากปากีสถาน อยู่ในสถานกักตัว State Quarantine, หลายจังหวัดเริ่มทยอยเปิดโรงพยาบาลสนามมากขึ้น ส่วนที่ กทม. มีการเปิด ICU สนามแห่งแรกของประเทศ

กรมราชทัณฑ์เปิดเผยเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ว่าพบผู้ติดเชื้อในทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวม 2,935 คน

16 พ.ค. 2564 ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยสะสมแตะหลักแสนเป็นครั้งแรก

17 พ.ค. 2564 ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 9,635 ราย ซึ่งรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำหรือที่ต้องขัง 6,835 คน ล่วงมาถึงวันที่ 30 พ.ค. 2564 ไทยมียอดผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 เกิน 1,000 ราย เป็นครั้งแรก

WHO ประกาศให้เชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าที่พบการระบาดครั้งแรกในอินเดียเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลระดับโลก ส่วนสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในยุโรป WHO ระบุว่ากำลังพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง 60% ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

ในช่วงเดือน พ.ค. 2564 นี้สถานการณ์ในอินเดียยังย่ำแย่ ระบบสาธารณสุขอยู่ในภาวะล่มสลาย สถานที่เก็บศพและฌาปนสถานในอินเดียอยู่ในสภาพแออัดล้นไปด้วยคนไข้และร่างผู้เสียชีวิต รัฐต่างๆ ทยอยประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ นอกจากนี้ยังทำให้อินเดียไม่สามารถส่งออกวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้ตามเป้าเนื่องจากต้องนำไปฉีดให้คนในประเทศก่อน ซึ่งต่อมาได้กระทบประเทศต่างๆ ที่สั่งจองวัคซีนที่ผลิตในอินเดีย

ญี่ปุ่น ประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายพื้นที่เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทำให้ระบบสาธารณสุขตึงตัว และมีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกจัดการแข่งขันโอลิมปิก, ที่มาเลเซียประกาศล็อคดาวน์ทั่วประเทศเนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่สูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งเมืองที่ติดพรมแดนไทยด้วย

ส่วนที่อเมริกาใต้ อาร์เจนตินา ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศอีกครั้ง หลังยอดติดเชื้อและเสียชีวิตจาก COVID-19 พุ่งทำสถิติ

ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 2021 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 171,029,617 ราย เสียชีวิต 3,556,677 ราย รักษาหาย 153,118,743 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 159,792 ราย รักษาหาย 108,345 คน เสียชีวิต 1,031 ราย

มิถุนายน 2564

ในเดือน มิ.ย. 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) เปลี่ยนชื่อเรียก COVID-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ต่างๆ ใหม่ตามชื่อเรียกตัวอักษรกรีกเพื่อลดการตีตราประเทศ

7 มิ.ย. 2564 ดีเดย์ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับประชาชนทั่วประเทศ หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนแสดงความจำนงรับการฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” “ไทยร่วมใจ” ตลอดจนช่องทางต่างๆ ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์, ในช่วงเดือน มิ.ย. 2564 นี้ รมว.สาธารณสุข ยังรับมอบวัคซีน AstraZeneca ลอตแรกที่ผลิตในไทย จำนวน 1.8 ล้านโดส

ช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2564 ไทยมีผู้เสียชีวิตเกิน 50 รายต่อวันเป็นครั้งแรก โรงพยาบาลหลายแห่งแจ้งว่ามีภาระเกินตัว ทำให้ต้องงดตรวจหาเชื้อและบางแห่งงดตรวจผู้ป่วยนอก สถานการณ์เตียงโรค COVID-19 ในเขตกรุงเทพฯ น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโควิดสีเหลืองและสีแดง ซึ่งมีเตียงว่างเหลือน้อย ต่อ ศบค. มีมาตรการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง 1 เดือน ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล-4 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากเกิดคลัสเตอร์การระบาดในแคมป์ที่พักของคนงานก่อสร้าง ทำให้ช่วงแรกคนงานก่อสร้างได้กระจายกลับภูมิลำเนารวมทั้งประเทศ ก่อนที่รัฐบาลจะมีมาตรการห้ามคนงานเหล่านี้เคลื่อนย้ายในภายหลัง

ในเดือน มิ.ย. 2564 นี้ WHO ได้รับรองวัคซีน 'Sinovac' ให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน และมีการเปลี่ยนชื่อเรียก COVID-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ต่างๆ ใหม่ตามชื่อเรียกตัวอักษรกรีกเพื่อลดการตีตราประเทศ นอกจากนี้ WHO ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกร้องให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มการใช้มาตรการสาธารณสุขและรักษาระยะห่างทางสังคมต่อไป ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เพื่อป้องกันการระบาดระลอกใหม่ เนื่องจากหลายประเทศแจ้งว่าพบเชื้อกลายพันธุ์

ส่วนสถานการณ์ในประเทศต่างๆ ต้นเดือน มิ.ย. 2564 พม่า เผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ครั้งใหม่ที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ชายแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือติดกับอินเดีย ทำให้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นนับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารในเดือน ก.พ. 2564 ที่ทำให้บริการสาธารณสุขและโครงการตรวจหาเชื้อล่มสลาย

อินโดนีเซีย มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ,ส่วนที่อินเดีย ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 เริ่มลดลงเรื่อย

ที่สหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขอร้องให้ชาวอเมริกันออกมาฉีดวัคซีน COVID-19 ในขณะที่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่สามารถประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน โดยก่อนหน้านี้ไบเดนตั้งเป้าไว้ว่าต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนวัยผู้ใหญ่อย่างน้อย 1 เข็ม ให้ได้ 70% ภายในวันที่ 4 ก.ค. 2564

ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 182,580,354 ราย เสียชีวิต 3,953,846 ราย รักษาหาย 167,175,119 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 259,301 ราย รักษาหาย 207,479 คน เสียชีวิต 2,023 ราย

กรกฎาคม 2564

ที่อังกฤษ ในวันที่ 19 ก.ค. 2564 รัฐบาลได้ปลดข้อจำกัดเกี่ยวกับการเข้มงวดในการป้องกันโรค COVID-19 ที่กระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างเป็นทางการ โดยยกเลิกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมทั้งหมด ก่อนหน้านั้นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำและที่ปรึกษารัฐบาลจากทั่วโลกออกมาเตือนว่าอังกฤษกำลังเดินหน้าสู่หายนะด้วยการยกเลิกข้อจำกัดเกือบทั้งหมดนี้ไร้จริยธรรมเป็นอันตรายต่อทั้งโลก | ที่มา: NationalWorld

ช่วงเดือน ก.ค. 2564 ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยเริ่มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนยากแก่การควบคุม ศบค. ได้มีการแบ่งแต่ละจังหวัดออกตามกลุ่มสีของระดับสถานการณ์ย่อยเป็นสีแดงเข้ม (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด) สีแดง (พื้นที่ควบคุมสูงสุด) สีส้ม (พื้นที่ควบคุม) และสีเหลือง (พื้นที่เฝ้าระวังสูง) โดยมาตรการที่แต่ละจังหวัดนำมาใช้นั้นก็ต้องเป็นไปตามกรอบที่กำหนดลงมาโดยส่วนกลาง, โดยผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง ได้ลามไป 73 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว และในกรุงเทพฯ มีคลัสเตอร์ระบาดมากกว่า 100 คลัสเตอร์, นอกจากนี้ไทยเปิดโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” รับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนครบโดสเข้ามาเที่ยวในภูเก็ตโดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน นำร่องการจัดมาตรการต่างๆ เพื่อเดินหน้าสู่การเปิดประเทศ นอกจากนี้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติให้ฉีดวัคซีนไขว้สลับชนิด เข็ม 1 ใช้ Sinovac และเข็ม 2 ใช้  AstraZeneca เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้นเพื่อควบคุมการระบาดของสายพันธุ์เดลตา, ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2564 สหภาพยุโรป (EU) ปลดไทยออกจากบัญชี 1 ประเทศเดินทางปลอดภัย โดยกลุ่มประเทศประเทศที่มีความปลอดภัย (EU White List) นั้นจะต้องเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่เกิน 75 คน ต่อประชากร 100,000 คน

ปลายเดือน ก.ค. 2564 วัคซีน Pfizer จำนวน 1.5 ล้านโดสที่บริจาคโดยสหรัฐฯ ถูกส่งมอบให้กับไทย

ในเดือนนี้ WHO ระบุว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในยุโรปที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา “ได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว” โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศต่างๆ ของยุโรปได้เพิ่มขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 ที่เลื่อนมาแข่งในกลางปี 2564

การระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ส่งผลให้อีกหลายประเทศในโลกเริ่มมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเริ่มควบคุมการระบาดได้แล้ว เช่น สหรัฐฯ, บราซิล, อิสราเอล, อิหร่าน, ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ เป็นต้น

ส่วนที่อังกฤษ ในวันที่ 19 ก.ค. 2564 รัฐบาลได้ปลดข้อจำกัดเกี่ยวกับการเข้มงวดในการป้องกันโรค COVID-19 ที่กระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างเป็นทางการ โดยยกเลิกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมทั้งหมด ก่อนหน้านั้นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำและที่ปรึกษารัฐบาลจากทั่วโลกออกมาเตือนว่าอังกฤษกำลังเดินหน้าสู่หายนะด้วยการยกเลิกข้อจำกัดเกือบทั้งหมดนี้ไร้จริยธรรมเป็นอันตรายต่อทั้งโลก

23 ก.ค. 2564 ญี่ปุ่น จัดการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น โดยโดยคณะกรรมการจัดงานฯ ตัดสินใจไม่ให้มีผู้ชมเข้าชมการแข่งขัน นอกจากนี้ยังพบการระบาดแบบกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ของโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่โรงแรมที่พักที่มีนักกีฬาโอลิมปิกของบราซิลพักอยู่หลายสิบคน ทำให้เกิดกระแสความวิตกกังวลใหม่เกี่ยวกับการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก

มาเลเซีย ทำสถิติยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายวันทะลุหลักหมื่นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่พบการระบาดในประเทศ

กัมพูชา ปิดพรมแดนที่ติดกับประเทศไทยและเวียดนามเพื่อป้องกันการระบาด ส่วนที่เวียดนามผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ประเทศหนึ่ง นอกจากนี้ได้มีการเลื่อนการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่เวียดนามมีกำหนดจะเป็นเจ้าภาพในปี 2564 ออกไปเป็นปี 2565 

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 2564 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 198,010,967 ราย เสียชีวิต 4,224,124 ราย รักษาหาย 178,907,063 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 597,287 ราย รักษาหาย 391,920 คน เสียชีวิต 4,857 ราย

สิงหาคม 2564

ในเดือน ส.ค. 2564 ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 รุนแรงที่สุด ทั้งในด้านผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต โดยในวันที่ 13 ส.ค. 2564 ไทยมีผู้ติดเชื้อรายวันเป็นสถิติสูงที่สุดคือ 23,418 ราย

ในเดือน ส.ค. 2564 ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 รุนแรงที่สุด ทั้งในด้านผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต โดยช่วงต้นเดือน ส.ค. 2564 มีการเปิดเผยว่า ณ ช่วงเวลานั้นเชื้อ COVID-19 ที่ระบาดในไทยส่วนใหญ่เป็นสายพันธ์เดลต้าแล้ว (กทม. ร้อยละ 95.4 และในภูมิภาค ร้อยละ 83.2)

13 ส.ค. 2564 ไทยมีผู้ติดเชื้อรายวันเป็นสถิติสูงที่สุดคือ 23,418 ราย

ต่อมาในวันที่ 20 ส.ค. 2564 มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยสะสมแตะหลักล้านเป็นครั้งแรก

ในเดือน ส.ค. 2563 นี้หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อเป็นเข็มกระตุ้นในการหยุดยั้งเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า แต่ WHO ร้องขอให้ประเทศร่ำรวยชะลอฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อกระจายวัคซีนออกไปทั่วโลกลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน

8 ส.ค. 2563 สิ้นสุดการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่น โดยสามารถควบคุมการติดเชื้อ COVID-19 จนจบการแข่งขันได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ระบุว่าการจัดการแข่งขันโอลิมปิกโตเกียว 2020 ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ และจะเป็นข้อมูลให้แก่ประเทศอื่นๆ นำไปศึกษา แต่สำหรับการระบาดในประเทศของญี่ปุ่นยังคงมีต่อเนื่องจนรัฐบาลต้องขยายภาวะฉุกเฉินในหลายพื้นที่ออกไปอีก

ที่อังกฤษ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 นัดชิงชนะเลิศระหว่างอังกฤษกับอิตาลีที่สนามเวมบลีย์ ในกรุงลอนดอน เมื่อเดือน ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา เป็นกิจกรรมที่เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ COVID-19 เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อไวรัสในสนามและรอบๆ สนามเวมบลีย์จากวันนั้น

ช่วงต้นเดือน ส.ค. 2563 ผลจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าทำให้ สหรัฐฯ มียอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่สูงสุดในรอบ 6 เดือน มีผู้ติดเชื้อเกินกว่าวันละ 1 แสนคน อัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากโรค COVID-19 ในประชากรวัยผู้ใหญ่อายุ 30-39 ปีแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์, ที่นิวซีแลนด์ พบการระบาดของ COVID-19 ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อรวม 7 คน พร้อมประกาศให้ประชาชนสวมหน้ากากเมื่อใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ต สถานีบริการน้ำมัน และร้านขายยา

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 2564 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 217,901,675 ราย เสียชีวิต 4,523,766 ราย รักษาหาย 194,769,952 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,204,729 ราย รักษาหาย 1,021,772 ราย เสียชีวิต 11,589 ราย

กันยายน 2564

ช่วงเดือน ก.ย. 2564 ไทยเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้และสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ศบค.จึงเริ่มสั่งให้มีการคลายล็อกให้กับบางกิจการ/กิจกรรมตามแต่พื้นที่สีในการควบคุม โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 ศบค.ประกาศปรับมาตรการผ่อนคลายให้เปิดกิจการ กิจกรรมบางประเภท หลายที่เริ่มทยอยเปิดให้ประชาชนนั่งรับประทานภายในร้านเป็นวันแรก เช่นเดียวกับร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างเคร่งครัด

ช่วงต้นเดือน ก.ย. 2564 WHO ระบุว่ากำลังเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์มิว ซึ่งพบครั้งแรกในโคลอมเบียเมื่อเดือน ม.ค. 2564 และยังคงระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในโคลอมเบีย อยู่ในกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าจับตา UNICEF เปิดเผยว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่บริจาควัคซีน COVID-19 มากที่สุดในโลก แซงหน้าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ หลายแห่ง อาทิ จีน

ญี่ปุ่น และอังกฤษ นอกจากนี้ UNICEF ยังเรียกร้องให้หน่วยงานด้านการศึกษาในประเทศต่าง ๆ กลับมาเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนอีกครั้งโดยเร็วที่สุด โดยระบุว่ามีเด็กและเยาวชนจำนวนหลายล้านคนที่ยังไม่สามารถกลับไปเรียนในห้องเรียนได้ หลังจากเชื้อ COVID-19 แพร่ระบาดมาแล้ว 18 เดือน ในเดือนเดียวกันนี้ประธานาธิบดี โรดริโก ดูแตร์เต แห่งฟิลิปปินส์ ใช้เวทีการประชุมสมัชชาใหญ่ UN ตำหนิประเทศร่ำรวย “เห็นแก่ตัว” กักตุนวัคซีนต้าน COVID-19 แถมยังเริ่มฉีดเข็มที่ 3 ทั้งที่ ๆ ประเทศยากจนกำลังรอคอยและขาดไร้วัคซีน

ลาว สั่งขยายระยะเวลามาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อในท้องถิ่นกำลังเพิ่มขึ้นในกรุงเวียงจันทน์และจังหวัดอื่นๆ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดการแพร่ระบาดในชุมชน เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

สิงคโปร์ พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันสูงต่อเนื่องอีกครั้ง และได้ทำสถิติครั้งใหม่ติดเชื้อวันเดียวสูงสุดตั้งแต่โรคนี้ระบาดในสิงคโปร์ในช่วงปลายเดือน แม้ว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบ 2 เข็มแล้วถึงร้อยละ 82 ของประชากรก็ตาม

ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 234,057,967 ราย เสียชีวิต 4,788,218 ราย รักษาหาย 210,877,245 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,603,475 ราย รักษาหาย 1,470,673 ราย เสียชีวิต 16,727 ราย

ตุลาคม 2564

ช่วงต้นเดือน ต.ค. 2564 สถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ค่อยๆ ลดลงตามลำดับอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ส่วนต่างจังหวัดตัวเลขการติดเชื้อลดลงช้าๆ เช่นกัน ยกเว้น 4 จังหวัดชายแดนใต้ ที่พบว่ามีการระบาดเพิ่มมากขึ้นและพบการระบาดใน 3 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์อัลฟา สายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์เบตา และในวันที่ 10 ต.ค. 2564 ไทยฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 สะสมเกิน 60 ล้านโดส

ช่วงต้นเดือน ต.ค. 2564 WHO เปิดเผยว่าประเทศในทวีปแอฟริกากว่าครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 54 ประเทศมีอัตราฉีดวัคซีนป้อง COVID-19 ครบสองโดสเพียงร้อยละ 2 หรือต่ำกว่านั้น

ถึงแม้ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในหลายที่จะเพิ่มขึ้น แต่ในด้านผู้เสียชีวิตข้อมูลจากสำนักข่าว AFP พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรค COVID-19 รายสัปดาห์ทั่วโลกลดลงอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยระหว่างวันที่ 27 ก.ย.-3 ต.ค. 2564 พบมีผู้เสียชีวิต 53,245 คน หรือเฉลี่ยวันละ 7,606 คน ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มปรากฎมาตั้งแต่สิ้นเดือน ส.ค. 2564 หลังจำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงสุดถึงราว 10,000 คนต่อวัน

ปลายเดือน ต.ค. 2564 ข้อมูลจาก Worldometers ระบุว่าทั่วโลกเสียชีวิตรวมจาก COVID-19 ทะลุ 5 ล้านคน ในเดือน ต.ค. 2564 นี้ WHO ยังเปิดเผยรายงานประเมินตัวเลขบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อ COVID-19 ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 2563-พ.ค. 2564 อาจมีจำนวนสูงถึงระหว่าง 80,000-180,000 คน

ช่วงต้นเดือน ต.ค. 2564 รัสเซีย กลับมาพบผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงอีกครั้งนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564, ที่ญี่ปุ่น สามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ในช่วงต้นเดือน ต.ค. 2564 รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

เช่นเดียวกับที่เกาหลีใต้ ยกเลิกข้อจำกัดที่เข้มงวดในการพบปะกันทางสังคมเพื่อควบคุมการแพร่เชื้อ COVID-19 และเตรียมตัวปรับเข้าสู่การใช้ยุทธศาสตร์การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับ COVID-19 พร้อมๆ กับระดับการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนสถานการณ์ในอาเซียนที่สิงคโปร์ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังพุ่งสูงขึ้นทำสถิติต่อเนื่อง มีการสร้างศูนย์ดูแลผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มเพื่อลดภาวะตึงตัวในโรงพยาบาล

ที่บรูไนมีการขยายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ที่เข้มงวดออกไปอีก

เช่นเดียวกับที่ลาว ได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการปิดเมืองทั่วประเทศออกไปอีกเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในชุมชนเพิ่มสูงต่อเนื่องเป็นสถิติใหม่ และได้แพร่ระบาดไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

ส่วนที่ฟิลิปปินส์ เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในกรุงมะนิลาและเขตพื้นที่ปริมณฑลหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่ออสเตรเลีย ธุรกิจต่างๆ ในนครซิดนีย์ของกลับมาเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 100 วัน หลังบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ตามเกณฑ์

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 2564 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 247,130,550 ราย เสียชีวิต 5,010,463 ราย รักษาหาย 223,855,970 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,912,024 ราย รักษาหาย 1,792,128 ราย เสียชีวิต 19,205 ราย

พฤศจิกายน 2564

วันที่ 24 พ.ย. 2564 WHO ยืนยันการระบาดของเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 หรือชื่อเรียกภายหลังคือ "สายพันธุ์โอไมครอน" (Omicron) ครั้งแรกในหลายประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้

1 พ.ย. 2564 วันแรกที่ประเทศไทยประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศหลังจากที่ได้รับผลกระทบจาการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาเกือบ 2 ปี โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2,300 คน และคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศอีกบางส่วนรวมมีคนเดินทางเข้าประเทศประมาณ 3,000 คน รวมวันที่ 1-5 พ.ย. 2564 มีสายการบินต่างชาติทั่วโลกที่จะทำการบินเข้า และออกประเทศไทย มีทั้งหมด 27 สายการบิน มีผู้โดยสารรวม 15,230 คน, ศบค. ลดพื้นที่สีแดงเข้มเหลือ 6 จังหวัด

ช่วงต้นเดือน พ.ย. 2564 WHO อนุมัติใช้วัคซีนโคแวกซิน (Covaxin) วัคซีนต้าน COIVD-19 ของอินเดียในกรณีฉุกเฉิน, สหรัฐฯ อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีน COVID-19 ที่สหรัฐฯ และที่ WHO ให้การรับรอง สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ สำหรับวัคซีน 6 ตัวที่ผู้ฉีดจะได้รับอนุมัติให้เดินทางเข้าสหรัฐฯ นั้นได้แก่ Pfizer-BioNTech, Moderna, Johnson & Johnson, AstraZeneca, Sinopharm และ Sinovac

กัมพูชา ประกาศเปิดประเทศอีกครั้งและพร้อมดำเนินยุทธศาสตร์ใช้ชีวิตร่วมกับเชื้อ COVID-19 หลังกัมพูชามีอัตราฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดครบโดสให้ประชาชนเกือบร้อยละ 86 ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย, ออสเตรเลีย เปิดพรมแดนประเทศแล้ว หลังจากปิดมานาน 20 เดือน หลังจากมั่นใจว่าอัตราการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในประเทศสูงมากพอที่จะลดความเสี่ยงติดเชื้อจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ

เช่นเดียวกับที่อิสราเอล เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วเป็นครั้งแรก หลังปิดไปนาน 20 เดือน ด้วยหวังว่าเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายหนักจากผลพวงการระบาดของโรค COVID-19 จะค่อยๆ พลิกฟื้นคืนมาได้

ส่วนที่เนเธอร์แลนด์ ประกาศนำมาตรการคุมการระบาดกลับมาใช้อีกครั้งเนื่องจากมียอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้น

เยอรมนี กำลังเผชิญกับการระบาดครั้งใหญ่ของโรค COIVD-19 อีกครั้งโดยมีสถิติผู้ติดเชื้อทำลายสถิติสูงสุดตั้งแต่โรคนี้ระบาดในประเทศ เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรปที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มพุ่งสูงอีกครั้ง เช่น อังกฤษ, เดนมาร์ก, ไอซ์แลนด์, ออสเตรีย เป็นต้น ทั้งนี้ WHO ระบุว่ายุโรปได้กลับมาเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 อีกครั้งแล้ว และในเดือน พ.ย. 2564 นี้ทั่วโลกมียอดผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 ทะลุ 250 ล้านคน

ในเดือน พ.ย. 2564 นี้โครงการโคแวกซ์ (COVAX) เพื่อการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมได้จัดส่งวัคซีน COVID-19 ไปให้แล้ว 144 ประเทศและดินแดนทั่วโลกรวมกว่า 500 ล้านโดส โดยดินแดนที่ยากจนที่สุด 92 แห่งที่เข้าร่วมโครงการสามารถรับวัคซีนบริจาคผ่านโครงการซึ่งประเทศผู้บริจาคจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ในวันที่ 24 พ.ย. 2564 WHO ยืนยันการระบาดของเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 หรือชื่อเรียกภายหลังคือ "สายพันธุ์โอไมครอน" (Omicron) ครั้งแรกในหลายประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้ ซึ่งต่อมาจะเป็นเชื้อสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเร็วที่สุดตั้งแต่เกิดโรคนี้เป็นต้นมา

ต่อมาหลายประเทศ (รวมทั้งไทย) ต่างยกระดับการใช้มาตรการเข้มงวดพรมแดนหลังพบเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนนี้ โดยเฉพาะการห้ามคนจากประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้เดินทางเข้าประเทศ, ที่อังกฤษ เริ่มกลับมาบังคับการสวมหน้ากากอนามัยใหม่และบังคับใช้มาตรการอื่นๆ ที่มีเป้าหมายในการควบคุมการระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน

ณ วันที่ 30 พ.ย. 2021 (เวลา 10.00 น.) มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 262,360,482 ราย เสียชีวิต 5,224,330 คน รักษาหาย 236,896,703 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,115,872 ราย รักษาหาย 2,019,428 ราย เสียชีวิต 20,771 ราย

ธันวาคม 2564

เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จ.แม่ฮ่องสอน ระดมฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เชิงรุกระหว่าง 6-30 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2564 กระทรวงสาธารณสุขเผยการฉีดวัคซีนในคนไทยพบว่าทุกจังหวัดค่าเฉลี่ยเกิน ร้อยละ 50 มีเพียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่อัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ ร้อยละ 45.24% ส่วนภาพรวมการรับวัคซีนเข็ม 1 ขณะนี้ฉีดไปแล้ว ร้อยละ 72 ส่วนเข็ม 2 ฉีดไปแล้ว ร้อยละ 60

วันที่ 6 ธ.ค. 2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าพบผู้เดินทางจากสเปนผ่านระบบ Test and Go เข้ามาในไทย ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอนนับเป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ที่พบในไทยคนแรก, ช่วงวันที่ 20-23 ธ.ค. 2564 จากการเก็บตัวอย่างผู้ติดเชื้อ COVID-19 ภาพรวมทั้งประเทศ 874 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์เดลต้าเป็นส่วนใหญ่หรือคิดเป็น ร้อยละ 83.8 สายพันธุ์โอไมครอน ร้อยละ 16.2

ในเดือนนี้ WHO อนุมัติใช้วัคซีน Covovax ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียและวัคซีน Novavax ของบริษัทผู้ผลิตเวชภัณฑ์สัญชาติสหรัฐฯ เป็นกรณีฉุกเฉิน

WHO ยังเตือนว่าการใช้มาตรการห้ามการเดินทางแบบปูพรมกว้างขวางไปทั่วจะไม่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอนท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายประเทศรีบประกาศใช้มาตรการดังกล่าวมากขึ้น ทั้งนี้ WHO ระบุว่ายังไม่มีหลักฐานชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรงกว่าเชื้อสายพันธุ์เดลตา แต่ WHO ยืนยันว่าวัคซีน COVID-19 ที่ใช้อยู่ในเวลานี้ มีประสิทธิภาพลดลง เมื่อเผชิญกับเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนแต่ยังคงป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้

นักวิจัยในแอฟริกาใต้เปิดเผยผลการทดสอบวัคซีน Pfizer-BioNTech ในการรับมือเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนในห้องปฏิบัติการพบว่าสายพันธุ์นี้สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนผลวิจัยในญี่ปุ่นชี้สายพันธุ์โอไมครอนสามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 4.2 เท่า
ในเดือน ธ.ค. 2564 นี้หลายประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทยอยแจ้งว่าพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากช่วงต้นเดือนที่พบการระบาดเพียง 38 ประเทศ ต่อมาช่วงกลางเดือนเพิ่มเป็น 77 ประเทศ และล่วงมาช่วงปลายเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 115 ประเทศ

ไนจีเรีย ระบุว่าพบเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนจากตัวอย่างที่ตรวจตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 ส่วนที่แอฟริกาใต้ ผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งประธานาธิบดีซีริล รามาโฟซา มีผลตรวจหาเชื้อ COVID-19 เป็นบวกด้วย

อังกฤษ สเปน และอีกหลายประเทศ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 น่ากังวลมากขึ้นพบผู้ติดเชื้อรายวันเป็นสถิติใหม่เรื่อยๆ

อิสราเอล กลายเป็นชาติแรกของโลกที่อนุมัติฉีดวัคซีน COVID-19 เข็ม 4 ให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง ท่ามกลางการระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน

ข้อมูล ณ 31 ธ.ค. 2564 มีผู้ติดเชื้อรวม 286,904,582 ราย เสียชีวิต 5,446,652 ราย รักษาหาย 253,254,670 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,223,435 ราย รักษาหาย 2,168,494 ราย เสียชีวิต 21,698 ราย

ส่วนข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 10 มี.ค. 2565 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อรวม 451,055,496 ราย เสียชีวิตสะสม 6,042,475 ราย ทั่วโลกฉีดวัคซีนรวมกันแล้ว 4,422,205,338 โดส ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 3,111,857 ราย เสียชีวิตสะสม 23,512 ราย โดยฉีดวัคซีนรวมกันกว่า 125,370,801 โดส

 

ที่มา: WHO | UNICEF | Wikipedia [1] [2] [3] [4] [5] | TCIJ | กรมควบคุมโรค | สถานการณ์ COVID-19 ประจำวัน (เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net